ปี 2021 ถึงไม่ใช่ปีที่ดีในภาพรวมโดยเฉพาะความลำบากที่เกิดขึ้นต่อแทบทุกคน แต่กลับถือว่าเป็นปีที่ดีสำหรับวงการอนิเมะ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาจากปี 2020 ที่วิกฤติโควิดมีส่วนทำให้ธุรกิจสตรีมมิ่งรุ่งเรืองสุดขีด อนิเมะเลยได้อานิสงส์ในการเปิดรับคนดูกลุ่มใหม่ๆ จนเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากๆ เหล่าสตูดิโอผลิตอนิเมะในญี่ปุ่นจึงมีงานชุก ได้มีผลงานดีๆ ออกมาสู่สายตาชาวโลกมากมาย มีผลงานที่ฮิตสุดๆ ของปีอย่าง มหาเวทย์ผนึกมาร Jujitsu Kaisen, Attack on Titian Final Season และสานต่อความฮิตของดาบพิฆาตอสูร Kimetsu no Yaiba Season 2 ในตอนปลายปี
ลิสต์ที่เลือกมาแนะนำต่อไปนี้จะมีทั้งที่เป็นซีรีส์และหนังยาว ที่ทั้งดังอยู่แล้วและอาจตกสำรวจ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็นอนิเมะที่ช่วยเยียวยาจิตใจตัวผมเองจนพาตัวเองผ่านอะไรแย่ๆ ในปีที่ผ่านมาได้ โดยเรียงลำดับว่าเรื่องไหนที่มันโดนเส้นเราและยังติดค้างในใจมาจนถึงตอนนี้มากกว่ากัน (ซึ่งเป็นรสนิยมส่วนตัวล้วนๆ)
อันดับ 10
Blue Period
สร้างจากมังงะชื่อดัง ด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับนักเรียนที่ตั้งใจจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปะ อย่างที่รู้กันดีว่ามังงะและอนิเมะญี่ปุ่นนั้นมีเนื้อหาที่เล่าเรื่องในวงการต่างๆ หรือความชอบที่เป็นวัฒนธรรมกลุ่มย่อยมากมาย ซึ่งมังงะและอนิเมะเหล่านี้ก็เหมือนประตูพาเราไปสู่โลกที่เราไม่รู้จัก อย่าง Blue Period นั้นพาเราไปสู่โลกศิลปะ วงการของนักเรียนที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะของรัฐที่มีการแข่งขันที่สูงลิ่ว
ยะโทระ ตัวเอกของเรื่องเพิ่งมาค้นพบว่าตัวเอกชอบวาดรูปและอยากเข้าเรียนมหาลัยศิลปะก็ตอนที่อยู่ ม.ปลายแล้ว ถือเป็นการเริ่มที่ช้าแต่ก็ยังไม่สายเกินไป เพื่อทดแทนที่เริ่มต้นช้า เขาจึงเข้าชมรมศิลปะของโรงเรียนและเข้าโรงเรียนกวดวิชาที่ติวด้านศิลปะโดยเฉพาะ ซึ่งอนิเมะในซีซั่นแรกนั้นจะจบลงที่ช่วงการสอบเข้ามหาลัยของยะโทระพอดี
การได้สัมผัสในโลกหรือวงการที่เราไม่รู้จักนั่นน่าสนุกเสมอ และเอาเข้าจริงไม่ว่าจะเรื่องเล่าเกี่ยวกับวงการอะไร มันก็มีจุดร่วมที่คนเราต้องผ่านกันมาหมด ทั้งการต้องอุตสาหะพยายาม การล้มเหลว การค้นพบว่าตัวเองนั้นยังอ่อนหัดและมีคนที่เก่งกว่าเรามากมาย ทำยังไงถึงจะหาจุดเด่นของเราเจอและใช้มันเป็นอาวุธได้ นี่คือสิ่งที่ยะโทระต้องเผชิญตลอด และเส้นทางมันไม่ได้สวยหรู ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ก็โชคดีที่คนรอบตัวยะโทระไม่ว่าจะครอบครัวหรือเพื่อนนั้นเข้าใจและสนับสนุนอยู่เสมอ
ในแง่งานแอนิเมชันอาจจะไม่ได้ดีขั้นเลิศเลอ มีหลายฉากที่รู้สึกว่าน่าจะถ่ายทอดมาได้ดีกว่านี้ ทั้งงานเคลื่อนไหวและงานภาพ แต่ตัวเรื่องก็ยังสนุกและยังนำสารต่างๆ มาถึงคนดูได้ ที่ชอบเป็นการส่วนตัวคือตอนที่ยะโทระมาเห็นภาพของรุ่นพี่แล้วชมว่าเธอมีพรสวรรค์ รุ่นพี่ก็เลยบอกว่าการถูกชมว่ามีพรสวรรค์เนี่ยเหมือนกับถูกมองว่าเธอไม่ได้พยายามเลย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เรามักจะมองแต่ผลงานที่ประสบความสำเร็จแล้วของคนคนนั้นแต่ไม่ค่อยมองว่าเขาต้องผ่านอะไรมาบ้างถึงจะสร้างผลงานชิ้นนี้ได้ ไม่มีใครที่จะเก่งเทพมาตั้งแต่แรก ซึ่ง Blue Period นั้นเป็นอนิเมะที่เต็มไปด้วยการตั้งคำถามในเรื่องของ “ศิลปินกับการสร้างผลงาน” อยู่ตลอดทั้งเรื่อง
ดูได้ที่ Netflix
อันดับ 9
Taisho Otome Otogibanashi เรื่องเล่าสาวน้อยยุคไทโช
ทามาฮิโกะ ทายาทชายจากตระกูลใหญ่โต ประสบอุบัติเหตุจนมือข้างหนึ่งใช้การไม่ได้ เขาจึงถูกพ่ออัปเปหิออกจากตระกูล ให้ไปอยู่ที่บ้านพักตากอากาศที่บ้านนอกอย่างโดดเดี่ยว ทามาฮิโกะจึงดำดิ่งเข้าสู่ความมืดหม่น มองโลกในแง่ร้าย คิดอยากจะจบชีวิตตัวเองอยู่ตลอดราวกับเป็นดาไซ โอซามุ (ผู้ประพันนธ์เรื่อง สูญสิ้นความเป็นคน) แต่แล้ววันหนึ่งก็มี ยูซึกิ สาวน้อยที่พ่อเขาจ้างมาเพื่อแต่งเป็นภรรยา (เรื่องปกติในยุคนั้น) เข้ามาในชีวิตของเขา ความสดใสของยูซึกินี่แหละที่จะเป็นยาเยียวยาหัวใจอันบอบช้ำของทามาฮิโกะให้กลับมาเห็นว่าโลกนั้นสวยงามอีกครั้ง
เอาเข้าจริงมันก็นิยายรักโรแมนติคน้ำเน่าดีๆ นี่แหละครับ คาดเดาง่าย การดำเนินเรื่องก็ไม่ได้หวือหวา แทบจะราบเรียบสุดๆ ด้วยซ้ำ แต่ที่ทำให้อนิเมะเรื่องนี้ติดอันดับในใจก็คือ ในความเรียบง่ายของมันนั้น มันเต็มไปด้วยความน่ารัก ความสว่างสดใส ความหวานระดับมดขึ้นจอที่ชวนให้ยิ้มได้ตลอดเวลาที่ดู สรุปแล้วมันเป็นอนิเมะที่ใช้เยียวยาจิตใจให้คิดบวกได้ดีมากๆ
จุดน่าสนใจคือเรื่องราวที่อยู่ในยุคสมัยไทโช ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับเรื่องดาบพิฆาตอสูร แต่จากเรื่องนี้เราจะได้เห็นภาพรวมของสังคมญี่ปุ่นในยุคไทโชชัดขึ้น เป็นยุคที่สิ่งใหม่จากตะวันตกเข้ามามากมาย ปัญหาในการน้อมรับสิ่งใหม่ในขณะที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสิ่งเก่า วิถีชีวิตของคนในสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปเมื่อประเทศเริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม การศึกษาที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตคนมากๆ และเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่อยู่ในยุค เราก็จะได้เห็นในอนิเมะเรื่องนี้ด้วย
แต่ยังไงคุณค่าที่สำคัญสุดสำหรับอนิเมะเรื่องนี้ มันอยู่ที่ความน่ารัก สดใส และช่วยเยียวยาจิตใจจากสภาวะสังคมที่โหดร้ายได้ ไม่ต่างกับที่ยูซึกิได้เข้ามาเปลี่ยนโลกอันหม่นหมองของทามาฮิโกะให้สว่างสดใสขึ้นนั่นเอง
ดูได้ที่ muse Thailand
อันดับ 8
Beastars Season 2
สานต่อเรื่องราวของสังคมสัตว์ที่สัตว์กินเนื้อและกินพืซอาศัยอยู่ร่วมกัน (ประมาณใน Zootopia แต่ลงลึกในปัญหาและดาร์กกว่า) โดยที่ตัวเอก หมาป่าเลโกชิ ยังต้องต่อสู้กับสัญชาตญาณสัตว์กินเนื้อของตัวเองเพื่อพิชิตใจ ฮัล กระต่ายสาวที่เขาหลงรัก และอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ที่เป็นสัตว์กินพืชให้ได้ เขาต้องไปยุ่งเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมตัวลามะหนุ่มที่เป็นเพื่อนชมรมการละครของเขา และฆาตกรก็น่าจะเป็นหนึ่งในเพื่อนร่วมชมรม เลโกชิจึงต้องหาตัวฆาตกรให้ได้เพื่อไม่ให้คนที่เขารักต้องตกเป็นเหยื่อ ขณะเดียวกันที่นอกรั้วโรงเรียน หลุยส์ กวางหนุ่มที่อดีตเป็นดาวเด่นของโรงเรียนก็ได้เข้าสู่เส้นทางยากูซ่าที่รายล้อมไปด้วยเหล่าสัตว์กินเนื้อ แล้วเส้นทางของเลโกชิกับหลุยส์ที่เคยลาจากกันไปในซีซั่น 1 จะกลับมาบรรจบกันอย่างไร
ซีซั่น 2 นี้มีการเดินเรื่องที่เข้มข้นขึ้น คดีฆาตกรรมที่จั่วหัวมาตั้งแต่เปิดซีซั่นแรกในที่สุดเส้นเรื่องนี้ก็ได้รับการสานต่อ โดยภาคนี้จะเป็นการเล่าเรื่องคู่ขนานของขั้วตรงข้ามอย่าง เลโกชิและหลุยส์ ที่เส้นเรื่องทั้งสองก็ยังคงอยู่การตั้งคำถามที่เป็นธีมหลักของเรื่องอย่าง “สัตว์กินเนื้อกับสัตว์กินพืชสามารถอยู่ร่วมได้ไหม?” ขณะเดียวกันเรื่องเส้นรักที่ค่อนข้างให้ความสำคัญในซีซั่นก่อนกลับลดน้อยลงมากๆ (คาดว่าคงไปเล่นต่อในซีซั่น 3)
โดยรวมแล้วซีซั่นนี้ถือว่าสนุกมากๆ ตัวละครแต่ละตัวที่มีเส่นห์ก็ยังคงเป็นจุดเด่นของเรื่องนี้ เราได้เห็นนิสัยของตัวละครตามแบบสัตว์ที่พวกเขาเป็น ซึ่งพวกเขาต่างก็พยายามฝืนสัญชาตญาณตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อหาที่ทางของตัวเองให้อยู่ในสังคมที่ความแตกต่างต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ด้วยกันนั้นมีหลายแบบไม่ใช่แค่ผู้ล่ากับเหยื่อ โดยซีซั่นนี้ได้พา arc ของตัวละครก็ขยับไปข้างหน้าค่อนข้างเยอะ ในตอนสุดท้ายเองก็ถือว่าคลายเรื่องทั้งหมดและปิดซีซั่นได้อย่างสวยงามลงตัวและอยากทำให้ดูซีซั่นต่อไปเร็วๆ แล้ว
ดูได้ที่ Netflix
อันดับ 7
Zombieland Saga Revenge
ภาคต่อของ Zombieland Saga อนิเมะที่มีส่วนผสมหลายอย่าง ตั้งแต่ ซอมบี้ ไอดอล และการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดซากะ ฟังดูพึลึกแต่ส่วนผสมนี้กลับกลายเป็นอนิเมะแนวไอดอลที่ลงตัวมากๆ เรื่องหนึ่ง ซึ่งใน Zombieland Saga Revenge ก็ยังคงเป็นเรื่องราวของไอดอลสาววง Fran Chou Chou แห่งจังหวัดซากะ ที่ต้องสู้เพื่อกอบกู้จังหวัดซากะด้วยการเป็นไอดอลที่ฮิตระดับประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องปกปิดความจริงที่ว่าพวกเธอนั้นเป็นซอมบี้ที่เคยตายไปแล้วและกลับคืนชีพมาใหม่
ซีซั่นนี้เปิดมาก็พบว่าวง Fran Chou Chou นั้นวงแตกเสียแล้ว เพราะว่าไปเช่าสเตเดี้ยมใหญ่เพื่อจัดคอนเสิร์ต แต่คนมาดูน้อยจนเป็นหนี้ย่อยยับ เหล่าสาวๆ ซอมบี้จึงต้องทำงานพิเศษเพื่อหาทางให้ Fran Chou Chou กลับมาเริ่มสเตจอีกครั้งแม้จะต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ก็ตาม โดยภาคนี้ปริศนาและแบ็คกราวน์ตัวละครก็เริ่มจะเผยให้เห็นมากขึ้น มีการพยายามใส่จุดกำเนิดของเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดซากะเข้าไป ก่อนจะไปจบด้วยภัยพิบัติครั้งใหญ่ของจังหวัดที่วง Fran Chou Chou จะต้องออกมากอบกู้จิตใจที่บอบช้ำของคนในจังหวัด (และเป็นสิ่งที่คนในปีที่แล้วต้องการจริงๆ)
เอาจริงๆ Zombieland Saga โดยพื้นฐานแล้วเส้นเรื่องต่างๆ ก็แทบไม่ต่างกับอนิเมะไอเดอลอย่าง Idol Master หรือ Love Live เลย ตรงที่มันว่าด้วยการสู้เพื่อฝันเป็นไอดอลของเด็กสาว การก้าวข้ามปมและเอาชนะตัวเอง มิตรภาพของเพื่อนในวง ทุกอย่างที่เป็นสูตรของอนิเมะไอดอลก็มีใน Zombieland Saga แต่อะไรที่ทำให้ Zombieland Saga โดดเด่นขึ้นมาก็คือการ execute ไอเดียที่ต่างออกไป ตั้งแต่การที่สาวๆ ในเรื่องเป็นซอมบี้ เพื่อล้อกับความหมายของคำว่า Live หรือการแสดงสด สำหรับพวกเธอที่เป็นซอมบี้การแสดงสดเท่านั้นแหละที่จะทำให้พวกเธอดำรงตัวตนต่อไปได้ และภาคนี้ก็ยังคงยึดธีมอันนี้อย่างแน่นหนา บวกกับการเป็นอนิเมะที่สนับสนุนการท่องเที่ยวจังหวัด ซึ่งต้องยอมใจในการขายจังหวัดจริงๆ (วิธีแบบไหนลองดูเอาเอง) ทำให้ดูแล้วอยากไปตามรอย วง Fran Chou Chou ที่จังหวัดซากะมากๆ
และที่ขาดไม่ได้สำหรับอนิเมะไอดอลนั่นก็คือตัวเพลง ซึ่งโดยรวมแล้วชอบเพลงในซีซั่นนี้มากกว่าซีซั่นแรกเสียอีก และทางสตูดิโอ MAPPA ก็ทำซีนไลฟ์คอนเสิร์ตออกมาได้ดีมีพลังมากๆ โดยเฉพาะ EP สุดท้ายของซีซั่นที่ปิดด้วย คอนเสิร์ตยาว 3 เพลงเต็มๆ ความยาว 10 กว่านาที ที่ดูสนุกราวกับดูคอนเสิร์ตไอดอลจริงๆ
ดูได้ที่ muse Thailand
อันดับ 6
Mobile Suit Gundam Hathaway’s flash
กันดั้มฉบับหนังโรงภาคล่าสุด ที่แต่เดิมนั้นต้องฉายในปี 2020 แต่ด้วยพิษโควิดก็เลยต้องเลื่อนมาฉายปี 2021 แทน และหลังจากฉายโรงไปได้ไม่กี่สัปดาห์ก็ทำการลงสตรีมมิ่งใน Netflix ทั่วโลกพร้อมกันเลย ทำให้เราได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ที่บ้านได้โดยไม่ต้องรอนาน
โดยที่กันดั้มภาค Hathaway’s flash นั้นดัดแปลงมาจากนิยายของ โยชิยูกิ โทมิโนะ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดกันดั้มนั่นเอง เนื้อหานั้นต่อเนื่องจากภาค Char’s counter attack และภาค Unicorn (สามารถชมทั้งสองภาคได้ใน Netflix) โดยที่ตัวเอกของภาคนี้คือ ฮาธาเวย์ โนอา ที่จากเป็นเด็กวัยรุ่นในภาค Char’s counter attack ก็กลายมาเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว และผลิกผันจากลูกชายของกัปตันกองเรือของสหพันธ์มาเป็นหัวหน้ากลุ่มก่อการร้ายที่มีชื่อว่ามาฟตี้ และมาฟตี้ก็ได้สั่นคลอนอำนาจของสหพันธ์ที่เป็นรัฐบาลปกครองโลกและชาวอวกาศด้วยการสังหารนักการเมืองของสหพันธ์ ทางสหพันธ์ก็ไม่นิ่งนอนใจสั่งการให้เคนเนธ เจ้าหน้าที่มือดีมาทำการไล่ล่ามาฟตี้ ซึ่งการขับเคี่ยวระหว่างฮาธาเวย์กับเคนเนธก็มี กิกิ สาวสวยปริศนาเข้ามาเกี่ยวพันกับทั้งคู่ การต่อสู้ครั้งใหม่ด้วยหุ่นรบโมบิลสูทจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง
หลังจากดูจบก็กล้าบอกได้เต็มปากว่านี่เป็นกันดั้มฉบับภาพยนตร์ที่มีงานสร้างดีที่สุด ภาพสวยที่สุด มีองค์ประกอบทุกอย่างที่ Cinematic มากๆ ขณะเดียวกันเนื้อหาก็เข้มข้นจริงจัง มีความการเมืองสูงตามแบบฉบับกันดั้มยุคก่อน ตัวละครหลัก 3 ตัวอย่าง ฮาธาเวย์ เคนเนธ และ กิกิ ต่างก็ดูเทาๆ ไม่มีใครดีพร้อมหรือร้ายสุด และยังไงขึ้นชื่อว่ากันดั้ม จุดที่ขาดไม่ได้ก็คือฉากสู้กันระหว่างโมบิลสูทที่ภาคนี้อาจจะมีไม่เยอะมาก เพียงแต่ละฉากนั้นทำออกมาสวย ได้อารมณ์สงครามแบบสมจริง ฉับไว โดยเฉพาะการเปิดตัวของกันดั้มตัวเอกในท้ายตอนที่ดูแล้วอยากจะสั่งซื้อโมเดลกันพลามาต่อทันที
ถือเป็นการเปิดหนังไตรภาค (คาดว่าจะมี 3 ภาค ตามนิยายที่มี 3 เล่ม) ที่สวยงามและทำให้อยากดูภาคต่อไปอย่างมาก ด้วยเนื้อหาที่จริงจังเป็นผู้ใหญ่และการปล่อยสตรีมมิ่งทั่วโลก น่าทำให้มีผู้ชมหน้าใหม่ที่ไม่ใช่แฟนกันดั้มอ้าแขนเปิดรับ Mobile Suit Gundam Hathaway’s flash จำนวนมาก
ดูได้ที่ Netflix
อันดับ 5
SSSS.Dynazenon
ในปี 2019 ได้มีอนิเมะ SSSS.Gridman ซึ่งเป็นอนิเมะที่ทางสตูดิโอ Trigger สร้างขึ้นเพื่อสานต่อตำนานหนังยอดมนุษย์คนแสดง (แนว Tokukatsu) Gridman ของทางค่าย Tsuburaya โดยที่อนิเมะ SSSS.Gridman นั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนทำให้มีภาคต่อที่ออกมาสานต่อจักรวาลกริดแมน นั่นก็คือ SSSS.Dynazenon ซึ่งคราวนี้เปลี่ยนจากยอดมนุษย์ตัวเท่าตึกสู้กับสัตว์ประหลาด กลายเป็นหุ่นยนต์ยักษ์ต่อสู้กับสัตว์ประหลาดแทน
ดูเผินๆ อาจจะคิดว่า SSSS.Dynazenon เป็นอนิเมะหุ่นยนต์ฟัดกับสัตว์ประหลาดธรรมดาๆ แต่สิ่งที่ทำให้ประทับใจในอนิเมะเรื่องนี้กลับไม่ใช่ฉากต่อสู้บ้าพลังตามแบบฉบับสตูดิโอ Trigger แต่เป็นเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวที่ต้องมาบังคับหุ่นยนต์ร่วมกัน ซึ่งแต่ละคนก็มีบาดแผลในชีวิตของตน อนิเมะเรื่องนี้เลยโฟกัสกับการก้าวข้ามบาดแผลของตัวละครมากกว่าการปราบสัตว์ประหลาด (สัตว์ประหลาดก็เป็นสัญญะของบาดแผลในใจของแต่ละคน)
ขณะที่ SSSS.Gridman นั้นมีจังหวะที่เดินเรื่องเร็วฉับไว เรื่องไปข้างหน้าตลอด แต่ SSSS.Dynazenon กลับมีท่าทีในการเล่าที่แช่มช้าและนิ่งกว่า มีพื้นที่ให้เราลงไปสำรวจภาวะของตัวละครได้มากกว่า มีบรรยากาศเคว้งๆ อุ่นๆ เหมือนดูหนังวัยรุ่นญี่ปุ่นสไตล์ชุนจิ อิวาอิ ปมบาดแผลของแต่ละตัวละครก็ดูเป็นมนุษย์ธรรมดา (ยกเว้นกาอุมะที่ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา) อย่างไอ้หนุ่มที่แอบชอบหญิงสาวแต่รู้สึกว่าถูกหญิงสาวเล่นกับความรู้สึกอยู่ หญิงสาวที่สับสนในการตายของพี่สาวจนกลายเป็นโรคไม่ชอบรักษาสัญญา คนไร้งานที่ไม่กล้าสู้หน้าสาวที่เคยแอบชอบสมัยเรียน เด็กสาวที่ไม่อยากไปโรงเรียน
ชอบที่ปมที่กล่าวไปเมื่อมันถูกคลี่คลาย ก็แบบง่ายๆ ไม่มีดราม่าอะไรใหญ่โตซ่อนไว้ บางคนอาจจะรู้สึกว่า “แค่นั้นเองเหรอ อุตส่าห์ตามมาตั้งนาน” แต่เพราะมัน “แค่นี้เอง” นี่แหละที่ทำให้เราเชื่อมโยงกับความเจ็บปวดของตัวละครได้ง่ายมาก และมันมีสิ่งที่ SSSS.Gridman ไม่มีนั่นก็คือเส้นรักวัยรุ่นที่แข็งแรงและโรแมนติกมากๆ
ดูได้ที่ Bilibili
อันดับ 4
Ranking of Kings
จริงๆ แล้วเรื่องนี้ยังฉายไม่จบ เพิ่งดำเนินมาถึงช่วงครึ่งหลังของซีซั่น แต่ก็เพียงพอที่จะพิสูจน์ความสนุกของอนิเมะเรื่องนี้ ที่สามารถชวนให้ติดตามได้ตั้งแต่ EP แรก จึงไม่แปลกที่เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องฮิตส่งท้ายปีที่แล้วและยังคงเป็นเรื่องที่กระแสแรงในต้นปีนี้เคียงคู่กับดาบพิฆาตอสูร ซีซั่น 2
Ranking of Kings เล่าถึงโลกในจินตนาการที่จะมีการจัดลำดับของกษัตริย์ที่ปกครองแต่ละอาณาจักร ยิ่งอันดับสูงอำนาจก็ยิ่งมีมาก ตัวเอกของเรื่อง โบ๊ทจิ เป็นองค์ชายองค์โตของอาณาจักรหนึ่ง แต่ทว่าเกิดมาพิการ หูไม่ได้ยิน พูดไม่ได้ และยังร่างกายอ่อนแอ แต่โบ๊ทจิก็ยังหวังที่จะเป็นกษัตริย์ที่ดีและพิชิตเอาตำแหน่งราชาอันดับหนึ่งมาครองให้ได้ โบ๊ทจิต้องเจออุปสรรคมากมายทั้งจากภายนอกและภายในแต่เขาก็ยังมี คาเกะ เด็กกำพร้าเผ่ามนุษย์เงาที่จะมาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขเคียงข้างกับโบ๊ทจิตลอดไป
ถึงงานภาพและคาแรคเตอร์ดีไซน์จะมีความน่ารักสดใสเหมือนนิทานเด็กแต่จริงแล้ว Ranking of Kings นั้นมีเรื่องราวที่เข้มข้นและดาร์กในระดับหนึ่งทีเดียว ซึ่งจุดแข็งของ Ranking of Kings นั้นคือดราม่าของตัวละครเอกอย่าง โบ๊ตจิ ที่เกิดมาอาภัพ ไม่สมประกอบ โดนดูถูกไม่พอแต่ยังโดนปองร้ายจากคนใกล้ชิดอีก จึงเป็นตัวเอกที่ชวนให้เอาใจช่วยอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้คนดูอบอุ่นในมิตรภาพที่บริสุทธิ์ของโบ๊ตจิและคาเกะ
อีกอย่างที่ทำให้ Ranking of Kings นั้นดูสนุกคือการที่ตัวละครทุกตัวนั้นมีอีกด้านให้เห็นเสมอ อย่างเช่นเหล่าคนสนิททั้งหลายของพระราชาที่ตอนแรกเราจะคิดว่าเขาเป็นคนแบบนั้นแบบนี้แต่จู่ๆ เขาก็ทำในสิ่งที่เราคาดไม่ถึงด้วยการเผยอีกด้านออกมา ซึ่งนั่นทำให้ตัวละครเรื่องนี้นั้นดูเทาและมีมิติมากๆ คนดูเลยคาดเดาได้ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในเรื่อง
ดูได้ที่ IQIYI
อันดับ 3
Heike Monogatari ตำนานตระกูลไทระ
Heike Monogatari เป็นผลงานคุณภาพของสตูดิโอ Science Saru ที่ก่อตั้งโดย Masaaki Yuasa ที่มีผลงานน่าจดจำมากมายอย่าง Mind Game, The Tatami Galaxy, Night Is Short, Walk On Girl ส่วน Heike Monogatari นั้นกำกับโดย Yamada Naoko ที่เคยมีผลงานที่เป็นที่ชื่นชอบอย่าง A Silent Voice
Heike Monogatari เป็นมหากาพย์โบราณเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่เป็นเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับตระกูลไทระ ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอำนาจรุ่งเรืองในยุคเฮอัน ตระกูลไทระได้ทำการรบพุ่งแย่งชิงอำนาจกับตระกูลมินาโมโตะ ในสงครามใหญ่ของยุคเฮอันที่เรียกว่า “สงครามเก็นเปย์” เอาเข้าใจง่ายๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่ตระกูลสตาร์กรบพุ่งแย่งอำนาจกับตระกูลแลนนิสเตอร์ในซีรีส์เกมออฟโทรน ซึ่งจุดน่าสนใจของ Heike Monogatari นั้นอยู่ตรงที่ปกติเราจะรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของฝั่งผู้ชนะซะส่วนใหญ่ แต่นี่คือเรื่องราวของผู้แพ้ในสงครามที่เล่าโดย “บิวะ” เด็กสาวผู้มีพลังเห็นอนาคต แต่เธอก็ไม่สามารถทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงโชคชะตาที่เธอเห็นล่วงหน้าได้ เธอได้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับตระกูลไทระ เพื่อเฝ้ามองความรุ่งเรืองจนถึงการล่มสลาย และนำเรื่องดังกล่าวขับขานให้คนรุ่นหลังได้รับรู้
เป็นอนิเมะที่งานภาพและงานเคลื่อนไหวสวยมากๆ ตามมาตรฐานของ สตูดิโอ Science Saru แต่ที่ทำให้ชอบมากๆ คือมันมีหัวจิตหัวใจและมีความกวีสูง อาจจะไม่ใช่อนิเมะที่ดูง่ายสำหรับทุกคน แต่ถ้าตั้งใจดูจะพบว่าไม่ยากจนเกินเข้าใจ และหากมีความเข้าใจในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นหน่อยจะดูสนุกขึ้นมาก ซึ่งในยุคนี้หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ไม่ยากเลย แค่ลองค้นด้วยคำว่า Tale of Heike หรือ Genpei War ก็ได้
แก่นของ Heike Monogatari นั้นทำให้เราเห็นถึงสัจธรรม ความอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถึงจะเป็นผู้แพ้ในประวัติศาสตร์แต่คนในตระกูลไทระต่างก็เคยมีชีวิต ทั้งมีความสุข ความทุกข์ มีครอบครัว มีคนที่รักและคนที่ชัง มีนิสัยต่างกันออกไป มีเกิดแก่เจ็บตาย ทุกคนต่างเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งในวัฏฏะแห่งนี้
ดูได้ทาง Bilibili
อันดับ 2
Sonny Boy
เหล่านักเรียนมัธยมกลุ่มนึงได้หลุดลอยมายังโลกที่เขาไม่รู้จักซึ่งในเรื่องจะเรียกว่า “โลกลอยเคว้ง” เด็กแต่ละคนได้พลังวิเศษเฉพาะตัว บางคนอยากกลับไปโลกเดิม บางคนอยากใช้พลังที่ได้รับเพื่อพิชิตโลกใบใหม่ โลกที่พวกเขาต้องหากฎและกติกาให้เจอเพื่อเอาชนะ และยิ่งพยายามทางออกเท่าไหร่ ก็ยิ่งหลุดไปต่างโลกอย่างไม่จบสิ้น ในโลกที่เวลาไม่เดินไปข้างหน้า พวกเขาจะสามารถกลับไปยังโลกเดิมเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้หรือไม่?
และนั่นคือเรื่องราวคร่าวๆ ของ Sonny Boy อนิเมะที่น่าพิศวงและชวนถกเถียงตีความที่สุดในปี 2021 ที่ผ่านมา มีการเล่าเรื่องที่ไม่ตรงไปตรงมา บอกข้อมูลว่า นี่คืออะไร? เกิดอะไรขึ้น? เพราะอะไร? ให้คนดูน้อยมาก บทสนทนาของตัวละครก็เป็นสิ่งที่ต้องตีความระหว่างบรรทัดเสมอ ทำให้ Sonny Boy เป็นอนิเมะที่ไม่ใช่สำหรับทุกคนเท่าไหร่เพราะ Narrative ของมันนั้นเน้นเชิง Meaning มากกว่าจะเล่า Story
แต่กระนั้น Sonny Boy เป็นงานที่มีเสน่ห์มากๆ ทั้งคาแรคเตอร์ดีไซน์ สไตล์ภาพ มุมกล้องการเฟรมภาพ เพลงประกอบ และบรรยากาศของเรื่องที่มันมีความ coming of age ของวัยรุ่นมากๆ ทำให้เป็นอนิเมะที่รอดูตอนใหม่ทุกวันศุกร์อย่างใจจดจ่อมากๆ (ในช่วงที่ฉาย) ซึ่งคนที่งงกับการดูก็แนะนำให้กลับไปยึดใจความหลักในย่อหน้าแรก เพราะเส้นเรื่องหลักของ Sonny Boy มีเพียงเท่านั้นและปล่อยให้อนิเมะเรื่องนี้มันสื่อสารกับเรา ซึ่งถ้าใครดูมาจนถึงจบ EP12 ก็จะรู้เองได้ว่าผู้สร้างนั้นอยากจะพูดอะไรกับเรา
ถ้าในบรรดาอนิเมะที่เป็นซีรีส์ เรื่องนี้ถือว่าอันดับ 1 ในใจของเราเลย แม้ดูจบมาหลายเดือนแต่ก็ยังคงติดค้างมาจนถึงตอนนี้ และชวนให้กลับไปดูซ้ำรอบที่สองและสามอยู่เรื่อยๆ เพราะทุกครั้งที่กลับไปดูใหม่ก็จะได้อะไรใหม่ๆ กลับมาเสมอ เช่นการดูรอบสองทำให้เราเก็ตการเล่าเรื่องใน EP1 มากขึ้นว่ามันไม่ได้เล่าเรื่องแบบเรียงลำดับ 1234 แต่มันเล่าแบบ 3412 แล้วถึงค่อยไป 5 ต่อๆ ไป
สิ่งที่ชอบที่สุดใน Sonny Boy ก็ไม่พ้นตัวละครแทบทุกตัว ตั้งแต่นาการะที่เป็นตัวเอก โดยในตอนแรกนั้นอาจจะดูน่ารำคาญ (คล้ายๆ ชินจิในอีวา) แต่พอเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้วก็ทำให้รักและรู้สึกร่วมกับนาการะมากๆ ตัวละครหญิงอย่างโนโซมิและมิซุโฮะก็มีเสน่ห์มากๆ แต่ที่ชอบที่สุดคือ รัชดานี ที่เป็นนักเรียนชาวอินเดีย เป็นตัวละครที่ชาญฉลาด มีจิตใจดีงามและเป็นที่พึ่งของเพื่อนๆ (และคนดู)ในการไขปริศนาต่างๆ ของเรื่อง การเฝ้าดูความสัมพันธ์และการเติบโตของแต่ละตัวละครเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ในการดู Sonny Boy
ถ้าถามว่าจริงๆ แล้ว Sonny Boy เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร? จริงๆ ก็อยากให้ทุกคนไปสัมผัสกันและหาคำตอบกันเอง แต่ก็พอบอกได้กว้างๆ ว่ามันเล่าภาวะการณ์เปลี่ยนผ่านของวัยรุ่น การค้นหาตัวเอง ตั้งคำถามกับกฎต่างๆ ของโลก คิดว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ และต้องเลือกว่าในความเป็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุดในโลกลอยเคว้งแห่งนี้ พวกเขาต้องการอนาคตที่จะอยู่ในโลกแบบไหน สรุปแล้วเป็นอนิเมะที่อยากให้ทุกคนได้ลองสัมผัสดูจริงๆ ถึงตอนนี้คนที่ดูอาจจะเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ แต่ก็เชื่อได้ว่าถ้าได้ดูจนจบ Sonny Boy จะเป็นอนิเมะที่จะอยู่ในใจของคนดูไปอีกนานเท่านาน
ดูได้ทาง Ani-one Asia ใน youtube (ซับอังกฤษ) หรือ Bilibili (ซับไทย)
อันดับ 1
Evangelion: 3.0 + 1.01 Thrice Upon a Time
ใคจะคิดว่าบทสรุปของ Rebuild of Evangelion ซึ่งคือภาพยนตร์จตุรภาคที่เหมือนเป็นการเล่าใหม่ของ Neon Genesis Evangelion (ภาคทีวี 26 ตอน + ภาพยนตร์ The End of Evangelion) จะเป็นภาคสั่งลาที่ดูจบแล้วรู้สึกอบอุ่นใจ ผิดกับภาคก่อนๆ ที่ต่อให้สนุกแค่ไหนก็จะมีความหน่วงตามมาเสมอ กล่าวคือ ภาค Thrice Upon a Time เหมือน “การปล่อยวาง” ของตัว ผกก. ฮิเดอากิ อันโนะและคนดูเอง โดยการคลายทุกอย่างออกมาในมุมมองที่เป็นแง่บวก คนดูได้เห็นการเคลียร์สิ่งที่เคยค้างคาใจแทบจะทั้งหมด แน่นอนว่าด้วยความเป็นอีวาเกเลี่ยน เราสามารถดูรู้เรื่องได้แต่ไม่มีวันเข้าใจทั้งหมด ปริศนาในเรื่องที่ยังไม่เคลียร์ อะไรคืออะไร เป็นอย่างนั้นได้ยังไง ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนเพื่อเป็นช่องว่างให้จินตนาการและถกเถียงกันต่อไป
แต่สิ่งที่คลายออกมาชัดเจนที่สุดก็คือปมของตัวละครหลักๆ ที่ถูกคลายไปในแง่บวก เพราะหัวใจหลักของเรื่องอีวานเกเลี่ยนมันก็เรื่องของการที่ตัวละครไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ (ภาค 1 You are (not) alone) จมอยู่กับที่ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ (ภาค 2 You can(not) advance) และ ไม่สามารถแก้ไขความผิดในอดีตได้ (ภาค 3 You can(not) undo) จนมาในภาคสุดท้าย ที่ปมภายในทุกอย่างของตัวละครมันถูกคลี่คลายออกหมดก็จนคนดูที่ตามมา 20 กว่าปีไม่มีอะไรค้างคาใจกับอีวานเกเลี่ยนอีกต่อไป
การ Rebuild ครั้งนี้ตัวละครเองก็มีพัฒนาการเพิ่มเติมต่อเนื่องจากเวอร์ชั่นเก่าด้วย มันเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยที่เรารู้สึกว่าตัวละครแต่ละตัวนั้นแตกต่างออกไปจากเดิม ชินจิจะมีจุดที่เข้มแข็งขึ้นในหลายเหตุการณ์ เกนโดเองก็มีท่าทีอ่อนต่อชินจิมากขึ้น เรย์ที่อยากเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น ริตสึโกะที่ปล่อยวางเรื่องเรย์และเกนโดมากขึ้น ถึงจะไม่มีจุดที่เฉลยชัดว่า Neon Genesis Evangelion เวอร์ชั่นเก่าที่จบลงในภาค The End of Evangelion กับภาพยนตร์ชุด Rebuild นั้นเกี่ยวข้องในเชิงลูปเวลาหรือเป็นจักรวาลเดียวกันที่ถูกรีเซ็ตขึ้นใหม่หรือไม่ (มีแต่ตัว hint บอกใบ้เชื่อมโยง) แต่ที่แน่ๆ มันมีความเชื่อมโยงกันทางความรู้สึกอยู่ทั้งในฐานะคนทำและคนดู ถึงมันจะไม่ได้ต่อเนื่องกันเป็นแต่คนที่ดูเวอร์ชั่นก่อนก็ย่อมเชื่อมโยงตัวละครกับเหตุการณ์ในเวอร์ชั่นเก่าเข้ากับภาค rebuild ได้เสมอ พอเห็นความเปลี่ยนไป เราก็จะรู้สึกไปเองว่าตัวละครนั้นมีพัฒนาการขึ้นมาจริงๆ ดังนั้นการที่จะดูเฉพาะภาค Rebuild อย่างเดียวนั้นไม่มีวันได้รับความรู้สึกและประสบการณ์ต่างๆ ได้เต็มที่เท่ากับการดูภาคทีวีและ The End of Evangelion มาก่อนแน่ๆ
สิ่งที่เหนือความคาดหมายที่สุดนั้นไม่พ้นตัวละครอย่างเกนโด ในเวอร์ชั่นก่อนๆ เราจะรู้แหละว่าเขาคือคนที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เจอภรรยาอีกครั้ง เขาเป็นตัวละครที่ลึกๆ นั้นอ่อนแอ ขี้ขลาด ยึดติดไม่ยอมปล่อยวางที่สุดในเรื่อง แต่ในบทสรุปครั้งนี้เราจะได้เห็นความเป็นมาว่าเขาต้องเผชิญกับอะไรจนกลายมาเป็นแบบที่เราเห็น พอเราเห็นความทุกข์ทรมานของเกนโด มันก็ทำให้เข้าใจและเห็นใจเขามากขึ้น และโล่งใจที่เขาสามารถก้าวผ่านมาได้ ดังนั้นโมเมนต์การต่อสู้ที่สำคัญที่สุดในภาคนี้ก็ไม่พ้นการปะทะกันระหว่างพ่อกับลูก เป็นครั้งแรกที่พวกเขาไม่เคยได้เคลียร์กันหมดเปลือกกันจริงๆ และแน่นอนปมขัดแย้งส่วนใหญ่ระหว่างมนุษย์วิธีแก้ที่ได้ผลที่สุดมันก็ไม่พ้นการนั่งเปิดอกคุยกัน
ในบทสรุปของภาคนี้เหมือนจะบอกให้เราเข้าหากันมากขึ้น พูดคุยมากขึ้นเพื่อเข้าใจอีกฝ่าย เพราะไม่ใช่เราคนเดียวที่เจ็บปวด คำพูดของตัวละครคาจิที่ว่า “การเคยชินกับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจะทำให้เราเอาใจใส่และเข้าใจอีกฝ่ายได้มากขึ้น” นั้นก็พอจะตอบคำถามในทั้งเวอร์ชั่นเก่าและเวอร์ชั่น Rebuild ว่ายิ่งเราได้เห็นความทุกข์ทรมานของชินจิมามากเท่าไหร่เราก็ยิ่งเข้าใจและใส่ใจชินจิมากขึ้น (ตามวัยและประสบการณ์ที่เติบโตขึ้นของคนดูด้วย) แน่นอนที่สุดว่าชินจิเองก็เช่นกัน จากคนที่เอาความทุกข์ของตัวเองเป็นที่ตั้งเสมอ เขาได้เติบโตโดยที่พยายามจะเข้าใจความทุกข์ของคนอื่นและกล้าที่จะเข้าหาเพื่อโอบกอดและปลอบโยนช่วยเหลือคนอื่น ในฐานะคนที่ตามดูชินจิมา 20 กว่าปีก็ไม่คิดเลยว่าชินจิจะมาถึงจุดนี้ได้ มันเลยอิ่มเอมและภูมิใจในตัวชินจิมากๆ
ขอบคุณผู้กำกับฮิเดอากิ อันโนะมากๆ ที่พาคนดูอย่างเรามาส่งยังชานชาลาปลายทางได้อย่างสวยงาม เป็นการจากลาที่ดีจริงๆ การที่ช่วงเครดิตนั้นภาพค่อยๆ กลายเป็นภาพในโลกจริงไม่ใช่แอนิเมชันอีกต่อไป ก็เป็นสารที่บอกให้เรายืนหยัดเข้มแข็งในโลกแห่งความจริง ไม่ใช่แค่ในจินตนาการ
ดูได้ทาง Amazon Prime Video