Home Article Special Article เซลีน เซียมมา เมื่อมีภาพยนตร์ เลสเบี้ยนก็ได้ดำรงอยู่

เซลีน เซียมมา เมื่อมีภาพยนตร์ เลสเบี้ยนก็ได้ดำรงอยู่

เซลีน เซียมมา เมื่อมีภาพยนตร์ เลสเบี้ยนก็ได้ดำรงอยู่

ราวปลายยุค 80s ย่านแซกี-ปองตัวส์, ประเทศฝรั่งเศส เซลีน เซียมมา มั่นใจตั้งแต่วัยเด็กว่าเธอเป็นเกย์ เธอเพียงแค่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ โลกรอบตัวไม่มีคำอธิบายต่อสิ่งที่เธอเป็นและสนใจ เซียมมาในวัยเด็กจึงดิ่งลึกลงไปในโลกของหนังสือและภาพยนตร์ หวังจะได้พบคำตอบต่อคำถามอันแสนคลุมเครือให้ตัวเอง

“ปราศจากอินเตอร์เน็ต การเป็นเลสเบี้ยนก็ดูไม่มีอยู่จริงเลย” เธอบอก ระยะเวลาค้นคว้าและศึกษาคำถามของเธอนั้นกินเวลาหลายปีทีเดียว ก่อนที่จะประกาศชัดว่าเธอเป็นเลสเบี้ยนในอีกหลายขวบปีต่อมา “หมายถึงว่า มันมีอยู่จริงนั่นแหละ แต่เราต่างอยู่ในโลกของตัวเอง ต้องเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง ลองจินตนาการถึงเด็กอายุ 14 สักคนที่มองหานิยายเลสเบี้ยนโรแมนติกที่ห้องสมุดสาธารณะสิ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องเริ่มหาที่ตรงไหน เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์นั่นแหละ เราก็ต้องสร้างมันขึ้นมาเอง”

“หนังของฉันก็เหมือนกันทุกเรื่อง นั่นคือมันมักว่าด้วยเรื่องราวไม่กี่วันที่ตัวละครได้หลุดออกไปจากโลก ไปยังสถานที่ซึ่งได้พบคนรัก ได้รักและถูกรัก แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องราวของตัวละครหญิงเสมอ เพราะมีเพียงแต่พื้นที่ส่วนตัวเช่นนี้เท่านั้นที่พวกเธอจะเป็นตัวของตัวเองได้ ได้แบ่งปันความเดียวดาย ความฝัน ความคิดและไอเดียต่างๆ ให้กันและกันฟัง”

อาจไม่เกินจริงจากที่เซียมมานิยามงานของตัวเองนัก เมื่อมองจากภาพรวม ตัวละครในหนังทั้งห้าเรื่องของเธอก็ล้วนแล้วแต่ได้เบ่งบานและเติบโตในพื้นที่อันจำเพาะ โดดเดี่ยวตัวเองจากโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กสาวที่ตื่นรู้เรื่องทางเพศของตัวเองจากสระว่ายน้ำและล็อคเกอร์เล็กแคบ, เด็กหญิงที่สวมรอยเป็นเด็กผู้ชายเพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนสนิทในป่าเล็กๆ แถวบ้าน, เด็กสาวที่ค้นพบตัวตนของเธอขณะกอดคอร้องเพลงของริฮานนาด้วยกันในห้องพักของโรงแรม เรื่อยมาจนจิตรกรสาวผู้ใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์บนเกาะรกร้างห่างไกลและได้สัมผัสห้วงยามแห่งความรักกับหญิงสาวอีกคน -ซึ่งกำลังจะต้องไปแต่งงานกับชายหนุ่มแปลกหน้า รวมทั้งหนังลำดับล่าสุดของเธอที่เล่าเรื่องราวของเด็กหญิงที่พบเพื่อนใหม่ที่มาพร้อมเต็นท์หลังน้อยในวันที่แม่ของเธอหายตัวไปอย่างลึกลับ

การข้ามพ้นวัยของผู้หญิงอาจเป็นหัวใจสำคัญใจหนังของเซียมมา ตัวละครของเธอไม่เพียงแต่เติบโต เปลี่ยนแปลงหรือคลี่คลายความขัดแย้งในตัวเองเท่านั้น แต่หลายต่อหลายครั้ง เซียมมายังพาคนดูร่วมสำรวจอัตลักษณ์ทางเพศของตัวละครเหล่านี้ได้อย่างงดงามและมีหัวใจ 

ก่อนหน้าที่จะได้ทำหนังของตัวเอง เซียมมาหมกมุ่นอยู่กับภาพยนตร์อยู่ก่อนแล้วจากการปลูกฝังของคุณย่าที่มักสรรหาภาพยนตร์ฮอลลีวูดเก่าๆ มาให้เธอดูตั้งแต่ยังเด็ก จนกระทั่งเมื่อย่างเข้าวัยรุ่น เซียมมาก็ยังหลงใหลในโลกของภาพยนตร์และหมกตัวอยู่ในโรงยูโทเปียซึ่งเป็นโรงหนังอาร์ตเฮาส์ย่านแซกีสัปดาห์ละสามครั้ง “ฉันเป็นซีเนไฟล์ด้วยการดูหนังของคนทำหนังฝรั่งเศสในยุค 90s ไม่ว่าจะเป็น อาร์นูด เดเปลชอง, โนเอมี ลวอฟสกี, เอริก โรชองต์” เซียมมาเล่า “แต่เอาจริงๆ สมัยวัยรุ่นนี่ฉันชอบหนังของ กัส แวน แซงต์กับแลร์รี คลาร์ค มากเลยนะ แล้วอย่าลืมหนังของ เดวิด ลินช์ เด็ดขาดเชียว” (เซียมมายังบอกด้วยว่า เธอได้ไอเดียจากการทำหนังรักแสนหวานมาจาก Mulholland Drive หนังธริลเลอร์ของลินช์ซึ่งเธอบอกว่า กลิ่นไอความรักนั้นเรื่องนั้นมันแสนจะจับใจเธอเสียนี่กระไร!)

ระยะทางของการเป็นซีเนไฟล์มาสู่การเป็นคนทำหนังสำหรับเซียมมานั้นกินเวลานานหลายปี เธอเข้าเรียนสาขาวรรณกรรมฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยปารีส นองแตร์ (“ฉันจึงมักได้ไอเดียการทำหนังมาจากวรรณกรรม โดยเฉพาะช่วง bildungsroman หรือการสำรวจตัวตนของตัวละครหลักในงานวรรณกรรมสมัยศตวรรษที่ 19 น่ะค่ะ” เธอว่า) แล้วจึงเข้าเรียนทำหนังที่สถาบันภาพยนตร์ลา เฟมีส (La Fémis) ในเวลาต่อมา และที่แห่งนี้เองที่ทำให้เธอได้หวนกลับมาพินิจพิเคราะห์ชีวิตของตัวเองอย่างละเอียด นับตั้งแต่วัยเยาว์มาจนถึงวัยรุ่น คำถามตลอดจนข้อสงสัยที่เธอได้แต่ตั้งคำถาม แต่โลกไม่เคยมอบคำตอบให้เมื่อนานมาแล้ว 

“ฉันอยากทำหนังจากเรื่องที่ฉันเข้าใจมันจริงๆ แล้วช่วงที่เราเป็นเด็กจนถึงวัยรุ่นมันก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญอันเปี่ยมล้นด้วยห้วงอารมณ์อันทรงพลังหลายอย่างมาก ก็เลยอยากจับจ้องไปยังการก่อกำเนิดของช่วงเวลาในการเป็นผู้หญิง” เซียมมาบอก “เป็นอย่างที่ ซีมอน เดอ โบวัวร์ (นักเขียนชาวฝรั่งเศส) กล่าวไว้นั่นแหละว่า ‘เราไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง แต่เรากลายมาเป็นผู้หญิง’ น่ะ”

เซียมมาเรียบเรียงเอาคำถาม ปริศนาและมวลอารมณ์ของช่วงวัยรุ่นออกมาเป็น Water Lilies (2007) หนังยาวเรื่องแรกที่เธอ -ในวัย 27 ปี- เขียนบทและกำกับ ก่อนที่มันจะส่งเธอเข้าชิงสาขากล้องทองคำและ Un Certain Regard Award จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ โดยมันเล่าเรื่องราวของเด็กสาวสามคน แอนน์ (หลุยส์ แบลร์แชร์), แมรี (เพาลีน อาควอร์ต) และ ฟลอเรียเน (อาเดล อีเนล -ผู้พบรักกับเซียมมาจากเรื่องนี้) ที่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันในสระว่ายน้ำแห่งหนึ่งและค่อยๆ สานสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกัน หนังจับจ้องไปยังพลังพลุ่งพล่านของวัยรุ่น ความสงสัยใคร่รู้ ตลอดจนการสำรวจตัวตนทั้งเชิงร่างกายและจิตใจอย่างเร่าร้อน ยังผลให้เมื่อหนังเข้าฉายในสหราชอาณาจักรด้วยการถูกจัดเรตห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปีเข้าชมโดยเด็ดขาด (ภายหลังเซียมมาบอกว่าเธอช็อคอยู่ไม่น้อย เพราะในฝรั่งเศส ประเทศบ้านเกิดของเธอ Water Lilies ถือเป็นหนังสำหรับคนทุกเพศทุกวัย)

“มันเพราะฉันอยากลองทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงผ่านสายตาของผู้หญิงดูบ้างน่ะ เพราะที่ผ่านมาดูไม่ค่อยมีหนังแบบนี้โผล่มาให้เห็นเท่าไหร่ คือก็จริงแหละที่มันมีหนังมากมายที่ยกย่องการเป็นผู้หญิง แต่ส่วนใหญ่หนังเหล่านั้นก็เล่าผ่านผู้ชายเสมอ ดังนั้นแล้วมันจึงมักลงเอยด้วยการอธิบายความเป็นผู้หญิงด้วยสายตาของผู้ชาย แทนที่จะเป็นการเล่าประสบการณ์ที่แท้จริงของการเป็นผู้หญิง” เซียมมาสาธยาย “ฉันอยากให้หนังเรื่องนี้มันเล่าเรื่องที่สดใหม่สักหน่อย เพราะเนื้อเรื่องมันต่างจากหนังรักวัยรุ่นทั่วไปที่มีเด็กหนุ่มและเด็กสาว เนื่องจากผู้ชายแทบไม่มีบทบาทอะไรในเรื่องนี้เลย”

และเช่นเดียวกับ Water Lilies เซียมมายังสำรวจโลกของวัยรุ่นหญิง ความเป็นอื่น และการอยู่ภายในโลกที่ผู้ชายเป็นผู้ออกกฎผ่าน Girlhood (2014) หนังสุดจะพังค์ของเธอกับฉากจำเมื่อเด็กสาวผิวดำกลุ่มใหญ่ตะเบ็งเสียงร้องเพลง Diamonds ของศิลปินสาวริฮานนาในห้องพักเล็กๆ ของโรงแรมแห่งหนึ่ง (โดยเซียมมาเล่าว่า เธอตัดฟุตเตจหนังท่อนนี้ส่งไปให้ริฮานนากับทีมงานดูก่อนหนังออกฉายเพื่อเดินเรื่องขอลิขสิทธิ์เอาเพลงมาใช้ในหนัง และศิลปินสาวตอบกลับมาว่า มันจ๊าบมาก พร้อมไฟเขียวให้เธอเอาเพลงดังไปใช้ได้เลย) หนังเล่าถึง มาเรียม (คาริดยา ตูเร) เด็กสาวผิวดำที่ใช้ชีวิตเงียบๆ และโดดเดี่ยว แม่ของเธอต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาเลี้ยงทั้งครอบครัวจนแทบไม่มีเวลากลับบ้าน ทำให้เธอต้องอยู่ใต้การดูแลของพี่ชายจอมกักขฬะตลอดเวลา หากแต่ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปเมื่อได้รู้จักกับเด็กสาวกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาประคับประคองช่วงชีวิตวัยรุ่นของมาเรียมให้หลุดพ้นจากความอึดอัด โดดเดี่ยวในที่สุด

สิ่งที่ทำให้ Girlhood ได้รับคำชมอย่างหนักคือการที่เซียมมาจับจ้องไปยังภาวะของการค่อยๆ เติบโตเป็นเด็กสาวท่ามกลางโลกและสายตาที่ผู้ชายจับจ้องมายังเธอ มาเรียมไม่เพียงแต่ต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวใต้ร่มเงาของพี่ แต่ยังหวาดระแวงจากสายตาของเพื่อนบ้านที่ละลาบละล้วงการใช้ชีวิตเธอแทบทุกฝีก้าว ทั้งหนังยังเล่าถึงการค้นพบพื้นที่ปลอดภัยของเหล่าเด็กสาว นั่นคือการเกาะกลุ่มกันและกัน สร้างโลกใบเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมาด้วยการเช่าห้องในโรงแรมด้วยกันสักคืนหนึ่ง เพื่อจะได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องมีสายตาของใครอื่นมาตัดสิน

“มันไม่มีที่ปลอดภัยสำหรับเด็กผู้หญิงเลย ไม่ว่าจะละแวกบ้านหรือแม้แต่ในบ้านเองก็ตาม มันเป็นที่ที่ผู้ชายเป็นคนออกกฎ เป็นที่ที่ผู้หญิงต้องอยู่ และเมื่อผู้หญิงออกไปยังสถานที่สาธารณะ มันก็เป็นพื้นที่ที่พวกเธอต้องทำตัวให้ดีไปกว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ในเวลานั้นๆ มีเพียงพื้นที่อันเป็นส่วนตัว -อย่างการเช่าห้องในโรงแรม- เท่านั้นที่พวกเธอจะได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงเสียที” 

พ้นไปจากช่วงวัยแรกรุ่น เซียมมายังสนใจสำรวจความเยาว์วัยอันจะเห็นได้จากหนังลำดับที่สอง Tomboy (2011) และหนังลำดับล่าสุดของเธอ Petite Maman (2021) ซึ่งทิ้งห่างกันสิบปีเต็มพอดี โดย Tomboy นั้นจับจ้องไปยังชีวิตของ ลอรี (โซเอ เอรอง) เด็กหญิงวัยสิบขวบที่ต้องย้ายบ้านตามครอบครัวไปยังเมืองแห่งใหม่ที่เธอไม่รู้จักใครเลย และที่นั่น เพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกันกับเธอต่างเข้าใจว่าเธอเป็นเด็กผู้ชาย ด้วยไม่รู้จะวางตัวอย่างไร ลอรีจึงตามน้ำ สวมรอยเป็นเด็กผู้ชายและเปลี่ยนชื่อตัวเองเสียใหม่เป็น มิคาเอล พร้อมกันกับที่ได้รู้จัก ลิซา (ฌาน ดีซอง) เด็กหญิงวัยเดียวกันที่ทำให้มิคาเอลเริ่มอยากยืดระยะเวลาการเป็น ‘เด็กผู้ชาย’ ให้ยาวนานขึ้นอีก ขณะที่ Petite Maman เล่าเรื่องของ เนลลี (โจเซฟีน ซ็องส์) เด็กหญิงวัยแปดขวบที่วันดีคืนดีพบว่าแม่แท้ๆ ของตัวเองหายตัวไป แทนที่ด้วยการปรากฏตัวของ มารียง (กาเบรียลลา ซ็องส์) เด็กหญิงวัยเดียวกันกับเธอที่ชวนเธอไปเยือนเต็นท์หลังน้อยในป่าซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นโลกอันโดดเดี่ยว ปราศจากผู้ใหญ่ของทั้งสอง

“ฉันสนใจประเด็นเรื่องเพศสภาพและความเป็นเด็ก ก็เลยอยากเล่าเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศกับความเยาว์วัยของคนเรา เพราะตอนเรายังเด็ก เราเลือกสิ่งต่างๆ ได้ เลือกจะเล่นหรือทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นโดยไม่ถูกตัดสินใดๆ เลย” เซียมมาบอก สมัยเมื่อเธอยังเด็กนั้นเธอก็มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กผู้ชายบ่อยๆ (“แต่มันก็เป็นธรรมดานะคะ ยุค 80s น่ะใครเขาก็ต้องตัดผมสั้นกันทั้งนั้นแหละ”) และด้านหนึ่งมันก็ทำให้เธอฉุกคิดถึงตัวตน เพศสภาพในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งโดยไม่รู้ตัว “เหมือนว่าตอนเรายังเด็ก เรามักจะเล่นสวมบทบาทเป็นคนนั้นคนนี้เสมอ สมมติตอนกลางวัน เราอยากเป็นอีกคนหนึ่ง แล้วเราก็เปลี่ยนคนที่เราอยากเป็นไปเรื่อยๆ ในทุกวัน”

“คุณลองไปดูวิธีการที่ ฟร็องซัวส์ ทรุฟโฟต์ (คนทำหนังชาวฝรั่งเศส) จับจ้องไปยังเรื่องราวของเด็กๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะใน The 400 Blows (1959), Pocket Money (1976) สิ เขาส่งอิทธิพลต่อฉันมากทีเดียว ฉันดูหนังพวกนั้นตั้งแต่สมัยยังเด็กและคิดว่ามันเป็นหนังที่ดูตอนนั้นแล้วรู้สึกเชื่อมโยงกับหนังเอามากๆ เลย พอได้มาทำหนังเองเลยทะเยอทะยานอยากสร้างอะไรแบบนั้นได้บ้าง คือการทำหนังเพื่อผู้ใหญ่ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นเด็ก แต่ก็ยังอยากให้มันเป็นหนังที่เด็กดูแล้วรู้สึกเชื่อมโยงกับเรื่องราวในนั้นด้วย 

“ฉันยังจำความรู้สึกเหล่านั้นได้ดีเลยนะ การเป็นเด็กที่โตมาใยยุค 80s กับสารพัดหนังจากสตูดิโอแอมบ์ลิน (บริษัททำหนังที่ก่อตั้งโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก), บรรดาหนังของสปีลเบิร์กซึ่งมักเต็มไปด้วยตัวละครเด็กๆ สุดจะเจ๋งที่คุณรู้สึกแทนตัวเองเข้าไปด้วยได้ ซึ่งอะไรแบบนี้ดูจะหายไปจากหนังสมัยใหม่ไปแล้ว เด็กๆ เลยได้ดูแค่ภาพจำลองสัตว์แบบสามมิติแทน”

ทั้งนี้ คงไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่า Portrait of a Lady on Fire (2019) คือหนังยาวที่ส่งให้เซียมมาประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติการทำหนังของเธอ โดยมันส่งเธอคว้ารางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมและเควียร์ปาล์มจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ทั้งยังส่งเธอชิงปาล์มทองคำด้วย โดยมันเล่าถึงฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 18 มาเรียนเน (โนเอมี เมอร์ลองต์) เป็นจิตรกรสาวที่ถูกว่าจ้างให้ไปวาดภาพเหมือนเพื่อใช้ดูตัวแต่งงานของ เอโลอิส (อาเดล อีเนล -กลับมาร่วมงานกับเซียมมาอีกครั้ง) สาวจากตระกูลสูงศักดิ์ ปัญหาคือเอโลอิสต่อต้านการวาดภาพเหมือนอย่างมากจนมาเรียนเนต้องแอบตีสนิทเพื่อจดจำรายละเอียดใบหน้า ท่าทางและอากัปกิริยาต่างๆ ของอีกฝ่ายแล้วกลับมาแอบวาดภาพในห้องของตัวเองอย่างเงียบเชียบ กับบรรยากาศความใกล้ชิดที่ก่อตัวขึ้นทีละน้อย

เช่นเดียวกันกับหนังเรื่องอื่นๆ ของเซียมมา นั่นคือมันดำรงอยู่บนโลกส่วนตัวของหญิงสาวที่ซึ่งตัวละครสามารถเปลือยเปล่าความเป็นตัวเองได้เต็มที่ ตลอดความยาวสองชั่วโมงนั้นปรากฏตัวละครชายเพียงสองครั้งแค่ช่วงต้นเรื่องกับท้ายเรื่อง ทั้งยังอยู่ในสถานะคนนอกและเป็นอื่นตลอดเวลา และสิ่งที่ทำให้ Portrait of a Lady on Fire ได้รับคำชมอย่างหนาหูคือการที่เซียมมาจับจ้องไปยังความสัมพันธ์ของตัวละครอย่างอ่อนโยน ปราศจากการจ้องมองด้วยสายตาของผู้ชายต่อผู้หญิง (male gaze) อันเป็นผลงานของ แคร์ มาธ็อง ผู้กำกับภาพที่ค่อยๆ ละเมียดสายตาผ่านเลนส์กล้อง เฝ้ามองความสัมพันธ์และความรู้สึกของตัวละครที่ค่อยๆ โถมทวีขึ้นทุกชั่วขณะที่พวกเธออยู่ด้วยกัน

“ไม่ใช่ว่าฉันเป็นผู้หญิงที่อยู่หลังกล้องแล้วเลยทำให้งานไม่ออกมาเป็น male gaze หรอกนะ เพราะเอาเข้าจริงผู้หญิงก็สร้าง male gaze ขึ้นมาได้เหมือนกัน เพราะเราเรียนรู้กันมาแบบนั้น ก็ใช่ที่ว่างานฉันมักมีลักษณะ female gaze พอสมควร ซึ่งก็ไม่ใช่จะเกิดขึ้นมาโดยง่ายแค่เพราะคุณเป็นผู้หญิง แต่มันเป็นสิ่งที่คุณต้องถอดรื้อโครงสร้างอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ก็ไม่ได้ต้องหมกมุ่นระวังตัวกับมันตลอดเวลา ฉันไม่เคยต้องทำหนังไปพลาง ครุ่นคิดไปพลางว่า ‘จะทำยังไงไม่ให้ผู้หญิงคนนี้กลายเป็นวัตถุดีนะ’ หรอกค่ะ”

“ฉันอยากให้หนังเรื่องนี้มันเล่าผ่านสายตาของผู้หญิงที่จับจ้องไปยังผู้หญิง (female gaze) และคิดว่าเป็นโอกาสอันดีทีเดียวที่จะได้สร้างอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานภาพแบบใหม่ เส้นเรื่องแบบใหม่” เซียมมาบอก “ในหนังก็เล่าเรื่องตำนานออร์ฟิอุสกับนางยูริดิซี (ตำนานกรีก ว่าด้วยการเดินทางของออร์ฟิอุสที่หัวใจสลายเมื่อยูริดิซีซึ่งเป็นหญิงคนรักตายจาก จึงอ้อนวอนจนเทพแห่งความตายสงสารและส่งมอบวิญญาณยูริดิซีกลับมา ด้วยเงื่อนไขเดียวว่า ระหว่างการเดินทางจากยมโลกไปจนถึงโลกมนุษย์นั้น ออร์ฟิอุสห้ามเหลียวกลับมามองวิญญาณนางยูริดิซีที่เดินตามหลังมาเด็ดขาด หากแต่ออร์ฟิอุสทำไม่ได้ เมื่อเขาฝ่าฝืนคำสั่งหันกลับมามองเธอ ทำให้วิญญาณของเธอถูกพรากไปตลอดกาล) มันเป็นตำนานที่กลุ่มเฟมินิสต์หยิบมาวิเคราะห์บ่อยครั้งเชียวล่ะ ในแง่ที่ว่าการจับจ้องของผู้ชายนั้นสามารถฆ่าเราได้เลย”

ด้านหนึ่ง Portrait of a Lady on Fire ยังลัดเลาะไปยังบทบาทของผู้หญิงในแวดวงศิลปะทั้งมวล ตัวละครมาเรียนเนกับการต่อสู้ดิ้นรนภายใต้ร่มเงาของพ่อผู้เป็นศิลปินใหญ่ สีหน้าอ้างว้างเมื่อผู้คนเข้ามาทักทายเธอในฐานะลูกสาว ไม่ใช่ในฐานะจิตรกรที่จัดแสดงผลงานใหญ่โต “หนังที่ถูกสร้างโดยผู้หญิงนั้นอยู่คู่กับประวัติศาสตร์มาตลอด เพียงแต่พวกเราถูกลบหายไปได้อย่างรวดเร็วเหลือเกิน” เซียมมาบอก “และหนังเรื่องนี้ก็เล่าถึงการที่ผู้หญิงถูกลบออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์งานศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าจิตรกรหญิงนับร้อยชีวิตในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 เราถูกบอกมาตลอดว่าสิทธิและโอกาสต่างๆ ของผู้หญิงนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มันไม่จริงเลย มันเป็นวัฏจักรของมันแบบนี้

“เราอยู่ในห้วงเวลาที่ดูราวกับเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรมครั้งใหญ่ เราพูดคุยถึงประเด็นเหล่านี้ คิดว่าโอกาสน่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตแต่พร้อมกันนั้นเราก็จดจำประสบการณ์ของการถูกต่อต้านต่างๆ ได้เข้ากระดูกดำ” เธอว่า “งานเขียนของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (นักเขียนหญิงชาวอังกฤษ) เปลี่ยนโฉมหน้าวรรณกรรมทั้งปวง หรือเมื่อ ฌองตาล อาเคอร์แมน (คนทำหนังหญิงชาวเบลเยี่ยม) ทำหนังเรื่อง Jeanne Dielman, 23 Commerce Quay, 1080 Brussels (1975) เธอก็เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไปเลย แต่จากนั้น คุณคงจะพบแล้วว่าเราลืมเลือนเรื่องราวของพวกเธอกันง่ายดายเหลือเกิน”

“ภาพยนตร์ต่างก็ยืนหยัดเพื่ออะไรบางอย่างทั้งนั้น หนังของฉันเองก็ด้วย” เธอบอก ก่อนขยายความถึงห้วงเวลาเคว้งคว้างสมัยยังเด็ก ในวัยที่ตระหนักได้ว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยนแต่โลกกลับไม่มีคำตอบหรือมองเห็นภาวะการดำรงอยู่ของเธอได้เลย และนี่นับเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เซียมมาทำหนังที่ว่าด้วยการสำรวจตัวตนของผู้หญิง การข้ามพ้นวัยและความรักทั้งในวัยเด็ก วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่เรื่อยมา -เพื่อที่ว่ามันอาจตอบคำถามของเด็กสักคนที่เคยสงสัยใคร่รู้ในตัวตนและความเป็นตัวเองเหมือนที่เธอเป็นมาในอดีต “ฉันเป็นเกย์ตั้งแต่เด็กและเสแสร้งแกล้งเป็นอย่างที่สังคมอยากให้เป็นมาโดยตลอด ซึ่งเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อมาตระหนักได้ว่าเราจำเป็นต้องแสดงแสร้งทำต่อไปเรื่อยๆ และต้องอดทน อดทนจนกว่าจะได้เริ่มใช้ชีวิตจริงๆ

“เราเสียเวลาไปมหาศาลเพราะสังคมไม่ปรับตัว เราจึงต้องสร้างมันขึ้นมาใหม่ ค้นพบอะไรใหม่ๆ มาอีก และนี่แหละค่ะความงดงามของมัน”


หมายเหตุ : งาน Céline Sciamma Retrospective (2007-2022) จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9-16 มกราคม 2565 นี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ และ Petite Maman จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2565

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here