Home Review Film Review Better Days : แด่หนุ่มสาวผู้ร้าวราน

Better Days : แด่หนุ่มสาวผู้ร้าวราน

Better Days : แด่หนุ่มสาวผู้ร้าวราน

เฉินเหนียน เป็นนักเรียนที่ไม่ได้โดดเด่นนัก แต่ความทุ่มเทขยันขันแข็งก็ทำให้ผลการเรียนของเธอออกมาเป็นที่น่าพอใจ เด็กสาวอาศัยอยู่กับแม่สองคนในแฟลตโทรมๆ เธอกับแม่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ จากเจ้าหนี้ที่ตามมาทวงหนี้กับแม่เธออยู่เป็นประจำ มิหนำซ้ำด้วยเงื่อนไขชีวิตที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ผลักให้แม่ของเธอต้องเลือกเส้นทางมิจฉาชีพและจากบ้านไป ‘ทำงาน’ ที่อื่นคราวละหลายๆ วัน

แม้ผลการเรียนจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทว่าชีวิตในห้องเรียนของเฉินเหนียนก็ไม่ได้ราบรื่น เธอเป็นเด็กเงียบๆ แปลกแยก และแทบจะไร้เพื่อน มีเพียง เสี่ยวตี้ เด็กสาวอีกคนที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนของเธอ แต่เสี่ยวตี้ก็ตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งรังแก (bully) จากกลุ่มนักเรียนหญิงอันธพาลประจำห้องที่มี เว่ยไหล เด็กสาวหน้าตาสะสวยและฐานะดีเป็นหัวโจก

และแล้วในช่วงเวลาที่นักเรียนทุกคนกำลังคร่ำเคร่งอยู่กับการเตรียมตัวสอบ ‘เกาเข่า’ (Gaokao – ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสุดโหดหินของประเทศจีน) ที่กำลังใกล้เข้ามาทุกที ทั้งโรงเรียนก็ต้องช็อคกับเหตุการณ์ที่เด็กสาวคนหนึ่งตัดสินใจกระโดดตึกฆ่าตัวตายในโรงเรียน เธอคือเสี่ยวตี้ เพื่อนเพียงคนเดียวของเฉินเหนียนนั่นเอง

Better Days (ซึ่งดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง In His Youth, In Her Beauty ของ Jiu Yuexi) เลือกใช้ประเด็นเรื่องการกลั่นแกล้งรังแก (bully) กันในโรงเรียน และความเคร่งเครียดกดดันจากระบบการสอบเกาเข่า มาเป็นแว่นส่องสำรวจและวิพากษ์ระบบการศึกษาของประเทศจีน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการ bully ซึ่งเป็นประเด็นร่วมสมัยที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และนับวันก็ยิ่งทวีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น

กล่าวกันว่า ‘โรงเรียน’ คือแบบจำลองย่อส่วนของสังคม ความบิดเบี้ยวในโรงเรียนคือภาพสะท้อนความอัปลักษณ์ของระบบสังคมนั้นๆ สังคมขนาดเล็กในโรงเรียนคือพิมพ์เขียวของการขัดเกลาคนเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบสังคมขนาดใหญ่ผ่านกฎเกณฑ์ กติกา ค่านิยม และอุดมการณ์ต่างๆ ที่สังคมนั้นๆ ต้องการเพื่อพยุงมันเอาไว้ ความบิดเบี้ยวในโรงเรียนจึงลอกแบบมาจากความอัปลักษณ์ของสังคมโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในแง่นี้การที่เด็กคนหนึ่งๆ รู้สึกแปลกแยกและเข้ากับสังคมในโรงเรียนไม่ได้ จึงอาจไม่ใช่เพียงสถานการณ์ชั่วคราวที่เมื่อเติบโตขึ้นแล้วก็จะพ้นไปจากมันได้ง่ายดาย แต่คือคำพยากรณ์ถึงชีวิตที่ทอดยาวอยู่เบื้องหน้าและเป็นเสียงที่คอยกระซิบซ้ำๆ ว่าตัวตนของฉันไม่เป็นที่ต้อนรับของโลกใบนี้

การฆ่าตัวตายของเสี่ยวตี้กระทบจิตใจเฉินเหนียนอย่างรุนแรง เธอกลายเป็นพยานเพียงคนเดียวที่รู้ว่าเสี่ยวตี้ต้องทนอยู่กับอะไรและรู้ว่าอะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้เสี่ยวตี้ต้องตัดสินใจเช่นนั้น แม้เฉินเหนียนจะเป็นเพื่อนกับเสี่ยวตี้ แต่ที่ผ่านมาเธอและเพื่อนคนอื่นๆ ในห้องก็นิ่งดูดายต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ไม่มีใครอยากยุ่ง เพราะไม่มีใครอยากตกเป็นเป้าของการ bully เป็นรายต่อไป ทุกคนจึงเพิกเฉยราวกับว่าเมื่อหลับตาหรือเบือนหน้าหนีแล้วมันก็จะหายไปได้เอง

การ bully คือการกลั่นแกล้งรังแกที่คนกลุ่มใหญ่ (majority) ซึ่งมีกำลังและอำนาจมากกว่า กระทำต่อคนกลุ่มเล็ก (minority) หรือกระทำต่อคนใดคนหนึ่งที่ด้อยอำนาจกว่า กระทำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องทั้งทางร่างกายและจิตใจ (เหยียดหยาม ดูแคลน ล้อเลียน กดข่มให้รู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ) โดยที่ฝ่ายถูกกระทำไม่สามารถต่อกรหรือป้องกันตัวเองได้ ด้วยลักษณะเฉพาะเช่นนี้ จึงยากที่จะมีใครกล้าลุกขึ้นมาห้ามปรามหรือต่อกรกับมันแม้ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนที่เข้มแข็งก็ตาม

ตรรกะของการ bully คือ ถ้าคุณอ่อนแอ คุณจะถูก bully เพราะความอ่อนแอของคุณ แต่ถ้าคุณเข้มแข็งและลุกขึ้นมาต่อต้านมัน เป้าหมายของการ bully จะกลายเป็นการทำลายความเข้มแข็งของคนคนนั้นลง ความเข้มแข็งอาจช่วยให้ทานทนได้มากขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยให้ไม่ถูก bully การ bully คือการตอแย ระราน สร้างความอึดอัดรำคาญ อำนาจของมันคือการทำให้เหยื่อต้อง ‘แปดเปื้อน’ จนไม่มีใครกล้าช่วยเหลือหรือคบค้าสมาคมด้วยเพราะกลัวว่าตัวเองจะพลอยถูกเล่นงานไปด้วย

เฉินเหนียนได้รู้ซึ้งถึงบทเรียนนี้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อเธอตัดสินใจลุกขึ้นสู้และทวงความยุติธรรมให้กับเสี่ยวตี้ เธอก็ตกเป็นเป้าของการ bully แทน แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เฉินเหนียนบังเอิญได้รู้จักกับ เสี่ยวเป่ย เด็กหนุ่มนักเลงหัวไม้ที่เธอมีโอกาสได้ช่วยชีวิตเขาตอนที่เขาถูกนักเลงกลุ่มหนึ่งรุมทำร้าย เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นความผูกพันลึกซึ้งที่ทำให้คนสิ้นหวังทั้งสองคนได้ประคับประคองชีวิตกันไป

เสี่ยวเป่ยเป็นเด็กกำพร้าและไร้อนาคต เขาหลุดออกจากระบบการศึกษา ใช้ชีวิตตัวคนเดียวในบ้านโกโรโกโส ยังชีพด้วยธุรกิจสีเทาและตีรันฟันแทงไปวันๆ การได้พบกับเฉินเหนียนทำให้ทั้งคู่ต่างค้นพบที่ทางในชีวิตและตัวตนของกันและกัน เขาให้คำมั่นสัญญากับเธอว่าเขาจะปกป้องคุ้มครองเธอไปตลอดชีวิต “เธอปกป้องโลกไป ฉันจะปกป้องเธอเอง” และเขาก็ทำอย่างที่สัญญาไว้ด้วยการทำตัวเป็นบอร์ดี้การ์ดคอยเดินตามหลังเฉินเหนียนไปทุกที่ ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนราวกับเป็นเงาตามตัว

หนังค่อยๆ ปอกเปลือกให้เราเห็นว่ากลไกที่สามารถต่อกรกับอำนาจของการ bully ได้ ไม่ใช่แค่ความเข้มแข็งของปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่คือการ ‘แสดง’ ให้อีกฝ่ายเห็นว่าเราเองก็มี ‘อำนาจ’ มากพอจะข่มขวัญให้อีกฝ่ายหวาดกลัวเราได้เช่นกัน นั่นเพราะการ bully ไม่ใช่แค่การ ‘มีอำนาจ’ เหนือกว่าเหยื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่กลไกสำคัญของมันคือการ ‘แสดงอำนาจ’ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ‘นาฏกรรมแห่งอำนาจ’ เพื่อให้เหยื่อได้รับรู้ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ใต้อำนาจของผู้กระทำ ไม่ว่าอำนาจนั้นจะแสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง (ทำให้รู้สึกอับอายขายหน้าต่อสาธารณชน) หรือหลบเร้นอยู่ในเงามืด (ทำให้รู้สึกหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา) ดังนั้น ฉากที่เสี่ยวเป่ยแอบไล่ตามเว่ยไหลระหว่างทาง และข่มขู่จนเธอไม่กล้ามาตอแยกับเฉินเหนียนอีก จึงเป็นการโต้กลับด้วยนาฏกรรมแห่งอำนาจแบบเดียวกัน

เพราะการ bully ไม่ใช่แค่การ ‘มีอำนาจ’ เหนือกว่าเหยื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่กลไกสำคัญของมันคือการ ‘แสดงอำนาจ’ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ‘นาฏกรรมแห่งอำนาจ’ เพื่อให้เหยื่อได้รับรู้ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ใต้อำนาจของผู้กระทำ

หนังไม่ได้วิพากษ์เรื่องการ bully แค่ในมุมของระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ยังสำรวจไปถึงกระบวนการยุติธรรมผ่านระบบการทำงานของตำรวจที่เข้ามาสืบคดีการฆ่าตัวตายของเสี่ยวตี้ด้วย ความไร้น้ำยาของกระบวนการยุติธรรมที่เกือบจะเป็นส่วนหนึ่งของผู้กระทำเสียเอง เป็นแต่เพียงผู้ที่ทำได้แค่ยื่นมือเข้ามาช่วย แต่ไม่เคยยืนเคียงข้างผู้ถูกกระทำอย่างแท้จริง เพ่งมองและตัดสินการกระทำจากสายตาอันเย็นชาของผู้ที่วางตัว (หรือลอยตัว ?) อยู่เหนือปัญหา

อย่างไรก็ดี หนังช่วยขยายประเด็นให้เราได้เห็นว่าช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่แค่เพียงช่องโหว่ในวิธีคิดเชิงสถาบันของตัวกระบวนการยุติธรรมเองเท่านั้น แต่มันคือช่องโหว่ของระบบสังคมโดยรวม ดังเช่นที่ตำรวจนายหนึ่งยอมรับกับตัวเองว่าอุปสรรคของการทำคดีเรื่องการ bully กันในโรงเรียนคือการโบ้ยความผิดให้กันเป็นทอดๆ ถ้าโทษครูใหญ่ ครูใหญ่ก็จะชี้ไปที่ครูเล็ก ถ้าชี้ไปที่ครูเล็ก ครูเล็กก็จะชี้ไปที่พ่อแม่ ถ้าโทษพ่อแม่ พ่อแม่ก็จะโทษเงื่อนไขชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน ห่วงโซ่ของการรับผิดชอบร่วมกันจึงกลายเป็นห่วงโซ่ของการโยนความผิดให้กันไปมา

นอกจากนี้ ในมุมของผู้กระทำเอง หนังได้แจกแจงให้เราเห็นว่าเด็กสาวหน้าตาดีและฐานะดีอย่างเว่ยไหลที่กลายมาเป็นหัวโจกของการ bully นั้น ตัวเธอเองก็ถูกกดดันอย่างหนักจากความคาดหวังของพ่อแม่เช่นกัน การต้องเรียนซ้ำชั้นผลักให้เธอกลายเป็นผู้พ่ายแพ้ในระบบการศึกษา พ่อไม่คุยกับเธอเพราะไม่สามารถยอมรับความล้มเหลวของเธอได้ ดังนั้นในแง่นี้ ก่อนที่เธอจะกลายมาเป็นผู้กระทำ เธอเองก็อาจนับได้ว่าเป็นเหยื่อของสังคมที่ถูกออกแบบมาไม่ให้มีที่ยืนสำหรับคนที่หลุดจากระบบการแข่งขัน จึงแสวงหาอำนาจที่จะมาเติมเต็มตัวเองด้วยการข่มเหงรังแกคนอื่น

แต่ในอีกทางหนึ่ง หนังไม่ได้นำเสนอแค่ว่าคนที่เป็นเหยื่อของระบบจะต้องลงเอยด้วยการเป็นแบบเว่ยไหลเสมอไป หากจะว่าไปแล้วเสี่ยวเป่ยเองก็เป็นเหยื่อของระบบเช่นกัน แต่เหตุใดเขากลับเลือกที่จะแสวงหาสิ่งเติมเต็มตัวเองด้วยการปกป้องคนอื่น ?

อย่างไรก็ดี ภายใต้ภาพโรแมนติกของคำสัญญาที่เสี่ยวเป่ยสัญญาว่าจะปกป้องเฉินเหนียน หนังได้ซ่อนคมมีดแห่งการวิพากษ์เอาไว้อย่างชาญฉลาด ภาพที่เสี่ยวเป่ยเดินตามเฉินเหนียนต้อยๆ ไปทุกๆ ที่เพื่อคอยระวังหลังให้ ไม่เพียงแต่เสียดเย้ยความจริงที่ว่าทั้งคู่อยู่ในระบบสังคมที่ออกแบบมาให้ ‘ผู้มีการศึกษา’ เดินนำหน้าเท่านั้น แต่คนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างเสี่ยวเป่ยซึ่งไม่มีใบเบิกทางสำหรับไต่บันไดทางชนชั้น ในสายตาของคนอื่นที่ไม่ใช่เฉินเหนียน ตัวตนของเขาเป็นเพียงเงาวูบไหวแปลกปลอม คำพูดที่เขาบอกเฉินเหนียนว่า “เธอปกป้องโลกไป ฉันจะปกป้องเธอเอง” จึงสะท้อนความจริงอันเจ็บปวดว่าคนแบบเขาไม่มี/ไม่สามารถมี ‘ความฝัน’ ของตัวเองได้ เขาทำได้เพียงปกป้องความฝันของคนอื่น เสี่ยวเป่ยไม่อาจปกป้องโลกได้ เพราะโลกโหดร้ายกับเขา เขาจึงทำได้เพียงปกป้องเฉินเหนียนจากความโหดร้ายของโลก

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here