2020
ในโลกยุคปัจจุบันที่ ‘ดนตรี’ กับ ‘ภาพเคลื่อนไหว’ แทบจะกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกันผ่านสื่อที่เปี่ยมทั้งเทคนิคและสีสันอย่าง มิวสิก วิดีโอ (Music Video หรือ MV) ผมเพิ่งมีโอกาสได้เปิดดูคลิปการแสดงสดในโทนขาว-ดำของเพลงเก่าเพลงหนึ่งใน YouTube ด้วยความรู้สึกท่วมท้นเต็มตื้น
เพลงดังกล่าวคือ Mississippi Goddam ของศิลปินหญิงผิวสีระดับตำนานอย่าง นีนา ซีโมน ที่ถูกหลายฝ่ายยกย่องให้เป็นผลงานที่อยู่ ‘เหนือกาลเวลา’ ไม่ว่าจะด้วยท่วงทำนอง ลีลาการร้อง หรือเนื้อหาที่ ‘จับใจ’ ทั้งคนดูและคนฟังอย่างที่ใครก็คงปฏิเสธไม่ได้
มันเป็นเพลงที่พูดถึง ‘ความทุกข์ทนของคนผิวสี’ ในสังคมอเมริกันยุค 60 ที่ถึงคราว ‘ต้องยุติ’ ลงเสียที
และมันก็ยังเป็นเพลงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้แต่ง/ผู้ขับร้องอย่างซีโมนไปตลอดกาลอีกด้วย
1963
You’re all gonna die and die like flies.
มันเป็นเดือนมิถุนายนที่ดำเนินไปท่ามกลางความรู้สึกเหน็บหนาวจับขั้วหัวใจสำหรับคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา เมื่อเพื่อนร่วมเชื้อชาติของพวกเขาต้อง ‘ล้มตาย’ จากการเข้าเข่นฆ่าโดยบรรดาผู้ที่เกลียดชัง – ล้มตายอย่างง่ายดายราวกับ ‘แมลงวัน’ ในบทเพลงที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้นในอีกไม่ช้าของนีนา ซีโมน นักดนตรีสาวคนดังวัย 30 ปี
ในเดือนนั้น เธอได้เห็นข่าวการเสียชีวิตของ เม็ดการ์ เอเวอร์ส -นักกิจกรรมผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิการศึกษาของคนผิวสี- ที่ถูกยิงเข้าจากทางด้านหลังขณะก้าวลงจากรถตรงบริเวณหน้าบ้านของตัวเองในเมืองแจ็คสัน รัฐมิสซิสซิปปี รวมถึงข่าวการวางระเบิดโบสถ์ของคนผิวสีที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บถึง 22 คนและมี ‘เด็กหญิงผิวสี’ ต้องเสียชีวิตอีกถึง 4 คนด้วยสภาพ ‘ฉีกขาดราวตุ๊กตา’ ในเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐแอละแบมา ในเดือนกันยายน-หรือก็คืออีกเพียง 3 เดือนถัดมา-ของปีเดียวกัน ซึ่งเบื้องหลังโศกนาฏกรรมทั้งหมดนั้นเป็นผลมาจาก ‘ความเกลียดชังที่มีต่อคนผิวสี’ ของกลุ่มคนผิวขาวผู้คลั่งความรุนแรงอย่าง White Citizens’ Councils และ Ku Klux Klan
ความรุนแรงอันถึงเลือดถึงเนื้อเหล่านี้เป็นเสมือน ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่ทำให้ซีโมน-ผู้เคยเห็นความอยุติธรรมที่คนผิวขาวปฏิบัติต่อคนผิวสีรอบข้างมาตั้งแต่เด็ก และเคยถูกปฏิเสธจากสถาบันดนตรีคลาสสิกชั้นนำในช่วงวัยรุ่น-รู้สึก ‘โกรธแค้น’ สังคมอเมริกันจนถึงขั้นอยาก ‘ออกไปยิงใครสักคนทิ้ง’ ให้รู้แล้วรู้รอด ก่อนที่ แอนดรูว์ สเตราด์ สามีและผู้จัดการของเธอจะเตือนสติว่า “นีนา, คุณจะเที่ยวออกไปฆ่าใครต่อใครไม่ได้หรอกนะ คุณเป็นนักดนตรี ทำสิ่งที่คุณถนัดเถอะ” เธอจึงได้สติ และร้อยเรียงความรู้สึกแค้นเคืองที่คุกรุ่นอยู่ภายในอกนั้นออกมาเป็น ‘บทเพลง’ ด้วยเวลาเพียงไม่ถึงชั่วโมง
เธอเลือกบ่นระบายถึง ‘ความทุกข์ยากในสังคมแห่งการแบ่งแยก’ ผ่านสิ่งที่เธอรักที่สุดอย่าง ‘ดนตรี’ และ “มันปะทุออกมาจากตัวฉันอย่างรวดเร็วรุนแรงเกินกว่าที่จะสามารถจดตามได้ทันด้วยซ้ำ”
1964
I think every day’s gonna be my last.
ซีโมนคร่ำครวญถึงอนาคตอันไม่แน่นอนของตนกับเพื่อนๆ ร่วมผิวสี-ที่อาจถูกทำร้ายหรือปลิดชีพเมื่อไหร่ก็ย่อมได้-ผ่านบทเพลงที่เธอแต่งขึ้น โดยหวังแค่ว่าคนผิวขาว-ผู้มีอำนาจทางสังคมเหนือกว่า-จะยอม ‘หยุดฟัง’ พวกเธอบ้าง
เพลงนี้ถูกเธอนำไปขับขานต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่ไนต์คลับชื่อ Village Gate ในย่านกรีนิช วิลเลจของแมนแฮตตันเมื่อช่วงต้นปี คล้ายกับเป็นการเรียกร้องให้คนอเมริกันออกมา ‘เคลื่อนไหว’ กับแนวคิดการแบ่งแยกผิวสีใน 3 รัฐสำคัญอย่างแอละแบมา, เทนเนสซี และมิสซิสซิปปี – ซึ่งล้วนเป็นรัฐที่ความอยุติธรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงที่สุดในยุคนั้น
กระทั่งในเดือนมีนาคม ซีโมนก็ตัดสินใจร้องเพลงนี้ต่อหน้าผู้ชม-ที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว-อีกครั้ง ณ คาร์เนกี ฮอลล์ ในกรุงนิวยอร์ค โดยที่ไม่มีใครได้ทันตั้งตัว “ชื่อของเพลงนี้คือ Mississippi Goddam และฉันหมายความตามนั้นทุกถ้อยคำ” เธอกล่าวไว้ในช่วงต้นของการแสดงด้วยน้ำเสียงมึนตึง ซึ่งด้วยชื่อเพลงและเนื้อหาที่มี ‘คำหยาบ’ เป็นส่วนประกอบนี้ (Goddam, Goddamn หรือ God damn it ที่แปลแบบรวบรัดตัดตอนได้ว่า ‘ฉิบหาย!’) ก็ทำให้ผู้ชมผิวขาวพากันคิดว่ามันเป็นเพียงแค่ ‘มุกตลก’ ของซีโมน-ผู้มีนิสัยโผงผางเป็นทุนเดิม จนพวกเขาหลุด ‘หัวเราะ’ ออกมา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หญิงสาวผิวสีบนเวทีกำลังเล่นเพลงนี้-ที่มีท่วงทำนองอันเร่งเร้าและวิธีการร้องอันก้องกังวานราวบทสวด-ด้วยหัวอกที่ตรอมตรมขมไหม้
และเมื่อหลายบทเพลงที่ซีโมนแสดงสดในคาร์เนกี ฮอลล์ถูกนำมารวบรวมไว้ในอัลบั้ม Nina Simone in Concert ในปีนั้นเอง เพลง Mississippi Goddam ก็กลายมาเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ครั้งสำคัญในอาชีพศิลปินของเธออย่างเป็นทางการ เพราะนอกจากมันจะทำให้เธอหันมาสนใจโลกการเมืองมากขึ้นแล้ว มันก็ยังถือเป็นหนึ่งใน ‘เพลงปลุกใจ’ ระหว่างการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองของคนผิวสีในอเมริกาอีกด้วย
แต่แน่นอนว่า ด้วยเนื้อหาอันเข้มข้นเดือดดาลของมันก็ทำให้เพลงนี้ถูกสั่ง ‘ห้ามเปิด’ ในหลายรัฐทางตอนใต้-ซึ่งเป็นพื้นถิ่นที่คนผิวขาวแสดงทีท่ารังเกียจคนผิวสีอย่างออกหน้าออกตา แถมแผ่นเสียงสำหรับโปรโมตเพลงก็ยังถูกส่งกลับมาในสภาพที่ ‘หักครึ่ง’ เสียอีก โดยสถานีวิทยุหลายแห่งอ้างว่า สาเหตุที่พวกเขาต้องทำเช่นนี้ก็เพราะเพลงมีการใช้คำหยาบคายที่พวกเขารับไม่ได้เท่านั้นเอง หาได้เกี่ยวพันกับการเหยียดสีผิวไม่
ฉะนั้น แม้มันจะเป็นเพลงที่ส่งอิทธิพลต่อผู้ฟังของเธอมากที่สุดเพลงหนึ่ง …แต่มันก็ยังเป็นผลงานที่ ‘ทำร้าย’ อาชีพศิลปินของเธอไปพร้อมๆ กันด้วย
1965
“ฉันไม่เคยชอบ ‘เพลงประท้วง’ เลย”
ซีโมนกล่าวไว้ใน I Put a Spell on You หนังสืออัตชีวประวัติที่จะถูกตีพิมพ์ตามออกมาในปี 1992 “เพราะหลายเพลงมันก็ช่างเรียบง่ายและไร้จินตนาการเสียเหลือเกิน มันปลดเปลื้องศักดิ์ศรีจากผู้คน (ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้อง) แล้วก็พยายามที่จะเฉลิมฉลองมากไปหน่อย” แถมเธอยังบอกอีกด้วยว่า การสรุปรวบยอดชีวิตของ ‘ผู้เสียสละ’ เหล่านี้ลงในบทเพลงที่มีความยาวแค่ 3 นาทีครึ่งนั้น เป็นเรื่องที่ ‘มักง่าย’ เกินไป
Oh, but this whole country is full of lies.
ข้อเท็จจริงนี้ที่ซีโมนเคยร้องเอาไว้อาจช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดเดียดฉันท์ที่เธอมีต่อ ‘เพลงประท้วง’ ในเวลานั้นไปเสียฉิบ เพราะเมื่อไม่มีทางเลือกใดที่ดีกว่าการออกมาแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ เธอจึงจำต้องใช้ ‘เพลง’ เป็น ‘เครื่องมือ’ ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมให้แก่คนผิวสี โดยในเดือนมีนาคม ปี 1965 -อันเป็นเวลาครบรอบหนึ่งปีพอดีหลังจากการแสดงสดที่คาร์เนกี ฮอลล์- เธอเลือกร้องเพลงนี้ต่อหน้าผู้คนเรือนหมื่นในช่วงท้ายๆ ของการเดินขบวนประท้วงครั้งสำคัญของคนผิวสีในรัฐแอละแบมา ซึ่งเป็นการร่วมออกเดินเท้าจากเมืองเซลมาไปยังเมืองหลวงอย่างมอนต์โกเมอรี ภายใต้ระยะทางที่ยาวไกลถึง 87 กิโลเมตร โดยใช้เวลาทั้งหมด 18 วัน
ซีโมนยืนร้องเพลงนี้ไปตามเสียงกีตาร์หม่นเศร้าอยู่บน ‘โลงศพเปล่า’ ที่ถูกใช้เป็นเวทีชั่วคราว เพื่อเป็นการส่งสารถึงผู้คนในสังคมว่า คนผิวสีอย่างพวกเธอ ‘เหลืออด’ เพียงใดกับความสูญเสียที่ผ่านมาทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ Mississippi Goddam จึงขึ้นแท่นเป็น ‘เพลงสิทธิพลเมือง’ เพลงแรกของเธออย่างเต็มภาคภูมิ และหลังจากนั้น เธอก็ยังคงออกมาร้องเพลงอื่นๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิอีกหลายเพลง ไม่ว่าจะเป็น Four Women (1966) ที่ชี้ให้เห็นถึงชีวิตอันยากเข็ญของผู้หญิงผิวสี 4 นางจากหลากหลายบทบาท; Backlash Blues (1967) ที่ตอกย้ำถึงสถานะ ‘พลเมืองชั้นสอง’ ของคนผิวสี; Ain’t Got No, I Got Life (1968) ที่พยายามยืนยันว่า แม้จะถูกสังคมกีดกันจนแทบไม่เหลือคุณค่าอะไร แต่คนผิวสีก็ยังมีชีวิตและจิตวิญญาณอันเสรี; Why? (The King of Love Is Dead) (1968) ที่อุทิศให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ผู้ถูกลอบสังหารอย่าง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ หรือ Be Young, Gifted and Black (1969) ที่พร่ำบอกให้คนผิวสีรุ่นใหม่จงภาคภูมิใจในเชื้อชาติของตัวเอง
บัดนั้น, ซีโมนจึงกลายมาเป็นศิลปินที่มี ‘ภาพจำ’ ในฐานะของ ‘นักรณรงค์สิทธิคนผิวสี’ โดยสมบูรณ์
2020
I don’t belong here. I don’t belong there.
I’ve even stopped believing in prayer.
เกือบ 6 ทศวรรษถัดมา การร้องบรรเลงเพลงนี้ของซีโมนก็ยังคงฟังดู ‘ร่วมสมัย’ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อการเสียชีวิตของชายผิวสีที่ชื่อ จอร์จ ฟลอยด์ อันเป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่อันหละหลวมของตำรวจ-ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว-ในรัฐมินเนโซตานั้น ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวด้านสิทธิของคนผิวสีไปทั่วประเทศอเมริกาอีกครั้งอย่างใหญ่โตเกินคาด
‘ความรู้สึกท่วมท้น’ ที่ผมมีต่อความงดงามทางดนตรีจากการรับชม-รับฟังในครั้งแรกนั้น จึงค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปเป็น ‘ความรู้สึกหดหู่’ ที่มีต่อสารอันแสนจะร่วมสมัยของเนื้อหาแทน
ย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่การขับขาน Mississippi Goddam และเพลงประท้วงเพลงอื่นๆ แทบไม่ได้ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันอย่างเป็นรูปธรรมเลย ซีโมนผู้สิ้นหวังได้ตัดสินใจ ‘ลาขาด’ จากประเทศเกิดในปี 1970 โดยออกเดินทางรอนแรมเล่นดนตรีไปในหลายประเทศ ทั้งบาร์แบโดส, สวิตเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และไลบีเรีย – ซึ่งก็เป็นประเทศสุดท้ายนี้เองที่เธอบอกว่า ‘อยู่แล้วมีความสุขที่สุด’ ราวกับเธอได้หวนคืนสู่รากเหง้าคนผิวสีของตน และได้ใช้ชีวิตในที่ทางที่เธอควรอยู่จริงๆ เสียที
อย่างไรก็ดี ในปี 2019 ที่ผ่านมา -หลังการจากไปของซีโมนในปี 2003 ด้วยวัย 70 ที่ฝรั่งเศส- เพลง Mississippi Goddam ที่เคยถูกคนผิวขาวหยามเหยียดนั้น เพิ่งจะได้รับเลือกจากหอสมุดรัฐสภาของอเมริกาให้เป็นบทเพลงที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ ซึ่งมันอาจถือเป็น ‘ความยุติธรรม’ เพียงหนึ่งเดียวที่เธอเคยได้รับจากเพลงนี้ตลอดชั่วชีวิตของศิลปินผิวสีอย่างเธอ
และแม้ว่าเพลงนี้จะไม่ได้มี ‘งานภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลง’ อย่างมิวสิก วิดีโอ -ซึ่งเพิ่งจะเข้ามามีบทบาทจนกลายเป็นวัฒนธรรมสำคัญประจำโลกดนตรีนับจากยุค 80- มาช่วยสร้าง ‘ภาพจำ’ ที่น่าสนใจให้กับตัวเพลงเหมือนศิลปินรุ่นหลังๆ แต่คลิปการแสดงสดเพลงนี้ที่ดูเก่าจนขึ้นหิ้งของซีโมน ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่บ้างตาม YouTube ซึ่งหลายคลิปนั้นก็ออกมา ‘ทรงพลัง’ ได้โดยแทบไม่ต้องพึ่งพาเทคนิคอันน่าตื่นตาใดๆ ตามวิถีของมิวสิก วิดีโอในปัจจุบันเลย
คลิปที่ผมได้รับชมเป็นของยูสเซอร์นาม แอรอน โอเวอร์ฟิลด์ ที่ถูกอัพโหลดมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2013 โดยเจ้าของระบุว่า มันคือการแสดงสดที่อองทีบส์ ประเทศฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม ปี 1965 -หรือก็คืออีก 4 เดือนให้หลังจากเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงในเมืองเซลมา- เราจึงได้เห็นซีโมนในชุดเดรสส์ยาวร่วมเล่นเปียโนด้วยท่าทีขึงขังกับเหล่าเพื่อนนักดนตรีของเธอบนเวที ซึ่งถึงการตัดต่อในคลิปจะดูฉึบฉับเข้ากับจังหวะเพลงที่เร่งเร้าจนเกือบเริงร่า แต่ผู้ชมหลายคนก็ยังคงสัมผัสได้ถึงสีหน้าแววตาที่ดู ‘มึนตึง’ ของซีโมนขณะถ่ายทอดเนื้อหาที่ว่าด้วยความทุกข์ของคนผิวสีอยู่ดี
จนถึงตอนนี้ คลิปเพลงดังกล่าวมียอดเข้าชมสูงถึง 2.3 ล้านวิวแล้ว (ยอดนี้เพิ่มขึ้นจากเมื่อปีกลายอยู่หลายแสน) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความคิดเห็นจำนวนมากที่มีทั้งโศกเศร้า โกรธเกรี้ยว และสิ้นหวัง ก็น่าจะพออนุมานได้ว่า เป็นเพราะโศกนาฏกรรมซ้ำซากของของคนผิวสีอย่างจอร์จ ฟลอยด์นี่เองที่ทำให้คลิปนี้ถูกเปิดดู-เปิดฟังกันอย่างไม่หยุดหย่อน
ดังนั้น หากแม้ในวันหนึ่งข้างหน้า คลิปการแสดงสดนี้จะต้องถูกลบออกจาก YouTube เนื่องด้วยปัญหาด้านลิขสิทธิ์ที่อาจเกิดขึ้น แต่ ‘สาร’ ของมันก็น่าจะยังฝังติดอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่กดเข้ามารับชมไปอีกแสนนาน
20XX
“ชื่อของเพลงนี้คือ Mississippi Goddam และฉันหมายความตามนั้นทุกถ้อยคำ”
น้ำเสียง ‘มึนตึง’ ของซีโมนในคาร์เนกี ฮอลล์ที่ปรากฏในช่วงต้นของเพลงยังคงชัดเจนในหมู่ผู้ฟังเสมอมา แม้ว่ามันจะไม่ได้ถูกบันทึกเป็น ‘ภาพ’ เอาไว้ก็ตาม — เช่นเดียวกับเสียงหัวเราะของผู้ชมผิวขาวในเพลงเดียวกัน ที่ก็ยังคงดังก้องอยู่ไม่เคยเปลี่ยน
เสียงหัวเราะที่ทำให้การไขว่คว้าสิทธิความเท่าเทียมของประชาชนคนผิวสีอย่างเธอ ‘ยังคง’ เป็นเพียงแค่ ‘มุกตลก’ บนเวทีคอนเสิร์ต
พวกเขาจึง ‘ยังคง’ ต้องครวญบทเพลงเดิมอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า…
You don’t have to live next to me, just give me my equality.
…บทเพลงที่คงไม่มีมนุษย์คนไหนอยากให้ ‘สารอันแสนเศร้า’ ของมันอยู่ ‘เหนือกาลเวลา’ อีกต่อไป