เด็กชายวิ่งกระหืดกระหอบอยู่กลางป่า กอดตัวเฟอเรตตัวน้อยที่เป็นเสมือนเพื่อนเพียงคนเดียวของเขาไว้แนบอก ก่อนจะถูกเด็กอีกคนชกจนเลือดกบปาก คนที่เหลือคว้าตัวเฟอเรตไว้ เอาน้ำมันราดแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น เขามองดูมันดีดดิ้นทุรนทุรายเป็นวงกลม ก่อนจะขาดใจตายกลายเป็นเถ้าถ่านเล็กจ้อยไหม้เกรียม มันไม่มีเหตุผลอะไร มันแค่เป็นตัวเฟอเรต แต่นั่นก็เป็นครั้งแรกที่เขารู้ว่ามนุษย์ช่างไร้เหตุผลและแสนจะอำมหิต เช่นเดียวกับเหตุการณ์คู่ขนานที่เกิดขึ้น ห่างไกลจากป่าแห่งนั้นไปหลายเมือง เมื่อนาซีจับชาวยิวโยนเข้าค่ายกักกัน และไม่ปล่อยให้คนกลุ่มนั้นได้ออกมามีชีวิตอีกเลย
The Painted Bird (2019) คืองานกำกับของ วาสลัฟ มาร์โฮล คนทำหนังชาวเชโกสโลวาเกียที่เคยแจ้งเกิดจาก Tobruk (2008) ซึ่งว่าด้วยนายทหารชาวเช็กในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และ The Painted Bird คือหนังร่วมทุนสร้างสามสัญชาติ (สาธารณรัฐเช็ก-สโลวาเกีย-ยูเครน) ลำดับที่สามในชีวิตของเขาซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งในแง่คำวิจารณ์และรายได้ ด้วยการกวาดรางวัลในเวทีบ้านเกิดและส่งเขาเข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำของเทศกาลหนังนานาชาติเวนิซ และสิ่งที่ทำให้หนังขาวดำความยาวร่วมสามชั่วโมงนี้น่าจับตาไม่ได้อยู่แค่ความละเมียดในงานสร้าง หากแต่มันหมายรวมถึงการสะท้อนภาวะข้างเคียงอันโหดร้ายของสงคราม ที่แม้จะหนีไปจนสุดขอบโลก ก็จะยังต้องพบกับความอัปลักษณ์ที่เป็นผลพวงของสงครามไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ
หนังเปิดเรื่องด้วยการที่เด็กชายชาวยิวไร้ชื่อ (รับบทโดย ปีเตอร์ โคต์ลาร์ เด็กชายที่เพิ่งประเดิมงานแสดงนี้เป็นครั้งแรกและทำได้ดีอย่างน่าขนลุก) จ้องมองไปยังตัวเฟอเรตที่ถูกเด็กวัยเดียวกันเผาเป็นจุลอย่างไร้เหตุผล ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงที่นาซีเรืองอำนาจ เขาถูกพ่อกับแม่ส่งให้มาอยู่กับป้าเพื่อความปลอดภัยแต่ก็พบว่าตัวเองแปลกแยกจากเด็กคนอื่นๆ ป้าก็มักเงียบเชียบและเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่เสมอ และหากว่าการตายของตัวเฟอเรตนั้นคือปฐมบทของนรกที่เด็กชายต้องเจอ ถัดจากนั้นมาชีวิตของเขาก็เกี่ยวโยงกับความตายแนบเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกไม่ขาด มากไปกว่านั้น พิษของสงครามที่กัดกินผู้คนไปทั่วทั้งเมืองยังเผยให้เห็นความอัปลักษณ์สุดขีดของหัวใจมนุษย์ จนท้ายที่สุด ด้วยพิษรูปแบบเดียวกัน มันค่อยๆ ทำลายความไร้เดียงสาและสามัญสำนึกดั้งเดิมของเขา ไปสู่ความเป็นอื่นที่แม้แต่เขาเองก็ไม่อาจจินตนาการถึง
หากว่าหนังสกุลอื่นๆ ที่ว่าด้วยกระบวนการฆ่าล้างเผาพันธุ์ชาวยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จับจ้องไปยังตัวผู้กระทำคือนาซีและเหยื่อหรือชาวยิวอย่าง Schindler’s List (1993), The Pianist (2002) หรือ Phoenix (2015) ซึ่งล้วนแล้วแต่ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะสงครามและผลกระทบหลังโศกนาฏกรรมเหล่านั้น The Painted Bird กลับพาคนดูเลาะไปรอบๆ โดยแทบไม่มีฉากการปรากฏตัวของทหารเลยในครึ่งแรก หากแต่มันชำแหละความบิดเบี้ยว ตึงเครียดของสังคมภายใต้สงครามอันเครียดเขม็ง และชวนตั้งคำถามไปถึงว่า นาซีนั้นเลวร้ายเพราะเป็นนาซี หรือโดยเนื้อแท้แล้วมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่โหดร้ายอยู่แต่เดิมแล้วกันแน่ เพราะทั้งเรื่องนั้นเต็มไปด้วยความอำมหิตผิดสามัญสำนึก -จะเรียกว่าผิดมนุษย์ก็ไม่ได้เต็มปาก เพราะความอำมหิตเหล่านี้ล้วนมาจากมนุษย์ทั้งสิ้น- จนกระทั่งการปรากฏตัวของนาซีแทบไม่สร้างผลกระทบใดๆ ให้หัวใจของเด็กชาย หรือแม้แต่คนดูอีกต่อไปแล้ว
หนังดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของ เยอร์ซี กอร์ซินสกี นักเขียนชาวโปแลนด์ที่เป็นหนึ่งในเหยื่อของสงครามโลกครั้งที่สอง เนื้อหาที่รุนแรงของตัวหนังสือส่งให้มันถูกพูดถึงอย่างหนาหูแทบจะในทันทีที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1965 และยิ่งหนักขึ้นเมื่อตัวกอร์ซินสกีเผยว่า เหตุการณ์ที่ยิ่งกว่านรกซึ่งปรากฏในหนังสือนั้น ล้วนมาจากชีวิตจริงของเขาในช่วงหนีตายระหว่างสงคราม หลังจากถูกพรากพ่อพรากแม่ตั้งแต่วัยเพียงหกขวบและต้องออกเดินทางเพียงลำพัง เลาะรอบริมขอบชานเมืองและได้เป็นพยานรู้เห็นการข่มขืน การฆาตกรรม หรืออาชญากรรมรุนแรงหลายอย่างจนมันกลายเป็นแผลใหญ่ในชีวิต ตัวเขาเองถูกความทรงจำเหล่านี้หลอกหลอนจนกระทั่งเมื่อฆ่าตัวตายในวัย 57 ปี ทิ้งข้อความไว้เพียงว่า “ผมขอนอนหลับให้นานกว่าที่เคย จงเรียกมันว่าการนอนชั่วนิรันดร์เถอะ”
ตลอดระยะเวลาเกือบสามชั่วโมง เราล้วนออกเดินทางไปพร้อมกับเด็กชายที่ระหกระเหินพบเจอผู้คนมากมายตลอดทั้งทาง ล้วนแล้วแต่มีสัตว์เชื่อมโยงด้วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ นับตั้งแต่เขาถูกหมอผี -ที่บอกว่าเขาเป็นปีศาจ- ซื้อตัวไปเป็นผู้ช่วยและล้มป่วยหนักจนถูกจับไปทำพิธีฝังดินทั้งเป็นให้ฝูงกาทึ้งหนังหัวจนเลือดอาบ, ถูกอุปการะโดยหญิงนางหนึ่งผู้มีผัวแก่อารมณ์ร้ายและขี้หึงจนคิดว่าหล่อนไปแอบเป็นชู้กับคนงานหนุ่ม ชายแก่มีแมวอ้วนคลอเคลียอยู่ไม่ห่าง ก่อนที่เขาจะเอาแมวตัวผู้จากถิ่นอื่นมา ‘ทับ’ แมวบ้านตัวนั้นต่อหน้าเด็กชายและต่อหน้าเมีย เรื่อยไปจนเมื่อเขาไปขอพักอยู่กับชายเลี้ยงนก ที่สอนเขาว่านกเลี้ยงนั้นจะถูกนกป่าคิดว่าเป็นอื่นเสมอ แม้จะรูปร่างหน้าตาเหมือนกันก็ตาม
ชายเลี้ยงนกทำสัญลักษณ์นกในสังกัดของตัวเองไว้ด้วยการเอาสีป้ายที่ปีกของนก ก่อนจะปล่อยมันบินกลับฝูง เฝ้ามองมันบินล้อมหน้าล้อมหลังนกป่าตัวอื่นก่อนจะค่อยๆ ถูกฝูงนกรุมทำร้าย ฉีกทึ้งและจิกร่างจนมันขาดใจตายกลางอากาศ ด้านหนึ่ง นี่จึงเป็นฉากที่ชวนขนหัวลุกมากที่สุดฉากหนึ่งของเรื่อง เพราะมันเผยให้เด็กชายเห็นว่านอกเหนือไปจากมนุษย์แล้ว ธรรมชาติก็โหดร้ายด้วยเช่นกัน ทั้งมันยังไร้เหตุผลและเลือดเย็นเท่าๆ กันกับมนุษย์คนอื่นที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขา จนสีหน้าแตกสลายเมื่อเขาก้มลงหยิบซากนกตัวนั้นขึ้นมากอด แทบจะกลายเป็นสีหน้าสุดท้ายที่เขาได้แสดงออกถึงความเปราะบางในแบบของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม หนังค่อยๆ พาคนดูสำรวจความเลือดเย็นและโหดเหี้ยมของมนุษย์ในหลายๆ แง่มุม หากว่าช่วงแรก ความรุนแรงจากมนุษย์จะหมายถึงการควักลูกตา การข่มขืนอย่างทารุณ หรือการทำร้ายร่างกายปางตาย ในอีกช่วงหนึ่งมันก็ค่อยๆ เผยให้เห็นความดำมืดในอีกรูปแบบที่มาพร้อมความนิ่งเงียบและสุภาพ ทั้งในฐานะคนทั่วไปหรือในฐานะคนที่ปกป้องตัวเองไว้ในนามของศาสนาคริสต์ ครั้งหนึ่งเด็กชายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปีศาจและจะนำความฉิบหายมายังหมู่บ้านจนต้องจำยอมกลายเป็นลูกมือหมอผี กลายเป็นเด็กเฝ้าโบสถ์ซึ่งเขาก็พบว่า ที่สุดแล้วแม้แต่ศาสนาก็ยังนำพาความเลวร้ายอันวิปริตมาให้ชีวิตเขา นำไปสู่การเดินทางบทใหม่ที่ออกห่างจากพระเจ้าและผู้คนเมื่อเขาถูกรับตัวไปโดยนายทหารโซเวียต -ซึ่งแน่นอนว่าอยู่คนละฝั่งกับนาซีและหนังก็ไม่ได้ทรีตว่าเป็นฝั่งธรรมะหรือฝ่ายคนดีใดๆ- ฉากที่น่าตระหนกมากๆ คือฉากที่นายทหารพาเด็กชาย ‘ออกล่า’ ชาวบ้านด้วยปืนสไนเปอร์ หนึ่งในเหยื่อจากการยิงทิ้งคือเด็กชายคนหนึ่งที่นายทหารตั้งใจเล็งแล้วยิงทิ้ง มันจึงเป็นความเลือดเย็นแบบที่แม้ไม่ได้โหดขนาดแลกเนื้อเถือหนัง แต่มันคือการทำลายล้างความเป็นมนุษย์ในระดับสามัญสำนึกของทั้งตัวเขาเองและเด็กชาย
เช่นเดียวกันกับตอนที่เขาไปเจอหญิงสาว และลงเอยด้วยความอนาจารอันชวนสยอง หนังเล่าฉากนี้โดยปราศจากบทพูดเมื่อเด็กชาย -ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกกล่าหาว่าเป็นปีศาจ เคยพยายามทำดีเอาใจพระเจ้าเพื่อหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น- ตัดตัวเองออกห่างจากความดีงามทั้งปวงด้วยการสังหารแพะด้วยตัวคนเดียว ภาพที่เขายืนถือหัวแพะพร้อมเลือดโชกกลายเป็นสัญลักษณ์อันรุนแรงที่สื่อว่าเขากลายเป็นอื่นที่ไม่ใช่เด็กคนเดิมที่เคยสะเทือนใจตอนเห็นตัวเฟอเรตตายอีกต่อไปแล้ว
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่ตระหนักได้หลังดูหนังจบ มันคือความอำมหิตอันไร้ที่สิ้นสุดของหัวใจมนุษย์ ที่ทำให้ทุกการเดินทางกลายเป็นนรกบนดิน และมากกว่านั้น ความอำมหิตเหล่านั้นมันยังทำลายล้างจนเปลี่ยนใครคนหนึ่งให้กลายเป็นใครอีกคนหนึ่ง -ที่แม้แต่เจ้าตัวก็ไม่อาจคำนึงถึง- ไปตลอดกาลอีกด้วย
- หมายเหตุ : The Painted Bird ฉายในงาน Screening of The Painted Bird โดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็ก เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา