Home Review Show Review ขอเวลาอีกไม่นาน: สื่อและเวลาในสถานะผู้กระทำที่ถูกยืดยาวออกไปไม่รู้จบ

ขอเวลาอีกไม่นาน: สื่อและเวลาในสถานะผู้กระทำที่ถูกยืดยาวออกไปไม่รู้จบ

ขอเวลาอีกไม่นาน: สื่อและเวลาในสถานะผู้กระทำที่ถูกยืดยาวออกไปไม่รู้จบ

“ขอเวลาอีกไม่นาน” นิทรรศการศิลปะของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน – 9 สิงหาคม 2563 ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY มีผลงานหลักคือวิดีโอที่ถูกฉายบนจอ 4 จอในห้องแสดงหลัก ภาพและคำบรรยายในวิดีโอถูกทำขึ้นจากการตัดนำเอาภาพจากหนังสือพิมพ์และข้อความมาผสมปนกัน จุฬญาณนนท์เล่าให้ฟังถึงกระบวนการสร้างภาพขึ้นจากการใช้กรรไกรตัดภาพและมาแปะด้วยกาวลงเป็นกระดาษก่อนที่จะนำภาพตัดแปะบางส่วนไปใช้ในวิดีโอ 

ภาพและข้อความถูกหยิบโดยสุ่มจากหนังสือพิมพ์และถูกเลือกโดยสุ่มอีกครั้งเพื่อจะนำไปเป็นภาพในวิดีโอ ต้นทางของภาพคือการค่อยๆ เก็บสะสมภาพปะติดทุกวันจากหนังสือพิมพ์นับตั้งแต่วันแรกที่มีการรัฐประหารนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มาจนถึงวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรวันที่ 24 มีนาคม 2562

ในเอกสารชี้แจงรายละเอียดของนิทรรศการ ประกอบไปด้วยข้อความที่ตัดแปะจากเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ร่ายยาวคล้ายกับกลอน จุฬญาณนนท์ อธิบายชิ้นงานของเขานับตั้งแต่กงล้อธรรมจักรหลากสีที่หมุนวนคล้ายนาฬิกาอยู่ด้านข้างอาคาร ชุดเอกสารรวบรวมรูปที่เขาตัดแปะ และวิดีโอในห้องแสดง ด้วยข้อสังเกตของเขาที่มองว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 นับเป็นหนึ่งในการเลือกตั้งที่มีการคอรัปชั่นมากที่สุด และยังเป็นกลไกในการชำระล้างความผิดของคณะรัฐประหารมากกว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งประชาธิปไตย

นอกจากนี้เขายังชี้ชวนให้มองถึงการควบคุมสื่อรูปแบบเดิมได้แก่ หนังสือพิมพ์ ที่มาพร้อมกับการควบคุมตัวนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง เยาวชนจึงใช้ช่องทางของสื่อดิจิตัลในการหลบหลีกการจ้องมองโดยรัฐ และแน่นอนว่ารัฐเองก็พยายามเข้าไปควบคุมพื้นที่อินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน

กระบวนการเปลื่ยนผ่านของสื่อนับเป็นสิ่งที่จุฬญาณนนท์ให้ความสนใจตลอดมาผ่านผลงานของเขานับตั้งแต่หนังสั้น หัวลำโพง (2004) ที่เขาจับจ้องถ่ายชายสูงอายุคนหนึ่งกำลังงุ่นง่านอยู่กับการใช้กล้องถ่ายภาพด้วยฟิล์มจับภาพบรรยากาศในสถานีรถไฟหัวลำโพง หรือ Chulayarnnon (2008) ซึ่งเป็นการบันทึกการเผาไหม้ของภาพฟิล์มของเขาในวัยเด็กอย่างช้าๆ หรือใน ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง (2013) เมื่อหมอดูไพ่ยิบซีนำภาพฟิล์มอดีตร้านชำที่ถูกทุบทิ้งมาให้คุณป้าที่กำลังพักฟื้นหลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่า ผู้เคยเป็นเจ้าของร้านนั้นดู ป้ากล่าวว่า “ถ้าไม่เคยถ่ายรูปเหล่านี้ไว้ ก็คงจะไม่รู้เลยว่าเคยมีร้านนี้” หรืออย่างใน Vanishing Horizon of the Sea (2014) เขาเองก็เล่าถึงการจากไปของคุณตา ผ่านการบุบสลายและหายไปของ VHS (Video Home System) 

ภาพจาก FB: BANGKOK CITYCITY GALLERY

การเปลี่ยนผ่านสื่อสังเคราะห์สู่สื่อวิเคราะห์

John Durham Peters กล่าวไว้ว่าประวัติศาสตร์ของสื่อก็คือประวัติศาสตร์ของความพยายามที่เป็นไปไม่ได้ที่จะหยิบฉวยสิ่งที่มีอยู่ ความต้องการที่จะเข้าใจและใช้มาตรวัดสิ่งที่ล้อมรอบเราคือสิ่งที่มนุษย์ให้ความสนใจมาโดยตลอด เริ่มจากความหมกมุ่นในการสร้างความเป็นปัจจุบัน (presentness) หรือสภาวะที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน (contemporaneity) ของสถานการณ์ที่เราค้นพบตนเอง

หากเปรียบเทียบกับสื่อที่นักวิชาการด้านสื่อสนใจในช่วงแรกราวทศวรรษที่ 1920 มักถูกมองว่าสื่ออยู่แยกขาดจากมนุษย์ แต่สื่อดิจิตัลกลับพัวพันจนแยกไม่ออกจากชีวิตประจำวันของมนุษย์ เรากลายเป็นผู้ที่ตั้งใจบันทึกข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นเองลงในสื่ออินเทอร์เน็ตเพื่อบ่งบอกถึงว่าเราอยู่ไหน เราอยู่กับใคร และเรารู้สึกอย่างไร

สิ่งที่ตามมาคือเทคโนโลยีดิจิตัลเหล่านี้ได้สร้างระบบเวลาและจังหวะใหม่ต่อชีวิตของมนุษย์ สื่อสามารถบันทึกและประเมิน (measure) ชีวิตของมนุษย์ ผ่านการวัดค่า แปรผล และแสดงผลความความคิดและระบบสรีรวิทยาของมนุษย์ให้กลายเป็นตัวเลขฐานสิบ (Digit Number System) นี่จึงนำไปสู่การสร้างสถานะผู้กระทำ (agency) ของสื่อ กล่าวคือสื่อไม่ได้เป็นเพียงวัตถุหรือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น สื่อไม่ได้รอคอยการป้อนข้อมูลของมนุษย์ สื่อไม่ได้รับใช้มนุษย์ หากมนุษย์และสื่อมีวิวัฒนาการร่วมกันไปโดยตลอด David Berry เสนอว่าสื่อได้ทำให้เราอยู่ในภวังค์ (trance) ที่ผู้ใช้งานหลุดออกจากเวลาปัจจุบันและกำลังไปสู่อนาคต 

ในหนังสือ Against Transmission: Media Philosophy and the Engineering of Time โดย Timothy Barker นักวิชาการด้านสื่อ ชวนให้เรามองถึงประวัติศาสตร์ของสื่อซึ่งมักจำกัดอยู่แต่สื่อสังเคราะห์ (synthetic media) ได้แก่ ภาพยนตร์และสิ่งพิมพ์ โดยกลับไปมองสื่อวิเคราะห์ (analytic media) ได้แก่ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ กล้อง และการถ่ายภาพ เพื่อทำความเข้าใจสื่อที่เกี่ยวข้องกับเราในชีวิตประจำวัน โดย Baker หันไปมองแนวคิดของ Alfred North Whitehead ผู้เสนอว่าสื่อเป็นเสมือน สภาพแวดล้อม (environment) มากกว่าที่จะมองว่าเป็นวัตถุ (object) ที่ตัดขัดจากมนุษย์ 

Barker มองว่าสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ล้วนแต่เป็นกระบวนการ (process) เช่นเดียวกับสื่อที่ไม่ได้หยุดนิ่งและตายตัว และเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนและมีพลวัตอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการก่อร่างทางประวัติศาสตร์ของสื่อที่เปลี่ยนผ่านจากอดีตของยุคสมัยใหม่ (past of the modernity) ไปสู่สภาวะปัจจุบันของกาลเวลาที่ดำเนินต่อเนื่อง (present of the contemporary) เขาเสนอว่าการเปลี่ยนยุคสมัยนั้นขึ้นอยู่กับการรับรู้และแสดงออกของเวลาที่สื่อในช่วงเวลานั้นสร้างขึ้น ด้วยความที่สื่อเป็นตัวกลางของมนุษย์ สื่อจึงกลายเป็นตัวกลางของเวลาไปด้วย 

ภาพจาก BANGKOK CITYCITY GALLERY

ผลงานของจุฬญาณนนท์ใน “ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็เล่าถึงการเปลี่ยนจากสื่ออนาลอกสู่สื่อดิจิตัล โดยใช้การสร้างภาพวิดีโอจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นส่วนที่ Barker สนใจ เขาเสนอให้กลับไปมองความแตกต่างของสื่อสองชนิดได้แก่ สื่อสังเคราะห์ (synthetic media) ได้แก่ ภาพยนตร์และสิ่งพิมพ์ที่แสดงถึงยุคสมัยใหม่และสอดคล้องไปกับเวลา สังเกตได้จากหนังสือพิมพ์ที่จะเป็นเรื่องราวของวันที่นั้นๆ ของแต่ละฉบับ หรืออย่างหนังสือพิมพ์ที่จุฬญาณนนท์เลือกใช้ก็บ่งบอกเวลาชัดเจนว่าภาพใดมาจากหนังสือพิมพ์วันที่เท่าไร ซึ่งสื่อสังเคราะห์เป็นการสร้างประวัติศาสตร์และเวลาให้อยู่ในเส้นที่ต่อเนื่อง 

ตรงข้ามกับสื่อวิเคราะห์ (analytic media) ซึ่งเป็นการสื่อที่มีการจัดเก็บและวัดค่าประเมินผล ได้แก่ ฐานข้อมูล รูปภาพ ทีวีดิจิตัล สื่อเหล่านี้แสดงถึงสภาวะที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน (contemporaneity) สื่อวิเคราะห์ทำหน้าที่ในการแตกหักเวลาให้กระจัดกระจาย อย่างต่อเนื่องและทันทีทันใด พร้อมๆ กับจัดเก็บในลักษณะที่ไม่เป็นเส้นตรง (non-linear) เข้าถึงได้ และผ่านการประมวลผลสัญญาณที่อิสระจากเวลา (time-discrete) ยุคสมัยของสื่อวิเคราะห์จึงมีลักษณะของการเป็นจดหมายเหตุ (archival) มากกว่าจะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับวิดีโอของจุฬญาณนนท์ที่ภาพจากหนังสือพิมพ์ถูกนำมาใช้โดยที่เราไม่อาจทราบได้และไม่มีความจำเป็นต้องไปรู้ว่าภาพมาจากหนังสือพิมพ์ฉบับใด

ภาพจาก BANGKOK CITYCITY GALLERY

Barker เสนอว่าเวลาไม่ควรถูกมองว่าเป็นความไหลบ่า (flow) ของเหตุการณ์ (events) ที่ถูกนำมาผสมผสานอีกต่อไป แต่ควรถูกมองว่าเป็นกระบวนการทางคอมพิวเตอร์ที่ตัดแบ่งโลกเป็นชิ้นส่วนสั้นๆ กระบวนการที่ไม่ปะติดปะต่อนี้เองได้ทำให้ข้อมูล (รวมถึงความทรงจำ) ถูกประกอบขึ้นจากการทำงานอันหลากหลายของระบบซึ่งนำไปสู่กระบวนการแปรเปลี่ยนความหมาย

กระบวนการนี้ได้เปลี่ยนวิธีการประกอบสร้างความทรงจำและจัดเก็บข้อมูลผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มเช่น YouTube ซึ่งเป็นโมเดลของโครงข่าย (networked) มากกว่าที่จะเป็นเรื่องเล่าที่เป็นเส้นตรงที่ถูกสร้างโดยสื่อเดิม หากมองไปที่วิดีโอจะพบว่าการจัดวางของผลงานทั้งสี่จอคล้ายเม็ดพิกเซลถูกจัดตั้งให้ลดหลั่นลงมาคล้ายกับน้ำตก ภาพคล้ายกับสายน้ำ (flow) หากแต่การเคลื่อนไหวของภาพตัดปะกับเคลื่อนไหวอย่างสะเปะสะปะ และแตกออกเป็นหลายจอคล้ายกับการแตกออกของภาพ (fragmentation) 

นั่นเพราะที่ผ่านมา การสังเคราะห์เวลา (synthesis of time) นำไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์ เหมือนที่เฮเกล (Hegel) ได้กล่าวไว้ว่าประวัติศาสตร์ถูกสร้างขึ้นจากสภาวะของการอนุรักษ์ (preservation) และโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างการอนุรักษ์สื่อและการสร้างเหตุการณ์ (events) ซึ่งเหตุการณ์ก็สร้างภาพแทนทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมกันๆ (historical representations) เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ที่จุฬญาณนนท์นำทั้งภาพและคำมาตัดแปะ หนังสือพิมพ์ในฐานะสื่อสังเคราะห์ได้สร้างภาพแทนของเวลาในวันวันนั้นขึ้นมา และกักเก็บเวลาแช่หยุดนิ่งไว้ในสื่อ

แต่ในยุคสมัยของสื่อวิเคราะห์กลับพาเราไปสู่สภาวะ หลังประวัติศาสตร์ (post-historical) ที่มาพร้อมกับเสรีนิยมประชาธิปไตยของโลกตะวันตกดังที่ฟูกุยามะ (Fukuyama) เสนอไว้ในหนังสือเรื่อง The End of History and the Last Man (1992) หรือจุดจบแห่งประวัติศาสตร์ กับมนุษย์คนสุดท้าย ว่า ประวัติศาสตร์ของโลกได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว โดยที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีจะกลายเป็นระบอบการปกครองหลักที่เอาชนะทุกระบอบการปกครองได้ ภายหลังการล่มสลายค่ายคอมมิวนิสต์ 

วิดีโอของจุฬญาณนนท์ท้าทายอำนาจรัฐและตัวแทนทางการเมืองอันสมบูรณ์แบบ มิติเวลาที่ไม่เป็นเส้นตรงและวิดีโอกำลังทำเช่นเดียวกับที่ Barker ชี้ชวนให้เรามองไม่เพียงการทำลายเรื่องเล่าหลักด้วยการอธิบายถึงการแตกหักอย่างถึงราก หากแต่ย้ำเตือนถึงโวหารหลอกลวงของความสมบูรณ์แบบ (completeness) หรือความถูกต้องเที่ยงแท้ของสื่อในยุคดิจิตัลร่วมสมัย สื่อวิเคราะห์พาเราเข้าสู่หลังประวัติศาสตร์ซึ่งคือการเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน (contemporaneity) อย่างถาวร โดยที่อดีตจะถูกกักเก็บไว้และฉายผ่านสื่อจนดูเหมือนว่าอดีตจะถูกผนวกรวมเข้ากับปัจจุบันและขยับขยายไปสู่อนาคต เหมือนกับภาพและข้อความจากหนังสือพิมพ์ที่จุฬญาณนนท์นำมาใส่ไว้ในวิดีโอเคลื่อนไหว แต่จุดร่วมสำคัญของสื่อสังเคราะห์และวิเคราะห์คือไม่สามารถสร้างความสมบูรณ์ (plenitude) หรือความต่อเนื่องได้ (continuity) นั่นเพราะสื่อโดยความหมายก็มาพร้อมกับการสูญหายและช่องว่าง 

ภาพแทน ภาพจำ การผลิตซ้ำ และการไปให้พ้นภาพแทน 

อีกจุดสนใจของวิดีโอจัดวางของจุฬญาณนนท์คือการนำภาพจากหนังสือพิมพ์มาผลิตซ้ำๆ จำนวนมากในวิดีโอ เช่นเดียวกับสิ่งพิมพ์ที่ผลิตภาพและเนื้อหาข่าวจำนวนมากๆ และสำหรับสื่อดิจิตัลเองก็มีการผลิตซ้ำของภาพผ่านกระบวนการต่างๆ เกิดเป็นการสร้างภาพแทน (representation) ดังที่เราเห็นภาพของพระใส่หมวกกันน็อคกำลังสอนเณรวาดภาพในวิดีโอของจุฬญาณนนท์ที่ถูกก๊อปปี้ซ้ำเรียงติดกันคล้ายตะขาบ

การเมืองในยุคหลังประวัติศาสตร์ที่เราถูกหลอกให้เชื่อว่ามีเหลือเพียงระบอบเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีคือทางเลือกสุดท้ายที่เหลืออยู่ มีปัญหาสำคัญคือเรื่องของการเมืองของภาพแทน Hito Steyerl เรียกว่า Politics of Representation ที่เมื่อเราเลือกคะแนนเสียงให้ใคร คนนั้นก็จะเป็นเสมือนตัวแทนของเรา ผลประโยชน์ของคนหมู่มากก็จะถูกจัดแบ่งตามสัดส่วนและเป็นตัวแทน 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยหลังภาพแทน (Politics of Post-Representation) คือเราตระหนักได้ว่าประชาธิปไตยกลับมีท่าทีไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนที่สามารถกำจัดขยะภาพ (noise) และสร้างข้อมูลขึ้นมาใหม่ บุคคลที่เราเลือกไปไม่อาจตอบสนองความต้องการหรือเจตจำนงของเราได้ ที่ผ่านมาเราถูกทำให้กลายเป็นวัตถุที่ถ่ายเทพลังทางการเมืองให้กับผู้แทน แต่ในโลกหลังประวัติศาสตร์ เราตระหนักได้ว่าเราเองต่างหากที่เป็นองค์ประธานผู้สามารถขับเคลื่อนการเมืองผ่านโครงข่ายสื่อสังเคราะห์โดยไม่ต้องยึดโยงกับภาพแทนอย่างเช่นรัฐหรือผู้แทนการเมือง 

ประเด็นสำคัญที่นิทรรศการ “ขอเวลาอีกไม่นาน” ต้องการนำเสนอคงเป็นเรื่องของฐานพลังของผู้คนที่หลบหลีกการควบคุมของรัฐในสื่อดิจิตัล เวลาที่ถูกขอจากรัฐบาลยืดยาวออกไปไม่รู้จบ เป็นกาลเวลาที่ทอดยาวเป็นเส้นตรงแบบเฮเกลที่กลายเป็น แนวคิดเรื่องจิตวิญญาณของเฮเกลคือองค์รวม (totality) ที่ปิดกั้นความหลากหลายและมีแนวโน้มที่จะปราบปรามความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้น ผู้คนและสรรพสิ่งที่แตกต่างหลากเคลื่อนย้ายตนเองในแพลตฟอร์มออนไลน์ มนุษย์กลายเป็นสื่อและสื่อก็กลายเป็นมนุษย์ 

แต่ในทางตรงกันข้ามวลี “ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็อาจหมายถึงการโต้กลับของประชาชนที่ถูกกดปราบ ความง่อนแง่นของรัฐศักดินาเผยเรือนร่างของตนเองกลางธารกำนัลอย่างไม่อดอาย เยาวชนดูจะเป็นกำลังหลักของการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ฝูงชนที่ตื่นรู้ผ่านโครงข่ายออนไลน์ และเวลาที่มีอิสระในตนเอง พร้อมกับแยกขาดออกจากเส้นทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเส้นตรง นี่ดูจะเป็นสิ่งที่ David Savat และ Tauel Harper ย้ำเตือนใน Media After Deleuze ซึ่งเสนอว่าสื่อเป็นองค์ประธาน (Subject) ด้วยตัวสื่อเอง มิได้ขึ้นกับเนื้อหาหรือข้อความ สื่อยังมิได้เป็นสิ่งชี้นำ หากแต่ปฏิบัติการผ่านการมาประกอบร่วมกัน (assemblage) ซึ่งเป็นกระบวนการแห่งถ้อยแถลงของหมู่กลุ่มทางสังคมและวัตถุ (collective social-material processes of enunciation)

แต่ในทางตรงกันข้ามวลี “ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็อาจหมายถึงการโต้กลับของประชาชนที่ถูกกดปราบ ความง่อนแง่นของรัฐศักดินาเผยเรือนร่างของตนเองกลางธารกำนัลอย่างไม่อดอาย เยาวชนดูจะเป็นกำลังหลักของการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ฝูงชนที่ตื่นรู้ผ่านโครงข่ายออนไลน์ และเวลาที่มีอิสระในตนเอง พร้อมกับแยกขาดออกจากเส้นทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเส้นตรง

ไม่ว่าสื่ออะไรเภทใดก็ตามมักจะอยู่ภายใต้กระบวนการของการประกอบสร้างอยู่ตลอดเวลา และยังประกอบไปด้วยชุดความสัมพันธ์อันซับซ้อนหลากหลาย (multitude) ผู้ชมและสื่อต่างเป็นส่วนหนึ่งของการมาประกอบร่วมกัน สื่อต่างๆ ถูกสร้างในขณะที่ถูกใช้และมีส่วนร่วมกับผู้ชมและผู้ใช้ที่ต่างก็ถูกผลิตซ้ำและสร้างขึ้นเป็นองค์ประธาน สื่อมีส่วนสำคัญในการสร้างตัวตนของเราผ่านกระบวนการแบบหมู่คณะ (collective processes) ที่ตัวเราก็มีส่วนสำคัญในการเป็นผู้เล่นในขณะที่เราถูกผลิตขึ้น

สื่อไม่ได้อยู่ในสถานะจำยอมหรืออิสระโดยตัวมันเอง หากแต่ขึ้นกับเครือข่ายโยงไยกันและการแสดงออก Deleuze และ Guattari มีความสนใจในผู้เป็นชายขอบของสังคม ความลื่นไหล และการแตกหัก พวกเขาชื่นชมการมาประกอบร่วมกันของสื่อที่มีจิตใจปฏิวัติ คาดเดาไม่ได้ และการไม่หยุดนิ่ง ซึ่งตรงข้ามกับ “สภาวะเหนือโลก” (transcendence) อันได้แก่ ความเป็นอุดมคติ ภาพแทน หรือการวางหลักเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งสภาวะเหนือโลกนี่เองที่มักจะนำไปสู่การมีอิทธิพลเหนือกว่าความหลากหลายและกำหนดกฏเกณฑ์โดยไม่สนใจความสอดคล้อง และไม่เอาใจใส่ความเป็นพื้นบ้าน รวมถึงรายละเอียดเล็กน้อยที่แตกต่าง 

การครอบครองความเป็นศิลปิน และการขถบขัดขืนเวลาของทุนนิยม

ประเด็นสุดท้ายที่ผู้เขียนมองว่าวิดีโอของจุฬญาณนนท์ รวมไปถึงภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขาคือ 100 Times Reproduction of Democracy (2019) ซึ่งถูกฉายในวันปิดนิทรรศการ “ขอเวลาอีกไม่นาน” ภาพยนตร์ตั้งคำถามถึงความเป็นศิลปิน เหนืออื่นไปกว่านั้นมองไปถึงสถานะของผู้ประพันธ์ สำหรับ Deleuze และ Guattari จักรกล (machine) อย่างหนึ่งก็คือหนังสือ ซึ่งความหมายของจักรกลก็คือองค์ประธาน Mark Poster เสนอว่าสถานะของผู้ประพันธ์ที่เราเข้าใจเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น และเรื่องของลิขสิทธิ์ก็เป็นใจกลางหลักของระบอบทุนนิยม

หนังสือ (รวมถึงสื่อ) มีสถานะของการมาประกอบร่วมกันและความแตกต่างหลากหลาย ไม่มีสิ่งใดที่เป็นวัตถุ (object) พวกเขานิยามประเภทหนังสือสามชนิด ได้แก่ หนังสือประเภทราก (root-book) คือมีลักษณะเหมือนรากแก้ว ที่มีแกนกลางและแผ่กิ่งก้านออก นี่ทำให้เกิดการแตกออกเป็นสอง (binary fashion) เช่น x หรือ y ซึ่งกลายมาเป็นระบบแนวคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (rational) ที่มีอิทธิพลกับระบบความคิดของเราในโลกสมัยใหม่ ทำให้เราไม่อาจะเข้าใจเรื่องความแตกต่างหลากหลายหรือการมาประกอบร่วมกัน

แนวคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลจะมุ่งสู่แก่นแท้ ความเป็นหนึ่งเดียว (the One) ต้นฉบับ (original) หรือ จุดเริ่มต้น สิ่งอื่นๆ จึงเป็นเพียงการลอกเลียนแบบ ความคิดว่ามีบางอย่างที่จริงแท้คือความรู้สึกผิดเพื่อตามหาความขาด (lack) ตามหาบางสิ่งที่หายไป นำไปสู่การสร้างภาพแทนไม่มีที่สิ้นสุด

หนังสือเป็นประเภทที่สองคือระบบคิดแบบรากฝอย (radicle-system หรือ fascicular root) โลกสมัยใหม่ดูจะมีความจงรักภักดีกับแนวคิดนี้อย่างมาก โลกคือความวุ่นวายโกลาหล โลกที่ไม่มีแก่นหลัก องค์ประธานไม่แตกย่อยเป็นสอง (dichotomise) หากแต่ก็ยังคงมีการแยกระหว่างองค์ประธานหรือวัตถุ (subject/object) และปัญหาคือแนวคิดเหล่านี้พยายามจะมองหาความเป็นเอกภาพ เคลื่อนกลายตนเองไปสู่ความไม่แน่ใจและการแน่วแน่อย่างล้นเกิน ดูมีความแตกต่างหลากหลายแต่มักจะถูกลดทอนให้เหลือเพียงสภาวะองค์รวมจนดูเป็นเรื่องการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (Identity Politics) ระบบความคิดที่ดูเปิดกว้างนี้ก็ยังยึดโยงกับเวลาแบบเส้นตรงที่มีทิศทางเดียวและความเป็นเอกภาพที่รวมศูนย์อำนาจที่ยืนยันสถานะของตนผ่านมิติแบบวงกลม (circular dimension) ซึ่งไม่ได้เคลื่อนไปไหน มโนภาพของความคิดเช่นนี้ยังยึดติดกับสถานะของภาพแทน 

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เสนอว่า เวลาที่มีลักษณะแบบวงกลมนี้พบในมโนทัศน์เวลาของโลกก่อนสมัยใหม่ เช่น ในความคิดกรีก-โรมัน มองว่าเวลาไม่มีที่สิ้นสุดและเป็นนิรันดร์ ประวัติศาสตร์ถูกพ่วงเข้ากับเวลา มนุษย์ ผู้ยิ่งใหญ่) เท่านั้นเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์โดยใช้เวลา พื้นที่ (สัตว์ ธรรมชาติ สถานที่) เป็นเพียงองค์ประกอบของประวัติศาสตร์ เวลามีสถานะเป็นเพียงฉากหลังของประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอำนาจในตัวของเวลาเอง เวลาถูกหั่นเป็นชิ้นๆ เอามาเรียบเรียงจากอดีต ปัจจุบัน และสู่อนาคต ประวัติศาสตร์เป็นภาพแทนของโลกที่ไม่เคลื่อนไปไหน (absolute immobility) นอกจากนี้ยังพบในแนวคิดของพุทธศาสนาที่มองว่าเวลาเดินเป็นสังสารวัฏ เวลาถูกแบ่งเป็นอสงไขยขึ้นกับจำนวนพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้

เก่งกิจ มองว่าการมองเวลาแบบวงกลมและประวัติศาสตร์คือการเกิดขึ้นซ้ำๆ ของเหตุการณ์ที่ขึ้นกับเทพเจ้าทำให้มนุษย์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มนุษย์เป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ที่เกิดมาอายุสั้นในจักรวาลขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับความคิดของคริสต์ศาสนาที่เวลาของมนุษย์มีจุดสิ้นสุด เป็นเส้นตรงพาดยาวออกไปและมีปลายทางแน่นอนคือพระผู้เป็นเจ้า เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ในชีวิตมนุษย์ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโดยพระเจ้า

โดยสรุปแล้วระบบเวลาในโลกก่อนสมัยใหม่ได้แก่ กรีก-โรมัน พุทธศาสนา และคริสต์ศาสนา ล้วนแต่เป็นเวลาที่อยู่ในสภาวะเหนือโลก (transcendence) ปลายทางของเวลาเหล่านี้คือความนิรันดร์ หรือที่ Alexandre Kojève ผู้ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาเวลาของเฮเกล เรียกว่า Eternity (E) ที่ศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ที่มนุษย์ผูกความปรารถนาของตนไว้กับอนาคตหรือพระเจ้าและมหาบุรุษ แต่ในขณะเดียวกันก็กีดกันการคิดถึงอนาคตในรูปแบบอื่นๆ เพระการคิดถึงอนาคตที่ไม่ใชพระเจ้าเป็นการบั่นทอนความสมบูรณ์ของพระเจ้า การคิดถึงอนาคตจึงถือเป็นเรื่องไร้สาระ

Louis Althusser วิพากษ์ระบบเวลาแบบเฮเกลโดยเสนอว่าการลำดับเวลา (diachronic) ซึ่งเป็นการที่เวลาถูกจัดวางเรียงกันไปตามลำดับได้ลดทอนพลังอำนาจของเวลาในตัวมันเอง และการลำดับเวลาต้องพึ่งพิงการร่วมเวลา (synchronic) ที่มีสถานะเป็นอิสระจากประวัติศาสตร์ที่ไล่เรียงลำดับเวลาแบบเส้นตรง การร่วมเวลากลายเป็นจุดบรรจบของเวลาที่มีความเฉพาะเจาะจงในตัวเอง (historical conjuncture) ที่แตกหักกับประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบเส้นตรง และที่ไม่ใช่การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ (periodization) แต่เผยให้เห็นการมาประกอบสร้างกันของมิติเวลาที่หลากหลาย และในเวลาเดียวกันก็เป็นอิสระจากกัน

Antonio Negri ได้นำแนวคิดของ Althusser มาพัฒนาต่อด้วยการเสนอว่า นอกจากแยกเวลาออกจากประวัติศาสตร์เส้นตรงและการไล่เรียงเวลาแล้ว ยังปลดปล่อยสถานะของเวลาให้มีชีวิตโดยตัวของเวลาเอง เวลามีลักษณะปลายเปิด เวลาไม่ถูกสลายตัวให้เป็นนามธรรมแต่ยึดโยงกับรูปธรรมความหลากหลายของชีวิตอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาเวลาได้ถูกทำให้เป็นนามธรรมและแยกขาดจากมนุษย์ เวลามีอำนาจเหนือมนุษย์ เวลาเปลี่ยนกำลังแรงงานของมนุษย์ให้เป็นตัวเลขนามธรรม เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของทุนนิยมที่ขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน

Giorgio Agamben เสนอว่า “ภารกิจของการปฏิวัติไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนโลกหากแต่เป็นการเปลี่ยนเวลา” นั่นคือการสร้างมโนทัศน์ใหม่เรื่องของเวลาที่อนาคตต้องไม่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า ต้องไม่มีจุดจบหรือปลายทางที่มีพระเจ้ารออยู่ หากแต่อนาคตคือความเป็นไปได้อื่นๆ ของการปฏิวัติและประวัติศาสตร์ โดยที่ปัจจุบันเป็นการรวมเอาอดีต ปัจจุบัน และอนาคตมาอยู่ไว้พร้อมๆ กัน (being-in-time) อดีตสามารถฉายไปในอนาคต อนาคตสามารถทำให้อดีตที่ถูกกดไว้เผยตนออกมา และปัจจุบันคือการปฏิวัติที่สร้างประวัติศาสตร์แบบใหม่ ประวัติศาสตร์ที่เผยให้เห็นเรื่องเล่าที่ลูกลบลืม 

เวลาของ Negri ที่ต่อต้านเวลาเส้นตรงของทุนนิยมจึงสอดคล้องกับเวลาในสื่อวิเคราะห์ที่เปลี่ยนรูปกลายร่าง เวลาในยุคสมัยหลังประวัติศาสตร์ที่อาจกล่าวได้ว่าเรื่องเล่าหลักได้ถูกทำลายลงอย่างไม่มีชิ้นดี สื่อวิเคราะห์เปลี่ยน (transduction) เหตุการณ์ให้การเป็นสัญญาณ ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นก่อนการส่งสัญญาณ (transmssion) การแปลงสัญญาณได้เป็นการทั้งต่อต้านและอำนวยให้เกิดการส่งสัญญาณของเหตุการณ์ 

Baker เสนอว่าขั้นต่อแปลงสัญญาณนี่เองในระสื่อวิเคราะห์ที่มันต่อต้านการสร้างประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน สื่อจึงทำให้เรามองระบบเวลาด้วยมโนทัศน์แบบใหม่ ที่ไม่ใช่เวลาวางเปล่าซึ่งถูกทําให้เหมือนกัน (homogeneous-empty time) แบบที่ Benedict Anderson เสนอ หากแต่เวลาที่ไม่อยู่ในเอกภาพความสงบเรียบร้อยของรัฐ เวลาไม่ใช่เหตุการณ์ที่ถูกเอามาร้อยเรียงแล้วไหลไปตามเส้นทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นเวลาของชีวิตที่หลากหลาย ไม่เป็นที่คุ้นชิน และไม่ได้ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป ในอีกทางหนึ่งมโนทัศน์เวลาโดยสื่อวิเคราะห์ (ที่ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงภาพแทนของมนุษย์ หากแต่มีพลังอำนาจในตัวมันเอง) กำลังต่อต้านแนวคิดแบบรากฝอยที่ฝังลึกในระบบความคิดยุคสมัยใหม่มาอย่างยาวนาน 

ระบเวลาแบบวงกลม การไม่เคลื่อนไปไหนของประวัติศาสตร์ชาตินิยม การติดหล่มกับภาพแทนเช่นบูรพกษัตริย์หรือผู้แทนทางการเมือง นี่ชวนให้ผู้เขียนนึกถึงนาฬิกาหลากสีคล้ายธรรมจักรที่ถูกติดตั้งข้างอาคาร ซึ่งปรากฏในภาพยนตร์สั้น Planetarium เนื่องจากลักษณะของนาฬิกาที่มีแก่นตรงกลางและเข็มนาฬิกาที่ยื่นยาวออกไป นี่เป็นลักษณะของระบบคิดแบบรากฝอย นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เขียนนึกถึงภาพปะติดในวิดีโอคือรูปพีระมิดสีทองที่มีหนวดยาวสีเขียวกวัดแกว่งไปมา นี่ยังเน้นย้ำลักษณะการแตกกิ่งก้านออกจากศูนย์กลางของระบบคิดสมัยใหม่แบบระบบคิดแบบรากฝอย

ภาพจาก BANGKOK CITYCITY GALLERY

ไปให้ไกลกว่ารากฝอย สลายร่างของเราลงบนสื่อวิเคราะห์ และสร้างกองกำลังรูปธรรมขึ้นมาใหม่

สำหรับ Deleuze ความคิดมิใช่การแตกออกเป็นสอง ภาพแทน การลอกเลียนแบบ หรือองค์รวม ความคิดไม่ได้เรียบนิ่ง มีเหตุผล มีตรรกะ และมิใช่องค์ประธานที่เป็นภาพสะท้อนของวัตถุ สมองโดยตัวมันเองมีลักษณะคล้ายกับรากหญ้ามากกว่าต้นไม้ ความคิดเช่นนี้คือไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด สถานะเช่นนี้คือการอยู่ระหว่าง (intermezzo) ความคิดจึงกลายเป็นสิ่งที่ลื่นไหลเหมือนของเหลวที่ไม่ได้เคลื่อนไหวหากแต่ไหลลื่น ของเหลวมีอัตราเร็ว มีความเร็ว แต่มิได้เป็นการเคลื่อนจากจุด A ไป B 

ความคิดจึงมีลักษณะคล้ายกับ rhizome หรือลำต้นเจริญในแนวนอนขนานไปกับพื้นดิน ความสัมพันธ์แบบรากมักเป็นการสืบหาต้นกำเนิดคล้ายการสืบสกุลฝั่งบิดา แต่ rhizome เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะแนวร่วมที่ใกล้ชิดกัน เช่นเดียวกับความคิดและความปรารถนา (desire) ไม่เคยเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบ แต่กลับเป็นกระบวนการ (process) และลื่นไหลอยู่ตลอดเวลา นี่คือความสร้างสรรค์ ความปรารถนา และการมาประกอบร่วมกันที่สร้างกระแสของความลื่นไหล

ปัญหาของความคิดภาพจำแบบเพลโตที่มีอิทธิพลครอบงำความคิดของเรามาตลอดโดยเฉพาะกับสื่อ (media) คือมักมองว่าสัญญะ (signs) จะไม่มีวันเท่ากับความจริงและมักถูกนิยามเทียบกับต้นฉบับ สัญญะถูกมองว่าเป็นเพียงการลอกเลียนแบบ ความแตกต่าง (difference) จึงถูกมองว่าขาดหายตลอดเวลา (lack) เต็มไปด้วยความรู้สึกผิดบาปและแรงด้านลบ ไม่สามารถวันยึดโยงกับอำนาจด้านบวก

ภาพจาก BANGKOK CITYCITY GALLERY

Deleuze เสนอให้เรามองว่าสัญญะก็มีพลังอำนาจในการก่อให้เกิดผล ความจริงจำลอง (simulacra) อันได้แก่ สัญญะ ความคิด ความปรารถนา และการมาประกอบร่วมกัน สามารถมีปฏิบัติการโดยไม่ต้องยึดโยงหาความเหมือนกับต้นฉบับหรือความจริง และความจริงเสมือน (virtual) ก็ไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามกับความจริงตาม “แนวคิดแยกเป็นสอง” ของเพลโต หากแต่ความจริงเสมือนสร้างและจัดระเบียบความจริงอีกที มากกว่าที่จะให้ความจริงมามีอิทธิพลเหนือกว่า 

Deleuze ตอกย้ำว่าเราต้องตั้งคำถามถึงผลลัพธ์ซึ่งคือความคิดเห็นส่วนตัวที่เรามักจะเอาไปผูกโยงกับองค์รวม การเฉลิมฉลองความเป็นปัจเจก จุดกำเนิด ผู้ประพันธ์ หรือศิลปิน ในทางตรงกันข้ามเราไม่สามารถแยกระหว่างความจริง โลก ภาพแทน หนังสือ (สื่อ) ความคิดเห็นส่วนตัว และผู้ประพันธ์ได้อีกต่อไป

นี่เองทำให้ผู้เขียนย้อนกลับไปมองวิดีโอของจุฬญาณนนท์ที่ตัวละคร ภาพแทนจากสื่ออนาลอกลื่นไหลไร้ทิศทาง สวนกระแสของภาพที่จัดวางคล้ายน้ำตกที่กระแสลดหลั่นจากสูงไปต่ำ ภาพจากจอสี่จอที่เคลื่อนไหวสะเปะสะปะนี้เองชวนให้ตั้งคำถามถึงความเป็นปัจเจก การยึดถือตัวตนของศิลปิน การล่มสลายของข่าวสารจากสื่อของรัฐ การลุกฮือของข่าวสารพลเมือง (citizen journalism) ที่ไม่ต่างจากข่าวสารของผู้ร่อนเร่ (nomad news) ที่เป็นเสียงจากชายขอบและเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง การสร้างเครือข่ายอันโยงใยอย่างซับซ้อนในโลกความจริงเสมือนเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐที่แทรกซึมเข้ามาในพื้นที่สื่อวิเคราะห์ 

แม้รัฐและทุนนิยมจะเป็นผู้สร้างความจริงเสมือน ศิลปะ และอินเทอร์เน็ต รวมถึงเป็นผู้บงการความคิดของเราตลอดมา แต่นิทรรศการ “ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็ยืนยันกับเราว่าเวลามิใช่สิ่งที่จะถูกขอและยืดยาวออกไปไม่รู้จบ ในทางตรงกันข้าม เวลาและสื่อมีอิสระในตนเองที่คล้ายกับโพรงที่ดึงเอาสิ่งต่างๆ มาประสบพบกันโดยคาดเดาไม่ได้ และเราไม่จำเป็นต้องไปประกอบสร้างและยึดโยงกับสิ่งที่รัฐอำพรางตลบแตลง 

หากแต่เราสามารถสร้างเครือข่ายของเราเองเพื่อต่อต้านขัดขืนกับอำนาจแบบลำดับชั้นผ่านเครือข่ายที่รัฐสร้างขึ้นมาเพื่อลวงล่อเราผ่านภาพแทนทั้งหลายที่เราเคยเชื่อและยึดโยงตัวเราเข้ากับภาพแทน ท่ามกลางยุคสมัยหลังประวัติศาสตร์และภาพแทนนั้น เราในฐานะสื่อ เวลา เครื่องจักร และสิ่งอื่นๆ อีกอนันต์ ต่างหากที่เป็นผู้กระทำและองค์ประธานของการต่อสู้ทางการเมือง 


อ้างอิง :

  • Timothy Barker. (2018). Against Transmission: Media Philosophy and the Engineering of Time
  • David Savat. Tauel Harper. (2016). Media After Deleuze
  • ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ. (2020). การเดินทางในระยะห่างของดวงตา. ระหว่างบรรทัด
  • เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2020). ว่าด้วยเวลาอนาคต: วิพากษ์ประวัติศาสตร์ที่เป็นเส้นตรงและข้อถกเถียงระหว่าง Kojève กับ Althusser
  • เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2014). เวลา” กับการศึกษาประวัติศาสตร์: ประวัติศาสตร์ของเทพเจ้า, ประวัติศาสตร์แห่งรัฐ-ชาติ-ทุน และประวัติศาสตร์แห่งการปลดปล่อย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here