Home Article Food & Film Your Name : ในโลกต่างกาลที่ ‘น้ำลาย’ กลายเป็น ‘สาเก’ …ถ่มความรังเกียจทิ้ง, กำซาบสิ่งที่จริงแท้

Your Name : ในโลกต่างกาลที่ ‘น้ำลาย’ กลายเป็น ‘สาเก’ …ถ่มความรังเกียจทิ้ง, กำซาบสิ่งที่จริงแท้

Your Name : ในโลกต่างกาลที่ ‘น้ำลาย’ กลายเป็น ‘สาเก’ …ถ่มความรังเกียจทิ้ง, กำซาบสิ่งที่จริงแท้

บนปรัมพิธีของศาลเจ้าประจำเมืองริมทะเลสาบอย่างอิโตโมริในค่ำคืนอันสลัวงาม พี่น้องสองสาววัยละอ่อนในชุดสีขาว-แดงกำลังร่ายรำไปตามจังหวะระหว่างพิธีกรรมแบบชินโต ก่อนที่พวกเธอจะนั่งลงหยิบข้าวนึ่งที่เตรียมไว้ขึ้นมาเคี้ยวอยู่ชั่วครู่ บ้วนมันพร้อมน้ำลายลงไปในภาชนะบรรจุทรงสี่เหลี่ยมที่ทำจากไม้ และผูกปิดด้านบนด้วยด้ายถักสีแดงอย่างเรียบร้อยแน่นหนา

รอคอยแค่ ‘กาลเวลา’ มาแปรเปลี่ยนมันให้กลายเป็น ‘สาเก’ (Sake) ในอีกไม่ช้าไม่นาน

“อี๋ ฉันไม่มีทางทำแบบนั้นแน่ ไม่อายกันบ้างหรือไงนะ” นักเรียนหญิงรุ่นราวคราวเดียวกันผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ มิสึฮะ -ที่กำลังบ้วนข้าวลงภาชนะกักเก็บเคียงคู่กับน้องสาวอยู่บนปรัมพิธี- กล่าวขณะยืนดูการกระทำนั้นอยู่กับเพื่อนๆ ด้วยท่าทีเดียดฉันท์เต็มกลืน

นี่คือเหตุการณ์เล็กๆ ที่สร้างความรำคาญใจให้แก่มิสึฮะ-ผู้ที่ต้องสืบทอดพิธีกรรมประจำตระกูลของตนอย่างไม่เต็มใจนัก ก่อนที่เด็กสาวชนบทอย่างเธอจะได้พบเจอกับความวุ่นวายจากการต้อง ‘สลับร่าง’ กับเด็กหนุ่มอีกคนจากกรุงโตเกียว รวมถึงเผชิญหน้ากับความสูญเสียครั้งใหญ่จากปรากฏการณ์ ‘ดาวตก’ ที่กำลังจะเกิดขึ้น — ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวอันแสนลึกซึ้งกินใจใน Your Name หนังอนิเมะยอดนิยมของ มาโคโตะ ชินไค ที่ทำรายได้และกวาดคำชมจากทั่วโลกไปเมื่อปี 2016

…ว่าแต่ ‘น้ำลาย’ ของมิสึฮะที่ถูกนำมาใช้หมักสาเกเป็นสิ่งที่ ‘น่ารังเกียจ’ ขนาดนั้นเลยเชียวหรือ?

1

‘สาเก’ เป็นชื่อเรียกของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศญี่ปุ่นที่คนทั่วโลกต่างคุ้นหูคุ้นตากันดี ซึ่งโดยทั่วไป สาเกจะเกิดจากการนำเอาน้ำสะอาดมาหมักกับ ‘ข้าว’ ที่ถูกเพาะ ‘หัวเชื้อ’ อย่าง โคจิ (Koji) -หรือก็คือเชื้อราสายพันธุ์ Aspergillus Oryzae อันอุดมไปด้วยเอนไซม์บางชนิดที่มีคุณสมบัติในการย่อยแป้งเป็นน้ำตาล- เอาไว้ ซึ่งจะช่วยเปิดทางให้จุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ (เช่น ยีสต์) สามารถเข้าไปทำปฏิกิริยากับน้ำหมักข้าวจนกลายสภาพเป็น ‘แอลกอฮอล์’ ได้ง่ายขึ้น

ขณะที่กรรมวิธีการทำสาเกที่เราได้เห็นในฉากข้างต้นของ Your Name นั้นจะแตกต่างออกไป เพราะ ‘หัวเชื้อ’ ที่ถูกใช้ในการย่อยแป้งไม่ใช่ ‘โคจิ’ ตามขนบสากล …หากแต่คือ ‘น้ำลาย’ ในช่องปากของมนุษย์เรานี่เอง

หากพิจารณาจากชื่อเรียกของมันอย่าง ‘คุจิคามิสาเก’ (Kuchikamizake) หรือ ‘สาเกที่ถูกเคี้ยวจากปาก’ (คำว่า คุจิ = ปาก / คามิ = เคี้ยว) แล้ว -ซึ่งในที่นี้จะขอเรียกสั้นๆ ว่า ‘สาเกน้ำลาย’- ก็แน่นอนว่ามันเป็นการนำเอา ‘ข้าวที่ผ่านการเคี้ยวแล้วคาย’ มาหมักเก็บไว้ไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ จนกลายเป็นแอลกอฮอล์จากข้าวที่มีสีขาวขุ่นและมีรสชาติกระเดียดไปทางเปรี้ยว โดยในยุคแรกเริ่ม สาเกน้ำลายจะมีลักษณะข้นเหนียวคล้าย ‘โจ๊ก’ มากกว่าที่จะขุ่นเหลวแบบ ‘เครื่องดื่ม’ เหมือนในยุคถัดๆ มา (สืบเนื่องจากกรรมวิธีที่ยังคง ‘กากใย’ ของข้าวเอาไว้ ผิดจากสาเกทั่วไปในปัจจุบันที่ล้วนผ่านกระบวนการกรองและการฆ่าเชื้อ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและสร้างความสะอาดปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคเรียบร้อยแล้ว) จนทำให้มีคนในแวดวงบางส่วนถึงขั้นไม่อยากนับญาติว่า สาเกน้ำลายคือ ‘สาเก’ ด้วยซ้ำไป

แต่กระนั้น สาเกน้ำลายก็ยังถือได้ว่าเป็นหนึ่งในแอลกอฮอล์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก เพราะก่อนหน้าที่หัวเชื้ออย่างโคจิจะเริ่มเป็นที่แพร่หลายในยุคนาระ (ศตวรรษที่ 8) ชนเผ่าท้องถิ่นจากแถบฮอกไกโดและโอกินาวะในยุคโจมงช่วงท้าย (1,000 – 400 ปีก่อนคริสตกาล) ได้นำเอาผลผลิตข้าวจำนวนมากจากศาสตร์การทำ ‘นาเปียก’ ของชาวจีน มาควบรวมกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านอย่าง ‘การหมักแอลกอฮอล์ด้วยน้ำลาย’ จากพืชประเภทเมล็ดที่สะสมแป้ง (อาทิ ข้าวฟ่าง, บักวีต, ลูกโอ๊ก และเกาลัด) เพื่อใช้เป็นยาหรือใช้ในพิธีกรรม สาเกน้ำลายจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการนับแต่บัดนั้น

จนกระทั่งในยุคยาโยอิ (300 ปีก่อนคริสตกาล – ศตวรรษที่ 3) เมื่อแนวคิดบูชาเทพเจ้าตามธรรมชาติของลัทธิชินโตเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมเกษตรกรรมของญี่ปุ่นมากขึ้น จนข้าวถูกยกสถานะให้เป็น ‘อาหารศักดิ์สิทธิ์’ ที่สื่อถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง การเปลี่ยนผ่านของสรรพชีวิต/ฤดูกาล หรือแม้แต่ความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน สาเกน้ำลายจึงพลอยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องบรรณาการแด่เทพเจ้า-รวมถึงองค์จักรพรรดิ-ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ไปด้วย

และบุคคลหนึ่งเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ ‘เคี้ยวข้าว’ เพื่อใช้ทำสาเกในพิธีกรรมเหล่านี้ ณ ช่วงเวลาดังกล่าว …ก็มีเพียง ‘มิโกะ’ เท่านั้น

2

มิโกะ (Miko) ไม่ใช่นามอันเจาะจงของปัจเจกชน หากแต่คือชื่อเรียกตำแหน่งของ ‘ผู้หญิง’ คนใดก็ตามที่เป็น ‘ผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา’ ในลัทธิชินโต

ด้วยความที่ชาวญี่ปุ่นในสมัยโบราณเชื่อว่า ‘ผู้หญิง’ เป็นเพศผู้ให้กำเนิดที่เปี่ยมไปด้วย ‘พลังแห่งชีวิต’ พวกเธอ-โดยเฉพาะหญิงสาวผู้อ่อนเยาว์-จึงได้รับเลือกให้เป็น ‘สื่อกลางศักดิ์สิทธิ์’ ในการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า และใช้พลังของเพศหญิงในการขจัดปัดเป่า ‘มลทิน’ ทั้งหลายออกไป (ดังเช่นที่พวกเธอสามารถขับ ‘ของเสีย’ ออกจากร่างกายผ่านการมีประจำเดือนได้) ซึ่งก็รวมถึงการหมักสาเกของ ‘สาวบริสุทธิ์’ เพื่อมอบถวายแด่โลกเบื้องบน ที่คล้ายกับเป็น ‘สะพาน’ เชื่อมต่อให้มนุษย์ได้ใกล้ชิดกับเทพเจ้ามากขึ้น ผ่านการใช้ ‘น้ำลาย’ ของเหล่าสตรีที่ได้รับการยกย่องเทิดทูนอย่างมิโกะนั่นเอง

ทว่าบทบาทของ ‘ผู้หญิง’ ในโลกของ ‘สาเก’ ก็ดูจะเปลี่ยนแปลงไปมากในยุคหลังๆ มานี้

เนื่องจากในช่วงเวลากว่าหนึ่งสหัสวรรษที่ผ่านมา ผู้หญิงได้กลายเป็นเพศที่ถูกสังคมญี่ปุ่นมองว่า ‘ไม่เหมาะสม’ กับวัฒนธรรมแอลกอฮอล์ไปเสียแล้ว โดยเฉพาะกับการประกอบสัมมาอาชีพในแวดวงสาเกอันถือเป็นหนึ่งในธุรกิจทำเงินของประเทศ ซึ่งหากเทียบจากสถิติตัวเลขของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตผลิตสาเกกว่า 1,500 ราย ที่กลับมีชื่อของผู้หญิงอยู่แค่ 50 รายเท่านั้น ก็คงพอจะเห็นได้ว่า การผลิตสาเกยังเป็นธุรกิจที่ถือครองโดยเพศชายเป็นหลัก โดยแนวคิดสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงแทบจะไร้ที่ยืนในวงการนี้ ก็คืออคติเหมารวมที่ว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ ‘ไม่สะอาด’ สำหรับกระบวนการผลิตสาเก — ซึ่งค่อนข้าง ‘ขัดแย้ง’ กับแนวคิดในสมัยโบราณที่เคยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทโดดเด่นในโลกของสาเก ไม่ว่าจะเป็นมิโกะที่ได้รับสิทธิ์ในการหมักสาเกน้ำลายในยุคแรกๆ หรือสตรีผู้ถูกเรียกขานว่า ‘โทจิ’ (Toji – ที่แปลว่า ‘นักปรุงสาเก’ ซึ่งพ้องเสียงกับคำศัพท์โบราณที่แปลว่า ‘แม่บ้าน’) ที่เคยเป็นโต้โผใหญ่ในการผลิตสาเกประจำราชวังมาตั้งแต่ยุคนาระเป็นต้นมา

กล่าวกันว่าอคตินี้เป็นผลมาจากแนวคิดเหยียด ‘ประจำเดือนของเพศหญิง’ ว่าเป็น ‘สิ่งสกปรก’ ในช่วงต้นยุคเอโดะ (ต้นศตวรรษที่ 17) ที่ตลาดสาเกเริ่มแพร่หลายทั่วไปในหมู่ชาวบ้านร้านตลาด ก่อนจะปรากฏให้เห็นชัดเจนในระบบสังคมยุคเมจิ-นับจากปี 1868 เป็นต้นมา-นี้เอง เมื่อญี่ปุ่นพยายามปฏิรูปประเทศให้ ‘ทันสมัย’ ตามแนวคิดโลกอุตสาหกรรมแบบชนชาติตะวันตก ด้วยการเชิดชู ‘การทำงานนอกบ้าน’ ของผู้ชาย และการกีดกันให้ผู้หญิงเป็นเพียง ‘ผู้ดูแลบ้าน/ครอบครัว’ ซึ่งเหล่านี้ก็ล้วนเอื้อให้ผู้ชายมีอำนาจทางสังคมเหนือกว่าผู้หญิงทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี มีคนพยายามให้คำอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า การผลิตสาเกเป็นอาชีพที่ไม่เหมาะกับเพศหญิงที่ ‘บอบบาง’ ด้วยประการทั้งปวง เพราะมันต้องอาศัยทั้งความแข็งแกร่งและความอดทน-แบบลูกผู้ชาย-อย่างสูง เนื่องด้วยการทำสาเกในแต่ละครั้งนั้น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากหนักหนาและต้องใช้เวลานานเป็นเดือนๆ แถมการมีผู้หญิงอยู่ร่วมด้วยในโรงหมักก็อาจทำให้คนงานส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ชายรู้สึกตะขิดตะขวงใจจนอาจกระทบต่อคุณภาพของสาเกไปด้วย — ซึ่งแน่นอนว่าเป็นข้อโต้แย้งที่ผู้หญิงหลายคนไม่เห็นด้วยเลยแม้แต่น้อย

ตลอดหลายทศวรรษมานี้ ผู้หญิงจึงพยายามออกมาแสดงศักยภาพในการผลิตสาเกให้ผู้ชายได้เป็นที่ประจักษ์ และแม้ว่าในปัจจุบัน จะมีผู้ผลิตสาเกแถวหน้าของญี่ปุ่นที่เป็นผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ทว่าพวกเธอก็ยังคงต้องต่อสู้แย่งชิงพื้นที่กับบรรดาผู้ชายหัวรั้นในตลาดสาเกกันต่อไป

หากมองจากมุมที่กล่าวมานี้ ดูเหมือนว่า ‘ผู้หญิง’ ในโลกสาเกร่วมสมัยจะถูกสังคมรอบข้างทำให้ดู ‘น่ารังเกียจ’ ไม่แตกต่างจาก ‘น้ำลาย’ ที่ตัวละครหญิงอย่างมิสึฮะใช้หมักสาเกด้วยความลำบากใจใน Your Name เลย

3

อันที่จริง สาเกน้ำลายไม่ใช่สิ่งที่ถูกผลิตขึ้นมาตามความเชื่อทางศาสนาของคนโบราณอย่างเลื่อนลอยไร้แก่นสาร เพราะในทางวิทยาศาสตร์ น้ำลายของมนุษย์มีคุณสมบัติอันแสนมหัศจรรย์ที่เหมาะแก่การ ‘หมักแอลกอฮอล์’ มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

เนื่องด้วยในน้ำลายมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งชื่อว่า อะไมเลส (Amylase) ที่สามารถแปรสภาพแป้ง (Starch) -ซึ่งในกรณีของสาเกก็คือ แป้งจากเมล็ดข้าว- ให้กลายเป็นน้ำตาลมอลโทส (Maltose) -ซึ่งมีโครงสร้างที่ง่ายต่อการนำไปย่อยต่อ- ก่อนที่จุลินทรีย์จะเข้ามาช่วยเปลี่ยนให้มันกลายเป็นแอลกอฮอล์ระหว่างขั้นตอนการหมักในที่สุด — ซึ่งก็ถือได้ว่าอะไมเลสมี ‘คุณสมบัติการย่อยแป้ง’ ที่ทรงประสิทธิภาพจนแทบจะไม่ต่างจากเชื้อโคจิในอุตสาหกรรมการหมักสาเกเลย

และก็ไม่ใช่แค่สาเกชนิดนี้ของญี่ปุ่นเท่านั้นที่นำ ‘น้ำลาย’ มาใช้ประโยชน์ในการหมัก หากยังรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยุคโบราณจากส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ‘เหล้าข้าวโพด’ สูตรดั้งเดิมอย่าง คาวี (Cauim) ของบราซิล และ ชิชา (Chicha) ของอเมริกา ที่หมักจากเมล็ดข้าวโพดที่เคี้ยวแล้ว หรือ ไอรัก (Airag) ที่เป็น ‘เหล้านมม้า’ ประจำชาติของมองโกเลียที่หมักจากน้ำนมของม้า -ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลมากกว่านมของแพะ แกะ หรือวัว และให้ค่าแอลกอฮอล์ที่สูงกว่า- โดยชาวเผ่าจะตั้งหม้อใส่นมเอาไว้หน้ากระโจม แล้วให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาถุยน้ำลายใส่ เพื่อให้แบคทีเรียในช่องปากช่วยเปลี่ยน ‘น้ำตาลย่อยยาก’ ในนมม้าให้เป็น ‘น้ำตาลย่อยง่าย’ ก่อนปล่อยให้ยีสต์ในอากาศสร้างกระบวนการหมักจนเกิดเป็นแอลกอฮอล์

นอกจากคุณสมบัติอันน่าทึ่งในการช่วยผลิตแอลกอฮอล์แล้ว น้ำลายก็ยังมี ‘คุณสมบัติอื่น’ ที่สร้างความน่าตื่นตะลึงได้ไม่แพ้กัน – ซึ่งมันก็ช่างตรงข้ามกับภาพจำที่ ‘สกปรกจนแลดูน่ารังเกียจ’ ของมันในสังคมสมัยใหม่โดยสิ้นเชิง

แมรี โรช นักเขียนหญิงชาวอเมริกันเจ้าของหนังสือปี 2013 อย่าง Gulp. (‘เอื๊อก!’ โดยสำนักพิมพ์ a book) ที่ว่าด้วยการสำรวจระบบร่างกายที่สัมพันธ์กับวิถีการกินอยู่ของมนุษย์ ชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงน้ำลายจะช่วยย่อยอาหารตั้งแต่ภายในช่องปากเท่านั้น แต่มันยังมีคุณสมบัติในการ ‘ทำความสะอาด’ จนถึงขนาดที่เอนไซม์ชนิดต่างๆ ในน้ำลายเคยถูกนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นองค์ประกอบในผงซักฟอก หรือแม้แต่ถูกใช้ทำเช็ดถูงานศิลปะที่ต้องการความละเอียดอ่อนมาแล้ว โดยนอกจากนี้ ในโลกการแพทย์ ยังเคยมีการใช้น้ำลาย-ที่ไม่ปนเปื้อนเศษอาหาร-มา ‘ทารักษาแผล’ ตามร่างกายด้วย เพราะแบคทีเรียหลายชนิดในช่องปากสามารถช่วย ‘ป้องกัน’ และ ‘กำจัด’ เชื้อโรคต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้อย่างดีเยี่ยม

เหนืออื่นใด โรชยังยืนยันด้วยว่า สำหรับผู้คนในวัฒนธรรม/สถานะอื่น น้ำลายอาจสามารถเป็นเพียง ‘สิ่งธรรมดาสามัญ’ หรือถึงขั้นเป็น ‘สิ่งมงคล’ ในชีวิตของพวกเขาได้เช่นกัน ทั้งชาวกรีกที่นิยมใช้การ(ทำท่า)บ้วนน้ำลายใส่ทุกสิ่งที่พวกเขาอยากอวยพร, พ่อ-แม่ที่สัมผัสน้ำลายของลูกๆ ได้โดยไม่รังเกียจรังงอน หรือคู่รักที่จูบปากแลกลิ้นกันด้วยท่าทีหวานชื่นดูดดื่ม

ในสายตาของผู้หญิงอย่างโรช น้ำลายจึงเป็นสิ่งที่ถูกสังคมใส่ร้ายป้ายสีเรื่อยมาในฐานะของ ‘แหล่งรวมเชื้อโรค’ อันน่าขยะแขยง ทั้งที่จริงๆ แล้ว มันเป็นสารคัดหลั่งที่มีประโยชน์โภชน์ผลต่อมวลมนุษย์ในมิติต่างๆ อย่างที่ใครหลายคนไม่เคยฉุกคิด

และมันก็ไม่ได้น่ารังเกียจอย่างที่ใครเคยกล่าวหากันเลยสักนิด

4

เมื่อ ทาคิ -เด็กหนุ่มจากโตเกียวที่เคยสลับร่างกับมิสึฮะอยู่นานจนเกิดเป็นความผูกสมัครรักใคร่ ก่อนที่การหายไปอย่างไร้ร่องรอยของเธอจะทำให้เขาต้องออกตามหา- เดินทางมาถึงภายในถ้ำลึกแคบหม่นมืดอันเป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้าบนภูเขาเหนือเมืองอิโตโมริ เขาก็ได้พบกับขวดบรรจุสาเกในสภาพเก่าเก็บเกรอะกรังที่ตัวเขา-ในร่างมิสึฮะ-เคยนำมาถวายร่วมกับยายและน้องสาวของเธอ

ไม่ว่าจะตระหนักรู้หรือไม่-ว่านั่นเป็นสาเกที่ทำมาจากน้ำลาย หากแต่ด้วยความคิดถึงอันล้นปรี่ ทาคิยกขวด ‘สาเกน้ำลาย’ ที่เป็นเสมือนตัวตน ‘ครึ่งหนึ่งของมิสึฮะ’ ขึ้นดื่มโดยไม่ลังเล และหวังเพียงว่ามันอาจเป็น ‘สะพาน’ ที่ช่วยให้เขาได้ข้ามไปพบกับเด็กสาวผู้สาบสูญคนนั้นอีกสักครั้ง

การดื่มสาเกของทาคิ คือหนึ่งในสิ่งที่ยายของมิสึฮะเคยนิยามไว้ว่าเป็น ‘มุสุบิ’ (Musubi) ในระหว่างที่สามคนยายหลาน-ซึ่งก็รวมถึงทาคิในร่างมิสึฮะ-เดินนำสาเกขึ้นไปถวายเทพเจ้า โดยมุสุบิเป็นชื่อเรียกเก่าแก่ของ ‘พลังแห่งเทพเจ้า’ ที่แฝงตัวอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งหมายรวมถึงสิ่งใดๆ ก็ตามบนโลกใบนี้ที่ ‘เชื่อมโยง’ ทุกสรรพชีวิตเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการถักทอด้ายให้กลายเป็นเส้นเชือกที่สมบูรณ์, การบริโภคอาหาร-อย่างน้ำ ข้าว หรือสาเก-เข้าไปเพื่อเพิ่มพลังชีวิตจนหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับจิตวิญญาณ, การเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่มีวิถีเกี่ยวพันกัน หรือแม้แต่กระแสธารของกาลเวลาที่ไหลเรื่อยไปไม่มีจุดสิ้นสุด

ดังนั้น นอกจาก ‘สาเกน้ำลาย’ จะเป็น ‘มุสุบิ’ ที่เชื่อมต่อมนุษย์กับเทพเจ้าเข้าด้วยกันตามความเชื่อโบราณแล้ว มันก็ยังเป็น ‘มุสุบิ’ ที่ช่วยยึดโยงจิตวิญญาญของหนุ่ม-สาวทั้งคู่ได้ไม่ต่างกันด้วย

และจะว่าไปแล้ว การที่ทาคิ ‘ดื่ม’ สาเกที่หมักจากน้ำลายของมิสึฮะนั้น ก็เหมือนกับการ ‘จูบทางอ้อม’ ซึ่งถือเป็นการแสดง ‘ความรัก’ ระหว่างคนสองคนที่ยอม ‘เปิดใจ’ เข้าหากัน โดยปราศจากอคติหรือความรังเกียจเดียดฉันท์ จนสามารถก้าวข้ามความหวั่นเกรงที่เคยมีภายในจิตใจของตนไปได้ — ซึ่งส่วนหนึ่งก็น่าจะพัฒนามาจากการสลับร่างกันระหว่างคนทั้งคู่ในห้วงเวลาก่อนหน้านั้น ที่ช่วยทำให้ผู้ชายอย่างทาคิได้เข้าใจถึงความทุกข์ยากของผู้หญิงอย่างมิสึฮะมากขึ้นทีละนิด และมันก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสถานะของพวกเขาจากแค่ ‘คนแปลกหน้า’ มาสู่ ‘คนที่เห็นอกเห็นใจกัน’

ทั้งคู่ได้กำซาบตัวตนแท้จริงที่สถิตอยู่ ‘ภายใน’ ร่างของกันและกัน มากกว่าจะสนใจแค่เปลือกกาย ‘ภายนอก’ อันฉาบฉวย และลุกขึ้นมาพยายามทำบางสิ่งเพื่อให้คนที่ตนรักได้มีเส้นทางชีวิตที่ดีกว่า แม้นั่นอาจหมายถึงการต้องเสียสละสิ่งสำคัญ-หรือกระทั่ง ‘ชีวิต’-ที่ตนเคยยึดยื้อเอาไว้ก็ตาม

การดื่มสาเกขวดนั้นโดยปราศจากความลังเลใจ จึงถือเป็นการเชื่อมโยงทาง ‘จิตวิญญาณ’ ระหว่างมนุษย์สองคนที่กำลังส่งมอบความรักให้แก่กันได้อย่าง ‘จริงแท้’ และ ‘งดงาม’ ที่สุด

— ผ่านสิ่งที่ถูกสังคมตีตราว่าน่ารังเกียจอย่าง ‘น้ำลาย’ นี่เอง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here