Home Article Special Article สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา : ภาพยนตร์ว่าด้วยการบังคับสูญหาย

สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา : ภาพยนตร์ว่าด้วยการบังคับสูญหาย

0
สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา : ภาพยนตร์ว่าด้วยการบังคับสูญหาย

การหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่หนีออกนอกประเทศเนื่องจากปฏิเสธการไปรายงานตัวกับ คสช.ในช่วงเวลาหลังการรัฐประหารเขาถูก ‘อุ้ม’ ไปจากบ้านพักในประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจจากผู้คนจำนวนมาก แม้ตอนนี้จะยังไม่ทราบชะตากรรม หรือสาเหตุที่แน่ชัดเกี่ยวกับการกายตัวไป แต่ก็เป็นที่เชื่อได้ว่าการหายตัวไปของวันเฉลิม ที่มีคลิปวินาทีโดนอุ้ม เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกรณีบังคับสูญหายของผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยจำนวนกลายต่อหลายคดีทั้งในประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ภายในประเทศไทยเอง

การบังคับสูญหายเป็นหนึ่งในความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นไปในที่ต่างๆ ทั่วโลก เกิดกับผู้คนที่มีความเห็นขัดแย้งกับผู้ปกครองรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐเผด็จการ หรือกึ่งเผด็จการที่มองชีวิตของผู้คนเป็นเพียงสิ่งของที่สามารถทำให้หายไปได้

และนี่คือการย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์บาดแผลผ่านนานาภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องการบังคับสูญหายจากหลายพื้นที่ทั่วโลก


Punishment Park (1971, Peter Watkins)

ทะเลทรายอันร้อนระอุที่มีธงชาติอเมริกาปักอยู่อีกฟากของจุดที่พวกเขายืนอยู่ แต่หากไปไม่ถึงที่นั่นพวกเขาจำต้องตายไป มาสู่อีกมุมของทะเลทรายกองทหารติดอาวุธรอคอยให้พวกเขาเดินทางมาถึง และมาสู่ห้องสอบสวนที่พวกเขาอยากออกไป แต่หากไม่ได้ออกก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยที่สุดพวกเขาต้องได้พูดสิ่งที่ต้องพูด

Punishment Park ถ่ายทำแบบ ‘แสร้งว่า’ เป็นสารคดีที่นักข่าวตามติดและสัมภาษณ์กลุ่มผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ เมื่อพวกเขาถูกอุ้มมาจากฉากของการต่อสู้เพราะ ‘เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ’ และต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับใช้ Concentration Camp Law (Internal Security Act 1950 ที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์อเมริกา) สิ่งที่พวกเขาทำได้จึงมีเพียงการยอมติดคุกแบบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน หรือนั่งรถที่บึ่งออกไปกลางทะเลทรายและถูกปล่อยให้สู้ (หรือหนีจาก) บรรดาทหารที่รอ ‘สอย’ พวกเขาแบบไม่ต้อง ‘ซุ่ม’ แม้พวกเขาจะไปถึงจุดที่ธงปักอยู่ก็ตาม

แน่นอนว่าอุดมการณ์ขวา-ซ้ายย่อมต้องปรากฏในหนัง เมื่อมีโอกาส พวกเขาทุ่มเถียง ปลดปล่อยความคิดความเชื่อในอุดมการณ์ของตนออกมา แต่ใช่หรือไม่ว่าผู้มีอำนาจย่อมไม่รับฟัง แต่ผู้ใช้อำนาจจะใช้ประโยชน์จากความหวังที่ฝ่ายต่อต้านพอจะมีหลงเหลือ แล้วใครกันที่จะรอดจากเกมอันเดือดพล่านนี้–เราบอกไม่ได้ ตราบใดที่เกมนี้ไม่โดนล้มหมดทั้งกระดาน


National Security (2012, Chung Ji Young)

หนังสร้างจากเรื่องจริงของบรรดานักเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้จำนวนหนึ่งที่โดนจับตัวไปหลังเหตุการณ์ นองเลือด 18 พฤษภา ในกวางจูเพื่อต่อต้านนายพล Chun Doo-hwan ที่ตอนนั้นเป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง และวางแผนจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทน นายพล Park Chung -hee ที่ถูกลอบสังหาร

แต่นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์บอกเล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แบบเรียงลำดับ ในความยาวหนึ่งชั่วโมงสี่สิบนาทีของหนัง เวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงครึ่งเป็นเรื่องของการทรมานล้วนๆ หนังฉายภาพสารพัดวิธีการทรมานนักโทษทางการเมืองของรัฐบาลทหาร กระบวนการที่ชวนขนลุกสยองขวัญ หนังเองสร้างจากบันทึกของนักโทษที่ในเวลาต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีของเกาหลี และโยนคำถามรุนแรงใส่หน้าผู้ชมว่า เราสามารถจะให้อภัยบรรดาผู้คนเหล่านี้ได้หรือไม่ และอะไรคือความยุติธรรม


Solo, Solitude (Yosep Anggi Noen, 2016)

Widji (หรือ Wiji) Thukul คือกวีชาวอินโดนีเซียที่มีชื่อเสียงเพราะผลงานวิพากษ์ประเด็นสังคมการเมืองในสมัยเผด็จการของนายพลซูฮาร์โต เขาถูกรัฐเพ่งเล็งเมื่อเข้าไปร่วมจัดตั้งการประท้วงของกรรมกรและเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยม

หนังจับจ้องชีวิตของเขาหนีจากบ้านที่เมือง Solo (หรือ Surakarta) ไปกบดานที่ชุมชนแห่งหนึ่งบนเกาะบอร์เนียว บันทึกความเงียบงัน เนิบช้า ของชีวิตที่ต้องคอยหลบซ่อน บทกวีที่เคยเขียนหรืออุบัติขึ้นระหว่างช่วงเวลาไกลบ้านอาจช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจ หรือมีสายใยของมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ที่แวะเวียนมาพบปะสนทนา ทว่าทุกสิ่งที่เขาพบในชุมชนใหม่อาจกลายเป็นภัยทิ่มแทงได้เสมอในยุคสมัยแห่งการไล่ล่ากวาดล้างคนเห็นต่าง นี่คือหนังที่บันทึกความกลัวของผู้ลี้ภัยได้อย่างเป็นรูปธรรม ความกลัวที่กัดกินบ่อนเซาะจิตใจทั้งจากทหารตำรวจในละแวกนั้น และวัยรุ่นสติไม่ดีที่หมกมุ่นกับการตั้งด่านลอยเที่ยวขอตรวจบัตรประชาชนใครต่อใคร

ภรรยาของ Widji Thukul ได้รับการติดต่อจากสามีครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 1998 – ปัจจุบันเขายังคงสถานะหายสาบสูญ


48 (2010, Susana de Sousa Dias)

ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากภาพถ่ายของบรรดานักโทษการเมืองที่โดนจับตัวไปตลอดช่วงเวลาหลายปีของการเรืองอำนาจของเผด็จการ ซาลาซาร์ แห่งโปรตุเกส หนังใช้ภาพถ่ายของผู้คน ตั้งแต่ครั้งยังเป็นหนุ่มสาว ทั้งหมดเป็นรูปข้างและรูปหน้าตรงของผู้คนที่โดนจับไปขังลืมในคุก กล่าวให้ถูกต้องเป็นรูปที่ถ่ายโดยตำรวจทั้งหมด โดยเสียงเล่าเป็นเสียงของเหล่าผู้รอดตายจากการถูกซ้อมทรมา การถูกขังลืม ถูกจับแล้วปล่อยแล้วจับ ตลอดเวลาหลายสิบปี เรื่องราวที่รุนแรงเจ็บปวดและสูญเสียงถูกเล่าจากผู้คนที่เราเห็นแค่เพียงอดีตของเขา ตัดสลับกัรูปถ่ายอีกชุดหนึ่งซึ่งคือรูปของพวกเขาเองในอีกหลายปีต่อมา และเช่นกัน รูปหน้าตรงและรูปด้านข้าง ถ่ายในช่วงเวลาก่อนออกจากคุก รูปถ่าหยน้าตรงเหล่านี้ฉายภาพชีวิตที่ถูกกัดกินโดยการเมือง และปีศาจเผด็จการ รูปของการต่อสู้กับมันโดยแลกกับทั้งชีวิตไป


Missing (1982, Costa-Gavras)

นักเขียนชาวอเมริกันผู้หนึ่งหายตัวไปหลังจากการรัฐประหารที่ประเทศชิลีในปี 1973 พ่อของเขาเดินทางมาจากนิวยอร์คเพื่อตามหาตัวลูกชาย เขาพบกับลูกสะใภ้ที่ไม่เคยลงรอยกัน ชายแก่เชื่อมั่นว่าประเทศของเขาจะช่วยเหลือตนได้ หญิงสาวเชื่อมั่นในสิ่งตรงข้าม การออกตามหาเริ่มดำเนินไปพร้อมกับความจริงอันแสนหดหู่และสยดสยอง

ผลงานคลาสสิคโดย Costa-Gavras ที่คว้ารางวัลปาล์มทองในปี 1982 (ร่วมด้วยรางวัลนักแสดงนำชายโดย Jack Lemmon) สร้างจากเรื่องจริงของนักเขียนอเมริกัน Charles Horman หนังถูกแบนในชิลีจนถึงปี 1990 ซึ่งเป็นปีที่นายพลปิโนเชต์ลงจากอำนาจ ส่วนในอเมริกาผู้กำกับ Costa-Gavras ถูกฟ้องหลังจากหนังได้รับการฉายในโรงและเทป VHS ถูกแบนไม่ให้จำหน่าย จนเวลาผ่านไปกว่า 20 ปีที่คดีถูกยกฟ้องและ DVD ได้รับการจัดจำหน่ายในที่สุดในปี 2004 สาเหตุสำคัญมาจากการที่ตัวหนังโจมตีการสนับสนุนของอเมริกาในช่วงรัฐบาลนิกสันต่อการรัฐประหารอย่างตรงไปตรงมาและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของ Charles Horman

แต่ความสำคัญของหนังเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่แค่ความอื้อฉาวของมันเพียงอย่างเดียว จริงๆ แล้วมันพูดถึงอาการ”ตาสว่าง” ของตัวละครได้อย่างน่าสนใจ ตัวเอกเป็นชายวัยกลางคนชาวอเมริกันผู้มองว่าการเมืองเป็นสิ่งที่น่าหงุดหงิดและเด็กรุ่นใหม่ทำได้แค่บ่นไปวันๆ และมีอุดมคติที่จับต้องไม่ได้ เขาถูกเสียดสีอย่างเจ็บแสบว่า “พวกคนอเมริกันอย่างคุณคิดว่าเราต้องทำอะไรผิดใช่ไหม เราถึงโดนจับ” ในฉากหนึ่งตัวหนังอ้างถึงนิยายเรื่องเจ้าชายน้อยและประโยคคุ้นหูที่ว่า “สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา” ซึ่งอาจจะเป็นประโยคที่อธิบายหนังเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เมื่อในตอนจบเขาพบจริงๆ ว่าสิ่งสำคัญที่อยู่ใต้พื้นผิวนั้นคืออะไรและเปลี่ยนแปลงความเชื่อในสถาบันที่เขาเชื่อมั่นไปตลอดกาล

ในฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งที่ยาวไม่กี่วินาทีแต่ทรงพลังมากเมื่อเรากลับมาดูในตอนนั้น ค่ำคืนหลังจากรัฐประหารที่มีเคอร์ฟิว ตัวละครจ้องมองไปยังโรงแรมหรูฝั่งตรงข้ามและพบกับเหล่าคนร่ำรวยกำลังจัดปาร์ตี้โดนไม่ได้รับผลกระทบอะไร พวกเขาปรบมือให้กับรถถังและทหารที่ขับผ่านไปอย่างชื่นมื่น ในขณะที่บนท้องถนนเต็มไปด้วยเสียงปืนและประชาชนกำลังนอนจมกองเลือด ในแง่หนึ่งเราอาจจะมองได้ว่า Gavras กำลังพูดถึงชนชั้นกลางที่เพิกเฉยต่อการเมือง ไม่สนใจว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกใบนี้และอยู่มาวันหนึ่งการเมืองนั้นก็มีผลกระทบกับตัวเขาเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวเอกอาจจะเป็นหนึ่งในคนที่ปรบมือให้กับทหาร ถ้าหากลูกชายเขาไม่ได้หายตัวไป ถ้าหากเขาไม่ได้มาที่ชิลีและพบว่ารัฐบาลเผด็จการทหารนั้นเป็นอย่างไร


The Pearl Button (2015, Patricio Guzman)

งาน essay film ภาคสองจากไตรภาคชิลี ที่ที่ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องการสังหารหมู่ในช่วงเผด็จการปิโนเชต์ ในคราวนี้เขาค่อยๆ เชื่อมโยงเอา ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อาชญวิทยา ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา ศิลปะ กวี มาอธิบาย โดยแทนที่เขาจะเหมือนกับผู้กำกับคนอื่นๆ กระแทกใบหน้าของผู้ชมด้วยความรุนแรง ความโกรธแค้น ความเจ็บปวด ด้วยภาพการทรมานที่น่าเกลียดน่ากลัว หรือการเล่าถึงความทรงจำอันเจ็บปวด หรือการสร้างความทรงจำขึ้นมาใหม่ราวกับการล้างแค้น เขากลับค่อยๆ เล่าผ่านสรรพวิทยาต่างๆ แสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว ด้วยลีลาของกวี การสังหารหมู่ของเขาจึงไม่ใช่ความรุนแรง แต่มันคือความเศร้าที่กัดกินผู้คน ความเจ็บปวดที่อยู่ภายในร่างกายโดยไม่ได้บาดเป็นแปลแค่ระดับผิวหนัง ความสุขุมในการค่อยๆ เล่า ในการค่อยๆ เชื่อมร้อยสิ่งต่างๆ เข้าหากัน ฉายภาพทุกข์เศร้ายาวนานหลายร้อยปีของประเทศ

เริ่มต้นจากหยดน้ำในทะเลทราย หยดน้ำหยดหนึ่งในผลึกควอตซ์ที่ถูกค้นพบในทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในโลก จากทะเลทรายที่เคยมีน้ำ ลัดเลาะไปตามฝั่งทะเลของประเทศ ไปเล่าชีวิตคนอินเดียนพื้นเมืองที่เคยเร่ร่อนไปตามฝั่งทะเล แต่พอคนขาวมาก็ห้ามพวกเขาลงน้ำ เพราะต้องเอามหาสมุทรมาใช้เป็นพื้นที่ทางการทหาทร

ทางตอนเหนือของประเทศชิลี หยดน้ำที่เชื่อกันว่าในทะเลาทรายแห่งนี้เคยมีน้ำ น้ำทุกรูปแบบในจักรวาล จากนั้นเราก็ลัดเลาะไปตามฝั่งทะเลขอประเทศที่มีภูมิศาสตร์เป็นแนวยาวเคลียกับชายฝั่งแตกตัวออกไปเป็นหมู่เกาะมากมาย แล้วเราก็พบกับอินเดียนพื้นเมืองซึ่งเคยเป็นอยู่มาด้วยการเร่ร่อนไปตามฝั่งทะเล ด้วยเรือพายทำเองพวกเขาอ่านแล่นเรือข้ามแหลม อ่าว แวะพักตามเกาะแก่งอย่างไม่แน่นอน เป็นอยู่มานานนับศตวรรษ นับพันปีก่อนการมาถึงของคนขาว ตอนนี้พวกเขาถูกห้ามลงทะเลเพราะทหารต้องใช้พื้นที่ เขายังคงจดจำแผนที่ การพายเรือ การเดินทางไปตามกระแสน้ำโดยอาศัยสัญชาตญาณและภูมิปัญญาของตนบางคนอย่างจิมมี บัตตัน เป็นคนชนเผ่าที่ถูกขายไปอังกฤษเพื่อแลกกระดุมมุกไม่กี่เม็ด คนอังกฤษศิวิไลซ์เขา แต่หลายปีผันผ่าน เขากลับมาที่เกาะ กลับมาในสภาพสุภาพบุรุษอังกฤษ เมื่อมาถึงเขาถอดทุกอย่างออกจากตัว พูดพื้นเมืองคำอังกฤษคำใช้ชีวิตเยี่ยงคนพลัดถิ่นในบ้านตนเองตลอดกาล

มหาสมุทรนอกจากให้ชีวิตยังกลืนกินผู้คนประดุจสุสาน ของนักกิจกรรม ในตลอดช่วงยุคเผด็จการปิโนเชต์ ที่ยาวนานหลายสิบปี นักโทษการเมืองจำนวนมากถูกคุมขังในคุกลับบนเกาะแก่งห่างไกล หลายคนถูกฆ่า เชือดทั้งเป็น ข่มขืน ทรมาน สูญหาย และหนึ่งในวิธีที่ทำให้สูญกายคือการถ่วงด้วยท่อนเหล็กแล้วแล้วทิ้งลงมหาสมุทร ท่อนเหล็กซึ่งถูกค้นพบในสามสิบปีต่อมา ท่อนเหล้กที่ถูกห่อหุ้มด้วยสัตว์ทะเล ห่อหุ้มร่องรอยของเหยื่อที่สูญดับอาจจะเป็นเศษของเนื้อของ DNA หรือกระดุมสักเม็ด


The Purple Kingdom (2016, พิมพกา โตวิระ)

เริ่มจากภาพในจอคอมพิวเตอร์ ภาพของมือนอและลูกๆ ทั้งห้าของเธอ ในภาพนั้น ช่างกำลังพยายามตัดต่อรูปของบิลลี่ สามีของเธอใส่เข้าไปในภาพเพื่อให้มันเป็นภาพครอบครัวขึ้นมาจริงๆ ช่างขยับภาพบิลลี่ไปมา พยายามลบรอยต่อ หรือปรับสี ช่างถามมือนอว่านี่ได้หรือยัง เธอตอบว่าโอเค แต่ใครก็ดูออกว่านี่เป็นรูปตัดต่อ บิลลี่หายตัวไปหลายปีแล้วหลังจากออกไปเก็บน้ำผึ้งและโดนเจ้าหน้าที่เรียกตัวไป เจ้าหน้าที่ปฏอเสธว่าปล่อยตัวเขาไปแล้ว แต่เขาไม่ได้กลับบ้านและไม่เคยได้กลับบ้าน คดีไม่คืบหน้า ขณะที่มือนอและลูกๆ พยายามจะตามหาเขา ขอความช่วยเหลือ มีชีวิตต่อไป ในหมู่บ้านที่อยู่กันมายาวนานหลายชั่วคนแต่เจ้าหน้าที่ปรารถนาจะให้ย้ายออกไป เธอเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาที่สามีหายไปและสับสนงุนงงกับชีวิตที่ยาก ลึกลับ และอันตรายขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือฉากเปิดหนังสั้นที่ติดตาม มึนอ ภรรยาผู้เข้มแข็งของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ชาวกะเหรี่ยงผู้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาตแก่งกระจานที่ด่านตรวจแม่มะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในวันที่ 17 เมษายน 2557 และเจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ปล่อยตัวไปแล้วในช่วงที่เขาถูกควบคุมตัวนั้นเป็นช่วงเวลาขณะเดินทางจากบ้านโป่งลึกไปยังตัวอำเภอเพื่อเตรียมข้อมูลคดีชาวบ้านฟ้องหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในเวลานั้นจากเหตุเผาบ้านกะเหรี่ยงและทรัพย์สินของชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติระหว่างปี 2553 และ 2554

หนังเล่าเรื่องความฝันของมึนอว่าบิลลี่กลับมาหาเธอและลูกๆ ในขณะที่ชีวิตจริงจนถึงตอนนี้ยังไม่เคยพบบิลลี่อีกเลย ตัดสลับกับหญิงสาวคนหนึ่งที่มีทหารทั้งหมู่คอยช่วยเธอตามหาสามีที่หายไปในป่า เรื่องจริงที่ตัดข้ามกดทับกับเรื่องเล่าอย่างเจ็บปวดและรุนแรง

เช่าหนังได้ที่ Objectifs


Melancholia (2008, Lav Diaz)

นางชีกับโสเภณีมาถึงเมืองนี้พร้อมกัน คนหนึ่งมาขายตัวอีกคนมาขอบริจาคเงิน และยังมีแมงดาหนุ่มอีกคนที่มาเป็นนายหน้าจัดหาเซกซ์โชว์ ก่อนที่เราจะพบว่าที่แท้แล้ว ทั้งสามคนเป็นเพื่อนกัน พวกเขาอยู่ระหว่างการทดลองเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้อื่น พวกเขาทำเช่นนี้ปีละหนมาแล้วห้าหกปี เพื่อหวังว่ามันจะทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ ผลพวงจากการสาบสูญของบรรดาคนรักของพวกเชา สูญไปในการล้อมปราบ ลักพา ฆ่าสังหารโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วนางชีก็หายตัวไป การทดลองสิ้นสุด นางโสเภณีกลับไปเป็นคุณครูใหญ่ชื่อ Alberta Munoz ตามที่ลูกค้าคนหนึ่งทักเธอ (แต่เธอไม่ยอมรับ) เช่นเดียวกับที่แมงดาหนุ่มที่แท้คือ Julian บรรณาธิการหนุ่มไฟแรง ซึ่งยังคงเฝ้าฝันว่าภรรยาที่ตายไปออกมาร้องเพลงกลางป่าทึบ เธอและเขาพบกันบ้างเป็นบางครั้งถามไถ่ถึงนางชีผู้สาบสูญ โศกเศร้าจากบาปผิดที่ไม่อาจไถ่ถอน นอกไปจากนั้น Alberta กำลังมีปัญหากับลูกสาวบุญธรรม ที่หนีออกจากบ้านไปขายตัวข้างถนนจริงๆ ขณะที่ Julian กำลังวางแผนตีพิมพ์นิยายเล่มใหม่ของนักเขียนหนุ่มซึ่งว่าด้วยประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์ของฟิลิปปินส์อันเกาะเกี่ยวอยู่กับความหลอกลวง

กระทั่งไดรับแจ้งให้ไปดูกองกระดูกในป่าลึกที่ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นสามีของ เธอซึ่งสาบสูญไปเมื่อหลายปีที่แล้ว เช่นเดียวกัน พวกเขาค้นพบว่า นางชีปลอมสุดท้ายฆ่าตัวตาย ทิ้งไว้เพียงพวกเขาซึ่งบนบ่าแบกแอกแห่งประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลไว้จนเต็มหลัง Alberta เร่ออกตามหาลูกสาวที่สาบสูญไปไม่รู้จบขณะ Julian ก็ติดกดับสำนึกบาปจนค่อยๆ กลายเป็นบ้าไป

ตัวละครใน Melancholia รับบทผู้ถูกเนรเทศชั่วนิรันดร์อันเกิดจากพิษภัยทางการเมือง พยายามรักษาโรค ‘ไม่ลืมอดีต’ ไถ่บาปด้วยการปลอมตัวเป็นชาวบ้าน ลิ้มรสทุกข์ยากของชาวบ้านแท้ๆ ในต่างจังหวัดเพียงปีละเดือนหรือสองเดือน อย่างน้อยมันก็ช่วยให้พวกเขาอุ่นใจว่า พวกเขาได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข ทั้งกับแกนนำ (คนรักของพวกเขา) ซึ่งตายไปแล้ว และกับประชาชนที่พวกเขาต่อสู้เพื่อ ซึ่งใช่หรือไม่ว่าสิ่งนี้ที่แท้ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการปลอบประโลมตนเอง

ดูหนังได้ที่ MUBI


The Act of Killing (2012) + The Look of Silence (2014, Joshua Oppenheimer)

สารคดีสองเรื่องที่ทั้งเหมือนและไม่เหมือนเป็นภาคต่อของกันและกัน หลังจากที่ Joshua Oppenheimer ค้นคว้าเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่อินโดนีเซียกว่า 10 ปีจนเกิดเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ในปี 2012 เขาพบกับ Anwar Congo ในปี 2005 ชายผู้เป็นหัวหน้าแก๊งสังหารคอมมิวนิสต์ที่ตอนเหนือของเกาะสุมาตราเมื่อปี 1965-1966 หลังจากการขึ้นสู่อำนาจของกองกำลังฝ่ายขวาที่สนับสนุนโดยสหรัฐฯ นำโดยซูฮาร์โต (Suharto) เป็นประธานาธิบดีคนที่สองของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

มีการประมาณว่าเหตุการณ์เมื่อปี 1965-1966 ที่ชาวอินโดนีเซียถูกบังคับให้สูญหายราวห้าแสนถึงหนึ่งล้านคน The Look of Silence เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2014 เล่าเรื่องของชายผู้หนึ่งสำรวจความทรงจำ (ก่อนที่เขาจะเกิด) ของครอบครัวและคนรอบข้างพี่ชาย ผู้ถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงจนเสียชีวิตในปี 1965 ในข้อหาคอมมิวนิสต์ ฆาตกรในตอนที่ Joshua ไปถ่ายทำยังเล่าถึงวันที่เขาปาดคอและกินเลือดของคนได้อย่างหน้าตาเฉย

ซื้อหนังทั้งสองเรื่องได้ที่ Doc Club on Demand

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here