Home Review Film Review Bait : อวนลาก-โฮสเทล / ฟิล์มเก่า-เสรีนิยมใหม่

Bait : อวนลาก-โฮสเทล / ฟิล์มเก่า-เสรีนิยมใหม่

Bait : อวนลาก-โฮสเทล / ฟิล์มเก่า-เสรีนิยมใหม่

รถยนต์หลายคันเคลื่อนเข้าจอดหน้าบ้านตรงท่าเรือใกล้ช่องเข้าออกกำแพงกันคลื่น สมาชิกหลายครอบครัวเปิดประตูลงจากรถพร้อมสัมภาระ มองไกลๆ ดูเหมือนงานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ที่เพียบไปด้วยพวกคนเมืองหลวงเมืองกรุง พวกผู้คนท่าทางภูมิฐานที่หน้าตากับสำเนียงพูดเป็นอังกฤษ ไม่ใช่คอร์นิช (Cornish) อย่างคนในชุมชนชาวประมงแห่งนี้

มาร์ตินเป็นชาวประมงชายฝั่ง อาศัยตอกหมุดลากอวนหาปลาอยู่ริมหาด บางวันพิเศษหน่อยก็หย่อนกระชังดักกุ้งล็อบสเตอร์ทิ้งไว้ข้ามคืน ผลตอบแทนแรงกายก็ใส่ถุงพลาสติกไปแขวนถึงลูกบิดประตูลูกค้าที่ผูกปิ่นโตกันไว้ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่บ้านนักหรอก เหลือพิเศษมาหน่อยเจ้าของผับในชุมชนก็ช่วยรับซื้อไว้บ้าง อันที่จริงเจ้าตัวไม่ได้อยากทำประมงชายฝั่ง แต่พอพ่อตาย เรือหาปลาประจำตระกูลก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสตีเว่น พี่ชายคนโต และถูกแปรสภาพเป็นเรือบริการนักท่องเที่ยวชาวกรุงที่อยากกินเหล้าวิวทะเล

มาร์ตินเป็นชาวประมงชายฝั่ง อาศัยตอกหมุดลากอวนหาปลาอยู่ริมหาด อันที่จริงเจ้าตัวไม่ได้อยากทำประมงชายฝั่ง แต่พอพ่อตาย เรือหาปลาประจำตระกูลก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสตีเว่น พี่ชายคนโต และถูกแปรสภาพเป็นเรือบริการนักท่องเที่ยวชาวกรุงที่อยากกินเหล้าวิวทะเล และนี่คือหนังที่เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนชายฝั่งนี้ผ่านสายตาเขา

บ้านตรงท่าเรือหลังนั้นเคยเป็นของมาร์ตินกับสตีเว่น หนังไม่ได้บอกชัดว่าทำไมทั้งคู่ถึงต้องขายบ้านให้คนเมือง แต่ลำพังการแขวนปลาตามประตูและเปลี่ยนเรือประมงไปใช้พาเที่ยวก็คงชัดในตัวให้พอเห็น มาร์ตินเดินเข้าบ้านที่ตัวเองเคยอยู่ กวาดสายตาไปทั่วบริเวณ เห็นประตูห้องลูกชายวัยรุ่นของครอบครัวใหม่ตกแต่งด้วยที่เคาะประตูรูปสมอเรือ กำแพงห้องรับแขกประดับด้วยสารพัดอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ แถมยังเจาะหน้าต่างใหม่เป็นวงกลมแบบชาวเรือ สีหน้าเขาเรียบเฉยแต่พอดูออกว่าไม่พึงใจนัก เจ้าตัวอดค่อนแคะไม่ได้ว่าท่าทางจะฝันอยากเป็นชาวเลกันทั้งบ้าน แล้วพวกที่กำแพงนี่ใช่เครื่องมือทำมาหากินของผมที่ทิ้งไว้ในห้องใต้หลังคาตอนขายบ้านหรือเปล่า

แม่ของครอบครัวใหม่เลี่ยงว่าเธอสั่งออนไลน์มาต่างหาก และคงจับสังเกตได้ถึงบรรยากาศที่ไม่ค่อยเป็นมิตร เลยพูดออกมาว่า (ถ้าไม่เต็มใจ) คุณไม่ต้องขายบ้านให้เราก็ได้นี่ – “ไม่ต้องขายเหรอ?” มาร์ตินย้อน ก่อนเดินออกจากบ้านเก่าที่กลายสภาพเป็นโฮสเทลธีมชาวประมงเต็มรูปแบบ พร้อมคำตอบที่ทั้งสองฝ่ายต่างรู้อยู่แก่ใจ

Bait กลายเป็นหนังอินดี้อังกฤษเรื่องสำคัญของปี 2019 หลังเวิลด์พรีเมียร์ในสาย Forum ที่เบอร์ลิน ติดท็อปลิสต์ปลายปีของนักวิจารณ์จำนวนมาก ได้เข้าชิง 3 รางวัล BIFA (British Independent Film Awards) และชนะรางวัลหนังอังกฤษเรื่องแรกยอดเยี่ยม พร้อมเข้าชิงหนังอังกฤษแห่งปีรางวัล BAFTA – ถึงจะแจ้งเกิดด้วยตำแหน่งคนทำหนังหน้าใหม่ แต่จริงๆ แล้ว Mark Jenkin (ปัจจุบันอายุ 44) เคยทำหนังยาวก่อน Bait มาแล้วถึง 6 เรื่อง และถือเป็นคนสำคัญของกลุ่มคนทำหนัง/ศิลปินคลื่นลูกใหม่ในคอร์นวอลล์ (Cornwall) ที่เชื่อมสะพานทางภาพยนตร์จากเทศมณฑล (county) สุดขอบทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษแห่งนี้ ให้ไปถึงการรับรู้ของวงการหนังและศิลปะอังกฤษในเมืองใหญ่

Bait กลายเป็นหนังอินดี้อังกฤษเรื่องสำคัญของปี 2019 หลังเวิลด์พรีเมียร์ในสาย Forum ที่เบอร์ลิน ติดท็อปลิสต์ปลายปีของนักวิจารณ์จำนวนมาก ได้เข้าชิง 3 รางวัล BIFA (British Independent Film Awards) และชนะรางวัลหนังอังกฤษเรื่องแรกยอดเยี่ยม พร้อมเข้าชิงหนังอังกฤษแห่งปีรางวัล BAFTA

ด้วยบริบทเฉพาะตัวของพื้นที่ พิจารณาร่วมกับเนื้อหาในนาทีแรกๆ ของหนังที่กล่าวไว้ในช่วงต้นบทความ คงพอสรุปเป็นเบื้องต้นได้ว่า Jenkin ตั้งใจเผยให้เห็นและพิจารณาผลกระทบของแรงเสียดทานระหว่างคนอังกฤษหรือความเป็นอังกฤษที่แทรกซึมเข้ามา กับชาวคอร์นิชซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศและมีวิถีชีวิตกับวัฒนธรรมของตนเอง แต่เมื่อหนังไม่ได้เรียกคอร์นวอลล์ตามภาษาดั้งเดิมว่า Kernow, นำเสนอพิธีกรรมหรือเทศกาลประจำถิ่นเป็นฉากสำคัญ หรือถึงขั้นให้ตัวละครพูดจาด้วยภาษาคอร์นิช (ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับภาษาไอริช, เวลช์, เกลิค-Gaelic และเบรอตง-Breton) สำหรับคนนอก มาร์ตินกับสตีเว่นคงถูกนับเป็นฝรั่งผิวขาวชาวชนบทที่มีสำเนียงแปร่งหูฟังยาก คล้ายกับเหล่าชาวอังกฤษชนชั้นล่างในภาพยนตร์ของ Ken Loach

ความเข้าใจเช่นนั้นไม่ได้เสียหาย เพราะท้ายสุดหนังก็เล่าเรื่องชนชั้นล่างในเมืองที่ใกล้หมดลม และต้องดิ้นรนไม่แพ้คนอังกฤษยากจนที่อยู่ชั้นในของประเทศ แต่การมองเห็นบริบทย่อมทำให้เข้าใจมิติความเข้มข้นของแรงปะทะ เมื่อสิ่งที่ปรากฏบนจออาจไม่ใช่แค่คู่ตรงข้ามอย่างเมืองกับชนบท หากมีเรื่องความเป็นชาติปะปนอยู่ไม่น้อย (คอร์นวอลล์ถูกนับเป็น 1 ใน 6 ชาติ Celtic Nations ร่วมกับไอร์แลนด์ + ไอร์แลนด์เหนือ, เวลส์, สก็อตแลนด์, เบรอตาญ/บริตตานีในฝรั่งเศส และ Isle of Man, มีกลุ่มการเมืองเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ได้มาซึ่งการปกครองตนเองในระดับเดียวกับสก็อตแลนด์ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ และประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคอนุรักษ์นิยมค่อนข้างเหนียวแน่น) ภายใต้การปะทะคารมในผับ ความรักวัยรุ่นหนุ่มสาว หรือเหตุการณ์บานปลายจากเรื่องที่จอดรถ

บริบทของพื้นที่อาจนิยามตัวตนของชีวิตที่ดำเนินไป โดยที่เจ้าของชีวิตไม่จำเป็นต้องตระหนักถึงนิยามดังกล่าวเลยก็ได้ – ทั้งมาร์ติน สตีเว่น นีล เจ้าของผับ เด็กเสิร์ฟปากกล้า หรือครอบครัวโฮสเทล อาจเพิ่งได้รับรู้ถึงแรงกระทบก็ตอนประชิดตัว และมองเห็นเบื้องหลังของมันแค่เท่าๆ กับคนดูวงนอก หนังไม่ได้บอกว่าความซบเซาของการทำประมงที่นี่ดิ่งฮวบฉับพลันหรือค่อยๆ สูญเสียกำลังทีละน้อยมานานนับทศวรรษ เช่นเดียวกับกระบวนการทางความคิดที่กระตุ้นให้คนเมืองผันตัวเป็นฟันเฟืองตัวใหม่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พวกเขาอาจรู้เท่าหรือน้อยยิ่งกว่าเสียงข่าวโทรทัศน์ที่รายงานปัญหาจากนโยบายเศรษฐกิจ และแรงสะเทือนคาราคาซังจากผลประชามติ Brexit

มาร์ตินยึดมั่นในศักดิ์ศรีเกินคนรอบข้างอยู่พอตัว ยอมใช้มือลากอวนอยู่ริมหาดทุกเช้าเพื่อเก็บเงินซื้อเรือลำใหม่ พี่ชายยื่นข้อเสนอให้มาเป็นลูกมือบนเรือพาเที่ยว แน่นอนว่าเจ้าตัวปฏิเสธ ทุกคนรอบตัวต่างเห็นความยากลำบากในเส้นทางที่เลือกและต่างกระทุ้งให้ลองคิดใหม่อยู่เนืองๆ แต่เขามองเห็นชีวิตตัวเองเมื่อได้หายใจอย่างคนจับปลาเท่านั้น

ความยอดเยี่ยมของ Bait คือหนังเล่าความโดดเดี่ยวของการยืนหยัดในทางเลือกของมนุษย์ โดยไม่ผลักมันให้เลยเถิดไปเป็นอาการสำนึกรักบ้านเกิด ต่อต้านการพัฒนาหรือความเป็นสมัยใหม่ และไม่ได้กดทับหยามหยันให้มันเป็นแค่ฝันของคนมุทะลุหัวดื้อที่ไม่ยอมรับความจริงของโลก หรือผลักให้ตัวละครเป็นแค่เครื่องบรรจุความทุกข์ เพราะสำหรับมาร์ติน การจับปลาไม่ใช่แม้กระทั่งความฝัน หากคือวิถีเดียวที่เขารู้จัก และมันกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง

ความยอดเยี่ยมของ Bait คือหนังเล่าความโดดเดี่ยวของการยืนหยัดในทางเลือกของมนุษย์ โดยไม่ผลักมันให้เลยเถิดไปเป็นอาการสำนึกรักบ้านเกิด ต่อต้านการพัฒนาหรือความเป็นสมัยใหม่ และไม่ได้กดทับหยามหยันให้มันเป็นแค่ฝันของคนมุทะลุหัวดื้อที่ไม่ยอมรับความจริงของโลก หรือผลักให้ตัวละครเป็นแค่เครื่องบรรจุความทุกข์ เพราะสำหรับมาร์ติน การจับปลาไม่ใช่แม้กระทั่งความฝัน หากคือวิถีเดียวที่เขารู้จัก และมันกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง

มาร์ตินใช้ชีวิตตามวิถีที่เขารู้จัก จอดรถกระบะหน้าบ้านเก่าก่อนขนของไปจับปลา แต่เมื่อบ้านเก่ากลายเป็นโฮสเทล รถเลยถูกล็อคล้อเพราะละเมิดข้อตกลงใหม่ เขาประท้วงด้วยการไม่จ่ายค่าปรับ ปล่อยให้ล็อคข้ามวันข้ามคืนไป – ธรรมเนียมปฏิบัติของผับชุมชนก็เปลี่ยนเมื่อลูกค้าส่วนใหญ่กลายเป็นนักท่องเที่ยว ไม่มีการปิดผับหน้าหนาวเหมือนสมัยรุ่นพ่อ โต๊ะพูลที่ลูกค้าเคยเวียนกันเล่นตามกฎแพ้คัดออก ก็ถูกพวกเด็กวัยรุ่นลูกเจ้าของโฮสเทลยึดเป็นสนามประลองกินเงิน – เพื่อนที่ห่างไปนานตอนนี้ขับแท็กซี่ในเมืองใหญ่ และดูท่าจะหายใจหายคอทางการเงินได้คล่องกว่า

Gentrification คือปรากฏการณ์ซึ่งก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมายในประเด็นการบริหารจัดการหรือวางผังเมือง เมื่อย่านที่อยู่อาศัยหรือชุมชนเดิมถูกเปลี่ยนโฉมหน้า จนผู้อยู่อาศัยเดิมได้รับผลกระทบจากผู้พำนัก ทุน หรือธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มีกำลังทางเศรษฐกิจมากกว่า ภาพลักษณ์ของคำนี้อาจสะท้อนหรืออธิบายปรากฏการณ์ในเมืองใหญ่เป็นหลัก (เมื่อเมืองหรือชุมชนเก่าถูกแปรสภาพเป็นพื้นที่ธุรกิจของวัฒนธรรมฮิปสเตอร์ หรือกลายเป็นย่านอยู่อาศัยราคาแพงของชนชั้นกลางรุ่นใหม่) แต่สิ่งที่เกิดเสมอมาในย่านแหล่งท่องเที่ยวเกิดใหม่ก็เป็นผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองหรือนคร ที่สามารถใช้คำนี้อธิบายได้เช่นกัน

คอร์นวอลล์ที่เราเห็นใน Bait ผ่านชีวิตช่วงหนึ่งของมาร์ติน จึงอยู่ในระนาบใกล้เคียงกับปาย เขาใหญ่ อัมพวา วังเวียง หรือกระทั่งจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวและทุนจีนหรือคนกรุงที่ไปเปิดกิจการรูปแบบใหม่ ภาพในหนังอาจให้บรรยากาศทึมเทาเศร้าหมองและดูคุกคามน้อยกว่าวัฒนธรรมฮิปสเตอร์ราคาแพงที่เราคุ้นชินจากสื่อ มาร์ตินกับสตีเว่นขายบ้านท่าเรือไปซื้อหลังใหม่ไกลกว่าเดิมในเมืองที่เล็กอยู่แล้ว และเป็นไปได้ไม่น้อยที่ครอบครัวโฮสเทลก็อาจถูกรุกไล่มาจากเมืองใหญ่อีกต่อหนึ่ง แต่แกนกลางของความไม่ลงรอยระหว่างสองฝ่ายก็ไม่หนีไปจากระนาบดังกล่าว – หลังกระทบกระทั่งเรื่องที่จอดรถกันมาระยะหนึ่ง (รถยังล็อคล้ออยู่) สามีของบ้านใหม่ก็มาปะทะคารมกับมาร์ตินในผับ เขามองตัวเองที่ทำโฮสเทลว่ากำลังช่วยเหลือเมืองที่กำลังจะตายนี้ ในขณะที่มาร์ตินตอกกลับด้วยคำเดียวกับทุกประโยคและอารมณ์ของอีกฝ่ายว่าคุณแม่งก็แค่นักท่องเที่ยว

คอร์นวอลล์ที่เราเห็นใน Bait ผ่านชีวิตช่วงหนึ่งของมาร์ติน จึงอยู่ในระนาบใกล้เคียงกับปาย เขาใหญ่ อัมพวา วังเวียง หรือกระทั่งจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวและทุนจีนหรือคนกรุงที่ไปเปิดกิจการรูปแบบใหม่

ผมไม่ใช่นักท่องเที่ยว ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเท่าๆ กับคุณนั่นแหละ กฎระเบียบของที่นี่บังคับใช้กับทุกคนเท่ากัน – อ๋อเหรอ? เท่ากันเหรอ? เป็นส่วนหนึ่งแบบไหน? ช่วยเหลือแบบไหน? – ก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นวงจรเศรษฐกิจ – วงจรของอะไร ไหนตอบ? – ก็วงจรเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไงล่ะโว้ย! – จบบทสนทนา ฝ่ายหนึ่งหน้าเสีย อีกฝ่ายแค่นหัวเราะ

ใช่ว่าหนังจะไร้ภาพที่สะท้อนการ “เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน” เอาเสียเลย เพราะแค่ไม่กี่วัน เจ้านีลผู้เป็นหลานอาของมาร์ติน (และอยากจับปลามากกว่าเป็นลูกมือเรือเที่ยวของพ่อ) ก็สานสัมพันธ์กับลูกสาวคนโตของบ้านใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของแคมป์ไฟริมหาดยามราตรีของเหล่าวัยรุ่น ส่วนลูกชายคนเล็กก็ดูจะชอบทะเลและการดำน้ำยิ่งกว่านักท่องเที่ยวคนไหน คำถามสำคัญที่หนังทิ้งไว้ก็คือเราจะเรียกสิ่งนี้ว่าส่วนหนึ่งหรือกลืนกิน? เพราะต่อให้ฝ่ายภรรยาของบ้านใหม่จะมีท่าทีเห็นอกเห็นใจมาร์ตินอยู่บ้าง (เธอเคยแย้งลูกค้าที่ตะโกนด่าเสียงติดเครื่องเรือยามเช้าว่าก็คุณเลือกมาเที่ยวหมู่บ้านประมงเองนี่) แต่ซับพล็อตทั้งสองส่วนกลับนำไปสู่ความขัดแย้งและโศกนาฏกรรม

หากไม่ได้อ่านเรื่องย่อหรือบทวิจารณ์จากที่ใดมาก่อน ต้องถือว่าเนื้อเรื่องและประเด็นของ Bait นั้นพลิกความคาดหวังที่หน้าหนังมอบให้อยู่พอตัว เพราะหนังเบี่ยงตัวเองออกจากเทรนด์ร่วมสมัยของการใช้ภาพขาวดำ ไม่ได้ใช้เพื่อคารวะหนังคลาสสิก (The Artist) หรือเพื่อความเฮี้ยนหลอนเหนือจริง (The Lighthouse) แต่ในขณะที่ตัวเรื่องเล่าด้วยท่าทีอย่างนีโอเรียลลิสม์ เนื้อสัมผัสที่หนังมอบให้กลับเป็นรสชาติแบบหนังทดลองยุคหลังด้วยการจงใจใช้ฟิล์มเก่าที่เต็มไปด้วยริ้วรอย ล้างด้วยมือทั้งกระบวนการ และถ่ายด้วยกล้องโบเล็กซ์หมุนมือที่ไม่สามารถอัดเสียงขณะถ่ายทำได้ – มีเสียงวิจารณ์ในแดนลบอยู่บ้างว่าหนังมีแค่ลีลาและจงใจขายรูปลักษณ์ที่เข้ากระแสหนังอินดี้ทดลองร่วมสมัย ผมเห็นแย้งสุดตัว เพราะเห็นว่า Mark Jenkin ตั้งใจสื่อสาระสำคัญผ่านกระบวนการทั้งหมด และเขาทำได้อย่างแยบยล

เขาตระหนักดีว่าเนื้อสัมผัสของฟิล์มเก่าและภาพขาวดำในปัจจุบันถูกมองและให้ความหมายอย่างไร ก่อนจะตั้งใจใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่ เพื่อพาคนดูร่วมสมัยที่คาดหวังประสบการณ์ในความหมายดังกล่าว กลับไปสู่เรื่องราวอย่างนีโอเรียลลิสม์อีกครั้ง เชื่อมสะพานระหว่างภาพขาวดำในฐานะความขาดแคลนขัดสนหลังสงครามโลกที่นำเสนอภาพคนทุกข์ยาก กับภาพขาวดำในฐานะตัวเลือกใหม่ของการท้าทายระเบียบกระแสหลักทางศิลปะ – ริ้วรอยบนฟิล์มของ Jenkin เปล่งเสียงทั้งของอดีตและปัจจุบัน สอดคล้องกับคู่ขัดแย้งระหว่างวิถีเดิมและความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาถึงชุมชนริมทะเล

ผู้กำกับ Mark Jenkin Photo:Thom Axon

เขาตระหนักดีว่าเนื้อสัมผัสของฟิล์มเก่าและภาพขาวดำในปัจจุบันถูกมองและให้ความหมายอย่างไร ก่อนจะตั้งใจใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่ เพื่อพาคนดูร่วมสมัยที่คาดหวังประสบการณ์ในความหมายดังกล่าว กลับไปสู่เรื่องราวอย่างนีโอเรียลลิสม์อีกครั้ง

รอยขูดขีดหรือแสงกะพริบของฟิล์มเก่าเกรนแตกดิบหยาบ ยังมีโอกาสได้รับความหมายให้เป็นเนื้อสัมผัสของ “การทดลอง” และ “สมัยใหม่” ได้ในโลกภาพยนตร์ปัจจุบัน แต่ความไม่สม่ำเสมอของเส้นเอ็นอวนจับปลาหรือกระชังดักกุ้ง ซึ่งต้องผ่านการซ่อมแซมเย็บรูรั่วทุกจุดด้วยมือของชาวประมง ยังไม่มีโอกาสได้ไปถึงความหมายนั้น มือที่เชี่ยวชาญในวิถีของชาวประมงที่หนังตั้งใจให้คนดูจ้องมองในหลายต่อหลายฉาก ก็คือมือที่ทำหน้าที่อย่างคนล้างฟิล์มด้วยกรรมวิธีเก่า คือมือที่หมุนกล้องเก่าให้บันทึกภาพและเรื่องราวของพวกเขา คือความงามและศักดิ์ศรีของอดีตที่ยังคงร่วมสมัยและท้าทายได้ หากโลกรอบข้างใจกว้างและเท่าทันพอ น่าเสียดายที่ ณ เวลานี้ ไม่ว่าจะอยู่จุดใดของเรื่องราว ทุกคนคือเหยื่อของโลกใบเดียวกัน


สามารถดูหนังยาวเรื่องก่อนๆ และหนังสั้นจำนวนมากของ Mark Jenkin ได้ที่ https://vimeo.com/markjenkin

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here