ปรากฏการณ์ ‘ดึงฟ้าต่ำ’ ใน Close Encounters of the Third Kind

สตีเวน สปีลเบิร์ก เป็นคนทำหนังที่เราไม่รู้ว่าจะเลือกงานชิ้นไหนขึ้นมาเป็นที่สุดในวิชาชีพเขาดี เพราะต่างก็เป็นที่สุดในทางของมันแทบทั้งนั้น แต่สำหรับ Close Encounters of the Third Kind (1977) คงเป็นหนังระเบิดฟอร์มที่เผยวิญญาณของพ่อมดฮอลลีวูดให้โลกได้เห็นเป็นครั้งแรก

เพราะหลังความสำเร็จของ Jaws สปีลเบิร์กในวัยปริ่ม 30 ปี ก็เริ่มผยองในการทลายขีดจำกัดทางภาพยนตร์ เขาเลยเติมเต็มจินตนาการในวัยเด็กด้วยการเนรมิตสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ นั่นคือ ‘เอเลี่ยนบุกโลก’ ด้วยความทะเยอทะยานสุดแรงเกิด และเป็นชนวนให้เขาสานต่อไปสู่ E.T. the Extra-Terrestrial

เพราะหลังความสำเร็จของ Jaws สปีลเบิร์กในวัยปริ่ม 30 ปี ก็เริ่มผยองในการทลายขีดจำกัดทางภาพยนตร์ เขาเลยเติมเต็มจินตนาการในวัยเด็กด้วยการเนรมิตสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ นั่นคือ ‘เอเลี่ยนบุกโลก’ ด้วยความทะเยอทะยานสุดแรงเกิด และเป็นชนวนให้เขาสานต่อไปสู่ E.T. the Extra-Terrestrial

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1977 ที่หนังออกฉาย มันเป็นปีเดียวกับการอุบัติขึ้นของ Star Wars ซึ่งในขณะที่ตำนานของ จอร์จ ลูคัส พาคนดูเตลิดไปกับสงครามในจักรวาลอันไกลโพ้น Close Encounters ก็คือหนังที่ดึงจักรวาลลงมาอยู่บนโลกมนุษย์ และเช่นกันกับ Star Wars คือมันเป็นเทคนิคทำมือแทบทั้งสิ้น

ทั้ง Close Encounters of the Third Kind และ Star Wars มีจุดร่วมกันคือทั้งคู่ต่างมี จอห์น วิลเลียมส์ ทำสกอร์ให้ ต่อมาวิลเลียมส์เข้าชิงออสการ์จากทั้งสองเรื่อง และชนะจาก Star Wars ขณะที่งานของวิลเลียมส์ใน Close Encounters ก็ถึกไม่เบา โดยเฉพาะ 5 โน้ตเพื่อการสื่อสารระหว่างมนุษย์และเอเลี่ยนอันติดหูนั้น ไม่ใช่ว่าจับโน้ตมาวางมั่วๆ เขาใช้นักคณิตศาสตร์มาคำนวนความเป็นไปได้ว่า 5 โน้ตนั้นจะมีกี่ชุด และมันก็ออกมานับ 100 ชุด กว่าจะเหลือแค่ชุดเดียวอย่างที่อยู่ในหนัง วิลเลียมส์กับสปีลเบิร์กก็ตบกันหลายยก

สปีลเบิร์กกับลูคัสยังไปเที่ยวกองถ่ายของกันและกันด้วย จนเกิดการเดิมพันขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าหนังของตัวเองจะได้เงินน้อยกว่า ฉะนั้นถ้าหนังของใครได้เงินมากกว่าหมายความว่าคนนั้นจะแพ้พนัน ต้องจ่ายเงินให้อีกฝ่าย 2.5% ของรายได้หนังตัวเอง …ตอนพนันกันพวกเขายังคิดว่าตัวเองทำหนังเล็กจ้อยอยู่ แต่ผลคือ Close Encounters ทำเงิน 303 ล้านเหรียญฯ ส่วน Star Wars ได้ไป 775 ล้านเหรียญฯ เคาะเครื่องคิดเลขไปมา ลูคัสต้องจ่ายสปีลเบิร์กถึงเกือบ 20 ล้านเหรียญฯ เลยทีเดียว

Close Encounters เป็นหนังแก้มือของสปีลเบิร์ก จากหนังเรื่องแรก Firelight ที่เขาทำเมื่อตอนอายุ 17 ปี ทั้งไปฉายเอง เก็บเงินเอง และได้กำไรมา 1 เหรียญฯ แต่หลังจากนั้นหนังก็เสียหายเกือบทั้งเรื่อง มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่า UFO ลักพาตัวผู้คนและสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านไป

เดิมทีสปีลเบิร์กจะใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพเอเลี่ยนและยานสุดยิ่งใหญ่ขึ้นมา ที่จริงร่างแบบเอาไว้แล้วด้วย จนเกือบจะเป็นหนังเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่ใช้ซีจีสร้างภาพขึ้นมา พวกเขาทำกันอยู่สามสัปดาห์ก็พบว่ามันไม่เวิร์ค

ฉากยานแม่ลง ที่มี 5 โน้ตติดหูของ จอห์น วิลเลียมส์ และ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ ในฐานะนักแสดง

สปีลเบิร์กต้องการภูเขาที่จะใช้เป็นที่จอดยานแม่ ทีมงานก็หามาเยอะมาก สุดท้ายมาลงที่ภูเขาหัวตัด Devil’s Tower ในไวโอมิง ซึ่งโปรดักชั่นดีไซเนอร์ โจ อัลเวส บอกว่าเดิมทีชาวบ้านไม่พอใจมากที่กองถ่ายมาลง แต่ตอนนี้กลายเป็นที่ท่องเที่ยวมีเงินหมุนเวียนจากการขายของที่ระลึกเพียบ

แต่พอถึงฉากที่ยานแม่ลงจอดจริงๆ พวกเขาก็หาที่ถ่ายทำไม่ได้ แม้แต่สตูดิโอที่ใหญ่ที่สุดในฮอลลีวูดก็ให้ไม่ได้ สุดท้ายได้โรงจอดเฮลิคอปเตอร์ร้างของฐานทัพอากาศในอลาบามา (ใหญ่ขนาดที่ว่าเซ็ตฉากขึ้นมาแล้วคนเหลือตัวนิดเดียว)

หากใครได้ดูจะรู้ว่าบ้านของเนียรี (ริชาร์ด ดรัยฟัสส์) เละเทะไม่มีชิ้นดี ทีมงานลงทุนซื้อบ้านหลังหนึ่งราคา 35,000 เหรียญฯ จะได้ตกแต่งให้สาแก่ใจสปีลเบิร์ก พอถ่ายเสร็จก็ขายทอดตลาดในราคา 50,000 เหรียญฯ

สปีลเบิร์กชวนนักทำหนังเบอร์ใหญ่ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ มารับบทนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ทรุฟโฟต์ก็อ้อมแอ้มรับปากบอกกำลังทำวิจัยเรื่องการแสดงพอดี แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่เคยเขียนมันออกมา

สปีลเบิร์กยังมีวิธีกำกับเด็กที่เหนือชั้นด้วย ความมหัศจรรย์ในฉากเปิดตัวหนูน้อยแบร์รี่ที่น้องเดินสำรวจบ้านที่ข้าวของกระจัดกระจาย จนเห็นสิ่งผิดปกติน้องก็ยิ้มออกมา คิวเป๊ะเว่อร์ เคล็ดลับคือสปีลเบิร์กให้ทีมงานที่สนิทกับน้องสวมชุดกอริลล่าเดินไปรอบๆ ให้หนูน้อยสนใจ และจุดที่สปีลเบิร์กอยากให้น้องยิ้ม ทีมงานก็ถอดหัวกอริลล่าออก… ผู้รับบทแบร์รี่คือ แครี่ กัฟฟี่ ปัจจุบันเป็นนักวางแผนทางการเงิน (เพราะงี้สปีลเบิร์กเลยดึงธรรมชาติ ดรูว์ แบรี่มอร์ วัยเด็กจนทุกคนหลงรักใน E.T. ได้ เพราะก็สรรหาวิธีหลอกล่อสารพัดมาเหมือนกัน)

สิ่งที่ยืนยันความเนิร์ด UFO ของสปีลเบิร์ก นอกจากมันจะเป็นโปรเจกต์ที่อยากทำตั้งแต่เด็กแล้ว เขายังอ้างอิงข้อมูลจาก Project Blue Book งานวิจัยเรื่องมนุษย์ต่างดาวของ US Air Force และชื่อเรื่อง Close Encounters of the Third Kind (การเผชิญหน้าระยะประชิดในขั้นที่ 3) ก็มาจากเกณฑ์การยืนยันว่ายูเอฟโอและมนุษย์ต่างดาวมีจริงของ เจ อัลเลน ฮายเน็ก โดยแบ่งออกเป็นสามขั้น ซึ่งขั้นที่ 3 ก็คือการติดต่อสื่อสารกับพวกเขาได้นั่นเอง

ดู Close Encounters of the Third Kind ฉบับรีมาสเตอร์ 4K อันสวยสดได้ใน Netflix

นคร โพธิ์ไพโรจน์
ริจะเบนเส้นทางไปเป็นไลฟ์โค้ชด้านการลดน้ำหนัก แต่เฟลเลยกลับมาเขียนบทความหนังไทยเหมือนเดิม

RELATED ARTICLES