Home Review Film Review Top Gun: Maverick กู้โลกให้เด็กมันดู

Top Gun: Maverick กู้โลกให้เด็กมันดู

0
Top Gun: Maverick กู้โลกให้เด็กมันดู

Tom Cruise เกิดในปี 1962 นับไปแล้วเท่ากับว่าปีนี้เขาอายุ 60 ปีพอดี และโดยไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ Top Gun: Maverick ก็เป็นเช่นเดียวกันกับใบหน้าและร่างกายของ Tom Cruise ซึ่งยังคงสภาพเกือบเหมือนแช่แข็งวันเวลาเอาไว้ ทั้งจากการบำรุงรักษาอย่างดีและการศัลยกรรม ใบหน้าที่เคยเป็น และยังคงเป็น หรืออย่างน้อยพยายามจะเป็น ภาพแทนของอเมริกันชนในฝัน ตลอดช่วงปลายทศวรรษ 1980 ต่อ 1990 ภาพของเขาในเสื้อแจ็คเก็ตหนัง แว่นเรย์แบน และมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ก็เคยเป็นภาพจำของวัยรุ่นอเมริกันและโลกในยุคนั้น ในยุคปลายสงครามเย็น ก่อนสงครามอ่าว ในยุคที่อเมริกายังเป็นแนวหน้าของผู้จัดระเบียบโลก เป็นต้นแบบ เป็นผู้เผยแพร่ เป็นผู้ปลูกฝังแนวคิดถึงชีวิตสมบูรณ์แบบ ‘อเมริกันดรีม’ อย่างน้อยก็ทั่วไปในโลกเสรีนิยม 

Top Gun: Maverick กลายเป็นทั้งการรำลึกวันชื่นคืนสุขเหล่านั้น ภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ที่ทำหน้าที่แข็งขันในการสร้างความคิดความเชื่อแบบนั้นให้กลายเป็นเรื่องเล่าหลักของโลก และเป็นความพยายามของคนรุ่นก่อนหน้าที่อยากจะยื้อยุดคุณค่าและวันเวลาแบบเดิมๆ เอาไว้ หนังเล่าเรื่องในอีกสามทศวรรษต่อมาจากภาคแรก มิตท์เชลล์ หรือโค้ดเนม มาเวอริค นักบินขับไล่ที่ดีที่สุดในสหรัฐยังคงเป็นนักบินอยู่ เป็นกัปตันขับเครื่องบินทดสอบแทนที่จะได้เป็นนายพล ความไม่ก้าวหน้าในอาชีพแต่มีความสุขจากการทำสิ่งที่รักกำลังสั่นคลอน เมื่องานทดลองบินเครื่องบินรบที่เขาเป็นคนขับถูกระงับโครงการ และเขาอาจจะต้องถูกปลดระวางแล้ว 

ในฉากนี้หนังพูดสิ่งที่สำคัญที่สุดที่หนังอยากพูด นั่นคือการที่ท่านนายพลบอกว่า ต่อไปเราจะมีแต่เครื่องบินที่ไม่มีคนขับและนายกับพรรคพวกของนายก็จะหมดประโยชน์ มาเวอริคตอบกลับท่านนายพลว่า ก็คงใช่ แต่ไม่ใช่วันนี้ กลายเป็นว่ามาเวอริคกลับมาเพื่อพิสูจน์ว่าคุณค่าที่คน Boomers และ Gen X ยึดถือนั้นยังเป็นคุณค่าที่สำคัญและถูกต้อง คือการเชื่อในการทำตามความฝันโดยไม่สนใจเกียรติยศใดๆ การเชื่อมั่นในคุณค่าของโลกเก่าที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญชำนาญของมนุษย์ หรือกล่าวให้ถูกต้องคือเชื่อมั่นในประสบการณ์ A.K.A. ความแก่ของตัวเอง มากกว่าจะเชื่อในการพัฒนาเทคโนโลยี (แม้เครื่องบินที่เขาขับจะเกิดจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีก็ตาม)

น่าเสียดายที่หนังไม่ยอมไปต่อให้สุดทางในข้อถกเถียงของคุณค่าระหว่างคนรุ่นเก่า ที่มีคุณค่าความเชื่อแบบหนึ่ง กับคนรุ่นต่อมาที่มีคุณค่าความเชื่อในอีกแบบหนึ่งทั้งในเรื่องของ อุดมการณ์​ การเข้าถึงเทคโนโลยี มุมมองที่มีต่อชีวิต ถ้าถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็ต้องตอบว่าเพราะหนังมีความปรารถนาแรงกล้า ที่จะกลับไปชื่นชมอดีตของตนเอง เป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นทั้งหวนรำลึก และส่งเสียงโฆษณาชวนเชื่อความคิดแบบเจนเอกซ์ หนังจึงเดินไปสู่ทางที่ตัวละครหนุ่มสาวได้รับบทเรียนจากเทพผู้มีอุดมการณ์แน่วแน่ ถึงขนาดยอมทิ้งความเจริญก้าวหน้าในชีวิตเพื่อสิ่งนั้น เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์เหนือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นข้อถกเถียงที่แหลมคมและน่าสนใจมากๆ ที่หนังเลือกทิ้งไป เพื่อเชิดชูคุณค่าของวิถีชีวิตแบบเก่า 

แต่วิถีชีวิตแบบเก่านี่ยังหมายรวมไปถึงวิถีชีวิตที่อเมริกาเป็นผู้จัดระเบียบโลก หนังเล่าต่อว่า มาเวอริค ถูกดึงตัวมาฝึกสอนนายทหารแนวหน้าของหน่วยงาน TOP GUN หน่วยงานเก่าที่เขาเคยสังกัด เพื่อให้นักบินรุ่นใหม่ปฏิบัติการ ถล่ม โรงงานแร่ยูเรเนียมที่ซ่อนตัวในหุบเขา ภารกิจที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องบินในระดับต่ำคดเคี้ยวเลาะโตรกเขาเพื่อเลี่ยงเรดาร์ ไต่ระดับขึ้นไป เล็งเป้าแบบห้ามพลาด และต้องท้าทายแรงจีด้วยการเชิดหัวสูงบินไต่ภูเขาหนีตาย ซึ่งถ้าไม่ใช่คนที่แข็งแรงมีประสบการณ์จะต้องสลบกลางอากาศ แต่นั่นยังไม่จบ เพราะเมื่อพ้นมาก็ต้องบินสู้กับฝูงบินขับไล่ของศัตรูปิดท้าย มันเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีทำไม่ได้แต่คนอาจจะทำได้ ถ้าได้รับการฝึกฝน

เรื่องน่าตื่นเต้นคือหนังไม่ยอมแม้แต่จะบอกให้ชัดว่าใครคือศัตรู หรือไม่แม้แต่กลับไปสู่ข้อถกเถียงว่าปฏิบัติการแบบนี้ทำได้หรือไม่ในแง่กฏหมายระหว่างประเทศ ความพยายามปกป้องโลกนี้เป็นหน้าที่ของอเมริกาหรือเปล่า หรือนี่เป็นสงครามเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แบบที่เคยเป็นใช่หรือไม่ ข้อถกเถียงทางการเมืองถูกปัดตกทิ้งหมด ซึ่งก็อาจจะใช้ข้ออ้างของการเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์ไม่ใช่หนังการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องแปลก 

หากแต่การลดรูปหรือปัดตกความเป็นการเมืองของหนัง ทำให้หนังกลายไปเป็นสิ่งที่หนังบล็อกบัสเตอร์อเมริกันในยุค 1980’s จนถึง 2000’s ต้นๆ เป็น นั่นคือการเป็นหนังพร็อพพากันด้า (propaganda) ระเบียบโลกแบบอเมริกันนั้นเอง เรามีพระเอกที่เป็นภาพแทน ภาพฝัน ไปจนถึงภาพแช่แข็งของวีรบุรุษอเมริกัน ขับเครื่องบินรบไปปราบปรามเหล่าร้ายที่ไหนสักแห่ง ผู้ร้ายเป็นตัวไร้หน้าเหี้ยมโหด และการกระทำทั้งหมดไม่ได้เป็นเพียงการกระทำเชิงชาตินิยมแบบเดียวที่เราเห็นในหนังชาตินิยมจากหลายประเทศ แต่เป็นตัวแทนของชาวโลกในภาพรวม อเมริกากำลังทำหน้าที่ไม่ใช่แค่ตำรวจโลก แต่เป็นวีรบุรุษของโลกผ่าน soft power อย่างภาพยนตร์ที่เชิดชูตัวเอง และแนวคิดของตัวเอง จนเราลืมตระหนักไปเลยว่านั่นไม่ใช่ตัวแทนของโลก เป็นเพียงรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เรื่องเล่าหลักที่เราคิดว่าเป็นสัจนิรันดร์แห่งเสรีนิยม ถึงที่สุด มีประเด็นให้ต้องคำถามว่ามันถูกต้องอยู่แล้วหรือไม่ 

อย่างไรก็ดี หนังบล็อกบัสเตอร์หลังเหตุการณ์ WORLD TRADE ตามด้วยความรุ่งเรืองของฝั่งขวาจัดชาตินิยม และการโต้กลับของเหล่าเสรีนิยม การเสื่อมอำนาจทางเศรษฐกิจของอเมริกัน ก็นับว่าเปลี่ยนแปลงไปมาก หนังประเภทอเมริกันกู้โลก ต้องปรับแปลงตัวเองไปสู่การเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ยืนอยู่บนโลกที่จริงครึ่งไม่จริงครึ่ง หนังบล็อกบัสเตอร์แบบเก่าไม่ได้ทำเงินอีกแล้ว การเป็นวีรบุรุษถูกตรวจสอบทั้งในแง่มุมมทางการมือง ความเป็นเจ้าอาณานิคม ไล่ไปจนถึงอคติทางเพศและชาติพันธุ์ ถึงที่สุด ชายผิวขาวที่บินไปกู้โลกกลายเป็นภาพฝันที่เกือบจะเป็นฝันเปียกของ 90’s kids แม้เราจะยังมี James Bond หรือ Mission Impossible ออกฉายประปราย แต่มันไม่ใช่ภาพแทนของหนังบล็อกบัสเตอร์อเมริกันร่วมสมัยอีกต่อไป

Top Gun: Maverick จึงเป็นการกลับมาทั้งอย่างน่าภาคภูมิ และชวนขมวดคิ้วตั้งคำถาม เพราะในขณะที่มันเป็นหนังที่มอบความบันเทิงขั้นสูงสุด ภาพและเสียงถูกออกแบบมาอย่างดี มีเทคนิคลูกล่อลูกชนในการเล่า ภารกิจท้านรก ผ่านภาพกราฟิกเพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพกว้าง และในขณะเดียวกันก็สามารถใช้ภาพ operation image ที่เป็นเพียงภาพกราฟิก เร้าอารมณ์ผู้ชมได้ทรงพลังอย่างยิ่ง ก่อนที่ครึ่งชั่วโมงสุดท้ายจะใช้ศักยภาพของเสียง ภาพ และการตัดต่อ ทำให้ภาพที่ครึ่งหนึ่งเป็นเพียงภาพในห้องผู้โดยสารนักบิน สามารถตื่นเต้นจนอะดรีนาลีนหลั่งไหลท่วมท้นได้ ในทางหนึ่งนี่คือหนังแอคชั่นแบบเก่า ที่อัพเกรดมาใหม่อย่างดี ดีพอจะยืนชนกับหนังที่สร้างเพื่อคนรุ่นปัจจุบันได้อย่างไม่ต้องอาย 

กระนั้นก็ตามขณะที่เราดู หนังเรื่องนี้ เรากลับไพล่ไปนึกถึง The Wrestler (2008) ของ Darren Aronofsky จะว่าไปแล้วโครงสร้างของหนังสองเรื่องนี้แทบจะเหมือนกัน มันว่าด้วยชายผิวขาวคนหนึ่งที่หลงใหลในบางสิ่งอย่างยิ่ง และอุทิศทั้งชีวิตให้กับมัน จนตอนนี้อยู่ในจุดที่ตกต่ำที่สุด และพยายามดิ้นรนกลับขึ้นมาใหม่เพื่อพิสูจน์ความหนักแน่นในอุดมการณ์ของตนในระดับที่แม้ต้องแลกด้วยชีวิตก็ไม่เป็นไร 

หาก The Wrestler กลายเป็นภาพแทนความล้มเหลวแบบหมดท่าที่น่าทึ่ง ทั้งจากตัวเรื่องของนักมวยปล้ำที่พยายามจะคืนสังเวียนแม้จะเป็นแค่ไอ้ขี้เมาร่อแร่ ไปจนถึงสภาพร่างกาย ของ Mickey Rourke ดาราที่เคยเป็นขวัญใจสาวๆ แบบเดียวกับ Tom Cruise ในยุคสมัยเดียวกัน ในขณะที่ Wrestler พูดถึงผู้คนจำนวนมากในสังคมอเมริกัน และวิเคราะห์ความล้มเหลวว่างเปล่าของมัน Top Gun กลับพูดถึงภาพฝันของคนอเมริกัน ที่ยังคงฝันอยู่ แม้ว่าเด็กรุ่นใหม่ จะบังคับเครื่องบินผ่านโดรน ไปจนถึงพยายามจะหยุดสงครามแบบเดิมแล้วก็ตาม 

Top Gun: Maverick เป็นภาพฝันเปียกที่แสนสมบูรณ์แบบของชายผิวขาววัยสี่สิบบวก (ที่เป็นภาพฝันสมบูรณ์แบบของผู้ชายวัยดังกล่าวจำนวนมากทั่วโลก) พวกเขาได้ทั้งรื้อฟื้นวัยเยาว์อันแสนหวานที่ครั้งหนึ่งภาพยนตร์พร็อพพากันด้าเสรีนิยมนำโดยอเมริกานั้นเคยปลุกปลอบใจ ได้อวดศักดาความเป็นชาย ผ่านทางสิ่งละอันพันละน้อยที่เป็น Phallus เป็นลึงค์ และการบ้าลึงค์ที่กระจายไปทั่ว ตั้งแต่ร่างกายแน่นมัดกล้ามของผู้ชาย ไปนจนถึงมอเตอร์ไซค์และเครื่องบินรบขับไล่ที่มีรูปทรงแบบเดียวกับลึงค์ เครื่องบินที่อยู่จุดสูงสุด แข็งแกร่งที่สุด รวดเร็วที่สุดและอดทนที่สุดในสหรัฐอเมริกา และอาจจะในโลก ในขณะเดียวกันพวกเขา (หรือพวกเรา? ที่หมายถึงผู้เขียนเอง) ก็ได้ยืนยันในอุดมการณ์มนุษย์นิยมวินเทจ ที่เชื่อมั่นในมนุษย์มากกว่าเทคโนโลยี เชื่อมั่นในประสบการณ์แบบเก่ามากกว่าการเรียนรู้ เชื่อมั่นในสิ่งเก่ามากกว่าสิ่งใหม่ และจบลงด้วยการ ‘กู้โลกให้เด็กมันดู’ แม้หนังจะลงเอยที่การยอมรับกันและกันของคนสองรุ่น แต่หนังก็เล่าว่าเป็นเด็กๆ ต่างหากที่ต้องเปิดใจให้กัปตันสุดเท่ของเขาที่สามารถขับเครื่องบินรบโบราณพาเขาหนีตายมาได้ แถมหนังยังพยายามทำตัวทันสมัยด้วยการเปิดรับความหลากหลายทางเพศและชาติพันธุ์ ทีมท็อปกันจึงมีทั้งผู้หญิง คนผิวสี คนละติน คนเอเซีย แต่แน่นอนว่าสูงสุดในหมู่คนสูงสุดย่อมคือชายผิวขาวหน้าตาดีกล้ามแน่น จนลืมไปเลยว่าเขากำลังเข้าสู่โหมด ‘ผู้สูงอายุ’ ไปแล้ว 

นี่คือหนังที่ออกแบบมาสำหรับคนรุ่นเรา เหล่าเจนเอกซ์และบูมเมอร์ส แต่นี่คือหนังที่เราอยากให้เด็กๆ ได้ดูด้วยเพื่อที่จะได้เข้าใจอาการฝัน/ฝันค้าง/ฝันเปียกในโลกความบันเทิงอเมริกันแบบเก่า การทำความเข้าใจอุดมการณ์แนวคิดที่แทบไม่มีอะไรเหมือนคนรุ่นถัดมา (หรือถ้าจะกล่าวอีกทางหนึ่งอาจจะบอกว่าเหมือนกันมากๆ แต่ในวิถีทางที่ต่างกันสุดขั้ว) เรียนรู้เพื่อที่จะอธิบาย ต่อต้าน หรือท้าทายมันในอนาคต อนาคตที่อาจจะมาเร็ว และมาแล้ว จนทำให้หนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมาในฐานะที่มั่นสุดท้ายของชายที่กำลังสูญเสียตัวเอง เพราะจริงๆ ‘ไม่ใช่วันนี้’ ของ มาเวอริค อาจจะไม่ใช่พรุ่งนี้ แต่มันอาจจะเป็นเมื่อวานก็ได้ 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here