นายพล Enrique Monteverde คืออดีตผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศกัวเตมาลาอยู่หลายปี (ตามประวัติศาสตร์ ประเทศกัวเตมาลาคือประเทศที่อยู่ในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของเผด็จการมาโดยตลอด และรุนแรงเข้มข้นในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองโดยมีอเมริกาเป็นผู้หนุนหลังเหล่าเผด็จการทหาร จนถึงปี 1996) ในเวลานั้น เขาและกองทัพของเขา ลักพา ทำร้าย ข่มขืน และฆ่า ชาวอินเดียนเผ่ามายันลงไปเป็นจำนวนมาก ในเวลานี้ เขายังคงอยู่สุขสบายในคฤหาสน์สุดหรูกับภรรยา กองทัพคนรับใช้และบอดี้การ์ดผู้ภักดี ลูกสาวเป็นหมอและคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวแวะมาเป็นบางครั้ง เขากำลังต้องเดินทางไปขึ้นศาลในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฐานะอาชญากร ตลอดขวบปีที่เขาปกครอง เขาไล่ฆ่า อุ้มหาย ข่มขืน ทำลายผู้คนไปมากมายเหลือเกินโดยเฉพาะคนอินเดียนพื้นเมืองเผ่ามายัน แต่สิ่งนั้นไม่รบกวนจิตใจของเขาเท่ากับที่ว่า กลางดึกคืนหนึ่ง เขาตื่นมาพบเสียงร้องให้ในบ้านตัวเอง เขาถือปืนลุกมาเดินสำรวจ จิตใจถูกรบกวนด้วยเสียงร้องไห้นั้น พลันเห็นเงาตะคุ่มที่หางตา เขายิงปืนออกไปนัดหนึ่ง เกือบโดนเอาภรรยาของเขาที่ลุกขึ้นมาตาม
ต่อมาเขาไปขึ้นศาล ศาลพิพากษาให้ได้รับโทษอย่างสาสมจนป่วยไข้เข้าโรงพยาบาล หลังออกจากโรงพยาบาล เขากลับมาพบว่าหน้าบ้านเต็มไปด้วยผู้ชุมนุมขับไล่ กองทัพคนใช้อินเดียนก็ลาออก ไม่ใช่เพราะไม่อาจทนรับใช้เผด็จการ แต่คนอินเดียนยากจนต่างรู้ดีว่าเสียงร้องไห้ในยามกลางคืนไม่ใช่อาการประสาทหลอน แต่คือเสียงของผี La Llorona ผีนางครวญ
ท่ามกลางความกดดันของการลอคดาวน์ตัวเองในบ้าน หัวหน้าคนรับใช้ที่อยู่กับท่านนายพลเป็นคนสุดท้ายแจ้งความประสงค์กลับไปยังหมู่บ้านของเธอให้ส่งคนมาช่วย วันหนึ่งท่ามกลางกลุ่มผู้ประท้วง หญิงสาวอินเดียนผมดำยาวคนหนึ่งปรากฏกายขึ้น เธอเป็นคนรับใช้คนใหม่ที่ไม่มีที่มาที่ไปแน่ชัด จนเมื่อเข้ามาในบ้าน เธอสนิทสนมกับเด็กหญิงหลานสาวนายพลอย่างน่าสงสัย เธอปลุกกำหนัดของจอมทัพที่คลำไม่มีหางก็เอาหมด ภรรยาท่านนายพลก็เริ่มฝันร้ายว่าตัวเองถูกไล่ล่าโดยคนของกองทัพของสามีตัวเอง ลูกสาวเริ่มสงสัยว่าที่สามีของเธอหายตัวไปบางทีอาจจะเป็นฝีมือของพ่อตน ใบหน้าของผู้ชุมนุมก็คล้ายคลึงกันกลับใบหน้าของผู้คนที่ตายไปในช่วงเวลานั้น
ท่ามกลางเสียงร้องไห้ที่มีแต่ท่านนายพลที่ได้ยิน บ้านในสภาวะปิดตายเพราะการชุมนุมค่อยๆ จมลึกลงในความหวาดผวา ท่านผู้นำต้องทำทุกอย่างเพื่อสู้กับผีที่วนเวียนอยู่ในบ้าน แต่ในสภาวะครึ่งเป็นครึ่งตาย ไร้อำนาจแม้แต่ในร่างกายของตัวเองอย่างที่เคยเป็นเขาจะทำอะไรได้ หรือบางทีนี่อาจเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของกรรมสนอง
ตามตำนานนั้นผีนางครวญมีหลายฉบับ ฉบับหนึ่งที่รู้จักกันคือผีของหญิงสาวที่อดรนทนไม่ได้ที่สามีรักลูกสาวลูกชายมากกว่าตัวเธอ ด้วยความคลั่งเธอจับลูกของตนกดน้ำจนตาย จากนั้นก็ฆ่าตัวตายตามด้วยการเดินลงแม่น้ำ วิญญาณของเธอปฏิเสธการไปสวรรค์จนกว่าจะเจอวิญญาณลูก ขณะเฝ้าวนเวียนหาลูกสาวลูกชายของตน หากเธอพบเด็กเธอจะลักพาไป เมื่อรู้ว่าไม่ใช่ลูกตนก็จะฆ่าทิ้งเสีย ผีนางครวญเป็นหนึ่งในตำนานที่แพร่หลายในลาตินอเมริกา และเราอาจจะรู้จัก La Lllorona จากหนังผีน่าเบื่ออย่าง The Curse of La Llorona ที่ออกฉายในปีเดียวกันกับหนังเรื่องนี้ ในฐานะภาคแยกของหนังตระกูล The Conjuring แม้จะใช้ตำนานเดียวกันมาเล่าเรื่องแต่แน่นอนว่าหนังสองเรื่องนี้ไม่มีอะไรเหมือนกัน
La Llorona เต็มไปด้วยความเงียบงัน เชื่องช้า ผีนางครวญไม่ได้ถูกใช้เพื่อเขย่าขวัญผู้ชม อันที่จริง เราไม่อาจรู้ด้วยซ้ำว่ามีผีอยู่จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงอาการประสาทหลอนของผู้เฒ่าที่เคยเป็นผู้นำแต่ตอนนี้เป็นอาชญากร ในขณะที่ตัวตำนานหลักอาจจะไม่ได้มีความเป็นการเมืองมากขนาดนี้ หนังกลับนำตำนานผีนางครวญมาปรับแปลงให้เห็นความเป็นการเมืองของมัน
หนังเล่าอย่างไม่ปิดบังในที่นี้ว่าผีนางครวญเป็นภาพแทนของคนอินเดียนจำนวนมากที่ตายลงในยุคเผด็จการ ผีนางครวญที่ผู้ชมมองไม่เห็นอาจจะใช่หรือไม่ใช่คนรับใช้คนใหม่ที่มีประวัติศาสตร์ส่วนตัวจากการเสียลูกและสามีจากฝีมือของพวกทหารรับใช้เผด็จการในช่วงเวลานั้น และอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ที่เธอจะมาลักหลานสาวท่านนายพลไป เมื่อหลายต่อหลายครั้งทั้งคู่ถูกพบเห็นในสภาวะที่เด็กหญิงอยู่ในน้ำ
ดังที่เราอาจจะพอได้ยินมาบ้าง หนึ่งในขนบหนังที่มักถูกใช้ในการทำนายอนาคต (ผ่านการจับความกังวล ความหวาดกลัวของผู้คน) และอภิปรายอดีต (ผ่านการอุปมาอุปไมยการกลายเป็นเหยื่อ) คือขนบของหนังสยองขวัญ และอย่างที่รู้กันดี การกลับมาหลอกหลอนของผีหลังจากตายลงเป็นเสมือนภาพแทนภาพฝันของผู้ถูกกดขี่ที่ไร้อำนาจในยามที่มีชีวิตอยู่ แม้จะถูกพรากทุกอย่างไปก็ไม่อาจลุกขึ้นต่อสู้ มีแต่ความตายเท่านั้นที่ให้อำนาจคืนกลับ ขนบหนัง ‘ผีทวงแค้น’ จึงเป็นหนึ่งในขนบหนังที่ไม่มีวันตายเพราะมีคนถูกกดขี่มากมายเหลือเกินในโลกนี้ และมันไม่เคยจบลง เมื่อเผด็จการคนหนึ่ง/ระบบหนึ่งจากไป ก็เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้เผด็จการคนใหม่/ระบบใหม่เข้ามาเท่านั้นเอง
การกลับมาหลอกหลอนของผีหลังจากตายลงเป็นเสมือนภาพแทนภาพฝันของผู้ถูกกดขี่ที่ไร้อำนาจในยามที่มีชีวิตอยู่ แม้จะถูกพรากทุกอย่างไปก็ไม่อาจลุกขึ้นต่อสู้ มีแต่ความตายเท่านั้นที่ให้อำนาจคืนกลับ
ความตายเป็นทั้งปลายทางของความทุกข์ทรมาน เป็นจุดสิ้นสุดของการต่อสู้ และเป้าหมายของการยอมจำนน โลกหลังความตายกลายเป็นความยุติธรรมของทุกความอยุติธรรม มีแต่อยู่กันคนละโลกเท่านั้นจึงได้อำนาจคืนกลับมาสะสางแค้นเคืองที่ติดค้างกันอยู่ เราจึงเห็นหนังจำนวนมาก ที่ว่าด้วยเรื่องของผีที่กลับมาไล่ฆ่าคนที่เคยข่มเหงพวกเขาตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ และโดยมาก บรรดาผีทวงแค้นมักเป็น ผีสาว อาจจะตั้งแต่แม่นาคพระโขนง ผีปอบ ไปจนถึงผีแม่ลูกในหนังอย่าง Ju-on ผู้หญิงที่ถูกกดขี่โดยเพศกำเนิดในโลกปิตาธิปไตย ระบบสังคนที่คนไม่เท่าเทียมกันร่วมกันกดให้เธอต่ำลงไปอีก ผ่านระบบศีลธรรมครอบครัว ความเป็นแม่ ไปจนถึงความเป็นการเมืองของพวกผู้ชาย ผีใน La Llorona เป็นภาพแทนของผู้หญิงที่เสียสามีให้กับการต่อต้าน ลูกๆ ของเธอถูกจับกดน้ำต่อหน้า และเธอถูกฆ่าทิ้ง เช่นเดียวกับพยานหญิงอินเดียนนับร้อยบนศาลที่คลุมใบหน้า เล่าเรื่องการถูกข่มขืน ล่วงละเมิด ทำร้ายและคุมขัง เธอเข้าถึงฆาตกรได้ผ่านทางผู้หญิงที่รายรอบเขา หัวหน้าคนใช้ ภรรยา ลูกสาว และหลานสาวซึ่งล้วนมีประสบการณ์ไม่ดีกับเจ้านาย ผัว พ่อ และตาของตัวเอง นั่งกอดกันพิงหลังไหล่บนบันไดขณะที่ท่านผู้นำค่อยๆ เป็นบ้า
แต่กระทั่งเป็นผี ผีใน La Llorona นั้นก็กลับไร้อำนาจเหลือเกิน ผีมีอำนาจน้อยกว่าบรรดาการชุมนุมประท้วงหน้าบ้านท่านนายพลเสียอีก ผีไม่แม้แต่จะสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ฆ่าคน ผีในเรื่องมีแค่เพียงเสียงร้องไห้ เสียงร้องไห้ที่แทบไม่มีใครได้ยิน หากมันไม่ยอมหายไป เสียงร้องไห้ที่ดื้อด้าน เหมือนคราบฝังแน่นที่ลบไม่ออกบนผืนพรมที่คลี่คลุมประวัติศาสตร์บาดแผลเอาไว้ พลังอำนาจของภูติผีแผ่ลามไปในความคิดคำนึงของสาวๆ ในบ้านความฝันของแม่ที่ได้กลายเป็นแม่ของเหยื่อเสียบ้างหลังจากเป็นผู้ถูกกระทำ และการค้นพบของลูกสาวว่าเธออาจจะเป็นเหยื่อเสียเอง
แต่กระทั่งเป็นผี ผีใน La Llorona นั้นก็กลับไร้อำนาจเหลือเกิน ผีมีอำนาจน้อยกว่าบรรดาการชุมนุมประท้วงหน้าบ้านท่านนายพลเสียอีก ผีไม่แม้แต่จะสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ฆ่าคน ผีในเรื่องมีแค่เพียงเสียงร้องไห้ เสียงร้องไห้ที่แทบไม่มีใครได้ยิน
ผีจึงเป็นรูปแบบของการส่งต่อเสียงร้องไห้ การทำให้เสียงร้องไห้ยังดำรงคงอยู่แม้ดวงวิญญาณสูญดับ การจดจำความเจ็บปวด และบอกเล่าความเจ็บปวดนั้นต่อๆ กันไป พลังอำนาจของปากคำนอกประวัติศาสตร์ทางการที่เขียนโดยรัฐที่เป็นผู้ชนะ ปากคำที่อยู่ในบทกวี ดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ ซึมไหลไปแม้ในผู้คนที่เป็นวงศ์วานว่านเครือของรัฐให้ได้ตระหนักรู้แม้แค่เพียงในฝันว่าทุกคนเป็นเหยื่อได้ แม้คนที่คิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของผู้กดขี่ก็ตาม