หากจะกล่าวว่า 2020 เป็นปีที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ คงจะไม่ผิดนัก ระดับความเลวร้ายของมันก็แค่น้องๆ สงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้นเอง
ด้วยความร้ายกาจของปีอันน่าจดจำ (ในทางลบ) ที่ว่านี้ คนกลุ่มหนึ่งจึงสร้าง mockumentary หรือสารคดีแนวเสียดเย้ยขึ้นมาเพื่อล้อเลียนมัน และผลที่ได้ออกมาก็คือ Death to 2020 ซึ่งนักวิจารณ์สื่อนอกทั้งหลายไม่ค่อยปลื้มนัก ดูได้จากคำอวย (ในทางลบ) เหล่านี้
“Death to 2020 เป็นการรีแคปอย่างไร้จินตนาการและกะโผลกกะเผลกสำหรับปีปีหนึ่ง ที่แน่นอนว่าคนดูน้อยคนนักจะจำไม่ได้” – Kathryn VanArendonk จาก Vulture
“ผมรอดูมุกเด็ดที่ไม่มีวันมาถึง” – Ed Cumming จาก The Independent
“มุกตลกในเรื่องนี้มันคาดการณ์ได้พอๆ กับกลุ่มคนดูของเรื่องนี้เลย” – Chris Bennion จาก The Telegraph
เพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าหนังเรื่องนี้ไปทำอะไร ทำไมถึงโดนวิจารณ์เละอย่างที่ว่าไปข้างต้นนี้ จะขอเล่าเรื่องของ mockumentary นี้อย่างคร่าวๆ หนังเปิดฉากด้วยซามูเอล แอล แจ็คสัน ในบทนักข่าวหนังสือพิมพ์ดัง “The New Yorkerly” ที่ถามตากล้องว่า “คุณจะเล่าถึงปี 2020 ไปทำห่าอะไร” และตัดสลับไปยังตัวละครอื่นที่มานั่งให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ เศรษฐีเจ้าของบริษัทเทคสตาร์ทอัพ นักวิทยาศาสตร์ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ II แม่บ้านเหยียดผิว นักจิตวิทยา ยูทูปเบอร์ หรือผู้หญิงที่ธรรมดาที่สุดในโลก ส่วนที่โดนวิจารณ์มากที่สุดของหนังคือบทพูดว้อยซ์โอเวอร์ที่ทั้งชี้นำและทำลายจินตนาการของคนดูไปพร้อมๆ กันจนทำให้บางมุกออกมาแป้กเสียอย่างนั้น ประเด็นที่หนังพูดถึงมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด-19 การก้าวลงจากตำแหน่งฐานันดรของแฮร์รี่และเมแกน การชนะรางวัลออสการ์ของหนัง Parasite หรือเนื้อหาหนึ่งที่กินเวลาของหนังไปเยอะพอดูคือเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา รวมทั้งข่าวทรัมป์และบอริส จอห์นสัน นายกอังกฤษติดโควิด อาจกล่าวได้ว่าหนังดูสนใจการเมืองเป็นพิเศษ
เมื่อดูจากแนวคิด หนังควรจะออกมาให้คนดู “ว้าว” มากกว่า “ยี้” ด้วยประเด็นที่เล่นได้หลายเรื่องที่จะทำให้คนดูปล่อยใจหัวเราะไปกับเรื่องเครียดๆ ในปีนี้ แต่ดูเหมือนว่ามุกตลกจะไม่ใช่ทางของ Charlie Brooker และ Annabel Jones ผู้ประสบความสำเร็จจากการสร้างซีรีส์เสียดสีสังคมอย่าง Black Mirror หลายมุกของพวกเขาดูจะขาดจินตนาการ เช่น การให้นักวิทยาศาสตร์ออกมาบอกว่าโควิด-19 เกิดจากผู้ชายโตเต็มวัยไปมีเพศสัมพันธ์กับค้างคาว หรือการเรียกนายกอังกฤษว่าเป็น “กองฟาง”
อย่างไรก็ตาม การบอกว่าหนังเรื่องนี้ขาดจินตนาการไปเสียทุกองค์ประกอบดูจะไม่แฟร์กับหนังเท่าไหร่ เพราะหนังก็มีจุดเด่นที่ทำให้ครุ่นคิดได้เหมือนกัน เช่นการให้นักข่าวและนักจิตวิทยาผิวดำดูมีอารมณ์ร่วมไปกับกระแส Black Lives Matter หรือจะเป็นมุกเกี่ยวกับการให้สาวโสดนั่งมองการเลือกตั้งอเมริกาว่าเป็นเหมือนเกมโชว์ห่วยๆ เกมหนึ่ง ซึ่งห่วยเสียจน “ฉันไม่แปลกใจเลยว่าทำไมมันออนแอร์แค่สี่ปีต่อครั้ง” หลายครั้งหนังก็ซ่อนประเด็นแหลมคมทางการเมือง และปั้นมุกชั้นดีที่ทำให้ผู้คนหัวเราะได้ เช่นการเปรียบเทียบเกรต้า ทันเบิร์ก เข้ากับ บิลลี อายลิช (“สิ่งที่เธอพูดมันน่าซึมเศร้าสิ้นดี แต่ทุกคนกลับฟังเธอ”)
นักวิจารณ์ในสื่อตะวันตกหลักๆ อาจมองว่าหนังพลาดในการกำหนดเป้าหมายคนดูว่าจะเป็นคนอังกฤษ หรืออเมริกันกันแน่ แต่คนกลุ่มหนึ่งที่นักวิจารณ์เหล่านี้มองข้ามไปคือเหล่ามิลเลนเนียลในซีกโลกอื่นที่ไม่ใช่แค่สองประเทศนี้ ด้วยเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย มิลเลนเนียลต่างรู้สึกว่าตนเองเป็นหนึ่งเดียวกับกระแสโลก และแสวงหาการเป็นใครสักคนที่มีคุณค่าต่อส่วนรวม จึงไม่แปลกที่มิลเลนเนียลจำนวนมากที่ไม่ใช่คนอเมริกันและอังกฤษติดตามและเข้าใจประเด็นการเมืองโลก อย่างเช่นการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา หรือเรื่องซุบซิบนินทาราชวงศ์อังกฤษ หนังที่จะลงแพลตฟอร์มที่สตรีมทั่วโลกอย่าง Netflix อาจกำลังตั้งเป้าเจาะกลุ่มมิลเลนเนียลในประเทศอื่น เพราะแม้กระทั่งท่าเต้นสุดเชยที่ใส่เข้ามาให้นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องเต้นตามก็มาจากคลิปไวรัลในแอป TikTok ซึ่งเป็นแอปจีนเสียด้วยซ้ำ
การที่สื่อนอกที่ใช้ภาษาอังกฤษวิจารณ์หนังในเชิงลบอย่างแทบจะเป็นเสียงเดียวกัน จึงอาจเป็นเสมือนการอยู่ใน echo chamber ที่สะท้อนเพียงเรื่องราวของคนขาว โดยลืมคนในซีกโลกอื่นๆ ที่อาจ “อิน” กับมุกที่ไม่ต้องคลุกวงในมากนักก็เข้าใจได้ และมองข้ามกลุ่มเป้าหมายสำคัญของหนังเรื่องนี้ไปอย่างน่าเสียดาย มุกตลกที่มองออกง่ายจึงไม่ได้ดีเลิศสำหรับพวกเขา แต่เป็นเพียงมุกตลกที่ “ไร้จินตนาการ” “ง่ายเกินไป” หรือ “น่าผิดหวัง” ทั้งที่คนอีกจำนวนมากในโลกอาจไม่ได้อินกับมุกอันซับซ้อนที่พวกเขาหวังให้หนังใส่เข้าไป และเข้าใจกันเฉพาะคนตะวันตก
ในแง่หนึ่ง ด้วยความเป็นการเมืองสูงของ Death to 2020 มันได้ผลักประเด็นอ่อนไหวเข้ามาสู่สปอตไลท์ และแสดงความเห็นที่มิลเลนเนียลค่อนข้างจะชื่นชอบ อย่างเช่นการใส่ตัวละครโฆษกนักการเมืองหญิงที่สนับสนุนทรัมป์ แต่พูดเบี่ยงประเด็นเอาตัวรอดไปเรื่อย และเมื่อไบเดนชนะการเลือกตั้งก็บอกว่าตนเองไม่เคยสนับสนุนทรัมป์เสียอย่างนั้น ตัวละครเช่นนี้สะท้อนให้เห็นความไว้ใจไม่ได้ของคนการเมือง (โดยเฉพาะฝั่งขวา) ที่เป็นประเด็นผุดพรายขึ้นมาจากการชอบตั้งคำถามกับสถาบันหลักของรัฐโดยคนรุ่นใหม่ หลายครั้ง คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็อยากมีปากมีเสียงทางการเมือง หรืออยากแสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งหนังได้ตอบสนองความต้องการนี้ผ่านเนื้อหาจิกกัดผู้มีอำนาจ เสียงหัวเราะที่ออกมาจากปากพวกเขานั้นมาจากการปลดปล่อย เพราะมีคนพูดในเรื่องต้องห้ามแทนตนเอง และทำให้ผู้มีอำนาจดูด้อยอำนาจลง แม้จะเป็นเพียงในจินตนาการ ในชั่วครู่ยามสั้นๆ
หลายครั้ง คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็อยากมีปากมีเสียงทางการเมือง หรืออยากแสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งหนังได้ตอบสนองความต้องการนี้ผ่านเนื้อหาจิกกัดผู้มีอำนาจ เสียงหัวเราะที่ออกมาจากปากพวกเขานั้นมาจากการปลดปล่อย เพราะมีคนพูดในเรื่องต้องห้ามแทนตนเอง และทำให้ผู้มีอำนาจดูด้อยอำนาจลง แม้จะเป็นเพียงในจินตนาการ ในชั่วครู่ยามสั้นๆ
อัตถิภาวะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกนำมาเล่นในหนังเรื่องนี้ ผ่านตัวละครนักจิตวิทยาสังคมที่บอกว่าตนเองเกลียดชังทุกคน เมื่อดูเพียงผิวเผินมันอาจเป็นแค่การทำตัวมีปัญหากับสังคมเพื่อให้ตนเองดูเท่ แต่ลึกลงไปแล้วมันสะท้อนความโดดเดี่ยวจากการที่ความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันต่างๆ ในสังคมถูกสั่นคลอนหรือแม้กระทั่งโค่นล้มลง สุดท้ายแล้วคนทุกคนเปลือยเปล่าและต้องเผชิญหน้ากับการเลือกของตนเอง ในโลกที่คนอื่นเป็น “นรก” ที่ทำให้เราไม่ได้เลือกเองอย่างมีเสรีภาพ ความโดดเดี่ยวแห่งยุคสมัยนี้เป็นภาวะที่มิลเลนเนียลหลายคนเผชิญและตั้งคำถาม และมันยังเป็นรากฐานสู่วัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมที่สูบฉีดอยู่ในเส้นเลือดของพวกเขา หากมีคนทำโพลล์ว่ามิลเลนเนียลฝันใฝ่อะไรในชีวิต เชื่อว่าคำตอบยอดนิยมคำตอบหนึ่งคือการได้ค้นพบตนเอง หรือเจอ passion ของตนเองและได้ทำตาม passion นั้น ไม่น่าแปลกใจที่สายการบินโลวคอสต์เติบโตได้ดีในยุคที่มิลเลนเนียลมีกำลังจับจ่ายใช้สอย เพราะพวกเขาต้องการออกไปดูโลก เพื่อให้ความหลากหลายโลกนั้นสะท้อนกลับมาช่วยพวกเขาค้นหาตนเอง
ภาวะที่ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่อย่างการล็อคดาวน์หรือปิดประเทศที่เสนอในหนังเรื่องนี้จึงอาจเป็นเหมือนฝันร้ายของมิลเลนเนียล เพราะการไม่ได้ไปไหนย่อมหมายถึงการขาดพลวัตรและทำให้การค้นหาตนเองหยุดชะงัก มันน่ากลัวพอๆ กับความพยายามรวบอำนาจของผู้นำฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างทรัมป์ซึ่งไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและไม่เชื่อในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ อาจกล่าวได้ว่าหนังเรื่องนี้มาเพื่อทำให้ประเด็นที่น่ากลัวเหล่านี้ดูน่ากลัวน้อยลง เพราะเราสามารถหัวเราะกับมันได้ มุกที่ไม่บรรเจิดนักอย่างมุกคนมีเพศสัมพันธ์กับค้างคาว จริงๆ แล้วอาจเป็นมุกที่ทำให้โควิด-19 เป็นสิ่งที่ดูเครียดน้อยลง และการเรียกนายกอังกฤษว่ากองฟาง ก็อาจเป็นการทำให้ผู้มีอำนาจที่คนรุ่นนี้ตั้งคำถามเสียหนักนาดูเป็นคนธรรมดาที่เราล้อเลียนได้ อาจกล่าวได้ว่า แม้นักวิจารณ์จะไม่ปลื้มหนังเรื่องนี้เท่าใดนัก แต่หนังกลับได้บรรลุหน้าที่ในการสร้างความผ่อนคลายให้แก่เจนเนอเรชันที่มีความไม่มั่นคงมากที่สุดเจนเนอเรชันหนึ่ง – คนยุคมิลเลนเนียล
ชม Death to 2020 ได้ที่ Netflix