Parasite / It’s Okay to Not Be Okay : เมื่อ ‘อาหารเส้น’ คือภาพแทนของประวัติศาสตร์ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในเกาหลีใต้

หลังจากที่หนังดราม่าตลกร้ายอย่าง Parasite (2019) ของเกาหลีใต้สามารถคว้ารางวัลใหญ่บนเวทีประกวดภาพยนตร์ระดับสากลมาได้ ทั้งปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และออสการ์หนังยอดเยี่ยมจากแวดวงฮอลลีวูด ‘สื่อบันเทิง’ ของประเทศนี้ก็ดูจะรักษามาตรฐานความนิยมจากผู้ชมทั่วโลกเอาไว้อย่างแน่นเหนียว ซึ่งก็รวมถึงซีรีส์น้ำดีอีกหลายเรื่องที่ยังคงได้รับคำชมตอบกลับมา โดยตัวอย่างล่าสุดเห็นจะเป็น It’s Okay to Not Be Okay (2020) ที่สามารถผสมผสานความบันเทิง ประเด็นถกเถียง และความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของที่นั่นเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างกลมกล่อมลงตัว

และก็ยิ่งน่าสนใจเมื่อหนึ่งในวัฒนธรรมที่หนัง/ซีรีส์ทั้งสองเรื่องนี้เลือกหยิบมาใช้ใน ‘การเล่าเรื่อง’ เหมือนกัน ก็คือเมนู ‘อาหารเส้น’ อย่าง ‘จาปากูรี’ และ ‘จัมปง’ ซึ่งพวกมันไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียง ‘อาหารที่ตัวละครกิน’ เพื่อบ่งบอกถึงรสนิยมหรือวิถีชีวิตเท่านั้น หากแต่มันยังสามารถสะท้อนถึงปัญหาและความเป็นไปของ ‘สังคมเกาหลีใต้’ ได้ในหลากหลายมิติอีกด้วย

โดยเฉพาะ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ระหว่างชนชั้นที่สร้าง ‘บาดแผล’ ให้ผู้คนในชาติมาอย่างยาวนาน – ซึ่งปรากฏชัดอยู่ในสื่อบันเทิงของบ้านเขาเสมอมา

1

ใน Parasite อันเป็นหนังเอเชีย/เกาหลีใต้เรื่องแรกที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขา ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ มาครองได้นั้น ผู้กำกับอย่าง บงจุนโฮ เล่าถึงครอบครัว ‘คนจน’ หัวหมอที่แฝงตัวเข้ามารับใช้และกอบโกยผลประโยชน์จากครอบครัว ‘คนรวย’ ในกรุงโซล ด้วยการสวมรอยเป็นทั้งติวเตอร์จบนอก (ลูกชาย-ลูกสาว), คนขับรถรุ่นเก๋า (พ่อ) และแม่บ้านฝีมือดี (แม่) ก่อนที่ในคืนฝนตกหนักคืนหนึ่ง แผนการเสพสุขภายในบ้านคนรวยของพวกเขาจะเริ่มสั่นคลอน เมื่อครอบครัวเจ้าของบ้าน-ที่ตั้งใจว่าจะไปแคมปิ้งค้างคืนแต่ดันต้องล้มเลิกเมื่อเจอฝนห่าใหญ่-เดินทางกลับมากลางคันในระหว่างที่ครอบครัวคนจนกำลังยึดบ้านทั้งหลังเพื่อจัดปาร์ตี้ฉลองชัยชนะกันอย่างเมามาย จนพวกเขาต้องตาลีตาเหลือกช่วยกันเก็บกวาดและแยกย้ายไปซ่อนตัวให้เร็วที่สุด – ราวกับเป็นฝูง ‘แมลงสาบ’ ที่แอบมาขโมยกินเศษอาหารในบ้านหลังงามแห่งนี้ก็ไม่ปาน

“คุณป้าทำ ‘จาปากูรี’ เป็นไหม […] ต้มน้ำเดี๋ยวนี้ก็น่าจะทันพอดี เอาเนื้อฮันอูในตู้เย็นใส่ไปด้วยนะ”

หลังได้ยินชื่อเมนูแสนประหลาดนี้จากปากของ ‘คุณนาย’ แห่งครอบครัวคนรวยอย่าง พัคยอนคโย (รับบทโดย โจยอจอง) ผ่านสายโทรศัพท์ คิมชุงซุก (จังฮเยจิน) แม่ของครอบครัวคนจน-ที่ตอนนี้กำลังสวมบทเป็น ‘แม่บ้าน’-ก็เกิดอาการงุนงงสงสัยจนต้องค้นหาคำตอบผ่านโลกออนไลน์ และกุลีกุจอไปปรุงอาหารที่เธอไม่เคยรู้จักนี้ให้เสร็จภายในเวลาไม่ถึงสิบนาทีก่อนที่เจ้านายจะกลับมาถึง

แม่บ้านกำมะลอรีบเท ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ ธรรมดาๆ สองซองลงในหม้อน้ำเดือด แล้วจึงค่อยนำเนื้อฮันอูมาหั่นเต๋าขนาดพอดีคำ ผัดให้สุกปานกลางในกระทะเทฟลอน และเอาไปคลุกเคล้ากับเส้นบะหมี่สุกที่ผสมเครื่องปรุงขลุกขลิกไว้แล้วจนเข้าเส้น พร้อมเสิร์ฟลงชาม

…แม้ในนาทีสุดระทึกนั้น เธอเองจะยังคงไม่แน่ใจนักว่า ‘จาปากูรีคืออะไร?’ ก็ตาม


2

จาปากูรี (Jjapaguri) คือ ‘รามยอน’ (Ramyeon – หรือ ‘บะหมี่ซุปเผ็ด’ ที่ทุกวันนี้ถูกชาวเกาหลีใช้เรียกรวมๆ แทนคำว่า ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ ไปแล้วเรียบร้อย) ที่ควบรวมบะหมี่ 2 สูตรเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ ‘จาปาเกตตี’ (Jjapaghetti) และ ‘นอกูรี’ (Neoguri) โดยสูตรแรกคือบะหมี่เส้นเรียวที่มาพร้อมกับซอสดำรสหวาน และสูตรหลังคือบะหมี่เส้นหนาที่พ่วงมากับซอสอาหารทะเลรสเผ็ด ซึ่งจาปากูรีเป็นเมนูที่ถือว่า ‘ใหม่’ พอสมควรสำหรับสังคมเกาหลีใต้ เพราะมันเพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในปี 2013 จากเรียลลิตี้น่ารักๆ ที่ชวนคุณพ่อคนดังมาทำอาหารให้ลูกๆ กิน โดยเมนูนี้ก็คือหนึ่งในผลลัพธ์ของรายการที่เคยทำให้ผู้ชมฮือฮาผ่านโลกอินเทอร์เน็ตมาแล้ว ก่อนที่มันจะกลับมาโด่งดังอีกครั้งจาก Parasite นี่เอง (อย่างไรก็ดี มีบางแหล่งข้อมูลอ้างว่า สูตรรามยอนลูกผสมดังกล่าวเป็น ‘เมนูลับ’ ที่เหล่าทหารทำกินกันในค่ายมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 90 แล้ว – หาใช่ของใหม่แต่อย่างใด)

เคยมีคนอธิบายว่า การที่ตัวละครแม่บ้านกำมะลอในหนังไม่รู้จักเมนูนี้-ที่เคยถูกพูดถึงผ่าน ‘สื่อ’ อย่างหนาหูหนาตามาก่อน ช่วยสะท้อนให้เห็นความจริงในสังคมที่ว่า ‘คนชนชั้นล่าง’ เช่นเธอ แทบไม่มีโอกาสได้เข้าถึงสื่อของ ‘คนชนชั้นกลาง/ชนชั้นสูง’ อย่างโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต หรือหากยังมีโอกาสอยู่บ้าง พวกเขาก็คงไม่มีเวลามากพอที่จะมานั่งเสพความบันเทิงจากสื่อเหล่านี้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เพราะต้องเอาเวลาส่วนใหญ่ไป ‘หาเงิน’ เพื่อให้ตัวเองและครอบครัวสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ในแต่ละวัน และสามารถเอื้อมคว้าสถานะทางสังคมที่ดีกว่านี้ต่อไปได้ในอนาคต

“จริงๆ มันเป็นอาหารที่เด็กๆ ชื่นชอบนะ ไม่ว่าพวกเขาจะรวยหรือจน” บงจุนโฮกล่าวถึงจาปากูรีที่ครอบครัวคนรวยมองว่าเป็นเพียง ‘อาหารพื้นๆ’ ที่ใครก็คงรู้จัก “แต่ตัวละครภรรยาคนรวยแค่ทนไม่ได้ที่จะต้องเห็นลูกเธอกินบะหมี่ถูกๆ เธอจึงให้ใส่เนื้อเซอร์ลอยน์ลงไปด้วย” – ซึ่งเนื้อเซอร์ลอยน์ (Sirloin – เนื้อสันนอก) ที่ว่านี้ ก็คือ ‘ฮันอู’ (Hanwoo) ที่เป็นเนื้อวัวเกรดดีเลิศที่มีสีแดงสวยและมีไขมันลายหินอ่อนนุ่มลิ้นแทรกอยู่ ซึ่งแน่นอนว่ามีราคา ‘แพง’ ชนิดที่คนมีเงินมากพอเท่านั้นจึงจะสามารถซื้อหามาบริโภคได้

มันจึงถือเป็นอีกฉากหนึ่งที่น่าเจ็บปวดใจสำหรับผู้ชม เพราะในขณะที่ครอบครัวชนชั้นล่างของแม่บ้านกำลังต่อสู้แย่งชิงเพื่อหา ‘ทางรอด’ ในชีวิตกันอยู่นั้น แต่คนรวยอย่างคุณนายกลับนั่งกินจาปากูรีผสมเนื้อราคาแพง-ซึ่งลูกและสามี ‘เลือก’ ที่จะไม่กินเพราะความเหนื่อยหน่าย-อย่างสบายใจเฉิบโดยไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรทั้งสิ้น

3

เมื่อหันมามองอาหารเส้นอีกชนิดหนึ่งของเกาหลีใต้อย่าง ‘จัมปง’ (Jjamppon) หรือ ‘บะหมี่ซุปทะเลรสเผ็ด’ ในซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay รสชาติในเรื่องเล่าของเมนูดังกล่าวก็ดูจะ ‘จัดจ้าน’ ไม่แพ้กัน เพราะมันถูกผู้กำกับ พัคชินอู นำมาใช้รังสรรค์ความหมายและความรู้สึกอันละเอียดอ่อนลึกซึ้งให้แก่เรื่องราวได้อย่างน่าประทับใจ

หนึ่งในตัวละครเอกของเรื่องอย่าง มุนคังแท (รับบทโดย คิมซูฮยอน) -ผู้ดูแลหนุ่มแห่งโรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์- มีความทรงจำฝังใจที่ไม่ค่อยสู้ดีนักเกี่ยวกับจัมปง เพราะเขาจดจำได้แค่ว่า ในวัยเด็ก แม่ผู้ล่วงลับ (ชอยฮีจิน) มักพาเขากับ มุนซังแท -พี่ชายผู้เป็นออทิสติก- ไปกินเมนูนี้ที่ร้านอาหารจีนตรงทางเข้าตลาดอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากมันเป็นบะหมี่ที่พี่ชายชอบกิน แถมครั้งหนึ่งในระหว่างขากลับที่มีฝนตก แม่ก็ยังเอาแต่กางร่มให้พี่ชายโดยปล่อยให้เขาต้องยืนตากฝนเพียงลำพัง — เหมือนกับทุกครั้งที่เขาต้องยอม ‘เสียสละ’ สิ่งต่างๆ ให้พี่ชายผู้ป่วยไข้เสมอ จนกลายเป็นปมในใจมาถึงตอนโต

และเมื่อเขาตัดสินใจพาพี่ชายออทิสติกในวัยเลขสาม (โอจองเซ) กลับมานั่งกินจัมปงที่ร้านเดิมอีกครั้ง พร้อมด้วย โกมุนยอง (ซอเยจี) -นักเขียนนิทานสาวเจ้าอารมณ์- ที่ก้าวเข้ามาจุดไฟรักและช่วยสร้างสีสันให้ชีวิตอันแสนด้านชาของเขา ก็เป็นช่วงเวลาที่เจ้าตัวเพิ่งตระหนักได้ว่า แท้จริงแล้ว จัมปงไม่ใช่เมนูที่พี่ชายชอบกิน ทว่าเป็นตัวเขาเองต่างหากที่ชื่นชอบมัน และแม่ก็แค่ต้องการทำให้ลูกชายคนเล็กอย่างเขา-ที่คอยปกป้องดูแลพี่ชายมาตลอด-ได้มี ‘ช่วงเวลาแห่งความสุข’ เสียบ้าง เหมือนกับเหตุการณ์ในวันฝนตก ที่เขาเพิ่งจำได้ว่า มันยังมีช่วงเวลาที่แม่กับพี่ชายหันมาเรียกเขาให้เข้าไปอยู่ใต้ร่มคันเดียวกันด้วยความห่วงใย

สิ่งที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นก็คือ แม่เคยทำถึงขนาดนั่งดูลูกๆ กินโดยปราศจากชามจัมปงตรงหน้า ซึ่งถึงแม่จะยืนยันกับเขาว่า ‘ไม่หิว’ แต่นั่นก็คงเป็นเพราะแม่อยากให้ลูกทั้งสองได้กินของอร่อย แม้ตนจะไม่มีเงินมากพอสำหรับซื้อจัมปงให้ทุกคนในครอบครัวก็ตาม — ซึ่งหากมองจากมุมนี้ จัมปงจึงนับเป็นอาหารที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตประจำวันอันยากลำบากของชนชั้นล่าง-ที่คนเป็นพ่อแม่ต้องยอมอดเพื่อให้ลูกได้อิ่ม-อย่างน่าสะเทือนใจ

เราจึงได้เห็นชายหนุ่มคนหนึ่งต้องนั่งน้ำตารื้นต่อหน้าหญิงสาวและพี่ชายที่เขารัก ขณะคีบเส้นจัมปงที่เผ็ดร้อนเข้าปากแล้วนึกย้อนไปถึงความทุกข์แต่หนหลังของ ‘แม่ผู้ขัดสนจากการต้องกระเสือกกระสนเลี้ยงลูกสองคนเพียงลำพัง’ ที่เขาไม่เคยเข้าใจมาก่อน…


4

จัมปงไม่ใช่เมนูอาหารเส้นสัญชาติเกาหลีที่ ‘เพิ่งสร้าง’ อย่างจาปากูรี เพราะมันมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่านั้น และมันก็ยังถือเป็นอาหารสำหรับ ‘คนชนชั้นล่าง’ มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ถือเป็นยุคสมัยที่คนจีนอพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในจักรวรรดิเกาหลี (ก่อนหน้าที่จะแบ่งแยกดินแดนออกจากกันเป็นฝั่งเหนือกับฝั่งใต้ในปี 1948) เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเมืองท่าอย่างอินชอน ซึ่งเชฟชาวจีนได้นำเอาสูตร ‘บะหมี่ซุปเผ็ด’ มาเผยแพร่เพื่อให้ชาวบ้านหรือนักศึกษาที่ ‘ยากจน’ ได้รับประทานกันทั่วไป โดยเป็นการนำเอา ‘บะหมี่เหลือง’ มาปรุงรวมกับเนื้อสัตว์อย่าง ‘หมู’ หรือ ‘สัตว์ทะเล’ ที่หาได้ง่ายในแถบนั้น โปรยผง ‘พริกเกาหลี’ หรือ ‘โคชูการุ’ (Gochugaru) ที่มีรสชาติเผ็ดร้อนพอประมาณ พร้อมโปะด้วยพืชผักหลากสีสันนานาชนิด

ก่อนที่ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ระหว่างการเข้ายึดครองโดยญี่ปุ่น (Japanese Occupation) เหล่าทหารเจ้าอาณานิคมจะพบว่า เมนูบะหมี่จีนดังกล่าวช่างละม้ายคล้ายกับ ‘ชัมปง’ (Champon) -อันเป็นเมนูเก่าแก่จากฝีมือของเชฟชาวจีนในเมืองนางาซากิ- เสียเหลือเกิน ประกอบกับที่ในห้วงยามนั้น ภาษาญี่ปุ่นถูกนำมาบังคับใช้แทนภาษาเกาหลี ทหารญี่ปุ่นจึงบีบให้ชาวเกาหลีเรียกอาหารเส้นชนิดนี้ตามพวกเขาไปด้วย ดังนั้น ‘จัมปง’ จึงเป็นคำที่เพี้ยนเสียงมาจาก ‘ชัมปง’ (ที่มีความหมายว่า ‘ผสมผสาน’) อีกทีนั่นเอง

และแม้จัมปงจะเป็นชื่ออาหารเกาหลีที่ถูกคนญี่ปุ่นกดขี่ให้เรียกขานอย่างไม่เต็มใจนัก แต่ในระยะเวลากว่าครึ่งค่อนศตวรรษถัดมา เมนูลูกครึ่งจีนชามนี้กลับได้รับการยอมรับ -เคียงคู่กับเมนูประจำชาติอย่าง ‘จาจังมยอน’ (Jjajangmyeon) หรือ ‘บะหมี่ซอสดำรสหวาน’ ที่สืบทอดมาจากเชฟจีนเช่นกัน- และได้แปรสถานะมาเป็น ‘อาหารท้องถิ่น’ ประจำเมืองชายทะเลหลายแห่งของเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับเมืองสมมติอย่างซองจินในซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay ซึ่งแม้ผู้คนแถบนั้นอาจไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง แต่ก็ยังสามารถหาซื้อ ‘อาหารราคาถูก’ ชนิดนี้มารับประทานได้ง่ายๆ

ทว่าก็ยังไม่ใช่ประชาชน ‘ทุกคน’ ในเกาหลีใต้ที่จะสามารถกินจัมปงได้โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง เพราะแม่ของมุนคังแทคือหนึ่งในประชาชนอีก ‘หลายคน’ ที่ไม่สามารถซื้อจัมปงให้สมาชิกทั้งครอบครัวกินพร้อมกันได้ – ซึ่งถือเป็นภาวะ ‘ความยากไร้’ ที่น่าเจ็บปวดใจอย่างแสนสาหัส…

5

เป็นที่เล่าลือเล่าอ้างกันมาว่า อาหารเส้น-ซึ่งในที่นี้หมายถึงแค่ก๋วยเตี๋ยวหรือบะหมี่-มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน โดยล่าสุดมีการประเมินจากซากดึกดำบรรพ์ของ ‘เส้นบะหมี่ในชามโบราณ’ ที่ถูกขุดพบจากที่นั่นว่า อาหารเส้นอาจถูกรังสรรค์มาตั้งแต่เมื่อราว 4,000 ปีก่อน แล้วจึงค่อยแพร่ขยายไปยังประเทศแวดล้อมอย่างญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม หรือแม้แต่ไทยในอีกสองพันกว่าปีถัดมา

ส่วนนวัตกรรมการแปรรูปอาหารเส้นที่เรียกว่า ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ ก็เพิ่งเปิดฉากขึ้นมาในปี 1958 นี่เอง โดยชาวญี่ปุ่นที่พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้คิดค้นขึ้น เพราะพวกเขาต้องการอาหารที่ ‘มีราคาถูก’ และ ‘เก็บได้นาน’ ในยุคสมัยที่อาหารขาดแคลนและสังคมกำลังฟื้นตัว ซึ่งแนวคิดของอาหารแห้งชนิดนี้ได้ถูกส่งออกไปทั่วภูมิภาคพื้นเอเชีย – ซึ่งก็รวมถึงประเทศเกาหลีใต้ที่เปิดรับเอานวัตกรรมนี้จากญี่ปุ่นมาเริ่มผลิตเองในปี 1963 โดยเรียกรวมๆ ว่า ‘รามยอน’ จนแซงหน้ามาเป็นอาหารราคาถูกยอดนิยมของผู้คนภายในประเทศ ซึ่งก็ทำให้คนเกาหลีใต้ขึ้นแท่นเป็นผู้นำในการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของโลกไปโดยปริยาย (แบรนด์รามยอนชื่อดังอย่าง Nongshim คือผู้ผลิตบะหมี่ทั้ง 2 สูตรที่เป็นวัตถุดิบหลักของเมนูจาปากูรี โดยนอกูรีถูกผลิตขึ้นในปี 1982 ส่วนจาปาเกตตี-ที่เลียนแบบจาจังมยอน-ถูกผลิตตามมาในปี 1984 ซึ่งผู้ผลิตได้เริ่มใส่ ‘เนื้อสัตว์/ผักอบแห้ง’ ลงไปด้วยในช่วงเวลานี้เอง)

แต่เพียงแค่ยอดขายของรามยอนคงไม่อาจช่วยกอบกู้ประเทศได้ เพราะหลังจากต้องผ่านภาวะสงครามมาอย่างโชกโชนจนเกิดเป็น ‘บาดแผล’ หมักหมม กลายเป็นปมปัญหาทางเศรษฐกิจ/สังคมที่เรื้อรังในหลายมิติ (อาทิ การพัฒนาความเป็นเมืองและการเก็บภาษีที่เอื้อต่อคนรวยมากกว่าคนจน, ระบบอุปถัมภ์ที่เปิดทางให้มีการลักลอบโกงกินแก่งแย่งทุกสิ่งอย่างในทุกระดับชั้น, ค่าแรงอันต่ำเตี้ยของคนทำงานทุกช่วงวัย และงบสวัสดิการของรัฐที่แปรผกผันกับจำนวนคนยากไร้และผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ) ก็ทำให้ตัวเลข ‘รายได้สูงสุด/ต่ำสุด’ ของประชากรในเกาหลีใต้ยังคงถ่างห่างออกจากกันไปเรื่อยๆ และก่อเกิดเป็น ‘ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น’ ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมหาศาลต้องมีชีวิตที่ลำบากยากแค้นมาถึงปัจจุบัน – ซึ่งก็ถูกนำเสนอให้เห็นผ่านตัวละครชนชั้นล่างในหนัง/ซีรีส์ข้างต้น

ไม่ว่าจะเป็นคิมชุงซุกใน Parasite ที่ต้องคอยประคับประคองครอบครัวให้อยู่รอดไปวันๆ จนไม่รู้จักแม้กระทั่งจาปากูรีที่เธอต้องขวนขวายหาทำให้ได้ตามคำสั่งของเจ้านายที่พวกเธอกำลังปอกลอกอยู่ หรือแม่ของมุนคังแทใน It’s Okay to Not Be Okay ที่ต้องยอมอดเพื่อให้ลูกชายทั้งสองคนได้อิ่ม เนื่องจากเธอมีเงินไม่พอที่จะซื้อจัมปงได้ถึงสามชามต่อมื้ออย่างครอบครัวอื่น

ความทุกข์ยากของพวกเขาเหล่านี้อาจไม่ได้มีต้นธารมาจากการประพฤติปฏิบัติตนที่ ‘ไม่ใฝ่ดีมากพอ’ ในระดับปัจเจกดังที่ผู้ชมหลายคนกล่าวโทษเสมอไป (เพราะคิมชุงซุกกับสามีเคยพยายามหารายได้ด้วยวิธีการสุจริตต่างๆ นานา แต่ก็ล้วนล้มเหลวไม่เป็นท่า ส่วนแม่ของมุนคังแทก็ถึงขั้นทำงานและดูแลลูกๆ ไปพร้อมกันจนร่างกายผ่ายผอม) หากแต่ยังมาจากระบบบริหารจัดการอันไม่เป็นธรรมของรัฐและโครงสร้างสังคมอันบิดเบี้ยวที่สร้างความ ‘เหลื่อมล้ำต่ำสูง’ ระหว่างคนรวย-คนจนเรื่อยมา ซึ่งคอยกดดันให้ครอบครัวของคิมชุงซุก ครอบครัวของแม่มุนคังแท หรือครอบครัวของใครคนอื่นอีกนับไม่ถ้วน ต้องขวนขวายทำกินจนกลายเป็นการทรมานตัวเองและคนอื่นๆ ในบ้าน หรือแม้แต่ยอมทำร้ายทำลายคนอื่นเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

และสื่อบันเทิงเกาหลีใต้ก็สามารถตีแผ่เรื่องราว ‘ด้านลบ’ เหล่านี้ของประเทศชาติ-ที่หลายครั้งก็เกิดจากความล้มเหลวของชนชั้นปกครอง-ออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา โดยที่ภาครัฐไม่เคยออกมาเต้นเร่าๆ ชี้หน้ากล่าวหาประชาชนคนทำสื่อว่าเป็นพวก ‘ชังชาติ’ แต่อย่างใด


6

ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา วัฒนธรรมเกาหลีใต้-รวมถึงอาหาร-สามารถแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกผ่าน ‘สื่อบันเทิง’ ในฐานะของ ‘อำนาจอ่อน’ (Soft Power) ที่ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในการรับรู้และช่วยเสริมสร้างทัศนคติด้านบวกต่อประเทศนี้ได้อย่างโดดเด่นเป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลประชาธิปไตยของเกาหลีใต้-ที่จัดตั้งขึ้นในปี 1987 หลังจากประชาชนและสื่อต้องตกอยู่ใต้ฝ่าเท้าของผู้นำเผด็จการมากว่า 20 ปี-มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนวงการอย่างจริงจัง ทั้งในแง่ของงบประมาณและนโยบาย เช่น การกำหนดโควต้าให้หนังเกาหลีสามารถฉายในโรงหนังได้นานพอที่จะทำกำไร หรือการสร้างหน่วยงานย่อยมาวิเคราะห์วิจัยตลาดเพื่อพัฒนาเนื้อหาของสื่อบันเทิง เป็นต้น

นี่คือตัวอย่างชั้นเยี่ยมที่แสดงให้เห็นว่า หากชนชั้นปกครองของชาตินั้นๆ มี ‘ความเป็นผู้นำ’ มากพอ พวกเขาจะรู้จักใช้ ‘อำนาจอ่อน’ ในการส่งออกแนวคิด/วัฒนธรรมของตนเผยแพร่ไปสู่โลกภายนอก เพื่อถ่ายทอดอัตลักษณ์และสร้างรายได้ให้ประเทศ พร้อมกับเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตั้งคำถามต่อสังคมผ่านสื่อ และให้ภาครัฐเองได้ทำความเข้าใจกับความทุกข์นานัปการของคนในชาติไปด้วย

ชนชั้นปกครองที่ ‘กล้าหาญ’ และ ‘ฉลาด’ มากพอจะยอมเปิดใจรับฟังประชาชนและพยายามศึกษามิติทางสังคมที่แสนซับซ้อนให้ถ่องแท้ เพื่อหาหนทางแก้ไขเยียวยาและใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป — มิใช่เอาแต่เบือนหน้าหนีจากคำตำหนิของประชาชนที่มีต่อความผิดพลาดของตน แล้วหลับหูหลับตาบริหารประเทศตามแนวทางที่ตนเชื่อว่า ‘เหมาะสมดีงาม’ อยู่ฝ่ายเดียวโดยไม่ฟังใคร

— มิใช่เอาแต่บีบอัด ‘ความหลากหลาย’ ในสังคมให้อยู่ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์ทึ่มทื่อคร่ำครึที่ตนตั้งขึ้นเพียงไม่กี่สิบกี่ร้อยข้อ ซึ่งรังแต่จะสร้างความอึดอัดใจและบาดแผลให้ผู้คนที่มีชีวิตอันไร้ทางเลือกอยู่ร่ำไป

— และก็มิใช่เอาแต่ปล่อยให้ประชาชนต้องรู้สึกเจ็บปวดเจียนตายอย่างเดียวดายซ้ำเล่ากับ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในสังคม กระทั่ง ‘ความทุกข์’ ของพวกเขาแปรเปลี่ยนไปเป็น ‘ความโกรธแค้น’ ที่รอวันระเบิดออก

เพราะในท้ายที่สุด, คนที่จะถูกระเบิดลูกนี้แผดเผาจนฉิบหายวอดวายตกไปตามกัน ก็คือเราทุกคนทุกชนชั้นใน ‘ชาติ’ -คำที่แท้จริงแล้วควรหมายถึง ‘ประชาชน’ ทั้งประเทศ มิใช่ ‘ชนชั้นปกครอง’ เพียงหยิบมือเดียว- นี่เอง


ชม Parasite และ It’s Okay to Not Be Okay ได้ใน Netflix

ธีพิสิฐ มหานีรานนท์
นักเขียนอิสระ, อดีตบรรณาธิการนิตยสารหนัง BIOSCOPE, นักแสดง GAY OK BANGKOK และแฟนซีรีส์วาย

RELATED ARTICLES