มองภาษาหนังร่วมสมัย ผ่านแนวคิดภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง

เมื่อพูดถึงหนัง 4 เรื่อง 4 สัญชาติ ได้แก่ ฉลาดเกมส์โกง (ไทย) Parasite (เกาหลี) Joker (อเมริกัน) และ Better Days (จีน) สิ่งที่เหมือนกันอย่างน่าสนใจคือ ต่างเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงวิจารณ์ในประเทศตัวเอง ขณะเดียวกันก็ได้รับการตอบรับจากผู้ชมต่างชาติด้วย โดย “ฉลาดเกมส์โกง” ทำรายได้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 113 ล้านบาท และทำรายได้จากการฉายนอกประเทศรวมกันถึง 44.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1,380 ล้านบาท)1https://www.boxofficemojo.com/title/tt6788942/ ขณะที่ Parasite ทำรายได้ในเกาหลีใต้ 53 ล้านเหรียญ และทำรายได้ทั่วโลก 204 ล้านเหรียญ2https://www.boxofficemojo.com/title/tt6751668 ส่วน Joker ทำรายได้ในอเมริกากว่า 335 ล้านเหรียญ ทั่วโลกอีก 738 ล้านเหรียญ3https://www.boxofficemojo.com/title/tt7286456 และ Better Days ทำรายได้จากการฉายในจีน 222 ล้านเหรียญ ทั่วโลกอีกว่า 3.2 ล้านเหรียญ4https://www.boxofficemojo.com/title/tt9586294/

ที่เกริ่นมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนจะวิเคราะห์ความสำเร็จของหนังทั้ง 4 เรื่อง เพราะผู้อ่านคงได้อ่านบทวิเคราะห์ดีๆ ของนักวิเคราะห์หนังเก่งๆ มาบ้างแล้ว แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในบทความนี้คือ การค้นหาว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดกระบวนการในการนำเสนอหนังทั้ง 4 เรื่องขึ้น

โดยในการวิเคราะห์ประเด็นนี้ ผู้เขียนขอนำ แนวคิดทางด้านภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง ของ แฟร์ดินองด์ เดอโซซูร์ นักภาษาศาสตร์ต้นศตวรรษที่ 20 ที่ต่อมาได้ถูกต่อยอดจนกลายเป็นทฤษฎีโครงสร้างนิยมและสัญญะวิทยา มาใช้เป็นแนวทางในการค้นหาคำตอบ

Joker

เดอโซซูร์กล่าวว่า ระดับภาษาแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) ภาษา (Langue) ซึ่งหมายถึงโครงสร้างเบื้องต้นของภาษา เช่นไวยากรณ์ ระบบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของภาษา และ 2) การพูด หรือการใช้ภาษา (parole) ซึ่งก็คือการถ่ายทอดภาษาออกมาเป็นคำพูด หรือเขียน โดยคำพูดเหล่านั้นต้องยึดโยงกับโครงสร้างภาษาเป็นสำคัญ5สภางค์ จันทวานิช. ทฤษฎีสังคมวิทยา น. 146-148 หมายความว่าคำจะมีความหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่ว่าความหมายของคำนั้นอยู่ในโครงสร้างของภาษาหรือไม่

สำหรับหนัง หากพิจารณาตามแนวคิดของโซซูร์ ภาษาหรือ Langue ของหนัง หมายถึง ไวยากรณ์และภาษาเบื้องต้นของหนัง เช่น ระยะภาพแต่ละระยะจะมีความหมายแตกต่างกันไป ส่วนการพูดหรือการใช้ภาษา (parole) ก็คือการผลิตหนังเรื่องหนึ่งออกมาโดยการใช้ภาษาและไวยากรณ์ของหนัง

คำถามที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ต่อไปก็คือ หาก parole หรือการใช้ภาษา คือตัวหนังที่ถูกผลิตออกมา แล้วโครงสร้างทางด้านภาษา (langue) ของหนังทั้ง 4 เรื่องข้างต้นมีลักษณะอย่างไร

ฉลาดเกมส์โกง

เริ่มแรกเราต้องมาวิเคราะห์กันก่อนว่า องค์ประกอบสำคัญของหนังทั้ง 4 เรื่องนั้นมีอะไรบ้าง

– “ฉลาดเกมส์โกง” เป็นเรื่องราวของเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ถูกระบบการศึกษาอันมีช่องโหว่ผลักดันให้ดินเข้าสู่ด้านมืดด้วยการโกง องค์ประกอบสำคัญในหนังเรื่องนี้ได้ แก่ ตัวละครสีเทาไม่ดีจัดเลวจัด เทคนิคทางด้านภาพที่หวือหวา เนื้อหาสะท้อนปัญหาสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำและความหวังต่อความสำเร็จ

– Parasite เป็นเรื่องราวของครอบครัวชนชั้นล่างที่มีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตในบ้านของครอบครัวชนชั้นสูงจนนำมาสู่ปัญหามากมาย องค์ประกอบสำคัญในหนังได้แก่ ตัวละครสีเทา เทคนิคการสร้างที่หวือหวา การเล่าเรื่องที่ยากแก่การคาดเดา และนำเสนอประเด็นทางสังคมโดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ

– Joker เล่าเรื่องของนักแสดงตลกที่ถูกสังคมกดดันจนต้องหาทางออกด้วยความรุนแรง องค์ประกอบสำคัญได้ แก่ ตัวละครสีเทาค่อนไปทางด้านมืด มีสถานะทางสังคมระดับต่ำ เนื้อหาสะท้อนความเหลื่อมล้ำ

– Better Days นำเสนอเรื่องราวของตัวละครหนุ่มสาวที่ถูกผลักดันให้ออกนอกขอบสังคม จนพวกเขาต้องอาทรกันเองและปกป้องกันเอง องค์ประกอบสำคัญได้แก่ ตัวละครสีเทา ปัญหาสังคมเรื่องความเหลื่อมล้ำ ระบบการศึกษาที่มีปัญหา

Parasite

หากพิจารณาจากองค์ประกอบสำคัญที่ปรากฏจะพบว่า องค์ประกอบร่วมที่ทุกเรื่องมีเหมือนกันคือ 1) ตัวละครที่มีสีเทา ไม่ได้มีชีวิตดีงาม หรือมืดสุดโต่ง 2) การสะท้อนปัญหาสังคม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ และ 3) การใช้เทคนิคทางด้านภาพที่หวือหวา เช่น การเคลื่อนกล้องและการตัดต่อ เราจึงอาจสรุปได้ว่า โครงสร้างทางด้านภาษา (langue) ของหนังทั้ง 4 นอกจากไวยากรณ์ทางด้านภาษาภาพยนตร์โดยทั่วไปแล้ว ก็ยังรวมถึง องค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้นด้วย

คำถามต่อมาก็คือ อะไรคือตัวแปรที่ทำให้ไวยากรณ์ใหม่ของภาษาภาพยนตร์เกิดขึ้น ในการแสวงหาคำตอบของคำถามดังกล่าว สิ่งที่ควรทำควบคู่กันคือ การศึกษาบริบททางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่หนังทั้ง 4 เรื่องถูกสร้าง และถูกนำออกฉาย

โดยผู้เขียนขอยกเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ 3 เหตุการณ์ได้แก่

1. การเกิดขึ้นของกระแส Occupy Wall Street ในเดือนกันยายนปี 2011 เมื่อคนหนุ่มสาวกว่าหนึ่งพันคนเดินประท้วงไปตามสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ด้านความมั่งคั่งทางการเงินทั่วนิวยอร์ก โดยเฉพาะตลาดหุ้นวอลล์สตรีต การเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้นในอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มคนรวยที่มีสัดส่วนน้อยที่สุดในประเทศ แต่กลับเข้าถึงทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศ การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการกระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก6https://www.seattletimes.com/life/a-look-back-at-10-of-the-biggest-social-movements-of-the-2010s-and-how-they-shaped-seattle/

2. การเกิดขึ้นของฝ่ายประชานิยมใหม่ (new populism) เริ่มต้นในปี 2015 หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยชูนโนบาย “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ซึ่งทำให้กระแสความนิยมต่อตัวเขาในหมู่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาได้รับชัยชนะกลายเป็นประธานาธิบดีคนล่าสุด และแผ้วถางทางให้นักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมหลายคนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ฌาอีร์ โบลโซนารู ผู้นำบราซิล หรือ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เป็นต้น

ชัยชนะของฝ่ายประชานิยมใหม่ได้สร้างความขัดแย้งในภาคประชาชนระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหัวเก่า และฝ่ายเสรีนิยมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ จนเกิดการปะทะกันทางความคิดและทางกายภาพหลายครั้ง7https://www.seattletimes.com/life/a-look-back-at-10-of-the-biggest-social-movements-of-the-2010s-and-how-they-shaped-seattle/

Better Days

3. กระแสเรียกร้อง “โลกที่ดีกว่า” ของคนรุ่นใหม่ บุคคลที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวดังกล่าวคือ เกรตา ธันเบิร์ก เด็กสาววัย 16 ปีจากประเทศสวีเดนที่เรียกร้องให้ผู้นำของโลกตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนในปี 2018 การเรียกร้องด้วยท่าทีจริงจังและตรงประเด็นของธันเบิร์ก ได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะเยาวชนทั่วโลกลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในการมีอนาคตที่ดีกว่าและปลอดภัย จนทำให้ธันเบิร์กได้รับเลือกจากนิตยสาร Time ให้เป็นบุคคลแห่งปี (Person of the year) ในปี 20198https://www.seattletimes.com/life/a-look-back-at-10-of-the-biggest-social-movements-of-the-2010s-and-how-they-shaped-seattle/

หากพิจารณาจากบริบทข้างต้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเคลื่อนไหวทางสังคมดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความคิดของทั้งผู้สร้างหนังและคนดูในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชากรของโลก

สำหรับผู้ผลิตหนัง ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ผลักดันให้พวกเขาเลือกประเด็นที่คนส่วนใหญ่กำลังรู้สึกมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือความไม่มั่นคงในอนาคต ส่วนผู้ชมนั้นเมื่อพบว่าเนื้อหาของหนังนำเสนอสิ่งที่ตนมีความรู้สึกร่วม ก็ตอบสนองด้วยการซื้อตั๋วเข้าไปชม และส่งความรู้สึกต่อหนังเรื่องนั้นไปสู่คนอื่นๆ ที่มีแนวคิดและรสนิยมแบบเดียวกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ปฏิกิริยาที่มีต่อปรากฏการณ์ทางสังคมของทั้งผู้ผลิตและผู้ชมมีส่วนสำคัญไม่น้อยต่อการกำหนดไวยากรณ์ใหม่ของภาษาภาพยนตร์ ยิ่งหนังที่ใช้ไวยากรณ์เดียวกันประสบความสำเร็จมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้โครงสร้างของภาษาภาพยนตร์ใหม่มีความแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น

โซซูร์เคยกล่าวว่า “ภาษา” มีความลื่นไหลและดิ้นได้ตามช่วงเวลา9สภางค์ จันทวานิช. ทฤษฎีสังคมวิทยา น. 146-148 ภาษาภาพยนตร์ก็เช่นกัน แม้จะมีไวยากรณ์ชุดหนึ่งที่มีความคงที่ เช่น การใช้มุมกล้องหรือระยะภาพ แต่ก็จะมีไวยากรณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมอยู่เสมอ ดังนั้นผู้ผลิตหนังจึงควรหมั่นติดตามความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพราะการสร้างหนังด้วยไวยากรณ์ถูกต้อง อาจส่งผลต่อความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงชื่นชมเมื่อออกฉาย

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES