Home Review Film Review A Question of Silence เสียงหัวเราะของเมดูซ่า

A Question of Silence เสียงหัวเราะของเมดูซ่า

0
A Question of Silence เสียงหัวเราะของเมดูซ่า

เช้าวันนั้น ผู้หญิงสามคนที่ไม่รู้จักกัน คนแรกเป็นแม่บ้านมีลูกเล็ก คนที่สองเป็นเจ้าของร้านกาแฟร่างท้วมที่โดดเดี่ยว คนที่สามเป็นเลขานุการิณีคนสวยที่อาจจะมีคนรักมากหน้า พวกเธอบังเอิญอยู่ในร้านขายเสื้อผ้าในเวลาเดียวกัน เจ้าของร้านเป็นชายวัยกลางคนท่าทางสุภาพคนหนึ่ง เขาเห็นแม่บ้านหยิบเสื้อใส่กระเป๋าจึงเข้าไปห้าม ท่ามกลางความเงียบ ชายเจ้าของร้าน ถูกผู้หญิงสามคนที่ไม่รู้จักกันรุมทำร้าย ทุบตี กระทืบ ฟาดด้วยหุ่นลองเสื้อและกระจก โดยมีผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งที่บังเอิญอยู่ในร้าน เฝ้ามองเหตุการณ์ทั้งหมดโดยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ จากนั้นทุกคนก็แยกกันไป 

ไม่นานจากนั้นตำรวจก็ไปจับพวกเธอ ไม่มีใครปฏิเสธข้อหา ยอมให้จับแต่โดยดี คุณหมอจานีน จิตแพทย์สาวที่มีสามีเป็นทนายถูกขอให้มาดูแลเคสนี้เพื่อประเมินว่าพวกเธอเป็นบ้าหรือไม่บ้า คริสตีน หญิงแม่บ้านไม่พูดอะไรเลย เธอเลิกสื่อสารโดยการพูด แต่เลือกจะวาดรูปแทน ขณะที่แอนนี่ หญิงเจ้าของคาเฟ่เอาแต่พูดไม่หยุดหย่อน พูดไปเรื่อยเปื่อย คนสุดท้าย แอนเดรีย เลขาณุการิณีสาวอาจจะพูดรู้เรื่องที่สุด แต่ก็ดูเหมือนเธอไม่ได้พูดอะไรที่จะช่วยให้ตัวเองพ้นผิด หรือเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีเลย

จิตแพทย์หญิงค่อยๆ ถูกกลืนกินด้วยสามฆาตกรสาวและความเงียบในแบบต่างๆ ของพวกหล่อน เธอไม่สามารถหาแรงจูงใจในการฆ่า ไม่อาจประเมินว่าผู้ต้องหาวิกลจริต ทุกอย่างไม่มีเหตุมีผลมากจนเกินไป ขณะเดียวกันมันกลับดึงดูดเธออย่างยิ่ง ความเงียบของคริสตีน ความเสียสติของแอนนี่ และความไม่ใยดีต่อโลกของแอนเดรีย ปลุกเร้า ท้าทายและทำลายล้างบางอย่างในตัวเธอ จนในวันขึ้นพิจารณา ในโลกของอัยการ ทนายผู้พิพากษา ตำรวจ นักข่าวที่เกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย พวกเขาพยายามจะให้เธอพูดออกมาว่าผู้หญิงสามคนนี้เป็นบ้า เพราะป็นคนบ้านั้นเข้าใจได้กว่าเป็นอาชญากร

ภาพยนตร์โดย Marlene Gorris ผู้กำกับและนักเขียนหญิงชาวเนเธอร์แลนด์ หนึ่งในแนวหน้าของคนทำหนังที่สนับสนุนแนวทางเฟมินิสต์ ว่ากันว่าเธอเคยเป็นคนเขียนบทมาก่อน และเคยเอาบทของเธอไปเสนอให้กับ Chantal Akerman ผู้กำกับหญิงชาวเบลเยียมคนสำคัญ แต่ Akerman กลับสนับสนุนให้เธอเป็นคนทำหนังออกมาด้วยตัวเอง และมันคือหนังเรื่องนี้ที่ทรงพลัง ท้าทายไม่ต่างจากภาพยนตร์อย่าง Jeanne Dielman, 23 quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975) ของ Akerman เลยแม้แต่น้อย

ใน Jeanne Dielman เราใช้เวลาเกือบสามชั่วโมงในการจ้องแม่บ้านหญิงวัยกลางคน ปอกมันฝรั่ง ไปตลาด ทำกับข้าว เก็บบ้าน ดูแลลูกชาย และขายตัว ซ้ำไปซ้ำมา แล้วจู่ๆ เธอลุกขึ้นมาฆ่าลูกค้าคนหนึ่งด้วยกรรไกรในตอนจบ 

จะว่าไปเราอาจบอกได้ว่าว่า Question of Silence ที่พูดถึงเหตุการณ์หลังจากที่ผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาฆ่าผู้ชาย ราวกับเป็นภาคต่อซึ่งกันและกัน 

แน่นอนว่าการที่หนังเล่าเรื่องของผู้หญิงแปลกหน้าสามคน ฆ่าผู้ชายตายอย่างไร้สาเหตุเป็นการเสนอนิทานสาธกข้อถกเถียงที่อันตรายด้วยการพาสถานการณ์ไปสุดทางเสียจนอาจทำลายตัวแกนหลักของข้อถกเถียงเอง โดยทำให้ลดรูปลงเหลือเพียงแค่เรื่องของพวกผู้หญิงบ้าสามคนที่ไม่เกี่ยวอะไรกับกระบวนการกดขี่หรือชายเป็นใหญ่ หรืออาจเลยเถิดไปเป็นตัวอย่างหัวกลับว่าพวกเฟมินิสต์ที่เกลียดผู้ชายเข้าไส้สุดท้ายก็จะกลายเป็นอาชญากรแบบนี้/เป็นบ้าแบบนี้ (ซึ่งนั่นคือใจความของหนังโดยตัวมันเอง)

หากนั่นเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งไปพร้อมกัน เพราะในขณะที่หนังเรื่องอื่นพยายามจะทำให้ผู้ชมเข้าใจจิตใจภายในของปัจเจกชนคนใดคนหนึ่ง ให้เหตุผลกับการกระทำของเธอหรือเขา หนังเรื่องนี้กลับทำตรงกันข้าม การไม่ให้เหตุผล หรือการไม่มีเหตุผล ทำให้หนังกลายเป็นภาพแทนสุดโต่งแบบ worst case scenario คล้ายๆ กับหนังดิสโทเปียที่ว่าด้วยสภาวะหลังสิ้นโลกที่คุณค่าแบบเก่าๆ ถูกผลักไปยังขอบของมัน ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรม หรือมนุษยธรรม วิธีทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่การทำความเข้าใจแบบหนัง อะไรทำให้หล่อนเป็นแบบนี้ แต่คือคำถามที่ว่า มันจะเป็นอย่างไรถ้าหล่อนลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ ปัจเจกจะกลายเป็นเพียงตุ๊กตาสำหรับอธิบายโครงสร้างทั้งหมดที่ครอบเราเอาไว้

และหากข้อถกเถียงในหนังเรื่องนี้คือ มันจะเป็นยังไงถ้าผู้หญิงลุกขึ้นมาฆ่าผู้ชายอย่างไม่มีเหตุผล โดยคำถามไม่ใช่เรื่องว่าเธอทำได้หรือไม่ แต่คำถามคือแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับเธอ พวกหล่อนจะถูกปฏิบัติต่างกันกับอาชญากรชายหรือไม่ ถ้าใช่ ทำไมมันจึงเป็นแบบนั้น กระบวนการที่เกิดขึ้นหลังการฆ่าสำคัญกว่าก่อนการฆ่า และการขยายข้อถกเถียงสุดทางผ่านนิทานสาธกนี้ได้ทำให้เรามองเห็นมุมมองที่กว้างไกลไปกว่าแค่ชะตากรรมจำเพาะของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งในสายตาแบบนั้น เราอาจจะต้องอาศัย ชุดคิดทางศีลธรรม กฎหมาย และความสัมพันธ์กับผู้คนอื่นๆ มาอธิบายเพิ่มเติม และมองมันในฐานะเรื่องที่ ‘พิเศษ’ จำเพาะเจาะจงกับคนใดคนหนึ่ง

และหากข้อถกเถียงในหนังเรื่องนี้คือ มันจะเป็นยังไงถ้าผู้หญิงลุกขึ้นมาฆ่าผู้ชายอย่างไม่มีเหตุผล โดยคำถามไม่ใช่เรื่องว่าเธอทำได้หรือไม่ แต่คำถามคือแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับเธอ พวกหล่อนจะถูกปฏิบัติต่างกันกับอาชญากรชายหรือไม่ ถ้าใช่ ทำไมมันจึงเป็นแบบนั้น

หนังเล่าเรื่องย้อนกลับไปยังชีวิตก่อนหน้าของพวกเธอ ไปแสดงให้เห็นความไร้เสียงของเธอในรูปแบบต่างๆ ในโลกชายเป็นใหญ่ คริสตีนเป็นแม่บ้านลูกสามที่ต้องคอยอยู่กับเด็กๆ ที่ส่งเสียงดังในบ้านที่สามีต้องการความสงบ ท่ามกลางเสียงที่ดังกลบเสียงของเธอตลอดเวลา เธอกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่แทบไม่พูด เพราะพูดไปก็ไม่มีใครฟัง ในขณะที่แอนนี่นั้นพูดตลอดเวลา พูดเรื่อยเจื้อยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่การพูดของเธอ เป็นเพียงการพูดเพื่อปกป้องตัวเองจากความเงียบลึกซึ้งภายใน เมื่อเธอกลับบ้านเธอมีชีวิตกับแมว เพียงลำพัง ในบ้านที่ไม่มีใครให้พูดด้วย บ้านจึงท่วมไปด้วยความเงียบ ในขณะที่แอนเดรียกลายเป็นภาพแทนของผู้หญิงที่มีความสามารถที่จะพูด เธอเป็นผู้หญิงที่ทำงานในบริษัทที่เต็มไปด้วยผู้ชาย เป็นเลขานุการิณีที่ดีเยี่ยม แต่เมื่อจะพูด จะเสนอความเห็นเดี่ยวกับงาน เธอต้องผ่านการชงกาแฟให้คนในสำนักงานเสียก่อน และคำพูดของเธอเป็นสิ่งที่ถูกปัดตก ถูกขอให้รวบรัด ถูกทำให้ไม่มีความหมาย ไม่ได้ยิน 

เราจึงเห็นชีวิตที่ความเงียบกดทับลงมาหลากหลายรูปแบบ แต่ความเงียบไม่ได้ทำได้เพียงทำลายล้างอย่างเดียวแต่ยังเป็นอาวุธของพวกเธอได้ด้วย ในที่สุดพวกเธอได้รับเอาความเงียบมาในใช้ในฐานะของการต่อต้าน เมื่อพวกเธอเป็นฝ่ายเลือกที่จะเงียบเสียเอง ความเงียบกลายเป็นการปฏิเสธทุกสิ่งอย่าง ความเงียบคือการต่อสู้

ผู้หญิงคนเดียวที่พูดได้ในเรื่อง คือจานีนเอง หากเธอพูดได้ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่เก่งกว่าใคร เธอพูดได้เพราะเธอพูดด้วยภาษาของพวกผู้ชายผ่านทางสถานะทางสังคมของความเป็นแพทย์ ความเป็นเมีย เป็นแม่ เป็นชนชั้นกลาง ด้วยการพูดในสิ่งที่ผู้ชายอยากฟัง การพูดของเธอเป็นข้ออ้างสำหรับพวกผู้ชายในเรื่องการให้พื้นที่แก่ผู้หญิง เธอได้รับการรับรองให้พูด ในฐานะแขนขาที่รับรองความถูกต้องของโลกชายเป็นใหญ่ จนเมื่อเธอตระหนักรู้ว่าความเงียบต่างหากที่กำลังพูดสิ่งที่สำคัญ เธอก็เพิ่งเข้าใจว่า เธอเองก็เป็นแค่เครื่องขยายเสียงของการพูดของพวกผู้ชายซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่เข้าใจเสียงพูดของตัวเอง เมื่อสามีบอกว่าเธอคิดมากไปเอง บอกให้เธอตระหนักถึงสถานะของครอบครัว (หรือความมีหน้ามีตาของเขา) หรือศาลบอกให้เธอพูดสิ่งที่ศาลอยากได้ยิน เช่นว่าผู้หญิงสามคนนี้เป็นคนบ้า 

ผู้หญิงคนเดียวที่พูดได้ในเรื่อง คือจานีนเอง หากเธอพูดได้ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่เก่งกว่าใคร เธอพูดได้เพราะเธอพูดด้วยภาษาของพวกผู้ชายผ่านทางสถานะทางสังคมของความเป็นแพทย์ ความเป็นเมีย เป็นแม่ เป็นชนชั้นกลาง ด้วยการพูดในสิ่งที่ผู้ชายอยากฟัง 

การเป็นคนบ้าคือหัวใจทั้งหมดของเรื่อง สิ่งที่ศาลต้องการได้ยินจากคุณหมอจานีนคือการวินัจฉัยว่าผู้หญิงเหล่านี้คือคนบ้า เพราะในโลกของผู้ชาย กระทั่งการเป็นฆาตกรของผู้หญิงยังเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ คนบ้าเป็นข้อยกเว้น เป็นสิ่งชายขอบ เป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจ ถ้าการกระทำของพวกเธอเป็นอาชญากรรม ก็เท่ากับรับรองความเป็นไปได้ที่เธอจะเป็นแบบเดียวกับผู้ชาย ผู้ชายไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงเพราะผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ หากมันคือด้านกลับของการไม่ยอมรับว่าผู้หญิงทัดเทียมผู้ชาย ผู้หญิงรุนแรงได้ และสามารถก่ออาชญากรรมที่รุนแรงได้อย่างมีสติครบถ้วน 

สิ่งที่น่าสนใจคือพวกเธอเลือกที่จะเป็นอาชญากรมากกว่าจะยอมเป็นคนบ้า เพราะการเป็นคนบ้าคือการถูกทำให้เงียบ การโยกย้ายปัญหาจากโครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ไปสู่เรื่องปัจเจกของคนด้วยวิธีคิดแบบจะเอาอะไรกับคนบ้า เมื่อปัญหาอยู่ที่คนไม่ใช่ระบบ ระบบก็ไม่มีปัญหา การเป็นเป็นบ้าคือการทำให้เงียบ ความเงียบที่กดทับลงมา แทนที่ความเงียบของการปฏิเสธ พวกเธอต่อต้านด้วยความเงียบที่เปล่งเสียงและนั่นจำเป็นต้องถูกทำให้เงียบ

อาวุธชิ้นสุดท้ายที่พวกเธอเหลือมีจึงคือเสียงหัวเราะ เมื่อศาลพยายามเปรียบเปรยว่ามันจะต่างกันไหมถ้าเป็นผู้ชายที่เป็นฝ่ายฆ่าเจ้าของร้านบ้าง การเปลี่ยนเพศเพื่อเปรียบเปรยกลายเป็นการแฉอำนาจของพวกผู้ชายเอง ว่าสำหรับพวกเขา ผู้หญิงคือสิ่งที่อยู่ในระดับต่ำกว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีอำนาจ ความสามารถ หรือกำลังขวัญแข็งกล้าแบบเดียวกันกับพวกเขา สำหรับ ‘พวกผู้ชาย’ ผู้หญิงเหล่านี้เป็นได้มากที่สุดแค่คนบ้า ไม่สามารถเป็นได้มากกว่านั้นไม่สามารถเป็น นักบุญแบบเดียวกับ Joan of Arc และไม่สามารถเป็นอาชญากรได้

เสียงหัวเราะจากความเงียบของหญิงทั้งสามและบรรดาผู้หญิงคนอื่นๆ ที่อยู่ในศาล ทำให้นึกถึงบทความ เสียงหัวเราะของเมดูซ่า (The Laugh of Medusa) บทความชิ้นสำคัญของ Helene Cisoux นักเขียน นักวิชาการและนักสตรีนิยมชาวฝรั่งเศสที่เขียนขึ้นในปี 1976 บทความที่เป็นเสมือนการท้าทายต่อแนวคิดจิตวิเคราะห์แบบชายเป็นใหญ่ของ ฟรอยด์ และลากองนี้ ได้เปรียบเทียบผู้หญิงเข้ากับเมดูซ่า นางปีศาจในตำนานที่มีเส้นผมเป็นงู และหากใครสบตานางจะกลายเป็นหิน (ซึ่งก็นั่นเท่ากับไม่มีใครเห็นเธอจริงๆ และเธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของความตาย ผู้หญิงคือสิ่งอันตราย ผู้หญิงคือความลึกลับและความตาย) เมดูซ่าเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ถูกปลดปล่อยจากความเป็นชาย จากประวัติศาสตร์แนวคิดบูชาลึงค์ทำให้ผู้หญิงเป็นสิ่งลึกลับดำมืด เป็นสิ่งที่ต้องหลบซ่อน เป็นเพียงขั้วตรงข้ามที่ทำให้ความเป็นชายมีความหมาย Cisoux เขียนถึงเมดูซ่าสั้นๆ ว่า

‘ที่คุณต้องทำคือจ้องเมดูซ่าตรงหน้าเพื่อที่จะมองเห็นเธอ และเธอจะยังไม่ตาย เธอช่างสวยงาม และเธอกำลังหัวเราะ’https://www.mun.ca/philosophy/Cixous_The_Laugh_of_the_Medusa.pdf

อ.วันรัก สุวรรณวัฒนา ได้พูดถึงการอ่าน The Laugh of Medusa ไว้อย่างน่าสนใจว่า 

คำถามแรกเมื่อเราอ่านงาน The Laugh of the Medusa คือทำไมต้องเมดูซ่า เนื่องจากเมดูซ่าเป็นตัวแทนของผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ได้เป็นอย่างดี เพราะผู้หญิงเป็นสิ่งที่ผู้ชายหวาดกลัว เนื่องจากพวกเธอลึกลับ และไม่สามารถควบคุมได้ แต่อาวุธของเมดูซ่าก็คือดวงตาของเธอที่คนที่จ้องต้องกลายเป็นหิน ซึ่งผู้ชายผู้ที่หลงใหล และได้ยินในความงามของดวงตาของเธอก็จะต้องตกเป็นเหยื่อของเธอทุกคน ผู้หญิงก็เช่นกัน พวกเธอถูกทำให้เป็นเพศที่ผู้ชายหวาดกลัว แต่ก็น่าหลงใหลในเวลาเดียวกัน เมดูซ่าจึงควรจะหัวเราะทุกครั้งที่ผู้ชายวิ่งหนีเธอ เพราะพวกเขากำลังวิ่งหนีสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง ผู้หญิงจึงควรจะหัวเราะเยาะเมื่อผู้ชายเบือนหน้าหนีจากพวกเธอ

ซิซูเสนอว่าการหัวเราะเป็นการท้าทายสังคมชายเป็นใหญ่ที่ประหยัดที่สุด ง่ายที่สุดและเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และวิธีการหัวเราะที่ง่ายที่สุดก็คือการเขียน การเขียนที่ผู้ชายจะเบือนหน้าหนีก็คือ “การเขียนแบบผู้หญิง” การเขียนแบบผู้หญิงต้องมีความกระจัดกระจายไม่เป็นทิศทาง หรือในบางครั้งก็อ่านไม่รู้เรื่องเลย การทำเช่นนี้เป็นการท้าทายภาษาและวิธีการเขียนแบบตะวันตกและสังคมชายเป็นใหญ่ที่การเขียนต้องเป็นเส้นตรง มีประเด็นชัดเจนและมีเอกภาพhttps://prachatai.com/journal/2014/06/54330

การหัวเราะคือการปฏิเสธต่ออำนาจ เสียงหัวเราะไม่มีความหมายเฉพาะ มันตีความได้หลากหลายทั้งเป็นมิตรและไม่เป็น มันเป็นได้ทั้งเสียงของความไร้สำนึก เสียงร้องของสัตว์ เสียงหัวเราะโดยเฉพาะเมื่อผิดที่ผิดทาง เป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ เสียงหัวเราะเป็นทั้งการยอมรับและเยาะเย้ย เสียงหัวเราะเป็นการต่อต้านและการกดให้ต่ำ การหัวร่อต่ออำนาจคือการปฏิเสธอำนาจของอำนาจนั้น ราวกับว่ามันเป็นเรื่องน่าขัน ไร้สาระ เพราะพวกเธอคือเมดูซ่า เธอฆ่าผู้ชายที่จ้องมองเธอ แต่ไม่มีใครเคยเห็นเธอจริงๆ หลังการฆ่า เราได้เห็นฉากสั้นๆ ที่ทรงพลัง หลังออกจากร้านบูติค คริสตีน พาลูกชายไปสวนสนุก นั่งชิงช้าสวรรค์ แอนนี่ไปกินอาหารมื้อใหญ่ และเอเดรียนไปขายตัว (โดยเธอเป็นผู้กำหนดกิจกรรมเองทั้งหมด) ราวกับเธอถูกปลดปล่อยจากการมองโลกแบบเดิม เป็นอิสระอย่างแท้จริง 

หนังจบลงที่เสียงหัวเราะตรงนี้จบลงที่พวกเธอถูกขจัดออกไป เพื่อให้กระบวนการของศาลดำเนินต่อไปโดยไม่มีพวกเธอ การต่อต้านของพวกเธอไร้ความหมาย พวกเธอถูกตัดสินโดยไม่มีสิทธิ์แก้ต่าง แต่การหัวร่อต่ออำนาจของพวกเธอคือเสียงหัวเราะแห่งเมดูซ่าที่ทำให้อำนาจถึงกับต้องเปิดเผยความบ้าอำนาจออกมา พวกผู้หญิงออกไปข้างนอก จานีนมองสบตาพวกเธอหันไปทางพวกเธอไม่ได้หันไปทางสามี เธอไม่ได้พูด แต่ความเงียบของเธอกำลังเปล่งเสียง 

นี่จึงเป็นหนังที่ท้าทายอย่างยิ่ง และผลักข้อถกเถียงของตนออกไปสุดทางอย่างยิ่ง ไม่แปลกเลยที่มันยังคงเป็นหนังที่รบกวนจิตใจและสร้างข้อถกเถียงของผู้คนทั้งในขณะที่มันออกฉายมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านบทความเกี่ยวกับหนัง และดูหนัง (เวลาจำกัด) ได้ที่นี่ 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here