Home Review Film Review PLAN 75 : DIE TOMORROW

PLAN 75 : DIE TOMORROW

0
PLAN 75  : DIE TOMORROW

ปีนี้คุณอายุ 78 ไม่มีลูกมีหลาน อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวในอะพาร์ตเมนท์เก่า ๆ ที่มีหนังสือแจ้งให้ย้ายออกก่อนหมดปี ถึงจะอายุขนาดนี้คุณยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นแม่บ้านในโรงแรม เพื่อนรอบ ๆ ตัวก็เป็นคนอายุวัยไล่เลี่ยกัน ต่างคนต่างอยู่ลำพัง

ในปีนั้นเกิดคดีไล่ฆ่าคนแก่ โดยฆาตกรมีสเตตเมนท์ชัดเจนว่า นี่คือหนทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ ลดจำนวนประชากรและทรัพยากรในการดูแล เขาทำเพื่อความสงบสุขของญี่ปุ่น เขาฆ่าตัวตายหลังไล่ฆ่าคนแก่ไปหลายคน นำไปสู่การออกแคมเปญโดยรัฐที่ชื่อว่า แผน 75

กล่าวอย่างง่ายคือ โครงการนี้รับสมัครผู้ที่มีอายุ 75 ปีเพื่อไปตาย ผู้สมัครเข้าโครงการจะได้เงินพิเศษหนึ่งแสนเยนสำหรับการใช้จ่ายฟรี ๆ และเปลี่ยนใจได้ตลอดโครงการ หลังจากเข้าร่วม ทางโครงการจะนัดวันตายให้กับคุณ คุณแค่เตรียมตัวให้พร้อม เดินทางมายังสถานที่ตามเวลาที่กำหนด เข้านอนบนเตียงพร้อมกับสูดดมแก๊ส จากไปอย่างสงบ

คุณคิดว่าไม่มีใครจะเหมาะกับโครงการนี้มากไปกว่าคุณอีก ปราศจากบ่วงห่วงใย ไม่มีมรดกทรัพย์สิน คุณเข้าร่วมโครงการ ระหว่างนั้นคุณก็รอ มีเจ้าหน้าที่โทรมาติดตามพูดคุยทุกวันศุกร์ครั้งละ 15 นาที คุณค่อย ๆ เก็บข้าวของ บอกลา แต่ความตายไม่ได้ง่ายดายเพียงนั้นแม้จะเป็นความตายที่ได้รับการรับรองโดยรัฐ

ในเดือนกรกฎาคม ปี 2016 ญี่ปุ่นมีคดีสำคัญนั่นคือ การสังหารหมู่ผู้พิการในสถานดูแล Sagamihara*1 คดีสะเทือนขวัญที่มีผู้เสียชีวิต 19 ราย บาดเจ็บอีก 26 รายนี้สะเทือนขวัญกว่าที่คิด เพราะก่อนเกิดเหตุหลายเดือน ชายหนุ่มที่เป็นฆาตกรและอดีตลูกจ้างของสถานพยาบาลแห่งนี้เคยพยายามยื่นจดหมายให้กับโฆษกรัฐบาลของชินโซ อาเบะ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื้อความในจดหมายบอกว่า บรรดาผู้พิการเหล่านี้ควรได้รับการกระทำการุณยฆาต เพราะการมีชีวิตของพวกเขาสร้างภาระให้กับผู้ดูแลอย่างใหญ่หลวง การกำจัดผู้คนเหล่านี้จึงเป็นการทำเพื่อ ‘เห็นแก่ญี่ปุ่นและสันติภาพของโลก’ หนังเรื่องนี้เริ่มต้นจากคดีนั้น*2 และรวมเข้ากับวิกฤตสำคัญอีกกรณี นั่นคือปัญหาของสังคมสูงวัย เพราะจากตัวเลขในปี 2020 ประเทศญี่ปุ่นมีประชากรสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีสูงถึง 28.7%*3 ซึ่งน่าจะสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก และอาจจะเป็นประเทศแรกของโลกที่ต้องผเชิญกับวิกฤตสังคมสูงวัย

หนังเรื่องนี้จึงเริ่มต้นขึ้นเช่นนั้น เปลี่ยนจากคดีการไล่แทงคนพิการผู้สูงอายุและนำมาซึ่งแคมเปญลดจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 75 ปี ที่เป็นเหมือนด้านกลับของแคมเปญสนับสนุนให้ผู้คนมีลูก แต่นี่ไม่ใช่สิ้งใหม่ อย่างน้อยก็ในสังคมญี่ปุ่นที่มีตำนาน Ubatsue*3 อันหมายถึงการเอาหญิงชราไปทิ้ง ซึ่งในอีกความหมายหนึ่งคือ การแบกพ่อแม่ที่แก่เฒ่าขึ้นไปทิ้งให้ตายบนภูเขา แม้ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ แต่ก็เป็นตำนานที่สำคัญเรื่องหนึ่งถึงขนาดที่มีคนเอาไปเขียนนิยายและกลายเป็นหนังอย่าง The Ballad of Narayama (1958/1983) ที่เล่าเรื่องของแม่ผู้พยายามหาเมียใหม่ให้ลูกชายและตระเตรียมตัวเองกับการขึ้นไปพบเทพเจ้าแห่งภูเขาในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงตามกฏของหมู่บ้าน ถึงขนาดยอมเลาะฟันตัวเองเพื่อยืนยันว่าแก่เฒ่ามากพอจะขึ้นไปตายบนเขาได้แล้ว ตัวหนังอธิบายบริบทว่าเกิดขึ้่นในสังคมหมู่บ้านที่อดอยากและจะยิ่งลำบากมากขึ้นในฤดูหนาวที่ทำการเกษตรไม่ได้ การพาพ่อแม่ขึ้นไปตายบนเขาเป็นการลดจำนวนประชากร ลดปากท้องที่ต้องดูแล การตายของคนรุ่นพ่อแม่จึงเป็นการตายเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ในยุคที่คำว่าชาติยังไม่ได้ก่อรูปขึ้น

การตายเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ใน Plan 75 ก็เป็นเช่นเดียวกัน มันคือโครงการของรัฐที่สนับสนุนให้คนแก่ลุกออกมาตายเพื่อชาติ ให้ความหมายของการตายในทำนองของการเสียสละเพื่อคนรุ่นหลัง เพียงแต่ไม่ต้องลำบากเดินทางขึ้นไปตายบนภูเขา แค่เพียงลงทะเบียน รับเงิน นัดวัน ทุกคนทำเพื่อชาติได้ พร้อมกับคำขวัญว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะตายได้

หนังติดตามคนแก่อย่างน้อยสองคนที่ลงทะเบียนเข้าโครงการ คนแรกคือ หญิงชราโดดเดี่ยวที่การตายน่าจะคลี่คลายปัญหาของเธอได้ กับชายชราอีกคนหนึ่งที่ตั้งใจมาลงทะเบียนตายในวันเกิดของตัวเอง ในขณะเดียวกันหนังยังตามตัวละครหนุ่มสาวที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้อีกสองสามคน คนแรกคือชายหนุ่มที่ทำหน้าที่รับลงทะเบียน พูดจาโน้มน้าวผู้คนราวกับชักชวนให้ซื้อบ้าน หรือไปรบ จนเขาพบว่าลุงของเขาเป็นคนที่มาสมัครลงทะเบียนกับโครงการ ลุงที่เป็นสมาชิกแกะดำของครอบครัว แม้แต่วันตายของพ่อก็ไม่มา อีกคนเป็นหญิงแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ที่ย้ายจากงานดูแลคนแก่ในบ้านพักคนชรามาเป็นแม่บ้านในโครงการฆ่าคนแก่ ทำงานคัดแยกสมบัติของผู้ตาย เธอมาทำงานที่ญี่ปุ่นเพื่อหาเงินไปดูแลให้ลูกสาวมีชีวิตรอดจากโรคร้าย และคนสุดท้ายคือสาวคอลล์เซนเตอร์ที่ทำหน้าที่อยู่เป็นเพื่อนคนชราที่เข้าร่วมโครงการ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและรับฟังรายละ 15 นาทีต่อสัปดาห์ จนกระทั่งเธอผูกพันกับคุณยายคนที่กำลังจะไปตาย

สิ่งที่น่าสนใจคือแทนที่หนังจะโฟกัสที่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการุณยฆาต ทั้งในแง่สนับสนุนและต่อต้าน ปัญหาทางการแพทย์ หรือกฏหมาย หรือจริยธรรม หนังกลับเลือกทิ้งไว้เป็นเพียงฉากหลังจางๆ ขณะที่หนังเลือกตัวละครที่เหมาะเจาะที่สุดสำหรับการตัดสินใจยุติชีวิตตัวเอง คนที่ไม่มีอะไรต้องพะวง คนที่ชีวิตยามชรายังต้องดิ้นรนเลี้ยงปากท้องอย่างยากลำบาก ความตายดูจะเป็นทางออกเบ็ดเสร็จทั้งต่อชีวิตในโลกทุนและต่อความสิ้นยินดีในการมีชีวิตอยู่ คนที่ถูกสังคมบีบคั้นให้ตายเพราะเหมาะที่จะตาย แต่ในขณะเดียวกันก็พูดถึงเยื่อใยของมนุษย์ที่มีต่อกันทั้งต่อความตายและการมีชีวิตอยู่

สิ่งที่หนังสนใจคือการจ้องมองชีวิตหลังการเลือกที่จะตาย ช่วงเวลาจากการสมัครเข้าโครงการจนถึงวันที่เราจะขึ้นรถเมล์ไปตาย หนังติดตามไปดูปัญหาของคนสูงวัยที่อาศัยอยู่โดยลำพัง ซึ่งชวนให้ผู้ชมได้จ้องมองความกลัวของตัวเองแบบหน้าตรง หนังมีฉากที่ทรงพลังมาก ๆ เมื่อเธอไปนอนบ้านเพื่อนสนิทที่อยู่ในวัยใกล้ ๆ กัน คุณยายสองคนกินข้าวเย็นแล้วเข้านอน เพื่อนของเธอบอกว่า งั้นคืนนี้ปิดทีวีนอนได้ เพราะมีคนมาอยู่บ้านด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องโจรอีก หลังปิดไฟเธอเอื้อมมือไปจับมือเพื่อนสาวเอาไว้ ถ่ายทอดความอบอุ่นให้แก่กันในวันที่ยังทำได้ หรือการติดตามฉากชายหนุ่มไปเยี่ยมเยียนลุงของตนแล้วก็เจอว่าลุงเคยไปมาแล้วทุกที่ ไม่ว่าจะไปไหนก็ไปบริจาคเลือดเพื่อเก็บบัตรบริจาคไว้เป็นคอลเล็กชัน -ตัวคนเดียวอย่างฉันใครจะเรียกไปที่ไหนก็ไปได้ทันที- ชายชราพูดขึ้นโดยหันหลังให้กล้อง ขณะบ่นว่าตอนนี้บัตรบริจาคเลือดกลายเป็นเพียงการ์ดใบเดียวน่าเบื่อไปแล้ว หรือการให้ตัวละครหลักสองตัวได้มีความสุขกับโมงยามท้าย ๆ ของชีวิต ผ่านทางการออกไปเล่นโบว์ลิงกับสาวคอลล์เซนเตอร์ หรือการไปกินอาหารมื้อสุดท้ายกับหลานชาย

อย่างไรก็ดี ความงดงามคือหนังไม่ได้ทำให้ตัวละครหลักของพวกเขาลังเลที่จะตาย พวกเขาเพียงรื่นรมย์กับโมงยามสุดท้ายของชีวิต หลานชายสั่งสาเกให้ขายเฒ่าดื่มเป็นครั้งสุดท้าย ระหว่างทางเขาอ้วกออกมา ไม่ใช่เพราะกลัวตายแต่อาจจะเพราะเมา คนเช่นเขาและเธอถูกทำให้ไม่มีค่าในการมีชีวิต แต่มีค่าในความตาย เราบอกได้หรือไม่ว่านี่คือความตายโดยสมัครใจ ความตายอันแสนสุข หรือเป็นเพียงการตายเพื่อให้พ้นไปจากชีวิตที่ทรมาน และเราจะนับว่านี่คือความตายจากการถูกทำให้ตาย หรือสมัครใจที่จะตายกันแน่

กระนั้นความตายยังคงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและชวนหวาดหวั่น ไม่มีความตายที่สงบเพียงพอ ในช่วงท้าย หนังให้ตัวละครได้จ้องมองความตายแบบตรงหน้า ขณะที่ตัวเองกำลังตายเช่นกัน ความตายถูกทำให้ง่าย สะอาดและไม่เจ็บปวด ถึงที่สุดก็คือความตาย ขณะที่ฉายภาพอันอบอุ่นอ่อนโยนของมนุษย์ทั้งในการมีชีวิตและตายไป หนังก็ไม่ได้ทำให้ความตายกลายเป็นความโรแมนติก เพราะความตายมันน่ากลัว ต่อให้ไม่ใช่การนอนติดเตียงในโรงพยาบาล ไม่ใช่การตายอย่างโดดเดี่ยวในห้องปิด หรือตายอย่างน่าเวทนาในอุบัติเหตุ ความตายที่สะอาดที่สุดก็ยังเป็นความตายชนิดหนึ่ง หญิงชราลุกขึ้นมานั่งมองชายชราเตียงข้าง ๆ ค่อย ๆ หมดลมหายใจ ภาพความตายฉายชัดตอนที่เธอเองก็มาตาย

ในทางตรงกันข้าม หนังก็ฉายภาพคนหนุ่มสาวที่อาจจะเห็นดีเห็นงามกับความตาย และความผูกพันที่ก่อขึ้นในใจพวกเขา เพราะเมื่อคนตายเปลี่ยนจากคนที่ไร้ชื่อไร้ใบหน้ามาเป็นมนุษย์คนหนึ่งจริง ๆ คนจริง ๆ ที่มีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ไม่ใช่เพียงเสียงจากปลายสายหรือชื่อในเอกสาร แต่เป็นคนจริง ๆ ที่มีความทุกข์ ความกลัว ความรักและความโดดเดี่ยวเป็นของตัวเอง หนังให้น้ำหนักกับชายหนุ่มที่แม้จะเกลียดลุงมาตลอด แต่ก็พบว่าความตายของลุงที่เขาไม่ควรใส่ใจกลับรบกวนจิตใจเขาอย่างยิ่ง จนในตอนท้ายเขาต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อรักษาเยื่อใยในความเป็นมนุษย์ของตัวเอง หรือแม้แต่หญิงแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสังคมนี้ เธอมีหน้าที่คัดแยกสิ่งของที่ครั้งหนึ่งมันเคยมีคุณค่าทั้งทางกายและใจต่อผู้คน แต่ตอนนี้ไม่มีความหมาย แรงงานข้ามชาติอย่างเธอได้ประโยชน์จากกิจการความตายนี้เพราะมันคืองานที่มอบเงินให้เธอและลูกสาวได้มีชีวิต ขณะเดียวกันเธอก็พบว่า คนตายกลายเป็นสิ่งของแบบเดียวกันกับที่เธอกำลังคัดแยก

ในฉากหนึ่งชายหนุ่มบอกกับคุณยายว่า ถ้าเลือกการเผารวม คุณยายจะไม่ต้องกันเงินที่ได้ไว้เป็นค่าทำศพ และคุณยายบอกว่าตายไปแล้วก็ไม่รู้สึกอะไรแล้วนี่นะ ในเวลาต่อมาเขาพบว่าบริษัทที่รับเผาศพสามารถนำเถ้ากระดูกที่ได้ไปถมที่ ผู้คนในหนัง (และในความเป็นจริง) จึงเป็นเพียงวัตถุที่ต้องถูกนำมาใช้ประโยชน์สูงสุดในสายตาของรัฐ ความตายที่รัฐมอบให้ผ่านโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการเลือกความตายได้เองจึงไม่ได้เป็นการเลือกโดยเจตจำนงเสรีที่แท้ แต่เป็นการเลือกกึ่งบังคับผ่านทางการหว่านล้อมและการที่สังคมที่บอกกับผู้สูงวัยว่าไปตายได้แล้ว ในฉากหนึ่ง คุณยายพยายามมองหาอะพาร์ตเมนท์ใหม่ แต่ไม่มีนายหน้าคนไหนหาให้ได้เพราะเจ้าของไม่อยากให้คนแก่ที่ไม่รู้จะตายวันตายพรุ่งเข้าอยู่ ไม่นานคุณยายก็โดนไล่ออกจากงานหลังเพื่อนของเธอล้มในที่ทำงาน เพราะพนักงานสูงวัยทำให้เกิดความเสี่ยง โลกทุนบีบให้คนที่หมดประโยชน์ต่อการผลิตต้องออกจากสังคมไปอย่างเงียบ ๆ และรัฐช่วยจัดการให้เป็นไปอย่างถูกกฏหมายอีกชั้นหนึ่ง

หนังยังชวนให้นึกถึงสารคดีเรื่อง Peace (2010, Kazuhiro Soda) ที่ติดตามสองผัวเมียวัยชราที่ทำงานอยู่สถานพยาบาลสำหรับเยี่ยมบ้านคนแก่หรือคนพิการ สามีเป็นคนขับรถรับส่งคนพิการ ส่วนภรรยาเป็นพยาบาลเยี่ยมบ้าน พวกเขาดูแลคุณตาวัย 91 ที่เคยเป็นทหารเก่า ตอนนี้อยู่ในบ้านคนเดียวนอนคอยความตายเพราะเป็นมะเร็งปอด แต่ยังแข็งแรงพร้อมจะกล่าวขอโทษทุกคนที่อาการป่วยของตาทำให้คนอื่นต้องลำบาก หนังเฝ้าสังเกตติดตามสองผัวเมียที่ตัวเองอีกไม่กี่ปีก็จะกลายเป็นผู้ถูกดูแลเสียเอง แต่ที่เศร้าที่สุดคือคุณตาที่อยู่คนเดียวในบ้านแคบ ๆ สกปรก ๆ ยังคงสูบบุหรี่เพราะเป็นความรื่นรมย์เดียวที่เหลืออยู่ ไม่เช่นนั้นก็จะเหลือแค่หายใจเข้า หายใจออก รอความตายไปเรื่อย ๆ ฉากที่รุนแรงมากคือการตามคุณตาที่ดูแข็งแรงไปโรงพยาบาล แล้วไปแอบฟังหมอพยาบาลคุยกันว่า ดูจากสภาพมันน่าจะร้ายแรงแล้ว แต่คุณตายังยิ้มขอบคุณทุกคน พอออกจากโรงพยาบาล คุณตาก็นั่งลงริมถนนและจุดบุหรีสูบทันที มันเหนื่อยมากจริง ๆ ที่การกำลังตายของเรามันยังต้องเป็นภาระของคนอื่น และแน่นอนหนังจบลงพร้อมกับชีวิตของคุณตา

กล่าวตามสัตย์ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นฝั่งสนับสนุนกฏหมายการุณยฆาต อย่างน้อยตัวเองก็หวังว่าจะได้ใช้สิทธิ์ในการเลือกที่จะตายเมื่อเวลามาถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากดูหนังอย่าง Peace ฉากจบของ Plan 75 อาจจะชวนให้ตั้งคำถามเมื่อหนังเลือกเข้าข้างชีวิตที่นึกไม่ออกว่ามันจะดีกว่าความตายสักแค่ไหน แต่สิ่งที่หนังฉายภาพให้เห็นก็ทำให้รู้สึกสะเทือนใจอย่างยิ่งทั้งในฐานะปัจเจกที่ต้องเผชิญหน้ากับความตายโดยลำพัง เพราะไม่มีใครพาใครไปส่งถึงความตายได้จริง และในฐานะพลเมืองที่ความตายกลายเป็นเครื่องมือของรัฐที่ไม่ใช่แค่อนุญาต หากยังจัดการให้เสร็จสรรพอีกด้วย

หนังที่ดูเหมือนสนใจแค่มนุษย์จำเพาะชื่อจึงวิพากษ์รัฐและการจัดการที่ไม่ได้แตกต่างไปจากกฏหมู่บ้านอันแสนป่าเถื่อนของสังคมชาวนาโบราณใน The Ballad of Narayama มันเป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเครื่องทรงและโฉมหน้า จากการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือว่าการไปตายบนเขาคือการกลับไปหาเทพเจ้า ยังมีประเด็นให้ถกเถียงอีกมากเกี่ยวกับกฏหมายการุณยฆาต ทั้งประเด็นในทางการแพทย์ที่แพทย์อาจจะเลือกทางที่ง่ายกว่าอย่างการมอบความตาย แทนที่การพยายามการรักษาและต่อสู้เพื่อคนไข้ถึงที่สุด หรือการให้เอกชนเข้ามาจัดการการค้าความตาย ผ่านการประกอบธุรกิจรับจ้างทำให้ตาย (ซึ่งในหนังพูดถึงไว้นิดหน่อย) หรือการใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการมรดก*5 ความตายไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นการมีชีวิตอยู่ที่ไร้ทางเลือก ความตายไม่ได้มาจากศักดิ์ศรีของการมีชีวิตมามากพอแล้ว แต่เพราะชีวิตไม่อาจทนรับได้อีกต่อไป ตายไปเพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ดูแล มาตายเพื่อช่วยชาติและตายเพื่อหลุดพ้น หากไม่ใช่หลุดพ้นจากวัฏสงสาร แต่หลุดพ้นจากโลกทุนนิยมที่ไม่ต้องการคุณอีกแล้ว จึงไม่ใช่ความตายอันแสนสุขอย่างที่เราเข้าใจเสียทีเดียว


*1 https://en.wikipedia.org/wiki/Sagamihara_stabbings
*2 https://www.facebook.com/hotguyinthemovies/posts/pfbid02k37Xs9DAfVcoD1JuXYxhLJ1YkHCrbSRhCMcDULMJR4F8MMbiSf7gSZt3AZ7zG78Bl?fbclid=IwAR2CAi0gvXveHmmATl5c9zB8XcjZpjgo2mxrgXy7pQscjZkB4fHhAcI1iQ4
*3 https://www.europarl.europa.eu/RegData/etudes/BRIE/2020/659419/EPRS_BRI(2020)659419_EN.pdf
*4 https://en.wikipedia.org/wiki/Ubasute
*5 อ่านดีเบทเรื่องการุณยฆาตเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3612319