Home Article Film & Business Business Update : ค่ายหนังเปิดวอร์! / หายนะบ็อกซ์ออฟฟิศ! / หลังโควิดเราจะทำหนังกันอย่างไร?

Business Update : ค่ายหนังเปิดวอร์! / หายนะบ็อกซ์ออฟฟิศ! / หลังโควิดเราจะทำหนังกันอย่างไร?

Business Update : ค่ายหนังเปิดวอร์! / หายนะบ็อกซ์ออฟฟิศ! / หลังโควิดเราจะทำหนังกันอย่างไร?

กลับมาพบกันอีกครั้งกับการอัพเดทข่าวความเคลื่อนไหวในโลกธุรกิจภาพยนตร์ สัปดาห์นี้ผู้เขียนมีประเด็นที่น่าสนใจสามประเด็นเห็นสมควรนำมารายงาน ได้แก่

หายนะของบ็อกซ์ออฟฟิศทั่วโลก

หลังจากโควิด 19 ระบาดในหลายประเทศอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนมกราคม ทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องออกมาตรการล็อคดาวน์หยุดกิจกรรมทุกประเภทโดยที่หลายฝ่ายไม่ทันตั้งตัว แน่นอนว่า ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มคนจำนวนมากกลายเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งธุรกิจโรงหนังก็รวมอยู่ในนั้นด้วย และผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ยอดรายได้จากการขายตั๋วที่หดตัวอย่างที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อน

เริ่มต้นที่ประเทศจีนซึ่งยอดรวมบ็อกซ์ออฟิศตลอดทั้งปี 2019 มีจำนวน 9.2 พันล้านเหรียญ มาปีนี้สำนักงานภาพยนตร์แห่งชาติ (National Film Administration) ประเมินว่ารายได้รวมจะหายไป 4.2 พันล้านเหรียญ หรือเกือบ 50% เลยทีเดียว

ข้ามมาทางฝั่งยุโรป แม้จะยังไม่มีการประเมินรายได้ตลอดทั้งปี แต่ สำนักวิจัยข้อมูลทางการเงินและการตลาดระดับโลกอย่าง S&P สำรวจบ็อกซ์ออฟฟิศของแต่ละประเทศในยุโรป ตั้งแต่มีนาคม 2019 ถึงมีนาคมปีนี้ (ซึ่งเป็นเดือนที่เกิดการระบาดหนัก) ปรากฏว่า รายได้หนังช่วงไตรมาสแรกลดลงกว่า 29.4 % โดยฝรั่งเศสเสียหายหนักสุด ด้วยตัวเลขที่ลดลงถึง 47.3% ตามมาด้วยสเปน และโปแลนด์ (ลดลง 40.3%และ 36.3% ตามลำดับ ) ขณะที่อิตาลีซึ่งประสบเหตุเป็นประเทศแรกในยุโรปนั้น รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศลดลง 27.8%

สำหรับตลาดหนังที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอเมริกา ซึ่งตอนนี้กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชี้อและเสียชีวิตสูงสุดในโลกไปแล้ว ไมเคิล แพทเชอร์ นักวิเคราะห์แห่ง Wedbush กลุ่มบริหารทางการเงินชั้นนำให้ความเห็นว่า ยอดรวมบ็อกซ์ออฟฟิศของอเมริกาปีนี้จะตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี โดยจะเหลือแค่ 6.6 พันล้านเหรียญเท่านั้น (เทียบไม่ได้เลยกับยอดรวมของปี 2019 ที่สูงถึง 11.4 พันล้านเหรียญ) เหตุผลสำคัญนอกจากการปิดตัวของโรงหนังทั้งประเทศแล้ว ยังเป็นเพราะการเลื่อนกำหนดฉายของหนังฟอร์มใหญ่หลายเรื่องด้วย

กล่าวได้ว่าภาพรวมของธุรกิจหนังปีนี้คงหาแสงสว่างเจอยาก การจะพลิกฟื้นได้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าวิกฤตจะคลี่คลายลงเมื่อใด และคนดูมีความพร้อมที่จะกลับเข้าโรงแค่ไหน

อ้างอิง :
China Box Office Likely to Drop More Than $4.2 Billion Due to Coronavirus
COVID-hit France, Spain lead film box office declines in Europe
Movie Industry Facing Lowest Numbers In Over 20 Years Amid COVID-19
THEME Report 2019


เมื่อโรงหนังเปิดวอร์กับสตูดิโอ!

วิกฤตโควิด 19 ทำให้สตูดิโอหลายแห่งเลื่อนหนังออกไปไม่มีกำหนด เช่น ค่ายดิสนีย์กับหนังเรื่อง Mulan ซึ่งเลื่อนจากมีนาคมไปเป็นกรกฎาคม และ A Quiet Place part 2 เลื่อนจากมีนาคมไปกันยายน แต่ค่าย Universal กลับเลือกจะยืนหยัดฉายแอนิเมชั่น Troll World Tour ตามกำหนดเดิม คือเมษายน เพียงแต่เปลี่ยนไปเป็นออนไลน์ด้วยรูปแบบการจัดจำหน่ายที่เรียกว่า PVOD หรือ Premium Video On Demand

หลักการของ PVOD คือ ผู้ชมต้องจ่ายเงินหนึ่งครั้งต่อการชมภายในระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อโรงกลับมาเปิดเป็นปกติ ทางค่ายก็จะนำหนังเรื่องนี้กลับมาฉายโรงอีกครั้ง

แน่นอนว่า การตัดสินใจแบบนี้เสี่ยงมาก เพราะ Universal อาจเสียโอกาสที่จะทำเงินก้อนใหญ่จากโรง และที่สำคัญ PVOD มักเกิดขึ้นกับค่ายหนังอิสระมากกว่าค่ายใหญ่ แต่ผลปรากฏว่าเป็นการเดิมพันที่ได้ผล เมื่อ Troll World Tour เปิดตัวเป็นอันดับหนึ่งบทแพล็ตฟอร์มสตรีมิ่งยักษ์ใหญ่ของอเมริกาอย่าง Amazon Prime, Comcast, Apple TV, Vudu, YouTube และ DirecTV Now โดยหลังออกฉายได้ 19 วัน มียอดผู้ชมแล้ว 3-5 ล้านคน!

ความสำเร็จนี้ทำให้ผู้ประกอบการโรงหนังชั้นนำอย่างเครือ AMC ไม่พอใจมาก ถึงกับประกาศจะไม่ฉายหนังค่าย Universal อีกต่อไป (นั่นรวมถึงหนังเรื่อง No Time to Die หรือเจมส์ บอนด์ภาค 25 กับ Fast & Furious 9 ด้วย) และล่าสุด โรงเครือใหญ่อันดับสองอย่าง Regal ก็ออกมาขู่แบนหนังค่าย Universal ร่วมด้วย

แม้สงครามครั้งนี้จะเพิ่งเริ่ม แต่สำหรับ Universal ซึ่งได้รับส่วนแบ่งจากการฉายทางออนไลน์ถึง 80% (ขณะที่ถ้าฉายโรงปกติ ได้ส่วนแบ่งเพียง 50%) คงไม่มองว่าการฉายแบบนี้เป็นแค่การแก้ขัดเท่านั้น สะท้อนจากคำพูดของตัวแทนค่ายต่อปฏิกิริยาเชิงลบของโรง AMC ที่ว่า “เราตั้งใจจะฉายหนังเรื่องต่อ ๆ ไปในโรงและช่องทาง PVOD ด้วยถ้าเราเห็นว่าเข้าท่า อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราจะหาโอกาสพูดคุยกับพันธมิตรผู้ประกอบการโรงหนังของเราก่อน”

อ้างอิง :
Universal vs. AMC Controversy Explained
Here Are All the Movies Delayed Because of the Coronavirus


9 มาตรการการถ่ายทำหนังหลังโควิด

ข่าวนี้เป็นเรื่องของวงการโทรทัศน์ แต่ก็มีรายละเอียดเกี่ยวข้องกับกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์ยุคหลังโควิด 19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อ 29 เมษายนที่ผ่านมา ซูซาน รอฟเนอร์ และ เบรท พอล ประธาน Warner Bros Television ได้เรียกประชุมทีมงานฝ่ายผลิตซีรีส์ของบริษัท ทั้งโปรดิวเซอร์ ไลน์โปรดิวเซอร์ รวมถึงบริษัทที่รับจ้างผลิต ถึงแนวทางและมาตรการการถ่ายทำ หากต้องกลับมาทำงานต่ออีกครั้ง

แน่นอนว่า แก่นของแนวทางดังกล่าวคือ การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างถ่ายทำ โดยมาตรการสำคัญก็เช่น

1. งดเว้นฉากเลิฟซีน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้นักแสดงใกล้ชิดกันมากเกินไป
2. ฉากต่อสู้ต้องใช้นักแสดงแทน
3. นักเขียนบทไม่จำเป็นต้องไปที่ฉากถ่ายทำ
4. จำกัดการเดินทางระหว่างที่พักกอง โดยให้ทีมงานและนักแสดงพักอยู่แถวสถานที่ถ่ายทำ
5. พยายามลดเวลาการถ่ายทำลง และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด เช่น การวัดอุณหภูมิ
6. หลีกเลี่ยงซีนใหญ่ที่มีตัวประกอบจำนวนมาก โดยให้คนเขียนบทพยายามปรับบท หรือไม่ก็ใช้เทคนิคพิเศษด้านภาพเพิ่มภาพฝูงชนแทน
7. หลีกเลี่ยงปัญหาการถ่ายทำฉากนอกสถานที่ (ซึ่งอาจจะขออนุญาตลำบาก) โดยให้ทีมเขียนบทเขียนเรื่องที่ใช้ฉากสร้างอย่างถาวร หรือฉากที่สร้างขึ้นเพื่อตอนบางตอนโดยเฉพาะ
8. ให้ขนาดของทีมงานสอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะทางสังคม
9. ทุกคนที่อยู่ในฉากถ่ายทำ -ยกเว้นนักแสดงที่ต้องเข้าฉาก- ต้องสวมหน้ากาก ถุงมือ หรือแม้แต่ชุดคลุมป้องกัน และห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาในสถานที่ถ่ายทำเด็ดขาด

แนวทางแต่ละข้อดูแล้วน่าจะสร้างความอึดอัดใจแก่ทีมงานและนักแสดงไม่น้อย แต่คงยังไม่มีทางออกใดดีไปกว่าการอดทนแล้วเฝ้ารอให้วิกฤติคลี่คลายอย่างสมบูรณ์ เมื่อถึงเวลานั้น วิถีการทำงานแบบเดิมก็จะกลับมาอีกครั้ง

อ้างอิง :
Warner Bros. TV Presidents Outline How Coronavirus Could Dramatically Change Production and Content

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here