อาจเป็นดังที่มุราคามิพูดไว้ ความคิดเมื่อออกมาเป็นคำพูดแล้ว กลายเป็นคำโกหกเสมอ
เหตุก็เพราะความคิดนั้นเมื่อผ่านการกลั่นกรองออกมาเป็นคำพูด มันก็กลายเป็นอีกสิ่งที่ต่างไปจากสาส์นตั้งต้น เพราะการกรองด้วยคำพูดมีหลายชั้น ทั้งความหมายและไวยากรณ์ทางภาษาอาจทำให้ความหมายดั้งเดิมเสียไป ในทางปรัขญาภาษามีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการที่คำสื่อถึงความหมายหนึ่งๆ ได้ไม่เท่ากัน เช่น เมื่อเราพูดถึงสีแดง เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสีแดงที่เราพูดเป็นแดงเดียวกับของคนอื่นๆ
Darkest Hour เป็นหนังเล่าอัตชีวประวัติของวินสตัน เชอร์ชิล บุรุษผู้ร่ำรวยด้วยคำพูดและวาทศิลป์ที่ไม่เหมือนใคร เขานั้น “ใช้ภาษาอังกฤษ และนำมันเข้าสู่สงคราม” จากวันที่มีแต่คนว่าเขาเป็นหมาบ้าแห่งอังกฤษ เพราะไม่ยอมเซ็นสัญญาสงบศึกกับฮิตเลอร์ ทั้งที่กองทัพเยอรมันมาจนเกือบประชิดพรมแดน ในทุกวันนี้ เขากลายเป็นวีรบุรุษสงคราม ด้วยการไม่ยอมพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายอักษะแม้คนรอบตัวและสถานการณ์จะบีบคั้นแค่ไหนก็ตาม
“คำพูด” ดูจะเป็นพระเอกของเรื่องนี้ เพราะทุกคนต่างรู้ว่าไม่มีใครแต่งคำพูดได้อย่างเชอร์ชิล ต้องยกความดีความชอบให้กับแอนโธนี แม็คคาร์เทน ผู้เขียนบท ซึ่งเคยทำผลงานโดดเด่นใน The Theory of Everything มาแล้ว แม็คคาร์เทนให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับสุนทรพจน์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด และพบว่า 3 ใน 4 นั้นมาจากเชอร์ชิล ซึ่งแต่ละบทร่างห่างกันเพียงสี่สัปดาห์เท่านั้น
“นั่นมันบ้ามาก” แม็คคาร์เทนบอก “มันต้องใช้วาทศิลป์ที่สูงมาก เพราะตอนนั้นมีเรื่องคอขาดบาดตายเกิดขึ้น เขาคงไม่สามารถนั่งลงและเขียนอะไรแบบนี้ออกมาโดยไม่มีเหตุผลหรอก”
ความเข้มข้นในการใช้ความคิดของเชอร์ชิลระหว่างร่างสุนทรพจน์ก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งยึดโยงคนดูไว้กับเรื่องราว ดังที่แม็คคาร์เทนให้สัมภาษณ์ว่าในการถ่ายทำ ต้องการให้คนดูรู้สึกเหมือนเป็นคนที่นั่งพิมพ์ดีดให้กับเชอร์ชิลที่สูบซิการ์ไปด้วย ร่างสุนทรพจน์ไปด้วย เชอร์ชิลเป็นคนจริงจังกับการใช้คำพูดมาก และเขาก็ต้องการคนที่ตามความคิดเขาทัน
ในเรื่องวาทศิลป์ ในปรัชญาตะวันตกมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในยุคกรีกโบราณ เรียกว่ากลุ่ม “โซฟิสต์” พวกเขาศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับการใช้วาทศิลป์เพื่อจูงใจผู้คนหรือชนะคดีความ เนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีกระดาษที่จดบันทึกคำพูดหรือข้อพิพาทเป็นลายลักษณ์อักษร การพูดจึงเป็นตัวชี้ขาดชะตาว่าผู้มีคดีความจะชนะหรือแพ้ เพลโต นักปรัชญาคนสำคัญแห่งยุค ได้ออกมาประณามเหล่าโซฟิสต์ว่าดีแต่ใช้คำพูดไปวันๆ และไม่สนใจเรื่องความจริงสูงสุดของชีวิตที่พ้นไปจากวาทศิลป์ อีกทั้งยังมีนิสัยกลับดำให้เป็นขาว ซึ่งสิ่งที่เหล่าโซฟิสต์ทำนั้นก็กวนจริงๆ เพราะศาสตร์ที่โซฟิสต์สอนนั้น นอกเหนือจากการชนะใจผู้คนด้วยคำพูดแล้ว ยังมีทั้งเรื่อง การชนะคดีแม้ว่ารูปคดีของเราจะแย่มาก การประสบความสำเร็จในธุรกิจโดยไม่ต้องพยายามอะไร ไปจนถึงการกู้ชื่อเสียงอันย่ำแย่ของตนจนคนหลงรัก (ซึ่งเจ้าของคดีความขับรถหรูชนตำรวจในบ้านเราอาจต้องการเรียน และยังเรียนได้ เพราะโซฟิสต์เก็บเงินค่าเรียนแพงมาก)
อย่างไรก็ตาม แม้โซฟิสต์จะได้ชื่อเรื่องการเล่นลิ้น แต่ปรัชญาของเหล่าโซฟิสต์ก็เป็นสิ่งน่านำมาขบคิดต่อ มันมีความเป็น “สัมพัทธนิยม (Relativism)” นั่นคือเชื่อว่าไม่มีความจริงสูงสุด แต่ความจริงจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หนึ่งๆ และมนุษย์เท่านั้นเป็นผู้ชี้วัดความจริง ไม่ใช่เทพเจ้า หรือหลักการสูงส่งที่เหนือไปจากที่มองเห็น ดังที่โพรทากอรัส นักปรัชญาโซฟิสต์กล่าวไว้ว่า “มนุษย์เป็นตัวชี้วัดทุกสิ่ง (Man is the measure of all things) หรือจอร์เจียส ได้กล่าวความคิดต่อเนื่องกันสามประโยคไว้ว่า
“ไม่มีอะไรดำรงอยู่”
“หากมีอะไรดำรงอยู่จริงๆ เราก็ไม่สามารถรู้ได้”
“แม้เราจะสามารถรู้ได้ เราก็ไม่สามารถสื่อสารมันออกมาได้”
ในแง่หนึ่ง โซฟิสต์ก็มีลักษณะเป็นมนุษยนิยม เพราะให้ความสำคัญกับแค่โลกทางวัฒนธรรมและสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และให้ค่ากับการตัดสิน (judgement) ของมนุษย์มากๆ แตกต่างจากเพลโต ที่ให้ความสำคัญกับโลกนามธรรม หรือโลกของพระเจ้า
นี่ทำให้เราต้องวกกลับไปคิดถึงเชอร์ชิลอีกครั้ง ในช่วงสงครามมีคนสงสัยในตัวเชอร์ชิลมากจนวางแผนจะปลดเขาออก และกษัตริย์ก็เคลือบแคลงในตัวเขา แต่ด้วยความที่เขาเชื่อในการตัดสินของตัวเอง เขาจึงไม่ลดละและประนีประนอมกับฝ่ายนาซี บทบาทที่เขาเล่นนั้นเปรียบเสมือนพระเจ้าเลยก็ว่าได้ เพราะเขาเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของทหารทั้งหลาย ซึ่งในแง่หนึ่ง หนังทำให้เราเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ผ่านโมเมนต์เล็กๆ อย่างการนั่งสูบซิการ์ให้ห้องนอนพร้อมร่างสุนทรพจน์กับเครื่องพิมพ์ดีด การตัดสินใจใช้คำพูดของมนุษย์ผู้หนึ่งมีพลังขับเคลื่อนจินตนาการของคนในสังคมให้คล้อยไปตามเขาและพร้อมสู้ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อชีวิตอย่างสงครามได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งเหล่าโซฟิสต์คงนับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แต่เชอร์ชิลอาจต่างจากโซฟิสต์ในแง่หนึ่งก็คือ เขามีหลักการที่ต่อสู้เพื่อมัน นั่นคือการไม่ยอมแพ้ให้กับอันธพาลและลัทธิเผด็จการนั่นเอง
ในช่วงหลังของเรื่อง แม้แต่กษัตริย์ก็ยังคล้อยตามหลักการที่ไม่ลดละของเขา และแนะนำให้เขาแสวงหาคำตอบจากประชาชน เราจึงได้เห็นฉากการสนทนาในรถไฟใต้ดินอันน่าจดจำ ซึ่งเป็นหมุดหมายถึงพลังอำนาจที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางอีกครั้งหนึ่ง เสียงของประชาชนแม้เพียงตัวเล็กๆ ก็มีความสำคัญต่อก้าวต่อไปของอังกฤษ เชอร์ชิลถึงกับจดชื่อพลเมืองที่ตัวเองสนทนาด้วยไว้บนกล่องไม้ขีด และนำไปสู่สุนทรพจน์ที่กระตุ้นเร้าอารมณ์ในรัฐสภา
อาจกล่าวได้ว่าหนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในการทำให้เชอร์ชิลดูเป็นมนุษย์ และดูเข้าถึงได้ ผ่านอาวุธอันเรียบง่ายแต่ทรงอานุภาพของเขา นั่นคือคำพูด เชอร์ชิลไม่ได้ใช้คำพูดเพียงเพื่อให้ตนเองดูมีวาทศิลป์ไปวันๆ หรือชนะการโต้เถียงเท่านั้น การกระทำที่สอดคล้องกับคำพูดของเขาบ่งบอกความปรารถนาอันแท้จริง นั่นคือการไม่ยอมแพ้ให้กับอำนาจมืดที่กัดกินยุโรปและโลกอยู่ในขณะนั้น – เขาไม่ยอมให้เผด็จการเป็นฝ่ายชนะ และด้วยเป้าหมายนี้ เขาได้ใช้ชีวิตตัวเองเป็นเดิมพัน
ชม Darkest Hour ได้ใน Netflix