Home Article มองพม่าร่วมสมัยผ่านภาพยนตร์

มองพม่าร่วมสมัยผ่านภาพยนตร์

มองพม่าร่วมสมัยผ่านภาพยนตร์

เช้าของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความประหลาดใจให้กับทั่วโลก และที่เกิดเหตุนั้นอยู่ติดบ้านเราไปทางตะวันตก พม่ามีการรัฐประหารเกิดขึ้นนำโดยพล.อ. มิน อ่อง หล่าย มีการควบคุมตัวนางออง ซาน ซู จี และสมาชิกอื่นๆ ของพรรคเอ็นแอลดี (NLD National League for Democracy) ไว้ในที่หนึ่งซึ่งยังไม่รู้สถานที่ว่าอยู่ที่ใด อินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้ได้ชั่วคราวและคนในประเทศไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปี เนื่องจาก “มีการทุจริตการเลือกตั้ง” ทหารออกมาลาดตระเวนและตรวจตราตามท้องถนน สถานการณ์ที่เลวร้ายอาจสามารถมองเทียบเคียงไปได้กับประเทศเราไม่กี่วันหลังจากการก่อรัฐประหารเราได้เห็นประชาชนของพม่าออกมาประท้วงมากมาย ทั้งเคาะหม้อสังกะสี ชูสามนิ้ว นัดหยุดงาน ดาราและศิลปินจากประเทศพม่าร่วมกันออกมาส่งเสียงให้กับคนข้างนอกได้ยิน และแม้แต่ในบ้านเราก็มีการประท้วงอยู่หน้าสถานฑูตเมียนมาร์ แต่การต่อสู้ของพวกเขาไม่ได้เพิ่งจะเริ่มต้น การต่อสู้กับรัฐบาลทหารของพม่านั้นมีเวลามานานแล้วกว่า 50 ปี และในตอนนี้เราไม่มีทางที่จะทราบได้เลยว่าระยะเวลาที่ประชาชนจะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพที่พวกเขาควรจะมีในประเทศนั้นต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด

มีเครื่องมือมากมายที่จะช่วยให้ทำความเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทั้งระหว่างชาติพันธุ์มากมายในประเทศ ไปจนถึงความขัดแย้งของทหารกับประชาชน ศาสนาพุทธอันเข้มข้น และสภาพสังคมเหลื่อมล้ำที่กดทับพวกเขาอยู่ หนังก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือนั้น และนี่คือส่วนหนึ่งของหนังทั้งยาวและสั้นที่พวกเราเลือกมาให้สามารถเห็นส่วนประกอบจนมองภาพใหญ่ของเหตุการณ์นี้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น หนังหลายเรื่องที่เลือกมา เป็นฝีมือของคนทำหนังหน้าใหม่จากเทศกาล Wathann Film Festival เทศกาลภาพยนตร์สั้นสารดีอิสระในพม่าที่เพิ่งครบสิบปีไปเมื่อปีที่แล้ว พวกเขาอัพโหลดหนังสั้นบางส่วนใน channel YouTube ของเทศกาล และเราขอหยิบมาแนะนำ นอกจากนี้ยังมีหนังยาวทั้งของพม่าและไทยพ่วงแถมมาอีกด้วย


Silence In Mrauk Oo (2018, Than Kyaw Htay & Thadi Htar)

หนังได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ประท้วงในเมืองมรัคอูในต้นปี 2018 การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ประท้วงชาวรักขิ่น ที่ส่งผลให้มีประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิต เรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินหนุ่มผู้เดินทางกลับไปเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการเสียชีวิตของพ่อ แต่สุดท้ายก็ไม่พบคำตอบว่าสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของพ่อนั้นคืออะไร และมีอะไรเกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้นกันแน่


Now I’m 13 (2014, Shin Daewe)

เด็กสาวอายุ 13 ทำอาชีพเป็นเด็กเลี้ยงแพะ เธอเป็นแรงงานเด็กตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ไม่สามารถเข้าเรียนตามโรงเรียนได้เพราะต้องเลี้ยงดูครอบครัว เฉกเช่นกับเด็กอีกหลายหมื่นคนในพม่าที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเพื่อได้โอาสและอนาคตที่ดีกว่า เธอบอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิต และยังมีความหวังว่าถ้าเกิดประเทศนี้เปลี่ยนแปลงไป เธอคงจะมีอนาคตที่ดีกว่านี้ และคงได้เรียนหนังสือสักที


Home Work (2014, Lamin Oo)

สารคดีที่ถ่ายทอดความเป็นไปของครอบครัวหนึ่งในช่วงกลางคืน ที่ลูกสาวต้องทำการบ้านกับแม่ของเธอทุกๆ คืน เว้นเสียแต่ว่าพ่อของเธอไม่ได้อยู่ที่นั่นจริงๆ พ่อของเธอทำงานที่กรุงเทพ ทั้งพ่อและแม่ต่างแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบชีวิตความเป็นไปในถิ่นที่ตัวเองอยู่ และคุยกับเธอผ่านวิดีโอแชทในขณะเด็กหญิงทำการบ้าน นี่เป็นช่วงเวลาเดียวที่ทั้งครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน


This Land Is Our Land (2014, Sai Song Kham)

ชาวนาทั้ง 5 คนต่างกำลังเผชิญปัญหาในการที่จะกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง หลังจากที่ต้องเสียพื้นที่ในการสร้างอาชีพของตัวเองในแต่ละบริบท หนึ่งคนสูญเสียที่นาในการทำกินเนื่องจากรัฐบาลยึดพื้นที่คืนด้วยการปักป้ายขึ้นว่าเป็นป่าสงวนโดยไม่มีการบอกกล่าว คนที่สองต้องเข้าไปลักลอบตัดไม้นำมาทำเป็นฟืนเพื่อขาย และรับจ็อบเล็กจ็อบน้อยมากมาย เพื่อมาเลี้ยงดูครอบครัวโดยไม่มีทางเลือกอื่นโดยที่เขาก็รู้ดีว่าการตัดไม้ไม่ใช่สิ่งที่ดี คนที่สามโดนน้ำจากแม่น้ำอิรวดีท่วมในหมู่บ้านที่เป็นเกาะจนไม่สามารถปลูกพืชได้ แต่ในขณะที่คนอื่นย้ายออกจากหมู่บ้านเพราะน้ำท่วมและหางานทำในเมืองหลวง แต่เขายังอยู่ คนที่สี่สามารถทำนาได้แค่แปลงเดียว หลังจากอีกสองแปลงของเขาถูกทางรัฐยึดไปและได้ค่าสินไหมทดแทนในการถูกยึดพื้นที่แค่นิดเดียว คนที่ห้ากำลังจะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ เนื่องจากบริเวณใกล้ๆ หมู่บ้านมีการพบถ่านหิน จึงเกิดการขุดถ่านและนำดินที่ขุดมาเททิ้งไว้ที่บริเวณข้างๆ หมู่บ้าน ซึ่งทำให้พืชไร่ และความเป็นอยู่ของเขาได้รับผลกระทบไปด้วย แต่ถึงแม้ทุกคนจะโดนผลกระทบเหล่านี้ แต่พวกเขาก็ยังไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะถ้าเลิกทำก็เท่ากับอดตาย


A Peaceful Land (2016, Sai Song Kham & Lamin Oo)

ในปี 2005 รัฐบาลพม่ามีโครงการที่จะปลูกพืชสบู่ดำไปทั่วประเทศเพื่อนำมาผลิตน้ำมันดีเซล โครงการนี้ถูกตั้งความสำคัญถึงขั้น “หน้าที่เพื่อชาติ” ที่ต้องปลูกพืชชนิดนี้ มีการปลูกพืชสบู่ดำมากกว่า 8 ล้านไร่ภายใน 3 ปี แต่โครงการก็ทำให้ไร่ของชาวนาที่กำลังทำมาหากิน กลายเป็นพื้นที่ของทางทหารเพื่อปลูกสบู่ดำ และกลายเป็นแรงงานที่ไม่เป็นธรรมที่ต้องทำไร่สบู่ดำไปโดยปริยาย เมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบากและความไม่เป็นธรรม ชาวนาทั้งสี่คนในเมือง Nat Mauk ต่อสู้กับทางการรัฐเพื่อสิทธิที่พวกเขาควรจะมี และที่ดินที่เป็นของเขามาตั้งแต่แรก


Thaa Shin Pyu (2017, Edo Vader)

Ko Bo Maung มีแผนที่จะจัดงานบวชให้กับลูกชายหลังจากที่หมดฤดูเก็บเกี่ยวแล้วขายข้าวได้หมด แต่รัฐบาลกับกลุ่มนายทุนได้ยึดพื้นที่ทำเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านหนีออกมาและกลายเป็นคนไร้บ้าน วันหนึ่งเขาได้เห็นเพื่อนบ้านของตนเองขายไต ทำให้เขาคิดว่าจะขายไตเพื่อนำมาเงินมาจัดงานบวช แต่เขาก็ถูกปล้นระหว่างทางกลับบ้าน ทำให้เกิดการตัดสินใจที่มีจุดจบไม่สวยนัก


https://www.youtube.com/watch?v=TUrW2ATzUtg

The Clinic (2012, Ko Ju & Aung Min & The Maw Naing)

Aung Min เป็นหมอชาวบ้านที่เปิดคลินิกรักษาคนไข้ที่ชานเมืองย่างกุ้ง และเดินทางไปรักษาคนไข้นอกสถานที่เช่นกัน เขาเป็นเจ้าของเรื่องและเป็นคนเขียนบทหนังอิสระในพม่าหลายต่อหลายเรื่อง นี่คือการติดตามชีวิตประจำวันของ Aung Min ไปพร้อมกับการรับรู้มุมมองความคิดของเขา และสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ซึ่งค่อยๆ ก่อรูปร่างของหนังเรื่องนี้ จนกระทั่งทำให้เขาเป็นผู้กำกับร่วม


Mrauk Oo Story (2015, Aung Min)

เรื่องราวความวุ่นวายของเด็กเก็บขยะในเมืองมรัคอู 4 คนที่บังเอิญเก็บแท็บเล็ตของนักท่องเที่ยวมาได้ จึงเกิดความวุ่นวายตามมา


https://www.youtube.com/watch?v=QFI4fiLR24A

The Burmese in Thailand (2013, สุรี ขันตยาลงกต)

เรื่องราวการเดินทางของคนพม่าเข้ามาทำงานเป็นแรงงาน รวมไปถึงการใช้ชีวิต และอนาคตของพม่า ผ่านการเล่าเรื่องของ “เจท “ลูกจ้างพม่าที่ทำงานในร้านต้มเลือดหมู ผู้ทำหน้าที่ตั้งแต่ซื้อของ เตรียมของ ตั้งร้าน ขายของ จนกระทั่งเก็บร้าน เสมือนเป็นเจ้าของร้านเสียเอง


Unfinished Painting (2015, Wai Mar Nyunt)

ชีวิตของผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของพม่าตั้งแต่ที่เธอเป็นวัยรุ่นร่วมกับพ่อและครอบครัว ผ่านความยากลำบากมากมาย เหมือนงานรายงานข่าวที่เธออยากทำ และยังเรียนรู้สถานการณ์ใหม่ๆ ด้วยทัศนคติการความเชื่อที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันของเธอ


The Road To Mandalay (2015, Midi Z)

อีกหนึ่งผลงานที่น่าติดตามของมิดี ซี (Midi Z) ผู้กำกับชาวลูกครึ่งไต้หวัน-พม่า ที่จับเรื่องของแรงงานเถื่อนจากพม่าที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เพื่อหาเงินและหาโอกาสทำงานที่ดีกว่า เลี่ยนชิง (นำแสดงโดยอู๋เค่อซี นักแสดงคู่บุญของมิดี ซี) เป็นหนึ่งในนั้นที่ยอมเดินทางจากเมืองล่าเสี้ยว มาทำงานในกรุงเทพ และได้พบกับอากู่ (เคอเจิ้นตงที่พลิกบทบาทจาก You Are the Apple of My Eye ได้อย่างไม่น่าเชื่อ) ที่คอยพยายามสานสัมพันธ์กับเธอ และชวนเธอไปทำงานที่โรงงานทอผ้าด้วยกัน อากู่มีความฝันที่จะเก็บเงินเพื่อไปเปิดกิจการที่บ้านเกิด แต่เลี่ยนซิงฝันว่าอยากจะมีชีวิตที่ดีที่ไต้หวัน เธอจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ไปที่นั่น โดยใช้วิธีผิดกฎหมายมากมาย และเป้าหมายที่แตกต่างระหว่างเลี่ยนซิงกับอากู่ ทำให้เกิดความขัดแย้งบางอย่างที่เกินคาดเดา


ดินไร้แดน (Soil Without Land) (2019, นนทวัฒน์ นำเบญจพล)

สารคดีบันทึกเรื่องราวการสำรวจพื้นที่บริเวณรัฐกันชนระหว่างประเทศไทยและพม่า ทางภาคเหนือของไทย ซึ่งเคยเป็นดินแดนของผู้อพยพชาวไทใหญ่และชนกลุ่มน้อยที่ลี้ภัยสงครามจากประเทศพม่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ปัจจุบันจากค่ายผู้ลี้ภัยถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ฝึกฝนกองกำลังทหารกู้ชาติไทใหญ่เพื่อป้องกัน ปลดแอกและเรียกร้องอิสรภาพและเอกราชจากรัฐบาลทหารพม่า นนทวัฒน์เริ่มต้นจากคำถามว่าภายหลังการเลือกตั้งของพม่าและได้นางอองซานซูจีขึ้นเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า ชะตากรรมของชาติพันธ์ที่ตกอยู๋ในสงครามที่ยืดเยื้อนั้นจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here