Home Review Film Review Decameron ประวัติศาสตร์ของเมื่อวาน ประวัติศาสตร์ของวันพรุ่งนี้

Decameron ประวัติศาสตร์ของเมื่อวาน ประวัติศาสตร์ของวันพรุ่งนี้

0
Decameron ประวัติศาสตร์ของเมื่อวาน ประวัติศาสตร์ของวันพรุ่งนี้

Decameron คือหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 14 โดยนักประพันธ์ชาวอิตาลี Giovanni Boccacio ตัวมันคือนิทานสิบราตรีที่ว่าด้วยชนชั้นสูงหญิงเจ็ดคนชายสามคน ที่ลี้ภัยการระบาดใหญ่ของกาฬโรคไปยังวิลล่าที่นอกเมืองฟลอเรนซ์ เพื่อไม่ให้เบื่อพวกเขาจึงผลัดกันเล่าเรื่องในยามราตรี คืนละ 10 เรื่อง เมื่อครบ 10 คืน มันจึงมีนิทาน 100 เรื่องบรรจุอยู่ในนิยายเล่มนี้ และกลายเป็นหนึ่งในงานวรรณคดีชิ้นเอกของโลก หาก Decameron ในศตวรรษที่ 14 บรรจุเรื่องราวชีวิตประจำวันของคนอิตาลีในยุคการระบาดใหญ่ของกาฬโรค Decameron ในศตวรรษที่ 21 ของ Rita Hui Nga Shu ก็บรรจุเรื่องราวของชีวิตประจำวัน (ตามชื่อจีนของหนัง) ท่ามกลางทางแพร่งของประวัติศาสตร์สองประการ หนึ่งคือการระบาดใหญ่ ของ COVID-19 ในปี 2020 และอีกหนึ่งคือการระบาดใหญ่ของบาดแผลหลังในจิตใจหลังการประท้วงใหญ่ของฮ่องกงในปี 2019 

เริ่มต้นจากภาพอัดกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสแคบๆ ภาพผ่านกระจกรถของรถไฟใต้ดินในฮ่องกงที่เหมือนยาวไกลไม่จบสิ้น ฉากลองเทคเจ็ดนาทีที่มีเสียงประกอบเป็นเสียงจากการประท้วงในฮ่องกง เสียงตะโกน เสียงกรีดร้อง เสียงปืน เสียงระเบิด เสียงฟังไม่รู้ศัพท์ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย และความอึดอัดผ่านกรอบที่คุมขังดวงตาผู้ชมเอาไว้

หนังเป็นครึ่งสารคดี ครึ่งหนังเล่าเรื่อง มีตัวละครหลักสามกลุ่ม คนแรกเป็นเด็กหนุ่มนักทำหนังสมัครเล่นธรรมดาที่ออกไปเดินเล่น กลุ่มที่สองคือคู่สามีภรรยาที่เป็นคนจัดงานศิลปะที่กำลังลำบากเพราะทุกงานโดนยกเลิก และเป็นไปได้ว่าในตึกที่ตนอาศัยมีคนติดโควิด ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีทั้งวัยรุ่น เด็กเล็ก พอมีโควิดก็ต้องอาศัยอยู่ในห้องแคบๆ ด้วยกัน ดูอะไรผ่าน zoom ไปเรื่อยๆ 

หนังซ้อนภาพชีวิตประจำวันของตัวละครสามกลุ่มโดยไม่ได้สร้างเส้นเรื่องที่ชัดเจน ตัดสลับเข้ากับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บาดแผลของฮ่องกง ย้อนไปตั้งแต่ยุคซุนยัดเซ็น และการประท้วงของคนงานประมงในต้นศตวรรษที่ 20 การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของกาฬโรคในยุคอาณานิคมฮ่องกงที่นำมาซึ่งการปรับปรุงระบบสาธรณสุขครั้งใหญ่ การประท้วงและการจลาจลค่าเรือเฟอร์รี่ในยุค 1960’s การประท้วงคู่ขนานเทียนอันเหมิน (ที่ว่ากันว่ามีจำนวนคนฮ่องกงเข้าร่วมมากที่สุด) การคืนเกาะ พายุใหญ่ที่ทำให้เกิดแผ่นดินถล่มจนมีคนงานตายหลายต่อหลายครั้งไปจนถึง การประท้วงครั้งล่าสุด

ดังเช่นที่ Chris Patten ผู้สำเร็จราชการฮ่องกง คนสุดท้ายของอังกฤษกล่าวในพิธีคืนเกาะให้กับจีนว่า ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วันนี้ แต่มันคือวันก่อนหน้าและวันหลังจากวันนี้ ประวัติศาสตร์ของฮ่องกงจึงไม่ได้จบลงที่การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ แต่ยังผนวกรวมเอาวันเวลาหลังจากนั้นเข้าไปด้วย 

และในขณะที่หนังฉายภาพชีวิตไปเรื่อยๆ โดยตัดสลับกับเหตุการณ์ในอดีต เราก็พบว่าบ่อยครั้งประวัติศาสตร์ไม่พียงแต่ไปข้างหน้ามันยังถอยหลัง หรือเล่นซ้ำตัวเองอีกด้วย เราเห็นพายุใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า ดินถล่มครั้งแล้วครั้งเล่า การระบาดของกาฬโรคกลับมาในรูปแบบของโควิด การประท้วงคู่ขนานเทียนอันเหมินก็กลับมาในรูปการต่อสู้ของคนฮ่องกงเองเพื่อต่อต้านการทำให้กลายเป็นจีน 

ฮ่องกงในปี 2020 เต็มไปด้วยความอึดอัดคับข้อง ความกังวลใจและหวาดกลัว เด็กหนุ่มเดินไปตามที่ต่างๆ ในเมือง เอาเทปไปติดวาดเส้นแสดงงานศิลปะที่กระทำโดยรัฐ เส้นเป็นเหมือนวงปากกา ป้ายชี้บอกทาง ลากไปตามผนังที่ถูกทาสีทับคำประท้วง ถนนที่ถูกซ่อมหลังการปราบจลาจล หรือตู้ไฟที่เอาราวเหล็กมาหุ้ม รวมไปถึงแสดงอาณาเขตจุดที่เคยมีการตายเกิดขึ้น ถ่ายรูปไว้เพื่อจดจำว่า ‘ที่นี่มีคนตาย’ ผัวเมียนั่งรื้อหาหน้ากาก น้ำเกลือ และแอลกอฮอล์ที่เหลือเก็บไว้จากการประท้วงใหญ่ในโพลีเทคนิค ตอนนี้พวกเขารื้อเอาหน้ากากกันแก๊สพิษออกมาใช้ ไม่ใช่เพื่อประท้วง แต่เพื่อไปตลาด พวกเขานั่งคุยกันว่าควรจะปิดพัดลมดูดอากาศ เพราะมีสิทธิ์ว่าถ้ามีคนในตึกติดโควิด อากาศจะถูกดูดเข้ามาในห้อง และในครอบครัวใหญ่ เด็กๆ ออกไปที่นอกหน้าต่าง ตะโกนคำขวัญถึงการปลดปล่อยฮ่องกงให้เป็นอิสระ เสียงสะท้อนก้องไปมาระหว่างหมู่ตึกที่ประท้วงกันจากหน้าต่างห้องของตัวเอง

อันที่จริงแทบไม่มีอะไรเกิดขึ้นในหนัง มันเป็นเพียงการจ้องมองชีวิตประจำวันของผู้คน หากในโลกที่ผู้คนที่ใช้ชีวิตปกติอยู่ในโลกที่ไม่ปกติ เราจะพบเห็นความผิดปกติอวลอยู่ในอากาศรอบตัวพวกเขา ความผิดปกติอยู่ในการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อการหยุดเรียน อดีตนักแสดงต้องสอนเต้นออนไลน์ ในการประชุม Zoomของชมรมแม่บ้านที่บางคนออกจากกลุ่มเพราะจุดยืนทางการเมืองไม่ตรงกัน อยู่ในการไปเดินห้างแล้วพบกลุ่มผู้ประท้วงส่งเสียงตะโกนแล้วอยากตะโกนตาม ออกมานอกห้างแล้วอาจโดนตำรวจควบคุมฝูงชนเรียกตรวจเมื่อไรก็ได้ (หนังถ่ายฉากการโดนเรียกตรวจได้โดยบังเอิญอย่างสมจริง เพราะมันเกิดขึ้นจริงโดยบังเอิญขณะถ่ายทำ) หรือการที่เรานั่งอยู่ในบ้านเฉยๆ ก็อาจจะมีเสียงระเบิดจากถนนข้างนอก เราออกไปเดินเล่นตอนกลางคืนตามถนนแล้วก็ต้องร้องหาร่มสักคัน หรือให้ความช่วยเหลือใครสักคนที่โดนตำรวจไล่ตามมา แล้วเราก็อาจจะหยุดยืนดูการใช้แก๊สน้ำตาหรือกระสุนยาง การประท้วงกลางถนน แก๊สน้ำตา ตำรวจในชุดควบคุมฝูงชนเต็มยศ กลายเป็นภาพเจนตา พวกนั้นจะวิ่งผ่านเราไปขณะที่เราดินไปสถานีรถไฟฟ้า ไล่กวาดจับผู้คน หรือบุกเข้าไปในบ้านคนอื่นยามวิกาล คนอื่นๆ ได้แต่มองดู เอาใจช่วยอยู่ห่างๆ โลกดำเนินไปเช่นนี้ เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และจะเกิดขึ้นต่อไป

มีเพียงฉากเดียวของหนังที่ไปพ้นจากชีวิตเรียบเฉื่อย มันคือฉากการที่หนึ่งในตัวละครหลักของเรื่องได้บังเอิญพบกับ Chan Tong- Kai (ซึ่งเป็นคนเดียวที่ต้องมีการคัดนักแสดง) และเกิดบทสนทนาเผ็ดร้อนในร้านอาหาร Chan Tong-Kai คือชายหนุ่มที่ฆ่าแฟนสาวของตัวเองในไต้หวัน แล้วหนีมาฮ่องกง กล่าวง่ายที่สุด เขาคือจุดเริ่มต้นของความพยายามในการออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ชนวนที่เกิดจากเรื่องส่วนตัวลามไปสู่การถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่จีนปักกิ่งจะเข้ามาจัดการฮ่องกง และดูเหมือนจะเป็นฉากเดียวที่ตัวละครผู้ไม่อาจตอบโต้ได้โต้กลับบ้าง แต่ก็ไม่ใช่กับรัฐหากกับคนด้วยกันเอง

ราวกับการคว้าจับภาพของดิสโทเปียที่ไหนสักแห่งที่กลายจากหนังไซไฟไปเป็นสารคดีจริงๆ ขึ้นมา หน้ากากกลายเป็นอวัยวะที่ใช้ทั้งเพื่อป้องกันตัวเองทั้งจากการติดโรคร้ายในขณะเดียวกันก็ป้องกันจากการถูกสอดส่องโดยตำรวจ หนังฉายให้เห็นว่าหลังจากเหตุการณ์ปิดล้อมในวิทยาลัยโพลีเทคนิค ใช่ว่าฮ่องกงจะคืนสู่ความเงียบ ยังมีผู้คนออกมาประท้วงบนท้องถนน ในห้างสรรพสินค้า จิตวิญญาณของนักสู้อาจหดตัวลง ถูกกดไว้ด้วยกฎหมายความมั่นคงที่รุนแรง แต่มันไม่สูญหาย ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคร้าย ผู้คนยังคงสู้อยู่ แม้จะยากแสนยากเพราะทั้งต้องต่อกรกับอดีตและอนาคตไปพร้อมๆ กัน

ราวกับการคว้าจับภาพของดิสโทเปียที่ไหนสักแห่งที่กลายจากหนังไซไฟไปเป็นสารคดีจริงๆ ขึ้นมา หน้ากากกลายเป็นอวัยวะที่ใช้ทั้งเพื่อป้องกันตัวเองทั้งจากการติดโรคร้ายในขณะเดียวกันก็ป้องกันจากการถูกสอดส่องโดยตำรวจ

ในตอนท้ายหนังถ่ายฉาก หนังถ่ายภาพเด็กหนุ่มเดินเข้าบ้าน บรรจงถอดเสื้อผ้าช้าๆ ทีละชิ้น เสื้อผ้าเหล่านั้นอาจปนเปื้อนเชื้อโรคในอากาศ พอๆ กับที่มันเปื้อนละอองแก๊สน้ำตา เด็กหนุ่มเดินเขาห้องน้ำไปล้างหน้า เขายืนนิ่งในห้องน้ำ โดยไม่เห็นใบหน้าภาพนิ่งนานจ้องมองร่างกายผอมบางสั่นเทิ้มน้อยๆ และเราได้มองดูความเจ็บปวดที่ไม่สามารถแม้แต่พูดหรือแสดงออกมาให้เห็นได้ ตามด้วยฉากของสามีภรรยา ในยามกลางคืน สามีขึ้นเตียงไปกอดภรรยาไว้ ปลอบประโลมในคืนที่เต็มไปด้วยตำรวจปราบจลาจลข้างนอกนั้นและมีเสียงเคาะประตู

ในงานชิ้นสุดท้ายของเด็กหนุ่มเขาให้เพื่อลากเทปรอบร่างกายของเขาในฐานะคนตายจากผลงานของรัฐ หนังเล่าข่าวเกี่ยวกับอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงจนผิดสังเกต และดูเหมือนจะเป็นการตายที่ผิดธรรมชาติ ถึงที่สุดการต่อสู้ในเมืองประหลาดอาจจะโหดเหี้ยมกว่าแค่ที่เห็น หนังปล่อยให้ผู้ชมจ้องมองความตายอย่างยาวนานโดยไม่เอื้อนเอ่ยใดออกมา 

เด็กหนุ่มเดินไปตามถนน ในขณะหนึ่งเขาหยุดยืน หันกลับมามองกล้องซึ่งถอยออกไปจากเขาอย่างรวดเร็ว กลางฝูงชนบนถนนในเมือง เราเห็นเขายืนโดดเดี่ยว ท่ามกลางความรู้สึกของความไม่ปลอดภัย การถูกสอดแนม นี่คือการให้ภาพความหวาดกลัว ความทุกข์ การอักเสบไม่รู้จบจากบาดแผลที่รักษาผิดทางทั้งในสังคมของฮ่องกงและสังคมอื่นๆ ที่กำลังต่อสู้ รวมถึงสังคมนี้ด้วย 

ภาพของหนังชวนให้คิดกลับมาถึงประเทศไทยด้วย มันอาจจะพูดถึงความกังวล ปวดร้าว และหวาดกลัวของคนฮ่องกงที่ทั้งสู้กับโรคภัยและสู้กับสิ่งที่ไม่อาจชนะอย่างรัฐบาลปักกิ่ง แต่หนังไม่ได้เพียงบันทึกภาพเคลื่อนไหวทางจิตใจของคนฮ่องกง หากการดูหนังเรื่องนี้ในห้วงยามที่ม๊อบถูกหน่วยควบคุมฝูงชนในกรุงเทพปราบปรามอย่างหนักหน่วง แกนนำการชุมนุมถูกจับเข้าคุก และผู้คนล้มตายทั้งในบ้าน และตามท้องถนนจากการจัดการกับการแพร่ระบาดที่ล้มเหลว หนังก็เป็นภาพฉายของคนไทยไปด้วยในคราวเดียวกัน

หนังเปิดเรื่องด้วยภาพการลืมตาของตัวละคร ในฉากสุดท้ายข้างใต้หน้ากาก ตัวละครที่ลืมตาแล้วจะไม่หลับลงอีกจ้องมา หนังพยากรณ์อากาศถึงฝนและพายุซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่จะมีสักวันที่มีแดดส่อง และเราจะมองเห็นมันด้วยสองตาของเราไปด้วยกัน 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here