Can You Ever Forgive Me? : จากนักเขียนผู้โรยแรง สู่นักปลอมแปลงผู้เรื่อเรือง

(2018, Marielle Heller)

1

“When you live in the dark for so long, you begin to love it. And it loves you back, and isn’t that the point? You think, the face turns to the shadows, and just as well. It accepts, it heals, it allows. But it also devours.”

 ― Raymond Carver

ถ้อยคำของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ (Raymond Carver) นักเขียนเรื่องสั้นชาวอเมริกันชื่อดังที่ยกมาข้างต้น ดูจะอธิบายชีวิตของตัวละครในหนังเรื่อง Can You Ever Forgive Me? (2018) ได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่ชีวิตของ ลี อิสราเอล ในหนังเรื่องนี้ (ซึ่งสร้างจากหนังสืออัตชีวประวัติของเธอในชื่อเดียวกัน) จะมีความคล้ายคลึงกับบรรดาตัวละครชีวิตแตกร้าวผุพังในจักรวาลเรื่องสั้นของคาร์เวอร์เท่านั้น แต่ชีวิตส่วนตัวของนักเขียนชายอย่างคาร์เวอร์ และนักเขียนหญิงอย่างลี (อันที่จริงเธอเป็นเลสเบี้ยน) ยังนับว่ามีแง่มุมที่ส่องสะท้อนกันอย่างน่าสนใจ ในประเด็นที่ว่าทั้งคู่ต่างก็เป็นนักเขียนที่ชีวิตส่วนตัวล้มเหลวผุพังคล้ายๆ กัน

แม้หนังจะนำเค้าโครงมาจากเรื่องจริง แต่ในฐานะของตัวละครแล้ว นี่คือการสำรวจ “โลกของนักเขียนหญิง” ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ปกติแล้ว “เรื่องเล่า” ทำนองนี้มักจะเล่าถึงแต่เฉพาะชีวิตบัดซบล้มเหลวของนักเขียนชาย ซึ่งอาจวางอยู่บนอุดมคติทางวรรณกรรมแบบหนึ่งที่มองว่าชีวิตแบบนี้คือวัตถุดิบชั้นดีสำหรับงานเขียน เป็นความผุพังอันน่ารื่นรมย์ที่ช่วยค้ำยันความเป็นปิตาธิปไตยในโลกวรรณกรรมเอาไว้อย่างหนักแน่น เรื่องเล่าของนักเขียนชายตกอับจึงมักครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในโลกวรรณกรรม เพราะมันช่วยตอกย้ำค่านิยมแบบ masculinity ที่เชิดชูความห่ามห้าว ความกร้านโลก ความขบถ ฯลฯ ซึ่งดูเหมือนว่ามีแต่ “ผู้ชาย” เท่านั้นที่ได้รับอภิสิทธิ์ให้มีเรื่องเล่าแบบนี้ได้                                                                                                                                                  

แต่มีแค่นักเขียนชายเท่านั้นหรือที่ตกอับ ? แล้วนักเขียนหญิงล่ะ นักเขียนหญิงที่ชีวิตบัดซบหายไปไหนใน “เรื่องเล่ากระแสหลัก” นี้ ? ความล้มเหลวทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและด้านงานเขียนของพวกเธอมีใครบ้างไหมที่อยากจดจาร ?


2

Can You Ever Forgive Me? (2018) เปิดเรื่องด้วยฉากที่ ลี อิสราเอล หญิงวัย 50 กว่า เพิ่งจะสูญเสียงานประจำในออฟฟิศแห่งหนึ่งไปเพราะความปากร้ายและไม่ยอมใครของเธอ ในอดีตลีเคยเป็นนักเขียนชีวประวัติชื่อดัง ทว่าตอนนี้เธอกลายเป็นนักเขียนตกอับ ติดเหล้า ถังแตก โดดเดี่ยวไร้เพื่อน และเกลียดโลก เป็นคุณป้ามหาภัยที่พร้อมจะเปิดศึกกับใครก็ได้ที่พูดจาไม่เข้าหู โปรเจกต์งานเขียนชีวประวัติเล่มใหม่ที่เธอหมายมั่นว่ามันจะช่วยกอบกู้ชีวิตกลับคืนมา ก็ถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธอย่างไม่ไยดี เรียกได้ว่าชีวิตของเธอตีบตันในทุกทาง

เมื่อชีวิตมาถึงทางตัน อาชญากรรมจึงมอบแสงสว่างให้ชีวิต…

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ชะตากรรมก็พัดพาให้ลีมาพบกับ แจ็ค ฮ็อค เกย์เฒ่าเจ้าคารมที่ชีวิตก็ตกอับไม่ต่างกัน ทั้งคู่เคยรู้จักกัน (อย่างผิวเผิน) เมื่อนานมาแล้ว ความต่างอย่างเดียวคือแจ็คเป็นคนปากหวาน รู้จักพูดจาฉอเลาะเอาอกเอาใจคน เฟรนด์ลี่ ใจดี สปอร์ต (แต่ความจริงแล้วถังแตกพอกัน) เข้ากับคนอื่นได้ง่าย ฉาบเคลือบความขมขื่นเอาไว้ด้วยสีหน้าท่าทางที่ดูรื่นรมย์ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ดูกะล่อนลื่นไหลและเก็บงำชีวิตเบื้องหลังเอาไว้ เมื่อคนสิ้นหวังสองคนมาเจอกัน มิตรภาพประหลาดล้ำจึงเริ่มต้นขึ้น ประโยคที่แจ็คพูดกับลีในตอนที่พบกันครั้งแรกว่า “คุณไม่ใช่คนเดียวที่ไร้เพื่อน” จึงทั้งตลกร้ายและแสนเศร้าพอๆ กัน

ลีก่ออาชญากรรมอะไร ?

จริงๆ แล้วมันก็ไม่ถึงกับเป็นเรื่องคอขาดบาดตายอะไร เธอแค่ค้นพบว่ามันมีวงการนักสะสมของเก่าที่ชอบสะสมจดหมายของนักเขียนหรือคนดัง แผ่นกระดาษเก่าๆ มอซอที่ถูกอัพราคาสูงลิบลิ่วในตลาด (มืด) ด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ (ที่เพิ่งสร้าง ?) ของมัน การบริโภคสัญญะในโลกของนักสะสมที่แทบจะไม่สนว่าจดหมายเหล่านี้คือ “ของแท้” หรือไม่ มีจริงบ้างปลอมบ้างปะปนกันไปภายใต้การขยิบตาเป็นที่รู้กันของคนในวงการธุรกิจสีเทานี้

นี่เองคือช่องทางทำเงินของลี เธอปลอมแปลงจดหมายพวกนั้นด้วยการอาศัยความสามารถทางวรรณกรรมของเธอเอง เธอลอกเลียนสำนวนของนักเขียนชื่อดังหลายคนแล้วอุปโลกน์ว่าเป็นจดหมายของนักเขียนคนนั้น แล้วนำไปเสนอขายให้กับร้านต่างๆ ที่รับซื้อของสะสมพวกนี้ แล้วเรื่องราวในหนังก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ด้วยกลวิธีปลอมแปลงอันแยบยลของเธอที่เก่งกาจขึ้น สุ่มเสี่ยงขึ้นและถลำลึกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าแจ็คก็กลายเป็นหุ้นส่วนในอาชญากรรมนี้ด้วย


3

หนังพาเราไปสำรวจโลกของการปลอมแปลงนี้ผ่านสายตาของลี ชีวิตของคนสิ้นหวังหมดท่าที่บังเอิญค้นพบวิธีหาเงินทางลัด เราอาจพูดได้ว่าเธอเพียงเข้าไปเป็นกลไกส่วนหนึ่งของการเล่นแร่แปรธาตุในระบบธุรกิจขนาดใหญ่ที่แปรเปลี่ยน “คุณค่าทางประวัติศาสตร์” มาเป็นสินค้า เธอไม่ใช่ขาใหญ่ของธุรกิจนี้ด้วยซ้ำ เป็นเพียงนักปลอมแปลงขาจรที่เข้ามา “แบ่งเค้ก” ไปประทังความหิวบ้างก็เท่านั้น หนังจึงไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ประเด็นทางจริยธรรมของการปลอมแปลง แต่กลับเผยให้เห็นว่าเส้นแบ่งระหว่าง “ของแท้” กับ “ของเทียม” นั้นเบาบางเพียงใด และถึงขั้นวิพากษ์ความเหลวไหลไร้สาระของการยึดติดกับความเป็น “ของแท้” ว่ามันได้ทำลายคุณค่าและความหลากหลายในระบบนิเวศของวงการนักสะสมลงอย่างไร

ในแง่นี้คุณค่าความเป็นของแท้ก็ถูกสร้างขึ้นด้วยการมีอยู่ของของเทียม ตลาดของนักสะสมและการอัพราคาแผ่นกระดาษเก่าๆ ให้สูงลิบลิ่วได้ช่วยชุบชีวิตไม่ให้ของแท้ถูกทิ้งหรือสูญหายไป ของแท้จึงยังคงอยู่ได้เพราะมีตลาดธุรกิจอันกว้างขวางที่ของเทียมช่วยกรุยทางเอาไว้ให้ สิ่งเดียวที่ต้องแลกมากับการชุบชีวิตนี้ก็คือ ของแท้จะถูกสาปให้ปะปนอยู่กับของเทียมจนแทบจะแยกไม่ออก ในขณะเดียวกันการมีอยู่ของของแท้ในฐานะ “ต้นแบบ” ก็ช่วยให้ของเทียมถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างหลากหลาย ของแท้กับของเทียมจึงดำรงอยู่คู่ของในฐานะสองสิ่งที่คอยอุปถัมภ์ค้ำจุนกันเอาไว้

ความเป็นของแท้ในที่นี้จึงอาจไม่สำคัญเท่ากับว่ามันเป็นของที่มี “ชิ้นเดียว” หรือไม่ จดหมายของโดโรธี ปาร์กเกอร์ นักเขียนหญิงชื่อดังที่ลีปลอมแปลงขึ้น ไม่ได้ทำให้จดหมายของแท้ถูกทำลายลง แนวทางของลีไม่ใช่การ “ทำซ้ำ” แต่คือการ “ทำเพิ่ม” ขึ้นมา โดยตรรกะของการสะสมแล้วของที่ถูกทำเพิ่มขึ้นมาไม่ได้ทำลายของที่มีอยู่แต่เดิม ขอเพียงแค่ว่าของชิ้นนั้นเป็นของชิ้นเดียวในโลก หนังจึงชวนเราตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วคุณค่าของการสะสมนั้นอยู่ตรงที่ความเป็น “ของแท้” หรือความเป็น “ของชิ้นเดียว” ในโลกกันแน่ ? นักสะสมพึงพอใจกับสิ่งใดกันแน่ระหว่างของแท้ที่แสนจะหายากและอาจไม่มีวันได้ครอบครอง กับของเทียมที่ช่วยเติมเต็มความ fetish ได้ไม่รู้จบ ?

หากมองในสายตาของนักประวัติศาสตร์ จริงอยู่ว่าธุรกิจการปลอมแปลงนี้อาจสร้างความยากลำบากให้แก่การศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย แต่ทว่าโลกของการศึกษาทางประวัติศาสตร์กับโลกของธุรกิจการสะสมของเก่าก็ใช่ว่าจะมีมาตรวัดคุณค่าแบบเดียวกัน นักประวัติศาสตร์อาจมองของเทียมที่ถูกปลอมแปลงขึ้นว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย แต่ทว่าในสายตาของนักสะสมของเก่า ซึ่งอาจไม่สนใจ (หรืออาจแกล้งทำเป็นเอาหูไปนา เอาตาไปไร่) ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของแท้หรือของเทียมกันแน่ มากเท่ากับความพึงพอใจที่ได้ครอบครองมัน ก็อาจมองมันในมุมที่ต่างออกไป คุณค่าทางประวัติศาสตร์กับคุณค่าของการสะสมอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกันหรือลงรอยกันได้ เพราะของบางสิ่งอาจไม่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์มากนัก แต่กลับมีคุณค่าในการเป็นของสะสม ในขณะเดียวกันของที่มีคุณค่าในการเป็นของสะสม ก็ไม่จำเป็นต้องมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในแบบที่นักประวัติศาสตร์มองหาและต้องการเสมอไป


4

หนังค่อยๆ เผยให้เราเห็นว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้ดำรงอยู่ได้ไม่ใช่การเที่ยวไปพิสูจน์ว่าสินค้าของใครเป็นของแท้หรือของปลอม แต่คือการขยิบตาเป็นที่รู้กันอย่างเป็นธรรมเนียมว่าอย่าไปสนใจมากนักว่าของแท้หรือของปลอม ขอเพียงแค่สิ่งนั้นขายได้และปลอมแปลงได้ “เนียน” ก็พอแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นมือใหม่ของลีที่ยังไม่รู้จักพิษสงของธุรกิจนี้ดีพอ บวกกับความร้อนเงินของเธอ และความตื่นตากับพรสวรรค์ที่เพิ่งค้นพบของตัวเอง เธอจึงพลาดท่าถูกจับได้ในวันหนึ่ง การถูกจับของลีมาพร้อมกับอำนาจรัฐที่เข้ามาตรวจสอบธุรกิจนี้ มันจึงกลายเป็นว่าเพื่อรักษาโลกของธุรกิจนี้ไว้ ผู้เล่นอื่นๆ ในธุรกิจนี้จึงพร้อมใจกันถีบส่งและโยนความผิดให้เธอ ไม่ใช่เพราะเธอทำ “ผิด” ที่กล้าปลอมแปลง แต่เพราะเธอทำ “พลาด” ที่ถูกจับได้ และเกือบพาซวยไปทั้งวงการต่างหาก

สิ่งเดียวที่สามารถกระตุ้นต่อมมโนธรรมสำนึกให้ลีหันกลับมาตั้งคำถามกับการกระทำของตัวเอง ไม่ใช่ความรู้สึกผิดที่เธอได้ปลอมแปลงจดหมายต่างๆ ขึ้นมา (และขอย้ำอีกครั้งว่าหนังไม่โยนคำถามเกี่ยวกับจริยธรรมการปลอมแปลงใส่ตัวละครเลยแม้แต่น้อย) แต่คือความรู้สึกผิดที่ว่าเธอได้ขายของปลอมให้กับหญิงสาวเจ้าของร้านหนังสือคนหนึ่งที่ใสซื่อจริงใจและพยายามจะผูกมิตรกับเธอ ความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นจึงเป็นความรู้สึกผิดต่อมิตรผู้จริงใจและทรยศต่อมิตรภาพอันงดงามนั้น

สิ่งที่ทรงพลังมากๆ ในหนังคือการที่ลีไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เธอทำเป็นเรื่องผิด ไม่ใช่เพราะว่าโลกบัดซบใส่เธอก่อน เธอจีงมีสิทธิ์ตบหน้าโลกกลับอย่างชอบธรรม มันไม่ใช่ความสะใจของอาชญากรรมที่วางอยู่บนความรู้สึกต่อต้านสังคม แต่เพราะว่านี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เธอรู้สึกว่าเธอกลับมาเชื่อมั่นในการเขียนของตัวเองอีกครั้ง ถ้อยคำของเธอ (ที่ลอกเลียนสำนวนการเขียนของนักเขียนชื่อดัง) สามารถซื้อใจคนได้และขายได้ในราคาสูงลิ่ว ทั้งหมดนี้ช่วยโอบอุ้มให้นักเขียนที่หมดไฟคนหนึ่งให้ลุกขึ้นมาเขียนหนังสืออีกครั้ง และเรื่องราวในหนังสือเล่มใหม่ของเธอก็ไม่ใช่อะไรอื่นไกล แต่คือเรื่องราวอาชญากรรมของเธอเอง อาชญากรรมที่เกือบจะพาเธอไปนอนในคุก แต่ก็ปลดปล่อยเธอออกจากความซังกะตายของชีวิต

ณิศวร์ฐิตะ ทองน้อย
อ่านหนังสือเป็นงานประจำ ดูหนังเป็นงานอดิเรก

LATEST REVIEWS