ฮังการีในยุคที่คอมมิวนิสต์ล่มสลายและอิทธิพลของสงครามเย็นกำลังกัดกินไปทั่วยุโรป เอ็มมา (โยฮันนา เตอร์ สเตจ) กับ โบเบ (อีนิคุ บอร์ชซ็อค) หญิงสาวที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเด็กและย้ายมาอยู่ในบูดาเบส เมืองหลวงของฮังการีเพื่อแสวงหาโอกาสอันดีในชีวิตด้วยการเป็นคุณครูสอนภาษารัสเซียให้โรงเรียนมัธยม และต้องเช่าหอพักคับแคบของบรรดาคุณครูอยู่ด้วยกันเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
หากแต่การณ์กลับพลิกคว่ำเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ภาษารัสเซียไม่ใช่ภาษาที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอีกต่อไป ทั้งเอ็มมาและโบเบถูกสั่งให้ไปเรียนภาษาอังกฤษเพื่อนำมาใช้สอนนักเรียน ท่ามกลางบรรยากาศการถกเถียงอันเคร่งเครียดของเหล่าคุณครูในห้องพักครูที่หวาดหวั่นต่อสังคมแบบเสรีนิยมจะทำให้นักเรียนเหิมเกริมและไม่ฟังผู้ใหญ่ มิหนำซ้ำ เอ็มมายังมีปัญหาชีวิตรักที่ชวนเจ็บปวดเมื่อเธอลอบเป็นชู้กับครูใหญ่ของโรงเรียนที่ไม่อาจตัดใจเลิกกับภรรยาและครอบครัวได้ เธอจึงต้องอยู่โยงเช่นนี้ในสถานะเมียเก็บต่อไป
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซาโบ -ผู้กำกับ- ใช้สงครามและภาวะตึงเครียดทางการเมืองเป็นฉากหลังในหนังของเขา ส่วนใหญ่แล้วเรื่องราวในหนังของเขานั้นเกิดขึ้นคาบเกี่ยวระหว่างสงครามเย็นและการปฏิวัติในปี 1956 ดังที่ปรากฏใน Age of Illusions (1965 -คู่รักที่ยืนกรานจะอยู่ในฮังการีท่ามกลางควันคลุ้งของการปฏิวัติขณะที่คนรอบตัวย้ายออก), Father (1966 -เด็กชายไร้พ่อที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความปั่นป่วนของการเมืองและมีแนวโน้มจะจดจำพ่อตัวเองอย่างผ่องแผ้วเกินจริง) หรือ Confidence (1980 -หญิงสาวที่ถูกส่งไปเป็นเมียปลอมๆ ของหน่วยต่อต้านรัฐบาล แต่เกิดรักกันจริงๆ ขึ้นมา) และใน Sweet Emma, Dear Böbe เองก็เช่นเดียวกัน แม้เส้นเรื่องหลักจะเล่าผ่านสายตาและชะตากรรมของเอ็มมา หญิงสาวหน้าตาสะสวยที่ก็ดูจะมี ‘ทางเลือก’ มากกว่าการเป็นครูต๊อกต๋อยและเป็นเมียน้อยครูใหญ่ แต่มันกลับซุกซ่อนฉากหลังอันรุนแรงที่เอ็มมาหรือก็คือประชาชนชาวฮังการีต้องเผชิญจากการรุกรานของสหภาพโซเวียต ที่รุกคืบเข้ามายึดครองยุโรปตะวันออกหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง กินเวลายาวนานก่อนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้โลกเสรีนิยมอย่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวในยุคนั้น เอ็มมาและโบเบ รวมถึงคุณครูทุกคนในบูดาเปสต์ เติบโตมาท่ามกลางจักรวรรดิโซเวียตอันเรืองรองในฮังการี พวกเธอเรียนและพูดรัสเซียได้ดีจึงมาเป็นคุณครูสอนภาษา เพื่อจะพบว่าในเช้าวันหนึ่งเมื่อโซเวียตและคอมมิวนิสต์ล่มสลาย นักเรียนของเธอแห่เอาหนังสือเรียนรัสเซียไปเผาทิ้งหน้าโรงเรียนอย่างรื่นเริง ราวเป็นการประกาศการปลดแอกของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยมีสายตาเจ็บปวดของเอ็มมาเป็นฉากหลัง
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือบรรยากาศความคุกคามและรุนแรงในหนัง แม้ไม่มีฉากใช้กำลังจนเลือดตกยางออก แต่ตัวละครอย่างเอ็มมากลับต้องเผชิญความรุนแรงอยู่เกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะฉากที่เธอโดนชายโรคจิตลวนลามด้วยการใช้มีดจี้และโชว์อวัยวะเพศซึ่งแข็งตัวเต็มที่ (ที่แม้แต่คนดูเองก็ตระหนกอยู่เหมือนกันที่อยู่ดีๆ ก็ได้เห็นจู๋แข็งตัวบนจอแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย) และบังคับให้เธอถอดกางเกงในออก เอ็มมาจึงเข้าไปแจ้งความในโรงพักและพบว่า นายตำรวจมองเธอด้วยสายตาเย็นชาพลางพูดจาแทะโลมสิ่งที่เธอเพิ่งเจอมา ส่วนตัวเข้าใจว่าซาโบน่าจะเทียบเคียงการคุกคามของชายโรคจิตกับการมาเยือนอย่างรุนแรงและเด็ดขาดของสหภาพโซเวียตที่มีต่อฮังการีในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และกดดันให้ฮังการีใช้รูปแบบการปกครองเดียวกันกับโซเวียต ก่อนจะกลายมาเป็นชนวนการปฏิวัติในปี 1956 ในท้ายที่สุด
มันกลับซุกซ่อนฉากหลังอันรุนแรงที่เอ็มมาหรือก็คือประชาชนชาวฮังการีต้องเผชิญจากการรุกรานของสหภาพโซเวียต ที่รุกคืบเข้ามายึดครองยุโรปตะวันออกหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง กินเวลายาวนานก่อนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้โลกเสรีนิยมอย่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ดี ทั้งเอ็มมา โบเบและคุณครูสาวคนอื่นๆ ต่างคือเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น มีอยู่ฉากหนึ่งที่น่าสะเทือนใจมากๆ คือเมื่อตัวละครถามกันถึงเรื่องความฝันและเป้าหมายของชีวิต อันเป็นผลผลิตจากระบอบเสรีนิยมที่ค่อยๆ เยื้องกรายมาจากโลกอเมริกา เหล่าคุณครูสาวกลับตอบได้แบบครึ่งๆ กลางๆ และงุนงงกับคำถามนั้น โดยเฉพาะเอ็มมาที่เสมือนว่าเธอไม่มีฝันไหนไกลเป็นพิเศษแม้ว่าจะถูกมองว่ามีศักยภาพในการจะใช้ชีวิตดีเกินกว่าจะมาเป็นครู เป็นเมียน้อยอยู่ในเมือง ขณะที่โบเบนั้นดิ้นรนจะลองมีชีวิตเสรีตามแบบที่โลกสมัยใหม่บอกเธอ แต่ก็พบว่ามันไม่ง่ายเอาเสียเลย พวกเธอคือส่วนเกินของโลกใบใหม่ เป็นครูสอนภาษารัสเซียที่ไม่เป็นที่ต้องการอีกแล้ว เป็นคุณครูที่นักเรียนก็ไม่ใส่ใจจะฟัง เราจึงเห็นว่าพวกเธอกระตือรือร้นจะเข้ารับการทดสอบเป็นนักแสดงประกอบเข้าฉากเปลือยในหนังเรื่องหนึ่ง และพบว่าคนที่มาเข้ารับการทดสอบล้วนเป็นหญิงสาวที่มาจากสายอาชีพใกล้เคียงกัน ไร้เป้าหมาย ไร้ที่ไป และไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรในอนาคต
เหตุนี้เอง ฉากท้ายเรื่องจึงน่าสะเทือนใจอย่างยิ่ง เมื่อเหล่าผู้คนซึ่งยังตกหล่มอยู่ในโลกใบเดิมไม่อาจปรับตัวกับสิ่งที่โลกสมัยใหม่เรียกร้อง -นั่นคือหนทางการใช้อิสรภาพและการรู้จักเจตจำนงเสรีของตัวเอง- จึงนำมาสู่โศกนาฏกรรมดังที่เอ็มมาคร่ำครวญว่า “มันต้องไม่ใช่ทางนี้” แต่ก็น่าตั้งคำถามว่าแล้วพวกเธอเลือกอะไรได้เล่า
หนังคว้ารางวัลหมีเงินจากเทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลิน ดูได้ที่ Vimeo