Home Review Film Review Raya and the Last Dragon รายากับความจีนที่หายไป?

Raya and the Last Dragon รายากับความจีนที่หายไป?

Raya and the Last Dragon รายากับความจีนที่หายไป?

ในดินแดนคูมันตราดินแดนจินตนาการที่มีกลิ่นไอแบบอุษาคเนย์ยุคก่อนสมัยใหม่ มนุษย์กับมังกรอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขจนวันหนึ่งมีสัตว์ร้ายนามว่า ดรูน เข้ามาทำลายความสงบสุขนี้ เผ่าพันธ์มังกรเสียสละปกป้องแผ่นดินจนตนเองนั้นสูญหายไปจากโลก เหลือเพียงมณีพลังมังกรทีคอยสะกดอสูรร้ายไม่ให้กลับมา แต่มนุษย์ที่เหลืออยู่กลับแตกแยกออกมาเป็นคน 5 เผ่าตามอวัยวะของมังกร เผ่าหัวใจ เขี้ยว เล็บ สันหลัง และหาง ที่แก่งแย่งอำนาจกัน คูมันตราแตกเป็นก๊กเป็นเหล่าจนวันหนึ่งอสูรดรูนกลับมา เลยเป็นหน้าที่ของรายา ลูกสาวเจ้าเผ่าหัวใจ ทีต้องตามหามังกรตัวสุดท้ายเพื่อต่อสู้กับดรูนอีกรอบ

ในขณะที่เสียงตอบรับของคนไทยที่ไปดู Raya and the Last Dragon มักจะเต็มไปด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นกับความเป็นไทยบนจอ แต่ตัวผู้เขียนเองแอบจะติดขัดกับการเหมารวมไปว่าสิ่งที่อยู่บนจอคือความเป็นไทยและละเลยความเป็นภูมิภาคอุษาคเนย์ที่กินขอบเขตเกินกว่ารัฐ-ชาติใดๆ เป็นการเฉพาะ อีกหนึ่งกระแสการตีความอีกแบบคือการพยายามแทนค่าเผ่าต่างๆ ในจักรวาลของหนังให้เป็นประเทศต่างๆ ในปัจจุบันของอุษาคเนย์ (เผ่านี้มีหิมะด้วยคือที่ไหน เผ่านี้มีตลาดน้ำคือที่ไหน) ซึ่งผู้เขียนเองก็มองว่าการพยายามจะวางเผ่าต่างทาบเข้ากับประเทศต่างๆ ในปัจจุบันนั้นก็เป็นอาการที่ผิดฝาผิดตัว 

Qui Nguyen หนึ่งในผู้เขียนบท ให้สัมภาษณ์ว่า การแทนค่าให้แต่ละเผ่าแทนประเทศต่างๆ นั้น เป็นเรื่องง่ายที่จะคิด แต่การแทนค่าจะกลายเป็นดาบสองคมเพราะมันทำให้ต้องมีประเทศที่รับบทตัวร้าย “มันจะกลายเป็นอะไรที่เละเทะเลย โอ้ ประเทศนี้เลว ประเทศนี้ดี และตัวเอกเรามาจากเผ่านี้” วิธีการที่น่าจะดีกว่าคือปะปนองค์ประกอบทุกประเทศให้ไปอยู่ในทุกเผ่า ให้มันดูเป็นอะไรที่กลางๆ ไป Nguyen อธิบายว่าคูมันตราเหมือนเป็นดินแดนยุโรปในยุคกลางก่อนแบ่งเป็นชาติๆ คุมันตรา “เป็นเหมือนดินแดนกษัตริย์อาเธอร์ในตำนานของพวกเรา [ชาวอุษาคเนย์] เป็น Game of Thrones ของเรา เป็น Dungeons and Dragons ของเรา” ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่าเวลาเราดู Game of Thrones เราจำเป็นต้องแทนค่าอาณาจักรต่างๆ กับประเทศยุโรปในปัจจุบันหรือไม่ ? ก็อาจจะไม่จำเป็น

แต่ในบรรดาการตีความที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ต มีการตีความแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือการมองว่าตัวร้ายของเรื่อง ตัวดรูนเป็นภาพแทนของการเมืองร่วมสมัย นั่นคือดรูนเป็นเหมือนจีนที่เข้ามาทำลายความสงบสุขของภูมิภาค โดยมีมังกรในจักรวาลของเรื่องที่มาเป็นตัวแทนแม่น้ำโขง เป็นดั่งอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู้กับความชั่วร้ายของดรูน

คำถามคือดรูนคือจีนจริงๆ หรือ? แล้วมังกรคือภูมิภาคอุษาคเนย์ใช่ไหม?

ก่อนอื่นผู้เขียนขอออกตัวว่า ไม่ค่อยซื้อการอ่านหนังเรื่องนี้เป็นการเมืองภูมิภาคแบบตรงไปตรงมาจริงๆ จังๆ การมองว่าเนื้อเรื่องในหนังเป็นภาพเปรียบเปรยของประเทศในภูมิภาคที่ทะเลาะกัน ผู้เขียนเชื่อว่าตัวหนังจริงๆ มันไม่ได้จะลึกซึ้งกับความเป็นภูมิภาคนี้มากไปกว่าเสื้อผ้า อาหาร สถาปัตย์ และชื่อตัวละคร หนังสามารถถอดเส้นเรื่องแล้วไปแปะกับภูมิภาคใดๆ ในโลกก็ได้ มันจะเป็นตะวันออกกลางที่เผ่า 5 เผ่าแตกออกมาก็ได้ เป็นยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออกก็ได้ เป็นเอเชียไกลก็ได้ เป็นเนทีฟอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ก็ได้ เป็นแคริบเบียน หรือจะกลับไปหมู่เกาะแปซิฟิกแบบ Moana ก็ได้ แค่เปลี่ยนเสื้อผ้าและอาหารคุณก็ได้สูตรสำเร็จของหนังที่จะไปแปะลงบนภูมิภาคไหนก็ได้ และรู้สึกว่าเนื้อเรื่องจริงๆ ของหนังก็ไม่ได้ตั้งใจจะเฉพาะเจาะจงอะไรกับอุษาคเนย์ ซึ่งก็ใช่แหละ ตัวค่ายหนังก็ต้องตั้งใจจะขายหนังกับคนดูทั่วโลก กลิ่นไออุษาคเนย์กลายเป็นความ exotic ที่สร้างรสชาติใหม่เพื่อขายของก็เท่านั้น

สิ่งที่น่าตั้งคำถามตามมาคืออะไรคือความ exotic ที่น่าขายในภูมิภาคนี้ จริงๆ ว่ากันตามประวัติศาสตร์อย่างน้อยจากฝั่งอเมริกา อุษาคเนย์มักถูกนับรวมเข้ากับเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะจีน (นี่อาจมองไปที่ดราม่าของหนังอีกประเด็นที่ว่าแคสต์หลักนอกจากตัว Raya ที่นักแสดงเป็นอเมริกัน-เวียดนามแล้ว ที่เหลือเป็นคนเชื้อสายเอเชียไกลหมดเลย) หนังหรือแอนิเมชั่นในอดีตนั้นตัวละครที่เป็นคนอุษาคเนย์มักถูกออกแบบว่าตัวผิวเหลือง ตาตี่เหมือนคนจีน (หรือหลายครั้งก็แคสต์นักแสดงเชื้อสายจีนมาเล่น) และ/หรือตัวละครอุษาคเนย์ก็มักจะถูกวาดให้มีลักษณะแตกต่างจากคนเอเชียใต้ (อินเดีย ปากีสถาน ฯลฯ) ที่ผิวสีคล้ำ ดวงตาโต ความเป็นอุษาคเนย์มักถูกผสมเข้ากับความเป็นจีนอย่างแนบเนียนเช่นใน The Hangover 2 ที่เนื้อเรื่องเกิดในกรุงเทพฯ หนังก็สามารถมีซีนที่เกิดในวัดจีนได้โดยไม่เคอะเขิน หรือใน Crazy Rich Asians ที่เนื้อเรื่องอยู่ในสิงคโปร์แต่ก็เต็มไปด้วยภาพของวัฒนธรรมจีนเป็นหลัก

สิ่งที่น่าตั้งคำถามตามมาคืออะไรคือความ exotic ที่น่าขายในภูมิภาคนี้ จริงๆ ว่ากันตามประวัติศาสตร์อย่างน้อยจากฝั่งอเมริกา อุษาคเนย์มักถูกนับรวมเข้ากับเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะจีน

จริงๆ แล้วถ้าไล่ประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคม ดินแดนแถวนี้มักมีชื่อเล่น 2 อย่างว่า east india อินเดียตะวันออก หรือ indo-china อินโดจีน สำหรับฝรั่งที่แยกแยะอะไรไม่ค่อยเป็นภูมิภาคนี้คือดินแดนที่อยู่ระหว่างอินเดียกับจีน (พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม) มีชื่อว่าอินโดจีน หรือดินแดนที่ไม่มีเอกลักษณ์อะไรจนต้องตั้งชื่ออิงจากสองอาณาจักรที่ใหญ่กว่าข้างๆ เราสามารถเห็นหลักฐานเหล่านี้จากการตั้งชื่อประเทศแถวนี้ตอนเป็นอาณานิคม ตอนอังกฤษได้พม่าทีแรก อังกฤษผนวกพม่าเข้าไปเป็นจังหวัดหนึ่งของอินเดียก่อน พม่ากลายเป็น British India ก่อนที่อังกฤษจะแยกออกมาเป็น British Burma ในภายหลัง ส่วนฝรั่งเศสยึดครองลาว กัมพูชา กับเวียดนามไว้ด้วยชื่อ French Indochine อินโดจีนของฝรั่งเศส ส่วนอินโดนีเซียในยุคนั้นก็คือ Dutch East India อินเดียตะวันออกของดัตช์ เหมือนฟิลิปปินส์ที่ก็มีชื่อเล่นอีกชื่อว่า Spanish East India อินเดียตะวันออกของสเปน

แต่การเหมารวมภูมิภาคในฐานะติ่งของ 2 อาณาจักรใหญ่ของอินเดียกับจีนก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว เพราะโดยทั่วไปภูมิภาคนี้ในประวัติศาสตร์ก็มักจะได้รับอิทธิพลจากทั้งอินเดียและจีน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ววัฒนธรรมเชิงสายตาในหลายๆ ประเทศได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เช่น เสื้อผ้า ศาสนา อาหาร ฯลฯ (มีประเทศเดียวที่อยู่ใน sphere ของจีนหนักๆ คือเวียดนาม-โดยเฉพาะเวียดนามภาคเหนือด้วย) แต่สิ่งที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้คือแม้ว่าเราจะเห็นความเป็นอุษาคเนย์สายอินเดียผ่านเสื้อผ้าอาภรณ์สถาปัตย์ ฯลฯ ความเป็นจีนกลับไม่ปรากฎในโลกคูมันตรา ซึ่งจุดนี้น่าสนใจเพราะปกติการจินตนาการถึงอุษาคเนย์ของตะวันตกฮอลลีวู้ดมักจะปนเปไปกับความเป็นจีน แต่สิ่งที่ปรากฎในหนังคือการตั้งใจจะสร้างอัตลักษณ์แบบอุษาคเนย์ชัดๆ โดยตัดแบ่งแยกความเป็นจีนออกไป ผิวกายตัวละครก็ถูกลงสีให้คล้ำออกน้ำตาล มีดวงตากลมโต มากกว่าเหลือง-ขาวและตาตี่แบบคนจีน

แปลว่าตัวหนัง Raya เป็นการพยายามเฉลิมฉลองความเป็นอุษาคเนย์ที่อดีตตกอยู่ในร่มเงาของจีนมาช้านานหรือไม่? โลกที่ปราศจากจีนและตัวร้ายเป็นจีน? จริงๆ โดยทั่วไปเราอาจจะเข้าใจหนังอย่างนั้นก็ได้ แต่ผู้เขียนขอเสนอการอ่านอีกแบบที่ย้อนแย้งประเด็นออกไป ในหนังมีสิ่งที่เป็นศูนย์รวมของทุกเผ่า 2 อย่าง 1. ศัตรูร่วมซึ่งคือตัวดรูน (ที่ถูกมองว่าเป็นจีน) และ 2. มังกรผู้พิทักษ์คืออะไร

ตัวมังกรในเรื่องมักถูกตีความว่าเป็นพญานาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งก็เป็นการตีความที่เป็นไปได้ แต่ก็จะมีคำถามว่าแล้วทำไมหนังจึงไม่ทำให้มันเป็นพญานาคไปเลย ทำไมต้องเป็นมังกรพันธ์ขนที่เหมือนหลุดออกมาจาก The Never Ending Story แทนที่จะเป็นพญางูผิวหนังเป็นเกล็ดตามคติคนแถวนี้ เหตุผลอาจจะเป็นเพราะคนดูฝรั่งมังค่าจะไม่รู้จัก แต่ส่วนตัวผู้เขียนก็คิดว่าไม่เกี่ยวขนาดนั้นเพราะตัวดรูนเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ไปเลย คนดูใดๆ ก็ยังเข้าใจ เหตุผลที่ในเรื่องสัตว์มหัศจรรย์กลายเป็นมังกรนั้นถ้าคิดเร็วๆ อาจมี 2 อย่าง 

1. พญานาคไม่ได้เป็นอัตลักษณ์ร่วมของภูมิภาคทั้งหมด พญานาคเป็นสิ่งมีชีวิตในตำนานพุทธของอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป แต่สำหรับฟากหมู่เกาะ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ติมอร์ตะวันออก น่าจะไม่มีหรือไม่คุ้นเคย (อันนี้เป็นการคาดเดาของผู้เขียน) 

2. พญานาคเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่จริงในวัฒนธรรมความเชื่อของคนในพื้นที่ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะโดนดราม่าได้ถ้าเลือกนำเสนอแบบไม่ถูกใจคนโลคัล แบบมังกรมูซูใน Mulan เวอร์ชั่นแอนิเมชั่น (เลยต้องเปลี่ยนเป็นนกแทนในภาค live action) มังกรพันธ์ขนของ Raya เลยเป็นสัตว์อภินิหารกลางๆ ที่มาจากที่อื่น ที่ไม่อิงกับความเชื่อท้องถิ่นที่อ่อนไหว มาเพื่อเข้ากับทุกเผ่าทุกประเทศทั้งภูมิภาค มาเพื่อทำให้ทุกภูมิภาคมีจุดร่วมกัน พอมาถึงจุดนี้เราสามารถอ่านได้ไหมว่ามังกรในเรื่องคือคนจีน? เพราะถ้าต้องถามว่าอะไรที่อุษาคเนย์มีจุดร่วมกัน นั่นก็คือมีคนจีนทุกที่

พูดแบบนี้อาจดูตลกเพราะมันแย้งกับการอ่านอีกแบบที่มองว่าตัวดรูนเป็นจีนที่เข้ามาทำลายความสงบในภูมิภาค แต่เราอาจจะพูดต่อได้ว่าจริงๆ ในปัจจุบันความขัดแย้งของภูมิภาคเป็นเรื่องของชนชั้นนำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มักจะเป็นคนเชื้อสายจีนต่อสู้กับทุนจากจีนปัจจุบันได้ไหม คือถ้าเอาบริบทไทย ใครในไทยจะบ่นเรื่องการรุกตลาดไทยของคนจีนมากกว่านายทุนเชื้อสายจีนอีกล่ะ

แต่กระนั้นดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าผู้เขียนอาจจะไม่ค่อยซื้อว่าตัวหนังโดยรวมเป็นการเปรียบเปรยเรื่องการเมืองภูมิภาคที่ตรงไปตรงมา ความเป็นอุษาคเนย์ที่หนังหยิบฉวยมาใช้ได้กลายเป็นองค์ประกอบทางสายตาที่ประดับประดาเส้นเรื่อง องค์ประกอบแบบเสื้อผ้า อาหาร สถาปัตย์ ธีมหลักของหนังเรื่องความเชื่อใจก็เป็นเหมือนมังกร นั่นคือเป็นของภายนอกที่เอามาแปะลงบนฉากหลังอุษาคเนย์เพื่อให้มีเนื้อเรื่องจะเล่า แต่เรื่องที่มันเล่าก็ไม่ได้หมายถึงคนแถวนี้จริงๆ เท่าไหร่นัก


อ้างอิง

https://time.com/5944583/raya-and-the-last-dragon-southeast-asia/

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here