Home Review Film Review “KRABI, 2562” ภาพแทนของภาพแทน

“KRABI, 2562” ภาพแทนของภาพแทน

0
“KRABI, 2562” ภาพแทนของภาพแทน

นี่คือการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดกระบี่ในปี 2562 แต่ไม่ได้เกิดกับจังหวัด หากเกิดขึ้นกับคนที่เดินทางไปยังจังหวัดนั้น เศษเสี้ยวของเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ ไหลเลื่อนซ้อนทับ เชื่อมโยง ขัดแย้ง ไหลซึมเข้าหากัน จนอธิบายภาพรวมของสถานที่หนึ่ง การนำเสนอตัวตนของมัน การพยายามเข้าใจตัวตนของมันและความไม่ลงรอยระหว่างตัวสถานที่จริงๆ ความต้องการที่มันอยากจะเป็น

* บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

ชื่อหนังเรื่องนี้ประกอบขึ้นจากคำสองคำซึ่งแสดง ‘สถานที่’ และ ‘เวลา’, กาละและเทศะ, space and time ด้วยความจำเพาะเจาะจงของสองสิ่งนี้ มันทำหน้าที่เป็นบันทึกโดยมากกว่าการเป็นเรื่องสากลกว้างขวาง สถานที่และเวลามักไม่เป็นคำขึ้นต้นก็คำลงท้ายของจดหมายหรือโปสการ์ด ตัวหนังจึงแสดงตัวเองในฐานะบันทึกตั้งแต่เริ่มต้น และในรูปแบบของบันทึกหากไม่ใช่บันทึกชีวิตประจำวันในสถานที่จำเพาะ มันก็ต้องเป็นบันทึกการเดินทาง

ในแง่นี้หนังทั้งเรื่องจึงทำหน้าที่เป็น โน้ต รูปถ่าย จดหมาย โปสการ์ด ไดอารี่ บันทึกเศษเสี้ยวแตกหักของสถานที่สถานที่หนึ่ง ในเวลาที่จำเพาะเจาะจงห้วงเวลาหนึ่ง บันทึกของนักเดินทางที่เดินทางเข้าไปในแดนแปลกถิ่น โดยในครั้งนี้ ‘ในตัวเรื่อง’ คือการเดินทางของหญิงสาวคนหนึ่งที่ ‘อาจจะ’ มาทำงานตามหาโลเคชั่นให้กับกองถ่ายภาพยนตร์ที่ต้องการกระบี่ในแง่มุมที่ยังไม่ป๊อปปูลาร์ และอีกหนึ่งคือ การเดินทางของกองถ่ายภาพยนตร์โฆษณาที่เดินทางมากระบี่เพื่อถ่ายโฆษณา

ในขณะที่โลก ‘นอกตัวเรื่อง’ (ที่มีการกล่าวถึงในตัวเรื่อง) คือ การที่ศิลปินสองคน (อโนชา สุวิชากรพงศ์ และ Ben Rivers) สร้างงานชิ้นนี้ให้เป็นเหมือนส่วนต่อขยายจากชิ้นงานในเทศกาลศิลปะ Thailand Biennale ที่มีการเชิญศิลปินนานาชาติลงไปทำงานศิลปะในจังหวัดกระบี่ เปลี่ยนพื้นที่ทั้งจังหวัดให้เป็นนิทรรศการศิลปะ ซึ่งตามมาด้วยปัญหามากมาย ทั้งการจัดการสื่อสารของจังหวัดกับคนท้องถิ่น การจัดแสดงงานที่อาศัยพื้นที่รัฐจนขลุกขลักไปหมด ไปจนถึงการที่ผู้จัดงานตัดสินใจแบนงานบางชิ้นที่มาจัดแสดงเพราะไม่สามารถจัดการปัญหาความไม่เข้าใจกับท้องถิ่นได้และตัวอย่างหนัง

งานชิ้นนี้ของผู้กำกับทั้งสอง ขยายตัวออกมาจากวิดีโองานเบียนนาเล่ดังกล่าว ระดมทุนผ่านทาง indiegogo เพื่อทำให้มันเป็นหนังยาว โลกนอกหนังโลกในหนังจึงสะท้อนกันเอง และในที่สุด นี่คือการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดกระบี่ในปี 2562 แต่ไม่ได้เกิดกับจังหวัด หากเกิดขึ้นกับคนที่เดินทางไปยังจังหวัดนั้น เศษเสี้ยวของเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ ไหลเลื่อนซ้อนทับ เชื่อมโยง ขัดแย้ง ไหลซึมเข้าหากัน จนอธิบายภาพรวมของสถานที่หนึ่ง การนำเสนอตัวตนของมัน การพยายามเข้าใจตัวตนของมันและความไม่ลงรอยระหว่างตัวสถานที่จริงๆ ความต้องการที่มันอยากจะเป็น สายตาของการมองเห็นสถานที่จากข้างนอกเข้ามา และจินตนาการของสายตาคนนอกผ่าน ทัศนียภาพ ประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล ตำนานโบราณ การท่องเที่ยว และอำนาจรัฐ การยื้อแย่งการเป็นภาพแทนของพลังอำนาจต่างๆ ที่ไหลวนและขับเคลื่อนหนังเรื่องนี้

เราอาจแบ่งหนังออกได้เป็นสามส่วน ส่วนแรกคือ เรื่องของหญิงสาวคนหนึ่งที่เดินทางมายังกระบี่โดยผู้ชมไม่ทราบจุดหมายที่แน่ชัดของเธอ เธออาจจะมาเที่ยวพักผ่อนวันหยุด มาตามหาความทรงจำของครอบครัว หรืออาจจะมาหาโลเคชั่นไว้ถ่ายหนังในฐานะคนทำงานหาสถานที่ เธอพบปะกับสาวไกด์ท้องถิ่นที่ดูเหมือนเข้าไม่ถึงกันและกัน ยิ่งพยายามชวนคุยก็ยิ่งไม่สามารถสื่อสารกันได้ ไกด์สาวพยายามเล่าเรื่องตำนานโบราณให้เธอฟัง แต่เธอดูไม่ใส่ใจ สนใจจะพูดคุยกับเด็กๆ บนรถโดยสารมากกว่า อยู่มาวันหนึ่งเธอไปดูโรงหนังเก่าแล้วหายตัวไป

ส่วนที่สองคือ กองถ่ายโฆษณาที่มีเป้ อารักษ์เป็นพรีเซนเตอร์ในคอนเซปต์แบบมนุษย์ยุคหิน ตามประวัติศาสตร์เมืองกระบี่ที่มีหลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ และโดยไม่ได้ตั้งใจ ดาราหนุ่มก็บังเอิญได้เผชิญหน้ากับมนุษย์หินจริงๆ เข้าครั้งหนึ่ง

ส่วนสุดท้ายเป็น บทสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่สองสามคน ตั้งแต่คุณตาอดีตนักมวย คุณน้าแผนกต้อนรับของโรงแรม และคุณลุงเฝ้าโรงหนังเก่าที่ปิดกิจการ

เรื่องทั้งสามส่วนเชื่อมโยงและไม่เชื่อมโยงกันผ่านการเข้าออกสถานที่อย่างโรงแรม เกาะแก่งต่างๆ และตัวเมือง โดยซ้อนทับในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี ทุกอย่างล้วนเคลื่อนไปอย่างแยกขาดจากกันราวกับว่าแต่ละผู้คนล้วนต่างดำเนินชีวิตในมิติคู่ขนาน ชาวบ้านที่ถูกสัมภาษณ์ในสารคดีค่อยๆ กลายเป็นตัวประกอบในเรื่องเล่า หากความจริงเหลื่อมซ้อนทาบกันไม่สนิทเสมอ ความจริงและเรื่องเล่าต่างถูกคัดเลือก บิดเบือน ขัดถู สร้างขึ้นใหม่ เปลี่ยนความหมายเดิม แล้วไอ้ส่วนที่เหลื่อมซ้อนกันนี้เองคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ภาพแทน’ ขึ้นกับว่าเป็นภาพแทนของสิ่งใด ของงานศิลปะ ของศิลปิน หรือของเมือง

หากเราลองแบ่งเรื่องราวออกใหม่โดยแยกออกจากเรื่องราวในหนัง เราอาจจะพบชั้นบางๆ ของเรื่องราวสามส่วน

ส่วนแรกคือ เศษแตกหักของเรื่องเล่าจากชาวบ้าน ชีวิตของพวกเขาในอดีต ความทรงจำของพวกเขา เรื่องราวที่พวกเขาเจอ จากเรื่องการต่อยมวยไปจรดเรื่องผี เรื่องเล่าที่ไม่ถูกจดจำเกิดขึ้นและดับไปเพียงในวงชีวิตแคบๆของพวกเขา

ส่วนที่สองคือ เรื่องเล่าอย่างเป็นทางการของเมือง ความเป็นทางการซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ชื่อจังหวัดหรือคำขวัญหรือสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ หากยังหมายรวมถึงตำนานโบราณฉบับที่ได้รับการยอมรับ ประวัติศาสตร์ฉบับทางการ เรื่องราวแบบตำนานถ้ำพระนาง ตำนานเขาขนาบน้ำ หรือการมีอยู่ของโลกก่อนประวัติศาสตร์ ของมนุษย์หิน

ในขณะที่เรื่องในส่วนที่สามคือ เรื่องของภาพแทน และภาพแทนนี้เองคือสนามของการช่วงชิงอำนาจเหนือเรื่องเล่า เราเห็นภาพแทนเหล่านี้ได้ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ภาพของมนุษย์ยุคหินที่กลายเป็นประติมากรรมเหนือเสาไฟจราจรกลางเมือง หรือภาพวาดของสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองกระบี่ ภาพเขาขนาบน้ำ เวิ้งอ่าวทะเล ภาพทิวทัศน์ที่พบเห็นไปทั่ว ทั้งภาพเขียนบนกำแพงโรงเรียน บนผนังร้านอาหาร หรือภาพถ่ายนำเที่ยวที่แปะเป็นฉากหลังของบริษัททัวร์ ภาพเขียนเหล่านี้ก็เช่นเดียวกับมนุษย์หิน มันเป็นภาพที่ถูกทำให้เสมือนจริงหากก็เหนือจริง เลือกขับเน้นเฉพาะบางสิ่งที่ต้องการนำเสนอ สิ่งที่กระบี่ควรถูกจดจำ สั่งให้จดจำ จดจำอย่างเป็นทางการ

ภาพแทนเหล่านี้จึงสั่นคลอนอย่างยิ่งเมื่อหญิงสาวเริ่มคุยกับเด็กๆ บนรถโดยสารแล้วเด็กไม่อาจแน่ใจว่าร้านอาหารดังในตัวเมืองชื่อ โกตุง โกซุงหรือโกส้อง อ่าวลึกนั้นลึกแค่ไหน แล้วทะเลอ่าวนางนี่สวยจริงหรือเปล่า ภาพแทนมักเข้มข้นกว่าภาพจริง กำหนดการรับรู้ภาพจริง เช่นเดียวกับการที่หญิงสาวต้องการกระบี่ไม่ใช่ที่อื่น แต่ต้องไม่ใช่กระบี่ป๊อปปูลาร์ที่หนังเรื่องอื่นเคยมาถ่าย ความเข้ากันไม่ได้ของเธอในฐานะนักท่องเที่ยวมากเรื่องกับไกด์สาวจึงเป็นเรื่องของการเข้าใจภาพแทนที่แตกต่างกัน

ในขณะเดียวกัน เมื่อตัวไกด์สาวต้องไปโรงเลี้ยงผึ้ง ความเข้าใจภาพแทนของการเที่ยวโรงเลี้ยงผึ้งก็ถูกลดรูปเหลือเพียงราคาของน้ำผึ้งอันเป็นภาพจริงของคนเลี้ยงผึ้งที่มีต่อการเลี้ยงผึ้ง หาใช่การเที่ยวชมถ่ายรูปแต่อย่างใด

แต่ภาพแทนที่ไกลกว่านั้นไม่ใช่ภาพแทนที่ตัวพื้นที่ ‘กระบี่’ ส่งออกตัวเอง แต่เป็นภาพแทนที่คนนอกซึ่งเสพภาพแทนทางการช่วยกันสร้างภาพแทนอีกชนิดซ้อนทับลงไป เป็นภาพแทนของภาพโฆษณาที่สกัดเอาทุกความจริงออกไปจนหมด เราจึงเห็นหนุ่มหล่อกลายเป็นภาพแทนของมนุษย์หินดึกดำบรรพ์ ยืนถือเครื่องดื่มอยู่บนชายหาดสวยงามที่มีฉากหลังเป็นเกาะกลางทะเล ภาพแทนอันสมบูรณ์แบบที่ถูกสร้างขึ้นอย่างมืออาชีพ สวมทับภาพแทนทางการของจังหวัดและสร้างความจริงเทียมชนิดใหม่ขึ้นมา

มันจึงน่าตื่นเต้นที่มนุษย์หินฉบับภาพแทนจู่ๆ ได้สบตากับมนุษย์ยุคหินจริงๆ ความคลุมเครือเหนือฝันเหนือจริงนี้ยอกย้อนอย่างยิ่งเมื่อมนุษย์ยุคหินในถ้ำก่อไฟปิ้งปลาด้วยมุมภาพแบบเดียวกับ ‘ภาพแทน’ แบบจำลองหุ่นมนุษย์ยุคหินแบบที่เราเห็นในพิพิธภัณฑ์ ราวกับว่าจินตนาการถึงมนุษย์ยุคหินที่แท้จริงนั้นมีจำกัด เราไปได้ไกลเพียงเท่ากับภาพแทนที่ถูกทำเทียมสร้างขึ้นใหม่ การสบตาของมนุษย์ยุคหินกับมนุษย์ยุคหินเทียมจึงเป็นทั้งการปะทะกันของประวัติศาสตร์กับเรื่องแต่ง ภาพจริงกับภาพแทน อดีตกับอนาคต และภาพแทนของภาพแทน

หากภาพแทนนี้ถูกสำรวจตรวจสอบโดยทีมนิติวิทยาศาสตร์ประหลาดที่โผล่มาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย คนสวมชุดมนุษย์อวกาศขุดหาอะไรจากในดินกลางสวนที่เต็มไปด้วยสัตว์ แต่ไม่ใช่สัตว์ หากอีกครั้งเป็นภาพแทนของสัตว์ที่ปั้นขึ้นจากปูน การสอบสวนซากนิ้วส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ลงไปไม่ได้มอบอะไรทางวิทยาศาสตร์กลับมา มันกลับชี้ไปยังภาพเขียนสีในผนังถ้ำแห่งหนึ่ง อีกครั้งภาพกลายเป็นภาพแทนของการเคยมีมนุษย์โบราณอาศัยอยู่ที่นี่จริงๆ ภาพแทนจึงเป็นได้ทั้งร่องรอย หลักฐานและโฆษณาชวนเชื่อ

หากภาพยนตร์/งานศิลปะเองก็เป็นภาพแทนประการหนึ่ง ศิลปินสร้างงานที่สัมพันธ์กับพื้นที่และเวลาด้วยการบลงพื้นที่ไป ‘สำรวจโล’ สักห้วงเวลาหนึ่ง พยายามทำความเข้าใจพื้นที่ ห้วงเวลานั้นๆ จากนั้นสร้างงานขึ้นมา ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ งานนั้นก็เป็นภาพแทนทั้งต่อความคิดของศิลปินเองและต่อพื้นที่และเวลาที่ศิลปินลงไปสัมผัส และยังเป็นภาพแทนที่ยั่วล้อ ตั้งคำถาม ท้าทาย กับภาพแทนที่เป็นทางการอีกชั้นหนึ่ง งานศิลปะจึงเป็นได้ทั้งภาพแทนและเป็นภาพแทนของภาพแทน

“กระบี่, 2562” ที่เป็นชื่อหนัง จึงเป็นภาพแทนของศิลปิน/หญิงสาวคนนั้น เมื่อชาวบ้านได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่า แต่คุณสมบัติของภาพแทนก็คล้ายกับภาพตัดต่อศิลปิน เลือกเอาเฉพาะส่วนที่เขาหรือเธอสนใจ ขยายความ เล่าใหม่ เปลี่ยนสภาพเรื่องดั้งเดิม เราจึงเห็นช่องว่างที่ไม่แนบสนิทประปรายไปตลอดเรื่อง ลุงนักมวยที่เล่าว่าย้ายมาจากที่อื่นกลายเป็นคนที่เกิดที่นี่ หรือลุงโรงหนังที่ตอบรับเรื่องความทรงจำในปี 2524 ของพ่อแม่หญิงสาว หากในเวลาต่อมาให้สัมภาษณ์ว่าว่าโรงหนังเปิดในปี 2523 ความคลาดเคลื่อนของสถานที่และเวลาเป็นเหมือนการทาบเข้ากันไม่สนิทของกระดาษลอกลายที่ลอกลายของพื้ี่นที่และเวลาออกมาสร้างขึ้นใหม่ การหายไปของหญิงสาวทำให้เรื่องเล่าที่ไม่มีเจ้าของอีกต่อไป คนนอกตัดขาดตัวเองออกจากสายตาของสิ่งที่ตนมอง คล้ายประพันธกรล้มตายหลังชิ้นงานสำเร็จ

มองในแง่นี้ นักแสดงที่รับบทไกด์สาวจึงเป็นขั้วตรงข้ามของหญิงสาวในเรื่อง เธอเป็นทั้งนักแสดงที่มา ‘รับบทเป็น’ คนในพื้นที่ ขณะเดียวกันตัวจริงของเธอก็เป็น ‘คนในพื้นที่’ ด้วย เธอจึงมีคุณสมบัติทั้งคนในและคนนอก เธอเป็นผู้ส่งต่อภาพแทนทางการของตำนานพื้นเมือง และเป็นตัวละครของศิลปินด้วย

อย่างไรก็ดี ความคลาดเคลื่อนของภาพแทนที่น่าสนใจคือภาพแทนงาน ‘กำเนิดหอยทากทอง’ ของจุฬญาณนนท์ ที่หนังเล่าถึงไว้บางๆ งานที่เล่นกับตำนานเขาขนาบน้ำ โดยตีความออกมาเป็นหนังเงียบ ในหนังไม่ได้อธิบายงานชิ้นนี้เพียงแต่อ้างถึงในฐานะของงานศิลปะชิ้นที่เกิดความไม่พอใจและนำไปสู่การแบนงานชิ้นนี้ในเทศกาล จึงไม่ใช่ทุกภาพแทนจะเป็นภาพแทนที่รัฐ/พื้นที่/ทางการต้องการ ภาพแทนที่ท้าทายจะถูกทำลายด้วยข้อหาการเป็นภาพแทน (ภาพที่ไม่สอดคล้องกับความจริง) มากเท่ากับการชื่นชมภาพแทน (ภาพที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อ) ความยอกย้อนของภาพแทนจึงมีความเป็นการเมืองอย่างยิ่ง

หากสิ่งที่ทรงอำนาจที่สุดในหนัง ในความเป็น ‘พื้นที่’ กลับคือ สิ่งที่ไม่มีภาพแทน/ไม่มีภาพปรากฏเลยด้วยซ้ำ สิ่งนั้นปรากฏอยู่ในฉากแรกของหนัง นั่นคือเสียงร้องเพลงในยามเช้าของนักเรียน ที่กำลังเข้าแถว และเสียงการซ้อมสวนสนามที่ดังก้องโดยไม่เห็นภาพของทหารในทุกครั้งที่เข้าเมือง

ภาพแทนที่ไม่ปรากฏแต่ทรงอำนาจนี้อยู่ในทุกที่ในโรงเรียน ใน ‘โรงหนัง’ บนถนน ในจิตสำนึก และนั่นทำให้นึกถึงทฤษฎีของคนทำหนังนักต่อต้านชาวญี่ปุ่นอย่าง Masao Adachi ที่เสนอ Landscape Theory ที่เชื่อว่าในทุกๆ ทัศนียภาพ ในทุกๆ ภูมิทัศน์ของที่ใดที่หนึ่ง ล้วนเป็นภาพแทนของอำนาจรัฐที่ลงไปจัดการพื้นที่เหล่านั้น (ตัวอย่างภาพยนตร์ของเขาที่เล่นกับทฤษฎีนี้คือ A.K.A. Serial Killer ซึ่งเป็นการตามถ่าย ‘สถานที่’ ตามเส้นทางการเดินทางของฆาตกรฆ่าต่อเนื่องคนหนึ่ง โดยเสียงคือเสียงจากการรายงานข่าวตามล่าฆาตกรนั่นเอง ภาพของพื้นที่เปล่าๆ กลายเป็นภาพแทนของสิ่งที่กำหนดอำนาจ หรือความไร้อำนาจ สถานะหรือความไร้สถานะของผู้คน)

ภาพของเมืองกระบี่ อย่างเช่นภาพสถาปัตยกรรมบ้านภาคใต้ โรงหนังโบราณ ชายหาดและนักท่องเที่ยว ถ้าที่มืดมิด เกาะแก่งห่างไกล หรือวงเวียนงานศิลป์ไฟสี กลายเป็นภาพที่หากจ้องมองด้วยสายตาบางแบบก็จะพบรูปแบบอำนาจของรัฐเสมอ

สุดท้าย สิ่งที่คืบเคลื่อนไปพร้อมกับพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ต่อต้านความหยุดนิ่งของพื้นที่คือ ‘เวลา’ กระบี่ยังคงเป็นกระบี่ แต่กระบี่, 2523 , 2562 หรือ 2588 เป็นกระบี่คนละแบบเสมอ และดูเหมือนความงามจับใจที่สุดเกี่ยวกับเวลาในหนังคือภาพเล็กๆ ที่ไม่สลักสำคัญใดๆ เมื่อบรรดาชาวบ้านในหนังได้ก้าวออกจากการเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์ และตัวละครในเรื่องเล่า ไปสู่การเป็นผู้คนที่แท้จริง ภาพที่งดงามที่สุดของหนังจึงเป็นภาพของตัวคุณพี่โรงแรม คุณลุงโรงหนังที่ขี่มอเตอร์ไซค์ไปรับลูกหลานหน้าโรงเรียน แวะเที่ยวตลาดนัด หรือดูดชาดำเย็นบนมอเตอร์ไซค์ หรือแม้แต่ไกด์สาวกินขนมจีนแล้วพบกับนักท่องเที่ยว ในฉากนี้ภาพแทนไหลทบกับความจริง กระบี่ยังคงคืบเคลื่อนต่อไปเคลื่อนไหวเงียบเชียบภายใต้ภาพแทนอันนิ่งงันเหล่านั้น

ชม “กระบี่, 2562” ได้ที่

https://vimeo.com/ondemand/krabi2562