หากว่าช่วงระยะปี 2016 เรื่อยมาจนถึง 2018 คือช่วงเวลาที่หนังคนดำปรากฏตัวในฮอลลีวูดไล่เลี่ยกันอย่างน่าสนใจภายใต้การขึ้นดำรงตำแหน่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีจากรีพับลิกัน บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ เรื่องราวและความสัมพันธ์ของคนดำทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่าง Moonlight (2016), Hidden Figures (2016), Get Out (2017) และ Green Book (2018) ซึ่งล้วนแล้วแต่มีท่าทีประนีประนอม บอกเล่าถึงปัญหา สุขและทุกข์ของการเป็นคนดำด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน
กระทั่งการมาถึงของ BlacKkKlansman (2018) โดยเสด็จพ่อ สไปค์ ลี ที่เหมือนกระโดดถีบยอดหน้าคนดูแล้วบอกว่า พอกันทีกับความนุ่มนิ่มโว้ย มึงมาดูความแค้นเคือง ความเจ็บปวดที่คนดำต้องเผชิญเพราะคนขาว (อย่างพวกมึง) ที่นี่ เดี๋ยวนี้เลยนะ!
BlacKkKlansman ดัดแปลงมาจากหนังสือชีวประวัติของ รอน สตอลล์เวิร์ธ (ในหนังรับบทโดย จอห์น เดวิด วอชิงตัน) นายตำรวจผิวดำคนแรกของสำนักงานตำรวจโคโลราโด สปริงส์ช่วงปี 1972 อันเป็นช่วงที่การเหยียดผิวหวนกลับมาระบาดในสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เมื่อกลุ่มเหยียดผิวคูคลักซ์แคลน (KKK) พยายามจะเรืองอำนาจและออกล่าคนดำ สตอลล์เวิร์ธจึงรับบทเป็นนักสืบด้วยการทำทีเป็นขอเข้าเป็นสมาชิกของ KKK แต่ถ้าเดินดุ่มเข้าไปเองน่าจะโดนตีนตายห่าตั้งแต่ยังก้าวเท้าไม่พ้นประตูรั้ว สตอลล์เวิร์ธเลยไปขอความช่วยเหลือจาก ฟลิป ซิมเมอร์แมน (อดัม ไดรเวอร์) เพื่อนตำรวจหนุ่มคนขาวที่เพิ่งรู้จักกันหมาดๆ ให้สวมรอยเป็นเขาเข้าไปในกลุ่ม KKK แม้ว่าความฉิบหายจะจ่อคอซิมเมอร์แมนอยู่ด้วยก็ตามเพราะเขาเป็นคนยิวซึ่งตกเป็นเป้าของกลุ่ม KKK ด้วย เขาจึงต้องใช้ภาพลักษณ์การเป็นคนขาวเพื่อเอาตัวรอดในกลุ่มไปพร้อมๆ กับที่พยายามปกปิดสถานะยิวของตัวเองอย่างเต็มขั้นเพื่อไม่ให้ม่องเท่งไปเสียก่อนจะทำคดีสำเร็จ
หากว่าหนังเรื่องอื่นๆ ที่พูดเรื่อง ‘คนดำในโลกคนขาวเป็นใหญ่’ ในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกันเล่าถึงการกดขี่ด้วยท่าทีสละสลวย สไปค์ ลีก็เหมือนตีลังกามาเตะยอดหน้าแล้วตีเข่าใส่ซ้ำอีกสักดอกด้วยลีลาการทำหนังอันแสนฉูดฉาด ด้วยการจับจ้องไปยังโลกที่อนุญาตให้การเหยียดสีผิวนั้นเข้าถึงได้ง่ายดายเสียเหลือเกิน สตอลล์เวิร์ธพบโฆษณากลุ่ม KKK จากหน้าหนังสือพิมพ์และตัดสินใจโทรศัพท์ไปยังปลายสาย เลียนเสียงเป็นคนขาวและก่นด่า ‘ไอ้มืด’ เพื่อเป็นใบเบิกทางขอเข้ากลุ่ม มันจึงเป็นฉากที่เราได้เห็นความแสบสันต์ของตัวละครคนดำที่พยายามตลบหลังคนขาวที่คลั่งลัทธิเหยียดผิวด้วยการหาทางถล่มรังโจรแบบบ้าดีเดือด
ควบคู่กันไปกับการเรืองอำนาจของกลุ่มเหยียดผิว สตอลล์เวิร์ธก็พบว่าเหล่าคนดำเองก็รวมกลุ่มเพื่อต่อต้าน KKK เช่นกัน โดยขณะที่ให้ซิมเมอร์แมนแฝงตัวอยู่ในกลุ่มคลั่งคนขาว เขาก็แทรกตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มสหภาพต่อต้านการเหยียดผิวซึ่งนำโดย แพทริซ ดูมาส์ (ลอรา ฮาร์เรียร์) นักศึกษาสาวหัวไวที่ไม่ระแคะระคายเลยแม้แต่น้อยว่าพ่อหนุ่มตรงหน้าของเธอเป็นตำรวจปลอมตัวมา ถึงตรงนี้ สตอลล์เวิร์ธจึงเข้าร่วมกับทั้งสองกลุ่ม คือตัวจริงซึ่งเข้ามาสืบหาเรื่องราวในสหภาพต่อต้าน KKK และตัวปลอม (ในร่างคนขาวของซิมเมอร์แมน) ที่ทำเนียนๆ เข้าไปอยู่กับกลุ่มเหยียดผิวเพื่อหาจังหวะทลายรัง
ก่อนหน้านี้ สไปค์ ลีคือคนทำหนังประเด็นสีผิวได้อย่างเฉียบคมและแสบสันต์อยู่เสมอ Jungle Fever (1991 -เรื่องดราม่าของชายผิวดำที่นอกใจเมียไปคบชู้กับเลขาผิวขาวจนความแตก นำมาซึ่งความบัดซบในชีวิตทุกมิติ), Malcolm X (1992 -ว่าด้วยการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิให้คนผิวดำของ มัลคอล์ม เอ็กซ์) และการหวนกลับมาทำหนังในครั้งนี้ก็ยังพิสูจน์ว่าเขี้ยวเล็บของเขายังแหลมคมไม่เปลี่ยน ทั้งยังมุ่งมั่นในการจะวิพากษ์การเหยียดสีผิวและเชื้อชาติที่ฝังรากลึกจนกลายเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคม ดังที่ปรากฏเมื่อกลุ่ม KKK เปิดหนัง The Birth of a Nation (1915, ดี ดับเบิลยู กริฟฟิธ) เพื่อปลุกใจสมาชิกก่อนออกล่าคนดำ หนังจึงเต็มไปด้วยการสบถสาบานเหยียดชาติพันธุ์แบบไม่ประนีประนอม ไม่ pc จากฝั่งกลุ่มคลั่งคนขาวที่เชื่อว่าสายเลือดของคนขาวนั้นบริสุทธิ์และสูงส่งกว่าคนดำ ซึ่งมันเป็นกระบวนคิดชุดเดียวกันกับที่กลุ่มนาซีใช้เมื่อสมัยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง และช่วยไม่ได้เลยที่ซิมเมอร์แมนที่แฝงตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มจะรู้สึกอึดอัดจนอยากเบือนหน้าหนี แต่ก็ทำไม่ได้ มากที่สุดคือการจ้องมองกลับไปยังหัวใจของความเกลียดชังและการเลือกปฏิบัตินั้นอย่างแค้นเคือง
เคต บลานเช็ตต์ ประธานคณะกรรมการเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีที่ BlacKkKlansman เข้าประกวด เอ่ยชมตัวหนังว่าช่างเป็นหนังที่ “จับประเด็นวิกฤติของชาวอเมริกันได้อย่างทรงพลัง” ซึ่งแม้ลีจะซึ้งใจ หากแต่เขาก็คิดว่าบลานเช็ตต์นั้นยังพลาดไปไกลโข “ผมว่าเธอเป็นนักแสดงที่เก่งมากๆ และไปคุยกับเธอหลังเทศกาลจบว่าเป็นไปได้ก็อยากร่วมงานกับสักครั้ง แต่เอาจริงๆ นะ ผมคิดว่าประเด็นนี้เธอพลาดและกรรมการคนอื่นๆ ก็มองพลาดด้วยเหมือนกัน” ลีว่า “ผมไม่ได้พูดเพราะผมวืดรางวัลปาล์มทองหรืออะไรนะ แต่เพราะหนังเรื่องนี้มันไม่ได้พูดถึงแค่สหรัฐอเมริกา แต่มันระบาดไปทั่วยุโรป เกาะอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี หรือการกลับมาเรืองอำนาจของกลุ่มนีโอ-นาซีในเยอรมนี ผมอยากให้คนเข้าใจเรื่องนี้มากๆ มันคือเรื่องการมีอำนาจของกลุ่มขวาจัด กลุ่มฟาสซิสต์ที่ไม่ได้อยู่แค่ในอเมริกา” (ลีปิดท้ายการสนทนานี้ว่า “อย่างอนนะเคต ที่บอกว่าอยากร่วมงานกันนี่ผมหมายความแบบนั้นจริงๆ นะ”)
สไปค์ ลียังตอกย้ำกระแสคลั่งคนขาวอย่างเจ็บแสบด้วยการให้ตัวละครผิวดำจ้องมองตรงมายังคนดู แล้วใช้ฟุตเตจปิดท้ายเป็นเหตุการณ์จริงในปัจจุบันที่กลุ่มบูชาคนขาวอาละวาด เรียกร้องให้เกิดการแบ่งแยกชาติพันธุ์หรือสร้างความเป็นอื่นให้คนที่ไม่ได้เป็นคนขาว BlacKkKlansman จึงช่างชวนให้รู้สึกเจ็บแปลบเมื่อมันคือหลักฐานที่ว่า แม้เหตุการณ์จะล่วงผ่านมาอีกหลายปี ความรุนแรงและความเกลียดชังที่สตอลล์เวิร์ธ ซิมเมอร์แมนและคนดำเคยเผชิญในอดีตนั้นก็ยังไม่จางหายไปสักกี่มากยน้อย มันเพียงแต่ซุกซ่อนตัวไว้ใต้โฉมหน้าของความสงบนิ่งเท่านั้น
“ผมทำหนังก็เพราะแรงสะเทือนจากวัฒนธรรมและสังคมอยู่แล้ว คนยังมาบอกผมอยู่เลยว่าถ้าไม่เคยดู School Daze (1988 -ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์คนดำของตัวละครเอกซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม) ก็คงไม่ไปศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมคนดำแน่ๆ” ลีบอก “และผมมั่นใจจะตายไปว่างานของผมจะยังอยู่แม้ตัวผมจะจากไปนานแสนนานแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะหวังได้แล้วล่ะ นั่นคือเมื่อชีวิตเราสร้างผลกระทบต่ออะไรสักอย่างในทางที่ดีน่ะ”
ภายหลังหนังออกฉายได้สองปี ความเกลียดชัง -ที่ถูกจุดชนวนขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง- ก็ระเบิดขึ้นอีกครั้งในปี 2020 พร้อมการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของคนดำ อันเป็นสิ่งซึ่งลีเรียกร้องมานับตั้งแต่ทำหนังในขวบปีแรกๆ จวบจนปัจจุบันที่ดูเหมือนหนังของเขาจะยัง ‘ฟังก์ชั่น’ กับเหตุการณ์จริงอย่างน่าเศร้า และด้านหนึ่งมันก็ทำให้ BlacKkKlansman ยังคงทรงพลังต่อไปในโลกที่ความเกลียดชังยังมีบทบาทต่อผู้คนเช่นนี้