MIDNIGHT CINEMA 08 : พญาโศกพิโยคค่ำ – ที่ริมขอบของรุ่งสาง

(2021, ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์)

คนหนุ่มดุ่มเดินตัดสนามสกปรกเข้าไปในบ้านมืดทึบ ลงไปในอุโมงค์ชั้นใต้ดิน ที่มีคนถูกมัดมือคลุมหัว รถคันหนึ่งมาจอด หญิงสาวกับเด็กหญิงลงมาจากรถ มีศพห่อผ้ากลับขึ้นไปแทน

หลังจากทำแผล รักษาอาการบาดเจ็บ เขาตามภรรยาและลูกสาวมาที่บ้านเพื่อกินข้าวร่วมกันเป็นครั้งสุดท้าย เธอกระซิบบอกเขา ฉันเพิ่งฆ่าพอของตัวเอง เขาไปจากเธอกลางดึก ตอนที่เธอกำลังหลับ นั่งไปกับคนขับรถ ลูกสาวถูกพาไปโดยแม่บ้านอีกคน เธอตื่นขึ้นเจอแต่ความมืดและลูกน้องของเขายืนเรียงรายเหมือนภูติผี พาเธอข้ามผ่านรั้ว มันคล้ายคลึงกับบ้านของแม่เหลือเกิน 

ด้วยภาพและเสียงอันมืดมนเข้มข้น เรื่องเล่าถูกผลักออกและประสบการณ์ถูกรุนหลังมาข้างหน้า ในห้องมืดสนิท ผู้ชมได้โอกาสนั่งจ้องความมืดในภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ศิลปินและคนทำหนังที่หมกมุ่นอยู่กับทัศนียภาพระยะไกล และผู้คนในระยะใกล้ที่ใบหน้า เสื้อผ้า เส้นผมกลายเป็นตัวทัศนียภาพเสียงเอง ทัศนียภาพของความรกร้างล่มสลาย ภาพและเสียงอมพะนำที่อวลมวลพลังงานมืดและประวัติศาสตร์ขาดวิ่นของผู้คนมาอย่างยาวนาน ในหนังเรื่องนี้ ไทกิยังคงมุ่งมั่นในสิ่งที่ผู้ชมของเขาคุ้นเคย เสียงอันรบกวนโสตประสาท ภาพที่อยู่เหนือเรื่องเล่า บรรยากาศกดทับจนหายใจติดขัด ทัศนียภาพของพื้นที่ทิ้งร้างว่างเปล่า ปากแผลทั้งแห้งและสดของการเสื่อมสลาย วอลเปเปอร์ขอบล่อน ผนังที่ชั้นสีบวมพอง สนามที่เกลื่อนด้วยเศษหญ้าและเศษตะไคร่กรังแห้ง ทัศนียภาพที่คล้ายคลึงกับ การถ่ายภาพโรงแรมเก่าที่เคยเป็นส่วนหนังของประวัติศาสตร์บาดแผลใน ภูเขาไฟพิโรธ หรือภาพในวอร์ดจิตเวชที่ผู้คนถูกถ่ายในระยะ extreme close up ใน Mental Traveller และร้านถ่ายรูปชราที่ถ่ายรูปข้าราชการเผด็จการมาทุกยุคและเสื่อมทรุดไปตามกาลใน Shadow and Act ภาพยนตร์ของไทกิ เป็นสนามของภาพและเสียง เป็นประสบการณ์หลอนหลอกคล้ายกับการเข้าไปในถ้ำสกปรกและสูดกลิ่นอับชื้นของมัน เป็นการยากที่จะเล่าเรื่องย่อ หรือสรุปความหนังเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เพราะนั่นเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราอาจจะได้รับ กล่าวให้ถูกต้องนี่คือหนังประเภทที่ใช้ดวงตาและหูแทนผิวหนัง จมูก ปาก ผัสสะทั้งหมดใช้ดวงตาเป็นทางเข้า เพื่อสัมผัสโดยอยู่นิ่งกับที่ เป็นประสบการณ์มากกว่าเรื่องราว 

เราอาจแบ่งหนังออกเป็นสองช่วงเวลา ระหว่างเวลาของแม่ ‘ไพลิน’ ในบ้านที่ถูกทำให้หยุดนิ่ง และเวลาของลูกสาว ‘พลอย’ เวลาแรกถูกกำหนดคร่าวๆ ว่าเป็นช่วงล่าคอมมิวนิสต์หลังหกตุลา และช่วงที่สองคือค่ำคืนหลังการรัฐประหารในปี 2006 เวลาทั้งสองถูกกำหนดโดยผู้หญิงสองคน คนหนึ่งเป็นภรรยาที่รอการกลับมาของสามีที่นำกองกำลังทหารไปไล่ล่านักศึกษา อีกคนหนึ่งคือเวลาในการกินข้าวมื้อสุดท้ายกับสามีที่อาจจะเป็นนักการเมือง นักปฏิวัติ ก่อนหลบหนีออกนอกประเทศ (เวลาในส่วนนี้ทำให้นึกถึงเวลาคืนสุดท้ายของปรีดีกับพูนศุข ในหนังสั้นเรื่อง พูนศุข ของ ณัฐวร สุริยสาร ซึ่งไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์เองก็เล่าว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือชื่อ สันติปรีดี ของชมัยภร แสงกระจ่าง ที่เล่าถึงชีวิตของ ปรีดี พนมยงค์) แต่เวลาทั้งสองห้วงนี้กลับถูกจัดวางให้ซ้อนทับและกลับหัวจนเป็นได้ทั้งการผลิตซ้ำของวงจรอุบาทว์ของกันและกันจากคนละฟากฝั่ง ในขณะเดียวกันเวลาหนึ่งก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนภายในของอีกเวลาหนึ่งราวกับลูกกำลังจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรมเศร้ากึ่งวิปลาสของแม่

อย่างไรก็ดี เวลาสองห้วงนี้ถูกเชื่อมร้อย ตัดขาด จากสิ่งที่อยู่คงทนยืนนานเหนือกาลเวลาพอๆ กับวงจรรัฐประหารในประเทศนี้นั่นคือผี

ผีของผู้หญิงผมยาวไร้ชื่อที่ไม่ว่าจะถูกฆ่า ทารุณกี่ครั้งก็ยังไม่มีชื่อ ในเรื่องเล่าของหมอ น้องเขยของไพลินเขาเล่าถึงการพบเจอกับสามีของไพลินครั้งหลังสุด ที่นั่นมีศพของผู้หญิงผมยาวนอนเปลือยกายในยามกลางคืน ผู้หญิงที่อาจจะเป็นนักศึกษาที่ถูกทรมาน บังคับสูญหาย อีกครั้งผู้หญิงผมยาวปรากฏในฐานะนางพรายใต้น้ำที่อาจจะทำให้พลอยจมน้ำว่ากันว่าในคืนนั้น ผีผู้หญิงผมยาวที่ถูกลักพาตัวมาจากกรุงเทพฯ ให้ความรู้สึกเชื่อมโยงกับความเป็นนักศึกษาที่ถูกไล่ล่า

ในทางภาพผู้หญิงผมยาวปรากฏเป็นศพอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินที่ไหนสักแห่งนอนเปลือยเปล่าไร้วิญญาณโดยมีชายคนหนึ่งนั่งเฝ้าศพ อาจจะเป็นผู้หญิงคนเดียวกันกับในเรื่องเล่าหรือไม่ใช่ก็ได้ และในอีกทางหนึ่งผู้หญิงผมยาว อาจจะคนนี้หรืออีกคน เดินซัดเซหลงในป่าเพียงลำพัง ในฉากนี้เอง ดูเหมือนมันเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบของเวลาในหนัง 

ในฉากดังกล่าวประกอบขึ้นจากสามเหตุการณ์ หนึ่งคือสามีของพลอย บอกลาภรรยาแล้วขึ้นรถเดินทางหลบหนีอาจจะออกนอกประเทศหรือไม่ก็ได้ เขานั่งในรถกับคนขับที่ฝ่าความมืดออกไปบนถนนเส้นเล็กๆ อีกเหตุการณ์หนึ่ง เหตุการณ์เดียวที่มี ‘ชาวบ้าน’ ปรากฏขึ้นบนจอ นั่นคือรถโดยสารพัดลมที่แล่นมาตามถนน ค่ำคืนร้อนทุรนผู้คนบนรถกึ่งหลับกึ่งตื่นเบียดเสียดกัน ดื่มเหล้าขาวไม่ก็น้ำเปล่าจากขวดเดียวกันเวียนส่งต่อกันไป จนกระทั่งรถจอดเสียริมถนน คนขับและผู้โดยสารบางคนลงไปซ่อม เหตุการณ์ที่สามคือผู้หญิงผมยาวไร้ชื่อ โซซัดโซเซออกมาจากป่า ในฉากนั้นรถของสามีพลอยขับผ่านรถโดยสารที่จอดเสียกลางความมืด เด็กหญิงบนรถโดยสารคนหนึ่งเพ่งมองจากบนรถออกไปสบตากับผีหญิงสาวผมยาวคนหนึ่ง หญิงสาวที่ซ่อนตัวอยู่ในป่า ผีจากอดีตกาลที่ยังไม่ไปผุดเกิด ผู้หญิงผมยาวกระโดดออกมาตัดหน้ารถที่แล่นสวนไป เขาเหยียบเบรค จอดลงมาดู ไม่มีร่างผู้หญิงผมยาวมีแต่ท้องฟ้าที่สว่างขึ้นมาหากเราเรียงตาม ‘ลำดับเวลา’ เราอาจบอกได้ว่าฉากในยามสางนี้คือตอนจบของเรื่อง ในขณะที่หนังที่เกือบทั้งหมดเกิดในเวลากลางคืน ในความมืดที่แม้แต่เวลากลางวันยังถูกครอบครองโดยสุริยุปราคา แสงที่ริมขอบฟ้าในฉากนี้คือแสงแรกของหนังหลังจากฝันร้ายอันยาวนาน

ราวกับว่านี่คือจุดตัดของความมืดกับความสว่างของอดีตกับอนาคต ของเวลาที่ไม่เป็นเวลาอีกต่อไป เช่นเดียวกับการที่หนังมีชื่อไทยว่าพญาโศกพิโยคค่ำ ที่อาจจะหมายถึงการเพลงพญาโศก -เพลงงานศพที่บรรเลงในตอนกลางคืน ขณะที่ชื่ออังกฤษของหนังคือ The Edge of The Daybreak ที่แปลว่า ริมขอบของรุ่งสาง และที่นั้นนั้น เป็นจุดที่เวลาสองห้วงแตะสัมผัสกันและถูกทำลาย หนังจึงกลายเป็นเวลาของโลกที่ไม่มีเวลาอีกต่อไป เช่นเดียวกับที่หมุดหมายโมงยามทางประวัติศาสตร์ของหนังไม่ได้อยู่ในตัวหนังแต่อยู่ในเรื่องย่อแทน เวลาถอยหลังกลับเข้าไปในฝันร้ายวนซ้ำไม่รู้จบ ง่อยเปลี้ย ง่วงงุน ครึ่งหลับครึ่งตื่น หวาดผวา สกปรก มืดดำ น้ำตาครั้งแล้วครั้งเล่า ตายและสูญหายครั้งแล้วครั้งเล่า สุริยุปราคาครั้งแล้วครั้งเล่า

หนังจึงกลายเป็นเวลาของโลกที่ไม่มีเวลาอีกต่อไป เช่นเดียวกับที่หมุดหมายโมงยามทางประวัติศาสตร์ของหนังไม่ได้อยู่ในตัวหนังแต่อยู่ในเรื่องย่อแทน เวลาถอยหลังกลับเข้าไปในฝันร้ายวนซ้ำไม่รู้จบ

ในเวลาของไพลิน หนังอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น หนังเปิดฉากด้วยการตื่นนอนเชื่องช้าของไพลิน ด้วยชายเฒ่าเงียบใบ้บนรถเข็น ง่อยเปลี้ยเสียขา พิกลพิการและไร้ทางออก ไพลินต้องให้หญิงรับใช้อาบน้ำให้ ชายเฒ่าออกไปตักบาตรโดยไม่มีพระ และพลอย ลูกสาวของพลินเป็นเจ้าหญิงนิทราหลังจมน้ำ กล่าวให้ถูกต้องคือบ้านทั้งหลังเป็นสภาวะหนืดเนือยนิ่งงันทั้งทางภายภาพ (พิการ / ติดเตียง) และจิตใจ (ความตรมเศร้าของไพลิน) โดยเรือนกายของบ้านเป็นสถานที่ที่ถูกเก็บรักษาไว้ให้เหมือนเดิมก่อนที่สามีจะจากไป การแช่แข็งเวลาก่อนเก่าทำให้บ้านเสื่อมทรุดมากกว่าจะคงสภาพ เศษตะไคร่ใบไม้ล้นสนาม สวนรกเรื้อ แม้แต่พื้นบ้านหรือกระจกหน้าต่างก็ไม่ได้รับการขัดถู

หนังวาดภาพของบ้านแบบเดียวกับเสียงบรรยายในช่วงต้นของเรื่องว่าเหมือนอยู่ภายในร่างกายของสัตว์ใหญ่ ทัศนียภาพของบ้านที่เป็นปุ่มปม (อาคารซาโต้) เหมือนกับเกล็ดของงู ทำให้ในบ้านยิ่งคล้ายบรรยากาศของโลกที่ถูกสวาปามเข้าไปในท้องของงู แต่นี่ไม่ใช่งูในจินตนาการแบบเจ้าชายน้อย ไม่ใช่งูที่อยูในโรงเพาะเห็ด แต่เป็นงูที่อยู่ในบ้าน หนังมีฉากที่ไพลินเล่าเรื่อง หนูบนเพดาน เสียงเล็กๆ ที่ไร้ความหมายแต่มอบความอบอุ่นให้เธอ เธอบอกว่าเธอเก็บบ้านนี้ไว้เช่นนี้ เพื่อให้พวกหนูเหล่านี้นยังมีชีวิตอนยู่ได้ ส่งเสียงเล็กๆ อย่างร่าเริงอยู่บนเพดานเพื่อบรรเทาความเหงาของเธอ ในแง่นี้ไพลินจึงเห็นงูในฐานะของสิ่งที่จะเข้ามาคุกคาม หนูน้อยน่ารักที่เธอไม่เห็นตัวแต่ได้ยินเสียง เธอจึงให้คนงานฆ่างู แล้วจับมาแกง

แต่ความยอกย้อนทั้งหมดคือหากบ้านหลังนี้ (ที่มีเธอเป็นเจ้าของ) คืองูเสียเอง ก็เท่ากับเธอเองที่เป็นลูกหนูน้อยในท้องของงู ในเวลาของไพลิน เธอเล่าเรื่องประหนึ่งเธอเป็นเหยื่อจากการสูญหายของสามี แต่สามีของเธอเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ สถานะของไพลินจึงไม่ใช่ญาติของผู้ถูกบังคับสูญหาย แต่มีสถานะแบบชนชั้นปกครอง ที่พยายามจะปกป้องบ้านเมืองจากงูร้ายที่อาจจะใช่หรือไม่ใช่คอมมิวนิสต์ในทศวรรษที่ 1970’s หากสำหรับเธอคนที่เธอปกป้องไม่ใช่คนในระดับเดียวกับเธอแต่เป็นเพียงหนูตัวเล็กๆ บนหลังคา ภาพแทนอุดมการณ์ทางการเมืองที่เราคุ้นเคยกันมายาวนานของการที่วีรบุรุษในนามของสถาบันต่างๆ ผู้คนต่างๆ มีศักดินาที่อยู่เหนือเล่าและบอกเล่าซ้ำๆ ว่าต้องลำบากแค่ไหนเพื่อปกป้องเราจากภัยร้ายที่จะขังเราไว้ในบ้านที่เปื่อยเน่า ในท้องของอสรพิษ

ในเวลาของไพลินมันจึงเต็มไปด้วยเรื่องเล่า ท้ังของเธอ ของพลอย (ที่เธอเป็นผู้เล่า) ของหมอที่มีศักดิ์เป็นน้องชายของสามี และของสามีเธอเอง ในเวลาของไพลิน ตัวละครนั้นอาจจะพูดกัน แต่พวกเขาไม่ได้สนทนากันพวกเขาเพียงใช้อีกฝ่ายเป็นภาชนะในการรองรับเรื่องเล่าที่มีพวกเขาเป็นตัวเอกที่ทนทุกข์ ทั้งความฝันถึงอดีตที่ชั่วร้ายของแม่ที่ไม่นับเธอเป็นลูก หรือหมอที่เล่าเรื่องเขากับพี่ชายและพ่อที่ตีแม่จนตาบอด ไล่ไปจนถึงเรื่องของเธอที่อมทุกข์เพราะลุกถูกพรายน้ำลักพาชีวิตไปจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา พรายน้ำที่มีสถานะเหมือนผี เหมือนงู เหมือนหญิงสาวผมยาวนอนตาย 

ในเวลาของไพลิน มันจึงเป็นเวลาที่ไม่มีเวลา เวลาเคลื่อนไปข้างหน้าแต่เข็มนาฬิกาเดินเป็นวงกลม เวลาของไพลินคือการรับรู้เวลาแบบหลัง แบบที่ไม่มีการเคลื่อนไปข้างหน้าแต่เป็นวงกลมอยู่กับที่ สุริยุปราคาจึงปรากฏซ้ำราวกับว่าเกิดขึ้นทั้งวันไม่หยุดหย่อน สุริยปราคายังอาจถูกแทนที่ด้วยภาพของน้ำสกปรกที่หมุนวนอยู่ในท่อระบายน้ำ ด้วยการออกแบบภาพและเสียงอันบ้าคลั่ง ภาพของน้ำเลือด น้ำมัน คราบไคลสกปรกไหลลงท่อกลายเป็นจุดไคลแมกซ์ของเรื่องเป็นภาพปรากฏการณ์ของสุริยุปราคาโดยไม่มีพระอาทิตย์ เวลาแห่งสุริยุปราคาที่ยาวนาน เปลี่ยนกลางวันเป็นกลางคืนเปลี่ยนคนเป็นงูและเปลี่ยนประเทศเป็นท้องของสัตว์ใหญ่ที่กลืนกินเรา

เวลาของไพลินคือการรับรู้เวลาแบบหลัง แบบที่ไม่มีการเคลื่อนไปข้างหน้าแต่เป็นวงกลมอยู่กับที่ สุริยุปราคาจึงปรากฏซ้ำราวกับว่าเกิดขึ้นทั้งวันไม่หยุดหย่อน สุริยปราคายังอาจถูกแทนที่ด้วยภาพของน้ำสกปรกที่หมุนวนอยู่ในท่อระบายน้ำ ด้วยการออกแบบภาพและเสียงอันบ้าคลั่ง

เวลาของพลอยนั้นตรงกันข้าม หนังเริ่มต้นจากการเคลื่อนย้ายศพ และดูเหมือนสามีของพลอยได้รับบาดเจ็บเตรียมวางแผนหลบหนี เราไม่อาจรู้ว่าสามีของเธอคือใคร นักกิจกรรม นักการเมือง หรือทหาร รู้แต่ว่าเขาน่าจะได้รับพิษภัยจากการเมือง พลอยและลูกสาว (ที่แทบจะคล้ายคลึงกับพลอยตอนเด็ก) ถูกพาตัวเข้าไปในบ้านที่มีสถานะไม่ต่างกันกับบ้านของไพลิน ในแง่หนึ่งด้วยความตั้งใจของหนัง พลอยกับไพลินถูกทำให้คล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง ทั้งเรือนร่าง เสื้อผ้า ทรงผม ไปจนถึงการมีฉากถ่ายมุมสูงในอ่างอาบน้ำจนในบางฉากแทบจะแยกไม่ออกว่าใครเป็นใครแม้จะใช้นักแสดงคนละคน จนเราอาจบอกได้ว่าแม่ลูกถึงที่สุดเป็นมิติคู่ขนานของกันและกัน หรือคนหนึ่งเป็นสภาวะทางจิตของอีกคนแบบเดียวกันกับผู้หญิงสองคนใน Persona ของ Ingmar Bergman ที่ต่างไปสิ้นเชิงกับภาคของไพลินคือภาคของพลอยแทบไม่มีบทสนทนาใดๆ ทุกอย่างดำเนินไปในความเงียบและมืด สนทนากันผ่านภาษากาย ไม่มีเรื่องเล่าหลงเหลือ มีแต่เหตุการณ์เปลือยเปล่า

แต่หากเล่าเรื่องของพลอย ‘ตามเวลา’ เราอาจต้องกลับไปเริ่มตั้งแต่การ ‘ตื่น’ ของพลอยในช่วงท้ายของหนัง การลืมตาคืนขึ้นมาในบ้านที่รกร้างจนเหมือนบ้านผีสิงของพลอย เกิดขึ้นหลังการมาถึงของพ่อ ที่มาพร้อมกับพายุใหญ่ พ่อที่กลับมาหาแม่เพื่อบอกลา เพื่อขังแม่ไว้ไปตลอดกาลด้วยความรักและภักดี พลอยลืมตาตื่นขึ้นมาเฉยๆ บ้านที่หยุดนิ่งเปิดเผยว่าความเสื่อมโทรมของมันในฉากนี้ เศษขยะ ซากใบไม้ โรงเพาะเห็ดเปื่อยเน่า ซากสัตว์กรังแห้งติดกระดูก พลอยตื่นขึ้นมาและมองดูสิ่งเหล่านี้ด้วยสายตาคนละแบบกับมารดาอย่างสิ้นเชิง และการ ‘ตื่น’ ของพลอยนี้เองที่ทำให้เวลาหลุดออกจากวงกลม เและเคลื่อนไปข้างหน้า

มาถึงตรงนี้ฉากที่น่าสะพรึงกลัวจึงเป็นฉากชำแหละหมูที่ปรากฏอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยในเรื่อง อันที่จริงผู้ชมได้เห็นภาพนี้มาก่อนแล้ว ผ่านทางภาพของวอลเปเปอร์ในบ้านที่ขอบของสองชิ้นดีดงอขึ้น และซากของสัตว์เล็กที่ถูกชำแหละทิ้งแขวนติดไว้กับรั้ว (ที่ดูเหมือนจะเป็นรั้วเดียวกันที่ใช้ขนย้ายศพ หลบหนี และออกไปทำบุญตักบาตร) ในฉากโรงฆ่าสัตว์นี้ กล้องขยับเข้าไปจากระยะไกลและมองเห็นว่านอกจากหมูที่แขวนอยู่เพื่อชำแหละ สิ่งที่นอนรอเรียงรายคือศพของผู้คน ราวกับเป็นฉากเดียวที่จำลองสิ่งที่หนังไม่ได้ฉายภาพ สิ่งที่อยู่พ้นไปจากจักรวาลของตัวละครทั้งหมด มันคือการฉายภาพของการบังคับสูญหาย การถูกทารุณ ชำแหละ แล่เนื้อเถือหนัง ภาพของเหยื่อไร้ชื่อ ไร้ใบหน้า เลือดที่นองท่วมออกจากประตูของโรงเชือด นองจนสะท้อนเงาของประตูโรงเชือดราวกับเลือดกลายเป็นกระจก จึงเป็นภาพที่ไม่มีเหตุมีผล ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวแต่ทิ่มแทงทุกการกระทำในเรื่อง

มันจึงทรงพลังอย่างยิ่งที่เราได้รู้เห็นว่า ‘พ่อ’ มีชีวิตสืบต่อมาอีกยาวนาน และพลอย ผู้ซึ่งรู้เห็นการกระทำของพ่อผ่านการเข้าไปแอบดูในความฝัน เหลือทางเลือกไม่กี่ทางในการจัดการอดีต นำมาซึ่งบทสนทนาหนึ่งเดียวในช่วงนี้ กล่าวให้ถูกต้องพลอยคือผลลัพธ์ของสังคมแช่แข็งและถูกมองเป็นเพียงเด็กสาวหลับใหล การตื่นของพลอยจึงเป็น ‘ริมขอบของรุ่งสาง’ หลังจากปล่อยให้เพลงพญาโศก กล่อมขวัญในค่ำคืนที่ยาวนานไม่รู้จบ 

เราจึงอาจกล่าวได้ว่า พญาโศกพิโยคค่ำ เป็นหนังที่สำคัญ ทั้งในแง่ของความกล้าหาญในการสร้างภาพยนตร์ของศิลปินที่ไม่ประนีประนอมกับผู้ชมของเขา ซื่อสัตย์กับวิธีการและพลังของภาพและเสียงที่เขาเชื่อ ในขณะเดียวกันมันได้บันทึกอุดมการณ์ความรู้สึกของยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านของผู้คน โดยไม่ต้องทำหน้าที่เป็นเพียงเรื่องเล่าภาพแทนทางการเมืองตรงไปตรงมา หากพร้อมจะยอกย้อน ไม่ลงรอย และเต็มไปด้วยการเปิดพื้นที่ให้การตีความ และต่อต้านการตีความไปพร้อมกัน

Filmsick
Filmvirus . เม่นวรรณกรรม . documentary club

LATEST REVIEWS