Into the Wild: เมื่อคนหนุ่มสาวเบื่อรัฐ

(2007, Sean Penn)

อันที่จริง Into the Wild อาจจะไม่จัดเป็นหนังการเมือง แต่ถ้าจะบอกว่ามันมีการเมืองอยู่ในนั้นมากพอควร ก็คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงไปนัก เพราะเรื่องราวของคนหนุ่มที่หลีกลี้หนีจากสังคมนี้ คงเป็นภาพสะท้อนของการเบื่อสังคมที่เกื้อหนุนด้วยโครงสร้างอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐทุนนิยม ที่คุณค่าของทุกอย่างถูกตัดสินด้วยวัตถุ และในทางหนึ่ง อาจเป็นรัฐทุนนิยมที่มีชายเป็นใหญ่อีกด้วย

Into the Wild เป็นเรื่องของคริสโตเฟอร์ แมคแคนด์เลส ชายหนุ่มอายุยี่สิบต้นๆ ที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัย และตัดสินใจหนีจากครอบครัวและชีวิตเดิม เพื่อเดินทางร่อนเร่ตัวคนเดียว จุดหมายของเขาคืออลาสกา และเขาตั้งใจไปอยู่ในป่าเพียงเพื่อ “ใช้ชีวิต” อยู่ในนั้น เขาพบกับผู้คนมากมายระหว่างทาง ทั้งเจ้าของโรงสีที่ให้งานทำพร้อมทั้งแนะนำคนที่จะสอนเขาล่าสัตว์ คู่รักต่างประเทศที่มาปิกนิกริมน้ำ กลุ่มฮิปปี้ที่หลีกเร้นสังคม ชายแก่ที่สูญเสียครอบครัวไปและใช้ชีวิตอยู่กับเครื่องหนังทำมือ ตลอดการเดินทาง เขาใช้ชื่อใหม่ที่ตั้งเองว่า อเล็กซานเดอร์ ซูเปอร์แทรมป์ โดยคำว่า “แทรมป์” หมายถึงผู้ร่อนเร่เดินเท้า เขาได้ใช้ชีวิตในป่าที่อลาสกาตามที่หวังไว้ แต่ธรรมชาติก็โหดร้ายกว่าที่คิด และเขาฉุกคิดขึ้นได้ว่าเขาเองก็โหยหาสังคม เพราะ “ความสุขที่แท้จริงพบได้เมื่อแบ่งปันกับผู้อื่น” หลังจากที่ตัวเองคิดว่าสังคมเป็นสิ่งประกอบสร้างที่ไร้ความหมายมาตลอด

การหลีกเร้นสังคมทำให้ผู้เขียนนึกถึงแนวทางของปรัชญาเต๋า ซึ่งแม้จะเป็นปรัชญาจีนโบราณ แต่ก็ดูมีความร่วมสมัยกับหลายต่อหลายช่วงเวลา ที่ผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนหนุ่มสาว เริ่มเบื่อหน่ายชีวิตในรัฐและอยากหลีกลี้สังคม วิธีคิดของเต๋านั้นเชื่อว่า การปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามธรรมชาติโดยไม่เข้าไปควบคุมนั้น เป็นการรักษาสมดุลของโลกใบนี้ เพราะจริงๆ แล้วทุกสิ่งมีสองด้าน เมื่อมีมืด ย่อมมีสว่าง เมื่อมีความดี ย่อมมีความชั่ว เต๋าพยายามเน้นหลักของการ “ไม่กระทำ (อู๋เหวย)” คือการปล่อยตนเองให้ไหลไปตามธรรมชาติภายใน และปราชญ์เต๋าจำนวนมากก็หลีกเร้นไปอยู่ในป่ากับธรรมชาติ 

ในหนัง เราจะเห็นได้ว่า หลังจากที่คริสพยายามข้ามพรมแดนไปเม็กซิโกแล้วไม่สำเร็จ เขาก็เดินเตร็ดเตร่อยู่แถวนั้น และได้เห็นผู้คนสังสรรค์ดื่มกินกัน เขาเกิดความรู้สึกถอยห่างและไม่พิสมัยชีวิตในเมือง ทำให้เขารีบจากมาทันที เขารู้สึกมาตลอดว่าตนเองไม่ต้องการอะไรจากสังคมที่เต็มไปด้วยการ “สร้าง” และเดินไปข้างหน้า โดยไม่เคยคิดที่จะ “หยุด”

ถึงจุดนี้ผู้เขียนอยากจะชวนมาอ่านตัวบทของคัมภีร์เต๋ากันสักหน่อย เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น โดยเริ่มจากบทนี้

“เต๋าอันสูงสุดนั้นไร้ชื่อ

ท่อนไม้อันยังไม่ได้สลักเสลา

จะไม่มีใครนำไปใช้เป็นภาชนะได้

หากกษัตริย์และขุนนาง

สามารถรักษาความเป็นธรรมชาติอย่างง่ายๆ นี้ไว้

โลกทั้งโลกก็จะมานอบน้อมต่อท่าน”

ในคติของเต๋าเชื่อว่าผู้มีคุณธรรมสูงสุดคือผู้ดำรงตนโดยไม่เข้าไปแทรกแซงสิ่งต่างๆ เป็นการทำตัวตามธรรมชาติอันเป็น “ธาตุแท้” ของตัวเรา “ท่อนไม้อันยังไม่ได้สลักเสลา” สื่อถึงเนื้อแท้ของคน ซึ่งยิ่งเราเข้าใกล้เนื้อแท้และออกห่างจากสิ่งประกอบสร้างต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคม มากเท่าไหร่ เราก็มีโอกาสจะได้บรรลุคุณธรรมอันสูงส่ง เมื่อท่อนไม้ไม่ได้ถูกสลักเสลา ก็ไม่มีใครใช้มันเป็นเครื่องมือได้ ท่อนไม้จึงปลอดภัยและเป็นอิสระจากความที่มันเป็นมันอย่างธรรมดาที่สุด 

เมื่อคริสถูกถามว่า เหตุใดเขาจึงไม่ไปทำงาน เขาบอกว่า งานเป็นแค่สิ่งประดิษฐ์ของศตวรรษที่ 20 และเขาเองไม่ต้องการอะไรนอกจากเดินทางเพื่อค้นหา “ภายใน” ของตัวเอง โดยที่เขา “ไม่ต้องการอะไร” เมื่อพ่อแม่บอกว่าจะซื้อรถให้เป็นของขวัญเรียนจบ เขาก็บอกว่าเขาไม่ต้องการ เพราะเขาไม่อยากได้อะไรทั้งนั้น

“เมื่ออารยธรรมของมนุษย์เกิดขึ้น

ชื่อสำหรับใช้เรียกสิ่งต่างๆ ก็เกิดขึ้นด้วย

และมีมาแต่นั้น”

อารยธรรมของมนุษย์เกิดขึ้นจากการแปะป้ายให้กับสิ่งต่างๆ ว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนั้นไม่ดี สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนั้นไม่ควรกระทำ ซึ่งป้ายเหล่านี้มีขึ้นตั้งแต่เริ่มมีอารยธรรมมนุษย์ และชาวเต๋าเองก็ทำเพียงรับรู้ถึงขั้วตรงข้ามต่างๆ โดยไม่ถูกลากจูงไปตามนั้น หรือไม่ได้ต่อต่านสิ่งเหล่านั้น สภาวะตรงข้ามเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง และมีขึ้นเพื่อให้สิ่งต่างๆ สมดุล

“พึงรู้ว่าเมื่อใดควรถึงเวลาหยุด

หยุดอะไรเล่า

หยุดความวุ่นวายสับสน

หยุดความยุ่งยากซับซัอน

หยุดความเจริญในทางโลก

ผู้ที่รู้ว่าเมื่อใดควรหยุด

ก็จะรอดพ้นจากภัยทั้งสิ้น”

(วิถีแห่งเต๋า แปลและเรียบเรียงโดย พจนา จันทรสันติ บทที่ 32 มหาสมุทรแห่งสรรพสิ่ง)

คริสเองคงเห็นว่าสังคมนี้ทั้ง “วุ่นวายสับสน” และยัง “ซับซ้อน” อีกด้วย เขาพยายามหนีจากครอบครัว เพราะเคยเห็นการใช้ความรุนแรงในครอบครัวของตนเอง เขาเลือกที่จะเดินทางเพียงลำพัง เพราะการ “มี” อะไรมากเกินไปนั้นทำให้เขาเกิดความงุ่นง่านมากเกินไป นั่นเป็นสาเหตุที่เขาทิ้งเงินเก็บ บัตรเครดิต บัตรที่บอกอัตลักษณ์ทุกอย่างของตนเอง กระทั่งรถที่ขับ และเริ่มต้นใหม่จากสภาวะที่ไม่มีอะไรเลย เพื่อจะดูว่าเขาจะเพียงแค่ “ใช้ชีวิต” ได้หรือไม่ และการใช้ชีวิตนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมาย เพราะเป้าหมายก็เป็นสิ่งประกอบสร้างอีกนั่นเอง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ชายคนหนึ่งรู้ว่าเขากำลังจะไปอลาสก้าแบบตัวเปล่า เขาจึงถามคริสว่า “ไอ้หนู นายกำลังหนีจากอะไรกันน่ะ” เขาจึงตอบว่า “คุณเองไม่รู้หรอกว่าคุณหนีจากอะไร แต่ผมรู้ว่าตัวเองหนีจากอะไร” อย่างน้อยการออกเดินทางได้ทำให้เขาเข้าถึงเนื้อแท้ของตัวเองมากขึ้นอีกหนึ่งขั้นแล้ว

อย่างไรก็ดี วิธีคิดแบบเต๋านั้น มีความขัดแย้งกับปรัชญาจีนอีกกระแสหนึ่ง นั่นคือ ปรัชญาขงจื่อ ขงจื่อเชื่อว่า มนุษย์เป็นมนุษย์ขึ้นมาได้เพราะความสัมพันธ์ เพราะมีพ่อ แม่ พี่ น้อง หรือใครบางคนรักเราอยู่ เราจึงรู้ตำแหน่งแห่งที่ของเราในโลกใบนี้ การที่คริสละทิ้งครอบครัวตัวเองไปคนเดียวโดยไม่ส่งข่าวคราว และทำให้พ่อแม่และน้องโศกเศร้า ตามหาเขาด้วยความสิ้นหวัง ถ้ามองในมุมแบบขงจื่อ จะเห็นว่าเป็นการด้อยค่าสายสัมพันธ์ที่คอยฟูมฟักตนเองมาจนมีทุกวันนี้ ในขณะที่เต๋าเห็นว่าเราควรเป็นเนื้อแท้ของเรา ปรัชญาขงจื่อเชื่อในการ “ขัดเกลา” หรือกล่อมเกลาบุคลิกและนิสัย ให้เป็นคนที่เกื้อหนุนดุลยภาพในสังคม เพื่อที่จะดำรงอยู่ร่วมกับมนุษย์คนอื่นๆ อย่างกลมเกลียว

“1:15:2

จื่อก้งกล่าวว่า “ในคัมภีร์กวีนิพนธ์มีกล่าวไว้ว่า ดั่งตัดและดั่งแต่ง ดั่งสลักและขัดเงา มีความหมายเดียวกับที่อาจารย์เพิ่งกล่าวไปกระมัง

1:15:3

อาจารย์กล่าวว่า “ซื่อเอ๋ย เราเริ่มคุยเรื่องคัมภีร์กวีนิพนธ์กับเจ้าได้แล้ว เราเริ่มพูดเรื่องที่ผ่านไป เจ้าก็รู้เรื่องที่กำลังจะมา”

“ดั่งตัดและดั่งแต่ง ดั่งสลักและขัดเงา” เป็นเสมือนภาพแทนการขัดเกลาบุคลิกภาพ จริยธรรมในตัวมนุษย์คนหนึ่ง ให้กลายเป็น “วิญญูชน” หรือคนที่ทำให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย และมี “ความงาม” ซึ่งความงามตามแบบของขงจื่อ เป็นความงามที่ถูกสร้างขึ้นในสังคม ไม่ว่าจากธรรมเนียม จารีต ดนตรี หรือการปฏิบัติต่อกันอย่างเกื้อกูล จะเห็นได้ว่าปรัชญาขงจื่อเป็นปรัชญาที่กลับมาสู่สังคมมนุษย์ และมีขึ้นเพื่อสังคมมนุษย์ ดังบทต่อไปนี้ ที่ขงจื่อเห็นคนพรวนดินแล้วให้ลูกศิษย์เข้าไปคุยด้วย

“18:6:3

“ท่านคือลูกศิษย์ของข่งชิวแห่งรัฐหลู่ใช่หรือไม่” จื่อลู่ตอบว่า “ใช่แล้ว” เจี๋ยนี่จึงกล่าวกับจื่อลู่ว่า “ความสับสนวุ่นวายมีอยู่ทั่วแผ่นดิน เป็นธรรมดาอยู่ จะอาศัยใครกันที่จะไปเปลี่ยนโลก แทนที่จะติดตามคนที่เลี่ยงคน ไยไม่ติดตามคนที่ละทิ้งโลก” กล่าวดังนั้นแล้ว เจี๋ยนี่ก็พรวนดินต่อไปโดยไม่พูดอะไรอีก

18:6:4

จื่อลู่นำความกลับไปบอกขงจื่อ ขงจื่อรับฟังแล้วก็ถอนใจ กล่าวว่า “นกกับสัตว์ป่าไม่สามารถไปอยู่ร่วมได้ หากเราไม่อยู่ร่วมกับมนุษย์ แล้วจะให้เราไปอยู่ร่วมกับใคร หากใต้ฟ้ามีเต๋า เราก็ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง”

“หากเราไม่อยู่ร่วมกับมนุษย์ แล้วจะให้เราไปอยู่ร่วมกับใคร” เป็นการบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าขงจื่อสนใจชีวิตในสังคม ไม่ใช่การปลีกวิเวกไปค้นหาตนเองตามลำพัง หรือการหันหน้าหนีจากสังคม คำว่า “เต๋า” ในความหมายของขงจื่อ ไม่ได้มีความหมายเดียวกับในปรัชญาเต๋า แต่หมายถึง “วิถี” ที่สรรพสิ่งดำเนินไปในสังคม

หลังจากที่คริสอยู่ตัวคนเดียวในป่ามาเป็นเวลานาน เขาก็ได้ตระหนักว่า “ความสุขจะเกิดขึ้นจริงเมื่อได้แบ่งปันกับผู้อื่น” ซึ่งในแง่หนึ่งมันบ่งบอกว่า เขาเองยังมีตัวตนที่ยึดโยงกับสังคมมนุษย์ ที่ไม่สามารถเอาออกไปได้ แม้ว่าเขาจะเปลี่ยนชื่อหรือเปลี่ยนที่อยู่ หรืออาจกล่าวได้ว่า คนเราจะงอกงามได้จากผู้คนที่อยู่รอบตัว ในแง่หนึ่ง ปรัชญาประจำตัวของเขาอาจเคลื่อนย้ายจากความเป็นปัจเจกแบบเต๋า ไปสู่ความเป็นกลุ่มก้อนทางสังคมแบบขงจื่อ แต่หากมองดีๆ ถ้าเขาไม่ได้เดินทางเพื่อสำรวจตนเองแต่เพียงผู้เดียว เขาอาจไม่สามารถพาความคิดมาถึงจุดนี้ ซึ่งก็น่าตั้งคำถามต่อไปเหมือนกันว่า ในปรัชญาขงจื่อได้ให้ความสำคัญกับการปลีกวิเวกเอาไว้บ้างหรือไม่ และเป็นการปลีกวิเวกในลักษณะไหน ซึ่งอาจต้องติดตามสืบค้นกันต่อไป

มูฟเมนต์ที่น่าสนใจในเรื่อง คือมูฟเมนต์ของกลุ่มฮิปปี้ ซึ่งคริสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมด้วยช่วงหนึ่ง ซึ่งฮิปปี้เองก็คือคนที่มีความคิดคล้ายกับคริส คือพวกเขาเบื่อหน่ายสังคมทุนนิยม แต่ที่แตกต่างจากคริสก็คือ คนเหล่านี้เลือกค้นหาแนวทางของตัวเองเป็นกลุ่มก้อน ขณะที่คริสค้นหามันโดยลำพัง น่าตั้งคำถามว่า หากคนหนุ่มสาวสมัยนี้เบื่อหน่ายสังคม หรือในอีกแง่หนึ่ง รัฐ ที่พวกเขาอยู่ พวกเขาจะแสวงหาวิธีการใดบ้าง และในยุคที่ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้แบบคริส พวกเขาเลือกจะเดินทางในทางความคิดอย่างไร เราได้เห็นกลุ่มของคนหนุ่มสาวที่ออกมาสะท้อนความคิดของตนเอง และตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นมากมาย บ้างเน้นจัดการกับปัญหาด้วยการวิพากษ์ตรงๆ บ้างคิดที่จะหนีไป สิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อมูฟเมนต์ต่างๆ ก็คือ มันทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับตนเอง ว่าตำแหน่งแห่งที่ของเราในสังคมนี้อยู่ที่ไหน และเราจะควบคุมทิศทางของมันให้เป็นอย่างไรต่อไป

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS