ในกระแสที่ร้อนแรงของหนังเกาหลี เราจะเห็นได้ว่ามีหนังแนวไซไฟ-ทริลเลอร์หลายเรื่องที่โดดเด่นและเล่นกับเรื่องการข้ามเวลา เช่น Alice หรือ The King: Eternal Monarch และหนึ่งในนั้นเป็นหนังที่ออกฉายทาง Netflix ปีนี้ คือ The Call ซึ่งได้ดาราฝีมือดีอย่าง พัคชินฮเย และ ชอนจงซอ มารับบทนำ
The Call เล่าเรื่องของ ซอยอน (พัคชินฮเย) หญิงสาวที่กลับไปยังบ้านเก่าของเธอในชนบทเพื่อเยี่ยมแม่ที่ป่วยด้วยโรคร้าย เธอลืมโทรศัพท์มือถือไว้บนรถไฟ จึงต้องใช้โทรศัพท์ไร้สายเครื่องเก่าของที่บ้าน แต่แล้ว เธอกลับได้รับสายปริศนาจากผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งโทรมาซ้ำๆ และเมื่อคุยกันไประยะหนึ่ง เธอจึงรู้ว่าสายนี้โทรมาจากคนที่เคยอยู่บ้านเดียวกันกับเธอเมื่อ 20 ปีก่อน คือโอยองซุก (ชอนจงซอ) หญิงสาวที่ถูกแม่เลี้ยงที่เป็นหมอผีจับขังไว้ในบ้านจากอาการผิดปกติทางจิต แรกเริ่มทั้งสองมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน แต่แล้วสถานการณ์ก็กลับพลิกผันเมื่อยองซุกรู้ว่าเธอใช้ประโยชน์จากข้อมูลในอนาคตได้มากแค่ไหน
มิตรภาพของซอยอนและยองซุกในช่วงแรกของเรื่องดำเนินไปอย่างน่าสนุก ยองซุกฝากข้อความและสิ่งของต่างๆมาให้ซอยอนซึ่งอยู่ในอนาคต ขณะที่ซอยอนเล่าเรื่องราวของโลกปัจจุบันที่สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปมากมาย รวมถึงแชร์เพลงในอนาคตของศิลปินคนโปรดของยองซุกให้เธอฟัง ในเบื้องต้นเราอาจเห็นว่ายองซุกน่าสงสารที่ต้องอยู่กับแม่เลี้ยงที่ปฏิบัติต่อเธอไม่ต่างจากสัตว์ และหมกมุ่นกับพิธีกรรมน่ากลัวทางไสยศาสตร์ บ้านที่ทั้งสองอยู่เป็นบ้านหมอผี ซึ่งกล่าวได้ว่าหนังใช้ฉากบ้านในการบอกเป็นนัยถึงลางร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างดี ต้องชมทีมออกแบบฉากที่เซ็ตให้บ้านหมอผีซึ่งมีห้องลับใต้ดินเป็นบ้านที่ชวนขนหัวลุก และทำให้ผู้ชมรู้สึกเยียบเย็นไปถึงกระดูกสันหลัง แม้จะมีบางฉากที่บ้านถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นบ้านที่สดใส แต่ห้องใต้ดินที่ติดอยู่กับตัวบ้านก็กัดกินบ้านนี้ไม่ต่างจากเนื้อร้ายที่งอกออกมา
โดยปกติหนังแนวข้ามเวลาต้องมีกฎการยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ในระนาบเวลาต่างๆ เช่น การกลับไปแก้ไขอดีต ซึ่ง The Call ก็วางกฎนี้ไว้ได้อย่างรัดกุม – กฎที่มีนั้นสั้นและเรียบง่าย: ซอยอนรู้เห็นเพียงอนาคตที่เปลี่ยนไป ขณะที่ยองซุกแก้อดีตเพื่อเปลี่ยนอนาคตได้ แต้มต่อของทั้งสองดูจะไม่เท่ากันนัก เพราะในขณะที่ยองซุกสามารถเปลี่ยนชะตาคนในอนาคตได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ ซอยอนกลับไม่อาจเดินทางไปยังอดีตเพื่อหายองซุกและห้ามเธอจากอาชญากรรมที่เธอก่อได้เลย หากจะมีอะไรที่เธอพอจะทำได้ ก็เป็นเพียงการหลอกยองซุกให้เดินตามเกมของตัวเองเล็กๆน้อยๆ
สิ่งที่เป็นลายเซ็นอย่างหนึ่งของหนังเกาหลี ก็คือการใส่ประเด็นเรื่องครอบครัวมาเรียกน้ำตาผู้ชม ซึ่งแม้ The Call จะเป็นหนังทริลเลอร์ แต่ก็ยังไม่วายใส่ประเด็นนี้เข้ามาด้วย ซอยอนนั้นอาฆาตมาดร้ายแม่ของตัวเองเพราะเธอเป็นสาเหตุทำให้บ้านไฟไหม้และพ่อเธอเสียชีวิต แม้ในช่วงเวลาที่แม่ป่วยหนัก เธอก็ยังคงไม่ให้อภัยแม่ แต่เหตุการณ์ที่เธอได้เจอกลับยองซุกเปลี่ยนความสัมพันธ์นี้ไปทั้งหมด วัฒนธรรมเกาหลีที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบขงจื่อยังยกชูให้พ่อแม่เป็นเหมือนเทวดาคุ้มครองลูก และเป็นคนผันเปลี่ยนสถานการณ์ในยามร้ายให้กลับกลายเป็นดีได้ ด้วยความรักและความหวังดี ในทางหนึ่ง การคลี่คลายของหนัง ก็คือการคลี่คลายความสัมพันธ์ที่แม่และลูกเข้าใจกันดีมากขึ้น และให้อภัยต่อกัน
ในทางตรงข้าม เมื่อสืบค้นดูสายใยในครอบครัวของยองซุก เราจะพบว่าเธอถูกเลี้ยงดูอย่างขาดๆ เกินๆ แม่แท้ๆของเธอก็เป็นบ้าและเสียชีวิตในโรงพยาบาล ทิ้งให้เธออยู่กับแม่เลี้ยงที่เย็นชาและทำร้ายร่างกายเธอ เราไม่รู้จนกระทั่งกลางๆ เรื่องว่า การกระทำของแม่เลี้ยงซึ่งเป็นหมอผีนั้นมีเหตุผลบางอย่างในแบบของมัน แต่ก็น่าเชื่อว่ายองซุกไม่ได้รับความรักความอบอุ่นมากพอ จนทำให้เธอมีอาการทางจิต
อย่างไรก็ตาม อาการทางจิตของยองซุกดูจะได้รับการให้ค่าน้อยไปหน่อย บางครั้งเธอแค่ดูคล้ายหญิงสาวที่มีพฤติกรรมรุนแรง บางครั้งเธอก็หัวเราะอย่างบ้าคลั่งและกล่าวสบถ หนังไม่ได้ให้ข้อมูลมากนักว่าโรคที่เธอเป็นอยู่คืออะไรกันแน่ คนดูเห็นธาตุแท้ของเธอเพียงเมื่อเธอไล่ฆ่าคนที่จะทำให้เธอโดนจับ ซึ่งอันที่จริงเป็นการปกป้องตนเอง เราจึงไม่อาจจัดเธอเข้าในกลุ่มฆาตกรโรคจิตได้อย่างเป็นทางการ และอันที่จริง การแสดงของชอนจงซอในส่วนที่ฉายให้เห็นความเป็นโรคจิตของยองซุกก็ดูจะเกินและยัดเยียดไปหน่อยในบางฉาก ซึ่งอาจเป็นจุดที่หนังยังทำได้ไม่ดีนัก
อันที่จริงตัวละครหลักทั้งสองคือซอยอนและจองซุกล้วนเห็นแก่ตัว ซอยอนหวังอยากให้พ่อฟื้นจากความตาย จึงใช้ยองซุกไปเปลี่ยนอดีตทั้งที่รู้อยู่บ้างว่าเธออาจโดนแม่เลี้ยงทำโทษ ยองซุกเองก็ทำทุกวิถีทางให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตและกำจัดทุกคนที่จะมาจับตัวเธอหรือมาฆ่าเธอ การที่เธอเที่ยวฆ่าใครต่อใครเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้เข้าใจยากเกินไปนัก ดังที่กล่าวไปแล้วว่าแต้มต่อของทั้งสองคนนี้ไม่เท่ากัน คนที่เอาใจช่วยซอยอนให้พ้นจากเงื้อมมือฆาตกรอย่างยองซุกจึงอาจอึดอัดใจเล็กน้อย และหนังก็เป็นไปในทิศทางที่หวังพึ่งตัวละครภายนอกเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ The Call ก็คือ มันคือการห้ำหั่นกันเองระหว่างผู้หญิงด้วยกัน ทั้งในความสัมพันธ์ระหว่างซอยอน-แม่ ยองซุก-แม่เลี้ยง หรือซอยอน-ยองซุก ล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่มีการเล่นกับอารมณ์ของความเป็นหญิงสูง โดยเฉพาะการพยายามโยงความเป็นหญิงเข้ากับแนวคิดที่ให้ครอบครัวมาที่หนึ่ง ความฝันใฝ่ที่ซ่อนอยู่ในตัวละครทุกตัวก็คือการมีครอบครัวที่อบอุ่น สมบูรณ์ ผู้คนรักใคร่กัน แม้กระทั่งตัวละครแม่เลี้ยงหมอผีของยองซุกที่เย็นชากับเธออยู่ตลอดเวลา ก็มีความปรารถนาดีบางอย่างซ่อนอยู่ลึกๆ กับความต้องการให้ลูกสาวของตัวเองกลายเป็นคนปกติ ซึ่งหากเป็นตัวละครชาย ความใฝ่ฝันทะยานอยากอาจถูกตีความให้ต่างออกไป เป็นเรื่องที่พ้นจากครอบครัว
เราจึงได้ดูการต่อสู้ห้ำหั่นระหว่างผู้หญิงด้วยกันในคู่ความสัมพันธ์ต่างๆที่ไม่ต่างจาก Cat Fight เพียงแต่เป็น Cat Fight ที่เอาชีวิตของตัวเองและคนในครอบครัวมาเป็นเดิมพัน ซึ่งในฐานะของผู้หญิง การปกป้องสถาบันครอบครัวถือเป็นหน้าที่ที่ไม่แยกขาดจากตัวตั้งแต่พวกเธอเกิดมาแล้ว
มันคือการห้ำหั่นกันเองระหว่างผู้หญิงด้วยกัน ทั้งในความสัมพันธ์ระหว่างซอยอน-แม่ ยองซุก-แม่เลี้ยง หรือซอยอน-ยองซุก ล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่มีการเล่นกับอารมณ์ของความเป็นหญิงสูง โดยเฉพาะการพยายามโยงความเป็นหญิงเข้ากับแนวคิดที่ให้ครอบครัวมาที่หนึ่ง
อีกจุดหนึ่งที่ดูจะทำลายโครงเรื่องของหนังลงไปมากก็คือ ฉากต่อท้ายในช่วง end credits ซึ่งหนังใส่ตอนจบแบบหักมุมเข้ามา ทำให้ผู้ชมต้องเชื่อมโยงเรื่องเอาเองและเป็นการปูทางไปสู่ภาคต่อ ซึ่งในความเห็นของหลายคนมันอาจไม่ใช่ไอเดียที่ดีนัก และฉาก end credits ก็ดูไม่สัมพันธ์กับธีมเรื่องและโครงสร้างเรื่องเงื่อนเวลามากเท่าไหร่ เว็บไซต์วิจารณ์หนังบางแห่งถึงกับบอกว่า หากจะดูเรื่องนี้ให้สนุก ควรละเลยการดู end credits เสียจะดีกว่า
ในภาพรวม The Call ถือเป็นหนังไซไฟ-ทริลเลอร์ที่ดูสนุก ทำให้ลุ้นระทึกไปกับตัวละคร และสร้างบรรยากาศของความน่ากลัวได้อย่างมีเอกลักษณ์ มีพล็อตที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวที่อาจเรียกน้ำตาจากผู้ชมชาวเอเชียได้ แม้หนังจบไปหลายวันแล้ว แต่อารมณ์ของคนดูยังค้างอยู่กับบรรยากาศแบบทึมๆ และเต็มไปด้วยปริศนา เป็นหนังทริลเลอร์ที่น่าชมอีกเรื่อง และได้คะแนนจากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes อยู่ที่ 100% (ข้อมูลวันที่ 11 ธ.ค. 2563)
ชม The Call ได้ที่ Netflix