ในรอบสิบห้าปีที่ผ่านมานี้มีอย่างน้อยสามครั้งที่โครงสร้างเรื่องเล่าใหญ่ในสารบบนิยายกระแสหลัก/ละครไทยถูกนำมาตีความใหม่อย่างท้าทายกลับหัวกลับหาง ครั้งแรกคือ สะใภ้บรื๋อส์ในปี 2008 ครั้งต่อมาคือวงศ์คำเหลาในปี 2009
โครงสร้างเรื่องเล่าที่ว่าคือเรื่องของคฤหาสน์หรูหราครอบครองโดย ‘ผู้ดี’ ที่ต้องสั่นสะเทือนด้วยการมาถึงของหญิงสาวชนชั้นล่างที่อาจจะเป็นเจ้าของคฤหาสน์ตัวจริง ผู้ซึ่งเป็นคนดีจากภายในสู่ภายนอก ตอบโต้ความชั่วร้ายการตีสองหน้าของเหล่าคนร่ำรวยหน้าเนื้อใจเสือที่ทำทุกอย่างเพื่อจะขับไล่เธอออกไปเอาชนะด้วยความดี ขณะเดียวกันก็ได้ชนะจิตใจอันแข็งกระด้างของชายหนุ่มที่เป็นทายาทของบ้าน ก่อนจะขยับฐานะขึ้นมาเป็นเจ้าของบ้านที่แท้จริง ทั้งผ่านทางสาแหรก สายเลือด (ปานดำที่แขน สร้อยที่แม่ให้มา) หรือการแต่งงาน ถึงที่สุดโครงสร้างของหนังคืออาการพาฝันของคนชนชั้นล่าง/ชนชั้นกลางระดับล่างที่ไม่อยากยอมรับว่าไม่ว่าจะพยายามเพียงใดก็ไม่อาจขยับฐานะไปเทียบผู้ดีได้ เพราะสิ่งที่ขาดไม่ใช่แค่เศรษฐฐานะ แต่ยังรวมถึงสายเลือดอีกด้วย ทางเดียวที่จะข้ามชนชั้นจึงไม่ใช่ความมุ่งมั่นทางการศึกษาหากคือการป็นคนดีมีศีลธรรม แล้วรอให้โชคชะตา (เลือดผู้ดีเกิดที่ไหนย่อมเป็นผู้ดี เลือดไพร่ก็เช่นกัน) มาหา หรือการได้เข้าร่วมสายเลือดผ่านทางการแต่งงาน (เป็นเครื่องจักรสืบทอดสายเลือดเดิมต่อไป) บทขึ้นและลงท้ายของโครงเรื่องหลักนี้สะท้อนก้องถึงสิ่งสำคัญมิตรสหายท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า ‘สังคมไทยเป็นสังคมที่มีสำนึกเรื่องชนชั้นสูงมาก’ ซึ่งอาจจะหมายถึงสำนึกเรื่องชนชั้นสำหรับการเหยียดชนชั้น หรือสำนึกเรื่องการบูชาชนชั้นสูงและความถี่ถ้วนในการจัดลำดับว่าใครมีศักดิ์สูงกว่าใคร กล่าวให้ง่ายคือไม่ว่าเราจะก้าวเข้าสู่สังคมประชาธิปไตย สังคมทุนนิยม สังคมเผด็จการ หรือใดๆ ก็ตามแต่ ความนึกคิดของเราก็วนเวียนอยู่กับการเป็นสังคมศักดินาซ่อนรูป อยู่ในกฎแห่งกรรม และการทำตนเป็นคนดี ชูผู้ดี และตีไพร่ด้วยกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้โครงสร้างเรื่องเล่านี้เรื่องที่รู้จักกันดีที่สุดคงหนีไม่พ้น บ้านทรายทอง ที่ประพันธ์โดย ก.สุรางคนางค์ ตัวนิยายเขียนขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 1950 แต่ยังคงเป็นหนึ่งในโครงสร้างเรื่องเล่าที่ยังแข็งแรงและถูกตีความไปในทางเพื่อควบคุมมโนทัศน์เดิมของสังคมที่ยังใช้การกันอยู่ในเวลา 70 ปีต่อมา ซึ่งว่ากันว่าตัวเรื่องของบ้านทรายทองคือการต่อสู้ของชนชั้นกลางใหม่ (คนมีการศึกษา กับศักดินาหัวโบราณ)
สะใภ้บรื๋อส์ เปลี่ยนพจมานให้เป็นผี ด้วยการเล่าเรื่องของหญิงสาวที่เป็นนางพยาบาลเจ้าคุณพ่อที่จู่ๆ ได้รับคำสั่งให้แต่งงานกับลูกชายเพื่อรับมรดกเป็นคฤหาสน์ ทำให้คุณหญิงแม่ไม่พอใจถึงกับจ้างนักเลงมาขู่ แต่กลับตาลปัตรพลั้งมือฆ่าเธอตาย เธอจึงกลายเป็นผีมาหลอกทุกคน
วงศ์คำเหลากลับหัวกลับหางเรื่องเล่าหลักได้อย่างน่าสนุกด้วยการเอานักแสดงชาวอีสาน ตัวละครที่ถูกจดจำในบทคนชั้นล่างและคนใช้ พลิกกลับมารับบทเป็นผู้ดีกับเขาบ้าง ผู้กำกับร้ายกาจถึงขนาดหยิบนามสกุลของตัวเองมาใช้เป็นสกุลผู้ดี เราจึงเห็นผู้คนที่หน้าตามักถูกจดจำแบบคนใช้ได้กลายเป็นผู้ดี ใช้ชีวิตอีลิท (อย่างที่ขำเพราะเข้ารหัสรสนิยมของคนชั้นล่างปะทะกับความผู้ดี) โดยมีนางเอกเป็นครูสอนภาษาแสนดีที่ดีจนคุณชายเจ้าของบ้านตกหลุมรักแม้ศักดิ์จะไม่เท่าเทียม
ภายใต้การละเล่นนั่นนี่ของทั้งสองเรื่องที่่ชวนให้คิดว่านี่คือการตีความใหม่ เพื่อท้าทายกับขนบของรักต่างชนชั้นและการยั่วล้อเพื่อบ่อนเซาะทำลายศักดินาดั้งเดิม แต่ในท้ายที่สุดหนังก็ต้องปล่อยให้ผีอยู่ส่วนผี และผู้ดีอยู่ส่วนผู้ดีและยังคงเป็นผู้ดีต่อไปด้วยความรู้ตัวที่จะไม่แตะประเด็นชนชั้นเกินกว่าผิวเปลือกของความตลกโปกฮา
หากสะใภ้บรื๋อส์คือการทำให้พจมานกลายเป็นผี และวงศ์คำเหลาพลิกเอาชนชั้นคนใช้ให้มาเป็นเจ้านาย พจมาน สว่างวงศ์ก็มีทุกอย่างครบทั้งการที่พจมานกลายเป็นผี แต่ชนชั้นคนใช้สายเควียร์ที่พลิกอำนาจกลับจากคนใช้กลายไปเป็นผู้ดีกับเขาบ้าง
เรื่องคือพจมาน (ตัวจริง) เดินทางมายังบ้านดอก(ไม้)ทอง เพื่อทวงคืนความยุติธรรมในฐานะเจ้าของบ้าน คนที่รอต้อนรับคือหม่อมแม่ หญิงใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม และหญิงเล็กกะจิริด และชายน้อยหนึ่ง คืนนั้นเอง หม่อมแม่พยายามวางยาพจมานแต่ไม่สำเร็จ แต่ด้วยความแส่อยากรู้ว่าเรือนเล็กมีอะไร พจมานเลยตกกระไดตายซี้แหงแก๋
เพื่อวางแผนครอบครองบ้านดอกไม้ทอง หม่อมแม่สั่งให้แม่มณี (พชร์อานนท์ในบทชื่อรอง ‘อีช่อ’) คนรับใช้ไปหาใครก็ได้มาเล่นบทพจมาน เพื่อจะได้แต่งกับชายตุงกลาง ที่กำลังจะกลับจากเมืองนอก แค่ยั่วให้ชายตุงกลางตกหลุมรัก แต่งงานจบปั๊บรับเช็คกลับบ้าน แล้วก็ได้อนาคตใหม่เป็นสาวแพนเค้กสก๊อยขาลุยแม่ป่วยมารับบทนี้ขณะที่ผีพจมานตัวจริงออกหลอกหลอนในยามค่ำ ชายกลางที่มีแฟนเป็น เจนนี่ โรเซ่ จีซู ลิซ่า มีแม่และพี่สาวน้องสาวเป็นเจนนุ่นโบว์ ก็ตกหลุมรักพจมาน แต่เรื่องมันก็ไม่ได้มีแค่ใครคือพจมานตัวจริงหรอกนะยะ
ก่อนจะกลับไปที่พจมาน เราไปพชร์ อานนท์กันก่อน หลังจากเปลี่ยนมาหลายชื่อ ทำหนังมาหลายแนว ยืนหนึ่งต้านทานแรงเสียดทานของผู้ชมจำนวนหนึ่งที่มักจะพยายามใช้หนังของเขาเป็นเครื่องหมายของการเป็นหนังไทยชั้นเลว พชร์เลิกพิสูจน์แล้วว่าเขาเป็นคนทำหนังดีได้ แต่เขาพิสูจน์ว่าเขาทำหนังได้ หนังของเขาอาจไม่ทรงคุณค่าเมื่อหยิบจับมาตรฐานหนังดีมาจับ แต่มันก็เหมือนหยิบไม้บรรทัดเซนติเมตรมาวัดสิ่งที่ต้องวัดเป็นหุน หลังจากทำหนังมานับทศวรรษ พชร์รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ เขาต้องการอะไร และใครคือกลุ่มเป้าหมาย หนังของเขากลายเป็นจักรวาลพาฝันที่ความแคมป์ ความเควียร์ ความไม่มีความถูกต้องทางการเมืองมารวมกัน มันคือภาพฉาบฉวยของไดอารี่บันทึกทางสังคมของบรรดาข่าวมโนสาเร่ จากโซเฟียลา ถึงลีน่าจัง และสิตางศุ์ บัวทอง บรรดา Cameo ในหนังของพจน์เป็นคนดังที่มาแล้ววูบหายไป คาแรคเตอร์แรงๆ แบบเอาขายตลกสังขาร หากลองมองย้อนกลับไปบางคนอาจจะลืมไปแล้วว่าตัวละครเหล่านี้เคยมีบทบาทอะไรในสังคม มิตรสหายท่านหนึ่งเคยกล่าวว่าภาพยนตร์ของพชร์ อานนท์ให้ความรู้สึกเหมือนการอ่านแมกกาซีน อันที่จริงต้องเรียกว่า แมกกาซีนกอสสิป ที่จับเอาข่าวขายขำ เรื่องออนไลน์ฉาบฉวยมาพาดหัว สิ่งเหล่านี้อาจถูกมองเป็นเรื่องไร้สาระ แต่สังคมที่เป็นธุระจนเรื่องราวเหล่านี้กลายเป็น talk of the town ย่อมมีประเด็นให้ชวนค้นต่อไปว่าทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น
แต่ก็ใช่ว่าหนังของพชร์ อานนท์จะไม่มีปัญหา การที่หนังพึ่งพาตัวละครสามเจ๊และผีแพงเค้ก อาศัยการรับส่งมุกต่อมุกแบบไม่จำเป็นต้องท่องบทให้เสียเวลาทำให้หนังของพชร์มีปัญหาเสมอเมื่อหนังต้องร่วมซีนกับตัวละครอื่นๆ ที่ไม่ได้มีทักษะทางการตลกมาก่อน โชคดีอย่างยิ่งที่ครั้งนี้แพนเค้ก เขมนิจ มาพร้อมกับพลังงานเกินร้อยแบบที่ผู้ชมเองก็ไม่เคยเห็นพลังงานระดับนี้มากอ่น (ยิ่งตอกย้ำว่าป้าแฮปปี้ฯ นั้นเป็นการใช้ประโยชน์แพนเค้กอย่างเสียของขนาดไหน) เลยทำให้แพนเค้กเป็นตัวละครหนึ่งเดียวที่สามารถฟาดฟันกับสี่ตัวละครหลักได้ ขณะที่ตัวละครรั่วมากๆ ของแนคชาลีนั้นจืดจางราวกับน้ำเปล่า
ความด้นไปเรื่อยๆ ความพลอตน้อย ไร้พลอต หรือหาความสมเหตุสมผลเชื่อมฉากซีนไม่เจอเคยทำให้ซีรีส์หอแต๋วแตกเป็นความบันเทิงที่ไม่ต้องสนใจพลอต (และภาคใดก็ตามที่พยายามจะมีพลอตระทึกขวัญมันก็จะพาลออกทะเลไปทุกที) ความสมเหตุสมผลหรือความถูกต้องทางการเมืองใดๆ อีกต่อไป นอกจากดูการแต่งแดรกควีนแบบจัดเต็ม แล้วออกมายืนด่ากันแบบจัดเต็ม แล้วเล่าอะไรก็ได้ไปเรื่อยๆ ให้มันจบไป (ลีลาของหนังจักรวาล หอแต๋วแตกชวนให้คิดถึงการพูดไปเรื่อยจนดังของ สิตางศุ์ บัวทองมากๆ) ทำให้มันเป็นหนังเฉพาะกลุ่ม โลกแฟนตาซีของชาวเควียร์ เป็นมหกรรมความ Drag ที่ไม่นำพาต่อตรรกะใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนั่นทำให้มันพิเศษ
มันจึงน่าสนใจที่ พจมาน สว่างคาตา กลับมามีพลอตจัดเต็มยอกย้อนซ่อนเงื่อน การลดจำนวนเด็กหนุ่มวัยแรกรุ่นถอดเสื้อวิ่งไปมาในหนัง และการพยายามเล่าเรื่องทำให้หนังมีน้ำหนักมากขึ้น (ไม่ใช่ว่าพชร์ไม่เคยทำ เขาเคยทำหนังอย่าง เพื่อน กูรักมึงว่ะที่พยายามจนตลก หรือ เหยิน เป๋ เหล่ เซมากูเตะที่มีอารมณ์พิสดารพิลึกพิลั่นเรื่องหนึ่ง ปล้นนะยะก็เล่าเรื่องได้ไม่เลว ขณะที่ตอนหนึ่งของหนังอย่างตายโหง และศพเด็ก 2020 ก็พอจะเล่าได้รู้เรื่องไม่น้อย) การที่หนังเกาะเกี่ยวยั่วล้ออยู่กับบ้านทรายทองทำให้หนังยอกย้อนอย่างน่าสนใจ จนขาดอีกเพียงนิดเดียวเราอาจจะบอกว่านี่คือการตีความบ้านทรายทองที่ก้าวหน้าและบ้าบอที่สุดครั้งหนึ่ง
* จากนี้ไป เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์ *
ในการตีความพจมานใหม่นี้ นอกเสียจากการเล่นกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของตนเอง (เอาแพนแค้กมาเล่นเป็นแพนเค้กที่ปลอมเป็นพจมาน แล้วเอาโก๊ะตี๋ที่เล่นเป็นผีอีแพงเค้กมาหลายปีมาเป็นพจมาน นี่คือมุกยั่วล้อที่ดีที่สุดมุกนึงในหนังของเขา หรือการยั่วล้อความ พจ กับ ความอานนท์) พจมาน(เกือบ)กลายเป็นภาพแทนของชนชั้นล่างไปจริงๆ ชนชั้นแรงงานที่เป็นเจ้าของบ้านดอกไม้ทองตัวจริง แต่กลับเป็นฝ่ายถูกกดขี่ ถูกกระทำ ถูกบังคับอุ้มหายตายดับไป โดยฝีมือของเหล่า ‘ผู้ดี’ ชีหม่อมแม่และหญิงเล็กหญิงใหญ่ ชนชั้นนำที่หวาดกลัวการสูญเสียสถานะผู้ปกครองของตน จนต้องออกปากกดขี่ให้อีกฝั่งฝ่ายเป็นไพร่ไปตลอดเวลา (ฉากหนึ่งที่สำคัญมากๆ และมีนัยทางชนชั้นมากๆ คือการที่พจมานบอกว่า พจมานตัวจริงต้องไว้สองเปีย แล้วสาวใช้ทั้งบ้านก็ไว้สองเปีย เพราะนี่คือภาพแทนชนชั้นแรงงานเจ้าของบ้านทีแท้จริง) พจมานจึงมีอำนาจด้วยความตาย และการกลายเป็นผี เช่นเดียวกันกับนัยของผีสาวในหนังไทยหลายๆ เรื่อง (รวมถึงสะใภ้บรื๋อส์) คือต้องตายเพื่อพิสูจน์คุณงามความดีเยี่ยงสีดาลุยไฟเท่านั้นจึงจะ ‘ชอบธรรม’ พอจะมาล้างแค้น ซึ่งความชอบธรรมนี้ไม่ใช่ชอบธรรมต่อหม่อมแม่ แต่ชอบธรรมสำหรับผู้ชมที่ชีวิตไม่ได้ดีไปกว่าพจมานมากนัก มีคนชนชั้นหม่อมแม่ไว้เป็นองุ่นเปรี้ยวสำหรับโลกที่อยากจะไปแต่ไปไม่ถึง และคนอย่างแพนเค้ก (ตัวละครแพนเค้กนั้นน่าสนใจอย่างยิ่งเพราะดูเหมือนเธอจะมีทั้งคุณสมบัติของคนรุ่นใหม่ปากกล้าท้าอำนาจ ไปจนถึงคนที่ต้องปากกัดตีนถีบแบบวีรกรรมทำเพื่อแม่ จนต้องมาตกกระไดพลอยโจนกับสงครามชนชั้นครั้งนี้ โดยมีชายกลางเป็นความเหลาะแหละเหลวไหลไม่ได้เรื่องของผู้ชายชนชั้นสูง พวกผู้ดีที่มีดีแค่มรดกที่พ่อให้มาทั้งทางกายภาพและการเงิน) สก๊อยปากกล้าไว้เหยียดหยามในความดีไม่พอ ก๋ากั่น ก้าวร้าว ไม่เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ร่าน บ้าผู้ชาย เอาไว้เป็นเครื่องบำบัดความใคร่ทางศีลธรรมไม่ต่างจากที่เคยทำกับคนอย่าง เรยาในดอกส้มสีทอง อินทุอรในเมียหลวง หรือ มาหยารัศมีในดาวพระศุกร์ คนเสื้อแดงเมื่อสิบปีก่อน หรือเด็กๆ นักประท้วงหัวก้าวหน้า ศีลธรรมและความดีเป็นสิ่งเดียวที่เรายึดไว้ได้เพราะมันไม่ต้องพึ่งสายเลือดหรือเศรษฐฐานะสำหรับเรา แต่พึ่งทั้งสายเลือด มารยาท และบุญบารมีสำหรับผู้อื่น ความดีใดๆ ไม่ได้มีไว้ปฏิบัติเอง แต่มีไว้เขวี้ยงใส่คนที่เราไม่ชอบขี้หน้า
ในการตีความพจมานใหม่นี้ นอกเสียจากการเล่นกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของตนเอง … พจมาน(เกือบ)กลายเป็นภาพแทนของชนชั้นล่างไปจริงๆ ชนชั้นแรงงานที่เป็นเจ้าของบ้านดอกไม้ทองตัวจริง แต่กลับเป็นฝ่ายถูกกดขี่ ถูกกระทำ ถูกบังคับอุ้มหายตายดับไป โดยฝีมือของเหล่า ‘ผู้ดี’ ชีหม่อมแม่และหญิงเล็กหญิงใหญ่ ชนชั้นนำที่หวาดกลัวการสูญเสียสถานะผู้ปกครองของตน จนต้องออกปากกดขี่ให้อีกฝั่งฝ่ายเป็นไพร่ไปตลอดเวลา … พจมานจึงมีอำนาจด้วยความตาย และการกลายเป็นผี
แต่บัดเดี๋ยวก่อน อย่าได้คิดว่านี่คือหนังไทยที่หาญกล้าตั้งคำถามท้าทายระบบขนบเก่า เพราะนอกจากความก๋ากั่นของกระเทยไทยแล้ว ถึงที่สุดเมื่อหนังมาถึงจุดเฉลยหนังก็หันกลับไปสยบยอมในสถานะดั้งเดิมของผู้ดีที่อยู่ส่วนผู้ดี ไพร่ที่อยู่ส่วนไพร่ ตัวละครที่ต่อสู้แย่งชิงจนถึงขั้นฆ่ากันตายหรือเปล่านะตลอดเรื่องกลายเป็นเพียง ‘สงครามไพร่’ ที่ไม่ต่างอะไรกับการฆ่ากันเกือบตายในห้องใต้ดินบ้านตระกูลพัคใน Parasite พจมานตัวจริงในที่สุดได้เลื่อนสถานะสมคุณค่าความงามจากภายในของเธอกับการสมรสสมรักกับผู้ดีจริง ส่วนพวกผู้ดีปลอม (ผู้ดีแท้ย่อมไม่หลอกลวงผู้อื่น) พวกสิบแปดมงกุฏก็ต้องรับผลบาปกรรมของตน คล้ายกับเรื่องเล่าทุกเรื่องย้อนกลับไปสู้เรื่องในไบเบิ้ล เรื่องเล่าชาวตะวันออกเฉียงใต้สายพุทธทุกเรื่องก็แทบจะย้อนกลับไปสู่เรื่องของกฎแห่งกรรม อันมีหน้าที่ทั้งพาฝันและกดข่มผู้คนให้สยบสมยอมโดยไม่ตั้งคำถาม
เช่นเดียวกันกับความเป็นผู้ดี ความเป็นแม่ก็ถูกเทิดไว้ให้ลบล้างทุกความผิดพลาดราวกับว่าการสร้างครอบครัวเป็นยาครอบจักรวาลเยียวยาทุกปัญหา แฮปปี้เอนดิ้งของหนังจึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น ยอมรับได้ ยอมรับให้ได้ไม่ว่ามันจะต้องก้าวข้ามหัวของใครก็ตาม
พจมาน สว่างคาตา อาจจะไม่ใช่หนังที่จะเป็นหนังดี บางทีแม้แต่ความตลกของหนังก็ยังก้ำกึ่ง แต่ในที่สุด จักรวาลของพชร์ อานนท์ก็ยังคงสามารถมีแง่มุมมากมายให้พูดคุยคิดต่อ ไม่ว่าจะจำเป็นต้องคิดหรือตั้งใจให้คิด ถึงที่สุดนี่ก็คือหนังหัวรั้นที่อาจมีทุนเป็นธงนำ แต่มันก็ไปได้ตามทางของมันโดยไม่ต้องตีสองหน้าประนีประนอมใดๆ กับผู้ชมที่ไม่ใช่ผู้ชมของมัน และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เราสนุกกับหนังชุดนี้มาโดยตลอด