Memories of Murder ความทรงจำของการร่วมกันฆ่า ความทรงจำร่วมของการฆ่า

(2003, Bong Joon-ho)

ในช่วงกลางทศวรรษ 1980’s โมงยามแห่งความโกลาหลของประเทศที่กำลังเดินหน้าเปลี่ยนตัวเองจากประเทศเผด็จการเบ็ดเสร็จไปสู่ประชาธิปไตยอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เกิดคดีฆาตกรรมขึ้นในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ ผู้ตายเป็นหญิงสาว เหยื่อสวมชุดแดง มือถูกมัดไพล่หลังและศีรษะถูกครอบไว้ด้วยกางเกงชั้นในของเธอเอง ก่อนที่ศพจะถูกนำไปทิ้งไว้ในท่อน้ำ

นายตำรวจเจ้าของคดีเป็นตำรวจท้องถิ่นทึ่มๆ คนหนึ่ง ในเมืองเล็กๆ ที่มีชุมชนแรงงานโรงงานอุตสาหกรรมที่มีคนเข้าออกตลอดเวลา มันยากที่จะหาว่าใครคือฆาตกร หลักฐานรอยเท้าและเสื้อผ้าเหยื่อก็ถูกทำลายเละเทะจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความอยากรู้อยากเห็นของชาวบ้าน ฝ่ายเก็บหลักฐานทำงานเชื่องช้าพอมาถึงก็ไม่เหลืออะไรแล้ว นักข่าวก็ตามจี้จะเอาข่าวไปเลยแต่ไม่มีอะไรคืบหน้า จนมีเหยื่อรายต่อๆ มาก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า จนในที่สุดทางการตัดสินใจส่งตำรวจหนุ่มจากโซลมาร่วมสืบคดี เขาค่อยๆ เชื่อมโยงแบบแผนการฆ่า รูปแบบของเหยื่อ วิธีการ วันที่เกิดเหตุ ทุกอย่างชี้บ่งว่าฆาตกรน่าจะเป็นคนเดียวกัน เลือกเหยื่อผู้หญิงสวมชุดแดงในคืนฝนตก ขณะเดียวกันเพื่อเร่งปิดคดี ตำรวจท้องถิ่นมองหาใครก็ได้ที่พอจะใช้การได้ว่าจะเป็นฆาตกร เขาจับมาชายพิการคนหนึ่งมาซ้อมให้รับสารภาพ เพราะเชื่อว่าเด็กหนุ่มทึบๆ คนนั้นแอบชอบหนึ่งในเหยื่อ สร้างหลักฐานเท็จก็เอา แต่ยิ่งไปก็ยิ่งน่าขายหน้า และการฆ่าก็ยังดำเนินไป เมืองทั้งเมืองตกอยู่ในความกลัว นายตำรวจสองนายที่ร่วมมือกันสืบคดีนับวันก็จะยิ่งหมกมุ่นกับคดีนี้มากขึ้น ถึงที่สุด พวกเขาเชื่อมั่นว่าเข้าใกล้ตัวฆาตกรอย่างถึงที่สุด พวกเขาอาจจะช่วยเหยื่อบางรายก่อนเกิดเหตุได้ด้วยซ้ำ แต่ท่ามกลางความล้มเหลวอย่างเป็นระบบของสังคมที่ไร้ระบบนี้เองทำให้ทุกอย่างหลุดมือไปจนเหลือแค่ความทรงจำที่พวกเขามีถึงท่อน้ำ อุโมงค์ และการฆาตกรรมเท่านั้นเอง

ภาพยนตร์ขนาดเรื่องที่สองของ Bong Joon-ho เรื่องนี้ยังถูกกล่าวถึงอยู่เสมอในฐานะหนึ่งในหนังเกาหลีใต้ที่ดีที่สุด และอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหนังสืบสวนที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก แม้หนังจะสร้างมาเกือบยี่สิบปีแล้ว ก็ยังมีคนพูดถึงกันอยู่ทุกครั้งเมื่อมีการการจัดอันดับหนัง หนังสร้างจากโดยได้รับแรงบันดาลใจจากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจริงในทศวรรษที่ 1980’s ซึ่งจบลงโดยการหาฆาตกรไม่ได้จริงๆ (และเพิ่งจับฆาตกรได้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้) และในเมื่อหนังเดินตามรอยเหตุการณ์จริง มันจึงจบลงโดยหาฆาตกรไม่ได้จริงๆ

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาชื่อหนัง มันก็บอกเป็นนัยๆ แล้วว่านี่คือหนังที่ว่าด้วยสองอย่างคือ ‘การฆาตกรรม’ และ ‘ความทรงจำ’ หากหนังจัดวางให้คำว่าความทรงจำอยู่เหนือคำว่าฆาตกรรม นั่นเท่ากับว่า นี่ไม่ใช่หนังที่พูดถึงการสืบสวนการฆ่า ไม่ใช่เรื่องของใครเป็นคนทำ ทำอย่างไรและเพราะอะไร ลงเอยอย่างไร แต่พูดถึงความทรงจำเกี่ยวกับมัน

ความหมายของ ‘ความทรงจำ’ นั้นเล่นลิ้นเสมอ ความทรงจำไหลวนอยู่ในผู้คน ความทรงจำมักเป็นสิ่งที่เสมือนชิ้นส่วนที่ไม่ถูกเลือกจำจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก ไหลเลื่อนออกจากการจดจำที่เป็นทางการ บ่อยครั้งต่อต้านความเป็นทางการของตัวประวัติศาสตร์เอง เพราะเราอาจยอมรับว่าประวัติศาสตร์ไม่อาจจดจำหรือบันทึกทั้งหมดทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น กระนั้นก็ตามสิ่งที่ชวนตั้งคำถามที่สุดย่อมคือ แล้วประวัติศาสตร์เลือกจำอะไร เลือกคัดอะไรทิ้ง ที่มากกว่านั้นคือใครกันที่ถืออำนาจในการคัดเลือกนี้ไว้ในมือซึ่งแน่นอนว่ารัฐได้รับสิทธิ์นั้น และหากรัฐ (ซึ่งเหมารวมว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทุกคน) ถืออำนาจในการจดจดจำและไม่จดจำ มันมีการเมืองแบบใดที่ควบคุมการเลือกจำหรือลืมสิ่งเหล่านั้นของรัฐแต่ละแบบ

กระนั้นก็ตามสิ่งที่ชวนตั้งคำถามที่สุดย่อมคือ แล้วประวัติศาสตร์เลือกจำอะไร เลือกคัดอะไรทิ้ง ที่มากกว่านั้นคือใครกันที่ถืออำนาจในการคัดเลือกนี้ไว้ในมือซึ่งแน่นอนว่ารัฐได้รับสิทธิ์นั้น และหากรัฐ (ซึ่งเหมารวมว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทุกคน) ถืออำนาจในการจดจดจำและไม่จดจำ มันมีการเมืองแบบใดที่ควบคุมการเลือกจำหรือลืมสิ่งเหล่านั้นของรัฐแต่ละแบบ

โฟกัสของหนังจึงอยู่ที่กระบวนการของตำรวจในการสอบสวน ที่เป็นเพียงการติดอยู่ในความมืดแปดด้าน และพยายามทำให้มันจบๆ ไปอย่างลูบหน้าปะจมูก เพื่อให้โลกที่พวกเขาต้องปกป้องกลับมาสงบสุขอีกครั้ง สร้างหลักฐานเท็จ ซ้อมผู้ต้องสงสัยให้รับสารภาพ หละหลวมในการเก็บหลักฐาน หนังให้เวลาอย่างยาวนานกับการเฝ้ามองความเหลวไหลไม่ได้เรื่องของการสอบสวน เราอาจบอกได้ว่านี่คือปัญหาเชิงปัจเจกของเจ้าหน้าที่ที่ไร้ความสามารถ จนกระทั่งเมื่อนายตำรวจหนุ่มจากโซลที่ดูจะมีความสามารถและความตั้งอกตั้งใจกว่าเดิมก้าวเข้ามาในทีม และเริ่มลงมือหาความเชื่อมโยงคดีต่างๆ

ในที่สุดเราก็มีบุคลากรที่ดีเข้ามาในระบบ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะต่อให้เขาฉลาด มองภาพรวม และตั้งอกตั้งใจขนาดไหน ต่อให้เขาพบทั้งวิธีการเลือกเหยื่อ วิธีการฆ่าไปจนถึงสามารถระบุได้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในวันแบบไหน แม้แต่ว่าฆาตกรจะทำอะไรเพื่อเป็นสัญญาณการออกล่าเหยื่อ กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ยังไม่สามารถจับฆาตกรได้

ความล้มเหลวจึงแผ่ขยายจากนายตำรวจคนหนึ่ง ไปสู่การทำงานของกรมตำรวจ ไปสู่ความล้มเหลวของทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้อง สถานีวิทยุที่ไม่จัดเก็บจดหมายที่ถูกส่งเข้ามา นิติเวชที่ทำงานไม่ได้เรื่องไปจนถึงการที่ไม่มีหน่วยสนับสนุนในคืนเกิดเหตุ เนื่องจากทหารทั้งหน่วยที่ร้องขอความช่วยเหลือไป ถูกส่งไปปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย หนังเน้นย้ำบรรยากาศของบ้านเมืองที่อยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านจากโลกแบบเผด็จการอำนาจนิยม ไปสู่การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย (หนังถึงกับใส่ฉากการปราบผู้ชุมนุมเข้ามาด้วย) ความพยายามของอำนาจรัฐที่จะยื้ออำนาจของตัวเองไว้ทั้งที่ตัวเองไม่มีปัญญาใช้อำนาจรัฐไปในทางที่ถูกที่ควร ฉากนี้ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ในบ้านเราในปีที่ผ่านมา เมื่อทหารชายแดนถูกเกณฑ์มาปราบม๊อบ ท่ามกลางการระบาดของเชื้อโควิดระลอกใหม่ทางชายแดน หรืออาชญากรรมใดๆ จำนวนมาก

หนังจึงเปิดเผยภาพความล้มเหลวของระบบทั้งระบบที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เกี่ยวข้องการอย่างยิ่งจนอาจจะพูดว่า ‘ถ้าการเมืองดี’ อาจจะไม่มีเหยื่อรายต่อไป ถ้าการเมืองดี เราจะมีระบบการจัดการหลักฐานที่เป็นระบบระเบียบมีการจัดการการสอบสวนอย่างมีแบบแผน จะไม่มีคนต้องโดนซ้อมฟรีหรือเป็นแพะรับบากในคดี หรือถ้ามี ตำรวจที่ทำก็จะต้องได้รับโทษจากการสร้างหลักฐานเท็จ จะต้องไม่มีคนตายเพราะหวาดกลัวตำรวจ ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นการพูดเกินเลยไปมาก เพราะในโลกที่การเมืองดีจริงๆ เรื่องแบบนี้ก็ยังเกิดขึ้น ทั้งจากความผิดพลาดของระบบ และความชั่วร้ายของปัจเจก ในโลกที่การเมืองดี สิ่งเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปคือการทบทวนปรับปรุงและพยายามแสดงให้เห็นว่าความผิดพลาดของปัจเจกนั้นต้องสามารถแก้ไขเชิงระบบได้ ระบบต้องปรับปรุงเพื่อไปข้างหน้าไม่หยุดนิ่ง ในทางตรงกันข้าม การปฏิเสธปัญหาเชิงระบบ ทำให้เราผายมือไปที่ปัจเจกบุคคลตั้งแต่แรก เพราะนายซ้อมผู้ต้องหา เพราะนายสร้างหลักฐานเท็จเพราะนายไม่มีปัญญาไล่จับฆาตกรจึงต้องมีคนตาย มันเป็นเพียงความผิดพลาดเชิงปัจเจก เมื่อเป็นความผิดพลาดเชิงปัจเจกสังคมทั้งหมดจึงไม่ต้องแก้ไข โลกนี้ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องปรับปรุงระบบนิติเวชเก็บหลักฐาน ไม่ต้องจัดการกับระเบียบการซ้อมผู้ต้องหา ไม่ต้องพัฒนาการตรวจดีเอ็นเอ ไม่มีปัญหาเลยในสังคมเหล่านี้ ไม่มีประชาธิปไตยก็เป็นเพียงปัญหาเชิงปัจเจกของเด็กหนุ่มสาวไม่รู้จักพอเพียง

ในโลกที่การเมืองดี สิ่งเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปคือการทบทวนปรับปรุงและพยายามแสดงให้เห็นว่าความผิดพลาดของปัจเจกนั้นต้องสามารถแก้ไขเชิงระบบได้ ระบบต้องปรับปรุงเพื่อไปข้างหน้าไม่หยุดนิ่ง

ฉากสำคัญของหนังคือการจ้องมองหลุมดำ ทั้งในฉากเปิดที่ตัวเอกจ้องมองเข้าไปในท่อระบายน้ำ ฉากสำคัญของเรื่องที่เกิดขึ้นในปากทางอุโมงค์รถไฟ และกลับมาจบที่ท่อน้ำอีกครั้ง การจ้องมองเข้าไปในท่อน้ำของหนัง เป็นได้ทั้งการจ้องมองเข้าไปในความทรงจำถึงการฆาตกรรม ความทรงจำในยุคสมัยที่บ้านเมืองยังเป็นเพียงแดนเถื่อนของการใช้กำลัง การจ้องมองของตัวละครเป็นการจ้องมองปัจจุบันและอนาคตที่มืดมน มีศพ และฆาตกรนอนขวางปลายทางของอุโมงค์อยู่ ในขณะเดียวกัน การจ้องมองของผู้ชมที่จ้องมองเข้าไปในหลุมดำ เป็นการจ้องมองความทรงจำที่ชั่วร้าย เป็นการจ้องมองอดีตที่เปิดเผยว่าที่แท้การฆาตกรรมดำเนินต่อไปได้โดยมีทั้งระบบสังคมที่เพิกเฉยช่วยกันฆ่าในทางอ้อม การจ้องมองความทรงจำเป็นการมองกลับเข้าไปในอาชญากรรมที่เราร่วมกันเป็นอาชญากร ในขณะเดียวกัน ซีนที่สำคัญคือการมองกลับ เมื่อกล้องมองจากท่อระบายน้ำย้อนกลับมาที่ตาของตัวละคร เรามองดูเขา ราวกับเราเป็นเหยื่อที่ตายแล้วจ้องมองออกมา คนที่อยู่ในหลุมดำจ้องมองความช่วยเหลือที่เคยเกือบจะมาถึง การจ้องมองและจ้องตอบของหนังจึงเป็นบทเปิดและบทสรุปชวนขนหัวลุกของหนังเรื่องนี้

Filmsick
Filmvirus . เม่นวรรณกรรม . documentary club

LATEST REVIEWS