Ticket Of No Return เหล้าจ๋า!

(1979, Ulrike Ottinger)

หญิงสาว เธองามเหมือนนางในวรรณคดี เหมือน มาดอนนา มีเดีย หรือ เบียทริซ เธอตีตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวมายัง เบอร์ลิน – เทเกล ไม่ได้ตั้งใจจะมาเที่ยวแม้เธอจะเตร่ไปตามที่ต่างๆ พร้อมเครื่องแต่งกายหรูหราอลังการราวกับหลุดมาจากงานแฟชั่นโชว์ แต่เธอมาเพื่อที่จะเมา! เป้าหมายของเธอไม่มีอะไรนอกจากความเมา!

ในแต่ละวัน เธอแต่งกายงดงาม แต่งหน้าทาปาก มุ่งหน้าสู่บาร์เหล้า ดื่มหมดแล้วก็เขวี้ยงแก้วทิ้ง ระหว่างทางไปบาร์ รถแทกซี่ที่คนขับขี้เมาก็บังเอิญไปชนหญิงจรจัดคนหนึ่ง เธอถูกชะตากับหญิงจรจัดคนนี้ และในที่สุดกลายเป็นคู่หูตะลุยบาร์เหล้ากัน ขณะเดียวกัน จากสนามบินไปจนถึงทุกที่ที่เธอไปเธอจะบังเอิญพบแก๊งค์สามป้านักวิทยาศาสตร์ในชุดสีเทาเรียบหรูโก้หร่าน พวกหล่อนน่าจะมาประชุมวิชาการอะไรสักอย่าง อยู่ดีก็ปรากฏนั่งอยู่โต๊ะข้างๆ นั่งรถคันติดกัน หรือเดินผ่านมาเห็น ซุบซิบนินทากันเองโดยยกสถิติมาประณามการดื่มเหล้า หรือไม่ก็หลักฐานทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ และหลักศาสนา

เรื่องมันก็มีเท่านี้เอง มีเท่านี้โดยแท้จริง ไม่มีปูมหลังเจ็บปวดของตัวละคร ไม่มีความขัดแย้งเพื่อจะเรียนรู้ คลี่คลาย และเติบโต ไม่มีฉากผจญภัยไล่ล่า ฉากอีโรติควาบหวิว หรือฉากสนทนาอุดมปัญญา (ตัวละครหลักที่ไม่รู้ชื่อนั้น นางไม่พูดเลยตลอดทั้งเรื่องเสียด้วยซ้ำ)

แล้วมันมีอะไร มันมีเพียงฉากหลังของเมืองเบอร์ลินในปี 1979 หญิงสาวสวยสง่าในชุดแฟชั่นที่เอาจริงๆ คงไม่มีใครกล้าใส่เดินถนน เธอโพสท์ท่า เธอดื่มเหล้า เธอเดินเมา เธอสวย!

หนังจึงเป็นเหมือนภาพเขียน เหมือนฉากหนึ่งในละครเวทีที่คนจะออกมาเมา เหมือนโชว์ในละครสัตว์ เหมือนแฟชั่นโชว์ที่เมืองทั้งเมืองคือรันเวย์ และเหมือนการต่อต้านอย่างเต็มรูปแบบ ต่อต้านอะไร ก็ภาพยนตร์น่ะสิ!

Ulrike Ottinger เป็นผู้กำกับหญิงไม่กี่คนที่ถูกนับอยู่ในคนทำหนังรุ่น New German Cinema กลุ่มคนทำหนังเยอรมันรุ่นใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจาก French New Wave คนดังๆ ก็อย่างเช่น Alexander Kluge, Wim Wenders , Werner Herzog หรือ Reiner Werner Fassbinder

New German Cinema มาพร้อมกับคำประกาศว่าหนังเยอรมันยุคเก่าตายแล้ว พวกเขาท้าทายทำลายภาษาหนังแบบดั้งเดิม ลบล้างโลกก่อนสงคราม สั่นคลอนฐานคิดของผู้คนที่เพิ่งฟื้นตื่นขึ้นมาจากการหลับใหลหลังการจบสิ้นของฮิตเลอร์ สถาปนาภาษา เรื่องเล่า เทคนิคของคนรุ่นใหม่ในขณะนั้น ทั้งความหยิบจับเอาประวัติศาสตร์มาวิพากษ์อย่างคมคายและบ้าบอของ Alexander Kluge ความเวิ้งว้าง การสูญเสียตัวตนและการคลั่งอเมริกาของ Wim Wenders ความพยายามทะลุขีดจำกัดความบ้าบิ่นของมนุษย์อย่าง Werner Herzog และความเปิดเปลือยตนเองในหนังของ Fassbinder

Ottinger ก็เช่นกัน เดินหน้าเข้าหาความผิดเพี้ยน ตัวประหลาด ความเป็นเกย์ (ตัวเธอเป็นเลสเบี้ยน) หนังของเธอคือมหกรรมของการเฉลิมฉลองให้กับตัวประหลาด คนพิการ คนแบบที่ในยุคสมัยหนึ่งคือคนที่จะถูกจับไปขังแบบสวนสัตว์มนุษย์ในคณะละครสัตว์ Ottinger เชิดชูตัวละครเหล่านี้ หนังของเธอคือบรรดาคนชายขอบของชายขอบ แต่งตัวแต่งหน้าบ้าคลั่งโดดเด่นและงดงาม ไม่มีพื้นที่ของนักแสดงสวยหล่อ ทุกคนกลายเป็นตัวประหลาดในหนังของเธอ มีนักวิชาการคนหนึ่งในคำจัดความหนังของเธอว่าเป็น ‘การปฏิเสธหรือล้อเลียนขนบของหนังอาร์ต และการค้นหาหนทางใหม่การสร้างความสุขสมทางสายตา สร้างพื้นที่ยืนอันหลากหลายให้กับผู้ชมที่มักถูกละเลยหรือเบียดขับจากความเป็นภาพยนตร์’

หนังของเธอคือเศษเสี้ยวแตกหักของเรื่องเล่าที่ลดรูปเหลือเพียงฉากยาวๆ ฉากๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นที่จริง แต่เต็มไปด้วยความเหนือจริง ทั้งลีลาท่าทางของนักแสดง เครื่องทรงต่างๆ ที่จัดเต็มเหนือมนุษย์ และตำแหน่งแห่งที่ขององค์ประกอบภาพ

กล่าวให้ง่าย หนังของเธอคือเศษเสี้ยวแตกหักของเรื่องเล่าที่ลดรูปเหลือเพียงฉากยาวๆ ฉากๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นที่จริง แต่เต็มไปด้วยความเหนือจริง ทั้งลีลาท่าทางของนักแสดง (Tabea Blumenschein นักแสดงคู่บุญของเธอ เป็นทั้งนักแสดง และคนออกแบบเครื่องแต่งกายในเรื่อง) เครื่องทรงต่างๆ ที่จัดเต็มเหนือมนุษย์ และตำแหน่งแห่งที่ขององค์ประกอบภาพ ที่ใช้ทั้งไฟสปอตไลท์ การบังกล้อง เคลื่อนกล้องที่วิจิตรพิสดาร กล่าวให้ง่าย การดูหนังของเธอเหมือนการชมภาพเขียนเหนือจริงที่เคลื่อนไหวได้ หรือไม่ก็การไปดูละครสัตว์

Ticket of No Return อาจจะแบ่งตัวเองได้เป็นสามช่วง คือช่วงต้นที่หญิงสาวไร้นามเดินทางมายังเบอร์ลิน ฉากยาวๆว่าด้วยการดื่มอย่างวิลิศมาหราของเจ้าหล่อน ทั้งการเขวี้ยงแก้วลงพื้นหลังดื่มจบ การดื่มจนพังพาบและถูกหิ้วออกมานอกร้าน การลากหญิงจรจัดไปร่วมดื่มอย่างบ้าคลั่ง พาไปที่โรงแรม เพื่อดื่มกันต่อ และการตื่นมาพบว่าถูกถ่ายรูปไปลงข่าวว่า ‘นางรวยขี้เหล้า’ ซึ่งเธอก็ไม่ได้โกรธที่โดนลงข่าวอย่างนั้น แต่เธอโกรธมากๆ ที่รูปออกมาไม่สวย! ราวกับว่านี่คือองก์ของความรื่นรมย์ของการดื่มเหล้า เต็มไปด้วยฉากพิสดารบ้าคลั่งที่อธิบายไปก็เท่านั้น เช่นการที่เธอไปนั่งดื่มเหล้ากับชายแปลกหน้า (รับบทโดย Eddie Constantine พระเอก Alphaville ของ Godard) แล้วปัง! เขาโดนยิงตาย หรือเดินทะลุไปในงานเลี้ยงไส้กรอกกับผักดองเพื่อขโมยเบียร์มากินต่อหน้าแขกหน้าตาเฉย

องก์สองเริ่มขึ้นเมื่อคนแคระชราหญิงแต่ชาย (ตัวละครที่เป็นสเมือนกิมมิคในหนังหลายเรื่องของ Ottinger) ที่เธอเจอตรงนั้นตรงนี้ตลอดเวลาได้เข้ามาเป็นผู้นำทางเธอ เริ่มจากการพบเธอที่นั่งในสวนสาธารณะขณะกล้องตัดซูมเข้ามาในดวงตาของเธออย่างกระโชกโฮกฮาก ในองก์นี้เธอเปลี่ยนจาก นางรวยขี้เหล้าปัจเจกบุคคลไปสู่ผู้หญิงขี้เมาที่จะเป็นใครก็ได้ ตั้งแต่การไปรับบทเลขานุการิณีที่วันๆ เอาแต่ดื่มจนโดนตะเพิดไล่ไปจากที่ทำงาน ไปเป็นนักแสดงละครเวทีคลาสสิคที่เมาขึ้นไปบนเวที หรือไปเข้าแกงค์กับนักแสดงละครสัตว์เดินไต่ลวดบนทุ่งโล่ง ไปเป็นนักร้องที่ร้องเพลงทำ MV ด้วยการยืนบนบันไดวนแล้วร้องเพลงสรรเสริญเบอร์ลินกับเครื่องดนตรีชนิดเดียวคือกลองชุด! หรือไปเป็นที่ปรึกษาทางการตลาดที่พยายามจะทำให้เครื่องดิ่มชนิดใหม่มาทดความสุขที่ไม่เคยมาถึงของผู้คน (นี่เป็นฉากเดียวที่เธอได้สนทนาโดยไม่ขยับปากกับสามป้า) เพราความสุขจับต้องไม่ได้ แต่เครื่องดื่มของเราจับต้องได้!

กล่าวให้ง่าย ในองก์นี้เธอเปลี่ยนจากคนจำเพาะเจาะจงไปเป็นใครก็ตามในสังคม ผู้หญิงใดก็ตามในสังคมที่ดื่มเหล้า เหล้าดูเหมือนจะขัดแย้งกับความเจริญก้าวหน้าของทุนนิยม เพราะการดื่มทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง คนเมาทำอะไรผิดพลาด ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และทำลายชีวิตตัวเองดังที่สามป้าซึ่งเป็นเสมือนศีลธรรมและวิทยาศาสตร์ล่องหนที่มาคอยกำกับ สอดแนม แอบฟัง คอมเมนต์ผู้คนตลอดเวลา ทุนนิยมรังเกียจความเมา (สังคมนิยมก็รังเกียจแหละ แต่ในอีกความหมายหนึ่ง) แต่ทุนนิยมก็ขายความเมาด้วย จุดสูงสุดจึงเป็นการพบกันของป้าและหญิงสาวที่กำลังพูดถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่เป็นความสุขที่ซื้อหาได้! เพราะว่าความเอซอติกนั้นห่างไกล แต่เครื่องดื่มนี่อยู่ใกล้นิดเดียว

ในองก์นี้เธอเปลี่ยนจากคนจำเพาะเจาะจงไปเป็นใครก็ตามในสังคม ผู้หญิงใดก็ตามในสังคมที่ดื่มเหล้า เหล้าดูเหมือนจะขัดแย้งกับความเจริญก้าวหน้าของทุนนิยม เพราะการดื่มทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

องก์สุดท้ายหวนคืนสู่ความเมาในฐานะความเมาที่แท้ ในองก์นี้ความเมาได้ขยับเข้าสู่ความไม่รู้สติอีกต่อไป หญิงสาวกลับมาเป็นคนเดิม เธอเมาในเรือเฟอร์รี่ทรงหางวาฬถูกโยนขึ้นมาบนบก แล้วเมาต่อไปเจอหญิงจรจัดที่เมาจนตามชายแปลกหน้าไป แต่เธอก็ยังคงดื่มต่อ ดื่มจนเหมือนวันสิ้นโลก สามป้ายังคงไล่ตามบริภาษเธอไปเรื่อยๆ และเธอยังคง ‘เมาเหมียนหมา’ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวใดๆ

ในช่วงสุดท้ายของหนัง Ottinger ปรากฏกายขึ้นมาเองพร้อมหนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นบทประพันธ์โบราณพรรณนาความงามของการดื่ม หนังสือเล่มนี้ถูกส่งเวียนไปเรื่อยจากตัวเธอเองสู่กระเทยสาวที่โดนถีบลงจากรถ มายังหญิงสาว สาวเฝ้าห้องน้ำสาธารณะ นักเดินทางและเซลแมนขายหนังสือ ทุกคนอ่านคนละนิดละหน่อยพรรณนาความงดงามของการดื่มเหล้า ขณะที่หญิงสาวผู้มุ่งมั่นเมากลิ้งไปตามถนน

ดูเหมือนหนังเชิดชูอิสระในความเมา ท้าทายกรอบคิดศีลธรรมสมราคาหนังในยุคเสรีภาพจากยุค 70’s หนังไม่แยแสคุณค่าความหมายทั้งศีลธรรมและศิลปะ มุ่งตั้งคำถามว่ามนุษย์มีเสรีภาพอยู่จริงหรือเป็นเพียงแค่อุปโลกน์ของโลกเสรีนิยมใหม่ คำถามที่ผู้คนในตอนนี้อาจจะไม่ได้ถามอีกแล้ว เผลอๆ จะย้อนกลับมาถามคนตั้งคำถามในฐานที่ไม่เป็นพลเมืองที่ดีของรัฐ หนังทำให้นึกถึงภาพยนตร์ร่วมยุคที่ตั้งคำถามด้วยจิตวิญญาณแบบ Free Spirit อย่าง Vagabond (สาวเร่ร่อนที่ปฏิเสธขนบมาตรฐานของการมีบ้าน มีงาน มีครอบครัวที่ถูกกำหนดโดยสังคมสมัยใหม่) ของ Agnes Varda หรือ Messidor (สองสาวที่ประกอบอาชญากรรมโดยไม่ได้ตั้งใจแล้วหนีไปเรื่อยๆ โดยไม่ถูกจับ) ของ Alain Tanner มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธคุณค่าของสังคมหรือไม่ แล้วทำไมสังคมจึงบีบบังคับและเบียดขับมนุษย์นอกกรอบที่สังคมวางไว้ให้เป็นคนที่สมควรกำจัดได้ง่ายดายเหลือเกิน ทิ้งให้พวกเขาและเธอเดินโดดเดี่ยวไปบนกระจกที่แตกละเอียดทุกก้าวยางที่เหยียบย่ำลงไป เพียงเพราะเป็นมนุษย์นอกมาตรฐานเท่านั้นเอง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ Ulrike Ottinger ผู้กำกับคนนอกของแท้ได้ตั้งคำถามเอาไว้อย่างบ้าบอคอแตกในทุกมิติ


หมายเหตุ :

Ulrike Ottinger เคยมาฉายหนังทั้งหมดของเธอที่กรุงเทพในเทศกาล World Film Festival of Bangkok ในปี 2005 ครั้งนั้นมีการฉายหนังของเธอทุกเรื่อง แต่ฟิล์มที่ได้มากลับไม่มีซับไตเติ้ล อย่างไรก็ดี ผู้ชมก็สนุกสนานกับหนังของเธอสุดฤทธิ์

Filmsick
Filmvirus . เม่นวรรณกรรม . documentary club

LATEST REVIEWS