Home Review Film Review The Guilty – ฉันเชื่อว่ากาทุกตัวมีสีดำ

The Guilty – ฉันเชื่อว่ากาทุกตัวมีสีดำ

The Guilty – ฉันเชื่อว่ากาทุกตัวมีสีดำ

ในฐานะตำรวจที่มีประสบการณ์มาหลายปี เจ้าหน้าที่ โจ เบย์เลอร์ บอกได้ทันทีว่าบุคคลที่ปลายสายกำลังตกอยู่ในอันตราย เขาถูกสั่งพักงานภาคสนามจากกรมตำรวจลอสแองเจลิส และให้มานั่งโต๊ะรับโทรศัพท์สายด่วน 911 ซึ่งเป็นงานที่เขาไม่ชอบนัก แต่แล้ว เอมิลี ไลท์ตัน หญิงคนหนึ่งที่โทรมากลับทำให้วันนั้นของเขาเป็นวันแห่งความลุ้นระทึก และเขาเองก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

The Guilty เป็นหนังขายนักแสดงนำโดยแท้ เพราะตัวดำเนินเรื่องหลักมีเพียงพระเอก โจ เบย์เลอร์ ในขณะที่ตัวละครหลักอื่นๆ มาในรูปของเสียงที่อยู่ปลายสาย หนังรีเมคจากหนังสัญชาติเดนิชในชื่อเดียวกัน และได้เจค จิลเลียนฮาล มานำแสดง ซึ่งเขาทำได้ดีเกินคาดในการแบกหนังทั้งเรื่องเอาไว้ แต่นักวิจารณ์หลายคนก็ยังคิดว่าหนังฉบับนี้ยังด้อยกว่าฉบับดั้งเดิมอยู่บ้าง

เรื่องราวตึงเครียดเริ่มขึ้นเมื่อเบย์เลอร์เพิ่งวางสายจากชายที่ถูกโสเภณีปล้น และเขาเองไม่คิดว่าวันนี้จะมีอะไรน่าสนใจอีกต่อไป แต่แล้วหญิงคนหนึ่ง ซึ่งเขารู้ในภายหลังว่าชื่อเอมิลี ไลท์ตัน ก็โทรมาด้วยน้ำเสียงหวาดกลัว ดูเหมือนเธอกำลังถูกจับตามอง ทำให้ไม่สามารถบอกรายละเอียดของสถานที่และคนที่เธออยู่ด้วยได้ เบย์เลอร์จึงต้องตั้งคำถามแบบใช่ ไม่ใช่ ให้เธอตอบ และเขาก็ได้รู้ว่าเธอกำลังถูกลักพาตัวอยู่บนรถตู้สีขาว เบย์เลอร์พยายามติดตามสัญญาณโทรศัพท์ของเธอ และให้เพื่อนตำรวจภาคสนามมองหารถคันนั้น ในวันที่ลอส แองเจลิสวุ่นวายจากผู้ประสบภัยไฟป่า แต่ดูเหมือนคนที่ภาคสนามจะไม่ให้ความร่วมมือมากนัก เขาจึงต้องเล่นนอกเกมด้วยการให้เพื่อนตำรวจช่วยสืบ จนค้นเจอว่าเอมิลีมีสามีที่มีประวัติอาชญากรรม และเขาอาจกำลังควบคุมตัวเธออยู่

หนังปูเรื่องมาเพียงเท่านี้ ซึ่งเอาเข้าจริงมันคงเป็นหนังแนวอาชญากรรมไขคดีทั่วไป ที่ในตอนท้าย ตัวเอกสามารถ หรืออาจไม่สามารถช่วยเหลือคนตรงปลายสายจากเงื้อมมือของความรุนแรงในครอบครัว แต่หนังกลับพลิกตีลังกากลับหลังในช่วงท้ายเรื่อง จนทำให้คนดูอึ้งไปเหมือนกันว่าตัวเองเดาผิด และการเดาผิดนั้นมาจากการเชื่อมั่นใน “ประสบการณ์” ที่ตัวเองเคยดูหนังแนวนี้มาหลายเรื่องและมันจบตามแบบที่คิดไว้ ในขณะเดียวกัน เจ้าตัว “ประสบการณ์” นี้ ก็เป็นสิ่งที่หลอกเบย์เลอร์ด้วยเช่นกัน

ในโลกของญาณวิทยา (การศึกษาเกี่ยวกับความรู้) สิ่งที่จะให้ความรู้เรามีอยู่ 2 อย่างหลักๆ อย่างแรกคือประสบการณ์ เช่น เราเห็นว่ากามีสีดำซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง เราจึงให้ข้อสรุปว่า กาทุกตัวมีสีดำ และอย่างที่สองคือเหตุผลบริสุทธิ์ที่ไม่อิงกับประสบการณ์ เช่น การบอกได้ว่า 1+1 เป็น 2 ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนของโลก เราก็จะได้ผลลัพธ์นี้ โดยไม่ต้องไปดูในโลกแห่งความจริงว่าเราเอาของหนึ่งอย่างมารวมกันสองครั้งแล้วจะเท่ากับสองหรือไม่

ความรู้ที่อิงกับประสบการณ์นี้ นักปรัชญาเรียกว่าเป็นความรู้แบบ a posteriori ส่วนความรู้ที่อิงเหตุผล เรียกว่า a priori โดยความรู้แบบ a posteriori มักจะถูกนักปรัชญาฝ่ายตรงข้ามโจมตีเสมอว่า เป็นความรู้ที่ไม่นิ่ง และไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป ในกรณีที่บอกว่ากาทุกตัวมีสีดำ ข้อความดังกล่าวอาจไม่เป็นความจริงก็ได้ เพราะอาจมีคนค้นพบกาสีขาวขึ้นมาสักวันหนึ่ง และทำให้ข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ นักคิดแบบ a posteriori จึงต้องหาทางปกป้องตนเองในเรื่องนี้มาเสมอ ในขณะเดียวกัน นักคิดแบบ a posteriori ก็โจมตีความรู้แบบ a priori ว่า ไม่ได้ทำให้ได้ข้อมูลใหม่ๆ ในโลกแห่งความจริง ในสมการ 1+1=2 ทั้งสองข้างของสมการเป็นเพียงการเขียนข้อความเดียวกัน ไม่ได้เป็นความรู้ที่ได้ออกมาใหม่แต่อย่างใด

เบย์เลอร์เองก็ถูกความรู้แบบ a posteriori หลอกเอา เพราะเขา “เชื่อประสบการณ์” ของตนเอง จากการที่เขาเป็นตำรวจมานานหลายปี เขานำ “ข้อมูลใหม่” จากโลกภายนอกที่ได้มา เช่น ประวัติอาชญากรรมของสามีเอมิลี มาเชื่อมโยงกับข้อมูลจากประสบการณ์ที่เขามีอยู่ และสร้างข้อสรุปขึ้นมาเองว่า เอมิลีกำลังอยู่ในอันตราย แต่กลายเป็นว่าเขาเดาผิดถนัด

ถ้าหากเขาจะประยุกต์ใช้แนวคิดแบบ a priori ในกระบวนการคิดของเขาบ้าง เขาควรฉุกคิดว่า ความรู้จากประสบการณ์อาจไม่เป็นเหมือนเดิมเสมออย่างที่เขาเข้าใจ และหาหลักฐานข้อมูลมากกว่านี้ ที่สามารถยืนยันได้ว่าเหตุการณ์กำลังเป็นไปในทางใดกันแน่ ซึ่งจะทำให้เขาคาดการณ์สิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องมากกว่านี้

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าคิดจากหนัง The Guilty คือปฏิกิริยาตอบสนองของคนเรา ที่มีแนวโน้มจะต้อง “ทำอะไรสักอย่าง” ตลอดเวลาในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองได้เดินหน้า มีแบบทดสอบทางจิตวิทยาอันหนึ่ง ที่จำลองสถานการณ์ว่าผู้ถูกทดสอบเครื่องบินตก มีสิ่งของให้เลือกหยิบได้เพียง 2 อย่างจากซากเครื่องบิน เช่น น้ำ ปืน ร่มชูชีพ แผนที่ หนังสือเกี่ยวกับพืชท้องถิ่น โดยที่เมืองอยู่ทางทิศตะวันออกแต่ไม่รู้ระยะทางว่าไกลเท่าใด เมื่อให้ผู้เข้าร่วมทดสอบเลือกว่าจะทำอย่างไรต่อไป ปรากฏว่าคนจำนวนมากเลือกที่แผนที่ หรือปืน เพื่อที่จะเดินทางออกจากจุดเครื่องบินตกไปหาเมือง ทั้งที่ในความเป็นจริง เมื่อเกิดสถานการณ์ดังกล่าว ควรจะปักหลักอยู่ที่เดิม และพยายามทำให้ร่างกายอบอุ่น เช่น หาเสื้อกันหนาวมาห่ม หรืออาจนำร่มชูชีพมาแผ่เป็นสัญลักษณ์ให้ทีมค้นหามาพบ เพราะผู้ค้นหาจะเริ่มค้นหาจากพิกัดที่เครื่องบินตกเป็นที่แรก

การเดินไปข้างหน้าโดยที่มีข้อมูลไม่เพียงพอทำให้เกิดสถานการณ์น่าลำบากใจหลายอย่าง โดยที่เบย์เลอร์ก็ได้ลากเพื่อนร่วมอาชีพมาเกี่ยวข้องด้วย และถึงกับให้ตำรวจพังเข้าไปในบ้านของเอมิลี แต่อย่างไรก็ตาม การที่เขาทำเช่นนั้นก็ไม่ได้เปล่าประโยชน์ เพราะเขาสามารถช่วยคนคนหนึ่งไว้ได้ทันเวลา จะว่าไป ลูกบ้าในการเดินหน้าของคนเราก็อาจจะมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก็มองได้ว่าหนังใส่องค์ประกอบนี้เข้ามาเพื่อให้เราที่เอาใจช่วยพระเอกอยู่ไม่เสียหน้ามากจนเกินไป

สิ่งที่ดูจะเป็นข้อคิดสำคัญอีกอย่างหนึ่งจากหนัง ก็คือการเผชิญหน้ากับความจริง เบย์เลอร์ถูกพักงานภาคสนามเพราะเขาได้ยิงผู้บริสุทธิ์ และเขาได้เตรียมการขึ้นให้การกับศาลในวันรุ่งขึ้น โดยเขาได้เตรียมให้เพื่อนพูดข้อมูลที่เป็นเท็จเพื่อให้เขาพ้นผิด เมื่อเขาได้เผชิญกับความจริงที่ประสบการณ์หลอกเขาเอง ทำให้เขามีทีท่าที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนกับเรื่องเหล่านี้ หากพูดในเชิงจิตวิทยา เขาอาจได้รับความรู้สึกทดเทิด นั่นคือ ได้ช่วยใครสักคนหนึ่ง จนทำให้เขาเกิดรู้สึกผิดขึ้นมา และเห็นความเปราะบางของชีวิต จนเขาไม่อยากเดินหน้าโกหกอีกต่อไป แต่ในอีกแง่หนึ่ง การที่เขาถูกประสบการณ์ตัวเอง “โกหก” ทำให้เขารู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดจากการโดนหลอก และตัดสินใจเปลี่ยนแผนในนาทีสุดท้าย

หนังยังออกมาในจังหวะเวลาพอดีกับเหตุการณ์ที่ตำรวจสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ เช่น เหตุการณ์ตำรวจสังหารจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันผิวดำ โดยหนังได้ให้สถิติไว้ตอนท้ายเรื่องว่า ตำรวจผิวขาวที่ผ่านกระบวนการไต่สวนเช่นนี้จนได้รับความผิดมีน้อยมาก ซึ่งนับว่าหนังได้สะท้อนสังคมได้อย่างมีอิมแพ็กต์พอสมควร ทำให้คนดูเกิดอารมณ์ร่วมได้ดีเนื่องจากได้ร่วมประสบการณ์อันตึงเครียดไปพร้อมกับตัวเอกมาเป็นชั่วโมง และเป็นพยานถึงการสารภาพผิดของเขาทั้งน้ำตา

ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยคงจะสามารถเห็นธีมเรื่องนี้ได้ในหนังกระแสหลัก เมื่อมองถึงวงการหนังบ้านเรา คงจะต้องเดินทางอีกยาวกว่าจะสามารถพูดประเด็นละเอียดอ่อนด้านอาชีพเช่นนี้ได้ กรณีที่เคยเกิดและโดนแบนไปแล้วก็อย่างเช่นซีรีส์ ให้รักพิพากษา ซึ่งมีเส้นเรื่องวิจารณ์การทำงานของอัยการ จนเกิดเป็นกระแสต่อต้าน หากมีวันที่หนังไทยสามารถพูดประเด็นความขัดแย้งในโลกทางอาชีพได้อย่างตรงไปตรงมา ก็คงเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการหนังไทย ที่จะทำหน้าที่เป็นสื่อสะท้อนสังคมได้อย่างแท้จริง


ดู The Guilty ได้ใน Netflix

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here