คุณติดอยู่ในแคปซูลทางการแพทย์ ขนาดของมันไม่ใหญ่กว่าโลงศพมากนัก คุณอยู่คนเดียว และออกซิเจนของคุณกำลังจะหมด คุณไม่มีความทรงจำ ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร และมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร ตัวช่วยเดียวที่คุณมีคือเอไอล้ำสมัยที่พูดด้วยเสียงผู้ชายอันปราศจากอารมณ์ คุณจะทำอย่างไร?
เพียงแค่คอนเซปต์เท่านี้ของ Oxygen ก็ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ที่หนังจะพัฒนาไปเป็นหนังแนวเอาตัวรอด ประกอบกับหนังสืบสวนชั้นดี ตัวละครจะต้องดิ้นรนในพื้นที่ปิดตายพร้อมกับสืบหาประวัติของตัวเองไปพร้อมๆ กัน กับเวลาที่มีจำกัดและความช่วยเหลือที่ห่างออกไปแสนไกล อันที่จริง หนังค่อนข้างทำงานกับคนดูได้ดีเลยทีเดียวในเรื่องของความรู้สึกกระวนกระวายและไร้ทางสู้ และการแสดงของเมลานี โลรองต์ ก็เข้าตาดี มันทำให้เราเชื่อว่าเธออยู่ในภาวะกดดันสุดๆ แม้มันจะออกมาล้นๆ หน่อยในบางครั้ง
Oxygen เล่าเรื่องด้วยโทนของความเป็นทริลเลอร์ ลำพังอาการกลัวที่แคบและการติดอยู่ที่เดิมแบบไปไหนไม่ได้ ก็เพียงพอจะทำให้มนุษย์คนหนึ่งเสียสติ และเป็นภัยคุกคามต่ออัตตาณัติอย่างยิ่งยวด กระนั้นมันยังใส่ฉากน่าหวาดเสียวบางฉากเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเลือดและเข็ม หรือหนูที่ติดอยู่ในกล่อง การต่อสู้กับภาวะจิตหลอนและการเล่นกับความจริงและความลวง
นางเอกถูกขึ้นทะเบียนเป็นไบโอฟอร์มชนิดหนึ่งที่ไม่มีชื่อ ทันทีที่เธอถามว่าเธอชื่ออะไร เจ้าเอไอนามว่า ‘มิโล’ ก็ตอบกลับมาเป็นรหัสยาวเหยียด เธอต้องสืบค้นหาดีเอ็นเอที่ตรงกันแทน และค้นพบว่าเธอคือเอลิซาเบธ แฮนเซน นักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีการแช่แข็งมนุษย์ พลันภาพแฟลชแบ็คก็ผุดขึ้นมา เธออยู่ในโรงพยาบาล และเป็นไปได้ว่าเธออนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีนี้กับตัวเอง แต่ทำไมเธอจำอะไรไม่ได้?
ความคิดอีกอย่างผุดขึ้นมา เธอต้องโทรหาตำรวจ และเบอร์แรกที่มิโลค้นเจอก็คือเบอร์ต่อตรงถึงชายผู้หนึ่ง เขาสอบถามรายละเอียดและบอกว่าจะต่อสายให้เธอหาเจ้านาย เพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ต้องรอและกลัวว่าสายจะหลุดไป ก็ทำให้เอลิซาเบธกลัวจนลนลานแล้ว แต่เธอกลับพบว่าในน้ำเสียงของชายอีกคนที่พยายามปลอบเธอให้ใจเย็น และบอกว่าเขากำลังจะส่งคนมาช่วยนั้น มันมีสิ่งที่ไม่น่าไว้ใจ ทำไมชายผู้นี้ถึงต้องโกหกเธอ?
หนังซ้อนปมเกี่ยวกับตัวละครไว้หลายชั้น และเล่นกับ “ความไม่รู้” และความเข้าถึงข้อมูลได้จำกัดของตัวละคร แต่แม้หนังจะพลิกล็อคอยู่ถึง 2 ครั้ง ผู้ชมบางคนอาจเดาทางได้ตั้งแต่ต้น การพลิกเรื่องครั้งที่สองนำเราไปสู่คำถามทางจริยศาสตร์และศีลธรรม ซึ่งคงจะดีหากหนังค้นลึกลงไปในประเด็นนี้เพิ่มอีก แต่ดูเหมือนว่าเวลา 100 นาทีที่ตัวละครเหลือก่อนอ็อกซิเจนจะหมด จะกลายเป็นข้อจำกัดของหนังที่ต้องพยายามเดินเรื่องไปในแนวสืบสวนเพื่อค้นหาความจริง ทั้งที่จริง ถ้ามีการเฉออกจากประเด็นเอาตัวรอดไปบ้าง หนังน่าจะมีมิติมากกว่านี้ ดูเหมือนว่าพื้นที่ในแคปซูลจะมีไม่เพียงพอสำหรับพัฒนาการของตัวละคร
สิ่งเดียวที่ทำให้ตัวละครยังง่วนอยู่กับการมีอะไรทำเพื่อรักษาชีวิตตัวเอง ก็คือการควบคุมและสั่งการเจ้ามิโล เอไอที่ในครั้งแรกที่มันปรากฏตัว ทำให้เรารู้สึกถึงความคุกคามและความห่างเหิน การเป็นหุ่นยนต์ที่เย็นชาและถามคำตอบคำ อีกทั้งยอมตอบเฉพาะคำถามที่ถูกกับตรรกะของมัน ทำให้ผู้ชมโหยหาปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ อย่างที่นางเอกอาจจะรู้สึก มันน่าอึดอัดมากทีเดียวที่ต้องติดอยู่กับผู้ดูแลที่ไม่มีชีวิตจิตใจ พร้อมๆ กับที่เป็นเรื่องน่ากลัวว่าเจ้าเอไอจะตัดสินใจอะไรที่เป็นภัยคุกคามต่อเธออีกหรือเปล่า และมันก็ทำเช่นนั้นจริงๆ เพราะเมื่อออกซิเจนลดลงถึงระดับวิกฤต มันพยายามจะการุณยฆาตตัวละครให้ตายไปเสียดื้อๆ
ความเป็นวัตถุวิสัย (objective) หรือ “เป็นกลาง” ในการกระทำของเอไอในเรื่องนี้น่าตั้งคำถามเป็นอย่างมาก ว่าถ้ามันทำให้ใครสักคนตายขึ้นมาจริงๆ โดยที่เธอหรือเขาไม่สมควรตาย ใครจะเป็นคนรับผิดชอบการกระทำนี้ มิโลไม่อาจตัดสินใจในสิ่งที่ซับซ้อนเกินกว่าตรรกะแบบเลข 0 และ 1 (ใช่/ไม่ใช่) และนั่นทำให้การพึ่งพามัน 100% เป็นไอเดียที่ไม่ฉลาดนัก อันที่จริง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเอไอในเรื่องนี้ นำไปสู่ประเด็นที่ทำให้คนเห็นคุณค่าของการทำงานกับมนุษย์ได้เลยทีเดียว แม้เอไอจะฉลาดขนาดไหน มันก็ไม่สามารถตัดสินใจทางจริยศาสตร์ที่มีความกำกวมของเหตุผลได้เหมือนมนุษย์ นั่นคือเหตุผลที่มนุษย์ต้องควบคุมมัน ไม่ใช่ให้มันควบคุม
ช่วงกลางเรื่องเป็นต้นมา จะเห็นพัฒนาการของตัวละครได้เล็กน้อยว่า นางเอกเริ่มกลับมาเป็นผู้ควบคุมเอไอ ทั้งจากการที่เธอขอให้มันขยายเสียงเพื่อดักฟังตำรวจ หรือการตรวจสอบเข้าไปในระบบของแคปซูล ซึ่งเธอคงทำเองไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมนุษย์อีกคน สายปริศนาของผู้หญิงที่โทรเข้ามาช่วยชีวิตเธอได้หวุดหวิด และเธอเกือบจะไม่รอดถ้าไม่ทำตามคำแนะนำของสายนั้น ดูเหมือนในแง่หนึ่ง หนังพยายามจะให้นางเอกได้มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์บ้าง แต่มันก็ซับซ้อนกว่าที่คิด เพราะมนุษย์หลอกเธอได้ ขณะที่เอไอไม่ทำเช่นนั้น เธอต้องเล่นเกมจิตวิทยากับผู้ชายปลายสายที่บอกว่าตนเองเป็นตำรวจ และเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อใครคนใดคนหนึ่ง ในแง่หนึ่ง ความสัมพันธ์กับมนุษย์ก็มีความเสี่ยง แต่ถ้าไม่มีมัน เธอจะไม่รู้ความจริงอะไรเพิ่มขึ้นเลย
ในทางปรัชญามีสิ่งที่เรียกว่าการให้เหตุผลแบบ A priori เช่น การบอกว่า 1+1=2 จะเห็นว่าประโยคด้านหน้าเครื่องหมายเท่ากับ และหลังเครื่องหมายเท่ากับ มีค่าเท่ากัน และไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรใหม่ การตัดสินใจของเอไอก็เป็นเช่นนั้น มันเกิดขึ้นในระบบปิด ที่ไม่ได้มีข้อมูลใหม่ การตัดสินใจทุกอย่างถูกวางเอาไว้แล้วโดยไม่พิจารณาตัวเลือกเพิ่ม เช่น เมื่อออกซิเจนเหลือเท่านี้เปอร์เซ็นต์ จะต้องทำการการุณยฆาต แม้ว่าคนที่อยู่ในแคปซูลจะขอร้องให้มันอย่าทำ แต่การที่พวกเขาขอร้องเป็นการให้ข้อมูลใหม่ซึ่งระบบของเอไอไม่รับ และนั่นทำให้มันมีความน่าพรั่นพรึง
อย่างไรก็ดี มิโลกลับเป็นตัวช่วยนางเอกเอาไว้ได้ในนาทีสุดท้าย หนังทำให้เห็นว่า ถ้ามนุษย์เป็นผู้ควบคุมเอไอโดยใช้การตัดสินใจของตนเอง เจ้าหุ่นยนต์ที่อยู่ในระบบปิดนี้ก็สามารถกลายเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพ มิโลทำการคำนวณเล็กๆ น้อยๆ เพื่อหาโอกาสที่นางเอกจะอยู่ต่อไปได้ อันที่จริงมันไม่ได้คิดหรอกว่านางเอกควรจะอยู่ต่อไป แค่ความจริงที่ว่าเธอป้อนคำสั่งให้มัน “หาทาง” ทำเช่นนั้นต่างหาก ที่ช่วยชีวิตเธอเอาไว้
ในภาพรวม หนังให้ตัวละครมีปฏิสัมพันธ์กับเอไอเสียเป็นส่วนใหญ่ของเรื่อง และเราก็ไม่อาจหลีกหนีอาการหัวเสียจากการที่สั่งมันไม่ได้ดั่งใจได้เลย หนังทำให้เราตั้งคำถามว่าเราสามารถพึ่งพาเทคโนโลยีล้ำยุคเช่นนี้ได้หรือไม่ และถ้าได้ เราควรมีท่าทีต่อมันอย่างไร ดูเหมือนหนังจะมีแนวทางที่ยกชูมนุษย์อยู่ในที ถ้ามนุษย์เป็นผู้ควบคุม และไม่ถูกควบคุมเสียเอง เราย่อมจะหาทางรอดต่อไปได้ แม้ว่าเส้นทางจะถูกจำกัดไว้มากแค่ไหน โดยมีเทคโนโลยีเป็นแขนขา เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เรา “อยู่ต่อไปได้” แต่จะอยู่ต่อไปได้ดีหรือไม่ คงต้องพึ่งพาการตัดสิน (judgement) ของเราที่ละเอียดอ่อน ในฐานะมนุษย์ที่มีความซับซ้อนมากกว่าเอไอ และอาจเป็นความซับซ้อนนี้นี่เองกระมังที่ทำให้ชีวิตมนุษย์มีค่า
ดูได้ที่ Netflix