หนังทะเยอทะยานเรื่องล่าสุดนี้จากฝีมือ เดวิด ฟินเชอร์ ลงสตรีมมิ่งแล้วทาง Netflix ท่ามกลางบทวิจารณ์ชื่นชมเซ็งแซ่ว่ามีสิทธิลุ้นรางวัลสำคัญบนเวทีออสการ์ครั้งต่อไปแน่นอน หนังสร้างจากบทที่เขียนโดย แจ็ค ฟินเชอร์ พ่อผู้ล่วงลับของเดวิดเอง ว่าด้วย เฮอร์แมน เจ แมงคีวิกซ์ หรือ “แมงค์” นักเขียนบทมือทองของฮอลลีวูดขณะพยายามให้กำเนิดบท Citizen Kane โดย Mank เล่าสองเส้นเรื่องสลับกัน หนึ่งคือ เรื่องแฟลชแบ็คไปยังช่วงทศวรรษ 1930 ตั้งแต่วันที่แมงค์ยังรุ่งเรือง เริ่มตกต่ำ และได้พบเหตุการณ์บ้าๆ ทั้งหลายซึ่งกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เขาคิดบท Kane และสองคือ เรื่องช่วงปลายทศวรรษ 1930 – ต้น 1940 ที่แมงค์นอนเข้าเฝือกพักฟื้นอาการบาดเจ็บ พร้อมๆ กับกัดฟันลงมือเขียน Kane ไปด้วย
ด้วยพล็อตที่ว่านี้ Mank จึงเต็มไปด้วยการอ้างอิงพาดพิงบุคคลสำคัญที่มีตัวจริงและเหตุการณ์เด่นๆ ในฮอลลีวูดยุคนั้น ได้แก่
เฮอร์แมน เจ แมงคีวิกซ์ (รับบทโดย แกรี โอลด์แมน)
แมงค์เกิดในครอบครัวเยอรมัน-ยิว เริ่มต้นอาชีพจากการเป็นนักข่าว นักวิจารณ์ละคร นักเขียนบทละครวิทยุ ละครเวที แล้วกลายมาเป็นคนเขียนบทหนังตั้งแต่ปี 1926 ด้วยการร่วมงานกับค่ายพาราเมาท์และเอ็มจีเอ็มในหนังทำเงินอย่าง Man of the World, Dinner at Eight และ The Wizard of Oz ซึ่งทำให้เขาก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในมือเขียนบทผู้ปราดเปรื่องที่ได้ค่าจ้างแพงที่สุดในฮอลลีวูดต้นยุค 30 ก่อนที่นิสัยขี้เมา ติดพนัน และความนอกคอกจะทำให้เขากลายเป็นที่เข็ดขยาดและตกงานในไม่กี่ปีต่อมา กระทั่งได้รับข้อเสนอจากคนทำหนังหน้าใหม่วัย 24 ปีนาม “ออร์สัน เวลส์” ให้มาเขียนบทหนังชื่อ “Citizen Kane”
ครอบครัวแมงคีวิกซ์ถือว่ามีบทบาทในฮอลลีวูดมากๆ เพราะนอกจากแมงค์แล้ว โจเซฟ แอล แมงคีวิกซ์ น้องชายของเขา (ใน Mank รับบทโดย ทอม เพลฟรีย์) ก็ประสบความสำเร็จสุดๆ ทั้งในฐานะคนเขียนบทและผู้กำกับ (เขาคว้าออสการ์ 2 ปีติดกันจาก A Letter to Three Wives ปี 1949 และ All About Eve ปี 1950), ดอน ลูกชายของเขาก็เป็นคนเขียนบทหนังระดับชิงออสการ์ (I Want to Live! ปี 1958), ทอม หลานชายเขาเป็นคนเขียนบทหนัง เจมส์ บอนด์ หลายภาค, เบน หลานปู่ของเขาเป็นพิธีกรช่องหนังคลาสสิก Turner Classic Movies นอกจากนั้น แฟรงค์ ลูกชายอีกคนของเขาก็ยังเคยเป็นผู้ช่วยวุฒิสมาชิก โรเบิร์ต เคนเนดี และเป็นประธาน National Public Radio ด้วย
*ใน Mank มีฉากหนึ่งเล่าถึงวีรกรรมน่าทึ่งของแมงค์ที่เคยควักเงินส่วนตัวช่วยคนยิวหลายร้อยคนในเยอรมนีให้อพยพหนีนาซีมายังอเมริกา ซึ่งนี่เป็นเรื่องจริง แม้ว่าเขาจะไม่ได้ช่วย “ทั้งหมู่บ้าน” อย่างที่ได้ยินในหนังก็ตาม และความเจ๋งของแมงค์ไม่ได้จบแค่นั้น ในปี 1933 เขาเขียนบทและพยายามจะสร้างหนังต่อต้านนาซีชื่อ The Mad Dog of Europe ซึ่งมีตัวร้ายชื่อ “อดอล์ฟ มิตเลอร์” ด้วย ความพยายามนี้ของเขามีส่วนสำคัญในการทำให้สังคมอเมริกันเริ่มตระหนักถึงความน่าหวาดกลัวของนาซี และส่งผลให้ โยเซฟ เกิบเบิลส์ รัฐมนตรีวัฒนธรรมของนาซีสั่งแบนไม่ให้ผลงานทุกชิ้นที่มีชื่อแมงค์ได้ฉายในเยอรมนี
ออร์สัน เวลส์ (รับบทโดย ทอม เบิร์ก)
แม้จะโผล่มาใน Mank ไม่กี่ฉาก แต่มีอิทธิพลต่อทั้งเรื่อง …ในปี 1938 “เด็กอัจฉริยะ” ผู้กำลังดังจากงานละครวิทยุ The War of the Worlds(ดัดแปลงจากนิยายไซไฟของ เอช จี เวลส์) คนนี้ได้รับดีลพิเศษจากค่าย RKO ให้ทำหนังยาวเรื่องแรกในชีวิตโดยเป็นหนังอะไรก็ได้ แต่เนื่องจากคนในฮอลลีวูดหลายคนเกลียดขี้หน้าเวลส์ เขาจึงหันไปชวนมือดีที่กำลังตกอับอย่างแมงค์ (ซึ่งเคยช่วยเขาเขียนบทละครวิทยุมาก่อน) มาร่วมงาน ภายใต้เงื่อนไขแรกว่าแมงค์จะได้ค่าจ้างอย่างงาม แต่จะไม่ได้เครดิตเป็นผู้เขียนบท
แรกสุด เวลส์กับแมงค์คิดจะเขียนหนังชีวประวัติ อเล็กซองดร์ ดูมาส์ (ผู้แต่งนิยาย The Three Musketeers) ก่อนที่แมงค์จะเสนอให้เปลี่ยนมาเป็นเรื่องของ วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สต์ เจ้าพ่อหนังสือพิมพ์ผู้ทรงอิทธิพลซึ่งเป็นเรื่องที่เขาอยากทำเป็นละครเวทีมา 15 ปีแล้ว แต่หลังจากเวลส์ได้รับบทของแมงค์ที่หนาถึง 325 หน้า เขาก็จัดการตัดบางส่วนทิ้งและแก้ไขหลายฉากบนความเชื่อว่ามันจะต้องเป็นงานแจ้งเกิดของเขาคนเดียว นี่น่าจะเป็นเหตุผลที่เมื่อแมงค์เรียกร้องขอเครดิตในเวลาต่อมา เขาจึงใส่ชื่อแมงค์กับตัวเขาเป็นผู้ร่วมเขียนบท (ทั้งคู่ชนะออสการ์สาขานี้ แต่ไม่ไปรับรางวัล)
วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สต์ (รับบทโดย ชาร์ลส์ แดนซ์)
เจ้าของหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันผู้สุดร่ำรวยและทรงอิทธิพลทั้งในวงการธุรกิจและการเมือง เคยชนะเลือกตั้งได้เข้าสภาสองสมัยในนามพรรคเดโมแครต ก่อนจะพ่ายแพ้ในสนามนายกเทศมนตรีนิวยอร์กซิตี, ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก และประธานาธิบดี หลังจากนั้นเขาก็เปลี่ยนจุดยืนมาเป็นฝ่ายขวาและใช้อิทธิพลหนุนหลัง แฟรงค์ เมอร์เรียม ตัวแทนจากพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียปี 1934 อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู (หนังสือพิมพ์ของเขายังเคยสัมภาษณ์อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในปีเดียวกันนี้และตีพิมพ์คอลัมน์ของนาซีด้วย)
ความยิ่งใหญ่ของเฮิร์สต์และความสัมพันธ์ของเขากับดาราสาว แมเรียน เดวีส์ ถูกแมงค์ใช้เป็นต้นแบบของตัวละคร “ชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ เคน” ใน Citizen Kane
แมเรียน เดวีส์ (รับบทโดย อแมนดา ซีย์ฟรีด)
จากคอรัสสาวบนเวทีกลายมาเป็นนางเอกแถวหน้าด้วยการผลักดันของ วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สต์ ซึ่งเป็นชู้รักกับเธอ (เขาแต่งงานแล้ว) เขาใช้ทั้งเงินและหนังสือพิมพ์ของตนเชียร์สุดขีดจนเธอได้เล่นหนังถึง 46 เรื่องตั้งแต่ยุคหนังเงียบมาจนถึงหนังเสียง แต่ขณะเดียวกันการบงการจุ้นจ้านของเฮิร์สต์ก็ทำให้ค่ายหนังไม่ค่อยปลื้มเธอเท่าไหร่นัก
แมงค์ใช้เดวีส์เป็นแรงบันดาลใจของตัวละคร “ซูซาน” ดาราและชู้รักสาวสวยไร้สมองของชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ เคนใน Citizen Kane แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า แมงค์สนิทสนมกับแมเรียนในชีวิตจริงมากและมักพูดว่าแมเรียนเป็นคนฉลาดกว่าที่คนอื่นๆ คิด ส่วนซูซานเป็นแค่ “ภาพลักษณ์ที่ถูกสังคมจดจำ” ของเธอเท่านั้น
อัพตัน ซินแคลร์ (รับบทโดย บิลล์ นาย พิธีกรรายการวิทยาศาสตร์ชื่อดัง)
นักเขียนและนักปฏิรูปหัวก้าวหน้าจากพรรคเดโมแครตที่ลงสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1934 แต่ถูกคว่ำด้วยกลโกงของเฮิร์สต์ที่จับมือกับ เออร์วิง ธัลเบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเอ็มจีเอ็ม ทำ “ข่าวปลอม” (ด้วยการใช้นักแสดงกลุ่มหนึ่งมาเล่นเป็นชนชั้นกลางที่สนับสนุนเมอร์เรียม อีกกลุ่มหนึ่งเป็นคนยากจนที่สนับสนุนซินแคลร์เพื่อสร้างภาพว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์) และเฮิร์สต์ยังปล่อยข่าวลือลงหนังสือพิมพ์ตัวเองอีกด้วยว่า ถ้าซินแคลร์ชนะ อุตสาหกรรมหนังจะย้ายออกจากแคลิฟอร์เนียไปอยู่ฟลอริดาแทน
เรื่องราวที่ว่าข้างต้นนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ใน Mank ยังจินตนาการเหตุการณ์เกี่ยวกับซินแคลร์เพิ่มเองอีก 3 จุดเพื่อผลทางดราม่า ได้แก่
1. “แมงค์เป็นคนจุดประกายให้ธัลเบิร์กเกิดไอเดียทำข่าวปลอมใส่ร้ายซินแคลร์” > ไม่มีหลักฐานว่าแมงค์ทำแบบนั้น
2. “ผู้กำกับ เชลลี เมตคาล์ฟ ซึ่งเป็นเพื่อนของแมงค์ เป็นคนกำกับข่าวปลอมดังกล่าว” > เมตคาล์ฟไม่มีตัวตนจริง บท Mank น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากอีกคนหนึ่งคือ เฟลิกซ์ อี ฟีสต์ ผู้กำกับเทสต์ช็อตวัย 24 ปีของเอ็มจีเอ็มซึ่งเกี่ยวข้องกับการถ่ายทำข่าวปลอม ทว่าเขาไม่ได้ลงเอยแบบเมตคาล์ฟในหนัง เขามีชีวิตการทำหนังรุ่งเรืองต่อมาหลายสิบปี
3. “แมงค์โกรธกรณีข่าวปลอมมากจึงตัดสินใจเขียนบท Citizen Kane เพื่อประจานเฮิร์สต์” > ไม่เคยมีหลักฐานชี้ว่าแมงคีวิกซ์ขัดแย้งกับเฮิร์สต์เพราะเรื่องนี้ และอันที่จริงเขาไม่ได้ฝักใฝ่แนวคิดฝ่ายซ้ายของซินแคลร์เลย เขามีแนวโน้มเป็นอนุรักษ์นิยม ปฏิเสธการมีสหภาพแรงงานและน่าจะไม่ได้เลือกซินแคลร์หรือมีบทบาทเกี่ยวข้องใดๆ กับการเลือกตั้งคราวนั้นด้วยซ้ำ คนที่มีบทบาทจริงๆ คือโจเซฟน้องชายของเขาซึ่งเขียนบทละครวิทยุต่อต้านซินแคลร์)
เออร์วิง จี ธัลเบิร์ก (รับบทโดย เฟอร์ดินันด์ คิงสลีย์)
ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเอ็มจีเอ็มและโปรดิวเซอร์มือฉมังเจ้าของฉายา “เด็กมหัศจรรย์แห่งฮอลลีวูด” เขาเริ่มทำงานนี้ในปี 1925 ขณะอายุแค่ 26 ปี (และเสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบในปี 1936 ขณะอายุเพียง 37 ปี) โดยเป็นผู้ดูแลทุกแง่มุมทั้งด้านศิลปะและธุรกิจของหนังกว่า 400 เรื่อง มีผลงานโด่งดังทำเงินอย่าง Ben-Hur, Mutnity on the Bounty, Grand Hotel, The Good Earth
แต่นอกจากด้านบวก ธัลเบิร์กก็ยังถูกหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ประทับตราเป็น “บิดาแห่งโฆษณาโจมตี” (“Father of the Attack Ad”) ในปี 1992 ด้วย จากผลงานปี 1934 ที่เขาร่วมมือกับเฮิร์สต์และ ลูอิส บี เมเยอร์ เจ้าของค่ายเอ็มจีเอ็ม ทำข่าวปลอมใส่ร้ายอัพตัน ซินแคลร์ จนพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง
ลูอิส บี เมเยอร์ (รับบทโดย อาร์ลิสส์ เฮาเวิร์ด)
ผู้ร่วมก่อตั้งเมโทร-โกลด์วิน-เมเยอร์หรือเอ็มจีเอ็ม สตูดิโอยักษ์ใหญ่แห่งฮอลลีวูดยุคทอง เป็นผู้บริหารที่ทำเงินมากที่สุดคนหนึ่งของวงการหนัง แต่เมื่อสหรัฐฯ ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำช่วง Great Depression เมเยอร์ก็ทำแบบที่เราเห็นใน Mank คือบีบน้ำตาขอร้องให้ลูกน้องทุกคนยอมถูกตัดเงินเดือน 50% โดยสัญญาว่าธนาคารกลับสู่ภาวะปกติเมื่อไหร่จะชดเชยเงินคืนให้ (แต่เขาไม่เคยทำ) นอกจากนั้น ด้วยความที่เป็นประธานพรรครีพับลิกันในแคลิฟอร์เนีย เมเยอร์ยังเรียกร้องให้ลูกน้องบริจาคเงินช่วยแคมเปญหาเสียงของแฟรงค์ เมอร์เรียม กับยังร่วมมือผลิตข่าวปลอมใส่ร้ายคู่แข่งด้วย
นอกจากด้านผลงานหนังอันโดดเด่นและบทบาททางการเมือง เมเยอร์ยังถูกจดจำในด้านร้ายจากพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศนักแสดงหญิงมากมาย เช่นกรณีของ จูดี้ การ์แลนด์ นางเอก The Wizard of Oz (1939) ซึ่งถูกบังคับให้ใช้ยาเสพติดขณะอยู่ในกองถ่ายและถูกเมเยอร์ละเมิดต่อเนื่องนานหลายปี
ชม Mank ได้ที่ Netflix