Home Review Film Review ตัดหางเสือปล่อยวัด: 6 สิงห์ที่อยากให้คุณดูแทน Tigertail

ตัดหางเสือปล่อยวัด: 6 สิงห์ที่อยากให้คุณดูแทน Tigertail

ตัดหางเสือปล่อยวัด: 6 สิงห์ที่อยากให้คุณดูแทน Tigertail

Tigertail (2020) คือหนัง Netflix Originals ที่เพิ่งออนแอร์ไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน หลายคนพูดถึงและตั้งตารอดูตั้งแต่วันที่โปสเตอร์หนังโผล่ขึ้นมาในหน้าเมนู Latest ทั้งจากโปรไฟล์ว่านี่คือผลงานกำกับหนังยาวเรื่องแรกของ Alan Yang หนึ่งในครีเอเตอร์ของซีรี่ส์ Master of None (2015-ปัจจุบัน, ร่วมกับ Aziz Ansari) ที่สำรวจ ตีแผ่ และยั่วล้อวัฒนธรรมเอเชียนอเมริกันร่วมสมัยจนไปไกลถึงรางวัลเอ็มมี่กับลูกโลกทองคำ แถมภาพในตัวอย่างก็สะกดสายตาเหลือเกิน ด้วยชวนให้นึกถึงความงามจากหนังคลาสสิกเอเชียตะวันออกหลายๆ เรื่องในความทรงจำ

แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นตามโจทย์หลังกระแส The Farewell (2019, Lulu Wang) และ Crazy Rich Asians (2018, Jon M. Chu) ในบริบทอเมริกันที่ความหลากหลายกำลังอยู่ในบทสนทนา การคาดหวังความดีในระดับเดียวกับผลงานปรมาจารย์จากงานโจทย์คงเป็นเรื่องเกินตัว ผมเองก็สังหรณ์เล็กๆ ตอนที่เห็นว่าหนังมีความยาวเพียง 90 นาที สงสัยอยู่หน่อยๆ ว่าเนื้อเรื่องที่หยอดไว้มากมายในตัวอย่างจะได้รับการถ่ายทอดอย่างกินใจได้ในเวลาเพียง 90 นาทีจริงหรือ แต่ก็ตัดสินใจให้โอกาสหนัง ไม่โยนเข้าโหลดอง My List แบบที่ปกติมักจะทำ

โทษของความอยากทันกระแสคือโดนหลอกจนหน้าชา แอบเสียหน้าที่ไม่เชื่อประกายสัญชาตญาณของตัวเอง

พูดได้เต็มปากว่าหนังดราม่าครอบครัวของนักศึกษาหรือนักเรียนมัธยมไทยจำนวนมาก เล่าเรื่องดี เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครหรือตัวเอง และใช้ภาษาภาพยนตร์ได้เก่งกว่าหนังโหนกระแสเรื่องนี้เป็นไหนๆ – จากที่กลัวหนังจะรวบเล่าเร่งรีบจนไม่ทิ้งเวลาให้ความรู้สึกหรือเนื้อเรื่องทำงานกับผู้ชม กลายเป็นว่า Tigertail อาการหนักกว่านั้น หนังแทบไม่มีความรู้สึกนึกคิดใดๆ ต่อเนื้อเรื่องของตัวเองตั้งแต่แรก ฝืดคอจนไม่ควรฝืนยืดเป็นหนังยาว เพราะทุกอย่างแห้งแล้งและขาดความสำคัญจนควรจบใน 15-20 นาที ยิ่งพยายามถมเวลาให้ครบชั่วโมงครึ่งก็ยิ่งเปิดแผลว่าผู้กับาดประสบการณ์และวิสัยทัศน์ในการเล่าเรื่องอย่างร้ายแรง

สำหรับใครที่กำลังเล็งๆ เรื่องนี้อยู่ หรือยังไม่ได้เผลอกดดูไปตั้งแต่วันแรกๆ เหมือนใครแถวนี้ ถ้าคนอ่านอยู่ในอารมณ์อยากดูเรื่องราวชาวเอเชียตะวันออก (ทั้งในและนอกทวีปอเมริกาเหนือ) คนเขียนก็ขอถือวิสาสะแนะนำหนังทดแทนไว้ให้สักชุดหนึ่ง

A Sun (2019, Chung Mong-Hong)

ครอบครัวเอเชียน

Tigertail พยายามเอื้อมมือไปหยิบองค์ประกอบที่ดูมีน้ำหนักมาหลอกขายในตัวอย่าง (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) แต่ขนาดเรื่องหลักที่เป็นจุดขายอย่างความสัมพันธ์ครอบครัวเอเชียน หนังยังล้มเหลวไม่เป็นท่า ยักแย่ยักยันอยู่ระหว่างอดีตอันหอมหวานของตัวละครพ่อที่เล่าผิวผ่านเสียจนไม่รู้สึก กับความสัมพันธ์ห่างเหินต่อไม่ติดกับลูกสาวที่เขียนบทแบบกึ่งสำเร็จรูป แถมใจร้อนจนเส้นยังไม่ทันสุกดี ทั้งที่ก็จำกัดตัวละครจนแทบจะเหลือแค่สองคน ขนาดลองจับเทียบแค่ในบริบทเอเชียนอเมริกันร่วมสมัย หนังตลกซึ้งหวานขวัญใจมหาชนแบบ The Farewell กับ The Big Sick (2018, Kumail Nanjiani) ยังชนะขาดลอย

สองเรื่องนี้คงเป็นที่รู้จักจนไม่ต้องแนะนำเพิ่มแล้ว และเอาเข้าจริงก็ยังนำเสนอดราม่าครอบครัวเอเชียนในแบบที่ฝรั่งคุ้นชินเป็นหลัก เราเลยขอไฮไลต์หนังเอเชียร่วมสมัยที่แอบซ่อนตัวอยู่ใน Netflix อีกเรื่องหนึ่งแทน

A Sun (2019, Chung Mong-Hong) เข้าชิง 11 และชนะ 5 รางวัลม้าทองคำ (Golden Horse Award) รวมภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยม หนังไต้หวันความยาว 156 นาทีเรื่องนี้ไม่ได้ขายความหวานซึ้ง หรือความศักดิ์สิทธิ์บริสุทธิ์ของครอบครัวในตอนจบ แต่เข้มข้นใจสลายแบบเอาตาย ด้วยชีวิตพลิกผันของตระกูลเฉินที่พ่อเป็นครูสอนขับรถ แม่แต่งหน้าทำผมให้นางโชว์ในบาร์ ลูกคนโตกำลังกวดวิชารอสอบเข้าคณะแพทย์รอบใหม่ แต่ลูกคนเล็กเพิ่งถูกศาลตัดสินให้เข้าคุกเยาวชนด้วยคดีอุกฉกรรจ์

หนังเฉือนลึกถึงเนื้อในของครอบครัวที่ต้องเผชิญหลังจุดพลิกผัน ขยายเส้นเรื่องจากสามชีวิตที่เหลือในบ้านไปถึงผู้เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลา (แฟนวัยมัธยมของน้องชาย คนคุยที่โรงเรียนของพี่ชาย พ่อของเหยื่อคดีที่ตามเรียกร้องเงินชดเชย เพื่อนร่วมคดีของน้องชายที่ติดคุกไปพร้อมกัน) ฉายภาพความรู้สึกภายใน การดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดทั้งชีวิตจิตใจ และการปกป้องตนเองจากแรงสั่นสะเทือนของสถานการณ์ เมื่อปมผูกไว้ด้วยเงื่อนคนละแบบ วิธีคลี่คลายจัดการย่อมต่างกัน บางคนวางทิ้งไว้ทำเป็นไม่แยแสอยู่นานปี แต่บางคนก็โชคร้ายเจอเงื่อนตาย ต้องตัดเชือกทิ้งสถานเดียว

ภาพความสัมพันธ์ที่ละเอียดลึกซึ้งในเรื่องจึงไปไกลกว่าความขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัวต่างรุ่นที่ไม่เข้าใจกัน แต่คือความหลากหลายของทัศนคติความเชื่อ และน้ำหนักที่มนุษย์แต่ละคนจะยึดถือไว้เป็นแนวทางชีวิต ไม่ว่าความผูกพันทางสถานะของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ดวงอาทิตย์ (sun) ที่หนังหยิบมาเล่นล้อกับคำว่าลูกชาย (son) ได้แยบยล ส่องแสงถ้วนทั่วถึงทุกคน ไม่ว่าจะในฐานะความร้อนแผดเผาหลอมละลาย หรือแสงแห่งวันใหม่ของชีวิตที่ยังต้องเดินหน้าต่อไปอย่างสะบักสะบอม

A Brighter Summer Day (1991, Edward Yang)

ไต้หวัน – ก๊กมินตั๋ง

เมื่อ Tigertail พยายามใช้ไต้หวันในอดีตเป็นจุดขายแบบวางตัวซีเรียส ช่วงต้นเรื่องหนังเลยมีฉากพระเอกตอนเด็กถูกป้าสั่งให้ไปซ่อนในตู้เมื่อทหารก๊กมินตั๋งถือปืนเข้ามาถึงบ้าน ก่อนปะทะคารมกันเล็กน้อยเรื่องภาษาฮกเกี้ยนกับจีนกลาง (ก๊กมินตั๋งบังคับให้คนไต้หวันพื้นถิ่นพูดหลังถอยร่นมาจากแผ่นดินใหญ่) ทำท่าเหมือนให้น้ำหนักบริบทการเมือง แต่หนังก็โยนทิ้งไปดื้อๆ เพราะไม่กี่ฉากต่อมาเด็กน้อยก็เป็นหนุ่ม พูดจีนกลางป้อสาวพลางครวญเพลง Otis Redding ซะแล้ว

เหมือนแค่อ้างอิงหนังครูเพื่อท้องนาเขียวและแสงสีคืนบาร์ที่ถ่ายฟิล์มเอาสวยมากกว่าเนื้อใน จึงเป็นจังหวะที่ดีที่เราจะได้กลับไปดูว่ารุ่นครูเขาทำกันอย่างไร คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มว่าวงการภาพยนตร์โลกยกย่อง A Brighter Summer Day (1991, Edward Yang) มากแค่ไหน และสองจุดเด่นที่ Tigertail ล้มไม่เป็นท่าก็คือการนำเสนอบริบทของยุคสมัย ทั้งแรงตกกระทบทางการเมืองต่อตัวละครและกระแสวัฒนธรรมอเมริกันที่วาดภาพฝันให้คนรุ่นนั้น

การที่ชื่อภาษาอังกฤษของหนังคือท่อนหนึ่งจาก Are You Lonesome Tonight ของ Elvis Presley ซึ่งเป็นเพลงจำของเรื่อง ย่อมแสดงให้เห็นอิทธิพลของกระแสที่จับใจวัยรุ่นที่กำลังเติบโตใช้ชีวิต ในระดับที่เป็นแรงสะเทือนถึงทัศนคติและไฟฝันของคนในสังคมยุคหนึ่ง เช่นเดียวกับการปราบปรามทางการเมืองอันเข้มงวดแข็งขันของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ที่ทำลายครอบครัวและหลักยึดในชีวิตวัยมัธยมของตัวละครเอกลงอย่างไม่มีชิ้นดี เป็นระลอกคลื่นใหญ่ที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล และนำไปสู่การตัดสินใจดำมืดที่สุดเท่าที่เด็กดีๆ คนหนึ่งจะจมลงไปได้

Eat Drink Man Woman (1994, Ang Lee)

พ่อเสือกับลูกสาว

จากพระเอกที่เคยมีชีวิตชีวาและไฟฝัน (คนดูอาจไม่รู้สึกเพราะหนังแตะแค่ผิวเผิน) เมื่อแก่เป็นตาลุงหลังแต่งเมียที่ไม่ได้รักก็กลายเป็นพ่อเสือ แยกเขี้ยวจนต่อใจไม่ติดกับลูกสาว แต่วิธีเล่าของ Tigertail นั้นสุดแสนสำเร็จรูป ทั้งหมดถูกลดทอนเหลือแค่การเอ็ดลูกตัวเล็กที่ร้องไห้หลังพลาดบนเวทีแสดงเปียโน ความไม่พอใจที่ลูกตอนโตทั้งบ้างานแถมยังมีแฟนที่ดูไม่มั่นคง และฉากดราม่าอารมณ์กลางร้านอาหารที่ขาดจินตนาการเสียเหลือเกิน ทุกอย่างกลายเป็นแค่ภาพจำแบบฉบับของครอบครัวเอเชียที่ดูห่างเหินในด้านปฏิสัมพันธ์เพราะขาดการแสดงออกซึ่งความรัก

เหตุผลหลักที่ Eat Drink Man Woman (1994, Ang Lee) ยังคงเป็นที่จดจำข้ามทศวรรษอาจคือบรรดาฉากทำอาหาร แต่แกนหลักของเรื่องคือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อม่ายกับสามบุตรีที่ยังโสด (รวมถึงผู้ชายที่เข้ามาเกี่ยวพันเป็นตัวเลือกในชีวิต) นำเสนออย่างละเมียดละไมและคมคายผ่านการร่วมมื้ออาหารประจำสัปดาห์ของครอบครัวที่พ่อเป็นคนลงมือรังสรรค์อาหารทุกจานด้วยตัวเองแม้ลิ้นของอดีตพ่อครัวภัตตาคารจะไม่รู้รสอีกแล้ว

ความห่างเหินเก็บคำแบบครอบครัวเอเชียในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ภาพสะท้อนทื่อๆ ตรงๆ ถึงความไม่เข้าใจระหว่างคนต่างรุ่นที่ทิ้งคาอยู่กับที่ เพราะความสัมพันธ์นั้นซับซ้อนและเป็นพลวัต ภายใต้รอยปริแตกบนชั้นผิว หนังค่อยๆ ลอกเผยให้เห็นรายละเอียดความผูกพันระหว่างพ่อลูกพี่น้องแต่ละคน บางคำพูดถูกเก็บซ่อนไว้ด้วยเหตุแห่งความคับข้องใจ แต่บางคำพูดก็ถูกละไว้ในฐานที่แต่ละฝ่ายต่างรู้จัก เข้าใจ และประเมินซึ่งกันและกันจากมุมมองของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อเงื่อนไขแห่งชีวิตและการตัดสินใจของแต่ละคนก็อยู่เหนือการตัดสินถูกผิดด้วยมาตรฐานของใครเพียงลำพัง และขยับคืบหน้าเปลี่ยนแปลงไปทุกครั้งเมื่อถึงสัปดาห์ใหม่

Kim’s Convenience (2016-ปัจจุบัน, Ins Choi และ Kevin White)

ตั้งตัวสร้างชีวิตในแดนไกล

หลังตัดสินใจฉับพลันรับข้อเสนอแต่งเข้าบ้านลูกสาวเจ้าของโรงงาน ทิ้งสาวคนรักไว้ไต้หวัน แล้วบินไปอเมริกา (แบบที่ได้แต่งงว่าทำไมถึงเจาะจงเลือกเจ้าหนุ่มเหลาะแหละนี่เป็นเขย) Tigertail ก็พยายามเล่าว่าพระเอกดิ้นรนกับชีวิตใหม่ที่ต่างจากภาพฝันมากเพียงใด ทั้งห้องพักซอมซ่อสกปรก และต้องกรำงานลูกจ้างจนทิ้งลูกเมียให้ว้าเหว่ แต่ทั้งหมดก็ถูกเร่งเล่าผ่าน montage ข้ามเวลา ทู่ซี้พาเรื่องให้เข้าสู่วัยชราหลังสร้างตัวแบบรีบๆ ราวกับชีวิตระหว่างนั้นไม่มีจุดพลิกผันอะไรอีกเลย

อาจดูไม่เป็นธรรมอยู่สักหน่อยในเรื่องข้อจำกัดของเวลา แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่หัวข้อนี้ต้องแนะนำซีรี่ส์ที่โฟกัสไปยังการสร้างเนื้อสร้างตัวและปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรมใหม่ของคนเอเชีย โดย Kim’s Convenience (2016-ปัจจุบัน, Ins Choi และ Kevin White) ดัดแปลงจากบทละครเวทีของนักเขียนเชื้อสายเกาหลีที่สร้างประวัติศาสตร์ด้านความนิยมกับคำวิจารณ์จนได้ข้ามฟากมาแสดง off-broadway ในนิวยอร์ก และต่อมาถูกสร้างเป็นซิทคอมเรื่องแรกของแคนาดาที่มีตัวเอกเป็นคนเอเชีย และเพิ่งเริ่มออนแอร์ซีซั่นที่ 4 เมื่อต้นปี 2020 นี้เอง

ตัวซีรี่ส์เล่นล้อหรรษากับภาพจำเรื่องเชื้อชาติสีผิว ความสัมพันธ์ และค่านิยมแบบครอบครัวเอเชียของ “อัปป้า” กับ “ออมม่า” ที่เป็นผู้อพยพรุ่นแรก ซึ่งเปิดร้านชำเล็กๆ ของครอบครัวอยู่ในโตรอนโต ผ่านร่มหลักของเนื้อเรื่องว่าด้วยกิจการของร้านที่เกี่ยวพันกับตัวละครและชุมชนรอบข้างที่อัพเดทไปตามประเด็นสังคมร่วมสมัย และความสัมพันธ์ภายในบ้านกับลูกสาววัยมหา’ลัยที่มีทัศนคติชีวิตแบบตะวันตกเต็มตัวที่อึดอัดกับความเจ้าธรรมเนียมของพ่อแม่ และลูกชายที่ห่างเหินไปหลังพ้นโทษจากสถานพินิจเพราะถูกพ่อไล่ออกจากบ้าน

A Time to Live, A Time to Die (1985, Hou Hsiao-Hsien)

ชีวิตที่ยืมมา

ถึงจะอ้างแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงพ่อผู้กำกับ แต่ความใกล้ชิดก็ไม่ได้ช่วย Tigertail จากความล้มเหลว เพราะทั้งชีวิตของเขามีตัวตนอยู่อย่างอ่อนแรงในเรื่องเล่าของลูกชาย ไม่ว่าจะปัจจุบันที่แก่ตัวลงอย่างโดดเดี่ยวเมียขอเลิก หรือความทรงจำถึงแม่ที่ขออยู่ไต้หวันจนตายทั้งที่เขาเลือกอเมริกาเพื่อให้เธอตามมาอยู่สบาย และคนรักเก่าที่จากมา (ใจจริงอยากสปอยล์เหลือเกินว่าหนังทำตัวน่ากลุ้มใจแค่ไหน ตอนที่เขียนให้รักเก่ากลับมาเจอพ่ออีกครั้ง)

เมื่อต้องกล่าวถึงภาพยนตร์ที่บันทึกความเป็นมนุษย์ได้อย่างงดงามเศร้าสร้อย ถ่ายทอดทั้งชีวิตผ่านสายตาและความทรงจำที่ละเอียดลึกซึ้ง ย่อมไม่อาจมอบข้ามหนังไต้หวันนิวเวฟสองเรื่องที่เป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์

A Time to Live, A Time to Die (1985, Hou Hsiao-Hsien) และ A Borrowed Life (1994, Wu Nien-Jen) ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสายตาของลูกหลาน ซึ่งเติบโตมาบันทึกประวัติศาสตร์ของครอบครัวเป็นหนังทั้งสองเรื่องนี้เอง จากชีวิตของคนใกล้ตัวที่เป็นภาพจำมาตั้งแต่เยาว์วัย พวกเขาย้อนมองชีวิตที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อดีตที่ยังตกค้างอยู่ในความทรงจำ การย้ายถิ่นเพื่อลงหลักปักฐานใหม่ และความเจ็บปวดอาลัยอาวรณ์ของคนรุ่นก่อน คว้าจับลมหายใจของผู้คนรอบตัวที่เคยดำเนินไปก่อนถึงจุดสิ้นสุดเปลี่ยนผ่านอันไม่อาจหวนคืน

เป็นทั้งการเฉลิมฉลองสดุดีให้ชีวิตที่เคยดำรงอยู่ และยังคงดำเนินเติบโตต่อไปในชีวิตจิตใจของผู้รับช่วงสืบทอดต่อในบริบทที่ไม่มีวันเหมือนเดิมหลังการจากลา โดยมุ่งมั่นจดจำความเจ็บปวดอันชวนใจสลายที่เคยกัดกินชีวิตของคนรุ่นก่อนหน้า

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here