Home Article Behind the Scene The Black Phone เปลี่ยนเรื่องสั้นให้กลายเป็นสุดยอดหนังสยอง

The Black Phone เปลี่ยนเรื่องสั้นให้กลายเป็นสุดยอดหนังสยอง

The Black Phone เปลี่ยนเรื่องสั้นให้กลายเป็นสุดยอดหนังสยอง

The Black Phone สร้างจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ โจ ฮิลล์ และถูกดัดแปลงเป็นบทหนังโดยคู่หู สก็อตต์ เดอร์ริกสัน กับ ซี โรเบิร์ต คาร์จิลล์ (จาก Sinister, Sinister 2, Dr. Strange ปี 2016) ความยากอยู่ตรงที่พวกเขาทั้งต้องพัฒนาตัวละครหลักให้แข็งแรงขึ้นและขยายเรื่องราวให้เหมาะกับหนังยาวมากขึ้น ซึ่งผลคือทำได้ดีจนฮิลล์เจ้าของเรื่องสั้นยังชื่นชม

พวกเขาทำอย่างไร?


สก็อตต์ เดอร์ริกสัน :

“ผมอ่านเรื่องสั้นของโจตั้งแต่ 16-17 ปีที่แล้วและคิดว่าเป็นไอเดียเหมาะทำหนังมาก มันผสมเรื่องของนักฆ่าต่อเนื่องเข้ากับเรื่องผีซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน นอกจากนั้นผมยังชอบตรงที่แม้เรื่องราวจะดำมืด แต่ก็เล่าโดยมีความเห็นอกเห็นใจและความรักต่อตัวละครที่เป็นเหยื่อ แถมยังเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและความหวังด้วย

“สำหรับผม สิ่งสำคัญที่สุดของบทหนังสยองขวัญที่ดีคือการสร้าง ‘โทนของเรื่อง’ หัวใจของหนังแนวนี้ไม่ใช่ฉากตกใจแบบ jump scare ไม่ใช่ฉากสยดสยองถึงเลือดถึงเนื้อ และไม่ใช่จำนวนศพ แต่คือการสร้างตัวละครที่ดี มีความลึก มีความเป็นสามมิติ น่าสนใจและน่าเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก

“ในบทของเรา ตัวเดอะแกร็บเบอร์ไม่มีปูมหลังที่มาเพราะผมรู้สึกว่าการสร้างปูมหลังให้ตัวละครแบบนี้จะเป็นการทำลายตัวละครเสียมากกว่า วายร้ายนักฆ่าที่มีตัวจริงทั้งหลายในโลกน่ะมีปูมหลังที่ไม่ได้ดูมีเหตุมีผลเสมอไปหรอก ฆาตกรอย่างเท็ด บันดี้ก็มีวัยเด็กที่เป็นสุขดี หรือเจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ก็มีพ่อแม่น่ารัก ผมรู้สึกว่าตัวร้ายประเภทฆาตกรในหนังที่ดีที่สุดจะต้องมีความลึกลับอธิบายไม่ได้ว่าทำไมเขาถึงชั่วร้ายขนาดนั้น

“ที่ผมคิดแบบนี้อาจเพราะตัวผมเรียนมาทางเทววิทยา ศาสนาและปรัชญา ผมไม่ได้มองโลกด้วยแนวคิดทางวิทยาศาสตร์วัตถุนิยม เทววิทยาและศาสนาปรัชญาไม่ได้สนใจแง่มุมโลกในแง่ ‘อะไร’ แต่สนใจว่า ‘เพราะอะไร’

ส่วนเหตุผลที่ผมชอบเขียนเรื่องสยองขวัญก็เพราะมันเป็นเรื่องที่ว่าด้วยความกลัว และความกลัวคืออารมณ์ที่ผมพบเจอมากที่สุดในชีวิตของผมเอง เวลาเจออะไรที่น่ากลัว ใจหนึ่งเราอยากจะปฏิเสธและหนีมัน แต่ในความเป็นจริงผมมักถูกบีบให้วิ่งเข้าหาและเผชิญหน้ากับมัน จนกว่าจะไม่กลัวมันอีกต่อไป ซึ่งนี่ก็คือแก่นของเรื่องสยองขวัญนั่นเอง”


ซี โรเบิร์ต คาร์จิลล์ :

“ความท้าทายที่สุดของ The Black Phone อยู่ตรงที่ต้นฉบับเป็นเพียงเรื่องสั้นสิบหน้า และเราต้องขยายมันให้กลายเป็นบทหนังหนึ่งร้อยหน้า หรือก็คือต้องขยายเองถึง 90% โดยที่ต้องยังชูแก่นของเรื่องต้นฉบับไว้ให้ได้ด้วย

“ผมคิดว่ากุญแจสำคัญของบทหนังสยองขวัญที่ดีก็คือตัวละคร ถ้าคุณไม่รักตัวละคร คุณก็จะไม่กลัวแทนพวกเขา ถ้าคุณเกลียดตัวละคร คุณจะรู้สึกสบายใจถ้าพวกเขาตกเป็นเหยื่อของความสยองขวัญ ดังนั้นเราต้องเริ่มจากการสร้างตัวละครที่แข็งแรงให้ได้ก่อน

“สก็อตต์กับผมมีทฤษฏีการเล่าเรื่องแนวสยองขวัญอยู่ว่า เราชอบให้หนังเริ่มด้วยการเป็นหนังแนวอื่น แล้วจึงค่อยขัดจังหวะมันด้วยสิ่งเหนือธรรมชาติ อย่างใน The Black Phone นั้นว่าด้วยการก้าวพ้นวัยของเด็กสองคน ที่พยายามช่วยเหลือกันให้รอดจากชีวิตแย่ๆ ในครอบครัว และตอนนั้นเองที่จู่ๆ ฆาตกรต่อเนื่องก็โผล่มาแล้วลักพาตัวเด็กคนหนึ่งไป”

เราใช้เวลา 30 นาทีแรกของหนังไปกับการทำให้คุณรู้จักเด็กเหล่านี้ด้วยลีลาเหมือนกำลังดูหนังอินดี้ในเทศกาลหนังซันแดนซ์อะไรแบบนั้น จนถึงจุดที่คุณอิน คุณรักเด็กๆ และก็จะกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา นี่ล่ะคือฐานอันแข็งแรงของหนังสยองขวัญ มันคือการที่คนเขียนแคร์ตัวละครและทำให้คนดูแคร์ตัวละครไปด้วย.เราใช้เวลาเขียนบทกันทั้งหมด 5 สัปดาห์โดยใช้วิธีผลัดกันเขียน ผมถนัดเขียนตอนดึกๆ เพราะเป็นคนนอนดึก ส่วนสก็อตต์เป็นพวกตื่นเช้าก็เลยถนัดเขียนตอนกลางวัน สลับกันไปแบบนี้ ที่ทำได้ก็เพราะเราเข้าใจวิธีการของกันอย่างละเอียดและทำงานผสมกันได้เนียน เวลา 5 สัปดาห์ของเราจึงเท่ากับ 10 สัปดาห์ของนักเขียนทั่วไปครับ”

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here