Isan Sonata : หนังตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำชี แล้วมีใครตามหานักประพันธ์?

ผมไม่ใคร่แน่ใจนักว่า วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ (‘สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย’) วาดหวังหรือวางโครงเรื่องให้ Isan Sonata บรรลุวัตถุประสงค์ข้อใดเป็นเป้าหมายหลัก เพราะสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงออกให้เห็นเด่นชัดสูงสุดก็คือ การยื่นเท้าเข้าเหยียบขยี้เลือนเส้นเขตแดนของคำนิยาม พยายามบอกกล่าวเล่นลิ้นให้ผู้ชมเทคซีเรียสเชื่อตามว่าตัวเองเป็นสิ่งนี้หรือสิ่งนั้น ผ่านทั้งการบิดพลิ้วความหมายหรือเจริญรอยตามอะไรก็ดีที่หนังอ้างยกเป็นแรงบันดาลใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ลีลาท่าทางอย่าง meta-cinema เพื่อปฏิเสธอย่างแข็งขันที่จะเป็นสิ่งใดหรือสิ่งหนึ่ง

วิธีขยี้เลือนเส้นแบ่งที่คนทำหนังเลือกใช้ ไม่ว่าจะเพื่อกลบฝังร่องรอยต้นทางด้วยเลศนัย หรือเพื่อเฉลยวิพากษ์บางสิ่งให้คนดูเห็นอย่างพิสดาร ส่งผลให้ท่าทีของหนังโคลงเคลงไปมาระหว่างความท้าทายกับอาการหยิบโหย่ง หลักยึดที่หนังคอยสลับเปลี่ยนไปเรื่อยระหว่างการเดินทาง กลายเป็นทั้งความยียวนปั่นประสาทแบบหน้าตายและอาการสับสนที่สุดท้ายอาจไม่ได้พาใครไปถึงฝั่ง – เป็นการทดลองที่ตั้งโจทย์ นำเสนอสมมติฐาน แต่ไม่ยอมเปิดเผยผลพิสูจน์

ประสบการณ์ Isan Sonata สำหรับผมจึงเป็นทั้งความตื่นเต้นเป็นพัก ๆ เมื่อได้ตระหนักรู้ตัวว่าที่เหยียบที่ยืนใต้ฝ่าเท้ากำลังถูกอธิบายให้นิยามเขตแดนใหม่อยู่ตลอดเวลา และความเหนื่อยล้าอ่อนแรงปนระแวงอย่างมนุษย์ที่เพิ่งหลุดพ้นจากเกมกับดัก ซึ่งสวมเสื้อคลุมปักชื่อเรียกให้ตนเองว่าการตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำชี แล้วจบลงด้วยความรู้สึกที่ห้อยค้างอยู่บนเส้นเลือน ๆ ที่ขีดคั่นเป็นเขตแดนอยู่ระหว่างความชอบกับความไม่ชอบ คล้ายกำลังรื้อแก้สางปมที่พันกันยุ่งเหยิง โดยไม่อาจปักใจได้ว่าปมยุ่งเหยิงดังกล่าวนั้นคือเรื่องจริง

 ลำนำอีสานเรื่องนี้เรียกตัวเองว่าภาพยนตร์สารคดีชุดขนาดสั้น ทว่าดำเนินไปด้วยองค์ประกอบอย่างหนังเล่าเรื่อง (fiction) ถึงระดับที่ไม่สามารถเรียกว่าสารคดีได้เต็มปาก และต่อให้โลกภาพยนตร์จะสถาปนาอาณาเขตใหม่ให้หนังที่ขี่คร่อมไม่แคร์เส้นแบ่งนี้ด้วยคำจำกัดความอย่าง essay film, docu-fiction หรือ hybrid documentary หนังของวิชชานนท์ก็ยังคงปฏิเสธจะเป็นทุกสิ่งที่ว่ามา

อาจเหลือเพียงสิ่งเดียวที่ Isan Sonata ไม่สำแดงออกอาการปฏิเสธ สิ่งนั้นคือร่องรอยอันเข้มข้นของคุณสมบัติของแฝดปีศาจหรือ doppelgänger

เริ่มต้นด้วยตัวหนังที่สำเร็จเสร็จสิ้นแล้วเผยแพร่อย่างคู่แฝด หนึ่งคือสารคดีชุดขนาดสั้น 9 ตอนจบ (ความยาวรวมประมาณ 97 นาที) เท่าจำนวนจังหวัดในภาคอีสานที่แม่น้ำชีไหลผ่าน อัพโหลดให้กดชมออนไลน์ และใช้ภาพสีปนขาวดำ ส่วนอีกหนึ่งคือฉบับหนังยาว 107 นาทีที่ต่างกันเล็กน้อย แต่ลำดับเรื่องราวเหมือนฉบับสารคดีชุด ฉายครั้งแรกที่ TCDC จังหวัดขอนแก่นเมื่อวันคริสต์มาสอีฟ และตลอดทั้งเรื่องใช้ภาพขาวดำที่ผ่านการห่มคลุมตกแต่งด้วยฟิลเตอร์เนื้อฟิล์ม ซึ่งกลับยิ่งขับเน้นสัมผัสเนื้อภาพแบบดิจิตอลให้เตะตากว่าปกติ

“ตัวละคร” ในเรื่องออกเดินทางตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำชี จากต้นน้ำที่ชัยภูมิไปสิ้นสุดที่อุบลราชธานี เลนส์กล้องกวาดบันทึกภาพบรรดาสิ่งซึ่งหนังให้นิยามว่าคือ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, สภาพแวดล้อมทางสังคม และร่องรอยอารยธรรมของผู้คน” ทั้งซากปราสาทหินโบราณ ศาลเจ้าสิ่งสักการบูชา วัตถุอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์ พันธุ์ปลาน้ำจืดในอควาเรียม หรืออาจหมายรวมถึงกระทั่งสภาพบ้านเมืองสมัยใหม่ แต่สิ่งที่คนดูแทบไม่ได้เห็นเลยคือสายน้ำที่เป็นแกนหลัก เพราะแม่น้ำชีเคยถูกวิชชานนท์ใช้เป็นภาพหลักมาแล้วในหนังสั้น Chee’s Civilization Visual Sketch (2021) – อีกหนึ่งแฝดปีศาจลับแล (เพราะเป็นหนังที่แทบไม่มีใครได้ดู) ซึ่งปราศจากตัวละครหรือเส้นเรื่องเบลอเลือนทับซ้อนอย่าง Isan Sonata แต่ก็สอดส่ายสายตาหาร่องรอยอารยธรรมตามเส้นทางเดียวกัน

ขยับลึกลงไปในเนื้อหนัง นอกจากการหยิบใช้เพลง Masters of War (บ๊อบ ดีแลน / Bob Dylan) ที่มีแฝดเพื่อชีวิตคือเพลง คนกับควาย (สุรชัย จันทิมาธร) เมื่อเนื้อเรื่องเดินทางถึงขอนแก่น วิชชานนท์ยังอุปโลกน์อีกแฝดขึ้นเป็นเล่มในชื่อ Isan Journal – หนังสือปริศนาที่ตัวละครหลักค้นพบและซื้อต่อจากแผงมือสองในชัยภูมิ

Isan Journal เป็นตัวจุดประกายการเดินทางทั้งหมด แฝดอุปโลกน์รับบทแรงบันดาลใจให้ตัวละครถ่ายหนัง กองถ่ายขนาดย่อมของเด็กฟิล์มในเรื่อง (และของ Isan Sonata) เริ่มสั่งแอ็กชั่นจากต้นน้ำทางตะวันตกเฉียงเหนือสู่ปลายน้ำทิศตะวันออกเฉียงใต้ เดินสวนทางกับอีกแรงบันดาลใจคือแฝดหนังสือฝรั่งเศสอายุร่วม 140 ปี Isan Travels: Northeast Thailand’s Economy in 1883-1884 (เอเตียนน์ อัยโมนิแยร์ / Étienne Aymonier) ซึ่งเริ่มต้นบันทึกรายละเอียดของภาคอีสานจากบริเวณชายแดนติดกัมพูชาตามแผนที่ปัจจุบัน แล้วค่อยไล่สำรวจไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ

ภาพยนตร์อีกเรื่องกำลังถือกำเนิด เส้นเรื่องว่าด้วยการตามหาหญิงสาวลึกลับเริ่มจับต้องได้ ดำรงอยู่ในสถานะเรื่องแต่งของตัวหนังที่ประกาศตนเป็นสารคดีตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำชี ทว่ากระบวนการยังไม่ทันเสร็จสมบูรณ์ ผู้กำกับหนังเรื่องที่ว่า (เจ้าของหนังสือปริศนา) ก็ค่อย ๆ แปรสภาพเป็นตัวละครในอีกเส้นเรื่องหนึ่ง กระทั่งเพื่อนที่รับบทนักสืบข้ามเวลาตามหาหญิงสาวก็หลุดพ้นจากหน้าที่ของเรื่องแต่ง จากเด็กฟิล์มในกองถ่ายกลายเป็นอีกคู่แฝดปีศาจ ซึ่งทำตัวเสมือนภาพแทนเส้นทางสำรวจที่สวนทางกันของ Isan Journal กับ Isan Travels แล้วเคลื่อนมาบรรจบเป็นจุดตัดของสองแรงบันดาลใจที่จังหวัดยโสธร

เมื่อตัวละครทั้งสองในสถานะใหม่ได้รับรู้การมีอยู่ของกันและกัน แล้วหายสาบสูญหมดสิ้นหน้าที่ไปจากเวลาที่เหลืออยู่ของหนัง เส้นเรื่องและคำอธิบายใหม่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น – สิ่งที่พวกเขากำลังตามหาอย่างแท้จริงอาจไม่ใช่ทั้งอารยธรรมหรือหญิงสาว (ซึ่งหนังไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรไว้มากกว่าความลึกลับของเธอ) หากคือนักประพันธ์

วิชชานนท์ปรากฏตัวพร้อมหญิงสาวเมื่อเรื่องเดินทางมาถึงศรีสะเกษ แล้วอยู่กับเราไปจนจบเรื่อง เขาไม่ได้สวมแค่หมวกผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Isan Sonata ที่กำลังใช้บทสนทนาอย่างการตอบคำถามสัมภาษณ์ เพื่อเฉลยโจทย์บางข้อให้คนดูได้พอแกะรอย แต่ยังสวมหมวกนักประพันธ์ตัวจริงของหนังสือที่ทำขึ้นใหม่เรื่อง Isan Journal อยู่ด้วยอีกใบ

เขาเฉลยเป็นนัยต่อหญิงสาวกับคนดูว่า Isan Journal ที่ตัวเองเขียนด้วยรูปแบบของบทภาพยนตร์ เพื่อเล่าเรื่องการตามหาหญิงสาวลึกลับในภาคอีสาน แล้วกลายเป็นทั้งวัตถุช่วยเดินเรื่องและหนังที่ซ้อนอยู่ใน Isan Sonata อีกต่อหนึ่ง คือแฝดปีศาจที่เพิ่งสร้างของ Six Characters in Search of an Author หรือ ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ (ลุยจิ ปิรันแดลโล / Luigi Pirandello) บทละครอิตาเลียนอายุร่วมศตวรรษที่ใช้ความเป็นละครเวทีสะท้อนกลับไปยังกระบวนการสร้างกับปรัชญาของการละคร การเล่าเรื่อง และเรื่องเล่า

Isan Sonata ในเงื้อมมือของนักประพันธ์ จึงเป็นทั้งการหักล้างสารคดีด้วยเรื่องแต่งที่โดดข้ามตระกูลหนังไปมา หักล้างความเป็นภาพยนตร์ด้วยการเผยธาตุแท้ที่อยู่เบื้องหลัง และวิพากษ์สถานะของมานุษยวิทยาบันทึกทั้งหลาย เมื่อตัวละครนักสืบพูดโพล่งขึ้นกลางพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อารยธรรมว่า pseudo anthropology (มานุษยวิทยาจอมปลอม) แต่สำหรับใครที่ยังเหลือแรงใจจะตามหาสิ่งยึดเหนี่ยวจากนักประพันธ์ หลังผ่านเวลามาจนถึงช่วงท้ายเรื่อง ถ้อยแถลงของวิชชานนท์ก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายตายตัว เพราะในขณะที่กำลังตั้งคำถามหรือกระทำแย้งในสิ่งซึ่งมานุษยวิทยาบันทึกหรือพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เคยทำ ตัวหนังก็ปฏิเสธแข็งขืนหากมีใครต้องการสถาปนาให้เป็นความถูกต้องหรือสิ่งทดแทน

ข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดเชิงมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งไม่ปรากฏในตัวเรื่อง แต่คนดูอาจได้เห็นเมื่อลงแรงสืบค้นจนพบข้อมูลช่วยขยายความในเรื่องย่อหรือสารคดีเบื้องหลัง เช่น สถานที่ที่หนังตั้งกล้องถ่ายคือโบราณสถานจากยุคทวารวดีหรือลพบุรี หรือถูกกล่าวถึงในบันทึกเล่มใด หรือเหตุผลว่าทำไมท่ารถกับสถานีรถไฟสมัยใหม่ถึงสำคัญ – ในขณะที่ตัวผู้กำกับหรือนักประพันธ์ ซึ่งปกติในกรณีนี้ควรคาดหวังให้คนดูเชื่อถืออย่างนักมานุษยวิทยา ก็จงใจเปิดเผยข้อผิดพลาดต่อหน้ากล้อง (และตัวละครหญิงสาว) ผ่านมุขตลกหน้าตายอย่างการสับสนว่า 1883-1884 ในชื่อหนังสือ Isan Travels คือพุทธศักราชหรือคริสตศักราช หรืออ่านผิดคำบรรยายภาพภาษาฝรั่งเศส Le roi et la reine de Siam assistant au départ du <<Saghalien>> ว่าเขียนถึงจังหวัดร้อยเอ็ด

บทสนทนาเกือบทั้งหมดของตัวละครวิชชานนท์กับหญิงสาว ซึ่งเกิดขึ้นเพื่ออธิบายความคิดเบื้องหลังของหนัง (อย่างระแวดระวัง ลดเลี้ยวเฉไฉ เพื่อจะได้ไม่ผูกมัดตัวเอง) เกิดขึ้นบริเวณล็อบบี้โรงภาพยนตร์เครือแฟรนไชส์และขณะเดินทัวร์อควาเรียม (อ้างชื่อหนังบล็อกบัสเตอร์อย่าง Pirates of the Caribbean กับ Waterworld เสียด้วย) เมื่อหนังพาทั้งคู่กับคนดูไปจบเรื่องที่แม่น้ำชีตามชื่อเรื่องภาษาไทย จึงตีความได้เช่นกันว่าผู้กำกับกำลังหยอกล้อใครก็ตามที่เผลอเชื่อว่าเขากำลังทำหน้าที่เช่นนักมานุษยวิทยา เพราะ “อารยธรรมลุ่มน้ำชี” ที่หนังตามรอยจนเหมือนได้พบ ก็แทบไม่ต่างอะไรกับอควาเรียมแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืด ซึ่งถูกจัดวางให้เป็นคู่แฝดปีศาจกับภาพยนตร์

pseudo anthropology จึงอาจไม่ได้หมายถึงเพียงบันทึกที่นักสำรวจคนขาวเขียน หรือพิพิธภัณฑ์ที่สร้างโดยส่วนกลางของรัฐไทยรวมศูนย์ และหากใครต้องการเค้นคอเอาความจริงจากนักประพันธ์ เขาคงตอบด้วยคำพูดท่อนหนึ่งที่หยิบยืมจากตัวละครผู้กำกับในบทละครของปิรันแดลโล – “ความจริงอะไรกันคุณ ขอทีเถอะ นี่เราอยู่ในโรงละครนะ ความจริงมีถึงจุดหนึ่งเท่านั้น”

ชญานิน เตียงพิทยากร
เขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ Starpics, Bioscope (อดีต), The Momentum, a day, Film Club และแหล่งอื่นตามแต่จังหวะโอกาส / รางวัลชมเชยกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือฯ ประจำปี 2018 และ 2020 / สภาพ: ไล่ดูหนังใกล้หมดอายุใน Netflix และ MUBI

LATEST REVIEWS