Vita & Virginia: ปะทะโลกภายนอก แล้วกลับไปหลบซ่อนในตัวเอง

(2018, Chanya Button)

สำหรับคอวรรณกรรมทั้งหลาย คงไม่มีใครไม่รู้จัก เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนชื่อก้องโลกที่ชีวิตของเธอเป็นเหมือนละครดราม่าสุดขมขื่น เธอสร้างผลงานที่พูดถึงบทบาทของผู้หญิงและแนวคิดเฟมินิสต์ที่มาก่อนกาล แต่ตัวเธอนั้นต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยทางจิต ทั้งจากโรคไบโพลาและโรคซึมเศร้า ดูเหมือนว่า การต่อสู้ของเธอโดยมากจะเป็นการต่อสู้จากภายใน – เวอร์จิเนียเป็นคนที่หลบซ่อนอยู่ในโลกภายในของตนเอง จนกระทั่งเธอได้พบกับนักเขียนหญิงอีกคนที่พาเธอออกมาจากที่นั่น นั่นคือ วิตา แซ็ควิลล์-เวสต์

ถ้าจะพูดถึงพื้นเพของคนทั้งสอง อาจบอกได้ว่าทั้งสองมาจากสังคมที่ต่างกัน เวอร์จิเนียเป็นลูกหลานชนชั้นกลาง และคนในครอบครัวของเธอก็เป็นศิลปิน เธอก่อตั้งสำนักพิมพ์ร่วมกับสามี ซึ่งสำนักพิมพ์นี้เน้นพิมพ์งานแนวทางเลือก ที่ไม่ใช่งานทำเงินแบบที่เป็นป๊อปจัดๆ เวอร์จิเนียและพี่สาวของเธอเติบโตขึ้นมาเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด ในชื่อ กลุ่มบลูมส์เบอร์รี่ ซึ่งรวบรวมเอาศิลปิน นักคิด นักเขียนสำคัญๆในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

สำหรับวิตา แซ็ควิลล์-เวสต์ นั้น เป็นลูกหลานชนชั้นสูง เธอเป็นนักเขียนขายดี และแต่งงานกับนักการทูต สองสามีภรรยาต่างมีสิ่งที่เหมือนกัน คือพวกเขามีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันนอกการแต่งงาน และวิตาก็เป็นคนที่หัวก้าวหน้าในเรื่องนี้มาก จนถึงขั้นที่เธอเคยหนีไปใช้ชีวิตกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ยุโรปกว่าสองปี จนครอบครัวตามตัวเธอกลับมา

หนัง Vita & Virginia เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนหญิงสองคนนี้ วิตาเจอเวอร์จิเนียที่งานปาร์ตี้ และหลงใหลในเสน่ห์และความฉลาดเฉลียวของเธอ ดูเหมือนในความสัมพันธ์นี้ วิตาจะเป็นคนเริ่มก่อน เธอบรรยายว่าตัวเอง​ “ถูกลดทอนให้กลายเป็นเพียงสิ่งที่ต้องการเวอร์จิเนีย” และส่งจดหมายหาเวอร์จิเนียหลายฉบับ นักเขียนทั้งสองแลกจดหมายกัน และก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

หนังแสดงภาพของเวอร์จิเนียซึ่งเป็นคนเปราะบางทางความรู้สึก และก่อกำแพงหนาฉาบเคลือบท่าทีภายนอกเอาไว้ ในแรกเริ่ม ดูเหมือนเวอร์จิเนียจะไม่สนใจวิตา แต่ด้วยลูกตื๊อของวิตานั่นเอง เธอจึงเริ่มเปิดใจ ความแน่นหนาของปราการที่เวอร์จิเนียมียังสะท้อนออกมาทางการออกแบบชุด ซึ่งนักออกแบบของหนังเรื่องนี้พยายามเลือกชุดที่มีหลายชั้นให้เวอร์จิเนีย และเป็นชุดที่ผสมกับความเป็นโบฮีเมียนหน่อยๆ1https://www.thenoizemag.com/2021/01/in-vita-and-virginia-2018/

ช่วงเวลากว่า 1 ชั่วโมง 50 นาทีของหนัง เป็นช่วงที่คนดูจะได้เห็นความสัมพันธ์ของคนทั้งสองถูกคลี่ออกมา แปรเปลี่ยนด้วยความปรารถนาอันยั้งไม่อยู่ สะดุดล้มขณะเดินบนเส้นทางขรุขระ และแปรปรวนไปอย่างน่าปวดหัว ความสัมพันธ์ระหว่างวิตาและเวอร์จิเนียเป็นความสัมพันธ์ที่มีหลายชั้นและซับซ้อนอย่างมาก วิตาเป็นคนที่แปรปรวน และคบกับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เธอเปลี่ยนคู่ควงอยู่ตลอดเวลา แต่ยามเธอตกหลุมรักใคร เธอก็ต้องการให้คนคนนั้นสนใจเธอเพียงคนเดียว เวอร์จิเนียเป็นคนเก็บตัว และต้องการพื้นที่/โลกส่วนตัวเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน เมื่อวิตาต้องการเธอ เธอจึงต้องออกมาจากโลกแห่งนั้น เพียงเพื่อพบว่าวิตาทิ้งเธอไปหาหญิงอื่น

ตัวละครสองตัวนี้แตกต่างกันอย่างชัดเจนในด้านไลฟ์สไตล์และวิธีคิด วิตาเป็นคนที่แผ่ตัวเองออกสู่โลก และเปิดรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างไม่อ้อมค้อม ในขณะที่เวอร์จิเนียอาศัยอยู่ในหัวของตัวเอง และตรวจสอบสถานการณ์จากโลกภายในซ้ำแล้วซ้ำอีก วิตารักการผจญภัยและความเสี่ยง ส่วนเวอร์จิเนียทำทุกทางเพื่อกำจัดความเสี่ยง วิตาเป็นหยินให้กับหยางของเวอร์จิเนีย2https://www.rogerebert.com/reviews/vita-and-virginia-movie-review-2019 และเปิดประตูพาเธอออกสู่โลกภายนอกที่เธอไม่เคยสัมผัส

ในมุมหนึ่ง เราอาจเข้าใจภาวะติดอยู่กับโลกภายในของเวอร์จิเนียได้จากการศึกษาประวัติของเธอเพิ่มเติม เวอร์จิเนียเป็นผู้รอดชีวิตจากการล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก และเธอผ่านวันคืนเหล่านั้นมาในสมัยที่ยังไม่มีกระบวนการจิตบำบัดที่เข้ารูปเข้ารอย นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เธอไม่อาจมีความสุขทางเพศได้กับสามี แต่วิตาได้เดินเข้ามาเปิดโลกของเธอในเรื่องนี้ และทำให้เธอเชื่อมต่อกับร่างกายของตัวเองได้อีกครั้ง แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่แม้กระทั่งเลียวนาร์ด สามีของเวอร์จิเนียเองก็เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับวิตาส่งผลดีมากกว่าผลเสีย

ทุกอย่างอาจแปรเปลี่ยนไปเมื่อวิตาสิ้นความสนใจในเวอร์จิเนียนั่นแหละ ตอนนั้นคนรอบตัวเวอร์จิเนียเริ่มเห็นถึงอันตรายของความไม่หยุดนิ่ง และไร้การควบคุมของวิตา เวอร์จิเนียอาการทรุดลงอีกครั้ง และนั่นทำให้ครอบครัวของเธอต้องหาวิธีปกป้องเธอ สิ่งที่เวอร์จิเนียกลับไปหา คือการคลานกลับเข้าไปสู่โลกภายในอีกครั้งหนึ่ง ในโลกแห่งนี้ เธอสามารถใช้จินตนาการสำรวจความเป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

และคงเป็นการใช้ชีวิตภายในของเวอร์จิเนีย ที่ทำให้เธอเขียน “ออร์แลนโด” ขึ้นมา วรรณกรรมเรื่องนี้เปรียบเสมือนจดหมายรักที่เธอมีให้กับวิตา เวอร์จิเนียสร้างตัวละครออร์แลนโดขึ้นมาให้เป็นตัวละครที่มีสองเพศ สามารถเปลี่ยนเพศไปมาได้ โดยเธอตั้งใจสร้างตัวละครนี้จากลักษณะที่เป็นทั้งชายและหญิงของวิตา เธอตั้งใจทำให้ออร์แลนโดเป็นผลงานกึ่งชีวประวัติ เพื่อให้มันเทียบเคียงเข้ากับตัวจริงของวิตาให้ได้มากที่สุด และคนอ่านต่างก็สนุกไปกับการจินตนาการว่าเนื้อเรื่องสร้างจากคนที่มีชีวิตจริงๆ วรรณกรรมเรื่องนี้ถือเป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับการข้ามเพศ หรือทรานส์ เรื่องแรกในภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ใหม่มากในยุคนั้น และทำให้มันประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

แม่ของวิตาไม่พอใจวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เธอบอกว่ามัน “เปลี่ยนแปลงตัวตนของวิตา และขโมยเธอไปจากฉัน” แต่ดูเหมือนเธอเองก็ไม่สามารถยั้งกระแสของวรรณกรรมเรื่องนี้ไว้ได้ วิตาเองก็ชื่นชอบออร์แลนโดอย่างมาก เธอบอกกับเวอร์จิเนียว่า “ถ้าฉันเคยรู้สึกตื่นเต้นและหวาดกลัว นั่นก็มาจากการที่ตัวฉันสะท้อนอยู่ในความเป็นออร์แลนโด”

ความรักที่มีหลายชั้นของวิตาและเวอร์จิเนียแปรเปลี่ยนจากความรักแบบไม่เกี่ยวเนื่องกับเพศ (Platonic) ไปเป็นความรักโรแมนติก ก่อนที่มันจะเปลี่ยนกลับมาเป็นความรักแบบ platonic อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการเปลี่ยนครั้งสุดท้ายนี้เป็นกระบวนการจัดการกับความเจ็บปวดของเวอร์จิเนียเอง ที่ทำให้เธอสามารถกุมชะตาชีวิตของวิตา (ออร์แลนโด) ได้ในจินตนาการ ในโลกของออร์แลนโด วิตาจะเป็นตัวละครเอกของเธออยู่เสมอไป วิตาจะเป็นอมตะในห้วงคำนึงของเธอ และไม่มีข้อจำกัดทางเพศที่ทำให้วิตารักใครไม่ได้ – ในแง่หนึ่งการเล่นกับความจริงเช่นนี้อาจดูเหมือนการบิดความจริงเข้ามาหาตัวเอง และมันก็สมกับคำว่า platonic อย่างมาก เพราะความสัมพันธ์นี้เกิดในโลกของไอเดียที่แยกขาด และอาจสูงส่งกว่าความเป็นจริง

เมื่อเห็นกระบวนการจัดการความเจ็บปวดของเวอร์จิเนีย ทำให้เราอาจวิเคราะห์ย้อนไปถึงกระบวนการจัดการความเจ็บปวดที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เธอไม่อาจหายจากภาวะเจ็บป่วยทางจิต เป็นไปได้หรือไม่ว่าเวอร์จิเนียจะเก็บประสบการณ์อันเลวร้ายของเธอ และหาทางบิดมันในจินตนาการ ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการปลดปล่อยมัน ความเจ็บปวดเพียงเปลี่ยนรูปออกมาในรูปแบบวรรณกรรมหรือสิ่งนามธรรม แต่มันยังคงไหลเวียนในตัวเธอ เธอไม่อาจปล่อยมือจากมัน เพราะได้ประดับประดามันด้วยถ้อยคำหรือคอนเซ็ปต์ และแม้มันอาจทำให้ดูเหมือนเจ็บน้อยลง แต่จริงๆ แล้วความเจ็บยังอยู่ตรงนั้น เหมือนแผลที่ไม่ถูกใส่ยา และแปะผ้าพันแผลไว้งั้นๆ เพื่อปิดบังจากสายตาคนนอก

หากจะมีสิ่งที่นักวิจารณ์ไม่ปลื้มหนัง Vita & Virginia นัก ก็อาจเป็นการที่หนังพูดอะไรออกมาตรงๆ มากเกินไป ในลักษณะที่ Tell แต่ไม่ Show คือแทนที่หนังจะใช้ฝีมือการแสดงของนักแสดงนำทั้งสองเพื่อบอกถึงความเปราะบางของพวกเธอ หนังกลับให้พวกเขาพูดว่าพวกเขา “เปราะบาง” ออกมาตรงๆ และมันเป็นหนังที่ตัวละครบอกว่าตัวเองต้องการและรู้สึกอะไรเยอะมาก แทนที่จะให้ตัวละครแสดงมันผ่านภาษาทางกาย ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่า หนังโฟกัสกับ What to say เยอะเกินไป จนมันกลายเป็นสิ่งเดียวที่มี และลืมให้ความสำคัญกับ How to say ดังนั้นสิ่งที่ติดหัวออกมาหลังจากดูหนังเสร็จจึงเป็นเพียงเส้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวิตาและเวอร์จิเนีย ทำนองว่า จำได้เพียงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ไม่สามารถจำความรู้สึกต่อสิ่งเหล่านั้นได้ชัดเจนนัก

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS