Home Article Film & Business มองธุรกิจหนังในเมืองไทย ในวันที่วิกฤติยังไม่สะเด็ดน้ำ

มองธุรกิจหนังในเมืองไทย ในวันที่วิกฤติยังไม่สะเด็ดน้ำ

0
มองธุรกิจหนังในเมืองไทย ในวันที่วิกฤติยังไม่สะเด็ดน้ำ

เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่าน ทอม บรู้กแมนน์ นักเขียนแห่ง Indie Wirehttps://www.indiewire.com/2021/01/predictions-box-office-2021-fewer-theaters-smaller-grosses-more-vod-1234604952/ เว็บไซต์รายงานความเคลื่อนไหวของวงการภาพยนตร์โลกชื่อดัง ได้เขียนบทความทำนายความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจหนังอเมริกันในปี 2021 ไว้ 14 ข้อ ซึ่งผู้เขียนได้อ่าน และสรุปใจความได้ 4 ประเด็นใหญ่ ดังนี้

1) โรงหนังในอเมริกายังคงจะต้องเผชิญความท้าทายที่ยากลำบากต่อไป เนื่องจากต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมจากการที่โรงหนังต้องปิดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว และถึงแม้ว่าโรงหนังจะกลับมาเปิดได้ใหม่หลังวิกฤติคลี่คลายไปแล้ว ในสภาพการณ์ที่อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิม โรงหนังอาจไม่ใช่แหล่งทำเงินแบบเป็นกอบเป็นกำของผู้สร้างหนังฮอลลีวูดอีกต่อไป (ดูเหตุผลได้ในข้อที่ 2 และ 3) ซึ่งบทสรุปอาจลงเอยด้วยการที่ผู้ประกอบการขอยื่นล้มละลายด้วยตัวเอง หรือขายกิจการให้ผู้ประกอบการรายอื่นต่อไป

Mulan

2) ธุรกิจสตรีมมิ่งจะยังคงความแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง จากการเป็นเลือกสำคัญของผู้ชมในช่วงเวลาที่ไม่สามารถออกมาดูหนังที่โรงได้ นอกจากนี้การที่สตูดิโอยักษ์ใหญ่อย่าง Disney และ Warner Brothers ได้ทดลองการจัดจำหน่ายใหม่ที่ผสมผสานรูปแบบการฉายแบบดั้งเดิม (ทางโรงหนัง) กับรูปแบบสตรีมมิ่งที่เรียกว่า premium Video On Demand แล้วผลลัพธ์ที่ออกมาดูเหมือนว่าจะเป็นบวก ไม่ว่าจะเป็นหนังเรื่อง Mulan หรือ Wonder Woman 1984 ก็ยิ่งจะทำธุรกิจสตรีมมิ่งจะกลายเป็นธุรกิจสำคัญของวงการหนังอเมริกันในปีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย ขณะเดียวกันก็จะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้โรงหนังอยู่ได้ยากขึ้น เพราะหากไม่ได้ฉายหนังที่เป็นแบบ “มหาชนนิยม” โอกาสที่คนจะออกมาดูหนังที่โรงอย่างล้นหลาม ก็มีความเป็นไปได้น้อย 

Wonder Woman 1984

3) รูปแบบฉายหนังจะเปลี่ยนไป สืบเนื่องจากสองข้อแรก เมื่อสตรีมมิ่งกลายมาเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสำคัญ จึงส่งผลให้ภูมิทัศน์ของสิ่งที่เรียกว่า release window หรือช่องทางการเผยแพร่หนังต้องเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยแต่เดิม window แรกของการฉายหนังส่วนใหญ่คือโรงหนัง จากนั้นคล้อยหลังไปสามเดือน ช่องทางการเผยแพร่หนังถัดไปก็คือ ดีวีดี แล้วตามมาด้วยช่องทางอื่นๆ ได้แก่ สตรีมมิ่ง ในรูปแบบของวิดีโอออนดีมานด์ ซึ่งก่อนหน้านี้ หนังเรื่องหนึ่งจะเผยแพร่ทางช่องทางนี้ได้หลังจากหนังเข้าโรงไปแล้วประมาณ 6-8 เดือนไปแล้ว และโทรทัศน์ซึ่งเป็นช่องทางเผยแพร่หนังช่องทางสุดท้าย แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป สตรีมมิ่งขึ้นมามีบทบาทสำคัญเท่าๆ (หรือมากกว่า) โรงหนัง แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อช่องทางการเผยแพร่หนังด้วย ซึ่งอันที่จริง สัญญาณของการเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นตั้งแต่ บริษัท Disney ตัดสินใจฉายหนังเรื่อง Mulan ทางช่องทางสตรีมมิ่งพร้อมกับโรงหนังในเดือนกันยายน ก่อนที่จะตามมาด้วยบริษัท Warner Brothers ที่ตัดสินใจฉาย Wonder Woman 1984 แบบผสมผสานด้วยการเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นๆ ฉายหนังในโรงหนังก่อนอเมริกา 1 อาทิตย์ ส่วนในอเมริกาหนังเปิดตัวพร้อมกันทั้งในโรงหนังและช่องทางสตรีมมิ่งแบบต้องเสียค่าเข้าชม ด้วยรูปแบบการฉายหนังที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาว่า โรงหนังจะยังคงมีความสำคัญในฐานะช่องทางการเผยแพร่หนังลำดับแรกต่อไปหรือไม่

Peninsula: Train to Busan 

4) โมเมนตั้มของหนังฮอลลีวูดในตลาดต่างประเทศอาจเปลี่ยนไป เหตุผลสำคัญมาจากการที่หนังฟอร์มยักษ์ส่วนใหญ่ หากไม่เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลายเรื่องที่สร้างไปแล้วก็ไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จตามกำหนด เลยเปิดโอกาสให้หนังท้องถิ่นได้มีโอกาสครองส่วนแบ่งทางการตลาดแบบไร้คู่แข่งสำคัญ ซึ่งอันที่จริงสัญญาณดังกล่าวเริ่มต้นแล้วในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้กับปรากฏการณ์ Peninsula: Train to Busan จีนกับความสำเร็จของหนังเรื่อง 800 และญี่ปุ่นกับสถิติใหม่ของรายได้ที่สร้างขึ้นโดยหนังแอนิเมชั่นเรื่อง Demon Slayer ยิ่งฮอลลีวูดฟื้นตัวช้าโอกาสที่จะกลับมาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศเหล่านั้นก็จะยากขึ้น


ข้อเขียนของทอม บรู้กแมนน์ ทำให้ผู้เขียนเกิดความสนใจว่า ในช่วงเวลาเดียวกับที่ธุรกิจหนังในอเมริกากำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ ผู้ประกอบการธุรกิจหนังในประเทศไทย น่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายในปีที่คาดเดาไม่ได้อย่างปีนี้ ซึ่งหลังจากที่ได้ทำการวิเคราะห์ความเป็นไปของตลาดหนังในช่วงปีที่แล้วจนถึง ณ เวลานี้ ผู้เขียนขอนำเสนอฉากทัศน์ จำแนกตามประเภทขององค์ประกอบธุรกิจหนังในเมืองไทย ดังนี้

ภาพแบนเนอร์ของเพจ Iqiyi Thailand

1) สำหรับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังไทย ความท้าทายสำคัญของพวกเขา คือการต้องกลายเป็นตัวแปรสำคัญของสมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจสตรีมมิ่งที่จะเพิ่มดีกรีความร้อนแรงในปีนี้ เนื่องจากจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาร่วมแข่งขันมากขึ้น หลังจากที่ปล่อยให้ Netflix กลายเป็นผู้เล่นหลักของธุรกิจสตรีมมิ่งในเมืองไทย (และโลก) ในช่วงปีแห่งไวรัสที่ผ่านมา โดยเฉพาะการที่ค่ายสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่อย่าง Disney Plus และ Iqiyi จากจีนเริ่มขยายแนวรุกอย่างชัดเจน ด้วยการเปิดรับสมัครตำแหน่งงานจัดหาคอนเทนต์ (Content Acquisitions) ประจำกรุงเทพฯ มีจุดประสงค์เพื่อแสวงหาคอนเทนต์ท้องถิ่นที่น่าสนใจสำหรับนำไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเอง 

ในภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดแบบนี้ คอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นหนัง หรือ ซีรีส์ จึงกลายเป็นที่ต้องการของทุกค่าย ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่การแข่งขันทางด้านราคา สิ่งที่เราอาจจะเห็นในปีนี้ คือ หนังไทยใหญ่ๆ บางเรื่อง อาจถูกซื้อไปฉายในช่องทางสตรีมมิ่งด้วยราคาที่สูงลิ่ว และผู้ชมอาจไม่มีโอกาสได้ชมทางโรงหนัง หรือถ้ามีก็อาจเป็นระยะเวลาอันสั้นมาก เพราะช่องทางหลักของการรับชมได้ถูกควบคุมโดยค่ายสตรีมมิ่งไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดูเหมือนผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังไทย จะได้รับอานิสงส์ จากการแข่งขันของผู้ประกอบการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คอนเทนต์ทุกประเภทจะถูกซื้อไปฉายโดยไม่ต้องคัดเลือก เพราะสตรีมมิ่งแต่ละเจ้าย่อมมีมาตรฐานในการคัดเลือกของตัวเอง โดยแก่นหลักของการคัดเลือกที่เหมือนกันคือ คุณภาพการผลิตที่ต้องมีมาตรฐานสูง เนื้อหาที่สื่อสารกับผู้ชมวงกว้างที่อาจไม่จำกัดแค่ในประเทศไทยได้ ดังนั้นหากผู้ผลิตต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเกมธุรกิจหนังแบบใหม่ ก็ต้องวางแผนอย่างเป็นระบบก่อนที่จะตัดสินใจสร้างหนังสักเรื่องขึ้นมา

2) สำหรับผู้ประกอบการโรงหนัง แม้ว่าการเกิดขึ้นของการระบาดระลอกใหม่ จะไม่ทำให้โรงหนังต้องปิดตัวลง เหมือนในช่วงภาวะระบาดระลอกแรก แต่ผลประกอบการของโรงหนังทุกโรงในช่วงเวลาที่ผ่านมากลับอยู่ในสภาวะซบเซา เนื่องจากผู้บริโภคลังเลที่จะออกมาดูหนังในโรง ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้การดูหนังที่โรงไม่ใช่ทางเลือกหลักของการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้ หากวิกฤติโรคระบาดคลี่คลายในระดับที่ดีขึ้น สถานการณ์โรงหนังในเมืองไทย คงจะกลับไปเหมือนกับช่วงหลังจากที่ภาวะโรคระบาดคลี่คลายครั้งแรกในช่วงเดือนมิถุนายน ต่อเนื่องจนถึงก่อนที่จะเกิดภาวะระบาดครั้งที่สองในช่วงกลางเดือนธันวาคม กล่าวคือ รายได้ของโรงขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของหนังเป็นสำคัญ โดยหนังจากฮอลลีวูดลงทุนสูง หรือ หนังเอเชียฟอร์มใหญ่ โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ หรือ ญี่ปุ่น รวมถึงหนังไทยที่ผลิตโดยค่ายที่มีฐานการยอมรับของผู้ชมสูง จะสร้างหลักประกันทางด้านรายได้ให้กับโรงภาพยนตร์ มากกว่าหนังขนาดกลางและเล็กทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งหากพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากปีที่แล้ว ที่หนังฮอลลีวูดฟอร์มใหญ่หลายเรื่องมีอันต้องเลื่อนฉายจากสถานการณ์โควิด แล้วมีกำหนดต้องฉายในปีนี้ โดยเฉพาะในไตรภาคที่ 2 และไตรภาคที่ 3 ก็น่าจะทำให้ผู้ประกอบการโรงหนังพอหายใจหายคอได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามคำถามที่ตามมา (ซึ่งสอดคล้องกับข้อเขียนของ บรู้กแมนน์) ก็คือ รูปแบบการจัดจำหน่ายแบบผสมผสาน (hybrid) ที่สตูดิโอใหญ่ อย่าง Warner และ Disney ได้กำหนดไว้จะมีผลต่อโรงหนังในเมืองไทยแค่ไหน ในมุมของผู้เขียน มองว่าขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการฉายที่สตูดิโอต่างๆ กำหนด หากสตูดิโอใหญ่ เปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการโรงหนังในประเทศต่างๆ สามารถฉายหนังของพวกเขาก่อนที่จะเปิดตัวในอเมริกาในช่องทาง สตรีมมิ่งอย่างน้อยหนึ่งอาทิตย์ โอกาสที่โรงจะทำกำไรจากยอดขายตั๋วก็มีสูง ตรงกันข้าม หากสตูดิโอบีบให้โรงหนังนอกอเมริกาต้องฉายหนังของพวกเขาพร้อมกับสตรีมมิ่งในอเมริกา โอกาสที่จะทำกำไรโรงเหล่านี้ก็จะมีน้อยลง เนื่องจากหลังที่หนังได้ออกฉายทางช่องทางสตรีมมิ่งไปแล้ว คล้อยหลังไม่ถึงสองวัน ลิงก์หนังเถื่อนก็จะปรากฏตามเว็บไซต์ผิดกฎหมายต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นกรณี Mulan เป็นต้น

แต่ไม่ว่าโรงหนังจะฉายหนังตามเงื่อนไขแบบใดก็ตาม สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือ โอกาสที่จะได้เห็นหนังสตูดิโอฟอร์มใหญ่ทำเงินแบบถล่มทลายเกิน 150 ล้านบาท คงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เพราะ ยิ่ง window หรือระยะการฉายก่อนการเปิดตัวทางช่องทางสตรีมมิ่งสั้นลง โอกาสโกยเงินจากค่าตั๋วของโรงภาพยนตร์ก็จะน้อยลงด้วย สิ่งที่เราคงได้เห็นตามมาก็คือ การที่โรงจะต้องทุ่มสรรพกำลังในการโหมประโคมดึงคนให้เข้ามาดูหนังฟอร์มใหญ่เหล่านี้ใน 4 วันแรกให้มากที่สุดเท่าที่จำทำได้ ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อหนังขนาดกลางและเล็กที่อาจหาพื้นที่ฉายได้ยากขึ้น (จากเดิมที่ยากอยู่แล้ว) หากต้องเข้าในช่วงเวลาเดียวกันกับที่หนังฟอร์มยักษ์เหล่านี้เข้าฉาย

จากฉากทัศน์ทั้งสองฉากทัศน์ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจหนังในประเทศไทยในปีนี้ จะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นความท้าทายที่ขับเคลื่อนโดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นหากต้องการที่อยู่รอดในธุรกิจนี้ต่อไป สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ คือการยอมรับความจริงว่าไม่มีอะไรที่จะกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป จากนั้นก็ตั้งคำถามว่า แล้วเราจะปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here