ลุงบุญมีระลึกชาติ : ‘น้ำผึ้ง’ ล่องหนกลางวงพาข้าวแลง …ความหวานอมส้มปนขมขื่นของชีวิตที่ถูกลืม

‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) อาจมีสถานะเป็นถึงหนังไทยและหนังจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรก-ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นเพียงเรื่องเดียว-ที่สามารถคว้า ‘ปาล์มทอง’ (Palme d’Or) อันเป็นรางวัลใหญ่สุดจากเทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์มาครองได้เมื่อปี 2010 (พ.ศ. 2553) – ซึ่งหลายคนมองว่ามันคือความสำเร็จที่ดูช่าง ‘หอมหวาน’ เสียเหลือเกินในแวดวงภาพยนตร์โลก

ทว่าหากลองพิจารณาจากความรู้สึก ‘เข้าถึงยาก’ ที่ผู้ชมส่วนใหญ่มีต่อบรรดาเรื่องเล่าเหนือจริงที่แวดล้อมตัวละครอย่าง ลุงบุญมี และสถานะที่ยังคง ‘ลับแล’ สำหรับคนทั่วไปของผู้กำกับหัวก้าวหน้าอย่าง เจ้ย – อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล แล้ว …‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ก็น่าจะถือเป็นผลงานหนังไทยที่ยังห่างไกลจากคำว่า ‘ความสำเร็จอันหอมหวาน’ อยู่ไม่น้อย

และก็ดูจะเป็นระยะห่างที่ถ่างไกลพอๆ กับการที่ตัวละครชาวบ้านในหนังเรื่องนี้ยังคงเฝ้ารอและพยายามเสาะแสวงหาช่วงเวลาแห่ง ‘ความหอมหวานของชีวิต’ -ดุจเดียวกับที่พวกเขาได้สัมผัสจากการลิ้มรส ‘น้ำผึ้ง’ สดๆ ในไร่ และการรวมญาติอันไม่คาดฝันกลางวง ‘พาข้าวแลง’ ที่บ้านของลุงบุญมี ซึ่งเกิดขึ้นแบบนานทีปีหน- จากการอาศัยในประเทศนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน


1

ลุงบุญมี (รับบทโดย ธนภัทร สายเสมา) กำลังป่วยหนักด้วยโรคไตเรื้อรัง และรู้ตัวดีว่าคงมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ลุงจึงเดินทางกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านกลางไร่มะขามและฟาร์มผึ้งในภาคอีสาน พร้อมด้วย ป้าเจน (เจนจิรา พงพัศ) และ โต้ง (ศักดิ์ดา แก้วบัวดี) ผู้เป็นน้องสะใภ้และหลานชายที่ติดสอยห้อยตามมาจากเมืองหลวง

บนโต๊ะอาหารริมระเบียงที่ถูกห้อมล้อมด้วยผืนไร่อันแสนมืดมิดของบ้านหลังนั้น พวกเขาสามคนได้พบกับสมาชิกครอบครัวที่เคยพลัดพรากและตายจากไป ทั้งภรรยาเก่าของลุงบุญมี/พี่สาวของป้าเจนที่เสียชีวิตไปเมื่อ 19 ปีก่อน ซึ่งมาปรากฏกายในรูปของวิญญาณโปร่งแสง และลูกชายของลุงที่เคยหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยในอีกไม่กี่ปีถัดจากนั้น ซึ่งบัดนี้ได้กลายร่างเป็น ‘ลิงผี’ -ผู้มีขนยาวเฟื้อยดกดำและดวงตาแดงก่ำ- ไปแล้วเรียบร้อย — ทั้งหมดจึงนั่งลงสนทนาปราศรัย แลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตแต่หนหลัง เปิดดูอัลบั้มรูปภาพเก่าๆ และถ่ายเททุกข์-สุขร่วมกันอย่างอ้อยอิ่งเนิ่นนานกลางวงอาหารนั้นเอง

ในวัฒนธรรมการกินอยู่ของคนไทย การล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกันถือเป็นกิจวัตรประจำวันที่ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะการล้อมวงกินข้าวในช่วงเวลาเย็นย่ำ-ที่ผู้คนแถบอีสานเรียกกันว่า ‘พาข้าวแลง’ หรือ ‘พาแลง’ (คำว่า ‘พาข้าว/พา’ หมายถึง สำรับกับข้าว ส่วน ‘แลง’ หมายถึง เวลาเย็น) ซึ่งในความหมายที่เป็นทางการขึ้นมาอีกหน่อย พาข้าวแลงคืออาหารเย็นมื้อพิเศษในงานมงคลทั้งหลายที่เชื่อมประสานผู้คนต่างบ้านต่างถิ่นเข้าด้วยกัน ดังนั้น การล้อมวงกินข้าว-ไม่ว่าจะในแง่ใด-จึงมักมีความหมายในเชิงบวกเสมอมา — ช่วงเวลา ‘พาข้าวแลง’ ในค่ำคืนนั้นของลุงบุญมีและครอบครัว จึงเป็นเสมือนช่วงเวลาแห่ง ‘ความหอมหวาน’ ที่ต่างคนต่างส่งมอบความสุขใจให้แก่กันในท่ามกลางวิถีชีวิตรายวันอันยากลำบากของพวกเขา …แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม

ความสุขชั่วยามนี้เกิดขึ้นอีกครั้งที่ไร่มะขามในวันถัดมา เมื่อลุงบุญมียกรังผึ้งออกมาจากกล่องแล้วยื่น ‘น้ำผึ้ง’ ที่เก็บไว้ขายให้ป้าเจนได้ลองชิมแบบสดๆ พร้อมเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า มันเป็นการผสมผสานกันระหว่าง ‘น้ำต้อย’ (น้ำหวานตามธรรมชาติจากพืช) จากเกสรดอกข้าวโพดกับเกสรดอกมะขามภายในไร่ของตน รสชาติน้ำผึ้งที่ได้จึงทั้ง ‘หวาน’ และ ‘ส้ม’ (ส้ม ในภาษาอีสานแปลว่า เปรี้ยว) แถมยังมีเนื้อสัมผัสที่เหนียวหนึบหนับน่ารับประทาน จนป้าเจนถึงกับเอ่ยชมออกมาเป็นภาษาถิ่นว่า “ย่างมาเมื่อยๆ แล้วกินนี่ปานขึ้นสวรรค์” เลยทีเดียว

อาจเป็นเพราะความผูกพันที่มีต่อความทรงจำวัยเยาว์และประวัติศาสตร์ส่วนตัวในจังหวัดขอนแก่น ประกอบกับความหลงใหลในการเดินทางข้ามพรมแดนตลอดเส้นแม่น้ำโขง อภิชาติพงศ์จึงมักถ่ายทอด ‘ภาพชีวิตธรรมดาสามัญ’ ของชาวบ้านที่ทั้งเรียบเฉย สุขสม และหม่นเศร้า ท่ามกลางทัศนียภาพเฉพาะตัวของจังหวัดภาคอีสาน-อย่างขอนแก่นหรือหนองคาย-ในผลงานหนังหลายเรื่องเสมอมา ไม่ว่าจะเป็น ‘สัตว์ประหลาด!’ (Tropical Malady), ‘แสงศตวรรษ’ (Syndromes and a Century) หรือ ‘รักที่ขอนแก่น’ (Cemetery of Splendour) — เช่นเดียวกับในหนังปาล์มทองเรื่องนี้ ที่ช่วงเวลาแสนสุขในชีวิตประจำวันของชาวบ้านไม่ได้มีอยู่แค่ในฉากพาข้าวแลงและฉากชิมน้ำผึ้ง หากแต่ยังถูกฉายชัดออกมาในอีกหลายฉาก ทั้งการพูดคุยเล่นหัวกันของคนในบ้าน, การหยอกล้อระหว่างนายจ้างกับคนงานข้ามชาติ, การเดินเล่น-นอนแคร่คุยกันในไร่อันเงียบสงบ และการเด็ดมะขามสดๆ จากต้นมาป้อนสุนัขในวันที่มีแสงแดดเจิดจ้า

เหล่านี้คืออารมณ์ขันและความเรียบง่ายอันงดงามตามวิถีชาวบ้านที่ดูจะ ‘หอมหวาน’ ไม่ต่างไปจากรสชาติของ ‘น้ำผึ้ง’ ที่ลุงบุญมีและป้าเจนได้ลิ้มลองร่วมกันเลย


2

บนเวทีประกาศรางวัลที่เมืองคานส์ปี 2010 อภิชาติพงศ์ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ขณะรับปาล์มทองว่า “ผมขอขอบคุณผีและวิญญาณทั้งหลายในเมืองไทยที่ทำให้ผมมายืนอยู่ตรงนี้” ซึ่งก็สะท้อนชัดว่า เขาสร้าง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ และหนังหลายเรื่องก่อนหน้าจากความสนใจอันแรงกล้าที่เจ้าตัวมีต่อ ‘เรื่องเล่าตามความเชื่อทางศาสนา’ โดยเฉพาะเรื่องภูตผีวิญญาณ ดังจะเห็นได้จากการที่เขารับเอาแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากหนังสือ ‘คนระลึกชาติได้’ ของ พระศรีปริยัติเวที แห่งวัดป่าแสงอรุณ จ.ขอนแก่น ซึ่งถูกแปลงมาเป็นเรื่องราวการระลึกชาติของลุงบุญมี รวมถึงการสร้างตัวละคร ‘วิญญาณภรรยาเก่า’ ผู้กลับมาจากความตาย และ ‘ลูกชายในร่างลิงผี’ ผู้กลายสภาพจากคนเป็นสัตว์ ที่กลับมาเยี่ยมเยือนลุงกันอย่างพร้อมหน้าในวงพาข้าวแลง

และเรื่องเล่าของอภิชาติพงศ์ที่เกาะเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาเหล่านี้ ก็ดูจะสอดคล้องกับการเลือก ‘น้ำผึ้ง’ มาใช้เป็น ‘เครื่องมือเล่าเรื่อง’ ในหนังของเขา-ไม่ว่าเจ้าตัวจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เพราะไม่เพียงน้ำผึ้งจะเป็น ‘อาหารให้ความหวาน’ ตามธรรมชาติที่ตกทอดมาจากโลกยุคเก่าเท่านั้น (ก่อนที่น้ำตาล-สารให้ความหวานที่มักสกัดจากอ้อย-จะกลายมาเป็นที่นิยมมากกว่า) แต่มันยังเป็น ‘สัญลักษณ์’ ที่พัวพันกับ ‘ศาสนา’ มานมนานอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในเทพนิยายกรีก น้ำผึ้งคือ ‘อาหารทิพย์’ ที่นำพาความเป็นอมตะมาสู่เหล่าทวยเทพ, ในศาสนาฮินดู น้ำผึ้งคือ 1 ใน 5 อาหารบูชาเทพที่เรียกว่า ‘ปัญจามฤต’ ซึ่งช่วยประสาทพรให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดี และในศาสนาพุทธ น้ำผึ้งคือ ‘ทิพยโอสถ’ ของพระพุทธเจ้าที่สามารถต่อชีวิตพุทธศาสนิกชนให้ยืนยาวได้ — นอกจากนี้ น้ำผึ้งยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์โดยทั่วไปของ ‘ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง’ หรือแม้แต่ ‘รักแท้อันหวานหยด’ ซึ่งก็สะท้อนชัดอยู่ในคำเรียกธรรมเนียม ‘การเดินทางไปเฉลิมฉลองชีวิตรักของคู่แต่งงานใหม่’ ว่า ‘การดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์’ (Honeymoon) นั่นเอง

ไม่เพียงน้ำผึ้งจะเป็น ‘อาหารให้ความหวาน’ ตามธรรมชาติที่ตกทอดมาจากโลกยุคเก่าเท่านั้น แต่มันยังเป็น ‘สัญลักษณ์’ ที่พัวพันกับ ‘ศาสนา’ มานมนานอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ‘น้ำผึ้งรสหวานอมส้ม’ ที่ป้าเจนเปรยว่าอร่อยเหาะ ‘ปานขึ้นสวรรค์’ ใน ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ จึงอาจสื่อความได้ถึงช่วงเวลาแห่ง ‘ความสุข’ อันแสน ‘บริสุทธิ์’ ในวิถีชีวิตของชาวบ้านที่สามารถช่วย ‘เยียวยา’ ซึ่งกันและกันได้ — ช่วงเวลาที่ทำให้ผู้คนตัวเล็กๆ ในสังคมอย่างลุงบุญมี ป้าเจน โต้ง หรือแม้แต่คนงานข้ามชาติในไร่มะขาม กลับมารู้สึกกระชุ่มกระชวยและมีเรี่ยวแรงที่จะไขว่คว้า ‘อนาคตที่ดีกว่า’ ต่อไป

…ก่อนที่รสชาติของความ ‘ขมขื่น’ จะหวนกลับมาอีกครา เมื่อทุกคนได้ตระหนักถึงความจริงที่ว่าอนาคตที่ดีกว่านั้น เป็นเพียงแค่ภาพฝันอันเหลวไหลและเลื่อนลอยสำหรับพวกเขา – ประชาชนที่ถูกชนชั้นปกครองแบ่งแยกด้วย ‘คำนิยาม’ ต่างๆ มานานเกินไป


3

ภาพจากโครงการ Primitive จาก kickthemachine

พ้นไปจากเรื่องเล่าตามความเชื่อทางศาสนา อภิชาติพงศ์ก็ยังก่อร่างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาจากความสนใจที่เขามีต่อเรื่องเล่าของ ‘คอมมิวนิสต์’ ในอดีตอีกด้วย

‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ถูกต่อยอดมาจากโครงการศิลปะชุด ‘ดึกดำบรรพ์’ (Primitive) อันมีที่มาจากการที่เขาเดินทางไปพูดคุยกับชาวบ้านนาบัว อ.เรณูนคร จ.นครพนม ผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่รัฐออกมาเปิดศึกกับประชาชน-ที่มีแนวคิดแหกคอกจนถูกแปะป้ายว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ ของชาติ-อย่างดุเดือด นับจาก ‘วันเสียงปืนแตก’ ที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เปิดฉากโจมตีกองกำลังของรัฐบาลในหมู่บ้านแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2508 ก่อนที่ความขัดแย้งดังกล่าวจะลากยาวมาอีกกว่าสองทศวรรษ โดยอภิชาติพงศ์ต้องการฉายภาพสะท้อนถึงช่วงเวลาที่ภาครัฐพยายามต่อต้านและปราบปรามคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก ทั้งจากการจัดฉายภาพยนตร์ชวนเชื่อเพื่อให้ชาวบ้านเกลียดกลัว ไปจนถึงการใช้กำลังทหารเข้าห้ำหั่นกลางป่าเขา – ซึ่งทั้งหมดนั้น คือหลักฐาน ‘ความเลวร้ายของชนชั้นปกครอง’ ที่อภิชาติพงศ์ไม่ต้องการให้คนไทยในปัจจุบันหลงลืมไป

ความสนใจนี้ของอภิชาติพงศ์ยังเข้ากันได้ดีกับตัวละครภูติผีและการระลึกชาติของลุงบุญมีในหนัง เมื่อผู้ชมบางคนออกมาตีความกลุ่มตัวละคร ‘ลิงผี’ ว่าอาจเป็นภาพแทนของ ‘คนชายขอบ’ อย่างพรรคคอมมิวนิสต์-ผู้เป็นเหมือนคนนอกวงสังคมกระแสหลักที่ดูแปลกประหลาดและน่าหวาดกลัวไม่ต่างกัน ซึ่งการกลายร่างเป็นลิงผี-หลังสมสู่กับลิงผีอีกตนในป่า-ของลูกชายลุงบุญมี ก็อาจแทนค่าได้กับการที่คนหนุ่มสาวในยุคนั้นพากันหลบหนีเข้าป่าไปในฐานะของคอมมิวนิสต์ที่ถูกรัฐไล่ล่า ขณะที่ตัวละครลุงบุญมีเองก็ถูกอภิชาติพงศ์เขียนบทขึ้นมาให้มีความเชื่อว่า อาการป่วยไข้อันทุกข์ทรมานที่ช่องท้องของเขานั้น เป็นผลมาจาก ‘กรรมเก่า’ ในอดีตที่เขาเคยร่วมมือกับรัฐบาลสังหารสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไปเป็นจำนวนมาก 

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ความพยายามในการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ของรัฐได้เบาบางลงไป ประเทศไทยก็เดินหน้าเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางสังคมและเศรษฐกิจ เมื่อกระแสทุนนิยมจากโลกตะวันตกได้ถาโถมเข้ามาครอบงำวิถีชีวิตของผู้คนในวงกว้าง ภาคอุตสาหกรรมเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญเหนือภาคเกษตรกรรม ซึ่งทำให้คนต่างจังหวัดจำนวนมากเริ่มโยกย้ายเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง นิยามของสังคม ‘ชนบท’ กับสังคม ‘เมือง’ จึงค่อยๆ ถูก ‘ความเจริญ’ ถ่างให้ห่างออกจากกัน สังคมเมืองกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญเพียงหนึ่งเดียวของประเทศที่ผู้คนต่างกรูกันเข้ามาแก่งแย่งช่วงชิงทรัพยากร แตกต่างจากสังคมชนบทที่กลับถูกผู้คนทิ้งร้างและกลายมาเป็นภาพแทนของความ ‘ล้าสมัย’ ไปเสียฉิบ และมันก็คงอยู่เช่นนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน — ซึ่งกลางวงพาข้าวแลงในหนัง ลุงบุญมีก็ยังบ่นระบายออกมาว่า กรุงเทพฯ ที่ป้าเจนกับโต้งเลือกอาศัยอยู่นั้น ดูจะเป็น ‘มหานรก’ มากกว่าที่จะเป็น ‘มหานคร’ ตามชื่อเรียกของมันไปเสียแล้ว และนั่นก็อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ลุงปฏิเสธการใช้ชีวิตอันบีบคั้นร่วมกับคนแปลกหน้าในเมืองหลวง แล้วหันมาทำไร่มะขามและฟาร์มผึ้งร่วมกับคนงานที่เป็นเหมือนครอบครัวในต่างจังหวัดแทน

นิยามของสังคม ‘ชนบท’ กับสังคม ‘เมือง’ จึงค่อยๆ ถูก ‘ความเจริญ’ ถ่างให้ห่างออกจากกัน สังคมเมืองกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญเพียงหนึ่งเดียวของประเทศที่ผู้คนต่างกรูกันเข้ามาแก่งแย่งช่วงชิงทรัพยากร แตกต่างจากสังคมชนบทที่กลับถูกผู้คนทิ้งร้างและกลายมาเป็นภาพแทนของความ ‘ล้าสมัย’ ไปเสียฉิบ

และก็ยังเป็นความถ่างห่างระหว่างเมืองกับชนบท-ซึ่งกินเวลามาหลายทศวรรษ-นี่เอง ที่ทำให้ตัวละครชาวบ้านอย่างลุงบุญมีและครอบครัวต้องมีชีวิตที่ ‘ไร้ตัวตน’ หรือกระทั่ง ‘น่ารังเกียจ’ ในสายตาของสังคมคนเมืองหลวงกระแสหลัก — ไม่ต่างจาก ‘วิญญาณ’ หรือ ‘ลิงผี’ ที่พวกเขาเองก็เคยตกใจกลัวเมื่อได้เห็นในแวบแรกกลางวงพาข้าวแลงเลย


4

ย้อนกลับไปในช่วงวัยเยาว์ของอภิชาติพงศ์ พื้นถิ่นทุรกันดารอย่าง ‘อีสาน’ ไม่ใช่ภูมิภาคที่ใครๆ ในสมัยนั้นอยากย้ายครอบครัวมาตั้งรกรากหรือแม้แต่รู้สึกภูมิใจที่ได้ใช้ชีวิตอยู่สักเท่าไหร่ เพราะแม้แต่ตัวเขาก็ยังเคย ‘อับอาย’ จนไม่กล้าบอกใคร-ตอนเข้ามาเรียนกวดวิชาภาคสถาปัตย์ที่กรุงเทพฯ-ว่า ตัวเองเป็นเด็กขอนแก่น เนื่องจากกลัวเด็กชาวกรุงหัวเราะเยาะ ก่อนที่ในเวลาต่อมา เขาจะเริ่มตระหนักว่า เรื่องราวและวิถีชีวิตอันแสนธรรมดาของคนอีสานนั้นมีเสน่ห์งดงามมากเพียงใด และเขาก็อยากนำเสนอมันออกมาผ่านศิลปะภาพยนตร์ที่เขาหลงใหล — เหมือนกับที่สุดท้ายแล้ว ‘วิญญาณ’ และ ‘ลิงผี’ -อันเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ผู้คนไม่เคยเข้าใจ- ได้ถูกตัวละครชาวบ้านในวงพาข้าวแลงของอภิชาติพงศ์ต้อนรับขับสู้อย่างอบอุ่นในฐานะสมาชิกธรรมดาๆ คนหนึ่งของครอบครัว

หลังชัยชนะจากเมืองคานส์ แม้ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ จะทำเงินในบ้านเราไปได้มากถึง 1 ล้านบาทจากการเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ในวงจำกัด แต่เมื่ออภิชาติพงศ์เป็นเพียง ‘คนทำหนังอิสระ’ ไม่ใช่นางงามจักรวาลหรือนักกีฬาเหรียญทองที่คนทั่วไปมีโอกาสทำความรู้จักได้ง่ายกว่า เขาจึงไม่ได้ถูกจดจำและรับฟังมากนักในสังคมกระแสหลัก แถมตัวเขาและเพื่อนร่วมวงการก็ยังคงต้องกระเสือกกระสนทำหนังสักเรื่องด้วยตัวเองไม่ต่างไปจากเดิม จนดูเหมือนรางวัลระดับโลกของเขาจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้ประเทศนี้-ที่ชนชั้นปกครองพร่ำบอกเสมอว่า ภาพยนตร์คือ ‘อุตสาหกรรม’-หันมาสนับสนุนคนทำหนังและสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมได้เลย — นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อภิชาติพงศ์ตัดสินใจเลิกทำหนังในเมืองไทยแล้วหันไปผลิตผลงานในต่างแดนแทน (หนังยาวเรื่องใหม่ของเขาที่ชื่อ Memoria ถ่ายทำในประเทศโคลอมเบีย พูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก และใช้บริการนักแสดงที่ชาวโลกรู้จักอย่าง ทิลดา สวินตัน)

และภาวะไร้ตัวตนของรางวัลปาล์มทองนี้ ก็คงไม่ต่างไปจากความพยายามในการถ่ายทอด ‘ชีวิตคนอีสาน’ ผ่านสื่อหนังของเขา ที่มักถูก ‘มองข้าม’ จากผู้ชมส่วนใหญ่ เพราะขณะที่หนังไทยร่วมสมัยมักบอกเล่า ‘ความเป็นอีสาน’ ผ่านตัวละครและเรื่องราวที่ ‘ตลกขบขัน’ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ชมหมู่มากและทำเงินได้ง่ายขึ้น ทว่าอภิชาติพงศ์กลับเลือกเล่าถึงชีวิตคนอีสานเหล่านั้นด้วยท่าทีที่แสนธรรมดา เนิบช้า หรือแม้แต่น่าพิศวง ซึ่งปราศจากเทคนิคการเร้าอารมณ์ตามสูตรสำเร็จของหนังไทย อีกทั้งยังพยายามสอดแทรก ‘สาร’ ที่ผู้ชมทั่วไปไม่เคยได้เห็น-ไม่อยากเห็น หรือที่คนทำหนังส่วนใหญ่ไม่กล้านำเสนอบนจอหนังไทย โดยเฉพาะประเด็นเปราะบางชวนดราม่าที่ไม่น่าแตะต้องอย่างเรื่องเพศ การเมือง ศาสนา หรือแม้แต่สถาบัน

ขณะที่หนังไทยร่วมสมัยมักบอกเล่า ‘ความเป็นอีสาน’ ผ่านตัวละครและเรื่องราวที่ ‘ตลกขบขัน’ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ชมหมู่มากและทำเงินได้ง่ายขึ้น ทว่าอภิชาติพงศ์กลับเลือกเล่าถึงชีวิตคนอีสานเหล่านั้นด้วยท่าทีที่แสนธรรมดา เนิบช้า หรือแม้แต่น่าพิศวง

การนำเสนอภาพชีวิตคนอีสานด้วยท่าทีที่หลายคนมองว่า ‘ยืดยาด’ และ ‘ย่อยยาก’ เช่นนี้ ทำให้หนังของเขาไม่ค่อยเป็นที่ต้อนรับมากนักในหมู่ผู้ชมชาวไทยส่วนใหญ่ เนื่องด้วย ‘ภาพยนตร์’ ยังคงเป็นสื่อบันเทิงที่ถูกครอบงำโดยแนวคิด/รสนิยมกระแสหลักแบบคนเมืองหลวง เรื่องเล่าหรือตัวละครที่ผิดแปลกไปจากขนบอันคุ้นเคยจึงมักถูกกีดกันออกไปอยู่เสมอ ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องน่าขมขื่นสำหรับบรรดา ‘คนชายขอบ’ ในสังคมไทย -ไม่ว่าจะเป็นคนทำหนังอิสระอย่างอภิชาติพงศ์หรือประชาชนคนอีสานอย่างลุงบุญมี- ที่อยู่ยั้งยืนยงมานานจนดูจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่พวกเขาไม่สามารถหนีพ้นไปได้เสียแล้ว

บางที ‘ความหอมหวานของชีวิต’ ตามวิถีทางของคนชายขอบนั้น อาจเป็นเพียงช่วงเวลาแห่งความสุขจอมปลอมที่ ‘ผู้มีอำนาจมากกว่า’ ในสังคม ‘อนุญาต’ ให้พวกเขาลิ้มรสได้แค่ชั่วครู่ชั่วยาม ก่อนที่จะถูกไล่ให้กรูกลับเข้าไปอยู่ในรูรังของตนอย่างเจียมตัวอีกครั้ง

หรือบางที ‘น้ำผึ้ง’ ที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขาอาจไม่เคยมี ‘ที่ทาง’ ปรากฏอยู่จริงในวงพาข้าวแลงหรือวงไหนๆ ของสังคมไทยกระแสหลักมาตั้งแต่แรกแล้วก็เป็นได้

ธีพิสิฐ มหานีรานนท์
นักเขียนอิสระ, อดีตบรรณาธิการนิตยสารหนัง BIOSCOPE, นักแสดง GAY OK BANGKOK และแฟนซีรีส์วาย

RELATED ARTICLES