Home Review Film Review The Farewell การจากลาครั้งสุดท้าย (ที่อาจไม่มีโอกาสได้บอก)

The Farewell การจากลาครั้งสุดท้าย (ที่อาจไม่มีโอกาสได้บอก)

The Farewell การจากลาครั้งสุดท้าย (ที่อาจไม่มีโอกาสได้บอก)

*** บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์ ***

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หลังหนังดังอย่าง Crazy Rich Asains ของผู้กำกับ จอน เอ็ม. ชู หรือ The Rider ของ โคลเอ้ จ้าว (ที่ปัจจุบันได้ไปกำกับ The Eternal ของมาร์เวลเรียบร้อยแล้ว) ได้เข้าฉาย กระแสตอบรับด้านบวกต่อผลงานของผู้กำกับชาวเอเชียก็ได้เฉิดฉายในวงการฮอลลีวูดอย่างต่อเนื่อง

และที่ไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้ ก็คงเป็นหนังชื่อดังที่สร้างความฮือฮาให้กับเทศกาลหนังซันแดนซ์ปีที่แล้ว กับหนังที่ถูกสร้างขึ้นมาจากชีวิตจริงของผู้กำกับหญิงชาวจีน Lulu Wang ที่ย้ายรกรากตามบิดา (ที่มาศึกษาปริญญาเอก) และครอบครัว มาเติบโตอยู่ที่ไมอามี่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้นักแสดงสาวดาวรุ่งมากความสามารถอย่าง Akwafina มาแสดงนำ ซึ่งก็คือหนังเรื่อง The Farewell นั่นเอง

หนังเปิดด้วยคำที่กระตุกต่อมสงสัยของผู้ชมอย่าง “จากเรื่องโกหกเรื่องจริง” (Based on a true lie) ก่อนจะเฉลยในภายหลังว่า หนังเป็นกึ่งอัตชีวประวัติของผู้กำกับ Wang เอง ที่ว่าด้วยเธอและครอบครัวที่ปิดบังเรื่องราวการเจ็บป่วยจากคุณย่า ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดระยะที่สี่ เพื่อทุกคนจะได้มาอยู่รวมกันพร้อมหน้าในงานแต่งงานที่ถูกเลื่อนขึ้นมาจัดก่อน ด้วยความกังวลว่าคุณย่าจะจากไป

The Farewell เองเล่าด้วยเรื่องที่คล้ายคลึงกันหากแต่เปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่ออรรถรสในการรับชม หนังว่าด้วยชีวิตของ บิล สาวชาวจีนที่กำลังหมดอาลัยตายอยากกับอนาคตและชีวิตหลังโดนปฏิเสธจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง เธออาศัยอยู่ในนิวยอร์กกับพ่อและแม่ แต่ก็ยังคงติดต่อกับคุณย่าที่จีนแผ่นดินใหญ่อยู่เสมอๆ ก่อนที่วันหนึ่งจะรู้ข่าวร้ายจากคุณลุงที่บ้านเกิดว่า คุณย่าที่ป่วยเรื้อรังด้วยอาการไอ ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดระยะที่สี่ และมีโอกาสจะอยู่ได้อีกไม่กี่เดือน (แต่ไม่มีใครในครอบครัวแจ้งข่าวนี้ให้คุณย่ารู้) ทั้งครอบครัวจึงตัดสินใจจัดงานระหว่างลูกพี่ลูกน้องของเธอกับแฟนสาวชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งคบหากันมาได้สามเดือน เพื่อเป็นข้ออ้างในการเรียกรวมญาติครั้งใหญ่ และเฉลิมฉลองกับคุณย่าครั้งสุดท้ายก่อนจะไม่ได้มีโอกาสอีก

อย่างไรก็ตาม บิลถูกขัดขวางอย่างหนัก เพียงเพราะครอบครัวกังวลว่าเธออาจทำความลับแตก จากการที่เป็นคนแสดงออกทางสีหน้ามากเกินไป ก่อนหนังจะตัดกลับไปที่จีนและแสดงให้เราเห็นว่าสุดท้ายเธอก็แอบจองตั๋วกลับมาอยู่ดี (และก็เก็บอาการไม่ได้จริงๆ​ แต่โชคดีที่คุณย่าไม่ได้สงสัยอะไร)

หนังวนเวียนอยู่กับสถานการณ์ชวนวุ่น ทั้งความสับสนในใจของบิลเองที่ลังเลระหว่างการบอกหรือไม่บอกคำวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยของคุณย่า เหตุการณ์ชุลมุนในงานแต่งงาน ก่อนมาถึงด้วยไคลแมกซ์เล็กๆ ในฉากที่คุณย่าให้คนใช้ไปเอาผลการวินิจฉัยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยที่ไม่ใครรู้ ร้อนถึงบิลต้องวิ่งตามไปเอาถึงโรงพยาบาล ก่อนจะเฉลยภายหลังว่า แม่บ้านอ่านหนังสือไม่ออกจึงไม่รู้ว่าผลการตรวจเขียนอะไรไว้ บิลเลยเอาผลตรวจไปแก้ที่ร้านคอมฯ แถวนั้น แล้วกลับมาโกหกคุณย่าว่าเป็นการติดเชื้อในปอดไม่ใช่มะเร็ง

หนังจบลงด้วยฉากสะเทือนใจขณะที่เธอบอกลาคุณย่า หันหลังมองจากกระจกรถที่กำลังจะออกตัวไปสนามบินเพื่อกลับนิวยอร์กโดยรู้ทั้งรู้ว่าอาจจะไม่มีโอกาสได้เจอคุณย่าอีก ก่อนหนังจะหักมุมอีกครั้งในฉากจบด้วยฟุตเทจจากชีวิตจริงว่า คุณย่าของผู้กำกับเองยังมีชีวิตอย่างแข็งแรงอยู่ดีในอีก 6 ปีถัดมา!  

นอกจากประเด็นการเติบโตในครอบครัวต่างวัฒนธรรมและการพลัดถิ่น The Farewell จึงเป็นหนังที่น่านำมาถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า การโกหกนั้นเป็นสิ่งที่สมควรทำหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีของผู้ป่วยระยะสุดท้าย (terminally illed patient)

มีสองฉากในหนังที่น่าสนใจ ฉากแรกคือฉากที่ว่าด้วยการเปิดอกคุยกันของพ่อและบิล

ในขณะที่บิลเติบโตมากับอิทธิพลสังคมอเมริกันที่ถือว่าปัจเจกเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด และชีวิตเป็นของตัวเราเอง ทางจีนและชาวตะวันออกก็เชื่อว่าชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของมวลรวม ครอบครัว สังคมเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในครอบครัวที่จะดูแลสุขภาพคุณย่าทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ และทำให้มีสิทธิ์ในการตัดสินใจแทนคุณย่าด้วย นอกจากนี้ยังมีคำพูดในเหล่าชาวจีนที่ว่า คนตายไม่ได้ตายเพราะมะเร็ง แต่ตายเพราะกลัวมะเร็ง ซึ่งยิ่งสนับสนุนการตัดสินใจของพ่อขึ้นไปอีก

อีกฉากหนึ่งซึ่งมีความคล้ายคลึงกันคือฉากที่บิลไปเยี่ยมคุณย่าผู้มีอาการกำเริบที่โรงพยาบาล และได้ยินความคิดเห็นที่ใกล้เคียงกันจากหมอวัยรุ่นราวคราวเดียวกัน “มันเป็นโกหกที่เจตนาดีครับ (white lie) ครอบครัวส่วนใหญ่ในจีนก็ตัดสินใจไม่บอกแบบนี้แหละ” 

แต่คำกล่าวนี้ถูกต้องจริงตามหลักการแพทย์หรือไม่ อาจต้องกลับมามองหลักจริยธรรมสากลอีกที ความจริงแล้ว หลักและรายละเอียดปลีกย่อยอาจแตกต่างกันไปในแต่ละที่หรือตามประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตาม ใจความส่วนใหญ่มักประกอบไปด้วย 4 ข้อตามที่ Beauchamp and Childress (2008) กล่าวไว้ ได้แก่

1. Autonomy สิทธิที่ผู้ป่วยจะรู้วินิจฉัยว่าป่วยเป็นอะไรและเลือกวิธีการรักษาตามความเหมาะสม

2. Benificene การรักษาที่เน้นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย

3. Non-maleficence การรักษาต้องไม่เพิ่มอันตรายใดเพิ่มเติมให้ผู้ป่วย

4. Justice การรักษาต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมตามวินิจฉัยโรค

สังเกตว่าการตัดสินใจไม่บอกวินิจฉัยแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย แม้จะขัดกับจริยธรรมสากลข้อ 1 แต่ก็เอื้อกับหลักข้อ 2 (ถ้านับจากเจตนา) นี่เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างตัดสินได้ยาก (dilemma) พอสมควร และยังคงเป็นข้อถกเถียงในการตัดสินใจให้การรักษาในแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

มีการถกเถียงถึงประเด็นข้อขัดแย้งนี้มาอย่างช้านาน ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1998 มีการให้ความเห็นและเขียนความคิดเห็นถกเถียงกันผ่านบทบรรณาธิการในวารสารทางการแพทย์ รวมถึงในวารสารชื่อดังอย่าง JAMA (The Journal of the American Medical Association) ที่มีบทความพูดถึงประเด็นนี้ มีความเห็นต่างกันมากมายในขณะนั้น ตั้งแต่ความคิดที่ว่า การบอกความจริงทั้งหมดอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดเสมอไป ควรมองให้ครบในหลายมิติ ทั้งสภาพจิตใจ ศาสนา ความเชื่อของคนไข้ และบอกเท่าที่ควรจะบอกตามดุลยพินิจแพทย์, บางส่วนให้ความเห็นว่าผู้ป่วยบางรายหลังรู้อยากมีชีวิตต่อมากจนเลือกรักษาทุกรูปแบบจนเกิดผลข้างเคียงมากมาย ทำให้วาระสุดท้ายเสียชีวิตอย่างไม่สุขสบาย, บางส่วนให้ความเห็นว่าการประเมินเวลาเป็นไปได้ยาก ดังนั้นจึงไม่ควรกะเกณฑ์คาดเดาเวลาเสียชีวิต ซึ่งทั้งหมดก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าการบอกหรือไม่บอกวินิจฉัยและพยากรณ์โรคต่อคนไข้ แบบไหนดีกว่ากัน

ผ่านมาในปี 2013 มีการถกเถียงในประเด็นนี้ ในการประชุม ASCO (American Society of Clinical Oncology) อันเป็นการประชุมว่าด้วยการยกระดับการรักษามะเร็งของหลายๆ ภาคส่วน โดยได้ข้อสรุปกลางๆ ว่า การแจ้งวินิจฉัยแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย อาจต้องมีการตัดแต่ง (tailor) ให้เข้ากับแต่ละบุคคล เพื่อคนไข้ได้รับข้อมูลอันเหมาะสม ไม่น้อยไปที่จะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ และไม่มากไปจนอาจส่งผลเสียและกระทบถึงการตัดสินใจเพื่อรักษาต่อของผู้ป่วย

หรือในปี 2015 เคยมีงานวิจัยของคุณ Enzinger และคณะ ซึ่งสอบถามผู้ป่วย 590 คน จากโรงพยาบาลใหญ่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา โดยรวมกลุ่มผู้เป็นมะเร็งที่ต้องได้ยาคีโมบำบัดบรรเทาอาการ (ว่าง่ายๆ ว่ารักษาแบบประคับประคองระยะสุดท้ายแล้ว คิดว่าไม่หายขาดแน่ๆ) ด้วย พบว่า 70% อยากทราบอายุขัย​ที่เหลืออยู่ (life expectancy) และมีเพียงประมาณ 20% เท่านั้นที่จำได้ว่าแพทย์เคยแจ้งข้อมูลนี้ไว้

จากการวิจัยดังกล่าวพบว่า การรู้ว่าตัวเองมีอายุขัยอีกเท่าใดสัมพันธ์ต่อการวางแผนรักษาผู้ป่วยให้สะดวกสบายและเจ็บป่วยน้อยที่สุด โดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ไม่ได้ทำให้เป็นซึมเศร้า หรือเป็นโรควิตกกังวลมากขึ้น รวมถึงไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับแพทย์แย่ลง (เช่น ไม่ยอมมารักษาต่อ หรือไม่เชื่อการรักษา)

โดยสรุป ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าแนวโน้มการรักษายุคปัจจุบันในกลุ่มคนไข้มะเร็งที่ยังรักษาไม่หาย มีแนวโน้มไปทางการรักษาแบบประคับประคองเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตมากขึ้น ซึ่งอาจตรงกับความคิดของทางตะวันตกที่สนับสนุนการบอกผลการวินิจฉัยแก่ผู้ป่วย (มากน้อยอีกเรื่องหนึ่ง) เพื่อร่วมกันวางแผนการรักษาในอนาคต โดยอ้างอิงจากงานวิจัยในช่วงหลังๆ ที่ว่าบอกทำได้ ไม่มีผลกับสุขภาพจิตคนไข้ ไม่ทำให้ซึมเศร้ามากขึ้น ซึ่งผลงานวิจัยในปัจจุบันหลายฉบับก็สนับสนุนส่วนนี้ แม้หลายเสียงอาจจะอ้างว่างานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ส่วนมากมักมาจากทางตะวันตก ซึ่งนิยมให้บอกผลมากกว่า แต่ระยะหลังเอง ทางตะวันออกก็เริ่มทำวิจัยในทำนองนี้บ้างและได้ผลออกมาคล้ายกัน นั่นคือสนับสนุนให้บอก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์เกิดกับคนใกล้ตัว ปัจจัยหลายอย่างก็อาจกวนการตัดสินใจของเรา ลองคิดดูว่า ถ้าพ่อแม่ หรือญาติคนใกล้ชิดของเราเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เราจะอยากบอกหรือไม่ หลายคนอาจจะไม่อยากบอกเพราะกลัวอีกฝ่ายอาการทรุดลงเพราะกำลังใจเสีย หลายคนอาจอยากบอกเพื่ออีกฝ่ายรับทราบและวางแผนอนาคตที่เหลืออยู่ร่วมกัน

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว เราอาจจะต้องกลับมาที่หลักการง่ายๆ กับตัวเราเองว่า ถ้าเราเป็นมะเร็ง จะอยากรู้ไหมว่าเป็นอะไร อยากรู้เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้เตรียมการหรือเตรียมความพร้อมในชีวิตไว้ หรือไม่อยากรู้ แล้วรออาการกำเริบหนักทีเดียว

ผู้เขียนอยากให้ลองคิดถึงตอนจบของหนังในสภาพตรงกันข้าม หากคุณย่าไม่ได้สบายดีอย่างเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง (และในหนัง) แต่อาการกำเริบ ล้มป่วย และเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน การที่บิล (หรือผู้กำกับ Wang เอง) ไม่ได้เจอกับย่าอีก ไม่มีโอกาสบอกความปรารถนาสุดท้ายต่อกัน สุดท้ายจะเป็นอย่างไร

คำตอบส่วนนี้อาจไม่มีถูกหรือผิดชัดเจน ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนที่ต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเราอาจเห็นพ้องต้องกันคือ ณ ตอนนี้ที่คนรอบข้างเราไม่มีใครเจ็บป่วยหรือเป็นอะไรร้ายแรง (หรืออาจมีก็แล้วแต่) ในช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกัน และไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไร การใช้เวลาให้คุ้มค่าเต็มที่น่าจะเป็นการรับมือดีที่สุด

อย่างน้อย บิลก็คงไม่เสียใจ ที่วันนั้นได้กอดลา และดูแลคุณย่าเป็นอย่างดีในช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันสั้นๆ ก่อนจากกัน ไม่ว่าเธอจะได้เจอคุณย่าอีกหรือไม่ก็ตาม


ป.ล. เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับหนังคือหนังทั้งหมดถ่ายทำที่เมืองฉางชุนบ้านเกิดของ Lulu Wang โดยปิดเป็นความลับกับคุณย่าตัวจริงสุดฤทธิ์ แต่พอหนังเข้ามาฉายในจีน ชื่อหนังในจีนใช้ชื่อว่า 别告诉她 ซึ่งแปลได้ว่า “อย่าบอกเธอ” เพื่อนสุดที่รักของคุณย่าดูหนังแล้วชอบมาก เลยส่งรีวิวมาให้คุณย่าอ่าน คุณย่าเลยทราบเรื่องเรียบร้อย แถมยังพูดติดตลกว่า “มาถ่ายหนังนี่ไม่ยอมบอกเลยนะว่าเกี่ยวกับอะไร บอกชื่อหนังก็ยังไม่ได้ แต่ดูซิ พอหนังเข้าจีน ชื่อหนังว่าอย่าบอกเธอ สุดท้ายฉันเลยเก็ทเลยว่า อ๋อฉันก็คือ ‘เธอ’ คนนั้นสินะ!”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคุณย่าของผู้กำกับ Wang ก็ยังสุขภาพแข็งแรงดี

https://twitter.com/thumbelulu/status/1148061043463270401

อ้างอิง

https://www.historyvshollywood.com/reelfaces/the-farewell/

https://slate.com/culture/2020/01/farewell-lulu-wang-grandmother-learns-secret-hollywood-foreign-press-foreign-language-symposium.html

https://www.screendaily.com/features/lulu-wang-on-the-real-life-story-behind-the-farewell/5145613.article

https://depts.washington.edu/bhdept/ethics-medicine/bioethics-topics/articles/principles-bioethics

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/9800997/

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26438121/

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23714568/

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here