Apollo 11 : 70 mm ที่ถูกเก็บ ของกิจการอวกาศ

Moonwalk One เป็นสารคดีปี 1971 หรือสองปีหลังจากปฏิบัติการ ‘อพอลโล 11’ (1969) ผลงานงานการสร้างของนาซ่า กำกับโดย เธโอ คาเมคเก หนังบันทึกบรรยากาศแวดล้อม ‘อพอลโล 11’ แต่ในวันที่มันฉาย นาซ่ายังมีโปรเจกต์ต่อเนื่องอีกมากมาย โดยเฉพาะในโครงการอพอลโลเองที่กินเวลามาถึงปี 1972 ทำให้ผู้คนไม่ได้ตื่นเต้นใคร่รู้กับหนังเรื่องนี้นัก หนังเลยม้วนเสื่อกลับเข้าคลังไปตามระเบียบ นับเป็น “กิจการอวกาศ” ที่ล้มเหลวของนาซ่าในวันนั้น ทว่ามันคือจุดเริ่มต้นของสารคดีชิ้นสำคัญในโลกภาพยนตร์อย่าง Apollo 11

Apollo 11 เป็นสารคดีที่ออกฉายเมื่อปี 2019 ในวาระครบรอบ 50 ปีของการส่งมนุษย์ไปสำรวจบนดวงจันทร์ด้วยยาน ‘อพอลโล 11’ ที่เป็นหลักฐานความสำเร็จของประวัติศาสตร์ งานอนุรักษ์ และความคิดสร้างสรรค์

ในหนังเรื่องนี้เราจะได้ชมฟุตเตจซึ่งไม่เคยได้รับการเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ผ่านการบูรณะทั้งภาพและเสียงอย่างประณีตงดงาม ประกอบด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องจนเราได้เห็นมิติความเป็นมนุษย์ของ 3 นักบินอวกาศที่ได้รับการยกย่องให้เป็นฮีโร่ของมวลมนุษยชาติ ทั้ง เอ็ดวิน อัลดริน, นีล อาร์มสตรอง และ ไมเคิล คอลลินส์

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์เกิดขึ้นในปี 2016 ตอนนั้นผู้กำกับ ท็อดด์ ดักลาส มิลเลอร์ ได้ทำสารคดี The Last Ship เกี่ยวกับ Apollo 17 ซึ่งเป็นการส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เที่ยวสุดท้ายในโครงการอพอลโลของนาซ่า จากนั้นเขาก็ได้รับคำแนะนำจาก สตีเฟน สเลเตอร์ นักกิจกรรมและคนตัดต่อหนัง ให้ทำสารคดีในธีมเดียวกันโดยเป้าหมายคือเพื่อออกฉายในวาระครบรอบ 50 ปีของโครงการอพอลโล 11 โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่าจะมีวัตถุดิบอะไรมาช่วยเล่าเรื่องนอกจากสิ่งที่อยู่ในหนัง Moonwalk One

มิลเลอร์บากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากนาซ่าและหอจดหมายเหตุ จนเขาได้เข้าไปถึงหอภาพยนตร์เพื่อคุ้ยดูว่ามีฟุตเตจอะไรอีกบ้างที่ยังไม่ได้ใช้ใน Moonwalk One จึงได้พบคลังฟุตเตจมหาศาลที่มีตั้งแต่ฟิล์ม 70 มม., 65 มม., 35 มม. และ 16 มม. โดยเฉพาะกลุ่มฟิล์ม 70 มม. และ 65 มม. ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนเพราะทีมผลิตในวันนั้นไม่ได้ตั้งใจจะใช้ มันเป็นช่วงรอยต่อทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะ 70 มม.ของ Todd-AO ซึ่งมีหนังแค่ประมาณ 20 เรื่องเท่านั้นที่ได้ใช้ เช่น Cleopatra (1963) และ The Sound of Music (1965) ก่อนจะค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง เท่ากับว่าฟุตเตจของ Apollo 11 เป็นหนังเรื่องท้ายๆ ที่ถ่ายทำด้วยเทคโนโลยีนี้แล้ว มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้สร้างจะนำฟุตเตจส่วนนั้นมาใช้

“ม้วนฟิล์มกองอยู่ในนั้นโดยไม่เคยมีใครได้แตะต้องมัน และไม่มีใครรู้ว่ามีอะไรอยู่ในฟิล์มเหล่านั้นบ้าง” มิลเลอร์กล่าว “สิ่งที่เราต้องทำอย่างด่วนเลยคือแปลงกองฟิล์มที่อยู่ตรงหน้าให้เป็นไฟล์ดิจิตอลทั้งหมด”

ภารกิจอันหนักอึ้งตกมาเป็นของทีมโพสต์โปรดักชั่นของหนัง Apollo 11 นั่นคือ Final Frame ซึ่งเคยร่วมงานกับมิลเลอร์มาแล้วในสารคดี Dinosaur 13 – แซนดี้ แพทช์ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของ Final Frame เล่าว่าปัญหาหลักของการทำงานคือฟุตเตจจำนวนมากนั้น ไม่มีเครื่องฉายเพื่อตรวจสอบเนื้อหาแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่อยู่ในฟอร์แม็ต 65 มม. สิ่งที่เธอต้องทำจึงคือการพัฒนาเครื่องแสกนฟิล์มสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ

“เราพัฒนาเครื่องสแกนฟิล์ม 16K สำหรับรองรับฟิล์มขนาดใหญ่เช่นนี้ แต่ส่วนใหญ่เราแสกนมาแค่ 8K การพัฒนานี้ทำให้ผลลัพธ์มันใกล้เคียงกับคุณภาพต้นฉบับมากกว่าการปรินท์ฟิล์ม 70 มม.ทั่วไป เราพัฒนาเครื่องแสกนควบคู่ไปกับการอัพเดตซอฟต์แวร์เพื่องานนี้โดยเฉพาะ ในขณะที่การจัดการข้อมูล เราต้องจัดเก็บไฟล์ขนาด 1 เพตะไบท์ (ราว 1,024 เทระไบต์) ไว้ในที่เก็บข้อมูลความเร็วสูงตลอดการทำงานนี้” ความทรหดเฉพาะการแปลงฟิล์มเป็นดิจิตอลสามารถเล่าอย่างง่ายคือการแปลงฟุตเตจที่มาหลากหลายฟอร์แม็ต ซึ่งเมื่อเอารวมทั้งหมดแล้วความยาวมากกว่า 40 ชั่วโมง!

อันที่จริงปัจจุบันนี้มีหนังที่ถ่ายด้วยฟิล์ม 65 มม. และแปลงเป็นดิจิตอลอยู่บ้าง โดยเฉพาะในหนังยุคหลังของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ความใหญ่ของมันสามารถปรินท์ฟิล์ม 70 มม. และฉายไอแม็กซ์ได้เลย (นั่นทำให้ Apollo 11 สามารถฉายไอแม็กซ์ได้ด้วย) แต่ความท้าทายที่ทำให้ Final Frame ต้องออกแบบเครื่องแสกนมาโดยเฉพาะ คือการที่มันมาพร้อมงานบูรณะ แพทช์กล่าวว่า “การบูรณะมักจะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา เพราะมีรายละเอียดที่ต้องทำเยอะ ตั้งแต่การจัดการเกรน การไล่ฝุ่น การซ่อมแซมรอยขีดข่วน การลดการสั่นไหว แสงแฟลร์ และอื่นๆ เราใช้เวลาหลายสัปดาห์ในขั้นตอนเหล่านี้” ทั้งหมดนี้ยังไม่นับแถบบันทึกเสียงที่มีความยาวมากกว่า 11,000 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่บันทึกจากห้องปฏิบัติการภาคพื้นดิน และมันถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างมากในการช่วยเล่าเรื่องของ Apollo 11

เมื่อพวกเขาแปลงฟุตเตจที่ถ้าดูต่อเนื่องโดยไม่พักจะกินเวลาเกือบสองวัน สิ่งที่ค้นพบคือภาพที่อยู่ในฟิล์ม 65 มม. และ 70 มม. มันไม่ได้เป็นภาพที่ยิ่งใหญ่อลังการอย่างที่ฟิล์มรุ่นนี้มักเอาไว้เบ่งในงานโปรดักชั่น มันอาจเป็นกอง 2 หรือกอง 3 เลยด้วยซ้ำ แต่กลายเป็นว่าฟุตเตจเหล่านั้นกลับเติมเต็มบรรยากาศและชีวิตชีวาของยุคสมัยได้แจ่มชัดราวกับมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

ฉากที่บันทึกด้วยฟิล์ม 65 มม. อาทิ ภาพของผู้คนจากมุมต่างๆ ที่เดินทางมารอชมการปล่อยยานอพอลโล 11, ภาพผู้คนที่ขับรถมาจอดตามลานจอดรถโดยมียานอพอลโลเป็นแบคกราวด์ไกลๆ, บรรยากาศหลังเวทีก่อนที่จะปล่อยยาน และการกักตัวของทีมนักบินอวกาศหลังลงสู่พื้นโลกแล้ว

การใช้ฟิล์มใหญ่ยักษ์มาบันทึกผู้คนและบรรยากาศของยุคสมัย มันยิ่งทำให้ผู้ชมได้เห็นรายละเอียดของอารมณ์และบรรยากาศอย่างชัดเจน โดยไม่ละทิ้งความยิ่งใหญ่ของอพอลโล 11 ที่เป็นฉากหลัง ซึ่งทั้งหมดมาจากการควบคุมของ เธโอ คาเมคเก ผู้กำกับ Moonwalk One หนังเจ๊งของนาซ่านั่นเอง

“นี่เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของชีวิตพวกเราทุกคน การได้รู้ว่างานที่เราทำจะได้เผยแพร่สู่คนทั้งโลกและจะอยู่กับเราไปอีกหลายปีข้างหน้านั้นน่ายินดียิ่ง” แพทช์กล่าว

“ฉันหวังว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้เห็นประโยชน์ของการอนุรักษ์ เพราะฉันเชื่อว่ายังมีขุมทรัพย์ที่เราไม่รู้จักซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่งทั่วโลก”

ดู Apollo 11 ได้ที่ Netflix


ข้อมูลประกอบ
https://www.ibc.org/trends/behind-the-scenes-apollo-11/4022.article
https://www.theguardian.com/film/2019/feb/27/we-felt-a-huge-responsibility-behind-the-landmark-apollo-11-documentary

นคร โพธิ์ไพโรจน์
ริจะเบนเส้นทางไปเป็นไลฟ์โค้ชด้านการลดน้ำหนัก แต่เฟลเลยกลับมาเขียนบทความหนังไทยเหมือนเดิม

RELATED ARTICLES