รักหนูมั้ย : #ให้มันไม่จบที่รุ่นเรา

(2020, ภูวเนตร สีชมพู)

มันคือเรื่องของ กิว ออฟ จอน เพื่อนซี้สามคนที่เป็นนักเรียนอยู่บ้าง ตกงานอยู่บ้าง หรือมีงานไม่เป็นชิ้นเป็นอันอยู่บ้าง คืนหนึ่งพวกเขาเรียกสาวไซด์ไลน์มาบริการที่บ้าน ร่วมสนุกกันข้ามคืน หากผลิดอกออกผลในอีกห้าเดือนต่อมา เมื่ออ้อมสาวไซด์ไลน์แรกรับงานคนดังกล่าว อยู่ดีๆ ถือวิสาสะหอบกระเป๋าเข้ามาอยู่ในบ้านพร้อมกับท้องโตที่ไม่รู้ว่าใครกันแน่คือพ่อที่แท้จริง

แล้วครอบครัวพิลึกพิลั่นเริ่มต้นขึ้นตรงนั้นอย่างไม่ประสีประสา ไม่รู้เรื่องรู้ราว เหมือนกับเด็กเล่นขายของเสียมากกว่า เมื่อจอนตัดสินใจให้อ้อมเข้ามาอยู่ร่วมชายคา คอยดูแลจนกว่าลูกจะคลอดออกมา จากนั้นค่อยมาตรวจ DNA กันอีกทีว่าใครคือพ่อของเด็ก กิวหนุ่มรักสนุกไม่ยอมเป็นพ่อคนแน่ๆ ส่วนออฟเองก็มีความสัมพันธ์รักๆ เลิกๆ กับแฟนสาว ขณะที่จอนเองก็ยังเป็นเพียงเด็กนักเรียนศิลปะที่ยังไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับชีวิต 

จนเมื่อลูกคลอดออกมา จนเมื่อตรวจ DNA รู้ว่าใครคือพ่อที่แท้แล้วก็ตาม มันก็ยังไม่ได้ง่ายขึ้น ถึงที่สุดทั้งห้าก็ลองใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เริ่มจากการไม่มีทางเลือกกระเสือกกระสนไปตามศีลธรรมในจิตใจไปสู่การเลือกที่จะสร้างทางใหม่ๆ ด้วยตัวเอง

พล็อตเรื่องน่าตื่นเต้นยิ่ง มันพร้อมจะกลายเป็นนิทานสาธก หนังสั่งสอนศีลธรรมสาวรักสนุก หรือเด็กหนุ่มๆ ไม่คิดหน้าคิดหลัง ในอีกทางมันก็สามารถเป็นพล็อตอบอุ่นหัวใจของสามหนุ่มที่เปลี่ยนไปเพราะต้องมาดูแลทารก แบบที่หลายๆ คนอาจคุ้นเคยจากหนังอย่าง Three Men and A Baby ในอีกทางหนึ่งสุดท้ายมันอาจเป็นพล็อตสำหรับหนังรัก เมื่อเด็กที่เกิดมาทำให้เด็กสาวต้องเลือกว่าใครกันแน่ที่เธอจะรักสร้างครอบครัวไปด้วยกัน 

ครอบครัวกลายเป็นสิ่งที่หนังสำรวจตรวจสอบอย่างน่าสนใจ เมื่อจินตนาการถึง ‘ครอบครัว’ เรามีตัวอย่างอย่างง่ายและเล็กที่สุดในรูปแบบของพ่อแม่ลูก อาจจะพร่องพ่อ หรือพร่องแม่ หรือไม่มีลูก แต่มีแกนกลางที่ความสัมพันธ์สองแบบคือทางสายเลือด และการแต่งงาน อาจจะกว้างไปกว่านั้นคือครอบครัวที่เติมเอาคนรุ่นปู่ยาตายายเอาไว้ด้วยเป็นครอบครัวขยาย เลยไปกว่านั้นในสังคมเอเซีย เราอาจจินตนาการได้ถึงครอบครัวผัวเดียวหลายเมียขยายเพิ่มเข้าไป แต่ในพื้นที่ทางจินตนาการที่ผ่านการรับรองของรัฐนั้น ครอบครัว ไม่ได้มีพื้นที่ให้กับ ครอบครัวของคนรักเพศเดียวกัน หรือครอบครัวที่ไม่ผูกพันทางสายเลือด และอย่างท้าทายที่สุดสำหรับสังคมเอเซียคือครอบครัวเมียเดียวหลายผัว

เราอาจบอกได้ว่าหนังสำรวจตรวจสอบความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของครอบครัว จากผู้คนที่มาจากครอบครัวแบบเดิมที่ล้มเหลว ทั้งปูมหลังของอ้อมที่ทำให้เธอเป็นคนไม่มีที่ไป หรือสามหนุ่มที่ดูไม่เป็นโล้เป็นพายพอที่จะเป็นครอบครัวขึ้นมาได้ ยิ่งไปกว่านั้น ดูเหมือนนี่จะเป็นหนังไม่กี่เรื่องนับจากหนังอย่าง ‘หน่าฮ่าน’ ของ ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ที่โลกในหนังทั้งใบประกอบขึ้นจากตัวละครวัยรุ่นโดยปราศจากผู้ใหญ่ หากจะมีผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ทำหน้าที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการสร้างทางเลือกของตัวละครวัยรุ่น ในโลกที่คนรุ่นก่อนหน้ากับคนรุ่นปัจจุบันฉีกขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิงนี้เอง เราจึงได้เห็นการดิ้นรนใหม่ๆ ของหนุ่มสาวร่วมสมัย 

อย่างไรก็ดี หนังมีความบกพร่องอยู่มากเพราะเมื่อเลือกที่จะเป็นหนังโทนอบอุ่นหัวใจ ข้อเสนอตั้งต้นแรงๆ ที่หนังโยนขึ้นมาทั้งเรื่องของท้องไม่พร้อม แม่วัยใส สภาพชีวิตเมียเดียวหลายผัว ก็ถูกทอนออกไป ตั้งแต่การเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาทางเศรษฐกิจของการเลี้ยงดูหญิงตั้งครรภ์และทารกแรกคลอดด้วยการหาทางออกง่ายๆ เช่นการขายของเก่าในบ้าน ซึ่งเป็นไปได้จริง แต่การที่หนังแทบไม่มีความวิตกกังวลในเรื่องนี้ก็ทำให้หนังอ่อนบางลงจนเหมือนโลกฝันมากกว่าจริง หรือจากทางที่หนังเลือก หนังก็จำต้องโยนทิ้งปัญหากำหนัดทางเพศของผู้ชายสามคนกับผู้หญิงหนึ่งคน จนทำให้เพื่อที่จะให้เป็นไปได้ ทั้งสี่คนต้องสร้าง Platonic Friendship ผูกพันในฐานะครอบครัวโดยไม่มีโครงสร้างความสัมพันธ์เรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง/แปดเปื้อน 

เช่นเดียวกันภายใต้โครงสร้างหนังที่เล่าเรื่องเมียเดียวหลายผัว นี่ก็ไม่ใช่หนังที่สำรวจตรวจสอบความเป็นหญิง อำนาจและการต่อสู้ของผู้หญิงที่น่าพอใจนัก เพราะเช่นเดียวกับหนังร่วมตระกูลอย่าง ไทบ้าน เดอะซีรีส์ หนังเป็นโลกของผู้ชายที่มุ่งสำรวจตรวจสอบผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงในเรื่องทั้งแม่และลูกสาวเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ของบรรดาผู้ชายในเรื่อง คนหนึ่งเรียนรู้ที่จะเป็นคนที่ดีกว่านี้ อีกคนเรียนรู้ที่จะเลือกสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจัง และอีกคนเรียนรู้ที่จะรัก ขณะที่ตัวละครหญิงในเรื่อง ซึ่งน่าจะอ่อนไหวที่สุด เจ็บปวดที่สุด และต้องเรียนรู้มากที่สุด กลับเป็นคนที่เข้มแข็งที่สุดและไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ตลอดเวลาที่หนังดำเนินไป ในฐานะตัวละครที่เข้มข้นที่สุดทั้งประเด็นและปูมหลัง อ้อม กลายเป็นคนที่แข็งแรงที่สุด ในขณะเดียวกันก็ไม่ถูกค้นหามากที่สุดทั้งที่น่าค้นหาหว่าใครเพื่อน ผู้หญิงในเรื่องจึงทำหน้าที่ทั้งเป็นโสเภณีและแม่พระในการมาเยียวยาและปรับปรุงจิตวิญญาณของผู้ชายสามคน ในจุดนี้ก็ถือว่าน่าเสียดาย ยิ่งพอคิดว่าปัญหาหนึ่งของหนังในชุดนี้คือการไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าใจตัวละครหญิงของตัวเองได้มากกว่าการเลือกสาวสวยมาแสดงความเข้มแข็ง เลยคิดว่านี่เป็นความท้าทายของกลุ่มไทบ้านในอนาคตมากๆ

อย่างไรก็ดี หนังกลับมีตอนจบที่น่าสนใจและท้าทายกว่าที่คิด โดยเฉพาะต่อสิ่งที่กำหนดโชคชะตาของตัวละครนั่นคือโครงสร้างของการเป็นเรื่องเล่า เราอาจบอกได้ว่าโครงสร้างของเรื่องเล่าถึงที่สุดเป็นข้อจำกัดของตัวเรื่องเล่าเอง ความกระเหี้ยนกระหือรือของความต้องการ ‘บทสรุป’ ของเรื่องเล่า ล้วนส่งผลกำหนดชะตาชีวิตตัวละครมานักต่อนัก ความเป็นเรื่องเล่าจะทำให้หนังหลายเรื่องที่มีพล็อตที่ก้าวหน้ามากๆ ต้องวกกลับมาสู่ทางลงเพื่อตอบสนองศีลธรรมจริยธรรมของผู้ชม ยกตัวอย่างแบบหนังรักสามเส้า ที่มักมีทางเลือกจบว่าตัวละครเลือกใครคนใดคนหนึ่ง หรือตัวละครไม่เลือกใครและไปจากกัน การจบความสัมพันธ์ที่กระอักกระอ่วนไม่ถูกต้องเพิ่อ ’มุปอร’ ก้าวไปข้างหน้าคือ ‘บทสรุป’ ที่เรื่องเล่าต้องมอบให้ผู้ชม ความมั่นคงที่ผู้ชมปรารถนา โลกกลับคืนสู่สมดุลดังเดิม หากจบสุข มันก็เติมแฟนตาซีให้ผู้ชม หากจบเศร้า ความเศร้าก็จะขัดถูความโรแมนติคของการเสียสละ และหากจบแบบเลวร้าย ก็จะกลายเป็นบทเรียนสอนใจ ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อคุณลงมือเล่า เรื่องเล่าจะเรียกร้องให้คุณจบมันลง และการจบทำให้คุณต้องเลือก แต่ไม่ว่าจะเลือกอะไรคุณก็เลือกให้มันจบลงอย่างเลือกไม่ได้ทั้งสิ้น 

การเลือกที่จะไม่เลือกในหนังอย่างรักหนูมั้ยจึงเป็นทางเลือกที่ดูเหมือนน่าตะขิดตะขวงใจอย่างยิ่ง เพราะหนังเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ที่คลุมเครือ และถูกมุ่งหวังให้เดินไปสู่ความสัมพันธ์ที่ชัดแจ้งในการเลือกสร้างครอบครัวจริงๆ กับใครสักคนเพียงคนเดียว ในหนังตัวละครถึงกับพูดขึ้นว่า ‘เขาคงไม่คิดว่าอ้อมเป็นเมียพวกพี่หรอก อย่างมากก็คงคิดว่าอ้อมเป็นกะหรี่ก็เท่านั้น’ ราวกับว่าทางเลือกของครอบครัวมีเพียงสองแบบ คือเป็นเมีย เป็นแม่/แม่พระ เลือกใครสักคน หรือไม่เลือกใครเลย ทางเลือกแบบอื่นๆ คือการเป็น ‘กะหรี่’ ที่สังคมกระอักกระอ่วนใจที่จะยอมรับ

ตอนจบของหนังทำให้นึกถึงหนังที่พูดเรื่องคล้ายคลึงกัน แต่ประนีประนอมน้อยกว่ามากๆ อย่าง Ema ของ Pablo Larrain ที่เปลี่ยนให้ผู้หญิงที่ไม่มีความเป็นแม่ กลายเป็นผู้คุมเกมในการสร้างครอบครัวแบบใหม่และความเป็นแม่แบบใหม่ที่ไม่ได้เป็นแค่ mono หรือ polygamy หากทำลายล้างกระทั่งบทบาททางเพศและจำนวนลงไปด้วย 

รักหนูมั้ยจึงท้าทายอย่างยิ่งและเป็นวัยรุ่นอย่างยิ่งเช่นเดียวกับทางเลือกใหม่ๆ ของสังคมไทยในตอนนี้ มันคือการลุกมาประกาศของเด็กรุ่นใหม่ที่จะให้การจบทางเลือกชีวิตตามขนบที่มีมาก่อนหน้าเป็นสิ่งที่ #ให้มันจบที่รุ่นเรา ทางเลือกของหนังเป็นการท้าทายกับขนบเดิม โดยที่ผู้ชมมองไม่เห็นความเป็นไปได้ว่ามันจะไปรอด หากความเป็นไปไม่ได้นี้เอง กลับเป็นความเป็นไปได้ครั้งแรกของคนหนุ่มสาวร่วมสมัย ที่ลุกขึ้นยืนบอกว่า ฉันไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ฉันจะโยนข้อบังคับที่เคยได้รับมาทิ้งไป และฉันจะไปต่อข้างหน้าด้วยตนเอง และความไม่ยอมจำนนแบบนี้นี่เองที่อาจจะเป็นสารัตถะของยุคสมัยปัจจุบันที่น่าทึ่ง 

Filmsick
Filmvirus . เม่นวรรณกรรม . documentary club

LATEST REVIEWS