Home Article Film & Business เหตุผลที่โรงหนังอาจเป็นหนทางของความอยู่รอดของธุรกิจสตรีมมิ่งในอนาคต

เหตุผลที่โรงหนังอาจเป็นหนทางของความอยู่รอดของธุรกิจสตรีมมิ่งในอนาคต

0
เหตุผลที่โรงหนังอาจเป็นหนทางของความอยู่รอดของธุรกิจสตรีมมิ่งในอนาคต

ถึงเวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พระเอกตัวจริงของอุตสาหกรรมบันเทิง (Entertainment industry) ในช่วงปีแห่งวิบัติโรค คงเป็นใครไม่ได้นอกจากผู้ประกอบการสตรีมมิ่งเจ้าต่างๆ ที่ล้วนแต่ช่วงชิงโอกาสจากการที่โรงหนังเกือบทั่วโลกต้องปิดตัวลง เพิ่มยอดสมาชิกเป็นเท่าทวี จนทำให้ผลประกอบการประจำปีสดใสอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนhttps://www.usatoday.com/story/tech/2021/02/16/netflix-amazon-streaming-video-disney-hulu-hbo-max-peacock/6759020002/ เท่านั้นยังไม่พอ ความร้อนแรงของธุรกิจสตรีมมิ่ง ยังส่งผลให้เหล่าสตูดิโอยักษ์ใหญ่ระดับโลก อย่าง Disney และ Warner Brothers ที่แต่เดิมไม่เคยเห็นค่าของสตรีมมิ่งมากไปกว่าช่องทางฉายหนังที่ออกจากโรงแล้วหรือหนังขนาดเล็ก ยังต้องปรับตัวเข้ากับแนวทางใหม่ ด้วยการจัดจำหน่ายหนังของตัวเองด้วยรูปแบบสตรีมมิ่งไปพร้อมกับการฉายแบบปกติhttps://time.com/5917626/warner-bros-hbomax-movies/

สถานการณ์ข้างต้น ช่างตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้ประกอบการโรงหนังต้องเผชิญ นับตั้งแต่โรงหนังต้องปิดตัวลงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ผู้ประกอบการโรงหนังขนาดใหญ่และขนาดเล็กต่างประสบภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่อง จนทำให้เป็นที่วิตกกังวลว่า หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไป โอกาสที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องประสบกับภาวะล้มละลายย่อมมีสูง

หลายเสียงเริ่มพูดถึงจุดจบของโครงสร้างธุรกิจแบบเดิม ที่โรงหนังคือจุดเริ่มต้นของกระบวนการจัดจำหน่าย โดยมีช่องทางสตรีมมิ่งที่จะขยับตัวกลายเป็นช่องทางหลักแทน หรือ หากแม้ว่าโรงหนังยังคงอยู่ ความสำคัญของมันคงไม่มีมากไปกว่าพื้นที่ที่คอยย้ำเตือนถึงสิ่งที่เรียกว่า “ประสบการณ์การดูหนัง” หรือ cinematic experience

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความคลุมเครือของการอยู่ยงของโรงหนัง และความสดใสของธุรกิจสตรีมมิ่งที่ดูเหมือนจะหาจุดสิ้นสุดไม่เจอ ผู้เขียนกลับเชื่อว่า ไม่ว่าจะอย่างไร โรงหนังจะยังคงอยู่ต่อไป และจะมีความสำคัญถึงขนาดเป็นหนทางความอยู่รอดของธุรกิจสตรีมมิ่งในอนาคตเสียด้วยซ้ำ เพราะเหตุใด


ผู้เขียนขอสรุปความเห็นดังนี้

แม้ว่าปัจจุบัน ผู้ประกอบการสตรีมมิ่งเจ้าต่างๆ จะประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า ตัวเลขของสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตลอดปี 2020 ไม่ว่าจะเป็น Netflix ที่มียอดสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้น 37 ล้านคน ทำให้ยอดสมาชิกทั่วโลกในปัจจุบันมีจำนวน 200 ล้านคน ซึ่งหาก Disney Plus ซึ่งมียอดผู้สมัครสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 86.8 ล้านคน ภายหลังจาก ดิสนีย์บริษัทแม่ ตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการจัดจำหน่ายจากโรงหนังมาเป็นสตรีมมิ่ง หรือ Amazon Prime Video และ HBO ที่มีสมาชิกทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านคน และ 57 ล้านคนตามลำดับhttps://www.usatoday.com/story/tech/2021/02/16/netflix-amazon-streaming-video-disney-hulu-hbo-max-peacock/6759020002/

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางตัวเลขที่ดูดี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวแปรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ คือ คอนเทนต์คุณภาพสูงที่บริษัทต่างๆ ต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้จงรักภักดีกับแบรนด์ให้ยาวนานที่สุด และแน่นอนว่า จำนวนคอนเทนต์ที่มากขึ้นย่อมหมายถึง ทุนการผลิตที่ต้องมากขึ้นด้วย โดยโมเดลทางธุรกิจของผู้ประกอบการสตรีมมิ่งในปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการผลิตคอนเทนต์ของตัวเองแล้วเผยแพร่ทางช่องทางของตัวเองเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างผู้ประกอบการประเภทนี้ได้แก่ Netflix และ Amazon Prime Video และ 2) ผู้ประกอบการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสตูดิโอขนาดใหญ่ ผลิตคอนเทนต์ของตัวเอง และรับเอาหนังของสตูดิโอที่ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งมาเผยแพร่โดยสตูดิโอขนาดใหญ่สามารถกำหนดรูปแบบการฉายหนังของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น การฉายพร้อมกันกับช่องทางสตรีมมิ่ง อย่างกรณีของบริษัท Disney ที่เลือกฉายหนังบนแพลตฟอร์ม สตรีมมิ่ง Disney Plus ในบางประเทศ และฉายทางโรงภาพยนตร์ในต่างประเทศหรือ Warner Brothers ที่มีนโยบายฉายหนังในโรงและบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง HBO Max พร้อมกันในอเมริกา

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาถึงทุนในการผลิตคอนเทนต์ ผู้ประกอบการที่เน้นเผยแพร่ผลงานทางช่องทางสตรีมมิ่งเพียงอย่างเดียว โดยคาดหวังรายได้จากยอดสมาชิกเพียงอย่างเดียว อย่าง Netflix และ Amazon Prime จึงมีความเสี่ยงกว่า เพราะต้องคาดหวังกับยอดสมาชิกที่ต้องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สตูดิโอที่สามารถกำหนดรูปแบบการฉายได้ สามารถเฉลี่ยรายได้จากหลายๆ ทางได้ ทั้งจากโรง จากค่าสมัครสมาชิก และยอดการสตรีมแบบจำกัดเวลา หรือที่เรียกว่า Premium Video on Demand จึงทำให้ลดความเสี่ยงจากการขาดทุนลงได้เยอะ

ในบทความที่เขียนโดย Edmund Lee ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ เมือกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่าหนี้ผูกพันที่ Netflix ก่อไว้สำหรับการดำเนินธุรกิจมีจำนวนถึงหนึ่งหมื่นห้าพันล้านเหรียญ และแม้ว่าสถานการณ์โควิดจะช่วยลดภาระหนี้ได้บ้างจากยอดผู้สมัครสมาชิกที่เพิ่มขึ้น จนทำให้ผู้บริหารมีความมั่นใจว่า ในอนาคตบริษัทอาจไม่มีความจำเป็นที่ต้องกู้เงินอีกต่อไป (หรือกล่าวง่ายๆ ว่าตอนนี้กระแสเงินสดมีมากพอที่จะใช้หนี้ได้แล้ว)https://www.nytimes.com/by/edmund-lee

แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าสถานะทางการเงินของ Netflix (หรืออาจรวมถึงสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่เจ้าอื่นๆ ที่เน้นการฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพียงอย่างเดียว) จะมีความมั่นคงได้ตลอดไป เพราะตราบใดที่ยังไม่สามารถเจาะตลาดสำคัญอย่าง จีน ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก แต่รัฐบาลไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการสตรีมมิ่งต่างชาติไปดำเนินธุรกิจได้ โอกาสที่จะขยายเพดานจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ ขณะที่ อินเดีย ที่แม้ว่าธุรกิจสตรีมมิ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ก็มีสูง จึงทำให้ต้องเฉลี่ยส่วนแบ่งทางการตลาดกันไป โดยเว็บไซต์ Quatz Indiahttps://qz.com/india/1897888/netflix-amazon-beat-disney-hotstar-amid-india-covid-19-lockdown/ ระบุว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 Netflix และ Amazon Prime มีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 20 เท่ากัน ขณะที่ Disney + Hostar ตามมาเป็นลำดับ 3 โดยมีส่วนแบ่งร้อยละ 17 ทั้งนี้ไม่นับรวมผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่าง Zee 5 หรือ Jio Cinema ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามมาห่างๆ 

รูปการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ต่อให้ผู้ประกอบการสตรีมมิ่งมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นมากแค่ไหนก็ตาม ค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะในการดึงความสนใจลูกค้าให้อยู่กับตัวให้นานที่สุด ผู้ประกอบการก็ต้องผลิตคอนเทนต์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็หมายถึงเม็ดเงินลงทุนมหาศาลที่ต้องอัดเข้าไปในกระบวนการผลิตอย่างไม่จบสิ้น และถ้าไม่มีผู้ประกอบการรายใดครองตลาดอย่างเด็ดขาด โอกาสที่จะมีรายได้กลับมาในระยะสั้นและกลางจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย

แล้วทีนี้ จะมีหนทางใดที่จะทำให้ผู้ประกอบการสตรีมมิ่งสามารถแสวงหารายได้เพื่อนำมาเติมกระแสเงินสด หนทางที่ดูเป็นรูปธรรมมากที่สุด ได้แก่ โรงภาพยนตร์ ก่อนที่วิกฤติโควิดจะเกิดในตอนต้นปี 2020 สัดส่วนรายได้ที่หนังเรื่องหนึ่งจะได้รับมาจากโรงภาพยนตร์เป็นลำดับแรก ก่อนตามมาด้วยรายได้จากสตรีมมิ่ง รายได้จากการจัดจำหน่ายดีวีดี/บลูเรย์ และรายได้จากโทรทัศน์ ตามลำดับhttps://www2.deloitte.com/us/en/insights/industry/technology/future-of-the-movie-industry.html สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะกลับมาอีกครั้งเมื่อโรงหนังกลับมาดำเนินกิจการตามปกติหลังวิกฤติโควิดคลี่คลาย ดังนั้นหาก ผู้ประกอบการสตรีมมิ่งลองปรับเปลี่ยนรูปแบบการเผยแพร่คอนเทนต์ จากเดิมที่ยึดช่องทางสตรีมมิ่งเป็นช่องทางหลักและช่องทางเดียว มาเป็น การเปิดตัวคอนเทนต์ในโรงหนังก่อนสักช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นถึงค่อยนำเสนอในช่องทางสตรีมมิ่ง หรือ เปิดตัวคอนเทนต์ในสองช่องทางพร้อมกัน โดยให้โอกาสผู้ชมที่ต้องการได้รับประสบการณ์ทางด้านภาพยนตร์ (cinematic experience) ได้ดูหนัง หรือ แม้แต่ซีรีส์ที่ผลิตอย่างประณีตแบบหนังในโรงหนัง โอกาสที่จะได้รายได้กลับคืนมาน่าจะมีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะหากหนังเรื่องนั้นมีศักยภาพทางการตลาดสูง ลองคิดถึงหนังอย่าง Bird Box หรือซีรีส์อย่าง The Crown หรือ Game of Throne ได้มีโอกาสฉายในโรงหนังเป็นวงกว้าง ก็น่าจะได้รับการตอบรับในระดับที่ดีไม่แพ้กัน ซึ่งหมายถึงได้รายอีกจำนวนหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะได้รับนอกเหนือจากค่าสมาชิกรายเดือนที่รับเป็นประจำอยู่แล้ว

อนึ่ง การฉายหนังข้ามแพลตฟอร์มของผู้ประกอบการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยได้ทำการทดลองมาแล้ว กับหนังคุณภาพอย่าง Roma ในปี 2018 ซึ่งเข้าฉายอย่างจำกัดในอเมริกาและทั่วโลก เนื่องจากถูกปฏิเสธจากโรงหนังเครือใหญ่ในทุกประเทศ เพราะ Netflix ไม่ยอมให้ฉายหนังก่อนที่จะเปิดตัวในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งhttps://en.wikipedia.org/wiki/Roma_(2018_film) และ The Irishman ซึ่งเข้าฉายอย่างจำกัดโรงด้วยเหตุผลเดียวกัน แม้ว่าไม่มีตัวเลขยืนยันอย่างเป็นทางการ Roma ทำรายได้จากการฉายโรงทั้งในอเมริกาและต่างประเทศรวมแล้วประมาณ 4 ล้านเหรียญhttps://www.boxofficemojo.com/releasegroup/gr1591366149https://en.wikipedia.org/wiki/Roma_(2018_film) ขณะที่ The Irishman ทำรายได้ไปประมาณ 8 ล้านเหรียญhttps://en.wikipedia.org/wiki/The_Irishman ดังนั้นในสภาวะที่โรงหนังเองก็ต้องเอาตัวรอดจากสภาวะล้มละลายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฟื้นฟูหลังโควิด ส่วนผู้ประกอบการสตรีมมิ่งเอง ก็ต้องการรายได้ที่มาจากทางอื่นนอกเหนือจากค่าสมาชิก บางทีนี่อาจเป็นโอกาสที่ทั้งโรงหนังและผู้ประกอบการสตรีมมิ่งอาจร่วมค้นหาทางออกเพื่อนำมาสู่รูปแบบการฉายหนังแบบใหม่ก็เป็นได้

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here