Ma Rainey’s Black Bottom: ร้อนจนคลั่งไปกับเพลงบลูส์

(2020, George C. Wolfe)

เลวีมาเล่นให้วงแจ๊สวันนี้เพราะเขาฝันจะได้อัดแผ่นเสียงของตนเอง โปรดิวเซอร์ค่ายเพลงสัญญากับเขาไว้ว่าจะให้เขาเล่นเพลงที่ตัวเองแต่ง ตอนที่เขามาครั้งที่แล้ว ประตูไม่ได้อยู่ตรงนั้น เขาหัวเสียมากและพยายามเปิดมันอยู่หลายครั้ง จนสุดท้ายที่เขาพังมันออกไปนั่นแหละ เขาถึงพบว่ามันไม่ได้พาไปถึงไหน เขาพบแค่กำแพงสูงกั้นอยู่หลังประตูนั้นและมองไปเบื้องบนยังท้องฟ้าสีขาวกับดวงอาทิตย์กลมโตอันร้อนระอุของชิคาโก

ภาพเปรียบเปรยถึงประตูที่ไม่ได้พาไปที่ไหนอาจตรงกับชีวิตของคนผิวดำในอเมริกา ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และอาจเลยยาวมาจนถึงปัจจุบัน ในดินแดนที่คนขาวบอกว่าทุกคนจะได้โอกาสเท่าๆ กัน คนดำจำนวนมากยังคงติดอยู่กับกับดักแห่งการเหยียดสีผิว พวกเขาต้องทำตัวให้ดีเพียงเพื่อจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ในขณะที่คนขาวจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ความเชื่อมโยงนี้ทำให้นึกถึงเหตุการณ์สังหารจอร์จ ฟลอยด์ อยู่ไม่น้อย – เหตุการณ์ที่คนดำถูกตั้งข้อสงสัยเอาไว้ก่อนว่าเขาทำผิด และถูกกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ – ภาพแทนของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งคนดำต้องแบกรับไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

Ma Rainey’s Black Bottom เล่าถึงการอัดเสียงอันวุ่นวายในบ่ายอันร้อนระอุวันหนึ่ง ของมา เรนนีย์ นักร้องแจ๊สผิวสี ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เจ้าแม่แห่งเพลงบลูส์ (The Mother of the Blues)” นักดนตรีแจ๊สผู้มีประสบการณ์สามคน-สโลวแดรก โทเลโด และคัทเลอร์ มาถึงตรงเวลา จากนั้นก็เป็นการปรากฏตัวของนักทรัมเปตหนุ่มเจ้าเสน่ห์ เลวี ผู้ซึ่งยืนยันว่าจะให้วงเล่นเพลงในเวอร์ชันของเขา แต่ไม่มีใครเห็นด้วยเลยสักคน แล้วมาก็มาถึง รถเธอเฉี่ยวกับรถอีกคน ทำให้เออร์วิน ผู้จัดการของเธอต้องเข้ามาเคลียร์ แต่เรื่องก็ยังไม่จบ เมื่อมายืนยันให้หลานของเธอ ซิลเวสเตอร์ เป็นคนพูดเปิดเพลง ทั้งที่ซิลเวสเตอร์เป็นคนพูดติดอ่าง

ฉากหลังของเรื่องคือการอพยพครั้งใหญ่ของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน จากความโหดร้ายและอยุติธรรมทางตอนใต้ ขึ้นมาสู่ทางตอนเหนือ ที่ซึ่งพวกเขาถูกสัญญาไว้ว่าโอกาสจะเป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียม การมาถึงตอนเหนือหมายความว่าพวกเขาจะได้ใช้แรงงานแลกกับเงิน โดยไม่ต้องมีข้อผูกมัดเรื่องที่ดิน ซึ่งดูเหมือนจะดี เมื่อประกอบกับความตกต่ำของอุตสาหกรรมฝ้าย คนผิวดำจำนวนมากจึงอพยพมาที่นี่ ที่ซึ่งพวกเขากลายเป็นแรงงานในร้านค้าและเหมืองต่างๆ แต่พวกเขาก็ยังคงโดนเอาเปรียบอยู่ดี ด้วยเงื่อนไขอันไม่เป็นธรรมในสัญญาจ้าง

แม้แต่มาเองก็โดนเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน เราจะเห็นได้ว่าในตอนท้ายเรื่อง โปรดิวเซอร์ต้องการหักเงินจากส่วนของเธอ 25 เหรียญให้กับซิลเวสเตอร์ แทนที่เขาจะออกเงินเพิ่ม นั่นทำให้มาโต้ตอบกลับไป และเออร์วินก็ต้องไปไกล่เกลี่ยจนโปรดิวเซอร์ยอมจ่ายเงินเต็มจำนวนให้กับมา สาเหตุที่เขาทำเช่นนั้นก็เพราะว่ามายังไม่ได้เซ็นสัญญาเผยแพร่ให้เขา ซึ่งเอาเข้าจริงนั่นทำให้เธอหัวเสียจนเกือบออกจากที่นั่นโดยไม่เซ็นมันอยู่แล้ว

เหตุการณ์ในสตูดิโออัดเสียงช่วงระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงเป็นแค่ภาพเล็กของอุตสาหกรรมเพลงอเมริกันในยุค 1900’s ซึ่งมีการเติบโตของ “แผ่นเสียงคนดำ (Race Records)” ซึ่งเป็นงานผลิตโดยคนขาวเพื่อสนองตอบต่อจำนวนประชากรผิวดำที่อพยพมา พวกเขาทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำจากนักร้องผิวดำ ด้วยการขายของให้คนผิวดำ และทำสัญญาที่เอาเปรียบกับนักร้อง

มาเองก็อยู่ในจุดที่เลือกไม่ได้มากนัก เพราะเธอกำลังถูกคุกคามโดยความโด่งดังของเบสซี่ สมิธ ที่ร้องเพลงเดียวกันอีกเวอร์ชันเอาไว้ แม้เธอจะไม่ชอบค่ายเพลงนี้ก็ตาม เธอก็ไม่สามารถถอนตัวไปออกทัวร์คอนเสิร์ตอย่างที่เธอขู่ว่าจะทำได้ เราอาจเห็นการดิ้นรนเชิงอำนาจของมาได้จากบทพูดที่เธอบอกว่า พวกคนขาว “สนใจแค่เสียง” ของเธอเท่านั้น และที่จริงพวกเขาไม่ได้แคร์อะไรเธอเลย แม้แต่เออร์วิน ผู้จัดการส่วนตัวที่ควรจะแคร์เธอ ก็ชวนเธอไปบ้านเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเพื่อร้องเพลงให้เพื่อนคนขาวของเขา

การดิ้นรนเชิงอำนาจเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเพลงบลูส์มาเสมอ ประวัติศาสตร์ของบลูส์นั้นยาวไปถึงยุคก่อนสงครามกลางเมือง โดยเกิดจากความตรากตรำของชาวอเมริกันที่ถูกขายเป็นทาสในทางใต้ เพลงบลูส์นั้นวิวัฒนาการมาจากเพลงทางศาสนาและเพลงที่ร้องในระหว่างทำงานของทาสผิวดำ และกลายมาเป็นวิธีระบายออกของความข้นแค้น โดยที่ยังคงไว้ซึ่งธรรมเนียมของการเล่าเรื่องแบบปากเปล่าผ่านบทเพลง เพลงบลูส์ยุคแรกๆ มีลักษณะเป็นเรื่องเล่าแบบหลวมๆ โดยที่นักร้องชาวแอฟริกัน-อเมริกันสะท้อนเสียงของพวกเขาว่าด้วยความโศกเศร้าในโลกที่มีความจริงอันโหดร้าย ความรักที่จากไป ความป่าเถื่อนของตำรวจ และการกดขี่โดยคนขาว

“เป็นเรื่องยากที่จะให้คำจำกัดความเพลงประเภทนี้” ออกัสต์ วิลสัน ผู้เขียนบทละคร Ma Rainey’s Black Bottom กล่าวไว้ “อาจเป็นการเพียงพอที่จะบอกว่ามันเป็นดนตรีที่หายใจได้และสัมผัสได้ เป็นดนตรีที่เชื่อมโยง และเป็นวิถีของการแยกออกมาโดดเดี่ยวและแตกต่างจากใครๆ ในตัวมันเอง”

นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่า บลูส์เป็นเพลงที่ “ไม่อาจร้องออกมาโดยปราศจากหัวใจอันเต็มเปี่ยม และจิตวิญญาณที่ขาดวิ่น” อันเป็นลักษณะที่จุดประกายเพลงบลูส์มาแล้วนับไม่ถ้วน ดังที่มาบอก บลูส์ทำให้เหล่าคนดำลุกขึ้นจากเตียงได้ในตอนเช้า และมันคือวิธีเข้าใจชีวิตแบบหนึ่ง ในขณะที่คนขาวเพียงได้ยินมัน แต่ไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่ามันกำลังพูดถึงอะไร หากเพลงบลูส์เป็นสิ่งก่อสร้างอย่างหนึ่ง มา เรนนีย์ ก็คือสถาปนิกตัวยง เธอทำความรู้จักเพลงประเภทนี้ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1900 หลายปีก่อนที่เพลงประเภทนี้จะได้รับการจำกัดความเป็นเพลงประเภทหนึ่ง เธอเป็นที่รู้จักในชื่อ “Ma Can Can” และ “Black Nightingale” และเธอก็เอาผู้ชมจนอยู่หมัดด้วยเนื้อเพลงที่พูดถึงความเศร้าโศกและความวิตกกังวลของชีวิตคนดำในยุคนั้น

สไตล์การแสดงของมา เรนนีย์ มักเป็นการผสมผสานระหว่างการเอื้อนที่บ้าบิ่น และบางครั้งก็เครียดเคร่ง มีการเรียกให้ผู้ชมมีส่วนร่วม และมีความผันผวนทางอารมณ์ สไตล์ของเธอเป็นที่นิยมมากเสียจนเธอสามารถแสดงให้ผู้ชมทั้งสองผิวสีรับชมได้เป็นหลายทศวรรษก่อนที่จะมีการยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวเสียอีก

ฟลอรีน ดอว์คิน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เพลงบลูส์ของ มา เรนนีย์ กล่าวว่า “เธอ (มา เรนนีย์) ไม่อาจควบคุมโลกใบนี้ที่มีการแบ่งแยกและเอาเปรียบได้ แต่เธอสามารถควบคุมทุกอย่างได้เมื่อเธออยู่บนเวที เธอควบคุมผู้ชมได้ไม่ว่าจะเป็นใคร เธอทำให้พวกเขาทึ่ง และนั่นคือการควบคุมของเธอ นั่นคือพลัง และเธอก็ใส่พลังลงไปในสิ่งที่เธอทำ ‘พวกเขาอาจไม่นับถือหรือชอบฉัน หรือคิดว่าฉันเป็นพลเมืองเต็มขั้น แต่เมื่อฉันขึ้นไปบนเวทีนั้น ฉันทำให้พวกเขาทึ่ง พวกเขาอยู่ในกำมือของฉัน’

Now I’m gonna show y’all my black bottom

They pay to see that dance

Wait until you see me do my big black bottom

It puts you in a trance

ฉันจะโชว์บั้นท้ายดำๆ ของฉัน

พวกเขาจ่ายเงินมาดูการแสดงระบำนั้น

รอจนกว่าเธอจะได้เห็นบั้นท้ายของฉันเสียก่อนเถอะ

มันจะทำให้คุณอยู่ในภวังค์

– เนื้อเพลง Ma Rainey’s Black Bottom –

อารมณ์และความพลุ่งพล่านที่อยู่ในทำนองเพลงบลูส์ของมา อาจสอดรับได้อย่างพอดีกับความเกรี้ยวกราดของเหล่านักดนตรีผิวดำที่ซ้อมอยู่ที่ชั้นใต้ดิน เลวี ผู้ซึ่งถูกปรามาศว่ากลัวคนขาวจนหงอ หลังจากที่เขาพูด “ครับผม” กับโปรดิวเซอร์ เผยถึงอดีตอันเจ็บปวด ที่แม่ของเขาถูกกลุ่มคนขาวล่วงละเมิดตอนที่พ่อไม่อยู่บ้าน เลวี ซึ่งเป็นเด็กอายุแค่แปดขวบ ลอบไปเอามีดของพ่อมา และพยายามจะปาดคอหนึ่งในนั้น แต่พวกมันก็ตอบโต้จนมีดเฉือนเข้าที่อกของเลวี ด้วยเหตุนั้นคนขาวกลุ่มนั้นจึงหนีไปด้วยความกลัวว่าเขาจะตาย น้ำตาแห่งความคั่งแค้นของเลวีไหลออกมาขณะที่เขาโชว์รอยแผลเป็นที่อก ก่อนจะบอกให้เพื่อนร่วมวงหยุดสั่งสอนเขาว่าจะต่อรองกับคนขาวอย่างไร

ในเวอร์ชันต้นฉบับที่เป็นละครเวที Ma Rainey’s Black Bottom ดำเนินเรื่องอยู่ในหน้าหนาว แต่ผู้กำกับเวอร์ชันภาพยนตร์เห็นว่า หน้าร้อนของชิคาโก ที่ร้อนเอามากๆ น่าจะเป็นฉากหลังที่ดีสำหรับไฟแค้นที่ปะทุอยู่ในตัวละครผิวดำทั้งหลายของเขา มันสุมความโกรธเคืองให้กับมา ที่รู้ว่าค่ายเพลงของคนขาวไม่ได้สนใจอะไรนอกจากผลประโยชน์ที่ได้จากเธอ และเป็นฉากหลังอันดีให้กับการท้าทายพระเจ้าของเลวี ในฉากที่เขาประณามพระองค์ที่ไม่ออกมาช่วยตอนที่แม่เขาโดนทำร้าย นอกจากนั้นมันยังเป็นตัวปูทางที่ดีไปสู่ความเดือดที่ขมวดปมออกมาเป็นความรุนแรงในตอนท้ายเรื่อง กับความแค้นที่ระเบิดออกมาจนกลายเป็นโศกนาฏกรรม

อาจกล่าวได้ว่า ความร้อนแรงของเพลงบลูส์ และอากาศที่ร้อนจัด เป็นสิ่งที่คนดูจะได้สัมผัสเมื่อดูหนังเรื่องนี้ และมันทำให้ความคิดของเราเดือดพล่านอย่างได้ผล เมื่อรับรู้ว่าคนดำต้องแบกรับความเจ็บปวดอยู่มากเพียงใด และพวกเขาต้องแลกอะไรเพียงเพื่อให้คนเห็นว่าเป็นคนเท่ากัน อาจเหมือนที่โทเลโดบอกว่า คนดำเป็นเหมือนอาหารที่เหลือ ภาพพจน์ที่เขาให้นั่นมันช่างน่าเจ็บใจและหดหู่ จนเราอดสะท้อนใจไม่ได้เมื่อตระหนักว่า ความเจ็บปวดเหล่านี้ยังคงตกค้างมาจนถึงทุกวันนี้

ในอีกแง่หนึ่ง Ma Rainey’s Black Bottom ก็เป็นงาน slice of life ชิ้นหนึ่ง ที่จดจารประวัติศาสตร์การถูกกดขี่ของคนผิวดำที่ต้องต่อรองเชิงอำนาจตลอดเวลา และเป็นงานชั้นครูที่แสดงเจตจำนงของ ออกัสต์ วิลสัน ผู้เขียนบท ที่คิดว่าคนเราต้องรู้ประวัติศาสตร์ของกลุ่มตนเอง แม้จะเป็นประวัติศาสตร์ในด้านที่ไม่สวยงาม แต่มันก็ช่วยให้เกิดความสืบเนื่องทางตัวตน ในการที่จะอธิบายว่าเราคือใคร และสร้างกฏเกณฑ์บางอย่างเพื่อใช้ในชีวิต เพราะ “หากเราไม่ใช้ชีวิตตามกฎของตัวเอง เราก็จะแพ้” ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดที่สะท้อนอยู่ในคาแร็กเตอร์อันเด่นชัด ไม่ยอมคน ของมา ตั้งแต่เริ่มเรื่อง ซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์ที่ทำให้ไวโอลา เดวิส นักแสดงเจ้าของบทบาทนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ปีนี้นั่นเอง


ชม Ma Rainey’s Black Bottom ได้ที่ Netflix


อ้างอิง

https://www.theguardian.com/music/2020/dec/15/ma-rainey-black-bottom-netflix-mother-of-the-blues

https://en.wikipedia.org/wiki/Blues

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS