A Hidden Life ผลพวงของการ(ไม่)อยู่เป็น

(2019, Terrence Malick)

“ฉันยังจำวันแรกที่เราพบกันได้ดี คุณมองมาที่ฉันและทุกอย่างก็กระจ่างชัด… ชีวิตในตอนนั้นแสนเรียบง่าย ราวกับว่าไม่อาจมีปัญหาใดย่างกรายเข้ามาในหุบเขาของเราได้เลย”

หญิงสาวหวนระลึกถึงความหลังขณะสนทนากับสามีของเธอระหว่างมื้ออาหาร พร้อมกับถ้อยคำแผ่วเบาของเธอนั้นเองที่เราเห็นภาพของชายหนุ่มคนหนึ่งขับมอเตอร์ไซค์ไปบนถนนดินแคบๆ กลางทุ่งหญ้าเขียวขจี ก่อนจะตัดสลับไปยังภาพของหญิงสาวคนเดิมกำลังยืนขวยเขินอยู่ในผับประจำเมืองต่อหน้าผู้ชายคนนั้น…ที่ในกาลต่อมาจะกลายมาเป็นคู่แท้ผู้กำลังนั่งอยู่อีกฟากหนึ่งของโต๊ะอาหารในตอนนี้

โดยไม่ผิดเพี้ยน นี่คือสไตล์ที่เราคุ้นชินจากภาพยนตร์ของเทอร์เรนซ์ มาลิค ผู้กำกับชาวอเมริกันที่สร้างความฉงนฉงายให้กับผู้ชมมาอย่างยาวนาน ด้วยวอยซ์โอเวอร์พร่ำเพ้อล่องลอยอยู่เหนือภาพมุมกว้างที่ลื่นไหลสลับไปมาระหว่างผู้คน ทิวทัศน์ โลกธรรมชาติงามวิไล (และในบางครั้งก็ออกนอกจักรวาล!) การปะติดปะต่อกันของภาพ เสียง และถ้อยคำข้ามพื้นที่และกาลเวลาอย่างเป็นอิสระในหนังของมาลิคนั้น บางครั้งก็สุดแสนสะเปะสะปะจนทำคนดูเลิกล้มความตั้งใจที่จะทำความเข้าใจไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังชุด ‘ด้นสด-ไร้บท’ ในระยะหลังของเขาอย่าง To the Wonder (2012), Knight of Cups (2015) และ Song to Song (2017) ที่มักได้รับคำวิจารณ์ก้ำกึ่ง

ทว่าผลงานล่าสุดของเขาอย่าง A Hidden Life กลับต่างออกไป เพราะมันเป็นเรื่องแรกที่มาลิคหวนกลับมาสู่การทำหนังแบบมีบทหรือโครงสร้างอีกครั้ง โดยสร้างมาจากเรื่องจริงของชาวนาในออสเตรียผู้หนึ่งที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อนาซี ในขณะที่การปะติดปะต่อภาพในหนังยังคงลื่นไหล กระโดดจากชั่วขณะหนึ่งไปยังอีกชั่วขณะ แต่การเล่าเรื่องนั้นมีกลมเกลียวเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น มีการไล่เลี้ยงอารมณ์คนดูที่ทรงพลังขึ้น ทั้งยังมีการขบคิดประเด็นที่ทั้งชัดและคมคายมากกว่าเดิม เมื่อเทียบเคียงกับแค่ 3 เรื่องที่กล่าวไป ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ผลงานคืนฟอร์มเรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังที่ดีที่สุดของมาลิคหลังจากผลงานปาล์มทองของเขาอย่าง The Tree of Life (2011)

เริ่มต้นด้วยฟุตเทจขาวดำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในยุคนาซีเรืองอำนาจ (ซึ่งถูกสอดแทรกมาเป็นระยะๆ ตลอดทั้งเรื่อง) ก่อนจะตัดมาสู่ฉากของชีวิตอันสวยงามเรียบง่ายดังที่ได้สาธยายไปข้างต้น มาลิคพาคนดูไปสัมผัสกับชีวิตอันแสนสุขของสามัญชนท่ามกลางหุบเขาตระหง่านของเซนต์ราเดอกุนด์ (St. Radegund) ประเทศออสเตรียปลายทศวรรษ 1930s คู่ผัวเมียฟรานซ์ เยเกอร์สเตเทอร์ (ออกุสต์ ดีห์ล) กับฟานนี (วาเลอรี พาคเนอร์) ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตามประสาเกษตรกรชาวไร่ ในแต่ละวันพวกเขาช่วยกันทำงานในเรือกสวนไร่นา เย้าแหย่กันบ้างระหว่างงานหนัก พักผ่อนสังสรรค์กับเพื่อนบ้านเป็นครั้งคราวในบาร์ของหมู่บ้าน ไปโบสถ์เป็นเนืองนิจตามวิถีคริสตชน และเมื่อหมดวันอันเหนื่อยล้าก็คอยเจือจุนความรักแสนอบอุ่นให้แก่กันและให้กับลูกๆ ตัวน้อย

ทว่าภูเขาสูงใหญ่นั้นหาได้ปิดกั้นพวกเขาออกจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง ชีวิตสันโดษอันแสนสุขของคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเขาต้องสั่นคลอนเมื่อออสเตรียเข้าสู่สงครามโลกครั้งสอง และฟรานซ์ผู้ยึดมั่นในศีลธรรมและมนุษยธรรมถูกเรียกตัวให้ร่วม ‘รับใช้ชาติ’ ซึ่งเข้าฝักฝ่ายเดียวกับนาซี

หนังสำรวจการหยัดยืนของคนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่หวังทำสิ่งที่ถูกต้อง (หรืออย่างน้อยที่สุดคือหลีกเลี่ยงจากการทำสิ่งผิด) แม้มันจะสวนทางกับบรรยากาศของสังคมที่บีบคั้นให้ทุกคนคิดไปในทางเดียวกันหมด ฟรานซ์เชื่ออย่างสุดใจว่าตนไม่อาจมีส่วนร่วมในสงครามของนาซีได้ด้วยเพราะขัดกับหลักการที่ตนยึดมั่น ซึ่งความแน่วแน่นี้เองที่มาลิคพาคนดูไปติดตาม ว่าบนเส้นทางการดิ้นรนของมโนสำนึกนี้มีราคาค่างวดที่ต้องจ่ายมากมายแค่ไหน และในท้ายที่สุดยังคุณค่าใดต่อใครบ้าง

ฟรานซ์เชื่ออย่างสุดใจว่าตนไม่อาจมีส่วนร่วมในสงครามของนาซีได้ด้วยเพราะขัดกับหลักการที่ตนยึดมั่น ซึ่งความแน่วแน่นี้เองที่มาลิคพาคนดูไปติดตาม ว่าบนเส้นทางการดิ้นรนของมโนสำนึกนี้มีราคาค่างวดที่ต้องจ่ายมากมายแค่ไหน และในท้ายที่สุดยังคุณค่าใดต่อใครบ้าง

อาจกล่าวได้ว่ามาลิคเป็นคนทำหนังที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ในหลายระดับ ไม่เพียงความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกัน หากยังเป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าด้วย  โดยใน A Hidden Life นี่เอง การต่อต้านนาซีของฟรานซ์ได้ช่วยขับเน้นให้ความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้นมา

เมื่อฟรานซ์ปฏิเสธที่จะก้มหัวให้นาซี เขาจึงถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศต่อชาติและพงศ์พันธุ์ของตนเอง ทั้งหมู่บ้านที่เคยรักใคร่กลมเกลียวหันมาหมางเมิน เหยียดหยาม และตีตัวออกห่างจากทั้งตัวฟรานซ์กับครอบครัวของเขา การกลายมาเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาของสังคมทำให้ทั้งครอบครัวของฟรานซ์ต้องลำบากกว่าเดิมกับการเอาตัวรอดอย่างโดดเดี่ยวในเมืองเล็กๆ ที่ชาวบ้านล้วนมีความสัมพันธ์โยงใยแน่นแฟ้น ไม่ว่าจะผ่านการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการทำไร่นา หรือพิธีกรรมทางศาสนาที่รวมใจทุกคนในหมู่บ้านเข้าด้วยกัน

แน่นอนว่าบรรยากาศภายในครอบครัวเองก็ตึงเครียด ฟานนีใจสลายแต่พยายามทำความเข้าใจการตัดสินใจของคนรัก พี่สาวของเธอที่อยู่ร่วมชายคาก็กล่าวโทษฟรานซ์ที่ทำให้ทั้งครอบครัวตกที่นั่งลำบาก ส่วนแม่ของเขาทำใจไม่ได้เมื่อนึกถึงผลที่จะตามมาจากการแข็งข้อของลูกชาย การตัดสินใจยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์จึงไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ด้วยเพราะผลกระทบที่แผ่กระเพื่อมไปยังคนอื่นๆ เช่นเดียวกับที่การ ‘อยู่เป็น’ นั้นอาจไม่ได้หมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนๆ เดียวเสมอไป แต่ยังรวมถึงสายใยที่เรามีต่อคนสำคัญรอบตัวเราด้วย

แต่ภายใต้บรรยากาศของสังคมที่บีบคั้นให้มนุษย์ต้องทำในสิ่งที่คัดค้านกับหลักศีลธรรม เราล้วนต่างต้องเลือกให้ตัวเราเองในท้ายที่สุดว่าเราจะยอม ‘อยู่เป็น’ หรือ ‘อยู่ไม่เป็น’ สำหรับฟรานซ์นั้น ที่จริงแล้วก็ยังมีตัวเลือกอยู่บ้างที่เขาพอจะทำได้เพื่อเอาตัวรอดไปโดยไม่ให้มือตัวเองเปื้อนเลือด เขาอาจจะหนีทหารแล้วไปหลบอยู่ในป่าก็ได้ หรืออาจกล่าวคำสวามิภักดิ์ต่อฮิตเลอร์ไปอย่างส่งๆ แล้วทำงานในหน่วยพยาบาล แต่แน่นอนนั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาเลือก

แต่ภายใต้บรรยากาศของสังคมที่บีบคั้นให้มนุษย์ต้องทำในสิ่งที่คัดค้านกับหลักศีลธรรม เราล้วนต่างต้องเลือกให้ตัวเราเองในท้ายที่สุดว่าเราจะยอม ‘อยู่เป็น’ หรือ ‘อยู่ไม่เป็น’

แน่นอนว่ามนุษย์หาได้อยู่เพียงลำพังบนโลกใบนี้ เราอยู่อาศัยในหน่วยสังคมหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน หรือรัฐ ซึ่งน้ำหนักของหน้าที่ความรับผิดชอบที่เรามีต่อหน่วยเหล่านี้ล้วนแต่งต่างกันไป (จะตามค่านิยมของแต่ละคนหรือด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม) มาลิคครุ่นคิดถึงตัวตนของมนุษย์ไม่ใช่ฐานะสิ่งที่เป็นเอกเทศแยกขาดออกมาจากโลก หากแต่เป็นส่วนหนึ่งกับโลกรอบตัวของเขา สำหรับฟรานซ์ ความรับผิดชอบอันหนักอึ้งที่ไม่อาจละเลยได้เลยคือหน้าที่ในเชิงศีลธรรม ซึ่งปักหมุดตัวตนของมนุษย์ว่าเป็นใครและใช้ชีวิตแบบไหนบนโลกใบนี้ การรู้ผิดชอบชั่วดีและปฏิบัติมั่นตามหลักการนั้นทำให้เขาไม่อาจยอมก้มหัวให้นาซี ไม่แม้แต่จะยอมแสร้งทำทีว่าสวามิภักดิ์ต่อฮิตเลอร์ เพราะในใจเขารู้ดีว่าท้ายที่สุดคำปฏิญาณและการแสร้งทำจะยังผูกมัดจิตวิญญาณของตนให้ต้องแปดเปื้อนความชั่วร้ายของนาซีด้วยนั่นเอง

กล่าวได้ว่าการมีเข็มทิศทางศีลธรรมที่เถรตรงเช่นนี้สะท้อนความสัมพันธ์อันลึกซึ้งที่ฟรานซ์มีต่อพระเจ้า แต่คงไม่ถูกต้องหากจะลดทอนความลึกซึ้งดังกล่าวว่าเป็นเพียงความเคร่งครัดในศาสนา ในช่วงแรกๆ ที่ฟรานซ์เกิดข้อกังขาในจิตใจกับการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสงคราม เขาได้ไปปรึกษาพูดคุยกับบาทหลวงผู้ทรงศีล แต่คำตอบก้ำกึ่งที่ได้กลับมาก็หาได้ทำให้ตัวเขาสั่นคลอนในจุดยืนของตน แม้ศาสนา (ในฐานะของสถาบัน) รับรองให้ฟรานซ์เออออทำตามนาซีไปเพื่อเอาตัวรอดโดยไม่ถือเป็นบาปได้ แต่การไม่ยอมก้มหัวให้นาซีของฟรานซ์นั้นไปไกลกว่าเรื่องบุญบาปมากนัก

ทางเลือกและความยึดมั่นของฟรานซ์แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อพระเจ้านั้นไม่ได้จำเป็นต้องยึดโยงต่อสถาบันทางศาสนาเสมอไป นั่นเพราะเมื่อเจตจำนงเสรีเป็นสิ่งที่พระเจ้ามอบให้กับมนุษย์ การเลือกที่จะทำหรือไม่ทำบางสิ่งย่อมเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องตอบต่อพระเจ้า (ในใจของตนเอง) ให้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่ศาสนจักรหรือผู้รอบรู้ศาสนาคนไหนจะมาตอบแทนให้ได้

แม้จะมีหนทางมากมายที่จะอยู่เป็นได้โดยไม่ต้องแบกรับความผิดบาป แต่ผลพวงของการเอาตัวรอดเพียงเพื่อจะได้มีชีวิตต่อไปนั้นอาจเลวร้ายกว่าการอยู่ไม่เป็นมากนัก เพราะท้ายที่สุดมันคือการทรยศต่อสิ่งที่ฟรานซ์รู้อยู่เต็มอกว่าไม่ถูกต้อง การยึดศีลธรรมนำใจนั้นไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ฟรานซ์ใช้เพื่อยกตนเหนือพวกนาซี (แม้ในความเป็นจริง การมีจุดยืนทางศีลธรรมที่เหนือกว่านาซีนั้นเป็นเรื่องที่ควรทำอยู่แล้วก็ตาม) หากเป็นไปเพื่อตัวเขาเอง สิ่งที่ฟรานซ์เลือกนั้นคืออิสรภาพ เพราะแม้เขาจะสามารถคิดต่อต้านได้ตามใจต้องการตราบใดที่ยอมทำงานให้นาซี แต่นั่นย่อมไม่ใช่อิสรภาพที่แท้จริง อิสรภาพที่แท้จริงย่อมเป็นอิสรภาพที่จะคิด ที่จะพูดและทำอย่างที่คิด… อิสรภาพที่มาพร้อมความรับผิดชอบต่อหลักการมนุษยธรรม… อิสรภาพต่อการตกเป็นเครื่องมือในการทำสงครามไร้ศีลธรรม… อิสรภาพในการรักษาจิตวิญญาณของตนเอง…

แม้จะมีหนทางมากมายที่จะอยู่เป็นได้โดยไม่ต้องแบกรับความผิดบาป แต่ผลพวงของการเอาตัวรอดเพียงเพื่อจะได้มีชีวิตต่อไปนั้นอาจเลวร้ายกว่าการอยู่ไม่เป็นมากนัก เพราะท้ายที่สุดมันคือการทรยศต่อสิ่งที่ฟรานซ์รู้อยู่เต็มอกว่าไม่ถูกต้อง

เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ฟานนีผู้เป็นรักแท้เข้าใจได้ในที่สุด และเมื่อช่วงเวลาสุดท้ายมาถึง เธอก็ยอมรับการตัดสินใจของเขาและกล่าวคำอำลาชวนใจสลาย เรื่องทั้งหมดนี้ไม่ยุติธรรมต่อเธอและลูกๆ ตัวน้อย แต่ความรักที่กระจ่างชัดไม่เสื่อมคลายในใจเธอก็ทรงพลังมากพอ เธอไม่ตราหน้าฟรานซ์ว่าเห็นแก่ตัว หากเข้าใจว่าสามีไม่มีทางเลือกอื่น เธอจึงเลือกจดจำจิตวิญญาณที่ยังบริสุทธิ์ของฟรานซ์ในวันที่ร่างกายเขาโรยแรง จดจำมันไว้ไม่ต่างจากที่เธอยังจดจำภาพเขาบนมอเตอร์ไซค์ในวันแรกที่พวกเขาพบกันได้อยู่นั่นเอง

ตลอดทั้งเรื่องฟรานซ์เจอคำถามว่าความยึดมั่นถือมั่น (หรือความดื้อรั้น?) ของเขานั้นมีประโยชน์อะไร เขาไม่ได้มีเหตุผลทางการเมืองเท่ากับแรงจูงใจส่วนตัวล้วนๆ (ซึ่งกลับกลายมาเป็น ‘การเมือง’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยนั่นเอง) เขารู้ดีว่าคนตัวเล็กๆ อย่างเขาหยุดยั้งสงครามและการเข่นฆ่าด้วยตัวเองไม่ได้ ต่อให้เขาไม่ยอมก้มหัวสวามิภักดิ์แต่ฮิตเลอร์ก็หาได้สะทกสะท้านอะไร ความชั่วร้ายและเครื่องจักรสงครามของนาซีจะยังเดินหน้าต่อไป และชื่อของเขาคงถูกกลืนหายไปในกระแสธารของประวัติศาสตร์โดยไม่มีใครจดจำ (ซึ่งข้อนี้อาจจะไม่ค่อยตรงกับความจริงนัก หลักฐานก็คือการที่มีหนังเรื่องนี้ขึ้นมา)

ทว่า การยืนหยัดเพื่อความดีงามนั้นก็ใช่ว่าไร้ค่า เหมือนกับข้อความของจอร์จ เอลเลียต จาก Middlemarch ที่มาลิคหยิบยกมาแปะตอนท้ายเรื่อง (และเป็นที่มาของชื่อหนัง) ว่า “ความดีที่งอกงามบนโลกใบนี้บางทีก็ขึ้นอยู่กับการกระทำที่ไม่ถูกบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ และเหตุที่สิ่งที่เราเผชิญอยู่ไม่ได้เลวร้ายเท่าที่มันอาจเป็นได้นั้น กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเพราะบรรดาผู้ที่ใช้ชีวิตซ่อนเร้นอย่างสัตย์ซื่อไร้ผู้รู้จัก และพำนักอยู่ในสุสานอ้างว้างไร้ผู้ใดเยือน”

หนังของมาลิคเรื่องนี้จึงเชิดชูและยืนยันคุณค่าความดีงามอันแสนสามัญของบรรดาผู้ไร้ใบหน้าหรือชื่อเสียงเรียงนามบนบันทึกทางประวัติศาสตร์ เพราะพวกเขาคือผู้ยึดมั่นเพื่อสิ่งที่ถูกต้องในวันที่โลกดูทึมเทาด้วยความชั่วร้าย เพราะพวกเขาไม่ใช่แค่คนที่ ‘อยู่ไม่เป็น’ หากแต่เป็นผู้เลือกขัดขืนอย่างแข็งขันต่อหน้าทรราชย์ว่าจะ ‘ไม่อยู่เป็น’ ไม่ว่าท้ายที่สุดต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมใดก็ตาม

ดาวุธ​ ศาสนพิทักษ์
อดีตนักเขียนรับเชิญขาประจำของ BIOSCOPE ปัจจุบันเป็นพนักงานออฟฟิศที่พยายามขีดเขียนบ้างเมื่อมีเวลาและเรี่ยวแรง

LATEST REVIEWS