กรุ่นไอร้อนจากหม้อซุปพวยพุ่งขึ้นหยอกเย้าดวงไฟท่ามกลางสลัวมืดในซอกหลืบของอาคารเก่าทรุดยุค 60 …‘เขา’ และ ‘เธอ’ ผู้ที่บังเอิญเช่าห้องติดกัน คือลูกค้าขาประจำที่มักพาตัวเองมาฝากท้องกับร้านบะหมี่เกี๊ยวแห่งนี้ เขาแต่งกายด้วยชุดสูทภูมิฐานเข้มขรึมเหมือนเพิ่งได้หลุดออกจากวัฏจักรการทำงานอันเหนื่อยหนัก ส่วนเธอสวมใส่กี่เพ้าเข้ารูปสีสวยสดราวกับต้องการเป็นจุดสนใจให้คนรอบข้างเหลียวมอง
จึงไม่น่าแปลกที่ระหว่างการเดินสวนกันในตรอกบันไดเล็กแคบ เขาจะลอบมองเธอ ขณะที่เธอก็ลอบมองเขาเช่นกัน – แววตาของสองหนุ่มสาวที่ล้วนถูก ‘คู่ชีวิต’ ของตนทำตัวเหินห่าง ฉายประกายความเจ็บปวดโหยไห้ออกมาไม่ต่างกัน และสายตาที่คอยจดจ้องด้วยความห่วงใยอยู่เสมอ ก็นำทั้งคู่ไปสู่สัมพันธ์ครั้งใหม่ที่ดูจะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละคืนวันที่ผันผ่าน พวกเขาค่อยๆ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันในหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตอันยาวนานถัดจากนั้น
— เหล่านี้คือบางบรรยากาศสุดหวามไหวที่สร้างความตราตรึงใจให้แก่ผู้ชมตลอดมาใน In the Mood for Love (2000) ผลงานขึ้นหิ้งของ หว่องกาไว ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับโลกชาวฮ่องกงที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการบอกเล่าสภาวะอารมณ์เปลี่ยวเหงาของผู้คนผ่านงานภาพที่โดดเด่น ทั้งจากแสงเงา สีสัน และการเคลื่อนกล้อง
โดยในหนังยาวลำดับที่ 7 เรื่องนี้ หว่องกาไวยังคงสามารถบอกเล่าชีวิตรักลับๆ ที่แสนเศร้าของ ‘เขา’ และ ‘เธอ’ ออกมาได้อย่างหมดจดงดงาม …ผ่านอาหารที่เรียบง่าย-แต่แฝงความหมายย้อนแย้ง-อย่าง ‘บะหมี่เกี๊ยว’ ซึ่งถูกขับเน้นในฐานะของ ‘เมนูสานสัมพันธ์’ ระหว่างสองตัวละครนี้
1
แม้ว่า ‘บะหมี่’ และ ‘เกี๊ยว’ จะเป็นอาหารที่ต่างฝ่ายต่างถือกำเนิดขึ้นมาเป็นร้อยเป็นพันปีก่อนคริสตกาล ทว่า ‘บะหมี่เกี๊ยว’ ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในวัฒนธรรมการบริโภคของชาวจีนทุกวันนี้นั้น ได้แพร่หลายมาจากเมืองกวางโจวของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งภาพจำที่เด่นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นสถานะการเป็น ‘อาหารหาบเร่’ ที่คนขายนิยมออกเดินเรียกลูกค้าด้วยการเคาะซีกไม้ไผ่ไปตามบ้านเรือน (หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า ‘หมี่ป๊อก’ ซึ่งมีที่มาจากเสียงเคาะนั่นเอง) กระทั่งเมนูดังกล่าวถูกส่งต่อมายังฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และบ้านเรา โดยเฉพาะ ‘เกี๊ยว’ -ซึ่งออกเสียงตามสำเนียงแต้จิ๋ว- ที่ถูกนำไปดัดแปลงให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทอดให้กรอบแล้วกินคู่กับน้ำจิ้มต่างๆ หรือการประยุกต์ส่วนผสมของไส้จนกลายสภาพเป็นของหวาน
ไส้เกี๊ยวสูตรกวางตุ้งต้นตำรับมักทำจากเนื้อหมู เนื้อกุ้ง ปลาป่น และไข่แดงที่คลุกเคล้ากัน ก่อนนำมาห่อด้วยแป้งแผ่นบางสีเหลือง ซึ่งแตกต่างจากเกี๊ยวสูตรแต้จิ๋วที่มีแผ่นแป้งหนากว่าและเป็นสีขาว โดยเกี๊ยวที่ถูกเรียกว่า Wonton หรือ ‘หวั่นทั่น’ ในภาษากวางตุ้งนั้น จะสามารถแปลหยาบๆ ได้ว่า ‘เมฆ’ ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของมันที่ดูเหมือน ‘ก้อนเมฆที่กำลังล่องลอยอยู่ในน้ำซุป’ – แม้บางตำราจะบอกว่าเหมือน ‘พระจันทร์เสี้ยว’ มากกว่าก็ตาม
ขณะที่ไส้เกี๊ยวสูตรฮ่องกงจะเลือกใช้กุ้งทั้งตัว-ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายสำหรับการเป็นเมืองท่าติดทะเล-กับเนื้อหมูสับ โดยจะถูกนำไปกินคู่กับน้ำซุปเด็ดสูตรเฉพาะร้านใครร้านมัน และบะหมี่ที่มีเส้นเล็กบางดุจเส้นด้าย ซึ่งเป็นการผสมแป้งเข้ากับไข่เป็ดที่ผ่านการนวดคลึงแบบดั้งเดิมด้วยลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ความนุ่มหนึบที่ต่างออกไป
ในฮ่องกง บะหมี่เกี๊ยวเริ่มเป็นที่แพร่หลาย-โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นแรงงาน-นับจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากชาวจีนจำนวนมาก-ที่ทนการรุกรานของญี่ปุ่นไม่ไหว-ได้พากันอพยพหลบหนีจากบ้านเกิด เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินที่นี่ ซึ่งหนึ่งในอาชีพยอดนิยมก็คือการค้าขายบะหมี่เกี๊ยว จนมันกลายเป็นเมนูท้องถิ่นที่สามารถพบเจอได้ทั่วไปตามท้องถนนของฮ่องกงในเวลาต่อมา
และก็เป็นร้านบะหมี่เกี๊ยวริมทางนี่เอง ที่มีส่วนช่วยให้ ‘เขา’ -โจวมู่หวัน (รับบทโดย เหลียงเฉาเหว่ย)- และ ‘เธอ’ -โซวไหล่เจิน (จางหม่านอวี้)- ใน In the Mood for Love ได้มีโอกาสพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน
เพราะนับตั้งแต่ได้ค้นพบว่า ภรรยาและสามีของตนต่าง ‘เป็นชู้’ กันมาได้ระยะหนึ่ง พวกเขาก็พยายามทำความเข้าใจกับสถานการณ์กระอักกระอ่วนชวนหดหู่ตรงหน้า ด้วยการช่วยกันค้นหาสาเหตุว่า ทำไมคู่ของตนจึงลักลอบไปมีความสัมพันธ์กันได้ มีใครในพวกเขาที่ทำอะไรผิดพลาดจนคู่ครองต้องหมางใจไปตอนไหน และพวกเขาก็ถึงขนาดร่วมกันซักซ้อมบทบาทสมมติในร้านอาหารว่า หากถึงเวลาต้องไล่เบี้ยถามหา ‘ความจริง’ กับคู่ของตน ทั้งคู่ควรปฏิบัติตัวเช่นไร
ในช่วงเวลานี้เองที่อาหารธรรมดาๆ อย่างบะหมี่เกี๊ยวได้ช่วย ‘เยียวยา’ ความเปลี่ยวดายในชีวิตของคนทั้งสอง และทำให้พวกเขาสนิทสนมแน่นแฟ้นกันมากขึ้นไปทีละนิด – โดยแทบไม่รู้ตัว
2
มีเรื่องเล่าขานจากคนจีนโบราณว่า ในฤดูหนาวปีหนึ่งที่หิมะตกหนัก อากาศที่เย็นจัดเริ่มกัดกินใบหูของผู้คนจนเป็นแผลลุกลามไปทั่วทั้งหมู่บ้าน หมอยานายหนึ่งจึงจัดแจงนำเอาสมุนไพรฤทธิ์ร้อนที่น่าจะรักษาอาการนี้ได้ มาต้มเป็นซุปแจกจ่ายให้ชาวบ้าน โดยเขาใช้สมุนไพรเหล่านั้นมาผสมกับเนื้อแพะสับเพื่อปรุงเป็นไส้ ก่อนปั้นแป้งห่อทับจนมีรูปทรงคล้ายกับ ‘ใบหู’ ของคน แล้วใส่ลงไปด้วย
หลังจากที่ซุปสูตรนี้ของหมอยาสามารถรักษาคนให้หายขาดจากอาการ ‘หูเน่า’ ได้ ในทุกสิ้นปีที่มักมีสภาพอากาศหนาวเย็น ชาวบ้านจึงพากันทำซุปใส่แป้งห่อชนิดนี้-ที่ต่อมาถูกเรียกว่า ‘เกี๊ยว’-เป็นประเพณีสืบมาเพื่อสรรเสริญคุณงามความดีของหมอยาท่านนี้
เรื่องเล่านี้ดูจะสอดคล้องกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่บอกว่า เกี๊ยวถือเป็น ‘อาหารมงคล’ ของชาวจีนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะมันคือหนึ่งในเมนูสำหรับจัดถวายองค์จักรพรรดิในงานราชพิธีต่างๆ โดยจะถูกปั้นให้มีลักษณะคล้ายทองแท่งโบราณ และถูกสอดไส้ด้วยวัตถุดิบต่างๆ ที่ส่วนใหญ่หมายถึงความมั่งคั่ง (เช่น เนื้อวัว เนื้อปลา หรือเห็ดหอม เป็นต้น) ดังนั้น เกี๊ยวจึงน่าจะเป็นอาหารบำรุงร่างกายที่มีความหมายมงคลสำหรับคนชนชาติจีนมาช้านาน
ทว่าสำหรับเกี๊ยวที่อยู่ในชามบะหมี่ของโจวมู่หวันกับโซวไหล่เจิน แม้ในแง่หนึ่งจะยังสามารถตีความให้ยึดโยงอยู่กับความหมายเชิง ‘บวก’ นี้ได้ แต่ขณะเดียวกัน มันก็พ่วงเอาความหมายเชิง ‘ลบ’ มาด้วย
เพราะถึงเขาและเธอจะใช้บะหมี่เกี๊ยวที่กรุ่นร้อนมาช่วยเยียวยาตัวเอง แต่มันก็กลับเป็น ‘อาหารจานเดียว’ ที่สะท้อนถึงช่วงเวลาอันแสนโดดเดี่ยวเปล่าเหงาของพวกเขา-ในคืนวันที่ไม่สามารถร่วมโต๊ะอาหารแบบครบสำรับกับคู่ครองของตนเหมือนครอบครัวอื่นได้-ไปพร้อมๆ กัน…
3
หว่องกาไวอาจขึ้นชื่อว่าเป็นคนทำหนังที่มีความรุ่มรวยในสไตล์การเล่าเรื่องผ่านมุมภาพ เพลงประกอบ และเครื่องแต่งกายของตัวละคร แต่น้อยคนนักที่จะสังเกตว่าเขาใส่ใจกับ ‘อาหารการกิน’ ในหนังไม่น้อยไปกว่าใคร ทั้งการใช้ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด-รวมถึงอาหารหลากชนิด-มาเป็นศูนย์กลางของเรื่องเล่าใน Chungking Express (1994) หรือวิถีการดื่มกินที่สามารถสร้างและทำลายความสัมพันธ์ได้มากพอๆ กันใน Happy Together (1997)
หากแต่ใน In the Mood for Love นี้ เขาได้พยายามใช้อาหารมาเป็น ‘ตัวดำเนินเรื่องหลัก’ ตั้งแต่แรกเริ่ม
ก่อนหน้านี้ หว่องกาไวเคยถึงขั้นตั้งชื่อโปรเจ็กต์นี้ว่า Story about Food (บางแหล่งก็ระบุว่า A Story of Food หรือ Three Stories about Food) ซึ่งประกอบขึ้นจากเรื่องเล่า 3 เรื่องโดยมีอาหารเป็นตัวเชื่อมโยง เพราะเขาตั้งใจจะทำหนังที่แสดงถึงวัฒนธรรมการกินอันเปี่ยมเอกลักษณ์ของฮ่องกง ทั้งในร้านริมทาง ในภัตตาคาร และในมื้อค่ำรูปแบบต่างๆ โดยถึงขั้นเตรียมจ้างแม่ครัวเก่าแก่มาช่วยรังสรรค์เมนูอาหารเซี่ยงไฮ้ให้ออกมาใกล้เคียงมากที่สุดกับเมนูของจริงในยุค 60 -อันเป็นยุคที่บะหมี่เกี๊ยวริมถนนกำลังเป็นที่นิยม- เลยทีเดียว
ทว่าระหว่างที่กำลังพัฒนาเรื่องเล่าอยู่นั้น เขากลับติดใจเรื่องราวของหนุ่มสาวข้างห้องคู่หนึ่งที่ถูกโชคชะตาชักพาให้มาพบเจอกันในร้านบะหมี่เกี๊ยว เจ้าตัวจึงตัดสินใจยืดขยายเนื้อหาและตัวละครเหล่านั้นมาเล่าเป็นหนังทั้งเรื่องแทน โดยหลงเหลืออาหารชนิดอื่นเอาไว้ให้เล่าเพียงประปราย (ยกตัวอย่างเช่น สเต็ก ที่นอกจากจะช่วยแสดงถึงพัฒนาการระหว่างตัวละครทั้งคู่แล้ว ยังแสดงถึงความนิยมที่คนฮ่องกงมีต่ออาหารยุโรปสไตล์ฟิวชั่น-กล่าวคือสูตรต่างชาติที่ถูกนำมาปรับให้เข้ากับวัตถุดิบและรสชาติแบบท้องถิ่น-ในเวลานั้น เป็นต้น)
บะหมี่เกี๊ยวในหนังเรื่องนี้ของหว่องกาไวช่วยผลักดัน ‘แรงปรารถนาที่จะใกล้ชิดกัน’ ของตัวละครโจวมู่หวันและโซวไหล่เจินให้ชัดเจนขึ้น เมื่อในวันหนึ่ง-หลังจากที่ความสัมพันธ์ของพวกเขาเริ่มรุดหน้าไปไกล ความชุลมุนของกลุ่มเพื่อนบ้านบริเวณห้องพักได้ทำให้พวกเขา-ที่ล้วนอยู่ตามลำพังเพราะคู่ครองติดภารกิจยังต่างแดน-ต้องเก็บตัวขลุกอยู่ด้วยกันในห้องของฝ่ายชาย พลางนั่งกินบะหมี่เกี๊ยวที่ถูกแบ่งปันร่วมกัน ระหว่างรอให้ผู้คนรอบห้องหนีหายไปจนหมดเสียก่อน — มันเป็นโมงยามที่พวกเขาต่างรู้อยู่แก่ใจว่าตนกำลังจะ ‘ล้ำเส้น’ มากไปกว่าการเป็นเพียงที่ปรึกษาให้กัน
การกำหนดให้ร้านอาหาร-อย่างร้านบะหมี่เกี๊ยว-กลายมาเป็นสถานที่ที่ทั้งคู่ต้องพบหน้ากันบ่อยๆ ในช่วงแรก และการใช้บะหมี่เกี๊ยวกับฉากข้างต้นในช่วงหลัง แสดงให้ผู้ชมเห็นว่า แม้จริงแล้ว บ้านอาจไม่ใช่สถานที่ที่ทำให้เราอุ่นใจได้เสมอไป และแม้แต่คนในบ้านเองก็ยังสามารถถูกกีดกันจากสมาชิกครอบครัวให้กลาย ‘เป็นอื่น’ ได้เสมอ หากพวกเขาเกิดขัดแย้งหรือเบื่อหน่ายกัน
คนเหงาเหล่านั้นจึงต้องหลบซ่อนอยู่หลัง ‘กำแพง’ ของตน เฝ้ากระซิบบอกความคับข้องใจที่คุกรุ่นอยู่ภายในกับกำแพงนั้น และโหยหาความความรักความสัมพันธ์ที่อาจช่วยโอบอุ้มความรู้สึกแย่ๆ ของพวกเขาได้มากกว่า …จากนอกกำแพงบ้าน
4
หนึ่งในฉากจำของ In the Mood for Love ที่แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาหาร แต่ก็มักถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง คือฉากที่ตัวละครโจวมู่หวันยืนกระซิบกระซาบกับกำแพงมี ‘รู’ ในนครวัดที่กัมพูชา แล้วใช้ก้อนดินก้อนหญ้าอุดปิดมันเอาไว้ -เพราะเขาเคยได้ยินมาว่ามันเป็นวิธีการที่จะช่วยเก็บกัก ‘ความลับ’ เอาไว้ได้ตลอดกาล- ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยวเหงาขั้นสุดของตัวละครนี้ ในฐานะของชายหนุ่มหัวใจแหลกสลายที่ต้องทนเก็บงำความสัมพันธ์ลับๆ ระหว่างเขากับโซวไหล่เจินเอาไว้ แล้วปล่อยให้มันค่อยๆ ถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา
ความเจ็บปวดของโจวมู่หวัน-และโซวไหล่เจิน-เป็นผลสืบเนื่องมาจาก ‘ความเป็นอื่น’ ที่พวกเขายังคงได้รับจากสามี-ภรรยาเสมอมา เพราะพวกเขาไม่เคยรู้เลยว่า เหตุใดคู่ครองของตนจึงลักลอบคบหากัน แม้วันเวลาอันรวดร้าวนั้นจะล่วงผ่านไปนานแล้ว พวกเขาแค่ยอมปล่อยให้ความสัมพันธ์ฉันชู้สาวของอีกฝ่ายเป็นเพียงความลับที่ไม่เคยถูกเปิดเผยหรือได้รับคำอธิบาย และยอมปล่อยให้ความทรงจำที่งดงามแต่ก็แสนเศร้าระหว่างพวกเขา-คนที่ถูกหักหลัง-จางหายไปเอง
‘ความเป็นอื่น’ จากใครก็คงไม่เจ็บปวดเท่า ‘ความเป็นอื่น’ จากคนใกล้ตัวที่อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน ซึ่งล้วนเกิดจากความขัดแย้งน้อยใหญ่ที่เราไม่เคยพูดจาปรับความเข้าใจกันอย่างตรงไปตรงมา แต่กลับปล่อยปละให้ตัวเองหรืออีกฝ่ายต้องหาทางออกด้วยการกระซิบบอกความลับกับกำแพง และก้าวผ่านวัน เดือน หรือปีไปอย่างเจ็บปวดลำพัง
หากเรา-ไม่ว่าจะมีสถานะไหนในบ้าน-ปล่อยให้คนใกล้ตัวต้องทนทุกข์เช่นนั้น และปล่อยให้สภาวะ ‘ความเป็นอื่น’ เกิดขึ้นต่อไปอย่างไม่วันจบสิ้น — ต่อให้ออกไปสรรหาบะหมี่เกี๊ยวหรืออาหารมงคลที่มีสรรพคุณวิเศษวิโสแค่ไหน ก็คงไม่อาจช่วยเยียวยาความล่มสลายของความสัมพันธ์เหล่านั้นได้
และเราก็คงต้องพร่ำบ่นถึงความลับอันทุกข์ตรมนั้นอยู่หลัง ‘กำแพง’ -ที่หลายครั้งก็หมายถึง ‘จิตใจ’ ของเราเองที่เอาแต่ปิดกั้นความจริงจนไม่กล้ายอมรับหรือเอื้อนเอ่ยออกมา- ไปจนวันตาย…