เพิ่งคืนก่อนที่จะดู Blue นี่เอง ที่ผมฝันถึงแม่ กล่าวตามสัตย์ สองปีหลังจากแม่ตาย ผมฝันถึงแม่บ่อย แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมฝันถึงแม่ เพราะโดยทั่วไปแล้วความฝันถึงแม่นั้นมักจะมาในรูปของเวลาการอยู่ด้วยกันที่ยืดยาวออกไป ความฝันเป็นเหมือนการลบช่วงความตายออก แล้วทอดเวลาสามัญดั้งเดิมออกไปเรื่อยๆ ทำกับข้าว กินข้าว คุยเล่น ผมมักฝันแบบนั้น แต่เพิ่งเมื่อคืนนี้เองผมฝันถึงแม่หลังความตาย ในฝันแม่สวมเสื้อสีชมพูขาวที่แม่ชอบ แล้วมาคุยกับผมว่าให้ผมบริจาคเสื้อผ้าของแม่ไปเสีย ผมตื่นขึ้นด้วยความรู้สึกแตกต่างออกไป ความรู้สึกที่ไม่ใช่ความโหยเศร้าเหมือนก่อนหน้านี้ ความรู้สึกที่ยังไม่มีชื่อเรียก
ครึ่งแรกของ Blue ทำให้ผมคิดถึงความฝันที่เกิดขึ้นในคืนก่อนหน้า จูลี่เป็นนักแต่งเพลง แต่สามีของเธอคือนักแต่งเพลงชื่อก้องโลก เขาเพิ่งได้รับคำขอให้เขียนคอนแชร์โตสำหรับการรวมเป็นหนึ่งของสหภาพยุโรป วันหนึ่งขณะเขาขับรถไปกับเธอและลูก กำลังเล่าเรื่องตลกค้างคาอยู่ รถชน เขาและลูกตาย ทิ้งเธอไว้ในโลกที่เป็นสีเหลืองอมส้ม มีสีฟ้าเหมือนภูติผีคอยหลอนหลอก
ในเรื่องความตาย ผมเรียนรู้ว่าสิ่งที่โบยตีเราที่สุดไม่ใช่การตาย แต่มันคือความรู้สึกของการโบยตีตัวเองว่าทำได้ไม่ดีพอ ทั้งในตอนที่เขายังมีชีวิตและตอนที่เขากำลังตาย ยิ่งกว่านั้นเสียใจกับความเสียใจไม่พอตอนที่เขาจากไปแล้ว การรู้สึกว่าตัวเองเป็นสาเหตุของความตายเพราะต้องมีอะไรสักอย่างผิดพลาดจากน้ำมือของเรา ถ้าเราทำดีที่สุดจริงๆ คนที่เรารักจะยังมีชีวิตอยู่ ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่ผิดพลาด เราจะเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดเสมอ การจมอยู่กับความรู้สึกเป็นคนที่ยังอยู่เมื่อคนที่รักตายจาก การเห็นคนอื่นร้องไห้ ‘เพราะคุณไม่ร้อง’ การรู้สึกสิ้นใยดี ไม่มีปรารถนาในสิ่งใดอีกแล้ว เพราะความรัก ความผูกพัน ทุกอย่างล้วนเป็นเพียงกับดักดังที่จูลี่บอก การปลดปล่อยเหล่านั้นแท้จริงคือเสรีภาพหรือการถูกจองจำในอีกรูปแบบกันแน่ จูลีเรียกชายคนหนึ่งมา เขาเป็นเพื่อนร่วมงานของพวกเธอ เขาอาจจะแอบชอบเธอมาตลอด เธอมีเซ็กซ์กับเขาบนฟูกนอนที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสุดท้ายของบ้านที่ขายข้าวของทุกอย่างไป หลักจากมีเซ็กซ์เธอไล่เขาไปออกไป ไปอยู่อพาร์ตเมนต์ถูกๆ เพียงลำพัง เพื่อไม่ทำอะไรเลย เอาโน้ตเพลงที่สามีเขียนไม่จบมาโยนทิ้งถังขยะ เธอจะไม่รักหรือผูกพันกับใครเลย อิสระจากมนุษย์และโลก หรือในอีกทางหนึ่ง จองจำตัวเองไว้ด้วยความโดดเดี่ยว ลงโทษตัวเองที่ยังมีชีวิตอยู่ จมลงในแสงสีฟ้า แสงแห่งเสรีภาพ เสรีภาพที่กลายเป็นพันธนาการ
ในเรื่องความตาย ผมเรียนรู้ว่าสิ่งที่โบยตีเราที่สุดไม่ใช่การตาย แต่มันคือความรู้สึกของการโบยตีตัวเองว่าทำได้ไม่ดีพอ ทั้งในตอนที่เขายังมีชีวิตและตอนที่เขากำลังตาย ยิ่งกว่านั้นเสียใจกับความเสียใจไม่พอตอนที่เขาจากไปแล้ว การรู้สึกว่าตัวเองเป็นสาเหตุของความตายเพราะต้องมีอะไรสักอย่างผิดพลาดจากน้ำมือของเรา ถ้าเราทำดีที่สุดจริงๆ คนที่เรารักจะยังมีชีวิตอยู่ ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่ผิดพลาด เราจะเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดเสมอ การจมอยู่กับความรู้สึกเป็นคนที่ยังอยู่เมื่อคนที่รักตายจาก การเห็นคนอื่นร้องไห้ ‘เพราะคุณไม่ร้อง’ การรู้สึกสิ้นใยดี ไม่มีปรารถนาในสิ่งใดอีกแล้ว เพราะความรัก ความผูกพัน ทุกอย่างล้วนเป็นเพียงกับดัก
หากเธอถูกรบกวนจากโลกทั้งใบ จากผู้หญิงร่วมตึก จากเพื่อนร่วมงานของสามี จากนักข่าว หรือกระทั่งจากการทุบตีริมถนนที่ไม่เกี่ยวกับเธอ หรือแม้แต่จากหนูที่คลอดลูกในห้องเธอ เสรีภาพที่จะจองจำตนเองของเธอถูกขัดขวางจากเสียงกริ่ง เสียงโทรศัพท์ ความพยายามที่จะตามหาตัวเธอ เป็นส่วนหนึ่งของเธอ ช่วยเหลือเธอ หรือแม้แต่เอาประโยชน์จากเธอ
Blue เป็นหนังภาคต้นในไตรภาคสามสีที่หยิบเอาคำขวัญของฝรั่งเศส เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ มาทำเป็นหนังโดยใช้สีของธง ฟ้า ขาว แดง มาเป็นชื่อของแต่ละตอน ถึงตอนนี้โลกรับรู้แล้วว่านี่คือหนึ่งในไตรภาคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก และ Krzysztof Kieślowski คือคนทำหนังที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก
ภายใต้หัวข้อที่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ Kieślowski กลับเลือกพาผู้ชมลงไปสำรวจความทุกข์ระทมเฉพาะบุคคลโดยตัดทิ้งความเป็นการเมืองของมันออกไปจนหมด เหลือเพียงฉากหลังจางเบลอของการรวมกันของสหภาพยุโรป แต่นั่นกลับกลายเป็นว่าความส่วนบุคคลอันจำเพาะเจาะจงกลับกลายเป็นความสากลของมนุษยชาติ เสรีภาพเลยพ้นไปจากการปลดปล่อยตัวเองจากอาณานิคม หรือการกดขี่ ไปสู่การสำรวจเสรีภาพ และความไม่สามารถมีเสรีภาพที่แท้จริง
เสรีภาพของจูลีถูกขัดจังหวะตลอดเวลา ทั้งจากสื่อ จากเพื่อนบ้าน จากอดีตเพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงจากคนไม่รู้จักที่มาต่อยตีกันหน้าบ้าน ร้ายที่สุด คือหนูที่มาคลอดลูกในห้องของเธอ หนูที่เธอเกลียดกลัว แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ถึงที่สุด จูลี่ผู้สันโดษก็ไม่อาจมีเสรีภาพจากทุกสิ่ง ไม่ใช่แค่ความเศร้าที่ห่อหุ้มเธอ แต่ยังรวมถึงศีลธรรมจรรยาของเธอ (ต่อเรื่องของการขับไล่ผู้หญิงไม่ดีคนหนึ่งในตึก) ร่างกายและความปรารถนาของเธอ (ต่อชายผู้อาจจะรักเธอ) ความผูกพันของเธอ (ต่อแม่ผู้เป็นอิสระอย่างแท้จริงผ่านทางการลืมทุกอย่างและทุกคน) ความหลงใหลในดนตรีของเธอ ไปจนถึงสิ่งที่อยู่ลึกที่สุดในใของเธอคือความกลัวของเธอ ต่อหนูที่ยามค่ำคืนส่งเสียงกวนเธอ
เสรีภาพจึงไม่ใช่การละทิ้ง เพราะเราไม่สามารถละทิ้งความรู้สึกนึกคิดของเราได้ เราไม่อาจละทิ้งความเศร้าหมองที่เรามีต่อความตายได้ เราไม่สามารถดึงปลั๊กออกและมูฟออนต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ เรายังคงรู้ร้อนรู้หนาว รู้เจ็บรู้ปวด การละทิ้งจึงไม่ใช่การปลดปล่อย แต่คือการขุดหลุมลึก หรือสร้างกรงชนิดหนึ่งขึ้นมา แล้วขังตัวเองไว้ข้างใน
เสรีภาพจึงไม่ใช่การละทิ้ง เพราะเราไม่สามารถละทิ้งความรู้สึกนึกคิดของเราได้ เราไม่อาจละทิ้งความเศร้าหมองที่เรามีต่อความตายได้ เราไม่สามารถดึงปลั๊กออกและมูฟออนต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ เรายังคงรู้ร้อนรู้หนาว รู้เจ็บรู้ปวด การละทิ้งจึงไม่ใช่การปลดปล่อย แต่คือการขุดหลุมลึก หรือสร้างกรงชนิดหนึ่งขึ้นมา แล้วขังตัวเองไว้ข้างใน
หากสิ่งที่ปลดปล่อยจูลี คือการทรยศ และการเผชิญหน้า คนที่ปลดปล่อยจูลีไม่ใช่ตัวเธอเอง หรือใครคนคนหนึ่ง หาคือสื่อสารมวลชน เมื่อรูปของสามีเธอถูกเผยแพร่ทางโทรทัศน์และจูลีได้รับรู้ว่าเขามีชีวิตอยู่หนอื่น การทรยศของสามีไม่ใช่การตายจาก แต่คือสิ่งที่เกิดขึ้นขณะยังมีชีวิต ทุกข์เทวษที่เธอจ่อมจมอยู่เป็นเพียงทุกข์ของเธอผู้เดียว โลกไม่ได้จบสิ้นลง มันดำเนินต่อไปตั้งแต่เธอยังไม่ทุกข์ และยังดำเนินต่อไปแม้เธอจะทุกข์
เสรีภาพจึงกลายเป็นการปล่อยมือ ไม่ใช่การทิ้งไป จูลีผู้ถูกทรยศ ค้นพบเสรีภาพอีกครั้งผ่านทางการเผชิญหน้ากับผู้หญิงอีกคนที่โลกไม่ได้จบสิ้นลงเมื่อสามีตาย แต่ยังมาไม่ถึงต่างหาก เธอกลับไปเผชิญหน้ากับโน้ตดนตรีที่สามีทิ้งไว้ เผชิญหน้ากับความจริงที่ว่า เธอจะเป็นอิสระก็ต่อเมื่อเธอเป็นตัวเธอเอง เมื่อโน้ตเพลงที่เธอร่วมสร้าง ไม่ได้เป็นชื่อของคนอื่น แต่เธอชื่อของเธอเอง
การปลดปล่อยตัวเองของจูลี ออกจากความตาย จึงไม่ใช่การปล่อยมันไปเฉยๆ หากมันเป็นสิ่งเดียวกับที่เด็กสาวคนขับรถได้บอกกับ คาฟุกุ ที่สูญเสียภรรยาใน Drive My Car ว่า มันเป็นเช่นนี้เอง คนที่ตายก็ตายไป คนที่ยังอยู่ก็จะเฝ้าครุ่นคิดถึงคนที่จากไป เช่นกับที่ โซเฟีย หลานสาวบอกกับลุงวานยาของเธอในบทละครที่คาฟุกุเล่น เราทำได้เพียงทำงานต่อไปมีชีวิตต่อไป จนกว่าวันหนึ่งเราตายลง และพระเจ้าจะให้เราพัก