Visions du Réel (“วิสัยทัศน์แห่งความจริง” – และคำว่าความจริงในภาษาฝรั่งเศสก็เล่นล้อกับ Reel ในภาษาอังกฤษที่หมายถึงม้วนฟิล์ม) คือเทศกาลภาพยนตร์สารคดีระดับนานาชาติที่จัดเป็นประจำทุกเดือนเมษายนในเมือง Nyon ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1969 ภายใต้ชื่อ Nyon International Documentary Film Festival ก่อนเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันในปี 1995
ในปีนี้ Visions du Réel ไม่สามารถดำเนินเทศกาลได้ตามปกติเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 (และสวิตเซอร์แลนด์คือหนึ่งในประเทศยุโรปที่เจอผลกระทบหนัก) ทีมงานจึงย้ายเทศกาลทั้งหมดมาจัดออนไลน์ ภาพยนตร์บางเรื่องเปิดให้เข้าชมฟรีทั่วโลก (โดยจำกัดจำนวนผู้ชม 500 ที่นั่งแรก) บางส่วนดูได้เฉพาะในสวิตเซอร์แลนด์หรือประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และบางเรื่องรับชมได้ในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เป็นพันธมิตรอย่าง Doc Alliance ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนถึง 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
แม้เทศกาลจะจบลงแล้ว ผลการตัดสินรางวัลได้ประกาศอย่างเป็นทางการเรียบร้อย (ติดตามได้ที่นี่) และหนังเหล่านี้จะหมดช่วงเวลาที่สามารถเข้าชมฟรีได้แล้วในขณะนี้ แต่ Film Club ก็ขอรวบรวมหนังที่เราได้ดูในเทศกาลผ่านโรงหนังเสมือนออนไลน์ในช่วงเทศกาลมาแนะนำไว้ เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่าสารคดีเหล่านี้จะเป็นชื่อที่คุณรู้จักและได้ยินโลกภาพยนตร์กล่าวถึงเรื่อยไปในอนาคตอันใกล้
Punta Sacra (2020, Francesca Mazzoleni)
สารคดีว่าด้วยหมู่บ้านคนจนที่ตั้งอยู่บนแหลมที่ยื่นออกไปในทะเลย่านชานเมืองของกรุงโรม หมู่บ้านอยู่มานานหลายสิบปี แต่ตอนนี้รัฐต้องการไล่รื้อชุมชนออกไป หนังติดตามชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านนี้ โฟกัสไปยังคุณยายที่ในบ้านมีผู้หญิงสามรุ่น ตัวเธอเอง ลูกสาว และหลานสาวสองคน กับบรรดาเพื่อนๆ ของหลานสาวคนโต บาทหลวงประจำหมู่บ้าน และชีวิตอื่นๆ เช่น ไอ้หนุ่มแร็ปเปอร์ที่เคยใช้ชีวิตในชิลี หรือคนงานก่อสร้าง
แต่นี่ไม่ใช่หนังชุมชนประท้วง หนังตัดเอาการต่อสู้ของคนในชุมชนออกไปจนเกลี้ยง ผลักไปไว้เป็นฉากหลัง แล้วโฟกัสชีวิตอันสุดแสนจะมีชีวิตชีวาของผู้คน ชุมชนถูกถ่ายออกมาอย่างหมดจดงดงาม ภาพของเด็กๆ ที่ไปเดินเล่นริมทะเลตอนเช้า คุณยายที่เล่าว่าเธอแต่งกับตาแล้วย้ายมานี่ ทำบ้านกันทีละนิด จนพอตาตายทุกอย่างก็หยุดชะงัก หลานสาวคนโตกับแก๊งเพื่อนที่มีรักกันชอบกันอิจฉากันแบบเด็กวัยรุ่น บาทหลวงกับชายหนุ่มเร่ร่อนที่มานั่งคุยเล่นกัน
ภาพชีวิตในหนังธรรมดาสามัญแต่มันงดงามมาก มีเรื่องเยอะแยะที่ตัวละครคุยกันโดยผู้ชมไม่รู้ที่มาที่ไป เพราะพวกเขามีชีวิตอยู่นอกโลกของหนังด้วย ชีวิตของพวกเขาเองที่มีทั้งทุกข์และสุข มีขัดแย้งตบตีหรือกอดคอร่วมใจ ชีวิตมันงดงามและเป็นปัญญาชนมากๆ ตามประสาคนที่ผ่านความคิดทางการเมืองมา
หนังมีฉากที่แจ๋วสุดๆ คือยายเถียงกับเพื่อนลูกสาว ที่ลูกของพวกเขาสนิทกัน เรื่องการเป็นคอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ และความสำคัญของ Pier Paolo Pasolini ในสังคมอิตาลี ถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนถึงกับด่ากันว่าแบบนี้ก็ออกจะฟาสซิสต์ เป็นการถกเถียงของสามัญชนที่จุดยืนทางการเมืองหนักแน่นกว่าปัญญาชนจอมปลอมคุยกัน หรืออีกฉากที่ไม่รู้ถ่ายมาได้ยังไงคือคุณแม่ของเพื่อนหลานยาย เธออยากให้ลูกเรียนหนังสือ แต่เด็กสาวอยากออกไปทำร้านเสริมสวย แม่บอกว่าฉันมีแต่แก ไม่ใช่พ่อเฮงซวยของแก เราติดกันอยู่ที่นี่โดยที่ฉันมีแต่แกคนเดียว ฉันรู้ว่าวันหนึ่งแกจะไปจากที่นี่แล้วทิ้งเราสองคนไว้ แต่ช่วยทำให้มันดีหน่อยเถอะ
หนังให้เห็นการประท้วงเพียงช่วงสั้นๆ โดยเน้นไปที่การดีเบตถกเถียงระหว่างเตรียมการ และให้เวลามากมายมหาศาลกับงานคริสต์มาสในชุมชน การนอนดูทีวีเป็นหมู่คณะ การก้าวพ้นวัยของเด็กๆ โดยมีผู้ใหญ่ในชุมชน ชายหาด กำแพงหินกั้นคลื่น และถนนสกปรกคอยดูแลให้พวกเขาเติบโต
Of Land and Bread (2019, Ehab Tarabieh)
B’Tselem หรือ The Israeli Information Center for Human Rights in the Occupied Territories คือศูนย์ข้อมูลที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1989 เพื่อบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซ่า โดยนอกจากรายงานสถิติ บันทึกคำให้การ เผยแพร่รายงานในประเด็นเกี่ยวเนื่อง ที่นี่ยังรวบรวมภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์จริงจากชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ไว้ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะในฐานะคลิปนักข่าวพลเมือง วิดีโอประจำวันอย่างภาพกล้องวงจรปิด หรือสารคดีการเมืองที่ทรงพลัง
B’Tselem โปรดิวซ์ Of Land and Bread ในวาระครบรอบ 30 ปี ด้วยภาวะความขัดแย้งที่ซับซ้อนกว่าเดิม เมื่อรัฐบาลอิสราเอลยุคหลังค่อยๆ ยึดครองพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้วยกำลังทหารอาวุธครบมือ กฎหมาย และให้ชาวอิสราเอลไป “ตั้งรกราก” เป็น settler ในปาเลสไตน์ หนังไม่ได้ทำอะไรมากกว่าแค่ร้อยเรียงภาพเคลื่อนไหวชิ้นสำคัญๆ ต่อกันไปเรื่อยตั้งแต่ต้นจนจบ แต่แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะทุกอย่างหนักหน่วงในระดับต้องเบือนหน้าหนี
ทางผ่านแดนที่แบ่งแยกเชื้อชาติ / กล้องวงจรปิดบันทึกภาพเจ้าของร้านชาวปาเลสไตน์ถูกซ้อมหรือคุกคามโดยทหาร / ทหารอิสราเอลพร้อมอาวุธครบมือนับสิบบุกบ้านชาวปาเลสไตน์ยามวิกาล เรียกพ่อไปปลุกเด็กผู้ชายอายุไม่ถึงสิบขวบทุกคนในบ้านให้มารายงานตัว / ทหารอิสราเอลพร้อมอาวุธครบมือแห่ขึ้นมาถ่ายรูปเล่นบนดาดฟ้าบ้านชาวปาเลสไตน์ / settler ชาวอิสราเอลเข้าไปยึดที่ดินทำเกษตรของชาวปาเลสไตน์ แล้วอ้างดื้อๆ ว่าทุกตารางนิ้วที่นี่เป็นของพวกกู ส่วนพวกมึงเป็นแค่ทาส เพราะพระเจ้าบอกไว้อย่างนั้น / ทหารร่วมมือกับ settler ทุบเตาอบขนมปังอายุครึ่งศตวรรษ / ทหารอิสราเอลจับเด็กที่ปาหินใส่รถฮัมวี่ขึ้นรถ / ทหารอิสราเอลแย่งจักรยานเด็กเล็กไปโยนทิ้ง / ทหารอิสราเอลตั้งลำกล้องปืนขู่กล้อง กระทืบชาวปาเลสไตน์ต่อหน้ากล้อง / settler ชาวอิสราเอลออกมาเต้นเยาะเย้ยคนปาเลสไตน์ที่มีเรื่องกับทหาร / settler ชาวอิสราเอลเปิดเครื่องเสียงเพลงหมิ่นศาสนา แล้วรุมเขวี้ยงหินใส่บ้านชาวปาเลสไตน์ตั้งแต่เช้ายันค่ำ โดยที่รถทหารก็จอดอยู่ตรงนั้นแหละ
แน่นอนว่าภาพที่เห็นไม่ใช่ทั้งหมดของความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ (ข้อมูลของ B’Tselem ก็บันทึกความรุนแรงที่ประชาชนอิสราเอลถูกกระทำโดยชาวปาเลสไตน์ด้วย) แต่ความเหือดแห้งของมนุษยธรรมที่ปรากฏในภาพเคลื่อนไหวนี้ก็ทำให้เกิดคำถามสำคัญ – อุดมคติหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมือง มักกล่าวถึงประชาชนคนละสีหรือเจ้าหน้าที่ (ตำรวจ-ทหาร) ชั้นผู้น้อยว่าไม่ใช่ขั้วตรงข้ามหรือศัตรูแบบรัฐหรือเจ้าของอำนาจกดขี่ที่แท้จริง และผู้ถูกกดขี่ต้องพยายามโน้มน้าวให้คนเหล่านี้หันมาเป็นพวกเดียวกัน
แต่ในสถานการณ์ที่ความชั่วร้ายทั้งขี้ปะติ๋วและรุนแรงเกิดขึ้นจากคนเหล่านั้น เพียงเพราะมีระบบให้ท้าย และทำให้พวกเขาทำเรื่องชั่วร้ายทั้งหมดเพียงเพราะมันทำได้ อุดมคติที่ว่าจะทำงานอย่างไร
A Rifle and A Bag (2019, Arya Rothe, Cristina Hanes, Isabella Rinald)
หนังเล่าเรื่องครอบครัวของ Somi และสามีที่อายุน้อยกว่าเธอห้าปี ทั้งคู่พบรักกันขณะเข้าป่าไปเป็นคอมมิวนิสต์ในกลุ่มเหมาอิสต์ Naxalite ที่มีพื้นเพเป็นชนกลุ่มน้อย ต่อต้านรัฐด้วยการจับอาวุธ เพื่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกินและอื่นๆ ทั้งคู่ออกจากป่าหลังรัฐประกาศนิรโทษกรรมให้คนที่มอบตัว แล้วมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านของ Somi มีลูกเล็กหนึ่ง กำลังท้องอีกหนึ่ง
ครึ่งแรกของหนังจับภาพชีวิตประจำวันของสองผัวเมีย ซึ่งถ่ายออกมาอย่างหมดจดงดงาม หนังติดตามการเดินเท้าไปตักน้ำ เลี้ยงลูก หุงหาอาหาร หรือการนั่งสนทนารอบกองไฟยามค่ำคืน การไปตรวจครรภ์ และหนังตามจนลูกคนที่สองคลอดและคนโตต้องเข้าโรงเรียน โรงเรียนแจ้งว่าปัญหาใหญ่คือพวกเขาไม่มีใบระบุวรรณะของฝั่งพ่อ ทำให้จัดวรรณะที่แท้ให้ลูกไม่ได้ เมื่อจัดไม่ได้เด็กก็อาจไม่มีสิทธิ์เข้าเรียน และหากพ่อต้องกลับไปเอาใบรับรองวรรณะก็ไม่ต่างอะไรจากการกลับไปตาย เพราะเขาอาจถูกฆ่าทิ้งถ้ากลับไปบ้านเก่า โรงเรียนยอมรับลูกเข้าเรียนไปก่อนแต่ก็ทวงถามเรื่องนี้เรื่อยๆ นั่นยิ่งทำให้ฝันของผัวเมียยากจนที่ว่าลูกๆ จะมีชีวิตดีกว่าตัวเอง ไม่ต้องไปเข้าป่าจับปืน ดูจะเป็นไปได้ยากยิ่ง
หนังตามไปที่โรงเรียน ที่นั่นพวกเขาสอนร้องเพลง ฝึกให้เด็กเล็กรักชาติอยากเป็นทหาร จะได้ปราบอริราชศัตรูซึ่งเด็กยังไม่รู้ว่ามันอาจหมายรวมถึงพ่อแม่ตน
หนังเต็มไปด้วยประเด็นที่รุนแรงแหลมคม กล้องทำหน้าที่ได้เหลือเชื่อเมื่อถ่ายบรรดาการพูดคุย small talk ได้งดงามหยดย้อยจนดูเหมือนเซ็ตอัพฉาก บทสนทนาเหล่านี้ค่อยๆ อธิบายชีวิตของ Somi อย่างละมุนละม่อม เรื่องที่ว่าทำไมเธอต้องเข้าป่า เห็นตอนเธอคุยกับหมอที่เอ็นดูลูกชายคนเล็กเธอไม่น้อย บทสนทนากับพ่อแม่ของเธอเองที่เล่าเรื่องตลกแล้วย้อนมาถึงความทุกข์ยากในช่วงที่ลูกสาวหายตัวไป บทสนทนากับสามีว่าเราออกจากป่ามาทำไม หรือที่หนักที่สุด Somi พาลูกไปเล่นริมน้ำ ลูกบอกอยากเป็นทหาร เธอเลยบอกว่าแม่เคยจับปืน พ่อก็ด้วย เราเป็นนักรบในป่า มันรุนแรงมากเมื่อเรานึกย้อนไปถึงสิ่งที่ลูกชายเธอเรียนในโรงเรียน
สวยงามเชื่องช้าจนเกือบจะเป็นหนังชีวิตเงียบสงบของชาวป่าชาวดง แต่ในความเงียบ มีความแหลมคม กล้าหาญ การที่หนังโฟกัสที่ผู้หญิง (ผู้กำกับสามคนก็เป็นผู้หญิงทั้งหมด) ทำให้บริบททางการเมืองอินเดียที่ซับซ้อนยิ่งเข้มข้นขึ้นไปอีก ความแข็งแกร่งของ Somi และบทสนทนาของเธอกับคนรอบข้างทำให้หนังเป็นทั้งหนังชีวิตคนทุกข์ หนังการเมืองอินเดีย และหนังเฟมินิสต์ที่เปล่งประกาย
Purple Sea (2020, Amel Alzakout & Khaled Abdulwahed)
Amel Alzakout ลงเรือผู้ลี้ภัยที่อิสตันบูลโดยมีจุดหมายขึ้นฝั่งที่ประเทศกรีซ เหมือนผู้ลี้ภัยซีเรียกระแสหลักในหน้าข่าว ศิลปินหญิงตั้งเป้าไปหาคนรักที่ล่วงหน้าถึงเบอร์ลินเรียบร้อยแล้ว เธอตั้งใจบันทึกการเดินทางครั้งนี้ไปให้เขาดู คงชาร์จแบตโทรศัพท์ไว้เต็มที่ ใส่ซีลพลาสติกกันน้ำอย่างดี มัดไว้ที่ข้อมือแน่นหนาด้วยเทปกาว แล้วกดปุ่มถ่ายวิดีโอค้างไว้
แต่ก็คงเหมือนทุกคนที่ลงเรือลำเดียวกัน ไม่มีใครคาดคิดว่าเรือจะรั่วกลางทาง
ตลอดเวลา 67 นาทีของหนังคือภาพลองเทคจากกล้องโทรศัพท์หลังเรือล่ม แต่ละเฮือกนาทีเนิ่นช้า อึดอัด หอบเหนื่อย ขาดอากาศหายใจ ภาพจากข้อมือที่กำลังเอาชีวิตรอดอยู่กลางทะเลนั้นจับความแทบไม่ได้ นอกจากบางช่วงที่พอมีจังหวะให้หายใจหายคอ เธอถึงพยายามถ่ายให้เห็นบรรยากาศโดยรอบนอกจากพื้นที่ไม่กี่เมตรรอบตัว แต่เวลาที่เหลือนั้นเลนส์กล้องได้เพียงดำผุดดำว่ายตามแรงมือ และแทบจะจมน้ำอยู่ตลอดเวลา บางช่วงคนดูเห็นแค่สีของน้ำทะเล สีของลำเรือกับเสื้อชูชีพ หรือขาใต้น้ำของคนอื่นๆ ที่แทบประมวลผลไม่ได้ว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่
Purple Sea คือบันทึกประสบการณ์เฉียดตายที่ร่วมสมัย สยดสยอง และกระชากผู้ชมเข้าสู่สถานการณ์ได้รุนแรงถึงขีดสุด (อดจินตนาการไม่ได้ว่าประสบการณ์นี้จะยิ่งสั่นสะเทือนแค่ไหน ถ้าหนังได้ฉายขึ้นจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์) เสียงของ Amel ที่บรรยายความรู้สึกและความทรงจำของเธอต่อเหตุการณ์นี้ อาจฟังดูเรียบนิ่งสงบงามราวกับบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ แต่พลังของถ้อยคำก็หนักแน่นพอจะช่วยฉุดคนดูให้กลับลงไปใต้ทะเลพร้อมๆ กับเธอและเพื่อนร่วมชะตากรรม พร้อมวาดภาพการเดินทางได้อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่สีสันหลากหลายของเสื้อชูชีพ แรงสะเทือนของคลื่นก่อนเกิดเหตุไม่คาดฝัน และชุดกระโปรงพลิ้วลายผีเสื้อของหญิงสาวนิรนาม ที่ต่อมาเราพบว่ากำลังตีขาสุดชีวิตอยู่ใกล้ๆ กล้องนั้นเอง
อย่างไรก็ดี เสียงบรรยายของผู้รอดชีวิตที่เป็นศิลปิน ก็ไม่อาจกลบเสียงแห่งความโกลาหลในสถานการณ์จริงไปได้ ทั้งเสียงกรีดร้องของผู้คนเมื่อกล้องได้จังหวะผุดขึ้นเหนือน้ำ เสียงสสารทั้งมีและไม่มีชีวิตกระแทกน้ำไปมาที่ได้ยินเมื่อกล้องจมอยู่ใต้ทะเล แต่ที่แสบแก้วหูและเร่งเร้าความรู้สึกได้หนักหนาสาหัสที่สุด คือเสียงยางกับพลาสติกจากเสื้อชูชีพของคนนับร้อยที่เบียดเสียดกันไปมาไม่ยอมหยุด เสียงแห่งการดิ้นรนแออัดของคนนับร้อยที่กำลังขออากาศหายใจต่อชีวิต
NA China (2020, Marie Vognier)
สารคดีเปิดกะโหลกที่แท้ ว่าด้วยชุมชนคนดำทำธุรกิจในกวางโจว!
หนังติดตามสาวๆ จากแคเมอรูน เอธิโอเปีย รวันดา ที่เข้าไปทำธุรกิจในจีน พวกเธอจะเข้าไปเลือกเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรือแม้แต่ผมปลอม ต่อรองกับโรงงานผู้ผลิต สำรวจตลาดและคุณภาพสินค้าอย่างถี่ถ้วน เพื่อส่งกลับไปขายในประเทศของตัวเอง บางคนก็แอดวานซ์กว่านั้น เช่น ซับเจคต์หลักของเรื่องที่มาจากแคเมอรูน เรียนในจีน พูดจีนได้ ฝรั่งเศสได้ อังกฤษก็ได้ เธอมาซื้อหาสินค้าเสื้อผ้าที่คุณภาพใช้ได้ในตลาดส่งไปขาย หาเองเลือกเอง แต่มันกว่านั้นคือเธอเช่าร้านในกวางโจวเพื่อเปิดซาลอน เพิ่งรู้ว่าทรงผมถักเปียใหญ่ๆ แบบแอฟริกันมันฮิตในสาวจีน เธอเลยมีทั้งลูกค้าคนดำ (ที่มีจำนวนหลายพันคน เป็นชุมชนอยู่ในเมือง) กับลูกค้าสาวจีน แต่จริงๆ เธอเปิดไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย
นี่คือสารคดีที่พูดถึงกลไกของทุนนิยม โดยเฉพาะทุนนิยมจีน พร้อมกับข้อมูลที่น่าตื่นเต้น เช่น พวกสินค้าเกรดดีๆ บางอันไม่ผลิตในจีนแล้ว แต่ไปผลิตในบังคลาเทศโดยคนจีนไปตั้งโรงงานในบังคลาเทศเพราะค่าแรงถูกกว่าจีนมาก หรือการที่ของก๊อปในจีนมีหลายเกรด โดยเกรดสูงสุดเรียก original copy ซึ่งหมายถึงใช้วัสดุเดียวกับของแท้ทั้งหมด เพียงแต่เป็นการผลิตนอกแบรนด์แล้วเอายี่ห้อมาติดทีหลัง ทำไมทำได้? เพราะแบรนด์พวกนี้มีโรงงานในจีน คนก็จะรู้ว่าผ้าหรือหนังแบบนี้สั่งจากที่ไหน ดีไซน์เป็นไง แล้วเอามาผลิตให้เหมือนกันเป๊ะแบบเดินในช็อปก็จับไม่ติด ของก๊อปเกรดถูกขาย 60หยวน ไต่ไปถึง 500 และ 1000 หยวนสำหรับ original copy แต่ถ้าเข้าห้างปุ๊บ 2000 หยวนทันที เนื่องจากแบรนด์ผลิตในจีนก็คนจีนนี่แหละเย็บ แล้วความออริจินัลมันต่างกันตรงไหน นอกจากการขายกับยี่ห้อ สำหรับเธอของแท้มีเพียงชิ้นเดียวคือใบแรกที่มันถูกผลิตขึ้น ที่เหลือเป็นแค่ของปลอมที่มีตรารับรองแตกต่างกันไป
หนังถ่ายในช่วงที่ทางการพยายามกำจัดคนดำออกจากวงจรธุรกิจ โดยให้คนดำไม่ต้องมาซื้อสินค้าที่ตลาดเอง แต่ติดต่อผ่านนายหน้าคนจีน เพราะจีนไม่ต้องการโปรโมตธุรกิจหรือสินค้าจีน แต่ต้องการโปรโมตนักธุรกิจจีน และนั่นทำให้ธุรกิจมันยุ่งยากมากขึ้น
หนังมีทั้งเนื้อเรื่องในส่วนซับเจคต์หลักกับซับเจคต์รองๆ ที่หนังแค่ตามพวกเธอไปซื้อเสื้อผ้าในตลาดจีน ฉายภาพผู้หญิง (หนังเลือกตามถ่ายผู้หญิงล้วน) กับการทำงานที่แข็งแกร่งมากๆ หนังถ่ายภาพการทำงานของพวกเธอ ร่างกายที่แข็งแกร่งของพวกเธอโดยไม่มีสายตาแบบ male gaze (ผู้กำกับก็เป็นผู้หญิง) แล้วมันออกมาเจ๋งมากๆ
Mirror, Mirror on the Wall (2020, Sascha Schöberl)
เมื่ออะไรๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่ก็ชวนเหวอจนซีรี่ส์ดิสโทเปียแบบ Black Mirror ยังต้องยอมแพ้ คำกล่าวที่ว่าถ้าคุณถือกล้องไปในเมืองจีน เลือกตามถ่ายใครสักคนหรือฝังตัวอยู่สักที่สักแห่ง คุณจะได้ผลลัพธ์เป็นหนังที่ถ้าไม่เพี้ยนประหลาดสุดขั้วก็กระชากอารมณ์สุดขีด ก็ยังมีสัดส่วนความจริงอยู่มากทีเดีย
ใครเคยรู้สึกประหลาดกับธุรกิจเอเยนต์ศัลยกรรมเกาหลีที่ฮิตในหมู่เซเล็บไทย คุณจะได้พบจุดสูงสุดของความรู้สึกประหลาดนั้นผ่านชีวิตของหมอฮาน หมอศัลยกรรมพลาสติกระดับซูเปอร์สตาร์ ผู้มีอนุสาวรีย์รูปตัวเองอยู่หน้าตึกที่เป็นอาณาจักรความงาม แพทย์พยาบาลลูกน้องต้องเรียงแถวปรบมือต้อนรับยามเช้าเข้าออฟฟิศ มีห้องผ่าตัดกระจกใสเป็นตู้ปลาให้คนมามุงดูปฏิบัติการทางการแพทย์ มีทีมงานพร้อมกล้องคอยไลฟ์ลงโซเชียล แล้วบรรดาเน็ตไอดอลจีนที่จองคิวมาทำหน้าทำนมก็มีทีมไลฟ์ประจำตัว หมอใส่ซิลิโคนไป พวกเธอก็ไลฟ์ร้องเพลงให้ทางบ้านฟังบนเตียงผ่าตัดนั่นแหละ!
พ้นไปจากการเป็นหมอคนดัง แกยังเป็น perfectionist ตัวพ่อที่พยายามควบคุมจัดแจงทุกสิ่งให้เข้ารูปเข้ารอย แสวงหาความสำเร็จใหม่มาคอยเติมเต็มให้ชีวิตที่ร่ำรวยโด่งดัง ที่จริงหมอฮานอยากเรียนวรรณกรรมแต่ครอบครัวยากจนเลยเรียนหมอตามพ่อแม่บอก ตอนนี้เขาอยากเป็นศิลปิน ในตึกโรงพยาบาลมีมิวเซียมที่รวบรวมภาพถ่ายเกี่ยวกับงานศัลยกรรมไว้เป็นคอลเลคชั่น ไปแสดง performance art กับสองสาวที่หน้าพังเพราะศัลยกรรมเกาหลี และบินไปอเมริกาเพื่อเรียนภาษาอังกฤษ ฟิตหุ่น และพยายามติดต่อขอ perform การผ่าตัดตัวเอง (!!) ที่มิวเซียมระดับโลกอย่าง MoMA
สายตาของหนังคือความตื่นเต้นในระดับใกล้เคียงกับอกสั่นขวัญแขวน อาจปนความเยาะหยันอยู่ในที และเมื่อคนทำเป็นฝรั่งเยอรมัน (แม้จะทำมาหากินอยู่ที่ปักกิ่ง) ความตื่นตาตื่นใจแบบคนนอกจึงแสดงออกชัดโดยไม่ปิดบัง เป็นวิธีมองเพื่อจับจ้องสิ่งประหลาดและพยายามจะเข้าใจแต่ไม่มีวันเข้าใจ และได้แต่ยิ่งตกใจเมื่อสาวอเมริกันที่หมอฮานจ้างเป็นผู้ช่วยส่วนตัวตอนอยู่อเมริกา ไปๆ มาๆ ก็เข้าสู่วงจรทำหน้าทำนมถ่ายไลฟ์กับเขาไปด้วยอีกคน – เหลือแค่ลูกสาวคนเดียวของหมอที่ห่างไกลจากทุกสิ่งที่หมอต้องการ เธอไม่สวย เธอเก้งก้าง เธอแขนย้อย เธอแพลงก์ไม่แข็งแรง เธอมองพ่อแบบเหนื่อยหน่าย (ทุกคนเห็นยกเว้นพ่อเธอ) และเป็นสิ่งเดียวที่แม้แต่หมอก็อาจไม่รู้ตัวว่าไม่สามารถควบคุมจัดแจงอะไรได้
Prière pour une mitaine perdue หรือ Prayer for a Lost Mitten (2020, Jean-François Lesage)
สารคดีขาวดำที่เริ่มจากคืนหิมะโปรยปรายในมอนทรีออล กล้องเริ่มต้นจากแผนกของหายในสถานีรถโดยสารประจำเมือง ถ่ายเก็บคนที่มาตามหาของ มีตั้งแต่พาสปอร์ต ถุงมือ กุญแจ หมวกใดๆ เจ้าหน้าที่ทำงานดีเรียบร้อยคอยช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะได้ของคืน คนที่ได้คืนก็ยินดี ที่ไม่ได้คืนก็จ๋อยๆ หน่อย มีทั้งคนมาเที่ยวและคนที่อยู่ บางคนก็มายืนเล่าเรื่อง เช่น สมุดหาย แต่จริงๆ ที่สำคัญคือรูปถ่ายพ่อแม่หลังสมุด อะไรแบบนั้น
จากนั้นกล้องก็ค่อยๆ ตามบางคนไป เช่น ป้าคนหนึ่งที่ถุงมือหายแล้วไม่ได้คืน เมื่อตามไปสัมภาษณ์ต่อ เธอก็เล่าว่ามันเป็นถุงมือที่ถักเอง ถักมาหลายคู่ แต่คู่นี้ดีสุด สีดำสวย อุ่น เข้ากับมือ ปกติไม่ยอมถอดเลย มาหายไปเสียแล้ว แล้วเรื่องก็ค่อยๆ เข้าสู่หัวข้อหลักคือ ‘การสูญเสียอันรื่นรมย์’
แต่หนังไม่ได้มานั่งคุยกับซับเจคต์เรื่อยเปื่อย มีบางฉากผู้กำกับก็ออกไปถามคนตามถนนว่าเคยทำอะไรหายไปบ้าง อยากได้อะไรคืนมาไหม? สายตาของหนังสนใจปฏิกิริยาของการระลึกถึงและค้นลิ้นชักความทรงจำของตนเองมากกว่าคำตอบ กล้องจ้องหน้าผู้คนตอนกำลังนึก มันช่างงดงาม
ไกลไปกว่านั้น กล้องตามไปถ่ายบทสนทนา โดยมากเป็นการสนทนาสบายๆ ของหมู่เพื่อนสนิทที่มากินข้าวกันแล้วนั่งคุย หรือบทสนทนาในครอบครัว ในวงเพื่อนฝูง คล้ายกับหนังโยนประเด็นนี้เข้าไป แล้วรอคอยเงียบๆ ให้คนในวงพูดเรื่องต่างๆ ออกมา จากข้าวของก็กลายเป็นผู้คน ความสัมพันธ์ อดีตที่เอาคืนไม่ได้ เช่น คุณป้าอยากให้ความสัมพันธ์กับครอบครัวเหมือนเดิม อีกคนก็คิดถึงคนรักเก่าที่รู้ว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้อีกแล้ว หรือบางคนพูดถึงแม่ที่ตายไปเฉยๆ ความสูญเสียมันเหมือนหลุมในใจที่จะเติมอะไรลงไปก็ไม่เต็มอีกแล้ว
บทสนทนาเหล่านี้งดงามและเป็นกันเองมากๆ เหมือนค่อยๆ รอให้ผู้คนเปิดเผยเรื่องตัวเองออกมา หนังมีฉากที่งดงาม เช่น ฉากการคุยปิดวันของพ่อแม่และลูกสองคน แม่ป่วยเป็นอะไรสักอย่างที่ทำให้ปวดหลังรุนแรง ลูกก็ถามแม่ว่าวันนี้เป็นไงบ้าง แม่บอกแล้วว่ามีอะไร แต่วันนี้มันดีหรือแย่ครับ ฉากสวยงามของบทสนทนาแบบคนในครอบครัวที่ราวกับกล้องไม่มีอยู่
อีกฉากหนึ่งที่ชอบคือการไปถามเกย์เฒ่าคนหนึ่งแล้วเขาเล่าว่า เขาอยากได้ soul mate ของเขาคืนมา เพราะจริงๆ เขาป่วย หมอบอกเขาว่าอยู่ได้หกเดือน เขาและคนรักเลยเตรียมงานศพของเขาเอาไว้แล้ว แต่เรื่องกลับตาลปัตร ตอนนี้เขาเสียทุกอย่าง บ้าน ธุรกิจ จิตวิญญาณของเขา และถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เขาจะเตรียมการเพื่อที่จะตายไปด้วยกัน
เรื่องที่หนังเล่ามันเศร้ามากๆ เรื่องการสูญเสียที่ไม่อาจได้คืน แต่พอผ่านปากคำของมนุษย์ที่มีน้ำเนื้อ มีชีวิต ผ่านความเจ็บปวดมาแล้ว พวกเขาก็เล่ามันออกมาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ฟูมฟายอีกต่อไป – หนังมีการลอบสังเกตผู้คนที่ออกมาเดินในคืนหิมะตกกับมิตรสหาย คุยเล่นยิ้มหัวกันในคืนหนาวเหน็บ เหมือนผู้คนก็มีวิธีกอดรัดกันและกันไว้ให้อบอุ่น แม้จะไม่อาจถมเต็มการสูญเสียได้ก็ตาม
El Father Plays Himself (2020, Mo Scarpelli)
Jorge Thielen Armand เป็นคนทำหนังเวเนซุเอลาที่เพิ่งดังจาก La Soladad (2016) เขาทำหนังใหม่ชื่อ La Fortaleza เป็นเรื่องของชายขี้เมาที่เข้าไปรักษาอาการติดเหล้าในป่าแอมะซอน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแต่ง แต่เป็นเรื่องจริงของพ่อเขาเอง เพื่อให้หนังสมบูรณ์ เขาเลยเอาพ่อมาเล่นเป็นตัวเองในหนังเรื่องนี้ แล้วสารคดีเรื่องนี้เป็นเหมือนเบื้องหลัง ซึ่งเรียกว่างั้นก็ไม่ถูก เพราะมันเป็นสารคดีว่าด้วยการที่คนทำหนังเอาพ่อขี้เหล้าที่ห่างเหินกัน มาเล่นหนังที่เป็นเรื่องของพ่อเอง
ตัวสารคดีนั้นสุดขีดมาก เพราะดูเหมือนพ่อของผู้กำกับจะควบคุมตัวเองแทบไม่ได้ ลูกชายห่างเหินจากเขาเพราะย้ายไปแคนาดาตั้งแต่อายุ 15 แต่เป็นคนเดียวในกองถ่ายที่รับมือพ่อตัวเองที่เมาแล้วด่ากราดคนทั้งกองได้ ผู้กำกับใจเย็นมากๆ คอยดูแลทุกคนในกอง โดยเฉพาะพ่อที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ทันทีที่เหล้าเข้าปาก
เราไม่อาจฟันธงว่านี่คือพ่อกับลูกคืนดีกันผ่านการทำหนัง หรือจริงๆ มันคือการล้างแค้นพ่อที่ทำลายชีวิตตัวเอง มีฉากหนึ่งเขาดูฟุตเตจตัวเองถ่ายพ่อตอนเป็นบ้า ซึ่งเป็นฉากที่หนักหนามาก เพราะต้องถ่ายพ่อ (ในหนัง) โทร.ไปหาลูกชาย (ซึ่งคือเขา) แล้วไม่สามารถจะคุยกันรู้เรื่อง ในฉากนี้เขาซ้อมบทโดยเอาเสียงที่พ่อโทร.มาจริงๆ ให้พ่อฟัง แล้วให้พ่อเล่นตามสบาย แล้วพ่อก็เหมือนถูกโบยตีด้วยความทรงจำจริงๆ กับสิ่งที่บทบังคับให้ทำ แล้วก็หลุดไปต่อหน้ากล้อง พอเขานั่งดูฉากนี้กับผู้ช่วย ผู้ช่วยก็ถามว่า นายไม่คิดเหรอว่าหนังเสร็จแล้วพ่อจะเกลียดนาย นายทำให้พ่อดูแย่มากๆ แล้วเขาก็ตอบว่า มันเรื่องของเขา แล้วผู้กำกับก็ก้ำกึ่งว่าจะรู้สึกยังไง เพราะมันออกมายอดเยี่ยมมาก แต่มันก็ทำลายพ่อตัวเองในฐานะพ่อด้วย
หนังไปสุดทางจนถึงการถ่ายฉากจบ เขาสามารถคุมพ่อไปตลอดรอดฝั่งได้ แต่หนังยอดเยี่ยมมากๆ ที่ไม่ยอมให้คำตอบว่าสุดท้ายความสัมพันธ์ของเขากับพ่อเป็นอย่างไร
Becoming Animal (2018, Emma Davie & Peter Mettler)
พูดอย่างง่ายและสั้นที่สุด Becoming Animal คือสารคดีบันทึกภาพธรรมชาติที่สวยจับใจ (และอาจถือเป็นหนังที่ถ่ายภาพป่าไร้แสงยามค่ำคืนได้งดงามที่สุดเรื่องหนึ่ง) แต่นอกจากแมกไม้สิงสาราสัตว์ หนังเรื่องนี้คือผลลัพธ์สามประสานสุดท้าทายของ Emma Davie คนทำหนังชาวสก็อตติชที่ทำงานข้ามศาสตร์, Peter Mettler คนทำหนังชาวสวิส-แคนาเดียนยุคโตรอนโตนิวเวฟที่ทำลายขีดจำกัดของภาพยนตร์ (โดยเฉพาะสารคดี) อยู่ต่อเนื่องจนปัจจุบัน และ David Abram นักปรัชญาสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกันผู้ทรงอิทธิพล
หนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่สารคดีอนุรักษ์ที่เน้นข้อเท็จจริงชวนช็อคกระแทกใจหรือปรุงอาหารตาด้วยทัศนียภาพ (แล้วหวังให้เรารักโลกขึ้นสักหน่อยเมื่อดูจบ) แต่หนังใช้ศักยภาพของเทคนิคด้านภาพและเสียงที่ละเอียดลึกซึ้ง พาเรากลับไปมองธรรมชาติด้วยอีกวิธีคิดหนึ่ง ด้วยสายตาและความรู้สึกที่กลับเข้าใกล้ผัสสะและการรับรู้อย่างสัตว์ ก่อนที่ “คน” จะกลายเป็น “มนุษย์” และเปลี่ยนโลกให้เป็นโลกของมนุษย์แบบที่เราคุ้นชินกันอยู่นี้
คำสำคัญจากแนวคิดของ Abram ที่สองผู้กำกับพยายามขับเคี่ยวให้เห็นเป็นภาพคือ animism – คำที่เราอาจนึกถึงภาพทำนองภูตผีวิญญาณ สัจนิยมมหัศจรรย์ หรือความผูกพันนับถือธรรมชาติอย่างชนพื้นเมือง ในแวบแรกที่ได้อ่าน – หนังอธิบายและเชื้อเชิญให้เรามองเห็นจิตวิญญาณ ไม่ใช่เพื่อเคารพบูชาหรือเป็นอุปมาเปรียบเปรยถึงสิ่งซึ่งยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์ แต่เพื่อกลับสู่ภาษาและการสื่อสารที่สะท้อนกันไปมาระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ไม่ได้มีเพียงมนุษย์ที่เคยอ่านภาษาของธรรมชาติ สรรพสัตว์พันธุ์พืชก็อ่านภาษาของมนุษย์ได้ไม่ต่างกัน
ฉากที่แสดงแนวคิดนี้ได้ทรงพลังที่สุดกลับไม่ใช่ภาพป่าเขา แต่คือเมื่อกล้องจ้องเข้าไปในป้ายโฆษณาหน้าปั๊มน้ำมันที่มีตัวหนังสือกะพริบวูบวาบ ซ้อนเข้ากับเสียงของ Abram ที่เสนอแนวคิดว่า การเรียนรู้ตัวอักษรของมนุษย์นี้เองคือ animism ในรูปแบบที่เข้มข้นที่สุด เพราะสัญลักษณ์ขีดเขียนที่ไร้ชีวิตเหล่านี้ “พูด” กับมนุษย์อย่างแจ่มแจ้ง แบบเดียวกับเมื่อครั้งที่ก้อนหินหรือแมงมุมเคยพูดกับมนุษย์ในระบบภาษาของธรรมชาติ (เมื่อครั้งที่มนุษย์ยังไม่พัฒนาถึงขั้นภาษาเขียน) – ภาษาเขียนและเทคโนโลยี (ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อรองรับโลกของมนุษย์) ได้เปลี่ยนการรับรู้ของคนที่มีต่อโลกรอบตัวไปอย่างสิ้นเชิง วิญญาณและการสื่อสารของมนุษย์ได้ขาดออกจากธรรมชาติ และเมื่อป้ายนั้นพูดกับคนดู นั่นคือข้อพิสูจน์
เราในปัจจุบันอาจไม่เข้าใจการสื่อสารในเสียงร้องของกวางเอลค์ยามค่ำคืน ภาษาของริ้วคลื่นควันไอเหนือน้ำพุร้อน ต้นไม้ใบหญ้าในอุทยานแห่งชาติเขียวชอุ่ม แต่หนังได้พยายามอย่างถึงที่สุด และทำได้อย่างยอดเยี่ยม ในการพาเรากลับเข้าสู่สภาวะนั้น เราอาจรับสารหรือแปลความไม่ได้ แต่สัมผัสได้ว่ามีการสื่อสารเกิดขึ้นจริง
Traverser หรือ After the Crossing (2020, Joël Akafou)
ในห้วงเวลาที่โลกเผชิญกับการลี้ภัยย้ายถิ่นฐานอันเข้มข้น การดิ้นรนที่ส่งทอดข้ามรุ่นของชาวแอฟริกันก็ยังคงดำเนินต่อไปเหมือนไม่มีวันจบสิ้น คนทำหนังรุ่นใหม่ชาวไอวอริโคสต์ Joël Akafou เคยบันทึกภาพวัยรุ่นแก๊งหลอกเงินฝรั่งในเน็ตไว้ด้วย Vivre Riche (2017) สามปีต่อมา เขาถือกล้องตามติดชีวิตของ Inza Touré หรือ “จูเนียร์” ชายหนุ่มเพื่อนร่วมชาติที่ตัดสินใจไปตายดาบหน้า แต่ตอนนี้กลับเคว้งอยู่กลางทางมาแล้วหลายเดือน (Traverser เวิลด์พรีเมียร์ในสาย Forum ที่เบอร์ลินเมื่อช่วงต้นปี ก่อนมาเข้าสายประกวดที่เทศกาลนี้)
จูเนียร์แหกเคอร์ฟิวแคมป์ผู้ลี้ภัยในอิตาลี (ซึ่งอนุญาตให้ออกนอกค่ายได้เป็นครั้งๆ แบบมีกรอบเวลาจำกัด) เตรียมลอบข้ามแดนเข้าฝรั่งเศสกับเพื่อน ปัญหาใหญ่ที่จูเนียร์ประสบพบเจอไม่ใช่ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือถูกฝรั่งเจ้าถิ่นเหยียดหยามเชื้อชาติสีผิว แต่คือนิสัยเสือผู้หญิงที่ทำให้เรื่องทุกอย่างมันติดขัดค้างคา
เจ้าตัวเริ่มลังเลเพราะพัวพันกับสาวแอฟริกันลูกติดที่มีห้องให้ซุกหัวนอน แต่สาวอีกคนที่ฝรั่งเศสก็เคยช่วยจ่ายค่าไถ่ให้กองโจรอาหรับในลิเบียตั้งหลายหน จูเนียร์ถึงมีชีวิตรอดมาลงเรือข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาถึงอิตาลีได้ และความแน่นอนเรื่องเอกสารที่จะช่วยเรื่องทำมาหากินก็อยู่ที่เธอ พอแผนข้ามแดนยังไม่สำเร็จจนต้องประวิงเวลาไปอีกหลายเดือน ไอ้หนุ่มก็ดันมีหญิงใหม่เป็นป้าฝรั่งอายุห้าสิบกว่า คราวนี้ความลับแตกพินาศจนหลักประกันที่เคยมีก็เริ่มคลอนแคลน
กล้องถ่ายทั้งหมดที่ว่ามาแบบนิ่งสนิท ไม่ขยายดราม่า (ต่อให้หนังจะมีฉากจูเนียร์โทร.คุยกับครอบครัวที่อยู่ไอวอริโคสต์แล้วร้องห่มร้องไห้ หรือถูกสาวแอฟริกันชี้หน้าด่าหลังรู้เรื่องหญิงอื่น แล้วหลังไมค์ไปสาปป้าแบบพร้อมตบ) ไม่เล่าให้ลุ้นระทึก (การข้ามแดนคือแค่แอบในห้องน้ำรถไฟ ถูกจับได้ก็มีอาสาฯ โบสถ์คริสต์พาไปกินข้าวห่มผ้ารอส่งตัวกลับ) แทบไม่ทำอะไรเพิ่มให้เรื่องราวนอกจากบันทึกภาพที่เห็นตรงหน้า ตรงไปตรงมาจนอาจเรียกว่าทื่อไปเสียหน่อยด้วยซ้ำ
น่าสนใจที่สายตาของหนังไม่ได้พยายามจัดประเภทจูเนียร์ให้เข้าพวกคำอธิบายสำเร็จรูปสำหรับผู้อพยพต่างชาติ (เป็นเหยื่อน่าสงสาร เป็นคนบกพร่องบิดเบี้ยวด้วยบริบทสังคมที่เราควรเข้าอกเข้าใจ หรือเป็นชีวิตเปี่ยมสีสันดราม่าน่าติดตาม) แต่มองเขาเป็นชีวิตจริงๆ ไม่โรแมนติไซส์ด้วยสถานะ ซื่อสัตย์พอจะโฟกัสลักษณะที่ถือเป็นข้อด้อย และไม่ทำให้เขากลายเป็นภาพแทนผู้อพยพทั้งหมดทั้งมวล แต่หนังคงจะยอดเยี่ยมขึ้นมาก ถ้ามีสายตาที่เห็นชีวิตได้ลึกกว่าที่เป็นอยู่